Image
แบคทีเรียในปาก
ใครคิดว่าไม่สำคัญ
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
เราอาจเคยได้ยินว่าแบคทีเรียในลำไส้ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดการอยู่ดีกินดีทั้งร่างกายและจิตใจ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าแบคทีเรียในปากก็ทำหน้าที่สำคัญไม่แพ้กัน จึงอาจละเลยไม่ดูแลปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ
ในขั้นแรกแบคทีเรียในปากส่งผลต่อคุณภาพการกิน เพราะสเตร็ปโตค็อกคัส แบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุมีอยู่ในปากพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะรักษาปากและฟันสะอาดเพียงใด หากฟันผุหรือเหงือกอักเสบย่อมกินอาหารไม่ได้ กินไม่อร่อย ส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารจำเป็น

คุณอาจเคยเห็นข่าวแค่ปวดฟันก็ทำให้เสียชีวิต

ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า แบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุและเหงือกอักเสบสามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ โดยจะเดินทางผ่านโพรงฟันที่ผุเข้าสู่ระบบกระแสเลือดทั่วร่างกายโดยใช้เวลาเพียง ๙๐ วินาที หรือ ๑ นาที ๓๐ วินาที ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก หากติดเชื้อรุนแรงก็อาจเสียชีวิต

สำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงสามารถกำจัดแบคทีเรียชนิดนี้ได้  แต่กลุ่มคนอ่อนแอเช่นผู้สูงอายุ แบคทีเรียจะทำให้เกิดโรคต่ออวัยวะที่บอบบาง เช่นโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับสมอง โดยจากการเก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่มีภาวะเนื้อเยื่อชั้นในของหัวใจติดเชื้อ มักพบแบคทีเรียในปากเกาะติดที่ผนังหรือวาล์วหัวใจ ในกรณีที่ร้ายแรงอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนวาล์วหัวใจ
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าในปากเรามีแบคทีเรียกว่า ๗๐๐ ชนิด ในน้ำลาย ๑ มิลลิกรัมมีแบคทีเรีย ๑๐๐ ล้านตัว  แต่ละวันจะมีแบคทีเรีย ๑๐๐-๑๕๐ พันล้านตัวไหลเข้าสู่กระเพาะและลำไส้ และบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารวิทยาศาสตร์ Nature Communications ปี ๒๕๖๕ พบความเชื่อมโยงระหว่างแบคทีเรียในปากกับโรคเกี่ยวกับวิถีชีวิต ๒๘ ชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น

งานวิจัยบางชิ้นของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นระบุว่าแบคทีเรียในปากมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ โดยทดลองฉีดแบคทีเรียชนิดนี้ในหนูทดลอง พบว่าเกิดแอมัยลอยด์-บีตา (amyloid-beta) ในตับและสะสมในสมอง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม

การทดลองอีกชิ้นหนึ่งอธิบายว่า แบคทีเรียดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งลำไส้ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อมะเร็งและน้ำลายของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้จำนวน ๑๔ รายมาตรวจพบมีแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ทั้งสองแหล่ง

ดังนั้นการแปรงฟันให้ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ ของการดูแลสุขภาพประจำวัน เพราะปากเป็นช่องทางหลักซึ่งนำพาอาหารเข้าสู่ร่างกาย

จากการทดลองของมหาวิทยาลัยอินดีแอนา สหรัฐอเมริกาให้อาสาสมัคร ๕๐ คนงดแปรงฟัน ๓ สัปดาห์ พบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง (ร้อยละ ๕๖) มีภาวะแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือด (endotoximia) และมีการพัฒนาของฟันผุ แต่หลังจากทำความสะอาดฟันโดยเครื่องมือทันตกรรมและกลับไปแปรงฟันที่บ้านอย่างสะอาดอีก ๒-๓ สัปดาห์ ก็พบว่าภาวะฟันผุหายไป
วิธีแปรงฟัน
เพื่อขจัดแบคทีเรียคือวางแปรงสีฟัน ๔๕ องศากดลงที่เหงือกและฟัน แล้วปัดขึ้นลงแรงพอให้เศษอาหารหลุดออกแต่ไม่ต้องถูไปมา เพราะนอกจากไม่ช่วยขจัดเศษอาหาร ยังทำให้สารเคลือบฟันสึกด้วย

อย่าลืมใช้ไหมขัดฟัน
เพื่อกำจัดแบคทีเรียในช่องว่างระหว่างฟันที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง

ควรพบแพทย์เพื่อขูดหินปูน
ทุก ๓ เดือน ไม่ให้หินปูนกลายเป็นหินปูนแข็งซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ชนิดแข็งทำให้เหงือกและฟันบาดเจ็บ

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า 3D ซึ่งเป็นวัสดุใสเข้ากับรูปร่างฟันของแต่ละคน โดยใส่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้วครอบฟันไว้วันละสองครั้ง ครั้งละ ๕ นาที เป็นเวลา ๓ เดือน เพื่อแก้ปัญหาแบคทีเรียในช่องปาก  พบว่าแบคทีเรียอันตรายในปากลดลงจาก ๒.๖ เปอร์เซ็นต์ เหลือ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ และยังอยู่ในช่วงศึกษาว่าเครื่องมือนี้จะช่วยลดการเกิดโรคได้หรือไม่

เรียบเรียงจาก “Oral Bacteria : The Key to Health”  

https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/ondemand/video/2050144/