เสี้ยววินาทีที่สบตาหุ่นกระบอกจีนไหหลำโดยบังเอิญระหว่างหามุมถ่ายภาพไปรอบเวที การแสดงแก้บนที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม เชิงสะพานซังฮี้ หลังจากถ่ายภาพคนเชิดตัวหุ่นและบรรยากาศต่าง ๆ จำนวนมากแล้ว วินาทีนั้นรู้สึกเหมือนถูกหุ่นกระบอกมองอย่างตำหนิว่ากำลังรบกวนสมาธิในการแสดงสารคดีเรื่อง “หุ่นจีนไหหลำในเมืองไทย” ฉบับที่ ๑๙๗ กรกฎาคม ๒๕๔๔
เอ๊ะ
เบื้องหลัง... ภาพถ่ายสารคดี
40 Years of Storytelling
เรื่องและภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
การถ่ายภาพเล่าเรื่องเชิงสารคดีปฏิเสธไม่ได้ว่าการเตรียมการหาข้อมูลที่ดีก่อนลงพื้นที่จะทำให้เราวางแผนได้ว่าควรมีภาพอะไรบ้าง เมื่อลงพื้นที่จริงก็สามารถเก็บภาพได้ครบถ้วน แต่บางครั้งหน้างานก็อาจไม่เป็นไปตามคาดหวังและหลายงานก็ไม่อาจรู้ข้อมูลล่วงหน้า ช่างภาพต้องพร้อมปรับเปลี่ยนตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ปรกติเวลาลงพื้นที่ เช่นไปถ่ายภาพงานประเพณีหรือกิจกรรมต่าง ๆ วันแรกเรามักเป็นคนแปลกหน้ากับแหล่งข้อมูล จึงต้องรีบสร้างความคุ้นเคย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม ตรงนั้นเสมือนไร้ตัวตนของช่างภาพ ผมจะเดินสังเกตให้ทั่วงานพร้อมถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ ตามข้อมูลว่าขั้นตอนต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร
การขึ้นเครื่องบินถ่ายภาพสารคดี เรามีโอกาสตามติดการทำงานของพวกเธอตั้งแต่เดินทางเที่ยวขาไปจนผู้โดยสารลงจากเครื่อง ระหว่างจอดพักรอรับผู้โดยสารเที่ยวขากลับนั้นเองก็เห็นภาพนี้ จึงรีบกดชัตเตอร์เพื่อสะท้อนการทำงานเบื้องหลังที่เราไม่เคยเห็นตามสื่อประชาสัมพันธ์สารคดีเรื่อง “เรื่องเล่าจากฟากฟ้า ชีวิตจริงของแอร์โฮสเตส” ฉบับที่ ๒๓๔ สิงหาคม ๒๕๔๗
ช่วงตระเวนแบบไม่ตั้งใจนี้เองที่ช่างภาพอาจเกิดอาการ “เอ๊ะ” กับสิ่งที่เห็น ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ มุมมอง แนวคิด ผสานจินตนาการ ทำให้ต้องรีบเลือกมุมกล้องจับจังหวะที่เหมาะสมแล้วกดชัตเตอร์ ก่อนสิ่งนั้นหรือสภาวะนั้นจะเคลื่อน เปลี่ยน หรือหายไป
ระหว่างเดินตามพระไพศาล วิสาโล และพระวัดป่ามหาวัน จังหวัดชัยภูมิ ออกบิณฑบาต ฉับพลันที่เห็นไก่ เด็ก พระ อยู่พร้อมหน้า ความคิดในหัวบอกให้รีบหามุมถ่ายภาพที่ถ้าปล่อยผ่านก็จะผ่านเลย เพราะจังหวะแบบนี้
มักมีแค่ภาพเดียว สารคดีเรื่องนี้ช่างภาพรับบทเด็กวัดฝึกหัด ทั้งฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรของวัดและฟังบรรยายธรรมหลายวัน ได้เห็นความเมตตาของท่านที่มีต่อสัตว์โลกอยู่ตลอด สารคดีเรื่อง “สติสู่สมัย พระไพศาล วิสาโล” ฉบับที่ ๓๗๔ เมษายน ๒๕๕๙
ภาพ “เอ๊ะ” นี้อาจคล้ายภาพแนวสตรีต แต่ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว เพราะต้องสามารถตอบโจทย์เรื่องที่เล่า เมื่อนำมาตีพิมพ์ประกอบกับชุดภาพอื่น ๆ ในเรื่อง จะช่วยเพิ่มมุมมองที่ดูเป็นธรรมชาติ พร้อมแอบซ่อนความคิดบางอย่างของช่างภาพให้คนดู “เอ๊ะ” ด้วย ส่วนจะเข้าใจความนัยตรงกันหรือไม่ ปล่อยให้เป็นการตีความของคนดู
บรรยากาศห้องเรียนในโรงเรียนกวดวิชายอดฮิต แวบแรกนึกถึงโรงงานที่ทำให้เด็กเหมือนหุ่นยนต์ถูกป้อนข้อมูลให้ทำอะไรเหมือน ๆ กัน พอดีเห็นประตูสองห้องติดกันที่มีนักเรียนนั่งเต็มและจอฉายวิดีโอซ้ำ ๆ จึงปิ๊ง สารคดีเรื่อง “กวดวิชา ปัจจัยที่ห้าของครอบครัวยุคใหม่” ฉบับที่ ๒๘๔ ตุลาคม ๒๕๕๑
ย้อนกลับไปครั้งถ่ายภาพสารคดีใหม่ ๆ ผมยังยึดติดกับการพยายามถ่ายภาพให้ “สวย” แบบภาพถ่ายประกวดที่ต้องสมบูรณ์ทั้งแสง สี การจัดวางองค์ประกอบ แต่พอมีประสบการณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมก็เข้าใจว่าภาพที่เล่าเรื่องไม่จำเป็นต้อง “เป๊ะ” และสนุกกับการถ่ายภาพ “เอ๊ะ” ที่แวบขึ้นมา ณ วินาทีนั้น
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรซึ่งขุดพบในกู่คันธนาม จังหวัดร้อยเอ็ด จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรในปี ๒๕๔๕ ปรกติจะขนกลับมาที่กรุงเทพฯ แต่ชาวบ้านยืนกรานขอเก็บไว้ในแหล่งเดิม และสร้างห้องกรงเหล็กสองชั้นบนศาลาในวัดเพื่อประดิษฐาน วารสาร เมืองโบราณ เดินทางไปถ่ายทำ ช่างภาพมองแล้วรู้สึกเหมือนมาเยี่ยมนักโทษ โลกช่างกลับตาลปัตร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรกราบไหว้บูชากลับถูกจองจำ แต่สุดท้ายรูปปั้นก็ถูกโจรกรรมในปี ๒๕๔๗ ชื่อภาพ กลับตาลปัตร คอลัมน์ “ห้องภาพปรินายก” ฉบับที่ ๒๓๔ สิงหาคม ๒๕๔๗