EP.01
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
โอ ละนอ...
โอ ละนอ...
ได้ยินเสียงนี้ สายเลือดอีสานรู้ทันทีว่าหมอลำกำลังเริ่ม หลังเกริ่นลำ โอ ละนอ... การลำจะดำเนินต่อเนื่องไปจนข้ามคืนโดยไม่มีใครถอยหนี เพราะมีทีเด็ดม่วนๆ มันๆ อยู่ตลอดแบบไม่มีเดดแอร์
เป็นมาแต่ยุคที่ยังไม่มีเครื่องเสียง ไม่มีไฟฟ้า ขี่ม้าไปเล่นจนถึงยุคเสียงแสงสีเวทีราคาหลายล้าน ทีมงานหลายร้อยชีวิต ที่ดึงดูดคนเรือนหมื่นให้มารวมตัวกันอยู่ได้ทั้งคืนอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
เหมือนเป็นมหรสพพื้นบ้านเก่าแก่ที่คนทั่วไปอาจรู้สึกว่าเชยล้าสมัย แต่ใครเคยเฉียดใกล้เวทีหมอลำจะรู้ว่ามนตร์เสน่ห์ในบันเทิงศิลป์โบราณนี้ยังเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย ทั้งยังขยายออกนอกถิ่นอีสานไปอยู่ในรายการโชว์วาไรตี ในละครโทรทัศน์ และยังเป็นมหรสพในดวงใจของคนอีสาน
รุ่นใหม่ทุกกลุ่ม
หมอ
ผู้เก่งกาจเชี่ยวชาญในด้านหนึ่งด้านใด
ลำ
การเล่าเรื่องด้วยเสียงและท่วงทำนองอันไพเราะ
หมอลำกลอน
หมอลำชายหญิงคู่หนึ่ง “ลำใส่กัน” ลำกลอนถามตอบเรื่องคดีโลกคดีธรรม มีหมอแคนเป่าแคนประกอบ บางทีเรียกลำโจทย์ลำแก้ หรือหมอลำคู่
หมอลำพื้น
หมอลำยุคแรกสุด ลำนิทานพื้นบ้าน ชาดก เล่นคนเดียว แสดงบทบาทและทำหลายเสียงตามลักษณะตัวละคร มีเสียงแคนประกอบ
หมอลำเรื่องต่อกลอน
มีการแบ่งตัวละคร มีบทเจรจา คุยหยอกกระเซ้าเย้ากัน มีผู้ร่วมแสดงและเครื่องดนตรีจำนวนมากขึ้น บางทีเรียก “หมอลำหมู่”
งันเฮือนดี
การเล่านิทานในงานศพ
หมอลําเพลิน
หมอลำหมู่ประเภทหนึ่ง ใช้ทำนองคึกคักเร้าใจ สนุกสนาน ที่อาจได้รับอิทธิพลจากเพลงรําโทน การแต่งกายวับแวมแบบตะวันตก โดยนักเต้นจะนุ่งกระโปรงสั้นเหนือเข่าเห็นขาอ่อน ทำให้หมอลําเพลินถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หมอลํากกขาขาว”
เต้ย
ลำมีจังหวะ ลำทำนองยาว เอื้อนเสียงยาว แต่ใช้กลอนสั้นๆ ชมความงาม ถามหาสรีระ เกี้ยวกัน จังหวะหลักคือเซิ้ง เต้ยมีสี่ทำนอง ได้แก่ เต้ยธรรมดา เต้ยหัวโนนตาล เต้ยโขง และเต้ยพม่า
หย่าว
คำส่งสัญญาณให้เริ่ม มักใช้ในการแสดงที่เกี่ยวกับดนตรี จะพูดว่า เอ้า... หย่าว ในความหมายว่าบรรเลงเลย หมอลำมักใช้ตอนเดินดง ที่มีการเย้าแหย่กันในทางเพศ
หมอลำซิ่ง
มาจากหมอลำกลอน ตัดเอาช่วงเต้ย ตอนชมนกชมไม้ หรือหย่าว ในจังหวะเร็วเร้าใจ เนื้อหาลำเป็นการชมสรีระ พูดถึงเรื่องเพศแบบตรงไปตรงมามีหางเครื่องเต้นบนเวทีซึ่งอาจนุ่งสั้น บางทีหมอลําซิ่ง จึงถูกเรียกว่า “หมอลํากกขาขาว” ด้วย
หมอลำที่ดูชมกันอยู่ทั่วไปในทุกวันนี้ ไม่ใช่ภาพจำเดิม ๆ ที่เป็นชายหญิงคู่หนึ่งลำกลอนโต้ตอบกัน คลอเสียงแคน แต่เป็นการแสดงบนเวทีใหญ่ ๆ ที่มีระบบแสงสีเสียงไม่แพ้เวทีคอนเสิร์ตมาตรฐาน
“ต้องให้สนุกเข้ากับยุคสมัย คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้”
กลยุทธ์การทำวงของ ภักดี พลล้ำ หัวหน้าคณะระเบียบวาทะศิลป์ ที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีชื่อเสียงอยู่ในระดับแถวหน้าสุดของหมอลำยุคนี้ ด้วยคิวงานที่เต็มแน่นตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดฤดูกาลยาวไปเกือบตลอดทั้งปีแล้ว มีคิวเล่นทุกวันต่อเนื่องไม่มีวันหยุด ด้วยอัตราค่าจ้างเริ่มต้นที่ ๓.๓ แสนบาทต่องาน ทีมงานเต็มวง ๓๐๐ กว่าชีวิต กับอุปกรณ์เวทีและชุดการแสดงที่ขนกันไปด้วยรถใหญ่ร่วม ๒๐ คัน เปิดการแสดงครั้งละ ๙ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๓ ทุ่มยันเช้า
หมอลำยุคใหม่ที่ดูชมกันในทุกวันนี้จึงไม่ใช่ภาพจำเดิม ๆ ที่เป็นชายหญิงคู่หนึ่งลำกลอนโต้ตอบกันคลอเสียงแคน แต่เป็นโชว์วาไรตีบนเวทีใหญ่ประดับแสงสี มีจอและอุปกรณ์ประกอบฉากที่ซับซ้อน มีมิติทั้งในแนวลึกและแนวดิ่ง ซึ่งคนดูได้ตื่นตาเมื่อนักร้องอาจโผล่จากด้านล่างขึ้นมากลางเวที หรือโรยตัวลงมาจากมุมบนด้วยสายสลิง
ไฟสีแสงแรงสูงไม่แพ้เวทีคอนเสิร์ตมาตรฐาน เครื่องเสียงกระหึ่มหูสะเทือนถึงในอก
มีช่วงโชว์เพลงกับทีมนักเต้นที่ประดับแต่งตัวและหัวแบบจัดเต็ม ตื่นตาอลังการไม่แพ้วงดนตรีลูกทุ่งใหญ่ ๆ มีช่วงลำเรื่องที่เป็นการแสดงเหมือนละครเวที โดยมีพิธีกรกับโชว์ตลกคั่นบางช่วง
“เป็นแบบนี้มาหลายสิบปีแล้ว” ภักดี หรือที่ใคร ๆ เรียกเขาว่าพ่อเอ๊ะ พูดถึงพัฒนาการของคณะระเบียบวาทะศิลป์ในช่วง ๓๐ กว่าปี ที่เขากับพี่ชาย-สุมิตรศักดิ์ พลล้ำ หรือพ่อเปียรับช่วงต่อจากคุณพ่อระเบียบ พลล้ำ ผู้ก่อตั้งคณะมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๗
“คุณพ่ออยากเป็นหมอลำ ขอเรียนวิชาจากย่าแสงอรุณ หรือหมอลำแส่ง นามคันที ในหมู่บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น เริ่มจากสามสี่คน แสงสีเสียงไม่มี ลำให้พอเป็นมหรสพ รับงานสมโภชต่าง ๆ สะสมประสบการณ์ หลังแต่งงานกับคุณแม่จึงตั้งคณะของตัวเอง”
ในสังคมอีสาน หมอลําถือว่าเป็นศิลปินและปัญญาชนที่ได้รับการยอมรับยกย่องว่าเป็นผู้มีวิชาความรู้ ไหวพริบ มีเสน่ห์และความสามารถในการเล่าเรื่องให้คนเบิกบานม่วนใจ ซึ่งไม่ใช่ว่าใครจะเป็นได้ง่าย ๆ ต้องผ่านการเรียนรู้ฝึกฝนหนักหน่วง
ช่วงที่คุณพ่อระเบียบเป็นหัวหน้าคณะ พ่อเอ๊ะได้ร่วมเดินทางเรียนรู้ไปด้วยในฐานะลูกเจ้าของวง และเป็นหมอลำฝึกหัด เริ่มจากรับบทลูก ต่อมาเป็นตัวร้าย และเป็นพ่อ ก่อนจะปล่อยให้ลูกหลานรุ่นใหม่รับสืบต่อ เขาถอยออกมาเป็นผู้บริหาร
“ตอนคุณพ่อทำก็เข้ามาช่วยดูแล อยากทำให้ตรงนั้นตรงนี้เกิดความยิ่งใหญ่ตามยุคสมัย ทุกวันนี้พอมีเทคโนโลยีอะไรดี ๆ ตามที่เขานำเข้ามา อยากให้มีอยู่บนเวที เราก็หาเข้ามาพัฒนามาเรื่อย ๆ”
“อะไรเป็นหัวใจของความสำเร็จ”
“เราไม่มองว่าคนยุคใหม่ฟังหมอลำไม่เป็น สิ่งใหม่ ๆ ที่คนสมัยใหม่ต้องการ เขาอยากฟังอยากเห็น เราจะหามา ให้เข้ากับคนสมัยนี้”
ก่อนแสดงทุกครั้งต้องบวงสรวงครูอาจารย์ หลังเวทีของทุกคณะจึงมีโต๊ะบูชาขนาดใหญ่จัดไว้เสมอ บางคณะสร้างแบบสำเร็จรูปไว้ท้ายรถ เคลื่อนไปจอดที่ใดเปิดทำพิธีได้ทันที
"ของเก่ามักถูกมองว่าล้าหลัง ถดถอย แต่หมอลำยังไม่เสื่อมความนิยม ?"
“ของเก่ามักถูกมองว่าล้าหลัง ถดถอย แต่หมอลำยังไม่เสื่อมความนิยม ?”
“เราทำให้คนดูสนุกได้ ไม่ว่าดนตรี เพลงที่ฟังแล้วผ่อนคลาย จังหวะที่สนุก หมอลำสามารถเล่นดนตรีสากล เพลงลูกทุ่ง เพลงอินดี้ ทุกอย่างรวมอยู่ตรงนี้ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและสนุกไปกับเราได้ ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าดูหมอลำสนุกกว่าเข้าผับ”
“จะพาคณะไปอย่างไรให้ระเบียบวาทะศิลป์เป็นที่นิยมต่อไป”
“ดูตามสมัยว่าทำอย่างไรให้อยู่ร่วมสมัย ทุกวันนี้อยู่ได้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าไม่ไปดูหน้างานแล้ว เราต้องนำสิ่งใหม่ ตอนนี้มีโซเชียลมีเดียทำให้เราปรับแก้ได้รวดเร็วตามที่มีคำติชม พยายามทำให้ได้ดังใจคนดู”
เป็นพัฒนาการที่นับว่ามาไกลจนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหรสพบันเทิงและเพลงสายอื่น ๆ ดังในงานเทศกาลดนตรีใหญ่ Big Mountain ที่เขาใหญ่เมื่อปลายปีก่อน ที่โจษจันกันว่า เมื่อหมอลำระเบียบวาทะศิลป์ได้รับเชิญมาร่วมงานนี้เป็นครั้งแรก ก็แย่งซีนวงอื่นเขาไปหมด ด้วยความตื่นตาแปลกใหม่ของวงการ
ไม่ใช่แต่ในหมู่คนดู สำหรับคนเล่นก็เป็นความมั่นใจและความประทับใจ “เป็นการแสดงครั้งหนึ่งที่ประทับใจที่สุด ว่าคนที่เขาไม่คุ้นเคย ไม่ใช่คอหมอลำโดยตรง แต่พยายามจะเข้าถึงให้ได้และสนุกไปด้วยกัน”
“หมอลำ” ตามที่รู้จักและสืบสายกันอยู่ในยุคนี้ มีส่วนผสมของโชว์วงดนตรีและการแสดงคล้ายละครเวที แต่อัตลักษณ์ของหมอลำยังอยู่ที่ท่วงทำนองของการร้องลำและสำเนียงเสียงภาษาอีสาน ซึ่งแยกย่อยตามท้องถิ่น ว่าเป็นทำนองขอนแก่น ทำนองอุบลฯ ทำนองสารคาม ทำนองกาฬสินธุ์ ฯลฯ
ส่วนเครื่องดนตรี ทุกวันนี้วงหมอลำใช้ชนิดดนตรีแทบไม่ต่างจากวงลูกทุ่ง ทั้งอาจใช้มากกว่าในกลุ่มเครื่องเป่าโลหะ แซกโซโฟน ทรัมเป็ต ทรอมโบน ซึ่งอาจมีหลายชิ้นในแต่ละชนิดให้จังหวะเร้าใจแบบโจ๊ะ ๆ
ต่างกันไกลกับที่คนรุ่นเก่าก่อนเคยรู้เห็น
ขณะความบันเทิงดำเนินไปหน้าเวที ด้านล่างและด้านหลังเป็นพื้นที่เตรียมตัว แดนเซอร์ในวงหมอลำคนหนึ่งเล่าว่า “เสื้อผ้า ๑ ราวต่อ ๑ คน เราต้องเปลี่ยนชุดให้เร็ว บางทีใส่ชุด ๒ ก่อน แล้วใส่ชุดแรกคลุม ลงจากเวทีถอดกอง ๆ ไว้ แล้วขึ้นเต้นต่อด้วยชุดข้างในที่ใส่ไว้ก่อน”
"เราทำให้คนดูสนุกได้ ไม่ว่าดนตรี เพลงที่ฟังแล้วผ่อนคลาย จังหวะที่สนุก หมอลำสามารถเล่นดนตรีสากล เพลงลูกทุ่ง เพลงอินดี้ ทุกอย่างรวมอยู่ตรงนี้ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและสนุกไปกับเราได้ ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าดูหมอลำสนุกกว่าเข้าผับ"
หมอลำบางคณะใช้แดนเซอร์มากกว่า ๑๐๐ คน แบ่งเป็น ๓ ทีม สลับกันขึ้นเวที
แต่ละคนจะมีลังพลาสติกประจำตัวใส่อุปกรณ์แต่งหน้าทำผม เตรียมตัวรออยู่ใต้เวที แต่พื้นที่ไม่พอ บางส่วนต้องออกมากางเต็นท์อยู่ด้านหลัง
โสภา พลตรี วีรบุรุษหมอลำผู้ใช้กลอนลำป่าวร้องความทุกข์ยากอยุติธรรมที่ชาวบ้านอีสานถูกกระทำในยุคเผด็จการ จนถูกจับกุมและเสียชีวิตในคุก ปัจจุบันทายาทสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่บ้านใยบุญ ท้ายทุ่งริมหมู่บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น
ลำพื้น
“สมัยโบราณมีนิทานศาสนา ชาดก เขียนบนใบลานใช้อ่านใน ‘งันเฮือนดี’ อยู่เป็นเพื่อนญาติผู้ตาย คนเสียงไพเราะอ่านเป็นทำนอง ไม่มีดนตรีเรียกแหล่ ถ้ามีเสียงแคนใส่ก็เรียกลำ คนที่ลำเก่ง ๆ เรียกหมอ หมอลำเริ่มจากตรงนั้น”
ชาตรี เสงี่ยมวงศ์ หรือนามปากกา “บุญมา ภูเม็ง” นักดนตรีและหมอแคนในวงหมอลำยุคเก่า เล่าจากประสบการณ์และความรับรู้ของเขา
“คนเดียวเล่าหลายเสียง แสดงไปตามบทบาทด้วยเรียกหมอลำพื้น ซึ่งคนที่เป็นต้นแบบของหมอลำชื่อดังคณะต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่นทุกวันนี้คือหมอลำพื้นอินตา บุตรทา”
แต่แคนมีมาก่อนนั้น ชาตรีคิดว่าอาจมีตั้งแต่ยุคโลหะก็เป็นได้ ตั้งแต่คนโบราณในแถบอีสานรู้จักถลุงโลหะใช้ “ถ้าเอาโลหะนั้นมาตีเป็นแผ่นบาง ๆ ใส่ในลำไผ่ ก็เป็นลิ้นแคนได้”
บรรพชนของคนในกลุ่มวัฒนธรรมลาวใช้เสียงแคนเป็นสื่อกลางในพิธีกรรมระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติและโลกแห่งวิญญาณต่างภพภูมิมายาวนาน
ตามหลักฐานลายสลักบนขวานสำริดในแหล่งโบราณคดีดงเซินที่เวียดนาม เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อน ที่มีรูปคนแต่งกายนุ่งยาว หัวมีเครื่องประดับคล้ายขนนก สองคนยืนทำท่ารำขนาบข้างคนเป่าแคน
เหมือนหมอลำกลอนที่เห็นในทุกวันนี้
แถบลุ่มน้ำโขงในยุคร้อย ๆ ปีก่อน แคนคงเป็นดนตรีที่แนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ตามที่ จิตร ภูมิศักดิ์ บันทึกการค้นคว้าไว้ใน ชีวิตและศิลป ว่า แม้ในห้วงยามความทุกข์ที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยสงคราม คนลาวยังนำแคนติดตัวมายังสยามด้วย ดังเพลงที่ร้องว่า
ฝ่ายพวกลาวเป่าแคนแสนเสนาะ มาสอเพาะเข้ากับแคนแสนขยัน เป็นใจความยามยากจากเวียงจันทน์ ตกมาอยู่เขตขัณฑ์อยุธยา...พลัดทั้งพงศ์เผ่า ทั้งลูกเต้าก็หนีหาย บักไทยมันเฆี่ยนบักไทยมันขัง จนไหล่จนหลังของข้อยนี่ลาย...ระเหินระหกตกยากต้องเป็นคนกากคนแกน มีแต่แคนคันเดียว ก็พอได้เที่ยวขอทานเขากิน...
“ถิ่นไหนมีการต่อสู้มาก ๆ จังหวะจะโคนจะดี” ชาตรีตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยง
ชาตรี เสงี่ยมวงศ์ อดีตหมอแคน
ในคณะหมอลำยุคปี ๒๕๑๙
“ทาสนิโกรในไร่ฝ้าย เก็บเครื่องเป่าพัง ๆ ของคนขาวมาเล่นเกิดเป็นเพลง เหมือนทาสเชลยลาวแคน คนพลัดบ้านเมืองมีจังหวะแบบหนึ่ง คนอยู่ดีมีสุขก็พัฒนาไปอย่างหนึ่ง”
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับอดีตนักดนตรีในวงหมอลำอย่างเขา “จังหวะของดนตรีพื้นบ้านอีสานเข้ากับสากลได้หมด จังหวะเซิ้งถ้าปรับเป็นดับเบิลจะอยู่ระดับเดียวกับชะชะช่า กลองสองหน้ากับของละตินเข้ากันได้ ดนตรีของ คาร์ลอส
ซานตานา เข้ากับเดินกลอนขอนแก่นพอดี”
เมื่อเชลยลาวมาอยู่ในกรุงเทพฯ เล่นแคนเป็นที่นิยม จนถูกราชสำนักสั่งห้ามเล่น ด้วยมองว่า “ไม่งามเพราะเป็นของลาว” ตามที่ปรากฏใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ว่า “...แม้ในงานโกนจุก บวชนาคก็หาลาวแคนมาเล่น เห็นว่าไม่งามเพราะเป็นของลาว ลาวเคยเป็นข้าไทย” จึง “ขอให้งดเล่น ให้เอาของไทยมาเล่น ประกาศนี้ถ้าไม่เชื่อขืนเล่น ให้เรียกภาษีแรง ใครเล่นที่ไหน จะเรียกข้าวของผู้เล่น ถ้าลักเล่นจะต้องจับปรับให้เสียภาษี ๒ ต่อ ๓ ต่อ”
แต่ในหมู่สังคมชาวบ้าน เสียงแคนและหมอลำยังดังต่อเนื่องอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างไม่มีใครลบเลือนได้ และความหลงใหลในศิลป์เสน่ห์แห่งหมอลำไม่ยอมให้ใครลบลืม
จิตรกรรมฝาผนังตามวัดเก่าแก่ในอีสาน อย่างที่วัดสว่างโพธิ์ศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ มักมีภาพคนเป่าแคน
และคนวาดแขนตั้งวงฟ้อนหรือยกมือข้างหนึ่งขึ้นป้องหู คนรู้เรื่องหมอลำ มาเห็นก็จะได้ยินเสียงเกริ่นลำ โอ ละนอ คลอมากับเสียงแคน
ตามวัดโบราณในอีสานที่มีอายุเป็นร้อยปีจึงมีภาพวาดหมอลำให้เห็นอยู่ทั่วไป
บนผนังด้านนอกของโบสถ์หลังเก่า วัดสว่างโพธิ์ศรี ในตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ วัดเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษก่อน มีฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ช่องหนึ่งที่โดดเด่นเป็นภาพขบวนแห่บนหลังช้าง แถวทหาร และการเล่นหมอลำ นำโดยหมอลำชายที่กำลังยกมือป้องหู เกริ่นลำอยู่ข้างหมอแคน มีหญิงชายร่วมรำตามมาอีกหลายคน และหมอแคนอีกคนตามท้ายขบวน คำบรรยายใต้ภาพมุมซ้ายบอกว่า ข้าพเจ้านายจันทร์ วาดรูปทหารไว้ในโบสถ์นี้ ๑๖ คน
พระแสวง จันทะสาโร อายุ ๗๗ ปี บอกว่าแม่ของท่านเล่าให้ฟังว่า วัดนี้เริ่มสร้างตอนแม่อายุ ๑๓ ปี ซึ่งถ้านับถึงตอนนี้อายุแม่ ๑๓๔ ปีแล้ว
“ช่วงหนึ่งหลวงพ่อศรีทา มาจากบ้านเอียดเชียงเหียน เป็นเจ้าอาวาส มีคนแกวมาค้าขายและได้เมียในหมู่บ้าน จึงปรึกษากับเจ้าอาวาสร่วมกันสร้างสิมหลังนี้ขึ้น คนแรกสร้างไม่เสร็จ เสียชีวิตช่วงมุงหลังคา น้องชายชื่อ คำมี แซ่กาว ช่วยสร้างต่อ มุงหญ้าและกระเบื้องไม้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสังกะสี”
ส่วนฮูปแต้มบนผนังสิมนั้น หลวงตาเล่าว่าเป็นฝีมือของช่างเขียนในหมู่บ้าน
“คนวาดคือนายอำคา นายเอ็น นายจันทร์ เป็นชาวบ้านที่นี่เป็นคนเขียนรูปเก่ง พอมาบวชจึงได้วาดรูป เห็นตอนที่ทุกคนวาด ตอนนั้นหลวงตาอายุราว ๑๐ ขวบ” ใช้สีจากธรรมชาติ “สีแดงมาจากยางไม้ดู่ ไม้เต็ง สีน้ำเงินจากยางหว้า สีดำจากถ่าน”
โบสถ์ถูกใช้ในศาสนกิจมายาวนาน ก่อนกลายเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรมาขึ้นทะเบียนและบูรณะ ถมพื้นสูงขึ้นและปูกระเบื้อง ซึ่งแต่เดิมตามความทรงจำของหลวงพ่อแสวงนั้น “กำแพงรอบโบสถ์สูงระดับอก บันไดไม่สูงมาก” อย่างที่เห็นในทุกวันนี้
ถัดไปอีกตำบลของอำเภอยางตลาด ยังมีจิตรกรรมโบราณที่วัดโพธิ์ชัยโคกใหญ่ ตำบลบัวบาน ต้องย้ำชื่อตำบลกำกับไว้ด้วยเสมอเมื่อกล่าวถึงวัดนี้ เนื่องจากยังมีวัดชื่อเดียวกันอีกแห่ง อยู่ที่ตำบลหัวนาคำ
วัดชื่อเหมือนกันอยู่ในอำเภอและจังหวัดเดียวกัน แต่ภาพเขียนฝาผนังเรื่องหมอลำอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยโคกใหญ่ ตำบลบัวบานเท่านั้น
อุโบสถเก่าที่เขียนบอกไว้เหนือกรอบประตูหน้าว่า “สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑” ภายในเขียนภาพสไตล์ช่างพื้นบ้านไว้รอบด้าน เน้นใช้สีน้ำเงิน ทอง น้ำตาล ด้านหลังองค์พระประธานเขียนเรื่องชาดกและวิถีชาวบ้าน ซึ่งมีการเล่นหมอลำร่วมอยู่ด้วยถึงสามแห่งในภาพที่เล่าเรื่องต่อเนื่องเต็มผนังทั้งด้านนั้น
หมอลำยุคแรกพัฒนามาจาก งันเฮือนดี หรือการเล่านิทานในงานศพ ซึ่งตัวบทมาจากนิทานศาสนา ชาดก วรรณกรรมพื้นบ้านที่เรียกว่าโคลงสาร หรือมหากาพย์
เป็นภาพการลำที่นำโดยหมอลำหญิง ซึ่งกำลังวาดมือซ้ายตั้งวงฟ้อน มือข้างขวายกขึ้นข้างหู ยืนอยู่ข้างหมอแคน คนช่ำชองการฟังลำจะได้ยินเสียงจากภาพนั้นลอยมาว่าเธอกำลังขึ้นต้นลำ โอ ละนอ... ขณะที่หมอลำกลอนหญิงชายคู่หนึ่ง เล่นลำกันไปบนหลังช้าง หมอแคนเดินตาม
ส่วนที่วัดไชยศรี ตำบลสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น มีภาพเขียนหมอลำด้วยลายเส้นสีฟ้า ภายนอกผนังโบสถ์ด้านทิศใต้ หมู่บ้านนี้ถือเป็นถิ่นหมอลำมาแต่อดีตจนปัจจุบัน ในศาลาข้างโบสถ์มีประวัติหมอลำคนสำคัญของขอนแก่น ตั้งแต่หมอลำแส่งนามคันที คณะแสงอรุณศิลป์ หมอลำประสงค์ เหลาหา คณะประสงค์ศิลป์ หมอลำบัว คำมี คณะบัวแก้ววิเศษ หมอลำอังคาน คำมี คณะอังคานแก้ววิเศษ จนถึงหมอลำระเบียบพลล้ำ คณะระเบียบวาทะศิลป์ ที่เป็นหมอลำอันดับต้นในยุคนี้ ก็ตั้งคณะอยู่ที่ท้ายหมู่บ้านสาวะถี
และเคยมีอนุสาวรีย์วีรบุรุษหมอลำ โสภา พลตรี อยู่ที่วัดโพธิ์ชัย แต่ปัจจุบันลูกหลานได้ย้ายไปไว้ในที่ส่วนตัวที่บ้าน
ใยบุญ ทางท้ายทุ่งห่างชุมชนออกไปราว ๒ กิโลเมตร ด้วยเหตุคาบเกี่ยวกับสถานการณ์และเงื่อนไขทางการเมือง
หมอลำเป็นความบันเทิงในชีวิต แต่ขณะเดียวกันมันก็แยกไม่ออกจากการสะท้อนและกู่ร้องบอกกล่าวความทุกข์สุขของผู้คนแห่งยุคสมัย
การขูดรีดภาษีชาวบ้านจากรัฐส่วนกลาง การผูกขาดฐานทรัพยากรจนคนในพื้นที่ไม่อาจเข้าถึง การยกเลิกระบบการศึกษาอักษรธรรมในวัด บังคับเรียนภาษาไทย เป็นปัญหาคับใจที่หมอลำโสภานำมาลำกลอนบอกกล่าวสู่คนฟัง รวมทั้งมีนัยของการส่งสารร้องทุกข์ถึงชนชั้นปกครองไปด้วย ทำให้เขาถูกจับข้อหากบฏภายในราชอาณาจักรตอนอายุ ๖๐ ปี
ตามประวัติชีวิตที่มีการบันทึกไว้ เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าความจริงหมอลำในตำนานผู้นี้ไม่ได้คิดกบฏล้มล้างรัฐ เขาเคยเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ ๘ แต่ไม่ได้เข้าเฝ้าฯ หลังถูกจับขังอยู่ราว ๒ ปี เขาสิ้นชีวิตในคุกและศพหายไปอย่างเป็นปริศนา แต่ โสภา พลตรี ก็กลายเป็นวีรบุรุษหมอลำนักต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นล่างมาจนปัจจุบัน
และจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ในกลอนลำของหมอลำแต่ละสมัยยังเป็นบทบันทึกสภาพอีสานในยุคนั้น ๆ ด้วย อย่างคำเกริ่นลำแต่ก่อนว่า “พอแต่เปิดผ้ากั้ง แจ้งสว่างสีลอนดอน” สีลอนดอนเป็นแสงจากตะเกียงลานแบบหมุนไส้ยี่ห้อลอนดอน ที่คนมีฐานะใช้กันยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเป็นบันทึกว่ายุคนั้นมีการใช้ผ้ากั้งหรือฉากบัง และมีไฟใช้บนเวทีแล้ว
ต่อมาเมื่อมีไฟฟ้าใช้แทนตะเกียง เกริ่นลําในยุคสมัยเปลี่ยนเป็น “พอแต่เปิดผ้ากั้ง แจ้งสว่างสีนีออน...”
"ดูตามสมัยว่าทำอย่างไรให้อยู่ร่วมสมัย ทุกวันนี้อยู่ได้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าไม่ไปดูหน้างานแล้ว เราต้องนำสิ่งใหม่ ตอนนี้มีโซเชียลมีเดียทำให้เราปรับแก้ได้รวดเร็วตามที่มีคำติชม พยายามทำให้ได้ดังใจคนดู"
งานเบื้องหลังแทบทั้งหมดจะอยู่หลังเวที แต่เบื้องหลังเรื่องเสียงแสงสีจะอยู่ด้านหลังคนดู เพื่อปรับระบบบนเวทีให้ออกมาอย่างที่อยากให้คนดูได้สัมผัส
ความกว้างใหญ่อลังการและระบบเสียงแสงของเวทีหมอลำยุคใหม่ พร้อมรองรับผู้ชมเรือนหมื่น ด้วยค่าจ้างราว ๓ แสนบาทต่องาน
เต้ย
...พอใจหรือยังสาวจันทร์ หรือฝันหาชายคนใหม่ โหยหวนชวนให้สงสาร เฝ้าบ้านท้องนับวันจะใหญ่ ไผเห็นเขาก็แห่งคิดซัง นอนนั่งเจ้าก็หมองหัวใจ
ท่อนติดหูคนฟังยุค 90s ในเพลง “เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ” ของ “พรศักดิ์ ส่องแสง”
จากนั้นก็เข้าท่อนต่อไป กะจังวาไผกันหล่า ซิขันอาสารับเดนคนเก่า สาวจันทร์เอ๋ยอ้ายนี้บ่อยากเว่า อยากเว่า โอ๊ยอยากเว่า อยากเว่า ให้เธอเศร้าแม่นหม่นหมอง ไม่อยากสำรองเพราะน้องอวดเก่ง คงนอนร้องเพลงหัวใจช้ำ คงนอนร้องเพลงหัวใจช้ำ หัวใจช้ำ ซึ่งเป็นทำนอง “เต้ย” ของเพลงหมอลำ
เจ้าของเพลงให้สัมภาษณ์ไว้ใน สารคดี ฉบับที่ ๖๐ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ว่า “ผมเป็นคนแรกที่ทำให้หมอลำดังไปทั่วโลก ไปที่ไหนคนก็ยอมรับ”
เขาทำให้เพลงหมอลำกลายเป็นเพลงที่คนทั่วประเทศร้องตามได้ ไม่เพียงคนอีสานเท่านั้น แต่ยังแผ่ความนิยมไปถึงคนภาคกลาง คนเหนือ คนใต้ หนำซ้ำยังดังข้ามฟ้าไปถึงอีกซีกโลกด้วย
“ไปต่างประเทศฝรั่งก็ชอบ เวลาผมร้องเขาก็ร้องด้วย ผมร้องสาวจันทร์...พอใจหรือยังสาวจันทร์ แล้วก็โอ่... ฝรั่งก็โอ่...ด้วย ผมก็งงเหมือนกัน...ฝรั่งชอบเพราะจังหวะลำเต้ยอาจเหมือนกับจังหวะเพลงบ้านเขาก็ได้”
คำเล่าของเจ้าของเพลงคงไม่เกินจริง ด้วยปรากฏการณ์ “เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ” ได้ทำให้คำว่า “หมอลำ” รู้จักไปทั่วโลก เขาเป็นหมอลำคนแรก ๆ ที่ได้เดินสายแสดงคอนเสิร์ตต่างประเทศ หลังจากหมอลำแพร่หลายอยู่ในวิถีท้องถิ่นอีสานต่อเนื่องมานมนานแล้ว
“แถบขอนแก่น อินตา บุตรทา เป็นหมอลำพื้นคนสุดท้ายที่มาขยายจากลำคนเดียวทำหลายเสียง เป็นแบ่งตัวละคร
ชายหญิง เล่นหลายคน มีบทเกริ่นทำนอง บทเจรจา เริ่มเป็นหมอลำหมู่ บางทีเรียกหมอลำเรื่องต่อกลอน”
ชาตรีย้อนกลับไปแยกย่อยให้เห็นพัฒนาการและที่มาของหมอลำแบบต่าง ๆ
นอกจากรูปแบบการเล่นและจำนวนสมาชิก ยังมีการปรับตัวด้านเครื่องดนตรีด้วย
การแสดงหมอลำยุคแรกของแม่ราตรี ศรีวิไล ราวปี ๒๕๑๒ เป็นการ “ลำกลอนใส่กัน” ของหมอลำชายหญิงคู่หนึ่ง โดยมีหมอแคนเป่าแคนประกอบ
หมอลำเริ่มนําเครื่องดนตรีสากล กีตาร์ เบส กลองชุด ออร์แกน แซกโซโฟน ฯลฯ มาบรรเลงร่วมกับแคน และแซกโซโฟนก็กลายเป็นเครื่องดนตรีประจำวงลูกทุ่งหมอลำมาตั้งแต่นั้น
แต่ควบคู่กันมากับการคลี่คลายแตกสายมาเป็นหมอลำหมู่ ก็ยังมีหมอสไตล์พื้นบ้านดั้งเดิมที่เน้นร้องลำเคล้าเสียงแคน ซึ่งต่อยอดมาจากหมอลำพื้นเช่นกัน
“หมอลำกลอน หมอลำคู่ หรือลำโจทย์ลำแก้ หมอลำหญิงชายกับหมอแคน ลำถามตอบกันแบบปัญญาชน เอากลอนเรื่องพุทธประวัติ ศาสนา พงศาวดารมาถามตอบหักล้างกัน ใครติดคนนั้นแพ้ แทบกระโดดเวทีหนีไม่เอาค่าตัว
“หลังลำวรรณกรรมก็ชมนกชมไม้ แล้วจบด้วยการเต้ย เกี้ยวกัน อย่างลำเต้ยประยุกต์ของ ‘พรศักดิ์ ส่องแสง’ นี่คือทางของหมอลำกลอน”
ในทางลำกลอนหรือหมอลำโจทย์ลำแก้ หมอแคนชาตรีแนะนำไปหาแม่ราตรี ศรีวิไล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะ การแสดง (หมอลำประยุกต์) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ที่บ้านหนองแวงตราชู ในเมืองขอนแก่น
หมอลำราตรี ศรีวิไล หรือชื่อจริง ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ในวัย ๗๒ ปี เป็นลูกสาวในครอบครัวหมอลำ ที่พ่อแม่เคยส่งเธอขึ้นเวทีลำโจทย์ลำแก้ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี
หมอลำราตรี ศรีวิไล
“หมอลำกลอน ชายหนึ่งคน หญิงหนึ่งคน กับหมอแคน ผู้หนึ่งตั้งโจทย์ ผู้หนึ่งลำแก้ ใครแก้ไม่ได้หันหลังแล่นหนี ถ้าภรรยา สามี หรือคนในคณะจะรู้ทางกัน ส่วนมากเขาจะแยกกันเล่น”
เช่นเดียวกับเธอ
“พ่อแม่อยากให้เก่ง ท่านบอกว่า ‘คั่นบ่สู้บ่ได้เป็นหมอลำ เล่นแต่กับพวกเดียวกันก็รู้ใจกัน ต้องเอาคนเก่งที่ไม่รู้กันมาสู้ เป็นเชื้อสายหมอลำต้องทำให้ได้’ เป็นกลยุทธ์ของพ่อแม่จ้างคนอื่นมาฝึกโต้กลอนตั้งแต่อายุ ๑๒-๑๓ พออายุ ๑๔ ปี ออกงาน”
ครั้นอายุราว ๓๐ ปี ราตรี ศรีวิไล ก็เปิดโรงเรียนสอนหมอลําขึ้นที่บ้านในซอยมิตรภาพ ๑๑ เมืองขอนแก่น ปรับรูปแบบหมอลํากลอนใหม่ โดยนําเครื่องดนตรีสากลเข้ามาผสมกับพิณ ใช้กลองชุดประกอบทํานองลําหย่าว และให้มีหางเครื่องเต้นบนเวทีหมอลําเป็นครั้งแรก ทำให้ถูกเรียกอีกอย่างว่า “หมอลํากกขาขาว”
คำนี้สมัยก่อนปี ๒๕๐๐ เคยใช้เรียกหมอลำหมู่ที่รับอิทธิพลจากเพลงรำโทนมาประยุกต์เป็นหมอลำเพลิน แต่ด้วยการแต่งกายที่นุ่งชุดสั้น จึงเรียกกันว่าหมอลำกกขาขาว
“ราวปี ๒๕๑๒-๒๕๑๔ เพลงลูกทุ่งครอบงำไปทั่วประเทศหมอลำจะตกยุค ต้องโชว์เพลงลูกทุ่งก่อนจะแสดง จากยุคนี้เองที่อยู่มาจนปัจจุบัน เป็นโชว์การแสดง เนื้อเพลงสนุก ฟ้อนได้ ตัวบทวรรณกรรมค่อยหายไป ลำเรื่องไว้เล่นหลังเที่ยงคืน กลายเป็นหมอลำวาไรตี”
ชาตรีอ้างถึงหลักหมายที่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญครั้งหนึ่ง และขยายความต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง
“หมอลำเรื่องต่อกลอน พอออกจากเมืองจะเป็นป่า ต้องชมนกชมไม้ ใช้ทำนองเต้ย เรียกว่าหมอลำเดินดง หรือลำเต้ย จังหวะหลักคือเซิ้ง พอว่าด้วยคดีโลกคดีธรรมจนเหนื่อยแล้วมาใช้การเต้ยแทรกระหว่างลำ มาตั้งแต่โบราณแล้ว มีเต้ยธรรมดา เต้ยโขง เต้ยพม่า”
เด้อนางเด้อ เด้อ ๆ นางเด้อ
ท่วงทำนองที่ติดปากคุ้นหูคนมักม่วนก็มาจากการลำเต้ยนี้เอง
“เด้อนางเด้อ แปลว่า นะน้องนะ มาจากตอนชมนกชมไม้ ชมร่างกายตัวเองและฝ่ายตรงข้ามในจังหวะเต้ย หมอลำเอามาแก้ง่วง”
หย่าว
ธรรมดาของหมอลำเป็นที่รู้กันว่าต้องเล่นซอดแจ้ง ทะลุถึงสว่าง
“คนเริ่มเหนื่อยเมื่อดึก หมอลำกลอนหญิงชายที่ลำโจทย์ลำแก้ ถามแก้กันไปมาแบบปัญญาชน ก็จะพูดเรื่องสองแง่สองง่ามใส่กันด้วยวรรณศิลป์แบบสรรพลี้หวน ให้คนสนุกอยู่ได้ตลอดคืน พอคนอยู่ก็ลำชาดกต่อ”
ชาตรีเล่าถึงที่มาของหมอลำอีกสายที่มักก่อประเด็นถกเถียงในสังคมเกี่ยวกับความล่อแหลมเรื่องเพศ
“ต้นทศวรรษ ๒๕๓๐ หมอลำกลอนบางคณะเอาแต่ตอนแก้ง่วงมาต่อกัน ให้จังหวะไว ๆ เข้าไว้ เรียกว่าซิ่ง มาจากเรซซิ่ง (racing) คือหมอลำที่เต้ยและแดนซ์อย่างเดียว ก่อนจะลำซิ่งเขายกอ้อยอครู แล้วลำตามธรรมเนียมโบราณอยู่สัก ๔-๕ นาที แล้วบอกหย่าว เข้าสู่ลำซิ่ง เอ้า หยิบเฉพาะตอนเต้ยช่วงเดินดง หรือหย่าว ซึ่งแปลว่าบรรเลงเลย ถามหาเรือนร่าง อวัยวะหญิงชาย ชมสรีระ แหย่กันในเรื่องทางเพศ ใช้คนขับ ๑ คู่ คนเต้นราว ๑๐ คน ดนตรีหลัก ๆ ๔ ชิ้น แคน กลอง เบส กีตาร์ คีย์บอร์ด แซกโซโฟน เป่าลายลำเพลิน”
กล่าวขานกันว่าหมอลำราตรี ศรีวิไล เป็นคณะแรกที่นำการปรับเปลี่ยนนี้ แต่เจ้าของคณะยังแบ่งรับแบ่งสู้
“เราเขียนว่า ‘หมอลำกลอนประยุกต์’ ไว้ข้างใต้ฉาก แต่เขาไม่อ่านเลย เขาเรียกแต่หมอลำซิ่ง”
เธอเล่าสถานการณ์ในช่วงนั้นว่าผ่านจากยุคพ่อแม่ หมอลำกลอนซบเซาไปสู่หมอลำเรื่องต่อกลอน หมอลำกลอนสาว ๆ พากันไปเป็นนางเอกหมอลำเรื่องต่อกลอน ไปอยู่คณะไหนคณะนั้นดัง มีงาน ถ้าวงไม่ใหญ่ ไม่มีหางเครื่อง เครื่องเสียง เวทีใหญ่ ๆ ก็ซบเซาค่อย ๆ ยุบไป หมอลำหมู่คณะใหญ่ ๆ ที่มีเวทีแสงสีเสียงถึงจะอยู่รอด เธคเคลื่อนที่ก็มาแรงมากตามงานวัด เวทีลำกลอนมีแต่คนแก่
"เมื่อนักร้องปรากฏตัวออกมาพร้อมเสียงเพลง จังหวะเร่งเร้า คนดูก็กลายเป็นนักเต้นไปด้วย บนเวทีกับหน้าเวทีผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แฟนขาประจำนำมาลัยและใบธนบัตรสีต่าง ๆ ไปมอบให้นักร้องในดวงใจ ห้อมล้อม หอมแก้ม กอดคอ จับมือกันชื่นมื่น"
อุ๋งอิ๋ง สาวน้อยเพชรบ้านแพง ซูเปอร์สตาร์หมอลำแถวหน้าสุดแห่งยุค ด้วยจำนวนแฟน ๆ ที่ติดตามเหนียวแน่นทั้งตอนเล่นบนเวทีและในพื้นที่ออนไลน์
ทีแรกเธอปรึกษาพี่ชายให้ช่วยทำดนตรีสำเร็จรูปใส่แผ่นไปเปิดตอนเล่น แต่มันไม่ลงจังหวะกับการลำ ก็พบว่าต้องเป็นดนตรีสด
“เราเริ่มเอาพิณมาใส่กับแคน ที่เป็นแม่หลักของดนตรีหมอลำ จากนั้นเอากลองโทนสองหน้า ฉาบ ฉิ่งเข้ามา ก็ม่วนหลาย เด็กเริ่มเข้ามา ราคารับงานก็เริ่มขยับขึ้น คนเขาว่าไปจ้างแม่ราตรีซิ่ง เราเองยังไม่รู้จักคำว่าซิ่งเลย”
หมอลำสาววัยย่าง ๓๐ ปีในเวลานั้น บอกว่าค่อยหายใจคล่องขึ้น เริ่มมองเห็นทางรอด
“หมอลำอาวุโสหลายคนใจยังอยู่ที่หมอลำกลอน แต่ใครไม่ปรับตัวก็ไม่มีงาน ปีต่อมาเอากลองชุดเข้ามาด้วย เสียงมันดัง คนแก่ก็ยิ่งถอยห่างไป แต่ลูกหลานที่ไปทำงานข้างนอก
ได้เงินมาก็อยากสนุกสนาน ตอนนั้นเราเหมือนวงลูกทุ่งใหญ่ กรุงเทพฯ เขาเป็นอย่างไรก็อย่างนั้น เพิ่มเบส คีย์บอร์ด กีตาร์ แซกโซโฟน ทรัมเป็ต รวมกับของเดิม ลูกศิษย์มาก็ให้เป็นแดนเซอร์ เวทีก็กว้างขึ้น ต่อมาเราทำเวที เครื่องเสียงเองด้วย”
“จากดนตรีพื้นบ้านเป็นดนตรีฝรั่งใครเป็นคนเล่น”
“ส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์ที่เสียงไม่ดี เป็นหมอลำไม่ได้ จ้างครูมาฝึกดนตรี ผู้หญิงก็จ้างครูมาฝึกเป็นแดนเซอร์ ถ้ามาเรียนหมอลำกับแม่ราตรี ก่อนจะเป็นหมอลำทุกคนต้องผ่านจุดนี้ จึงมีงานทำกันทุกคน กลายเป็นโรงเรียนสอนหมอลำซึ่งเราไม่ได้แต่งตั้งตัวเอง กลายเป็นหมอลำซิ่ง ซึ่งเราไม่ได้เรียกตัวเอง”
“จากหมอลำกลอนเป็นลำซิ่งใช้ศิลปินกี่คน”
“ตามเจ้าภาพต้องการ ถ้ารับธรรมดาหมอลำหนึ่งคู่ชายหญิงเหมือนเดิม ดนตรี ๔-๕ ชิ้น หางเครื่อง ๔ คน กับเครื่องเสียง ถ้างานใหญ่อยากได้ทั้งหมด ๔๐ คน เป็นคอนเสิร์ต หมอลำประยุกต์ ซึ่งต่างจากคอนเสิร์ตหมอลำเรื่องต่อกลอนที่เห็นทั่วไปทุกวันนี้”
“เนื้อหาโลดโผนขึ้นไหม”
“กลอนลำคงเดิม แต่ปรับเป็นจังหวะทำนองที่มีเพลงลูกทุ่งขึ้นต้นด้วยการไหว้ครู โอ ละหนอ ไหว้ครูลำสุดสะแนน ยังไม่ใส่ดนตรี นี่คือลำกลอน ลำเต้ย คือรากเหง้าของหมอลำกลอนที่ประยุกต์มาเป็นหมอลำปัจจุบัน แล้วจึงมาลำกลอนซิ่ง เป็นกลอนเก่าและใหม่ผสมผสาน ที่แม่ประยุกต์จากหมอลำกลอนเป็นคนแรก จะไม่โลดโผนมาก”
“หมอลำซิ่งมักพูดเรื่องเพศกันโจ่งแจ้ง”
วงหมอลำยุคใหม่ แม้เปลี่ยนมาใช้เครื่องดนตรีสากล แต่บางทีก็ปรับเลียนเป็นเสียงพิณเสียงแคน เน้นจังหวะสนุกเรียบง่ายแบบอีสานดั้งเดิม ทั้งยังนำแคนมาใช้ประกอบการแสดงด้วย
“สำหรับแม่ไม่มี พูดกำกวมได้ ผู้หญิงผู้ชายมีอะไร สระอำ อี ไม่ต้องมีคำตรง เราเป็นเสียงของแผ่นดินอีสาน หมอลำนี่คือจิตวิญญาณของคนอีสาน เป็นรูปลักษณ์ เป็นตัวแทนสิ่งดีงามของภาคอีสาน เป็นสื่อที่เข้าใจง่ายกับคนพื้นเพชนบท แม้จะเข้าไปอยู่ในเมือง อยากให้ลูกหลานยืนหยัดอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรม”
“ของเก่าคนรุ่นใหม่มักไม่ค่อยนิยม”
“แม่ต้องประยุกต์ก็เพราะเหตุนี้ ทำให้เด็กต่อยอดได้ แบบเก่าไม่สนุก สู้อิทธิพลอย่างอื่นไม่ได้ เอาดนตรีมาผสมผสานเข้าแล้วก็ ‘หย่าว’ ทุกอย่างเลยมาอยู่ในซอฟต์พาวเวอร์ การประยุกต์ทำให้อยู่ได้ โดยเราไม่ลืมรากเหง้า”
“ตามเวทีหมอลำทำไมยังมีเด็กรุ่นใหม่เยอะอยู่”
“ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจก็มีแต่จะจางหายไป แต่กลุ่มที่หลุดโลกไปบ้าง ต้องให้เขาศึกษา ไม่ใช่ไปด่าว่าเขา คนรุ่นใหม่ไม่ชอบถูกด่า แม่สอนเด็กมาเยอะก็พอรู้ พยายามตะล่อม ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ให้มาเจอกันครึ่งทาง จะพยายามถึงที่สุด ให้รู้ว่าอันไหนควรไม่ควร”
“คำหยาบโลนบนเวทีหมอลำถือเป็นปัญหาไหม” เป็นคำถามที่ต้องการมุมมองของชาตรี หมอแคนที่คลุกคลีอยู่ในคณะหมอลำตั้งแต่ปี ๒๕๑๙
“มันมีอยู่แล้ว หมอลำปัญญาชนก็มี เขาเอามาเล่นเฉพาะช่วงแก้ง่วง ไม่ให้คนฟังกลับบ้าน พูดเพื่อให้เฮฮาตรงนั้น แต่พอมีการบันทึกมันไม่ใช่แค่ตรงนั้นแล้ว สื่อสังคมออนไลน์อิสระใครก็ควบคุมไม่ได้”
และอีกความเห็นจากหัวหน้าคณะระเบียบวาทะศิลป์
“หมอลำมีหลายสไตล์ ลำซิ่งใช้คำหยาบให้คนฮา อยากให้คนสนุกก็หาคำพวกนี้มา พอพูดถึงเรื่องแบบนี้คนก็จะพากันหัวเราะ ยิ้ม แต่คนที่ไม่เคยฟังหมอลำอาจซีเรียสหน่อยว่าทำไมพูดหยาบจัง”
“คณะระเบียบฯ มีทะลึ่งไหม”
“ก็มี แต่ดูสถานที่ว่าเล่นอย่างนี้ได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็จะบอกทีมว่างดคำหยาบ แต่ถ้าสถานที่บ้าน ๆ ชาวบ้านเขาชอบ เราก็ค่อยเล่นตามสไตล์”
“เรื่องเพศในหมอลำ มีอะไรจะบอกคนดู”
“อยากให้มองหมอลำว่าเป็นศิลปะการแสดง ให้คนหัวเราะ มีความสุข ให้คนยิ้มได้ อยากให้มองแค่นั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ จะพูดให้ลามกขึ้นมา แต่มันเชื่อมกับบทบาทสถานการณ์ตรงนั้น ตัวโจ๊กหรือพวกร้ายที่ใช้คำพวกนี้”
หน้าฮ้าน หรือหน้าเวทีหมอลำเป็นพื้นที่ของกลุ่มแฟนตัวจริง
ซึ่งมาร่วมฟ้อน เซิ้ง อย่างเต็มที่ไปกับการแสดงบนเวที
อ่านต่อ EP.02