กะลาโชว์ กะโหลกซอ
ธรรมชาติ ทํามาโชว์
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
และ กนกวรรณ เพ็ชรโป๊ะ
(นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยนเรศวร)
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ตาวาวที่รู้ว่าเมืองไทยมีมะพร้าวพื้นถิ่นราคาเทียบเท่าทองคำ !
สมัยโบราณชาวบ้านรู้เพียงเป็นมะพร้าวขนาดใหญ่ที่กลายพันธุ์ น้ำ-เนื้อกินได้แต่ไม่อร่อย กระทั่งมีช่างทำเครื่องดนตรีไทยเห็นลักษณะพิเศษของกะลาทรงสามเหลี่ยมที่มีพูกลมมนต่างจากมะพร้าวทั่วไป ยิ่งปอกเปลือกจะเห็นกะโหลกแบ่งส่วนชัด ส่วนหน้ามีสองโหนกนูนจากระดับพื้นผิวทำให้ดูเหมือนกะโหลกมนุษย์ ส่วนปลายโค้งมนชวนจินตนาการเป็น “มวย (ผม) พราหมณ์” บางผลที่ปลายไม่ใหญ่ก็ดูคล้าย “หัวช้าง” ช่างทำเครื่องดนตรีเห็นดีจึงนำมาดัดแปลงทำกล่องเสียงของซออู้หรือซอสามสาย จนเป็นที่มาของชื่อสายพันธุ์ “มะพร้าวซอ”
กะโหลกซอมวยพราหมณ์และหัวช้างให้เสียงดีเลิศ บางโทนไม่อาจพบจากกะลาทั่วไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยผู้มีพระปรีชาด้านเครื่องดนตรีโดยเฉพาะซอสามสายจึงเว้นภาษีแก่ครัวเรือนที่มีมะพร้าวซอ ด้วยว่าเป็นสายพันธุ์พิเศษที่ไม่อาจบังคับปลูก-ขยายพันธุ์ กว่าแต่ละต้นจะติดผลไม่เพียงรอนาน ยังอาจผิดแผกเป็นมะพร้าวซอไม่เกินสามถึงห้าผล เรือกสวนใดมีจึงเฝ้าถนอมรักษา
คุณค่า-มูลค่ายังส่งต่อปัจจุบัน จะหาแหล่งมะพร้าวซอได้เพียงในอำเภอบางคนทีหรืออัมพวาของสมุทรสงคราม ราคากะลา
สูงถึงหลายพัน-หลักหมื่น
หลังผ่าครึ่งมะพร้าวซอ ทำความสะอาด ตกแต่งหน้ากะโหลก ฝนกระดาษทราย แล้วเลือกหนังลูกวัวหรือหนังแพะมาขึง แกะลาย-ฉลุเซาะร่องกะโหลกที่ตำแหน่งพูท้าย ขัดเกลารอบกะโหลกและร่องลายจนเรียบร้อยก่อนเคลือบแล็กเกอร์ ราคาจะยิ่งสูงตามความวิจิตร
เช่นกะโหลกซอฉลุลาย “นารายณ์บรรทมสินธุ์” กับ “พระรามรบทศกัณฐ์” ที่แสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีไทยเรือนดุริยางค์ กรุงเทพฯ แม้ยังไม่ประกอบคันทวน คันชัก ลูกบิด ฯลฯ ด้วยไม้ดีที่คู่ควรกับกะโหลกซอจนเป็นอุปกรณ์เครื่องสายที่ใช้สีให้เกิดเสียงหวาน มูลค่าก็ซื้อทองคำขั้นต่ำได้แล้ว
แต่สำหรับเจ้าของ-ปกรณ์ หนูยี่ คีต-ศิลปินแห่งสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สิ่งนี้ไม่เพียงคุ้มต่อการอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ที่ประสานเสียงกับความงามจนลงตัว ภูมิปัญญาที่มนุษย์รู้จักสังเกตกะลาที่ผิดแผกว่าวิเศษยิ่งก็นับเป็นศาสตร์น่าจารึกใส่กะโหลกคนรุ่นหลัง
ว่าเป็นความอวด (ของ) ดีจากธรรมชาติที่หาไม่ได้ในมะพร้าวสายพันธุ์อื่น