Image

เวทีการประกวดจัดโดยสมาคมแมวระดับโลก มีจุดประสงค์หลักคือการอนุรักษ์และส่งเสริมแมวสายพันธุ์แท้ตรงตามสายเลือด รวมทั้งการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแมวทุกตัว

เสียงแมว บรีดเดอร์ กรรมการ
และสมาคมแมว
คนไทยบนเวทีประกวดแมวโลก
EP.1

แมวววว...

เรื่อง : นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา, ธเนศ แสงทองศรีกมล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์, ธเนศ แสงทองศรีกมล, สโรชา เอิบโชคชัย

ภาพแมวจำนวนมหาศาลถูกโอบอุ้มอยู่ในวงแขนของเหล่าเจ้าของที่ยืนต่อแถวเข้าร่วมการแข่งขันและรับฟังคำติชมจากกรรมการระดับโลกผู้เชี่ยวชาญในการประกวดแมวเป็นภาพจำให้ใครหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกวดแมวด้วยกันเอง

การประกวดระดับโลกแต่ละครั้งจะอยู่ภายใต้นามหนึ่งในเก้าของสมาคมแมวระดับโลก ซึ่งทุกสมาคมมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือร่วมทำงานด้านสุขภาพและสวัสดิภาพของแมว ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นการอนุรักษ์เอกลักษณ์และความสวยงามของแมวสายพันธุ์แท้ด้วย โดยแต่ละปีมีการประชุมหารือภายใต้ World Cat Congress (WCC) สภาแมวโลกที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือกันของทั้งเก้าสมาคม นอกจากพันธกิจหลักที่มีวาระพูดคุยกันทุกปี ยังมีเรื่องของ “การจัดงานประกวด” ซึ่งแต่ละสมาคมหลักและชมรมย่อย ๆ ภายใต้สมาคมจะหารือและนำเสนองานประกวดที่จะจัดขึ้น

สำหรับประเทศไทยมีชื่อของสองสมาคมยักษ์ใหญ่ที่ผู้นิยมแมวน่าจะรู้จัก อย่างน้อย The Cat Fanciers' Association (CFA) และ World Cat Federation (WCF) คงเคยผ่านหู

Image

งานประกวดแมวมีความสำคัญกับคนเลี้ยงแมวมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ต้องการพัฒนาและขยายพันธุ์แมวให้มีความสวยงามและมาตรฐานตามสายพันธุ์  ซึ่งโอกาสสำคัญที่จะได้ จากการประกวดคือการได้รับฟังคำแนะนำจากกรรมการ ระดับโลก ทำให้มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากขึ้นทุกปี

เหล่าบรีดเดอร์ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ต่างเฝ้ารอที่จะนำแมวขึ้นโชว์ความสวยงามบนเวทีประกวด

The Cat Fanciers'
Association (CFA)

แมวสามตัวนั่งในตราสัญลักษณ์ของสมาคมแมวโลก (The Cat Fanciers' Association) เหล่าทาสมักเรียกสมาคมนี้อย่างคุ้นชินว่า CFA เป็นตัวแทนถึงการไปเยือนของเหล่าแมว
ทั่วถ้วนทุกหัวระแหงในอาณาจักรมนุษย์

ย้อนกลับไปเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแผ่นดินใหญ่ไกลสุดน่านฟ้าดินแดนตะวันออก มวลมนุษยชาติเหล่าทาสแมวได้รวมตัวเพื่อเหล่าสัตว์มหามิตรของพวกเขาก่อตั้งเป็นสมาคมแมวโลก ควบคู่กับปณิธานที่เกิดมาพร้อมกันเพื่อเหล่าเพื่อนสมาชิกเพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมแมวสายพันธุ์แท้ตรงตามสายเลือด ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแมวทุกตัว ส่งเสริมความรู้ในการเลี้ยงแมวอย่างมีความรับผิดชอบ และการดูแลอย่างเหมาะสมแก่เจ้าของแมวหลายล้านตัวทั่วโลก

สิ่งที่สมาคมแมวโลกมีไม่ขาดคือการจัดการประกวด ถือเป็นเวทีการประกวดแมวใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ขยายเครือข่ายไกลไปทั่วโลก

ประเทศไทยคือหนึ่งในนั้น

Image

ริง (Ring) ชื่อเรียกทางการของเวทีประกวดแมว ในการประกวดแมวของสมาคม CFA แมวทุกตัวจะต้องขึ้นริง ผ่านสายตากรรมการที่จะมีวิธีตรวจสอบและให้คะแนนตามโครงสร้างและลักษณะนิสัยของแมวที่ต้องเป็นไป ตามมาตรฐานสายพันธุ์ (breed standard) 

Image

เวทีประกวดแมวของ World Cat Federation (WCF) ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในประเทศ โดยจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นงานประกวดแมวที่ยิ่งใหญ่สุดเท่าที่เคยจัดในประเทศไทย มีกรรมการกว่า ๒๐ คน จากหลากหลายประเทศ บรีดเดอร์และแมวกว่า ๖๐๐ ชีวิตที่เข้าร่วมการแข่งขัน

กรงนับร้อยเรียงรายใต้เหล็กกล้าร่มหลังคาของห้างใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานคร เบื้องหน้าเป็นเวทีการประกวดของเหล่าแมววางเป็นจุดในผังสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าริง (Ring)  ด้านขวาในฮอลล์กว้างตั้งบูทขายสินค้าของเหล่าแมวให้ทาสมนุษย์เลือกซื้อ มองไกลสุดสายตาเป็นซุ้มสอยดาวและหาบ้านให้แมวจรของ “มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร” อีกส่วนอยู่นอกประตูทางเข้าพอมองเห็น เป็นพื้นที่จัดทำหมันให้เหล่าแมว พร้อมบรรยากาศการเข้ามาของเหล่าทาสที่เตรียมตัวนำแมวมาประกวด ขณะที่บางคนใช้เวลาเดินชมสรรหาของให้สัตว์เลี้ยง 

ทั้งหมดที่กล่าวคือตำแหน่งที่เห็นได้จากสายตาในจุดนั่งของเล็ก-สุนันท์ โซวประเสริฐกุล สตรีวัยกลางคน ประธานชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย (Cat Fanciers' Club of Thailand : CFCT) วันนี้เธอประจำที่โต๊ะด้านในสุดของฮอลล์ คอยควบคุมดูแลภาพรวมของงานประกวดที่จัดขึ้นโดยชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘-๑๐ มีนาคม ๒๕๖๗

ก่อนเกิดการประกวดวันนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๕ หรือ ๒๒ ปีที่แล้ว เหล่าทาสแมวไทยรวมตัวจัดตั้งชมรมนี้ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการเลี้ยงและเพาะพันธุ์แมวให้ตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์ จัดทำใบเพ็ดดีกรี (pedigree) ให้เป็นที่ยอมรับของสมาคมแมวโลก

เพ็ดดีกรีที่เสมือนเป็นสูจิบัตรแสดงประวัติบรรพบุรุษแมวย้อนไล่กลับไปห้ารุ่นนี้คือใบที่ทำขึ้นเพื่อป้องกันการผสมร่วมวงศ์ของแมวที่จะนำไปสู่ปัญหาเลือดชิด และทำให้ผู้เลี้ยงสามารถรู้สีและนำไปผสมพันธุ์แมวต่อได้

“เราต้องใช้ใบเพ็ดดีกรีเพื่อดูสีของแมวที่ต้องการใช้ผสมพันธุ์” เล็กกล่าวถึงความสำคัญก่อนเล่าต่อถึงครั้งอดีต

“เมื่อก่อนไม่มีใบเพ็ดดีกรี ไม่มีใครรู้จักสมาคมแมวโลก ไปงมกันที่ไหนก็หาไม่ได้ ถึงต้องไปซื้อแมวจากฝรั่งให้เขาหิ้วเข้ามา เราก็ไม่รู้อีกว่าพ่อแม่แมวคือใคร เขาก็ปลอมใบเพ็ดดีกรี เลยคุยกันว่าไม่ได้แล้ว ให้เขามาหลอกเราแบบนี้ เลยมารวมตัวกันในกลุ่มบรีดเดอร์ทำใบเพ็ดดีกรี จดทะเบียนสายพันธุ์แมว”

อีกหนึ่งเหตุของการตั้งชมรม เพราะกลุ่มผู้ผสมพันธุ์แมวเป็นห่วงแมวไทย

“เมื่อก่อนเราเลี้ยงเปอร์เซียกับสกอตติชโฟลด์ แต่ก็คลุกคลีกับทางแมวไทยด้วย ก็เล็งเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือแมวไทย ที่บางทีหางคดหางงอเพราะผสมพันธุ์กันเอง แมวไทยก็จะสูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ เลยรวมตัวพวกบรีดเดอร์ทำชมรม แล้วก็เน้นเปิดให้เฉพาะแมวไทยทำเพ็ดดีกรีฟรีขึ้นทะเบียนในช่วงปีหรือสองปีแรก”

สิ่งที่เล็กกล่าวล้วนเป็นเป้าประสงค์ของชมรม ที่ตั้งไว้ให้เห็นในเว็บไซต์

Image

แมวที่บรีดเดอร์นำมาร่วมงานจะอยู่ในตู้ที่มีช่องระบายอากาศรอบ ๆ เพื่อให้หายใจสะดวก และให้ผู้ร่วมงานได้ยลโฉมแมวแสนน่ารักเหล่านี้ 

Image
Image
Image
Image
Image

“อนาคตจะพัฒนาแมวไทยพันธุ์แท้ให้ทัดเทียมเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันมากขึ้นในต่างประเทศ และพัฒนาการขยายพันธุ์แมวสายพันธุ์ต่างประเทศที่ต้องสั่งนำเข้าให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับสากลจนขายส่งออกนอกประเทศ เพื่อลดการนำเข้าแมวจากต่างประเทศ โดยมิให้เสียสมดุลการค้า”

ห้าเดือนต่อมาหลังจากจัดตั้งชมรมจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสมาคมแมวโลก (CFA) เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕ พร้อมกับวัตถุประสงค์ห้าอย่าง

ประการแรกจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อทำเพ็ดดีกรีให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสมาคมแมวโลก ประการที่ ๒ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้นิยมเลี้ยงแมวด้วยกัน ประการที่ ๓ มีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับแมว ประการที่ ๔ เผยแพร่สายพันธุ์แมวไทยโบราณให้เป็นที่ยอมรับของสากลและสุดท้าย จัดการประกวดแมวและจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแมว

ทั้งหมดสัมฤทธิผลในวันนี้ ก่อเกิดเป็นการประกวดแมว ผู้เลี้ยงแมวได้มาพบหน้า แก้ปัญหาแมวจร พร้อมแสดงแมวโบราณในงานประกวดทุกครั้งที่ชมรมจัด

หลังจัดตั้งชมรมเหล่าสมาชิกเริ่มคิดจัดประกวดแมวตามมาตรฐานสมาคมแม่

“พอเริ่มรับขึ้นทะเบียนแมวก็จะต้องมีงานประกวด เพื่อวัดผลการพัฒนาของแมวว่าเป็นอย่างไร เขาเอาไปเลี้ยงไปผสมพันธุ์แล้วเวลามาประกวดได้ตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์ตามที่กรรมการบอกหรือเปล่า การประกวดคือการดูการพัฒนาของบรีดเดอร์” เล็กกล่าว ก่อนย้อนเล่าภาพบรรยากาศการประกวดแมวเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว

“สมัยก่อนไม่มีใครเคยจัดประกวดแมว มีชมรมนี้ครั้งแรกที่จัดประกวดแมวบนห้าง เมื่อก่อนมีแต่งานหมา งานแมวเป็นยังไงไม่มีใครรู้จัก ขายบูทในงานไม่ได้หรอก หมามันจูงได้ แต่แมวเขาประกวดกันยังไง ชมรมเลยลองทำดู”

Image

Oriental Shorthair เป็นสายพันธุ์ที่ไม่นิยมมากนักในประเทศไทย ด้วยศีรษะที่ยาว หูใหญ่ตั้ง จมูกโด่งเป็นคันศร ลำตัวเรียวยาว แต่คนทั่วไปจะมีโอกาสเห็นเจ้าแมวพันธุ์นี้ได้ในงาน

Image

ผู้เข้าร่วมงานประกวดแมวนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่บรีดเดอร์ กรรมการ รวมถึงคนเลี้ยงแมวทั่วไปที่ต้องการประสบการณ์หรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาแมวของตนเอง

วันนี้เหล่าแมวได้เฉิดฉาย เล็กกำลังนั่งมองผู้คนมากมายเข้ามาที่เวทีการประกวดแมวของตน  คนโน้นหิ้วกรงพร้อมแมวเข้ามา คนนี้หาบ้านให้แมวจร ทุกอย่างพัฒนาเร็วมาก โดยเฉพาะการประกวดแมวที่ทางชมรมซื้อลิขสิทธิ์จากทางสมาคมแมวโลกจัดการประกวดแมวปีละสองครั้ง

นอกเหนือจากนั้น เล็กประสานสิ่งที่อยากทำลงไปในงานตามวัตถุประสงค์และหลักการของชมรม “มีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับแมว”

“ในงานจึงเห็นโซนของมูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร มาจัดตั้งทำหมันและตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนให้แมวเปิดกิจกรรมสอยดาวแมว นำรายได้เข้ามูลนิธิ” เล็กพูดต่อ

รักษ์-วชิรา ทวีสกุลสุข หญิงรักแมววัย ๕๒ ปี ประธานมูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร หลังจากเสร็จภารกิจทำหมันให้แมว เธอเดินออกจากห้องก่อนเล่าถึงช่วงแรกที่เล็กชวนมาเป็นส่วนหนึ่งของงาน

“พาแมวมาหาบ้านกันมั้ย มีอะไรมาจำหน่ายเพื่อหารายได้ให้โครงการมั้ย” รักษ์เอ่ยคำที่จำได้ดีจากปากเล็กในช่วงแรก ซึ่งตอนนั้นมูลนิธิรักษ์แมวฯ ยังเป็นโครงการอยู่

“พอตอนหลังมีกิจกรรมทำหมัน พี่เล็กก็เลยมองว่าดีที่นอกจากการประกวดแมวแล้ว เราก็ยังส่งเสริมให้แมวจรได้รับการทำหมันด้วย ก็เลยร่วมด้วยทุกครั้ง”

วันเวลาผันผ่าน เข้าสู่ยุคปัจจุบัน การแข่งขันเป็นไปอย่างจริงจัง ผู้คนสนใจมากขึ้นและเข้าถึงง่ายกว่าเดิม

Image

รักษ์-วชิรา
ทวีสกุลสุข

Image

แมวพันธุ์ Scottish Straight หูไม่พับเหมือน Scottish Fold

ก่อนการเข้าริงประกวดแมว บรีดเดอร์จะเสริมสวยให้แมวตามลักษณะเด่นของสายพันธุ์ อย่างเจ้าเปอร์เซียขนยาวก็ต้องแปรงขนให้ฟูและสยาย ไม่ให้จับตัวเป็นก้อน

สมัยก่อนไม่มีใครเคยจัดประกวดแมว มีชมรมนี้ครั้งแรกที่จัดประกวดแมวบนห้าง เมื่อก่อนมีแต่งานหมา งานแมวเป็นยังไงไม่มีใครรู้จัก ขายบูทในงานไม่ได้หรอก หมามันจูงได้แต่แมวเขาประกวดกันยังไง ชมรมเลยลองทำดู

Image

เล็ก-สุนันท์
โซวประเสริฐกุล

แมวเดินบนแคตวอล์ก แต่งตัวเดินโชว์บนเวที สวมชุดแฟนซีน่ารัก คงเป็นภาพการประกวดแมวในอุดมคติของใครหลาย ๆ คน แต่ที่นี่ไม่ใช่ กติกาการแข่งขันเป็นไปอย่างจริงจังตามข้อกำหนดของสมาคมแมวโลกและชมรมผ่านสายตาและสองมือของกรรมการผู้ทรงเกียรติ คะแนนเกิดจากลักษณะ โครงสร้าง สี ขนของแมว

ครั้งนี้การประกวดของชมรมมี ๒ วันสำคัญ

วันแรก ประกวดตามมาตรฐานของสมาคมแมวโลก มีกรรมการจากต่างชาติเป็นผู้ตัดสิน ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และฮ่องกง รวมสี่คน

แมวนับร้อยตัวที่อยู่ในกรงรอเข้าสนามการประกวด เจ้าของเฝ้ารอข้างหลังเวที ฟังเสียงเรียกเลขที่ประจำตัวของลูก ๆ ตัวเอง

โต๊ะการประกวดที่เรียกว่าริงตั้งเรียงยาวสี่จุด แต่ละจุดถูกล้อมด้วยกรงเหล็กนับสิบ ระหว่างริงสองริงคั่นด้วยเวทีกลาง

ริงที่ว่ามีกรรมการต่างชาติประจำจุดทั้งสี่โต๊ะ

สำหรับคนภายนอกคงไม่คุ้นตา แต่เหล่าทาสแมว นักประกวดพวกเขาคุ้นชิน

“CFA มีสี่ริง แมวทุกตัวต้องลงทุกริง วนไปทั้งสี่กรรมการ สุดท้ายเอามารวมกันแล้วหา ๑-๑๐ ของทุกสายพันธุ์ พอรวมกันในริงแล้วก็จะเอาทั้งสี่ริงมารวมกัน หา Best of Best” เล็กอธิบายการแข่งขันอย่างคร่าว ๆ ให้ฟัง

ก่อนที่จะมีผู้ประกวดแมวมากหน้าหลายตามารวมตัวอธิบายกติกาอย่างละเอียดให้เข้าใจ

กรรมการจะตัดสินโดยแบ่งประเภทแมวออกเป็นสามรุ่น คือ ๑. แมวที่มีอายุ ๔-๘ เดือน (Kitten Class) ๒. แมวที่มีอายุ ๘ เดือนทั่วไป (Championship Class) และ ๓. แมวที่มีอายุ ๘ เดือนขึ้นไปที่ทำหมันแล้ว (Premiership
Class)

จากนั้นแยกย่อยตามสีขนของสายพันธุ์ที่เรียกว่าคลาส (Class) คัดเลือกแยกเป็นเพศ ให้ได้เพศละสามตำแหน่งและมอบแผ่นธงต่างสี แมวที่ได้อันดับ ๑ ให้ธงสีน้ำเงิน อันดับ ๒ ให้ธงสีแดง และอันดับ ๓ ให้ธงสีเหลือง

เมื่อกรรมการตัดสินในแต่ละคลาสเสร็จ จะนำแมวที่ได้ที่ ๑ ธงสีน้ำเงินของทั้งสองเพศมาตัดสินเพื่อหาแมว อันดับ ๑ ในคลาส (Best of Class)  แมวที่สวยเป็น อันดับ ๑ ในคลาสจะได้ธงสีดำ ส่วนรองจะได้ธงสีขาว กรรมการจะตัดสินแบบนี้ไปจนครบทุกคลาสสีในแต่ละสายพันธุ์

จากนั้นกรรมการจะนำแมวที่ได้ธงสีดำและธงสีขาว มาตัดสินรวมกันอีกครั้งเพื่อเลือกแมวสองตัวที่ดีที่สุดในสายพันธุ์ (Best of Breed) และมอบธงสีน้ำตาลให้แมวอันดับ ๑ มอบธงสีส้มให้แมวที่ได้อันดับรองลงมา ส่วนแมวระดับ Open และระดับ Champion ที่ดีที่สุดในสายพันธุ์จะได้รับธงสีม่วง (Best of Breed Champion) กรรมการจะตัดสินในลักษณะนี้จนครบทุกสายพันธุ์  แล้วจึงตัดสินรอบ Final และคัดเลือกแมวที่ดีที่สุด ๑๐ อันดับจากแมวทุกสายพันธุ์ เพื่อมอบตำแหน่ง Top 10 Cats

บรีดเดอร์และแมวที่ชนะการประกวดจะได้รับโบเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเครื่องการันตีว่าได้รับการรับรองจากสมาคมแมวระดับโลก

Image

แต่ละริงกรรมการใช้ทักษะเฉพาะตัว หลอกล่อแมวให้แสดงความเป็นตัวเอง มือขวาถือไม้หยอกแมว มือซ้ายลูบหัวจับตัวน้องแมว พร้อมสองสายตาจับจ้องอย่างจดจ่อเพื่อเก็บคะแนน วินาทีแสนลุ้นของเหล่าเจ้าของ

วันที่ ๒ ไม่ต่างกัน มีการประกวด Fun Show ชมรม เป็นผู้จัดการประกวดเอง ผู้เลี้ยงแมวทั้งที่มีและไม่มีใบเพ็ดดีกรีสามารถนำแมวลงประกวดได้ พร้อมกันนั้นมีการประกวดทั้งแมววัวตัวงาม แมวดำดีสีไม่ตก เป็นการจัดการประกวดแมวตามแต่กระแสแล้วแต่ลูกเล่นของชมรม โดยมีกรรมการไทยเป็นผู้ตัดสิน

“Fun Show แบ่งเป็นแมวสายพันธุ์แท้ รุ่นเด็ก รุ่นโตที่พิเศษก็จะเป็นแมวแสนรักหรือแมวบ้าน แมวจรทั่วไปที่เอามาเลี้ยงเอง แมวสวย แมวสายพันธุ์แท้ที่ทำหมันแล้ว แล้วก็อีกอย่างธีมที่นี่จะเป็นประกวดแมวดำ แมววัวขาวดำ บางครั้งมีประกวดแมวลายสลิด สลิดบางใหญ่กับแมวส้ม”

ระหว่างที่มือของกรรมการสัมผัสแมว ปากก็ขยับอธิบายการตัดสินซึ่งถือเป็นความรู้เรื่องแมวตัวที่อยู่ตรงหน้าให้ผู้ประกวดและบุคคลนอกวงการได้รับรู้

“ไม่ใช่ประกวดเพื่อจะแข่งขันเอาที่ ๑ อย่างเดียว มันได้พบปะพูดคุย แล้วก็แทรกความรู้ที่จะให้ไปในงานด้วย เวลากรรมการตัดสินก็จะให้ความรู้ไปด้วย” เล็กกล่าว

เสียงสอดแทรกให้ความรู้ระหว่างการประกวดเป็นไปตามอย่างที่เล็กวาดหวังไว้ทุกประการ สอดรับกับวัตถุประสงค์อีกหนึ่งข้อของชมรม

นอกเหนือจากนั้นหลังเวทีการประกวดเจ้าของแมวมากมายได้แลกเปลี่ยนนานาวิถีเกี่ยวกับแมวในงานนี้

“เขามารวมกัน เขาก็ได้พูดคุย ได้เจอกัน มีสัตวแพทย์ให้ปรึกษา มีฟาร์มแต่ละฟาร์มที่มีพันธุ์แท้ คุณก็ถามเขาได้เลยว่าพันธุ์นี้มันดูยังไง” เล็กยังคงพูดต่อ

CFA  มีสี่ริง  แมวทุกตัวต้องลงทุกริง วนไปทั้งสี่กรรมการ สุดท้ายเอามารวมกันแล้วหา ๑-๑๐ ของทุกสายพันธุ์  พอรวมกันในริงแล้วก็จะเอาทั้งสี่ริงมารวมกัน หา Best of Best

Image

กรรมการนำแมวมาตัดสินบนริง ขณะที่บรีดเดอร์จะเฝ้าดูด้วยความตื่นเต้น

แมวไทย
เวทีสากล

ผู้คนครึ่งร้อยแมวน้อยต่างสายพันธุ์ หนึ่งในนั้นมีแมวไทยเพียงตัวเดียวที่เข้าประกวดเวทีสากล CFA เป็นเจ้าแมวโคราชหรือสีสวาด ขนสีเทา ที่กำลังแสดงฝีไม้ลายมือในริงต่อหน้า ภากร ยศไกร ชายวัย ๖๓ ปี เจ้าของที่เฝ้ามองลูกตัวเองอยู่ไม่ห่าง

ภากรเลี้ยงแมวโคราชมาร่วม ๑๐ ปี และอยู่ในเวทีการประกวดประมาณ ๗-๘ ปี การที่เขาส่งแมวประกวดในวันนี้เพื่อโชว์ตัวลูก ๆ ให้คนรู้ว่า “แมวไทยเราไม่แพ้แมวต่างชาติแมวไทยเราสวยได้ เราก็เข้ารอบได้”

อีกอย่างเขากล่าวว่า “ถ้าเราไม่ทำ ไม่พัฒนาแมวโคราช เราก็ไม่สามารถไปบอกฝรั่งได้ว่าแมวโคราชที่สวยที่สุดอยู่เมืองไทย”

ส่วนการเลือกแมวลงสนามประกวด ภากรพิจารณาจากแมวเป็นลำดับแรก

“ต้องรู้ว่าแมวเราถึงมั้ย ถ้าไม่ถึงก็ไม่ประกวด แต่เขาก็มีสนามมือใหม่ เขาจะไปฝึกแมว เราก็ควรไปสนามมือใหม่ก่อน เพราะที่นี่แข่งกัน ดูสายพันธุ์ที่ดี นิสัยแมวด้วย สวยตรงลักษณะ แม้แต่การแต่งขนก็สำคัญทุกอย่าง”

นี้เป็นเหตุผลของคนเลี้ยงแมวไทยที่ตัดสินใจเลือกแมวเข้าประกวดเวทีสากล คล้ายกับเอส-มงคล แสนคำ ชายผู้เลี้ยงแมวไทยโบราณห้าสายพันธุ์ แต่เขาเลือกอุ้มแมวมาในวันที่ ๒ ของงาน

เอสเริ่มด้วยการนำแมวขาวมณี แมวไทยตัวแรกที่เขาเริ่มเลี้ยง ลงเวทีประกวดแมวไทย และได้รางวัลแรกเมื่อ ๓ ปีก่อน ปีถัดมาเขาก็ได้ถ้วยรางวัลพระราชทานอีก ไม่ช้าจากแมวไทยขยับไปสู่เวทีสากลตามสิ่งที่เขาหวัง “อยากให้ต่างชาติได้เห็นแมวไทย”

วันนี้เขาเลือกพาซ้องปีบ แมวไทยขาวมณีที่เขาตั้งใจจะนำมาประกวดตั้งแต่แรกเกิด มาประกวดในเวที Fun Show

“เพื่อที่แมวเราจะได้มีประสบการณ์ มีโปรไฟล์ เพราะแมวโตขึ้นทุกวัน พัฒนาการมีตลอด เราจะเสียโอกาสว่าช่วงอายุ ๔, ๕, ๖ เดือนตรงนี้ มันพัฒนาการไปเรื่อย ๆ สร้างความเคยชินในสนาม เจอผู้เจอคน พอ ๘ เดือนขึ้นไปเขากลายเป็นประเภทแมวโตไปแล้ว”

“ถ้าเราไม่พัฒนาแมวโคราช เราก็ ไม่สามารถไปบอกฝรั่งได้ว่าแมวโคราชที่สวยที่สุดอยู่เมืองไทย”
ภากร  ยศไกร

ภากร ยศไกร บรีดเดอร์แมวสายพันธุ์โคราชบนเวทีประกวด CFA โดยแมวไทยสายพันธุ์โคราชกับขาวมณีได้รับการรับรองภายใต้สมาคม CFA ให้มีสิทธิ์เข้าร่วมประกวด

เหตุที่เอสเลือกพาแมวมาประกวดแมวรุ่นเด็กในวันนี้ เพราะวันหน้าแมวก็จะกลายเป็นรุ่นโตต่อไป ประกอบกับปัจจัยหลายอย่าง เรื่องงบประมาณเป็นปราการแรก ๆ ที่เจ้าของแมวเลือก

“ค่าประกวดแมวไทยในเวทีไทยค่อนข้างถูก ขณะที่ค่าใช้จ่ายของการสมัครประกวดในสมาคมต่างประเทศค่อนข้างสูง นี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการตัดสินใจเลือกเข้ามาประกวดเช่นกัน” เอสกล่าว

อีกส่วนคือการประกวดเวที Fun Show ไม่จำเป็นต้องมีใบเพ็ดดีกรีก็ส่งแมวเข้าประกวดได้ ต่างจากเวทีสากล อย่างสุดท้ายคือกรรมการ “ดูสนามแล้วก็ดูกรรมการด้วยว่าท่านนี้ชอบแมวทางไหนจะได้หยิบแมวมาถูก” เอสพูดพลางหัวเราะ

“กรรมการต่างชาติเขาจะมีมาตรฐานของเขาว่าแมวไทยควรจะเป็นลักษณะไหน ส่วนสนามแมวไทยก็จะไทยจ๋าเลย ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เราทำอยู่ อย่างตอนนี้แมวโคราชก็ยังเป็นประเด็นเถียงกันอยู่ ว่าตกลงแล้วจะเอามาตรฐานต่างประเทศหรือเอเชีย”

เหตุผลหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นแมวไทยในเวทีสากลเนื่องจากเหตุผลของการตัดสินตามมาตรฐานสมาคมที่ไม่ตรงกับผู้เลี้ยงแมวประกวดชาวไทย

“ไทยเราก็มีมาตรฐานของไทย ส่วนต่างประเทศเขาก็เอาแมวไทยเราไปทำมาตรฐานในแบบฉบับของเขา แล้วเขาก็ไปจดทะเบียนเป็นแมวสายพันธุ์ประเทศเขา อย่างเช่น โคราช วิเชียรมาศ และขาวมณี ตอนนี้ต่างประเทศไปจดเป็นของเขาละ เหลือแมวศุภลักษณ์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน” เอสเล่าต่อ

แมวไทยที่ลงประกวดในเวที CFA ได้มีเพียงสามสายพันธุ์ คือ วิเชียรมาศ โคราช และขาวมณี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของเวทีและกรรมการอย่างที่เอสกล่าวไปข้างต้น ส่วนแมวศุภลักษณ์และโกนจายังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากเวทีแม่

อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงแมวไทยพยายามรวมกลุ่มคุยกัน หวังเห็นมาตรฐานแมวไทยในแบบที่ทุกคนต่างเห็นพ้อง อนาคตข้างหน้าคงได้เห็นแมวไทยโลดแล่นบนเวทีการประกวดในเวทีสากลมากขึ้น

“แมวสายโซเชียลฯ” ซึ่งมีผู้ติดตามหลักหมื่นหลักแสน เรียกเสียงหัวเราะและความสนใจจากผู้ร่วมงานได้อย่างดี

งานประกวดจัดโดยชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย (CFCT) ภายใต้สมาคมแมวโลก (CFA) นอกจากจัดประกวดแบบกติกาสากลแล้ว ยังจัดประกวดแบบ Fun Show ที่แมวไม่จำเป็นต้องมีใบเพ็ดดีกรีก็ส่งเข้าประกวดได้

มากกว่าประกวด

ฉากหน้าเป็นภาพของการประกวดที่แสนคึกคัก ฉากหลังมีนัยที่แฝงอยู่มากมาย ผ่านเสียงเล่าของเหล่าผู้เกี่ยวข้อง

“ถ้าเราไม่จัดประกวดเลยก็จะไม่ได้เห็นแมวที่สวยหรือแมวไทยพันธุ์แท้ ถ้าอยากเห็นคุณต้องมาที่งาน ถ้าจัดประกวดพันธุ์แท้ได้ปุ๊บ แมวก็จะมีชีวิตรอดขึ้นกว่าเดิมแมวที่ด้อยโอกาส แมวจร ก็อาจลดจำนวนประชากร มีบ้านที่ดีขึ้น”

เล็กเล่าสิ่งที่การประกวดให้แก่แมว ส่วนสิ่งที่การประกวดให้คนเลี้ยงแมว เธอมองเป็นเรื่องของอาชีพ

“เป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่งก็ได้นะ ทำให้แมวตัวละแสนสองแสน”

ที่เล็กกล่าวเช่นนั้นเพราะเมื่อแมวได้รางวัลในเวทีการประกวด แมวและฟาร์มของผู้เลี้ยงจะมีราคาสูงขึ้นไปตามรางวัลที่ได้

“มันช่วยในเรื่องของแมวจร” เสียงคุ้นหูกับวลีประจำตัวของรักษ์ ก่อนเล่าต่อว่าการประกวดแมวช่วยมูลนิธิรักษ์แมวฯ ของเธออย่างไร

“การประกวดมีสิ่งแฝงซึ่งเป็นประโยชน์ จากการที่เขามองว่าการประกวดเป็นธุรกิจ แล้วผู้ประกวดได้รางวัล แต่ในส่วนของแมวจร แมวจรได้ประโยชน์ด้วย หนึ่ง แมวได้บ้านมากขึ้น  สอง แมวได้ทำหมันมากขึ้น  สาม มูลนิธิได้เม็ดเงินเพิ่มขึ้น จากการที่เรามีกิจกรรมสอยดาวกับการจำหน่ายสินค้า เพื่อให้เราไปต่อยอดกิจกรรมหลังจากนี้ได้มากขึ้น”

ขณะที่ภากรมองเห็นคุณค่าของเวทีในมุมมองของผู้เลี้ยง

“มันทำให้สังคมเรากว้างขึ้น หาวัตถุดิบง่ายขึ้น เพราะเราอยู่ในสังคมประกวด ต่างชาติรู้จัก เราเป็นนักประกวดนะเราขอแบ่งแมวเขาได้ เช่นเดียวกัน เขาขอแบ่งแมวเราก็ได้เหมือนกัน เราก็จะซื้อขายในกลุ่มนักประกวดด้วยกัน”

Image

เวทีประกวดแมวของ World Cat Federation (WCF) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการจัดระดับ World Show ซึ่งมีผู้ประกวดและกรรมการจากหลากหลายประเทศเข้าร่วม

World Cat
Federation (WCF)

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ ที่เมืองเปโตรโปลิส ประเทศบราซิล มีการจัดตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นเพื่อทำงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์แมว โดยเป็นแหล่งสำหรับผู้ผสมพันธุ์แมว (breeder), จดทะเบียนฟาร์มแมวและใบเพ็ดดีกรี, เป็นแหล่งสำหรับผู้อยากเริ่มเป็นกรรมการผู้ตัดสิน, เพื่อศึกษาสายพันธุ์แมวให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม  ชื่อเสียงเรียงนามขององค์กรดังกล่าวคือ World Cat Federation

นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๘ World Cat Federation หรือที่เหล่าบรีดเดอร์ชาวไทยเรียกกันจนติดปากว่า WCF มีสมาคมที่ทำงานเรื่องแมวอยู่ในการดูแลกว่า ๒๘๐ สมาคมทั่วโลก แต่ละปีสมาคมเหล่านี้จะต้องจัดงานประกวดแมวเพื่อเป็นแหล่ง “ส่งการบ้าน” ของเหล่าบรีดเดอร์ที่พัฒนาแมวแต่ละสายพันธุ์ และเป็นแหล่งฝึกปรือฝีมือของเหล่ากรรมการทั่วโลก

“เราได้ข่าวว่ามีคนอยากขายสมาคมแมวในไทยก็สนใจ เลยไปลองคุยดู พบว่ามีเจตนารมณ์เดียวกันและเขาก็เห็นว่าเรามีศักยภาพมากพอที่จะเป็นผู้จัดงานประกวดแมว เพื่อที่จะผลักดันวงการแมวในประเทศไทยให้เป็นสากลมากขึ้น”

เมื่อราว ๓ ปีก่อน สมาคมการค้าแมวจดทะเบียน (Trade Association of Registered Cats : ARC) สมาคมแมว สัญชาติภายใต้ WCF กำลังจะปิดตัวลง กัน-กันตพงศ์ รักธรรม และออย-วรรณธนพร ไพรวัลย์ คู่รักผู้รักแมวเป็นชีวิตจิตใจเห็นว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจ ทั้งสองจึงก้าวเท้าเข้ามาบริหารงานของ ARC

ระหว่างรอคิวรับการตัดสินจากกรรมการ แมวอาจอยู่บนรถเข็น ในอ้อมกอดหรือไหล่ทาส  การประกวดของ WCF บรีดเดอร์ทุกคนจะได้พูดคุยกับกรรมการโดยตรง ซึ่งกรรมการจะบอกข้อเด่นและข้อด้อยของแมวแต่ละตัว 

เดิมทีกันและออยเลี้ยงแมวแบบผู้เลี้ยงทั่วไป ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีใบเพ็ดดีกรี จดทะเบียนฟาร์ม และก้าวไปเป็นบรีดเดอร์ ทว่าทั้งสองได้รู้จักกับแมวสายพันธุ์บริติชชอร์ตแฮร์และมีโอกาสเลี้ยงแมวสายพันธุ์ดังกล่าว เมื่อเลี้ยงไปสักพักก็เริ่มรู้จักระบบในวงการแมวต่าง ๆ เช่น การทำฟาร์ม การจดทะเบียนฟาร์ม และความสำคัญของใบเพ็ดดีกรี อีกทั้งยังพาทั้งสองไปพบเจอกับกลุ่มบรีดเดอร์ที่พัฒนาแมวอย่างจริงจังตามงานประกวดต่าง ๆ

หลังจากนั้นกันและออยจึงเริ่มทำฟาร์มแมวและก้าวเท้าสู่การประกวดแมวเป็นครั้งแรก นั่นเป็นก้าวสำคัญที่ทั้งกันและออยเข้าสู่กลุ่มบรีดเดอร์

“ตอนที่พาน้องไปประกวดครั้งแรกก็มือใหม่มาก แต่ก็มีพี่ ๆ มาแนะนำว่าต้องเตรียมตัวแมวยังไง ก่อนประกวดแมวต้องได้รับการดูแลยังไง ให้อาหารยังไงถึงจะเหมาะสมกับแมวสายพันธุ์นั้น ๆ ในช่วงอายุนั้น ๆ แม้จะเป็นแมวตัวเดียวกันแต่มันก็กินอาหารไม่เหมือนกันในแต่ละช่วงวัย พี่ที่งานก็จะแนะนำหมดเลย” ออยเล่าพลางยิ้มไปด้วย

กันเล่าเสริมว่าสมัยก่อนขนาดของงานประกวดแมวค่อนข้างเล็ก อาจมีแมวเพียง ๘๐-๙๐ ตัวต่องาน ซึ่งต่างจากช่วงปัจจุบันที่อย่างน้อยที่สุดก็มีถึง ๑๐๐-๒๐๐ ตัว หลังจากอยู่ในวงการประกวดแมวสักพักเขาก็คลั่งไคล้ในงานประกวดและคิดร่วมกันกับออยว่าอยากจะให้งานประกวดใหญ่ขึ้น มีแมวมาประกวดมากขึ้น และเป็นที่รู้จักมากขึ้น

กันและออยจึงรวบรวมเพื่อน ๆ ที่อยู่ในวงการแมวเข้ามาร่วมกันทำงาน ผสมทีมงานเก่า (ทำงานกับเจ้าของเดิมก่อนจะเปลี่ยนมือมาเป็นของกันและออย) โดยใน ARC ทีมปัจจุบันจะแบ่งเป็นสองส่วนหลักอย่างไม่เป็นทางการนัก คือฝ่ายทะเบียนและฝ่ายงานประกวด ฝ่ายแรกมีหน้าที่ดูแลการจดทะเบียนฟาร์มและออกใบเพ็ดดีกรี และฝ่ายงานประกวดจะดูแลเรื่องการจัดงานประกวดแต่ละครั้ง

“ทุกคนอยู่ในวงการอยู่แล้ว เวลาทำสมาคมก็เลยไม่ได้ยากแค่จะต้องไปศึกษากฎระเบียบของสมาคม การจัดงานประกวด เพราะเราต้องจัดงานประกวดเพื่อรองรับกลุ่มคนที่อยากประกวดเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น งานที่ผ่านมาเป็นงานแรกที่ได้ทำเต็มตัว เหมือนกับว่าเราก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไป ก็ปีกว่า ๆ จนมาปีที่แล้วเป็นงานแรกที่เราทำเต็มตัว” กันอธิบายเสริม

หลังจากกันและออยก้าวเท้าเข้าสู่สมาคม ARC และฟูมฟักตัวอยู่ ๓ ปีกว่า ก็ถึงวันที่ทั้งสองจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดงานประกวดแมวในนามของ WCF เสียที

งาน WCF x WCC World Show เมื่อวันที่ ๒๓-๒๔
มีนาคม ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ถือเป็นงานประกวดแมวระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี มีแมวพันธุ์ไทยและต่างประเทศหลากหลายสายพันธุ์เข้าร่วมประกวดมากถึง ๖๐๐ ตัว พร้อมทั้งกรรมการระดับโลกกว่า ๑๙ คนจากสมาคมแมวระดับโลก ๙ สมาคม นับเป็นงานยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะจัดขึ้นเพียง ๒ ปีครั้งต่อ ๑ ประเทศเท่านั้น

“ในเอเชียน่าจะไม่มีงานไหนใหญ่เท่างานนี้ ตอนแรกก็คิดว่าไม่น่าจะผ่านงานนี้ไปได้ แต่จบงานนี้ได้ก็โอเคครับ” กันเล่าพลางหัวเราะ

“การจัดงานประกวด เพราะเราต้องการรองรับกลุ่มคนที่อยากประกวดเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น”

Image

กัน-กันตพงศ์ รักธรรม และออย-วรรณธนพร ไพรวัลย์

Image

หลังจากกรรมการตัดสินแมวใน Table Judging ครบทุกตัว จะมีธรรมเนียมเรียกว่า compare โดยบรีดเดอร์กับแมวจะยืนล้อมวงเพื่อฟังประกาศจากกรรมการว่าแมวตัวใดสวยงามที่สุด

จากงานประกวดแมวของ ARC ช่วงแรกที่มีแมวเพียง ๑๐๐ กว่าตัว สู่งานระดับโลกที่มีแมวกว่าครึ่งพัน หากสังเกตสายตาของออยจับจ้องเอกสารของแมวและบรีดเดอร์ที่เข้าร่วมงาน และกันที่วิ่งวุ่นภายในงานเพื่อให้งานประกวดออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด นั่นคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทั้งสองเป็นแน่

งานดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยการ “คว้าโอกาส” อีกครั้งของกันและออย ทั้งสองอธิบายว่าในจำนวนเก้าสมาคมแมวระดับโลกจะอยู่ใต้ “สภาแมวโลก” หรือ World Cat
Congress (WCC) ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของ WCC คือการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือของสมาคมแมวต่าง ๆ ในโลก  ในแต่ละปีทาง WCC จะจัดประชุมหารือ
ข้อเสนอต่าง ๆ จากสมาคมแมวทั้งเก้าสมาคม เช่น การนำเสนอสายพันธุ์ กฎหมายแมว สวัสดิภาพของแมว เป็นต้น

ปีนี้ WCC เลือกจัดประชุมหารือในประเทศไทย ซึ่งกันและออยได้เข้าร่วมในฐานะสมาคม ARC ภายในสมาคมหลักอย่าง WCF  ทั้งสองเสนอในวงประชุมว่าจะขอจัดงานประกวด World Show ขึ้น เพื่อยกระดับความนิยมของสมาคม ARC และมาตรฐานของการประกวดในประเทศไทยขึ้นไปอีกขั้น

การเป็นสมาคมแมวภายใต้สมาคมระดับโลก เงื่อนไขสำคัญที่จำเป็นต้องทำทุกสมาคมคือการจัดงานประกวดแมว โดยเงื่อนไขของ WCF จะต้องจัดงานประกวดแมว ๓ ครั้งต่อ ๑ ปี และจะต้องขอใบอนุญาต (license) จาก WCF ด้วย แต่งานประกวดสามครั้งที่กล่าวมาเป็นเพียงงานประกวดระดับทั่วไปเท่านั้น ส่วนงานประกวดอีกระดับหนึ่งก็คือ World Show ซึ่งหมายความว่าผู้ประกวดและกรรมการหลากหลายประเทศจะเข้าร่วม รวมถึงผู้ประกวดชาวไทยก็จะตั้งตารอการประกวดระดับ World Show ในประเทศไทยด้วย

การแข่งขันในระบบของ WCF จะแบ่งเป็นสามสนามด้วยกัน สนามหลักคือ Table Judging หรือ Traditional Judging โดยบรีดเดอร์และแมวผู้เข้าประกวดจะไปพบกับกรรมการบนโต๊ะประกวด แต่ละโต๊ะจะแบ่งแยกตามสายพันธุ์ เพศ สี และรุ่นอายุ โดยรุ่นอายุจะแบ่งเป็น ๓ ช่วง คือ ๓-๖ เดือน ๖-๑๐ เดือน และ ๑๐ เดือนขึ้นไป การตัดสินจะเกิดขึ้นระหว่างแมวที่มีลักษณะเหมือนกันเท่านั้น
  
กรรมการจะดูภาพรวมของแมวทุกตัว พร้อมบอกจุดเด่นและจุดด้อยให้บรีดเดอร์ และเมื่อตัดสินจนครบแล้วกรรมการจะเรียกแมวทั้งหมดมาเปรียบเทียบกัน (ภาษาในเวทีการประกวดใช้คำว่า compare) ซึ่งจะมีเพียงแมวในอันดับ ๑ เท่านั้นที่จะได้ใบ certifif icate ไป โดยปลายทางของการเก็บใบรับรองดังกล่าวก็คือการขึ้นสู่ Champion นั่นเอง

Image

แมวหน้าใหม่บางตัวที่เข้าร่วมครั้งแรกเพื่อเก็บใบ certificate อาจยังไม่คุ้นเคยกับการตรวจของกรรมการเท่าใดนัก

การจะเป็น Champion ของ WCF นั้น บรีดเดอร์และแมวผู้เข้าประกวดจะต้องเก็บใบรับรองให้ครบสามใบโดยต่างกรรมการ หมายความว่าหากงานวันนั้นมี ๒ วัน บรีดเดอร์และแมวตัวดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะเก็บใบรับรองได้สองใบ เพราะในการประกวดของ WCF แมวหนึ่งตัวขึ้นโต๊ะประกวดได้เพียงหนึ่งครั้งต่อวันเท่านั้น

ทว่าระดับ Champion นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการประกวดกับ WCF เท่านั้น

ถัดจาก Champion จะมีอยู่อีกห้าระดับ โดยแต่ละระดับจะต้องเก็บใบรับรองสามใบ โดยมีรายละเอียดต่างกัน

๑. International Champion - จะต้องมีหนึ่งใบที่ได้มาจากการชนะที่ประเทศอื่น

๒. Grand International Champion - จะต้องมีหนึ่งใบที่ได้มาจากการชนะที่ประเทศอื่น

๓. Continental Champion - ใบรับรองทั้งสามใบจะต้องมาจากการประกวดในประเทศที่ต่างกัน

๔. Grand Continental Champion - ใบรับรองทั้งสามใบจะต้องมาจากการประกวดในประเทศที่ต่างกัน

๕. World Champion - ใบรับรองทั้งสามใบจะต้องมาจากการประกวดในประเทศที่ต่างกัน แต่หนึ่งใบนั้นจะต้องเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอื่น

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ World Show เป็นงานประกวดสำคัญที่ผู้ประกวดจำนวนมากตั้งตารอ โดยเฉพาะในประเทศไทย การประกวดของ WCF เน้นไปที่การเก็บ “ใบ certificate” แต่การจะได้ใบรับรองระดับโลกจำเป็นต้องเดินทางไปประกวดที่ต่างประเทศ แต่หากบรีดเดอร์และแมวผู้เข้าประกวดสามารถชนะรอบ Table Judging ในงาน World Show ที่จัดขึ้นในประเทศได้ ใบรับรองที่ได้ในครั้งนี้ก็จะมีคุณสมบัติเท่ากับ “การชนะในประเทศอื่น” นั่นเอง

“นายกสมาคมก็อยากให้งานใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราอยากรับแมวสักประมาณ ๘๐๐ ตัว แต่ในไทยมันมีแค่ ๖๐๐ ตัว (จำนวนบรีดเดอร์ในวงการที่หาได้) ผมดันสุดแล้ว แต่มันก็เยอะมาก ๆ แล้ว ไม่เคยเห็นในงานไหนแน่ ๆ และนอกจากการประกวดเอาใบ certifif icate บรีดเดอร์ก็จะได้คุยกับกรรมการ ได้ถามเลยว่ามีตำหนิตรงไหน จุดเด่นจุดด้อยคืออะไร เพื่อที่จะนำไปพัฒนาต่อได้ งานประกวดอื่น ๆ มันน้อยมากที่จะได้คุยแบบนี้” กันอธิบาย

การจะเป็น Champion ของ WCF นั้น บรีดเดอร์และแมวจะต้องเก็บใบ certificate ให้ครบสามใบโดยต่างกรรมการ  และแมวหนึ่งตัวขึ้นโต๊ะประกวดได้เพียงหนึ่งครั้งต่อวันเท่านั้น

Image

หลังผ่านคำตัดสินและการแข่งขันกับแมวหลายร้อยตัว เวลาที่เหล่าบรีดเดอร์และแมวรอคอยคือการได้รับโบบนเวทีในฐานะอันดับ ๑ และสิ่งที่บรีดเดอร์ทุกคนที่ได้รางวัลรู้สึกเหมือนกันคือ พวกเขาเริ่มเสพติดการประกวดแล้ว

อ่านต่อ EP.2