พี่น้องป้องปายต่างบ้านต่างอำเภอเดินทางมารวมตัวกันในค่ำคืนแห่งความม่วนของงานบุญใหญ่วัดปากแซง จังหวัดอุบลราชธานี ชมฟรี “ซอดแจ้ง” กับมหรสพหมอลำหลากหลายวงตลอด ๙ คืน
เดิกดื่นจนซอดแจ้ง
เรื่องเว่านัวหัวม่วนของคนมักฟังลำ
เรื่องและภาพ : ศิรินญา สุวรรณโค
…คงอีกไม่นาน
ดอกตาหวานประถมฯ สิมา…
…คงอีกไม่นาน
ดอกจอมขวัญวงระเบียบฯ สิมา…
…สำหรับมื้อนี้ทีมงานสาวน้อยเพชรบ้านแพงต้องขอกล่าวคำว่าขอบคุณและแต๊งกิ้วววว…
ความมืดของค่ำคืนสุดพิเศษเคลื่อนผ่านไป แสงเช้าส่องสว่างลงมาถึงหน้าฮ่านหมอลำพร้อมกับเสียง “เต้ยลา” ให้คำสัญญาว่า “คงอีกไม่นาน สิกลับมาหาใหม่” ต่อด้วยประโยคขอบคุณแฟน ๆ ที่อยู่ด้วยกันมาตลอดทั้งคืนจน “ซอดแจ้ง” เป็นสัญญาณว่าการแสดงหมอลำในค่ำคืนนั้นได้จบลงอย่างเป็นทางการ
คนมาดูหมอลำบางคนยืนอยู่หน้าฮ่านจนเสียงบนเวทีเงียบลง บางคนเก็บสาดเก็บเสื่อเตรียมเดินทางกลับบ้านพร้อมพี่น้องป้องปายที่มาด้วยกันเป็นคันรถ วัยรุ่นที่มากับกลุ่มเพื่อนกอดคอพากันกลับ พ่อค้าแม่ขายเก็บข้าวของเดินทางต่อไป คณะหมอลำเก็บเวทีเตรียมออกเดินทางไปสร้างความม่วนในอำเภออื่นตามตารางคิวงานที่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์-ออนไซต์ ไปจนถึงปากต่อปาก เอิ้นรวมคนที่ชื่นชอบการแสดงหมอลำเข้ามารวมตัวกันในแต่ละพื้นที่
“หมอลำคืออีเวนต์ที่มีร้านขายของ ร้านเครื่องดื่ม เครื่องเล่น คนที่มาก็สามารถกินข้าวกินน้ำ พาลูกมาเล่นได้ มีครบทุกอย่าง มันเป็นวันพิเศษประจำเดือน ประจำช่วงเวลา เป็นคืนพิเศษของผู้คน ถ้าในชีวิตประจำวันมันกะจะบ่มีอิหยังหลาย พอหมอลำมันรวมสิ่งต่าง ๆ ที่บ่ได้เห็นสุมื่อ คนกะอยากไป”
อุปกรณ์ประกอบการฟังลำที่หลายคนมีติดไม้ติดมือ ก่อนหามุม “ม่วน” ปักหลักจับจองที่นั่งในค่ำคืนอันยาวนาน
ชั่วโมงแห่งความม่วนซื่นของหมอลำตลอด ๗-๘ ชั่วโมงที่หลายคนคิดว่าเป็นช่วงเวลาอันยาวนานมากนั้นผ่านไปอย่างอิ่มเอมใจจนลืมวันลืมคืน ด้วยการแสดงหลากรสสลับผลัดยกขึ้นมานำเสนอบนเวที นับเป็นหนึ่งในลีลาการแสดงวงของหมอลำที่บรรดา “คนมักฟังลำ” พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการออกแบบการแสดงเช่นนี้ทำให้การรับชมหมอลำตลอดคืนไม่น่าเบื่อ
“เฮาว่าการจัดการแสดงของหมอลำมันบ่น่าเบื่อ เพราะเทิงได้นั่งฟังลำแล้วกะเทิงได้เต้นสลับกัน กะเลยเฮ็ดให้คนอยู่จนซอดแจ้งได้”
นอกจากลำดับการแสดงที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยช่วงเปิดวงที่ยิ่งใหญ่ เสียงลำเสียงร้องจากศิลปินหลายสิบชีวิต การเต้นการเต้ย ลำเรื่องต่อกลอน การแสดงโชว์ต่าง ๆ ที่ฉายอยู่บนเวทีจะทำให้การแสดงหมอลำแต่ละครั้งสร้างความตื่นตาน่าติดตามตลอดทั้งคืนแล้ว ยังมีมุมมองอีกมากมายที่คนมักฟังลำได้มาแบ่งปันให้เราฟัง ว่าทำไมเมื่อมีหมอลำอยู่บ้านได๋ก็อยากหอบสาดหอบเสื่อไปถึงที่ และทำไมหมอลำตุ้มโฮมคนมากมายเอาไว้ในที่เดียวกันได้อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
๑
เสียงที่คุ้นเคย
ปรากฏการณ์หมอลำฟีเวอร์ทำให้ผู้คนเล่าถึงหมอลำกันมาก รวมถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในช่องต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เพียงสายหมอลำ ต่างก็เล่าถึงหมอลำในช่องทางของตัวเอง เช่น คอนเทนต์ครั้งแรกที่ได้ดูหมอลำ ครั้งแรกที่ได้เต้นหน้าฮ่าน หรือจะเป็นคอนเทนต์ที่ชวนหมอลำคนดังไปสัมภาษณ์พูดคุย ทำให้เราเห็นว่าเสียงของหมอลำดังไปยังผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น เชิญและชวนให้คนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของหมอลำเพิ่มขึ้น แต่แน่นอนว่ากลุ่มคนที่ไปดูหมอลำส่วนใหญ่ในไทยก็คือคนลาวภาคอีสานที่ทั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานและกระจายไปดำรงชีวิตอยู่ในต่างถิ่นทั้งไทยและต่างประเทศ
คนเดียวก็ได้ถ้าใจมักม่วน เธอนั่งดูการแสดงบนเวทีหมอลำอย่างไม่ละสายตา
คิม-พัชระ สุวรรณคำ คุณครูวัย ๒๗ ปี ชาวขอนแก่นที่ออกตัวว่าเขาเป็นแฟนคลับประถมบันเทิงศิลป์ และไปดูหมอลำเสมอในเวลาที่ว่าง เล่าว่า “เฮาจำได้ว่าเฮาเบิ่งหมอลำตั้งแต่น้อยเลย เพราะยายพาไปเบิ่งหมอลำนำบ้าน เบิ่งแล้วด้วยความเคยชินมันกะกลายเป็นความมัก เป็นความมักแล้วเฮากะตามไปเบิ่งตลอด”
เช่นกันกับปั๋ม-ธราธร ถานะ คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตในจังหวัดสระบุรี มีพื้นเพเป็นคนขอนแก่น แฟนคลับหมอลำวงดังอย่างระเบียบวาทะศิลป์ เขาคุ้นเคยกับเสียงหมอลำตั้งแต่จำความได้จากการไปดูหมอลำซิ่งกับแม่ พอเติบโตมาช่วงนักศึกษาทำให้เขาติดตามหมอลำหมู่วงต่าง ๆ มากขึ้น
“ตอนเป็นเด็กส่วนใหญ่จะดูหมอลำซิ่ง ขณะนั้นหมอลำซิ่งจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า เพราะว่าได้รับชมตามงานหมู่บ้านบ่อย เฮาสิคุ้นชินกว่าหมอลำหมู่ ทีนี้ช่วงมหาวิทยาลัยเพื่อนก็พากันไปดูหมอลำหมู่ มันก็สนุก มีการโชว์ มีศิลปะเยอะไปอีกแบบ หลัง ๆ มาเราเลยดูแต่หมอลำหมู่”
ส่วนวัยรุ่นซอดแจ้งทางอุบลราชธานีอย่างโชค-ธนวัฒน์ ด่านกลาง หนึ่งในสมาชิกด้อมหมอลำสาวมาแรงอย่าง “บิว จิตรฉรีญา” ก็บอกไม่ต่างกันนักถึงความเคยชินในการฟังลำ มาจากประสบการณ์วัยเด็กที่ยายพาไปฟังลำกลอนซึ่งมีมาบ่อย ๆ ในช่วงวันสำคัญของหมู่บ้าน
หากขยับไปอีกวัยหนึ่งอย่างป้าติ๋ม-วันนา พลเขต คนมักฟังลำวัย ๖๓ ปี ก็เล่าให้ฟังเหมือนกันว่า “ตอนเด็กน้อย หมอลำกลอนมาเล่นในหมู่บ้านกะไปเบิ่งกับเอื้อย”
นอกจากความมักความชอบที่ซึมซับกันผ่านพี่น้องป้องปายในครอบครัวและหมู่บ้านจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นปรกติแล้ว “หมอลำ” ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนลาวภาคอีสาน อยู่ในบรรยากาศการใช้ชีวิตแต่ละวัน ไปจนถึงพิธีกรรม ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หมอลำอยู่ในพื้นที่ที่คุ้นเคยและเชื่อมโยงกับความรู้สึกของผู้คน
“กะคือเฮาโตมาใหญ่ขึ้น เฮากะได้ยินเพลงหมอลำแล้ว ไปไสคนกะเปิด แล้วเวลามีงาน ร้องเพลงกะร้องแต่เพลงหมอลำ พอมีงานจ้างงานบุญกะจ้างวงหมอลำ มันกะวนเวียนอยู่จั่งสิมันอยู่รายรอบเฮาตลอดเวลา เฮากะเลยมักฟังลำ มันเป็นคือจั่งชีวิตและสิ่งแวดล้อมของเฮา บ่ว่าสิเป็นงานแต่ง งานบวช งานศพ งานอิหยังต่าง ๆ ในหมู่บ้านกะมีหมอลำเบิ้ด” คิมกล่าว
เพราะค่ำคืนนี้ยังอีกยาวไกล คนมักฟังลำหลายกลุ่มนอกจากจะมีเสื่อปูจองที่นั่งแล้ว ยังมีชุดเครื่องนอนสำหรับพักผ่อนระหว่างคืน
๒
“พื้นที่” ความม่วนที่เลือกได้
“คนอีสานมักม่วน แค่เฮาได้ยินเสียงดนตรีหรือจังหวะดนตรีที่มันเป็นหมอลำ เสียงเบสตึบ ๆ ในความรู้สึกเฮาจะอยากลุกขึ้นเต้น ลุกขึ้นฟ้อน และถึงแม้ว่าบางทีเฮาสิบ่ได้ลุกเต้น แต่เฮากะฮู้อยู่ในใจว่าเฮาม่วน”
ไม่เพียงเป็นวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงในแง่การเติบโตและวิถีชีวิตของคนลาวภาคอีสาน เมื่อนึกถึงหมอลำเรายังจะนึกถึงความม่วนซื่นที่มาพร้อมกัน หากสังเกตเวลาไปดูหมอลำวงต่าง ๆ แสดงสด เราก็มักจะเห็นผู้คนลุกขึ้นเต้นในจังหวะต่าง ๆ อย่างไร้แบบแผน บ้างก็ปรบมือ ส่งเสียงโฮแซวออกมาอยู่ตลอดค่ำคืนอย่างอิสระ การปรากฏขึ้นของหมอลำในค่ำคืนหนึ่ง ๆ เลยเป็นตัวแทนความม่วนโดยแท้สำหรับคนมักฟังลำ
ทั้งหลาย
“เขามัก เขาม่วน ไกลปานใด๋เขากะไป รวมโตกันในหมู่บ้าน หมู่เขากะจะมาเอิ้น กะขึ้นรถไปนำขะเจ้า เสียค่าน้ำมันซ่อยกัน” ป้าติ๋มเล่าถึงการรวมตัวกันของคนในหมู่บ้านเพื่อเดินทางไปดูหมอลำที่มาทำการแสดง แม้จะห่างไกลออกไปมากก็ออกค่าน้ำมันรถไปด้วยกันได้
ส่วนบางคนติดตามไปดูหมอลำตามคิวแสดงในจังหวัดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
“บางคนไปติดต่อกันหลาย ๆ วัน วันนี้อยู่ยโสธรนะ ศรีสะเกษนะ เขาตามไปทุกงาน ไปเพื่อปลดปล่อย เป็นตัวของตัวเองโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก เหมือนเวลาที่เหนื่อยกับงานก็มาลงกับหมอลำนี่ เราเต้นให้มันสุด ๆ ไปเลย ถึงไหนถึงกัน” โชคเล่าถึงประสบการณ์ของตนและคนรู้จัก
ด้านคิมมองว่าเรารู้สึกม่วนไปกับหมอลำได้เพราะมันคือการขับเคลื่อนทางใจอย่างหนึ่ง
“การไปเบิ่งหมอลำมันคือการขับเคลื่อนทางใจ มันเป็นคือจั่งว่ามาเบิ่งหมอลำเพื่อจะลืมควมทุกข์ควมยากที่เฮ็ดงานมาเบิ้ดมื้อ มาเฉลิมฉลอง มาเบิ่งให้เซาเหมื่อย มันเป็นการฮีลใจ ลังคนเฮ็ดงาน เฮ็ดไฮ่ เฮ็ดนา มาเบิ่งหมอลำ มันกะได้ปลดปล่อย”
พื้นที่ของความม่วนในการดูหมอลำยังเป็นพื้นที่ที่ให้คนดูเลือกได้อย่างอิสระตามความสนใจของตัวเอง
“คนอีสานมักม่วน แค่เฮาได้ยินเสียงดนตรีหรือจังหวะดนตรีที่มันเป็นหมอลำ เสียงเบสตึบ ๆ ในความรู้สึกเฮาจะอยากลุกขึ้นเต้น ลุกขึ้นฟ้อน และถึงแม้ว่าบางทีเฮาสิบ่ได้ลุกเต้น แต่เฮากะฮู้อยู่ในใจว่าเฮาม่วน”
จังหวะมาแขนขาขยับ ผู้คนเริ่มเคลื่อนสู่บริเวณหน้าฮ่านด้วยท่าทางพลิ้วไหว
ป้าติ๋มบอกว่าเธอชอบจองนั่งบริเวณ “ตรงกลาง” เพราะเป็นมุมที่มองเห็นการแสดงบนเวทีมากที่สุด ความม่วนในการดูหมอลำของป้าติ๋มคือ “การฟังลำเรื่องต่อกลอน” เธอไม่ชอบลุกขึ้นเต้นนัก แต่จะปรบมือและสนุกกับการมองดูคนอื่น ๆ เต้นหน้าฮ่านเป็นอย่างมาก
สำหรับคิม “มักหม่องข้างลำโพง มันม่วน มันเป็นจุดแบ่งระหว่างหม่องคนเต้นกับหม่องคนนั่ง เป็นพื้นที่ที่นั่งสาดกะได้ ลุกขึ้นกะได้ ช่วงเบิ่งการแสดงกะนั่งเบิ่ง ช่วงเพลงขึ้นเฮากะเต้น”
ส่วนโชคจะชอบหน้าฮ่านที่สุดเพราะได้ออกท่วงท่าไปกับเพื่อน ๆ และได้สนุกไปกับศิลปินอย่างเต็มที่ ทั้งยังเล่าบรรยากาศบริเวณนั้นให้ฟังว่า “หน้าฮ่านมีผู้คนเยอะมาก เป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณยาย วัยรุ่นที่มาสนุกด้วยกัน เขาจะเต้นด้วยกัน อาจจะมีบางกลุ่มสร้างความวุ่นวาย แต่ก็จะไม่ได้มาอยู่รวมกันกับกลุ่มที่จอย”
พื้นที่สำหรับเข้าถึงความม่วนในหมอลำนั้นมีหลากหลาย จะยืนหรือจะนั่งก็ได้ จะลุกขึ้นเต้นตรงไหนก็ได้ จะนั่งปรบมือชมการแสดงเฉย ๆ ก็ได้ ไม่ได้จำกัดว่าใครจะต้องนั่งที่ไหน อย่างไร อยู่ที่แต่ละคนเลือกมากกว่า ในรั้วใหญ่ที่กั้นเอาไว้และพื้นที่ของการเต้นยังไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณ “หน้าฮ่าน” เท่านั้น หากเรามองไปรอบ ๆ ก็อาจเห็นคนที่ลุกขึ้นเต้นคนเดียวโดด ๆ โดยไม่รู้สึกเขินอาย
พื้นที่หมอลำอาจเป็นอย่างที่โชคสะท้อนให้เราเห็นว่า “หมอลำมีความหลากหลายมากทั้งบนและล่างเวที ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าฉันทำได้ทุกแบบในการปลดปล่อยตัวเอง เลยรู้สึกอิสระ”
๓
การตุ้มโฮมของ “ผู้คน”
“เห็นหมู่หลาย ๆ มันกะม่วน ม่วนหมอลำนำ ม่วนหมู่นำ” (หัวเราะ)
เสียงหัวเราะของป้าติ๋มบ่งบอกถึงความสนุกสนานเมื่อได้พูดถึงบรรยากาศของหมอลำที่ไม่ได้สัมผัสแค่เสียงร้องเสียงลำ แต่ส่วนที่ม่วนอีกส่วนสำหรับเธอคือ “ผู้คน” หรือที่เธอเรียกว่าหมู่ ซึ่งหมายความรวมถึงคนทุกคนในบริเวณนั้น เมื่อเห็นเพื่อนเห็นหมู่ที่ไปดูหมอลำเหมือนกันก็ทำให้ครึกครื้นมากยิ่งขึ้น
“ม่วนไสลุกหั่น” ใครสนุกที่ไหนก็ลุกเต้นที่นั่น บรรยากาศความสนุกที่ไม่ได้อยู่แค่หน้าฮ่าน ในขณะที่เด็กชายคนหนึ่งซึ่งมากับครอบครัวกำลังสังเกตการณ์สิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างตั้งใจ
ผู้คนทุกเพศทุกวัยที่หลั่งไหลมาอยู่รวมกันในพื้นที่นับเป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่เสมอในงานหมอลำแต่ละครั้ง คิมชวนสังเกตในประเด็นหนึ่งว่า “เฮาได้ยินเสียงหมอลำยามไหน เฮากะคิดแล้วว่า เอ้า มีบุญบ้านได๋มื้อนี้ งานหยัง บุญหยังน้ออออ (ลากเสียง) หมอลำมันมาพร้อมกับงานบุญ มันคือพื้นที่สำหรับรวมคนเข้านำกัน”
ทางด้านปั๋มชวนมองว่าหมอลำไม่ได้รวมเฉพาะคนดูที่แตกต่างหลากหลาย แต่ยังเป็นเหมือน “อีเวนต์” หนึ่งที่มีความสนุกหลาย ๆ แบบประกอบอยู่ด้วยกัน กลายเป็นเหมือน “ค่ำคืนพิเศษ” ที่ไม่ได้มีมาในทุก ๆ วัน ซึ่งทำให้ผู้คนหลากหลายไปรวมตัวกัน
“หมอลำคืออีเวนต์ที่มีร้านขายของ ร้านเครื่องดื่ม เครื่องเล่น คนที่มาก็สามารถกินข้าวกินน้ำ พาลูกมาเล่นได้ มีครบทุกอย่าง มันเป็นวันพิเศษประจำเดือน ประจำช่วงเวลา เป็นคืนพิเศษของผู้คน ถ้าในชีวิตประจำวันมันกะจะบ่มีอิหยังหลาย พอหมอลำมันรวมสิ่งต่าง ๆ ที่บ่ได้เห็นสุมื่อ คนกะอยากไป”
เขายังบอกว่าความสนุกอีกอย่างคือการได้เจอเพื่อนที่รู้จักกันเมื่อไปดูหมอลำ ทั้งเพื่อนที่ไม่ค่อยได้เจอกัน และกลุ่มเพื่อนซี้ที่สร้างความสนุกสนานไปด้วยกัน “มันคือการไปเจอหมู่ ซุมเต้นเฮากะสิย่องเต้น (cheer up) มันก็จะให้ฟีล เอิ้ว เอิ้ว แล้วมันก็จะมีฟีลสังสรรค์ปล่อยจอย ชนแก้วกัน แล้วยังได้พบปะกันกับรุ่นพี่รุ่นน้องที่ไม่ค่อยได้เจอกันด้วย”
นอกเหนือไปจากการพบเจอเพื่อนพ้องคนรู้จัก การพบเจอคนใหม่ ๆ ที่ไม่รู้จักเมื่อไปดูหมอลำแต่ละครั้งก็เป็นอีกสีสันและเป็นเสน่ห์ของหมอลำ เพราะสิ่งที่เปลี่ยนไปเสมอคือผู้คน หากย้ายสถานที่ในการจัดแสดงเราก็จะเห็นการปรับเนื้อหาบนเวทีให้เข้ากับผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ ทำให้การดูหมอลำวงเดิม ๆ ไม่เหมือนเดิม
“ความม่วนของการไปหมอลำอีกอย่างคือคนเคลื่อนที่ไปมาบ่ซ้ำหน้า บางเทื่อเฮากะได้ฮู้จักคนใหม่ นี่กะเป็นเสน่ห์ของหมอลำ ถึงหมอลำจะเล่นเป็นแพตเทิร์นคล้าย ๆ เก่า แต่คนน่ะใหม่เรื่อย ๆ แล้วถ้าหมอลำย้ายสถานที่ในการเล่น มันกะสิมีการปรับเนื้อร้อง มุก และเนื้อหาตามคนตามพื้นที่นั้น ๆ” คิมเล่าด้วยน้ำเสียงชวนตื่นเต้น
โชคสายหน้าฮ่านที่พบเจอผู้คนหลากหลายผ่านการม่วนจอยยังเล่าถึงการออกแบบการแสดงของหมอลำที่สอดรับกับความชื่นชอบของผู้คนที่แตกต่าง เลยทำให้คนวัยไหนก็เข้าถึงหมอลำได้
“คือหมอลำมันมีทั้งเปิดวง เพลงผสม ลูกทุ่ง สตริง มีโชว์วัฒนธรรม หลังจากนั้นก็จะเป็นลำเพลิน ลำเต้ย ลำเรื่อง หลากหลายมาก คนหลาย ๆ ช่วงอายุก็จะได้ดูส่วนที่ตัวเองชอบ คนเฒ่าคนแก่ก็รอฟังหมอลำกลอน วัยรุุ่นก็จะโฟกัสตรงที่ว่าม่วนบ่ มันบ่ เต้ยดีบ่ เด็กน้อยไปกว่านั้นก็ไปนะ ไปกับพ่อแม่ คือพาลูกหลานไปดูหมอลำด้วย ไปทีเดียวก็ไปยกครอบครัว”
โชคในฐานะแฟนคลับตัวยงของ “บิว จิตรฉรียา” ยังบอกอีกว่า การไปดูหมอลำไม่ใช่แค่การไปพบเจอคนล่างเวที แต่คนบนเวทีก็มีความพิเศษ เหมือนกับการที่เราตั้งใจไปดูดาราหรือคนที่ชื่นชอบ หมอลำแต่ละวงจะมีศิลปินที่มีชื่อเสียงและมีความน่าสนใจที่ต่างกัน หากเป็นสมัยก่อนก็คือพระเอกนางเอกหมอลำ สมัยนี้มีหลากหลายมากไปกว่านางเอกพระเอกหมอลำ แต่เป็นหน้าตา ความสามารถ สตอรีของแต่ละคน ทำให้คนติดตามไปถึงหน้าเวที โชคเล่าถึงความชื่นชอบบิวว่า
“ผมรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเขานะ เขาเป็นคนอุุบลราชธานี เหมือนกัน ชีวิตเขาลำบาก เขาเอาการร้องการลำการเต้นมาหากินเพื่อที่จะเลี้ยงชีพตัวเอง มาเข้าวงประถมบันเทิงศิลป์เพื่อเป็นศิลปินเต็มตัว เป็นคนของจังหวัดอุบลฯ ทำให้ภูยอดรวย ดังไกลมาก แล้วความเป็นตัวเขา ความมีพลังม่วน ร้องดี มันให้พลังมาก ทำให้ครึกครื้น โดยเฉพาะกับกลุ่ม LGBTQ+”
หมอลำดูเหมือนจะเป็นความบันเทิงที่สร้างพื้นที่การรวมตัวของผู้คนที่หลากหลายทุกเพศทุกวัย เป็นทั้งพื้นที่รวมกลุ่มเพื่อน พบปะคนใหม่ ๆ พบเจอพี่ป้าน้าอาญาติมิตรที่รู้จักมักฟังลำเหมือนกัน ได้พบไอดอลหมอลำที่มีชื่อเสียงและชื่นชอบ พร้อมกันนั้นการแสดงและรูปแบบพื้นที่เข้าถึงความม่วนนี้ก็สอดรับกับคนได้หลากหลาย กลุ่มเป้าหมายของหมอลำจึงไม่ใช่เพศหรือวัยใดวัยเดียว
“การไปเบิ่งหมอลำมันคือการขับเคลื่อนทางใจ มันเป็นคือจั่งว่ามาเบิ่งหมอลำเพื่อจะลืมควมทุกข์ควมยากที่เฮ็ดงานมาเบิ้ดมื้อ มาเฉลิมฉลอง มาเบิ่งให้เซาเหมื่อย มันเป็นการฮีลใจ ลังคนเฮ็ดงาน เฮ็ดไฮ่ เฮ็ดนา มาเบิ่งหมอลำมันกะได้ปลดปล่อย”
ตัวแม่ตัวมัมประจำหน้าฮ่าน ปักหลักตลอดทั้งคืน
๔
เป็นปัจจุบัน
เมื่อ ๒๐ ปีก่อน คนรุ่นแม่อาจจะอุ้มลูกวัย ๕-๖ ขวบมานอนหน้าฮ่านเพื่อดูหมอลำ วันนี้เราอาจเห็นคนรุ่นแม่มากับลูกแล้วเต้นม่วนไปด้วยกันกับหมอลำ ในทางหนึ่งก็อาจเพราะ
การแสดงหมอลำปรับเปลี่ยนตัวเองไปทุกยุคทุกสมัยตามเหตุการณ์และกระแสต่าง ๆ อยู่เสมอ กลายเป็นพื้นที่ร่วมของคนต่างช่วงวัยได้อย่างน่าสนใจ
ขณะเดียวกันดูเหมือนว่าดีเอ็นเอความม่วนฝังอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของความเป็นหมอลำเสมอ แม้รูปแบบจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และไม่เพียงแต่สร้างความม่วนและรวมคนหน้าฮ่าน หลากเพศหลายวัยเท่านั้น หากมองไปที่หน้าฮ่านออนไลน์ ยอดเข้าชมคลิปและคอนเทนต์เกี่ยวกับหมอลำก็พุ่งทะยานขึ้นสูงมากในทุก ๆ แพลตฟอร์ม ทำให้เห็นภาพของวัฒนธรรมบันเทิงที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา
ข้อสังเกตหนึ่งของแฟนหมอลำอย่างปั๋มเล่าว่า ช่องทางออนไลน์มีผลมากในการทำให้หมอลำกลายเป็นจุดสนใจมากขึ้นของผู้คน อย่างปั๋มเองก็ติดตามหมอลำต่อเนื่องมากขึ้นจากการรับรู้คอนเทนต์ในออนไลน์ก่อน โดยเฉพาะช่วงโควิด-๑๙ ซึ่งหมอลำไม่มีงานแสดง ทำให้หาทางอยู่รอดผ่านช่องทางออนไลน์กันหลายวง
“โซเชียลมีส่วนหลายเฮ็ดให้เฮามักหมอลำมากขึ้น แต่ก่อนโควิด-๑๙ คนบ่ทันเข้าถึงหมอลำหลายปานนี้ เฮ็ดให้หมอลำเล่นบ่ได้ พอเขามาเล่นออนไลน์ คนฮู้จักหลายคน มันกะเลยเข้าถึงคนง่ายขึ้น และหมอลำเขากะพยายามเจาะตลาดคน แต่กี้สิเบิ่งหมอลำอยู่บ้านแต่ละเทือกะต้องซื้อซีดี มื้อนี้มีเบิ้ดแล้ว
ในยูทูบ โตหมอลำเองเขากะโปรโมตเจ้าของผ่านการไลฟ์สด ผ่านคอนเทนต์ต่าง ๆ”
ป้าติ๋มเป็นคนรุ่นใหญ่ที่ติดตามคอนเทนต์ไม่ขาด หากวันไหนไม่ได้ไปดูหมอลำถึงหน้าฮ่านก็จะต้องได้ดูผ่านช่องทางออนไลน์ตลอด “ในโทรศัพท์เบิ่งหมอลำทุกคืน เบิ่งระเบียบฯ
แล้วกะเบิ่ง ‘นก พงศกร’ หมอลำนามวิหคต่อ ติดตามทางเฟซบุ๊กเพิ่นนำ”
โชคเปรียบเทียบการเปิดยูทูบฟังหมอลำของตัวเองว่าเหมือนกับการเปิดทีวีไปเรื่อย ๆ ให้รับรู้ว่ามีเสียงของหมอลำอยู่
“ถ้าไม่ได้ไปดูหมอลำจริง ๆ ผมก็จะดูผ่านยูทูบตลอดทุกวันเลย ตกเย็นปิดร้านก็เปิดหมอลำฟัง ฟีลเหมือนเปิดทีวีทิ้งไว้”
“คือหมอลำมันมีทั้งเปิดวง เพลงผสม ลูกทุ่ง สตริง มีโชว์วัฒนธรรม หลังจากนั้นก็จะเป็นลำเพลิน ลำเต้ย
ลำเรื่อง หลากหลายมาก คนหลาย ๆ ช่วงอายุก็จะได้ดู ส่วนที่ตัวเองชอบ... คนเฒ่าคนแก่... วัยรุ่น... เด็กน้อย...ก็ไปนะ ไปกับพ่อแม่ คือพาลูกหลานไปดูหมอลำด้วย ไปทีเดียวก็ไปยกครอบครัว”
วัยรุ่นซอดแจ้งกับความม่วนที่กำลังได้ที่
ล่วงเลยถึงวันใหม่ คนมักฟังลำจากซ้ายขวาหน้าหลังมารวมตัวกันเต็มบริเวณ ปลดปล่อยท่วงท่าในแบบของตัวเองอย่างอิสระไปกับช่วงเต้ยมัน ๆ บนเวที
นอกจากนี้การดูหมอลำทางออนไลน์ยังจำลองบรรยากาศแบบหน้าฮ่าน ชาวด้อมที่ไม่ได้ไปบางส่วน “เขาก็จะทำพวงมาลัยออนไลน์ผ่านการโอนเงิน ส่วนคนที่ไปหน้างานก็จะให้มาลัยน้ำใจหน้าเวที”
หมอลำเคลื่อนไหวไปกับผู้คนทั้งในโลกออนไลน์และในงานแสดงจริง การปรับตัว การนำเสนอเรื่องราว (story) ผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้ความบันเทิงแบบหมอลำสื่อสารกับผู้คนในวงกว้างได้มากขึ้น จากใจคนมักฟังลำอย่างคิมแชร์มุมมองถึงความโด่งดังของความบันเทิงประเภทหมอลำที่อยู่มาทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบันว่า
“เพราะเนื้อหาหมอลำไปกับผู้คนได้ เพลงมันสะท้อนคนสุมื่อนี้ คือเป็นปัจจุบัน คนกะเลยเอาไปม่วนได้ อีกอย่างหนึ่ง มันเป็นคือจั่งจดหมายเหตุ อย่างเช่นจินตหรา สังเกตเลยว่ามีเรื่องอิหยังเป็นกระแส เป็นปรากฏการณ์ จินตหรากะเล่นกะลำถึงสิ่งนั้น มันเฮ็ดให้ฮู้สึกว่าเฮาเกี่ยวข้องอยู่กับเนื้อหา เฮาคล้อยตามไปนำได้”
การสร้างสรรค์เนื้อหาไปตามการเปลี่ยนแปลงของผู้คนและสังคม การเเต่งเติมทำนองจังหวะดนตรีให้ร่วมสมัยอยู่เสมอ
ไปจนถึงการสร้างสรรค์เรื่องเล่าและพบปะแฟน ๆ ผ่านโลกออนไลน์เสมอ ทำให้หมอลำออกเดินทางไม่หยุดนิ่ง คนมักฟังลำทุกวัยทุกรุ่นยังมุ่งไปที่หน้าฮ่านในฤดูกาลหมอลำไม่ขาดและดูเหมือนว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย นี่คงไม่ใช่ผลของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของคนลาวอีสานอย่างแข็งขัน หากแต่เป็นการมีหมอลำเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นปรกติ และการปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงได้เสมออย่างที่คิมว่า
“เฮาบ่ได้อนุรักษ์ เฮาบ่ได้ถูกบังคับให้มัก แต่เฮามักเพราะว่ามันเว่าชีวิตประจำวันในวันนี้ของเฮา เรื่องนำบ้าน เรื่องต่าง ๆ
ทั่วไป”