Image
พอร์เทรตเด็กหนุ่มมุสลิมที่ปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม) ริมแม่น้ำสายบุรี จังหวัดปัตตานี สื่อสารภาพผ่านสายตาอันมุ่งมั่น
ภาพถ่ายสารคดี ๑๐๑
เบื้องหลัง... ภาพถ่ายสารคดี
40 Years of Storytelling
เรื่องและภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image
กว่าจะทำสารคดีสักเรื่อง ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ตั้งแต่คิดเรื่อง คิดหัวข้อ หาข้อมูล เตรียมการ และวางแผน  ส่วนตัวใช้ mind map เพราะช่วยให้เห็นภาพรวมและแตกความคิดได้มาก ก่อนจะถอดเป็นโครงภาพว่าน่าจะต้องถ่ายภาพอะไรบ้างอย่างละเอียด ทำให้เราเตรียมตัวได้ดีเมื่อไปถึงหน้างาน กลับมาแล้วก็นำภาพทั้งหมดมาคัดเลือกภาพที่ดีที่สุดสำหรับเล่าเรื่อง
การถ่ายภาพสารคดีในพื้นที่มีหลักง่าย ๆ เรียกว่า EDFAT ประกอบด้วย

entire - ภาพรวมเรื่องราว เป็นภาพกว้างเห็นสถานที่ ที่ตั้ง
ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

detail - ภาพลงรายละเอียด กิจกรรม ขั้นตอน กระบวนการของเรื่องนั้น

frame - ภาพแนวตั้งแนวนอนและการวางองค์ประกอบภาพ เช่น ใช้จุดตัดเก้าช่อง

angle - ภาพหลากหลายมุมมอง มุมสูง มุมระดับสายตา มุมต่ำ และการใช้เลนส์ต่าง ๆ ทั้งเลนส์มุมกว้าง นอร์มอล เทเลโฟโต้

time - การเลือกเวลาถ่ายภาพ แสงแต่ละช่วงจะให้อารมณ์ต่างกัน เช่น เช้า เย็น แสงสีทองให้ความรู้สึกอบอุ่น เป็นต้น
และการเลือกสปีดชัตเตอร์ของกล้องให้เกิดผลของภาพที่แตกต่าง
Image
ภาพแม่อุ้มลูกมาตรวจรักษาที่คลินิกหมอซินเทีย มาว ด่านชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ภาพสื่อสารผ่านแววตาตื่นตระหนก และเลือกฉากหลังแม่พระอุ้มเด็กที่สอดรับกัน ทั้งสองภาพสะท้อนความสำคัญของแววตา ซึ่งเป็นหน้าต่างของหัวใจ เพื่อสื่อถึงอารมณ์ ทำให้ภาพถ่ายดูมีพลัง
การใช้หลัก EDFAT ทำให้ได้ปริมาณภาพเพียงพอและครอบคลุมประเด็นที่ทำ

นอกจากนี้การลงพื้นที่ถ่ายภาพต้องขยันถ่าย แม้จากที่ถ่ายเป็นร้อยเป็นพันภาพ จะเหลือภาพที่คัดเลือกเพียง ๑๐-๒๐ ภาพเพื่อส่งเข้าสู่ขั้นตอนออกแบบ จนออกมาเป็นรูปเล่มหรือโพสต์ขึ้นออนไลน์ ซึ่งภาพที่ใช้จริง ผู้ออกแบบอาจเลือกเหลือแค่ ๗-๘ ภาพ เพราะ สารคดี ไม่นิยมตีพิมพ์ภาพที่ซ้ำซ้อนหรือหากภาพมากเกินไปอาจทำให้เรื่องดูน่าเบื่อได้
Image
 โจทย์ของภาพนี้เป็นช่วงที่เมืองล็อกดาวน์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-๑๙ เลือกพื้นที่ย่านราชประสงค์ บริเวณลานหน้าห้าง ใช้เลนส์เทเลโฟโต้ถ่ายจากมุมสูงระยะไกลเพื่อเก็บความเงียบเหงาของคนเข้าออกห้าง ในช่วงเย็นหลังฝนตก ซึ่งได้ภาพพื้นที่สะท้อนจอโฆษณาหน้าตึก ให้แสงลึกลับเหมือนโลกไซไฟ
ปรกติชุดภาพที่ใช้สำหรับสารคดีหนึ่งเรื่องประกอบด้วยภาพเปิด ภาพแสดงเนื้อเรื่อง และภาพปิด มีหลักคิดในการคัดภาพคือ

ภาพเปิด - สวยงาม น่าสนใจ ตั้งคำถามชวนสงสัยให้ติดตาม

ภาพแสดงเนื้อเรื่อง - มีวิธีเล่าหลายแบบ เช่น ตามลำดับเวลา ลำดับขั้นตอน ตามการเปรียบเทียบความแตกต่าง เก่าใหม่ อดีตปัจจุบัน ตามหมวดหมู่ เป็นต้น

ภาพปิด - ภาพสรุป ภาพประทับใจ ตั้งคำถามให้คิดต่อ

ภาพถ่ายแนวสารคดีนอกจากจะสะท้อนข้อเท็จจริง ยังต้องสวยงามและสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วม  ภาพถ่ายที่ใช้หลักๆ เช่น

ภาพพอร์เทรต เลือกคน สัตว์ หรือสิ่งของ ให้เหมาะสมกับเรื่อง สถานที่ เวลา
Image
บรรยากาศการฝึกซ้อม ใช้เลนส์มุมกว้าง ถ่ายมุมต่ำจับจังหวะซ้อมยิงประตู ซึ่งมีนักกีฬาเดินตัดหน้ากล้องพอดี ทำให้ภาพน่าสนใจขึ้น
Image
สารคดีประเภทกีฬา สิ่งสำคัญนอกจากแมตช์การแข่งขัน คือกองเชียร์และการฝึกซ้อม  เราเลือกเล่าเรื่องผ่านกองเชียร์ฉลามชล ซึ่งขณะนั้นเป็นกองเชียร์ที่เด่นที่สุด นำเสนอภาพลักษณะคลุกวงใน รอจังหวะทีมทำประตูและเก็บภาพสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ ภาพจึงดูเหมือนมีเสียง
ภาพเชิงเปรียบเทียบ สิ่งเก่าสิ่งใหม่ ดูขัดแย้ง แตกต่าง ดูผิดที่ผิดทาง ขบขัน เสียดสีสังคม บนพื้นฐานความจริง

ภาพเชิงสัญลักษณ์ที่มีความหมายตรงและความหมายแฝง เช่น ภาพเครื่องหมายบวก อาจแฝงถึงสัญลักษณ์ไม้กางเขน เชื่อมโยงศาสนา  ภาพกุหลาบสีดำ อาจแฝงถึงความรัก ความสูญเสีย
ประเพณีแห่ดาว บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ชุดภาพประกอบด้วยขบวนแห่ การทำโคม พิธีในโบสถ์ บรรยากาศในหมู่บ้าน  ช่างภาพเลือกเก็บรายละเอียดการประดับโคมไฟรูปดาว ซึ่งจับจังหวะกำลังติดตั้งบริเวณระเบียงบ้านและมีรูปเคารพเป็นฉากหลัง ให้ภาพดูมีเรื่องราว
Image
ชาวบ้านบางตาวาเก็บปลาที่ตากริมทะเลก่อนตะวันลับ ฉากหลังเห็นแนวตุ๊กตากันคลื่น เพิ่มเนื้อหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ประเด็นในภาพจึงมีหลายมิติ
การจะได้ชุดภาพสารคดีที่เล่าเรื่องอย่างต้องการหรือคาดหวังจึงขึ้นกับการเตรียมข้อมูล วางแผนลงพื้นที่ นัดหมายแหล่งข้อมูล กิจกรรมที่พบระหว่างลงพื้นที่ สภาพอากาศ รวมถึงประสบการณ์ การแก้ปัญหา ประเมินสถานการณ์โดยต้องอยู่ในจุดที่ “ถูกที่ถูกเวลา”