เบส-สหรัฐ ทวีผ่อง
ผู้จัดการบริษัทเอกซาวด์ ชัยภูมิ จำกัด
เปิดบ้านรถแห่
เอกซาวด์ ชัยภูมิ
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : ภูวมินทร์ อินดี
พื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนาขนาดใหญ่ ห่างไกลจากชุมชนพอสมควร เสียงเพลง หลากหลายแนวดังขึ้นพร้อม ๆ กัน บ้างเป็นเพลงหมอลำฟังสนุก เพลงเพื่อชีวิต เพลงสตริงจังหวะเย็นใจ เหมือนอยู่ในงานบุญใหญ่งานหนึ่งก็ไม่ปาน ต่างกันแค่ที่นี่มีเสียงตอกค้อน เลื่อยไม้ เชื่อมเหล็ก และเสียงตะโกนคุยกันของเหล่าชายฉกรรจ์แทรกขึ้นเป็นระยะ ๆ
“ช่างแต่ละคนชอบฟังเพลงครับ ทุกแผนกมีตู้ลำโพง เริ่มวันอันดับแรกก็จะเปิดเพลงก่อนเลย ทำงานไปด้วยฟังเพลงไปด้วย บางทีก็คุยกันแทบไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) บางทีก็มีร้อง เต้น คลายเครียด เราเน้นทำงานกันแบบสนุก ๆ ครับ” เบส-สหรัฐ ทวีผ่อง อายุ ๒๗ ปี ผู้จัดการบริษัทเอกซาวด์ ชัยภูมิ จำกัด แนะนำถึงบรรยากาศการทำงานของพวกเขา
“เอกซาวด์ ชัยภูมิ” เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในกลุ่มผู้ประกอบการรถแห่มหรสพสัญจรในฐานะผู้ผลิตรถแห่เจ้าใหญ่ ที่เนรมิตรถเปล่าให้กลายเป็นรถแห่พร้อมใช้งานได้ในที่เดียวแบบครบวงจร
“เราเริ่มต้นจากเป็นวงดนตรีรถแห่นี่แหละครับ ชื่อวงเอกซาวด์ มีเจ้าของคือเอก-เอกรินทร์ ทางชัยภูมิ ต้องย้อนกลับไปเป็น ๑๐ ปีนู่นเลย สมัยนั้นรถแห่ยังไม่ได้อลังการเหมือนทุกวันนี้ เป็นรถหกล้อเล็ก ติดโครงเหล็กธรรมดา ๆ เอาตู้ลำโพงขึ้น มุงหลังคา ตั้งวงดนตรี แล้วก็เริ่มรับงานตามที่เจ้าภาพจ้างให้ไปแสดง”
เบสเล่าว่ารถแห่ของวงเอกซาวด์มีชื่อเสียงมานานแล้ว ในฐานะวงดนตรีที่บรรเลงเพลงได้สนุกถึงใจ และมีลำโพงทำเองที่น่าจะเสียงดังที่สุดในจังหวัด จนมีผู้ประกอบการรถแห่อื่น ๆ มาติดต่อขอให้เอกซาวด์ทำชุดเครื่องเสียงให้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยเป็นร้านเครื่องเสียงเล็ก ๆ อยู่ในหมู่บ้าน ก็ขยับขยายย้ายออกมาที่ท้ายหมู่บ้านเมื่อประมาณ ๗ ปีก่อน เพื่อให้ทำงานได้เต็มที่โดยไม่รบกวนคนอื่น จดเป็นบริษัทเอกซาวด์ ชัยภูมิ จำกัด เพิ่มส่วนที่เป็นอู่ทำรถและรับงานทำรถแห่ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศเต็มตัว
การทำสีรถแห่จะเริ่มจากขัดทำความสะอาดพื้นผิว โป๊สี ขัดแต่ง พ่นสี และเพนต์ลวดลายต่าง ๆ เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุดในการสร้างรถแห่โดยเฉพาะการโป๊สีจะใช้เวลาอย่างน้อย ๑ เดือน เนื่องจากตัวรถมีขนาดใหญ่และช่างต้องใช้ความละเอียดสูง
ทำรถแห่แบบครบวงจร
ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๒ ถือได้ว่าเป็นปีทองของวงการรถแห่
งานของผู้ผลิตอย่างเอกซาวด์และอู่รถเจ้าอื่น ๆ มีไม่ขาดสาย ผู้ประกอบการรถแห่ในพื้นที่อีสานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อจำนวนมากขึ้น การแข่งขันก็สูงขึ้นด้วย
“ตั้งแต่เราเปิดเป็นบริษัทลูกค้าเราเยอะมาก แล้วความต้องการของลูกค้าก็ค่อย ๆ มากขึ้นด้วย จากเมื่อก่อนที่แค่ให้ทำระบบเสียง ผลิตตู้ลำโพง ก็กลายเป็นว่าลูกค้าอยากให้เราทำโครงสร้างรถ ตกแต่งรถเพิ่มให้อีก”
แม้รูปแบบการใช้งานจะเหมือนเดิม แต่เพื่อให้รถแห่ของวงตนเองเป็นที่จดจำได้ มีรูปลักษณ์โดดเด่น สะดุดตา ก็เริ่มอยากติดแผ่นเหล็กดี ๆ ทำสี วาดลวดลายให้สวยงาม ทางฝั่งผู้ผลิตรถแห่จึงต้องหาทางรวบรวมช่างที่ถนัดแต่ละด้านมา
“ที่เอกซาวด์ ช่างเกือบทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิเรานี่แหละครับ เน้นชวนญาติ ๆ หรือคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว
บางทีก็มาทำก่อนหนึ่งคน แล้วถ้ามีใครฝีมือดีแถวบ้านก็ให้ชักชวนกันมาช่วยกัน”
ปัจจุบันบริษัทเอกซาวด์มีพนักงาน ๔๐ กว่าคน แบ่งเป็นแผนกชัดเจนเพื่อสร้างรถแห่แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ทีมออกแบบรถ ทีมช่างเหล็กรับหน้าที่ทำโครงสร้าง เชื่อมขื่อ คาน ให้ตัวรถแข็งแรงปลอดภัย ทีมช่างสีมาโป๊สีรถให้เรียบเนียน ทาสีรองพื้นรอบคัน ติดตั้งตู้ลำโพงบนรถก่อน จากนั้นค่อยทำสีจริง วาดลวดลายต่าง ๆ ตกแต่งภายใน และสุดท้ายคือทีมระบบเสียง
“ขั้นตอนการจูนเสียงละเอียดมาก บนรถแห่คันหนึ่งอาจมีลำโพงมากกว่า ๒๐ ดอก เราต้องจูนให้ทำงานพร้อมกันให้ได้ ให้ทุกความถี่เสียงทำงานสอดประสานกัน พี่เอก-เอกรินทร์ เจ้าของบริษัทจะเป็นคนจูนเสียงเองทุกคัน จะลำโพงเล็กใหญ่แค่ไหนแกก็จะจูนเองหมดก่อนส่งมอบให้ลูกค้า ไม่มีคนอื่น
ทำแทนได้”
ถ้าเป็นรถสิบล้อก็ประมาณ ๔ เดือน รถกระบะก็ประมาณ ๓ เดือน คือระยะเวลาคร่าว ๆ ในการทำรถแห่หนึ่งคัน เบสเน้นย้ำว่าไม่นับรวมเวลารอคิว
"ทำรถแห่เหมือนสร้างบ้านหลังหนึ่งเลยครับ เลือกได้ทั้งหมดว่าจะเอาอะไรไว้ตรงไหน อยากเอาประตู บันไดไว้ตรงไหน นักดนตรีล่ะจะนั่งตรงไหน ส่วนตู้ลำโพงของรถแต่ละคันเราก็จะทำใหม่ตามขนาดรถ เพราะรถแต่ละคันขนาดไม่เท่ากัน เวลาลูกค้าเอารถมาให้เราทำก็เอามาแต่หัวรถกับคัสซี ได้เลย"
หลังลูกค้ามีแบบรถแห่ที่ต้องการ ตัวถังจะถูกผลิตขึ้นมาใหม่ทั้งหมดด้วยทีมช่างเหล็ก โดยมีเอก-เอกรินทร์ ทางชัยภูมิ เจ้าของอู่คอยกำกับการประกอบชิ้นส่วนแต่ละจุดอย่างใกล้ชิด เริ่มต้นด้วยการประกอบโครงสร้างหลักอย่างพื้น เสา โครงหลังคา ตามด้วยกลไกต่าง ๆ เช่น ประตูทางขึ้น เวทีข้างตัวรถ การหมุนตู้ลำโพงด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้นเก็บรายละเอียดตั้งแต่พื้นที่ใช้สอยไปจนถึงทำลวดลายรอบรถ เพื่อให้รถแห่แต่ละคันตอบโจทย์ตามที่ลูกค้าต้องการ
การรับทำรถแห่เริ่มจากลูกค้าบอกความต้องการที่อยากได้ คุยกันว่าหน้าตาประมาณไหน ระบบเสียงประมาณไหน การใช้งานหลัก ๆ จะไปรับงานอะไร ที่เหลือเอกซาวด์ออกแบบดูแลให้ทั้งหมด
“ทำรถแห่เหมือนสร้างบ้านหลังหนึ่งเลยครับ เลือกได้ทั้งหมดว่าจะเอาอะไรไว้ตรงไหน อยากเอาประตู บันไดไว้ตรงไหน นักดนตรีล่ะจะนั่งตรงไหน ส่วนตู้ลำโพงของรถแต่ละคันเราก็จะทำใหม่ตามขนาดรถ เพราะรถแต่ละคันขนาดไม่เท่ากัน เวลาลูกค้าเอารถมาให้เราทำก็เอามาแต่หัวรถกับคัสซี* ได้เลย”
ท่ามกลางอู่ต่อรถมากมายในภาคอีสานโดยเฉพาะในจังหวัดชัยภูมิ แต่ละอู่ก็มีรูปแบบ สไตล์การทำรถแห่ที่แตกต่างกันไป มีการใช้ระบบเสียงและตู้ลำโพงไม่เหมือนกัน เบสเล่าว่าอู่ต่อรถส่วนมากจะรับทำโครงรถ ทำงานสีต่าง ๆ และให้บริษัทเครื่องเสียงมาช่วยดูแลงานระบบให้ แต่เอกซาวด์ตั้งใจที่จะทำรถแห่ทั้งคันแบบครบวงจร ให้เป็นมิตรกับผู้ประกอบการรถแห่หน้าใหม่มากที่สุด
เอกซาวด์เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นแรกของการทำรถแห่ จนรถพร้อมวิ่งรับงาน ไปจนถึงการดูแลซ่อมแซมตัวรถและระบบหลังจากจบงานไปแล้ว ทั้งหมดครบวงจรที่เอกซาวด์
*คัสซี หรือแชสซี (chassis) คือโครงเหล็กซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของรถคันหนึ่ง คอยเชื่อมต่อเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง เพลาขับ และระบบช่วงล่างเข้าไว้ด้วยกัน
โควิด-๑๙ มา
รถแห่เปลี่ยน
“ถ้าย้อนไปตอนโควิด-๑๙ ปี ๒๕๖๓ ไล่มา ก็จะมีบางงานหรือบางพื้นที่ให้จัดงานบุญได้ แต่เขาห้ามไม่ให้รถวิ่ง ห้ามเคลื่อนแห่รอบหมู่บ้าน ให้แค่จอดเล่นในเขตพื้นที่จำกัดเพื่อป้องกันโรค กลายเป็นว่ารถแห่คันเดิมที่ผู้ประกอบการมีเริ่ม
ไม่ตอบโจทย์ นักดนตรีเล่นอยู่บนรถสูง ๆ คนดูด้านล่างก็มองเห็นได้ไม่ชัด ลำโพงที่ปรกติจะหันไปด้านหน้าด้านหลังของรถก็ส่งเสียงมาหาผู้ชมที่อยู่ข้างรถไม่ได้ รถแห่ก็ต้องเปลี่ยนตามบริบทครับ”
เพื่อให้รถแห่ส่งมอบความบันเทิงสู่ผู้ชมได้อย่างเต็มที่ภายใต้
มาตรการใหม่ เอกซาวด์จึงออกแบบรถแห่ใหม่ให้มีเวทีเปิดที่ด้านข้างของตัวรถ ติดระบบไฟแสงสี เปลี่ยนผนังรถบางส่วนเป็นกระจก เพื่อให้ผู้ชมมองเห็นนักดนตรีถนัดขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องเสียงหรือทิศลำโพงก็แก้ไขด้วยการติดตั้งระบบไฮดรอลิกเพื่อทำกลไกให้ตู้ลำโพงด้านหลังหันมาด้านข้างได้ ในขณะที่ตู้ลำโพงด้านหน้าติดตั้งกลไกให้ยื่นออกมาจากตัวรถได้ จากรถแห่ที่แต่เดิมออกแบบไว้แค่แห่ในขบวน ก็เปลี่ยนเป็นรถแห่แบบใหม่ที่ครบเครื่อง ส่วนตอนจอดเล่นก็เปรียบเสมือนเวทีคอนเสิร์ตเคลื่อนที่ ครบรส
รถแห่ขยับบทบาทไปสู่งานแสดงหลากหลายรูปแบบมากขึ้น
ตั้งแต่งานบุญงานแห่ตามประเพณีทั่วไป งานบันเทิงกลางคืนอย่างงานเคานต์ดาวน์ปีใหม่ งานเลี้ยงของบริษัท ไปจนถึงการใช้เป็นรถหาเสียงเลือกตั้ง
“บทบาทใหม่ของรถแห่กลายเป็นเวทีเคลื่อนที่ รถแห่ เดี๋ยวนี้ใหญ่พอที่จะเอาแดนเซอร์ขึ้นเวทีด้วย แสงสีเสียงก็ครบหมด ไปได้ทั้งกลางวันกลางคืน ตอบโจทย์งานบันเทิงแทบจะทุกรูปแบบ บางงานลูกค้าจ้างศิลปินนักร้องดังมาเอง รถแห่ไปในฐานะเวทีเครื่องเสียงเฉย ๆ ก็มี”
แม้ทุกวันนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ อย่างช่วงโควิด-๑๙ แต่ผู้ผลิตรถแห่ก็พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์รูปแบบความต้องการของลูกค้าและบริบทสังคมอยู่เสมอ
“ปีล่าสุดนี้เลยครับ เราสังเกตว่าเวลาไปเล่นงานแห่ คนมาเต้น มาสนุกกับรถแห่มากขึ้น ขบวนแห่ก็ยาวขึ้น บางครั้งรถนาคหรือทีมเจ้าภาพอยู่ข้างหน้าห่างไปเป็นกิโลแล้ว แต่คนเต้นรำเดินช้า รถแห่เคลื่อนได้ช้า ขบวนก็ขาดช่วง เราก็ต้องออกแบบลำโพงใหม่ให้ส่งเสียงไกลขึ้น โดยที่รายละเอียดเสียงไม่ตก คนข้างหน้ายังฟังได้อรรถรส ฟังครบทุกย่านความถี่เสียง”
เบสเล่าว่าตอนนี้มีรถแห่ที่ติดตั้งระบบลำโพงแบบใหม่ของเอกซาวด์ออกวิ่งรับงานบนท้องถนนบ้างแล้ว
(เกือบ) อวสานรถแห่
ในช่วงทศวรรษ ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา วงการรถแห่เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีผู้ประกอบการ มีวงดนตรีรถแห่ มีอู่ทำรถแห่
เกิดขึ้นมาก จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคอีสานก็แพร่หลายไปแทบจะทั่วประเทศไทย กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อย และเป็นหนทางทำมาหากินอีกทางหนึ่งของคนในวัฒนธรรมดนตรี
ถึงรถแห่และวัฒนธรรมความบันเทิงจะปรับตัว เปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมได้รวดเร็วขนาดไหน แต่สิ่งที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงคือกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ
ช่วงปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ ที่รถแห่แพร่หลายมาก เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคม ทั้งจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ไปจนถึงขนาดที่ใหญ่ขึ้น จากไซซ์รถกระบะ รถหกล้อ ก็กลายเป็นไซซ์รถสิบล้อหรือรถบรรทุก กรมการขนส่งทางบกบอกว่ารถแห่เป็นรถที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีการดัดแปลงสภาพรถเกินขนาดที่กำหนดและใช้งานผิดไปจากที่ขึ้นทะเบียนไว้ รถแห่ส่วนมากจดทะเบียนเป็นรถบรรทุกทั่วไป ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้ใช้ขนส่งสิ่งของเท่านั้น ไม่สามารถใช้เพื่อขนส่งผู้โดยสารหรือนำนักดนตรีขึ้นแสดงได้ ทำให้ในช่วงหนึ่งเกิดการยกเลิกงานจากผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระเพื่อมไปทั้งอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่ผู้ประกอบการรถแห่ อู่รถ ไปจนถึงนักดนตรี นักแสดงจนกลุ่มผู้ประกอบการรถแห่มโหรีในจังหวัดต่าง ๆ ต้องรวมตัวกันยื่นจดหมายถึงภาครัฐเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ในปี ๒๕๖๔ ช่วงที่สถานการณ์โควิด-๑๙ เริ่มคลี่คลาย สถานบันเทิงกลางคืนต่าง ๆ กลับมาเปิดได้ตามปรกติ แต่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพรถแห่เป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่ยังถูกห้ามจัดแสดงอยู่
เบสเล่าในฐานะผู้ผลิตรถแห่ว่า ปัจจุบันปี ๒๕๖๗ แล้ว แต่รถแห่ยังอยู่ในพื้นที่สีเทา ๆ เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยง กฎหมายหรือใบอนุญาตต่าง ๆ ออกให้ได้แค่ในรูปแบบรถเฉพาะกิจ อีกทั้งในแต่ละพื้นที่มีการบังคับใช้แตกต่างกันไป เอกซาวด์ในฐานะผู้ผลิตรถแห่ก็เคร่งครัดในเรื่องนี้ รถทุกคันที่จะเข้ามาต่อเติมเป็นรถแห่ที่เอกซาวด์ต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบก มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับในขณะนั้น
รถแห่ถือกำเนิดมาจากการปรับตัว ประยุกต์ และดัดแปลงกันเองแบบ “บ้าน ๆ” ทำโดยช่างในชุมชน สร้างความบันเทิงให้ชุมชน เพื่อตอบสนองคนในชุมชน ไม่ได้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหรือสายอาชีพที่สังคมส่งเสริมหรือปูพรมไว้ให้ตั้งแต่ต้น ผ่านการดิ้นรนเรียกร้องมาก็ไม่น้อย ในวันนี้ที่รถแห่แพร่กระจายออกไป พี่น้องในวงการมหรสพสัญจรทั้งหลายไม่ได้ต้องการการอุ้มชูจากภาครัฐ แต่ต้องการให้สายอาชีพของตนเองดำรงอยู่และเติบโตอย่างถูกต้อง มีกฎระเบียบข้อบังคับชัดเจน เป็นมาตรฐานตามกฎหมาย
เมื่อทำสีตู้ลำโพงเสร็จทีมงานจะนำดอกลำโพงมาประกอบก่อนนำไปเช็กเสียงในขั้นตอนถัดไป
ตู้ลำโพงทำจากไม้อัดและเพิ่มความแข็งแรงรอบด้านด้วยเหล็กฉากหลังประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดเสร็จจะถูกส่งมาที่ทีมช่างสีเพื่อพ่นสีทุกด้านของลำโพงเพื่อช่วยกันน้ำและเพิ่มความสวยงาม
บนเวทีประชันหน้า งานเลี้ยงเลิกราเราเพื่อนกัน
“ตั้งแต่ช่วงโควิด-๑๙ เป็นต้นมา เอกซาวด์ก็ไม่ได้ออกเล่นในฐานะวงรถแห่เลย ทำแต่รถคนอื่น รถหกล้อคันเก่าจากเมื่อ ๑๐ ปีก่อนก็ขายไปแล้ว เวลาลูกค้าเอารถมาให้ทำเขาก็ถามไถ่อยู่เรื่อย ๆ ว่าไม่ทำรถตัวเองแล้วเหรอ เมื่อพฤศจิกายนปีที่ ผ่านมาเราเลยตัดสินใจกลับมาทำรถแห่ของตัวเองอีกครั้ง ถอยรถใหม่ป้ายแดงเลย ส่วนหนึ่งคือเป็นรถทดลองด้วย จะลองใส่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เราพัฒนา ใส่ลำโพงแบบใหม่ที่เราทำขึ้น ลูกค้ามาที่บริษัทก็เปิดให้ลองฟังเสียงได้”
เบสเล่าพร้อมกับพาเราไปดูรถแห่เอกซาวด์ที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี
“ลำโพงตัวหน้ายังไม่ได้ติดเลยครับ เวทีข้างก็เสร็จแค่ครึ่งเดียว สีก็ทาไว้แค่รองพื้น เอาแค่ให้พอไปออกงานได้ คิวงานลูกค้าแน่นมากเลยยังไม่มีเวลาเก็บงานรถตัวเองต่อสักที แต่ที่เราเอารถที่ยังไม่เสร็จดีนี้ไปออกเล่นมา ทุกคนก็ให้การตอบรับดีมาก ทั้งเพื่อน ๆ ในวงการรถแห่แล้วก็แฟนคลับด้วย ตอนนี้มีจองคิวเล่นไปจนถึงปีหน้าแล้ว ดีใจมากเลยครับ”
นับตั้งแต่ที่เอกซาวด์จดทะเบียนเป็นบริษัท พวกเขาทำรถแห่ออกมาสู่ท้องถนนเกิน ๑๐๐ คัน มีอยู่ทุกภูมิภาคในไทย เหนือสุดวิ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ส่วนใต้สุดตอนนี้มีวิ่งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช รถแห่ทุกคันที่เอกซาวด์ทำให้อยู่กันแบบพี่น้อง บางทีมีงานเข้าแต่คิวงานไม่ว่างก็ช่วยประสานแบ่งคิวงานให้รถแห่เจ้าอื่นมารับไปแทน หรือกับผู้ประกอบการหน้าใหม่ในวงการที่คนอาจจะยังไม่รู้จักมากนัก เอกซาวด์ก็ช่วยแนะนำให้กับเจ้าภาพงานต่าง ๆ ด้วย
“บางงานใหญ่ ๆ อย่างงานแห่นาคโหดของจังหวัดชัยภูมิก็จะมีรถแห่ประมาณ ๑๐ คัน เพราะเป็นประเพณีใหญ่ เวลาแห่ก็เหมือนต้องแข่งขันกันทางด้านดนตรี ประชันกันทางด้านเสียง เหมือนแข่งกีฬา อยู่ในงาน ๓ ชั่วโมงเราก็ใส่กันเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักดนตรี ต้องผลิตผลงานตัวเองออกมาให้ดีที่สุด ทางด้านเสียง คนคุมรถก็ต้องทำให้เสียงเราโอเคที่สุด เอาคนให้อยู่รถเราให้ได้มากที่สุด แสดงให้คนดูสนุกที่สุด ทำลำโพง ทำระบบแสงสีเสียงมาดีแค่ไหนก็เปิดเต็มที่ งานนี้ก็เหมือนวัดกันไปเลย ของเขามีเขาก็ใส่มาเหมือนกัน
“ถ้าเปรียบเป็นมวยขึ้นเวที ใส่ก็คือใส่เลย ไม่มีกั๊ก เหมือนกันครับ รถแห่ถ้าได้เริ่มประชันก็ใส่เลย แต่ละวง แต่ละเสียงของเรามีเท่าไรก็ใส่ให้หมด แต่หลังจากเลิกงานก็เพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันครับ รถจอดก็คุย ทักทายกันปรกติ รถพังรถเสียก็ช่วยกัน มีมิตรภาพต่อกันเหมือนเดิม”