Image
บ้านคนดนตรี
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
และ อดิราห์ มามะ (นักศึกษาฝึกงาน 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย)
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“เรือนบรรเลง” ปลูกตั้งแต่ปี ๒๔๗๗
เพื่อเป็นเรือนหอของนางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง ศิลปบรรเลง สาคริก) กับพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก)
ครูบรรเลงเป็นบุตรีของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) สืบทักษะนาฏศิลป์ดนตรีไทยมาเต็มสายเลือดครั้งมีชีวิตเรือนนี้ไม่เคยว่างเว้นเครือญาติและลูกศิษย์จากสถานศึกษาต่าง ๆ ที่ครูสอนแวะเวียนมาร่วมปราศรัย ตั้งวงบรรเลงดนตรีไทยกันเสมอ  ครั้นสิ้นลมหายใจครู ทายาททั้งลูกสาว (มาลินี สาคริก) และหลานชาย (อัษฎาวุธ สาคริก) ปรับเรือนอาศัยเป็นสถานศึกษาประวัติ-ศาสตร์ทางดนตรี ต้อนรับเยาวชนที่มาทัศนศึกษาไม่น้อยไปกว่าผู้สนใจดนตรีไทย
Image
นอกจากประวัติเป็นมาเจ้าของเรือน ยังน่าสนใจเรื่องราวครอบครัว ตั้งแต่ยุคที่บิดา-หลวงประดิษฐไพเราะเป็นนักระนาดเอกประจำวงดนตรีไทยวังบูรพาภิรมย์ รวบรวมเสน่ห์สำคัญของเครื่องดนตรีไทยแต่ละชนิด บันทึกยุคทองวงการดนตรีไทยสมัยรัชกาลที่ ๖ สู่สมัยรัชกาลที่ ๘ โดยเฉพาะช่วงสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ซึ่งลำพังใช้ชีวิตปรกติก็ลำเค็ญแล้ว นักดนตรียังถูกท่านผู้นำ-รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ควบคุมจิตวิญญาณให้ต่อสู้กับกฎอารยะ “ต้อง-ห้าม” หลายอย่างที่ออกโดย “คนไม่เข้าใจดนตรี”
Image
...ไม้ใหญ่จะยืนทระนงต้านแรงช้างสาร
อยู่ได้ ก็ด้วยรากที่หยั่งลึกและแข็งแรง
ถ้าไม่ดูแลรักษากันไว้ให้ดี เราจะอยู่รอดกันได้แบบไหน...

ความจากภาพยนตร์ โหมโรง ที่หลวงประดิษฐไพเราะแสดงทัศนะต่อการประกาศ “พระราชกริสดีกากำหนดวัธนธัมทางศิลปกัมเกี่ยวกับการบันเลงดนตรี การขับร้องและการพากย์ พุทธศักราช ๒๔๘๖” สะท้อนความไม่ง่ายที่จะก้าวผ่านวิกฤตการณ์มาให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีไทย

ยังมีอีกสารพันเรื่องราวที่เล่าผ่านร่องเรือนปั้นหยาเก่าแก่ เครื่องดนตรีไทยดั้งเดิม หนังสือ เอกสารลายมือ กระดาษโน้ตเพลงเก่า รูปถ่าย ฯลฯ ล้วนเป็นหลักฐานของจริงที่เดินทางผ่านกาลเวลา

และเมื่อมาถึงเรือนบุตรีผู้มีฝีมือด้านระนาดเอกเลื่องลือทั่วพระนคร ควรได้ประจักษ์ “ไม้ระนาดทองแดง” ที่ครูสิน
ศิลปบรรเลง (เจ้าของวงปี่พาทย์ บิดาของหลวงประดิษฐไพเราะ) มอบให้ ด้วยมีนัยสำคัญตรงก้านและหัวไม้ทำจากทองแดงจึงหนักกว่าไม้ระนาดทั่วไปราวห้าเท่า
เพราะดนตรีไม่อาจเปล่งเสียงหากไร้ผู้เล่น หัวใจจึงอยู่ที่ผู้เล่นกับเครื่องดนตรีต้องเป็นหนึ่งเดียว

ซึ่ง “มือ” คือส่วนสำคัญสุด จำต้องฝึกให้ข้อแขนแข็งแรงอดทนเสมอ ถึงคราวเปลี่ยนกลับไปใช้ไม้ระนาดน้ำหนักปรกติจะทำให้ข้อแขนผู้เล่นพลิ้วไหวบรรเลงคล่องแคล่ว

นึกถึงฉากในโหมโรงที่สองระนาดเอก ศร-ขุนอิน ประชันสด จังหวะที่ศรบรรเลงทางระนาดของตน ดังและคมชัดคล้ายมีเรื่องราวอยู่ในเสียง ปลุกอารมณ์ระทึกสะกดให้ผู้ฟังตกอยู่ในภวังค์
ซุกอยู่ตรงไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู  
Image
อัษฎาวุธ สาคริก
เลขาธิการมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ

“อาจารย์มาลินี สาคริก ท่านบอกเสมอว่าใครที่ฟังดนตรี เล่นดนตรี ถือเป็นญาติเรา บ้านหลังนี้จึงยินดีเปิดประตูต้อนรับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม ดนตรี สังคมทุกวันนี้สามารถเรียนรู้จากหน้าจอเล็ก ๆ บนสื่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ผู้คนเสพดนตรีไทยอย่างจริงจัง เราจึงอยากทำที่นี่ให้เป็นสถานที่พบปะแบบมีปฏิสันถารให้ใคร ๆ มาทักทายปราศรัย พูดคุยเรื่องที่ชอบ หรือแลกเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ แสดงความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันประสาคนดนตรี”