Image
มอง สารคดี ๖ ปีแรก และ ๔๐ ปีให้หลัง
สุชาดา จักรพิสุทธิ์
บรรณาธิการบริหารคนแรก
(ปี ๒๕๒๘-๒๕๓๓)
Editor
40 Years of Storytelling
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
Image
ย้อนไปในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง แผงหนังสือยังหาได้ตามซอกซอย มีคำกล่าวในหมู่คนทำนิตยสารว่า หากอยากรู้ว่านิตยสารเป็นแบบไหน ให้ดูบรรณาธิการของนิตยสารเล่มนั้น 
สารคดี วางแผงครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ก็ไม่ต่างจากนิตยสารเล่มอื่น คือถือกำเนิดขึ้นจากทีมงานที่นำโดยบรรณาธิการผู้มุ่งมั่น เพียงแต่ภาพที่แตกต่างคือ บรรณาธิการเป็นสุภาพสตรี โดดเด่นท่ามกลางบรรณาธิการสุภาพบุรุษซึ่งครองวงการนิตยสารอยู่ในเวลานั้น

ทั้งหมดเริ่มต้นปี ๒๕๒๗ เมื่อ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ พนักงานฝ่ายธุรการของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ กับเพื่อนร่วมงานเสนอผ่าทางตันปัญหาขาดทุนของสำนักพิมพ์และวารสาร เมืองโบราณ ด้วยการเปิดนิตยสารหัวใหม่ชื่อ สารคดี

กลายเป็นนิตยสารหัวแรกในตลาดหนังสือเมืองไทยที่เลือกนำเสนองานประเภทสารคดีและภาพถ่ายเล่าเรื่อง ท่ามกลางนิตยสารแฟชั่น ผู้หญิง ตกแต่งบ้าน ท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งการันตีความสำเร็จด้านกำไรมากกว่า

ในแง่ประวัติศาสตร์วงการนิตยสารไทย สุชาดาจึงถือเป็นกัปตันหญิงคนแรกผู้นำเรือรุ่นใหม่นาม สารคดี ออกไปเผชิญคลื่นลม พล็อตจุด ทำแผนที่ตั้งเข็มทิศ วางแบบแผนการเดินเรือ (สำหรับกัปตันเรือคนต่อมา) ท่ามกลางท้องทะเลที่ไม่เคยมีใครสำรวจ ระหว่างนั้นยังต้องอุดรูรั่ว วิดน้ำ ฯลฯ จนที่สุดเรือแล่นได้มั่นคง เปลี่ยนมือกัปตันมาแล้วสามคน

ในโอกาส ๔ ทศวรรษที่ สารคดี ออกจากท่า เรากลับไปคุยกับ “กัปตันคนแรก” อีกครั้ง
สี่สิบปีที่แล้ว อะไรทำให้พี่ตัดสินใจให้กำเนิดนิตยสารเล่มนี้
พี่เรียนมาทางวารสารศาสตร์โดยตรง ประทับใจอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ที่สอนว่าคนเรียนด้านนี้ต้องเห็น “ก้อนหินในสายน้ำไหล” คือเห็นนัยหรือสิ่งซ่อนเร้นเบื้องหลังปรากฏการณ์ที่อาจเป็นเรื่องธรรมดา สมัยนั้นมีนิตยสารชื่อ เพื่อนเดินทางบรรณาธิการคือ ประพันธ์ ผลเสวก เป็นนิตยสารท่องเที่ยวแนวใหม่ ไม่ได้แค่เขียนพรรณนาชื่นชมธรรมชาติเท่านั้น แต่ทำให้เห็นผู้คนภูมิปัญญา วัฒนธรรมในที่ต่าง ๆ แบบที่ลงลึกมากขึ้น จึงคิดว่าถ้ามีนิตยสารที่ทำได้มากกว่านี้ ซับซ้อนกว่านี้จะเป็นอย่างไรก็ประจวบกับสถานการณ์ที่สำนักพิมพ์เมืองโบราณมีปัญหาขาดทุน
สุภา ศิริมานนท์ (ปี ๒๔๕๗-๒๕๒๙)
นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้สื่อข่าวสงครามคนแรกของเมืองไทย อดีตเสรีไทย อดีตข้าราชการ กระทรวงการต่างประเทศ และอดีตอาจารย์ ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพื่อนเดินทาง
นิตยสารรายเดือนที่นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยนำนายแบบนางแบบไปถ่ายแฟชั่นในสถานที่เหล่านั้น วางจำหน่ายบนแผงขายหนังสือทั่วประเทศตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ ปิดตัวในปี ๒๕๖๐

โดยตำแหน่งตอนนั้นทำอะไรในสำนักพิมพ์เมืองโบราณ
เป็นพนักงานธุรการธรรมดา เรียนหนังสือไปด้วยทำงานไปด้วยเพื่อส่งเสียตัวเอง ทำทั้งงานฝ่ายสมาชิก ฝ่ายตลาด ต้องเอาหนังสือไปขาย เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ปลาตะเพียน สำนักพิมพ์เมืองโบราณสมัยนั้นผู้จัดการคือคุณนิดดา หงษ์วิวัฒน์ เข้ามารับหน้าที่ระยะหนึ่งตามคำชวนคุณสุวพร ทองธิว ผู้เป็นเจ้าของ ปัญหาของวารสาร เมืองโบราณ คือขาดทุนตลอด เพราะเป็นรายไตรมาส ไม่สามารถทำให้คนอ่านติดพัน ในแง่รายได้ก็เป็นเบี้ยหัวแตก ฝ่ายบริหารประชุมกันบ่อยว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงเสนอว่าต้องมีนิตยสารที่มีความถี่ในการวางแผงมากกว่านั้น อีกอย่างคือเนื้อหาที่ เมืองโบราณ นำเสนอเป็นงานวิชาการทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี ซึ่งมีกลุ่มผู้อ่านน้อยมาก  จากที่เราประทับใจนิตยสาร เพื่อนเดินทาง เรามองว่า ถ้าทำเรื่องใหญ่กว่า ลึกกว่า เช่น วัฒนธรรมหลากหลาย คนที่มีความสามารถพิเศษ นวัตกรรม ภูมิปัญญา วิทยาศาสตร์ หรือธรรมชาติมหัศจรรย์ ซึ่งในเครือข่ายของสำนักพิมพ์เมืองโบราณก็มีคนอย่าง เอนก นาวิกมูล และนักเขียนนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง
นิดดา หงษ์วิวัฒน์
อดีตผู้จัดการสำนักพิมพ์เมืองโบราณ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร ครัว อดีตผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์แสงแดด เจ้าของร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ Sangdad Health Mart

เอนก นาวิกมูล
นักเขียนสารคดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๖๓ เจ้าของประโยค “เก็บวันนี้พรุ่งนี้ก็เก่า” นักสะสมของที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันคนไทย ตั้งแต่ยุค ๒๔๗๕ จนถึงช่วงกึ่งพุทธกาล (ปี ๒๕๐๐) ผู้ดำเนินการ “บ้านพิพิธภัณฑ์” ถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ และ “บ้านพิพิธภัณฑ์ บ้านไร่ใกล้ตลาด” ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

Image
การเปิดหัวนิตยสารใหม่เท่ากับต้องลงทุนเพิ่ม
ตอนนั้นคุณจำนงค์ ศรีนวล คิดว่านิตยสารอย่าง National Geographic อยู่ได้ และมีจุดเด่นด้านภาพถ่ายคุณภาพระดับงานศิลปะ อย่างที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพแทนคำหนึ่งพันคำ” คือภาพถ่าย pictorial ซึ่งเข้ามาเติมเต็มงานเขียนที่เจาะลึก ฝ่ายบริหารทั้งหมดเห็นด้วยว่าต้องออกหนังสืออีกเล่มที่มีชีวิตเป็นรายเดือน พอดีพี่ทำสารนิพนธ์เพื่อจบปริญญาตรีเรื่อง “การดำเนินงานเพื่อจัดทำนิตยสารใหม่ (ศึกษากรณี นิตยสาร ‘สารคดี’)” ก็เลยสำรวจตลาดนิตยสารในภาคสนามด้วย ในที่สุดก็สรุปว่าเราจะออกนิตยสารแนวใหม่ คือสารคดี nonfiction ที่มีภาพถ่ายโดดเด่นและเรื่องราวเจาะลึก ทีมงานหลักนอกจากพี่ก็มี สุดารา สุจฉายา  จำนงค์ ศรีนวล เป็นต้น ซึ่งยังคงทำงานอยู่ที่สารคดีจนทุกวันนี้

ถูกต้องว่านี่คือการลงทุนเพิ่ม แต่คุณสุวพร เจ้าของพร้อมจะลงทุน

ตอนเตรียมงาน พี่ปรึกษาผู้อาวุโสในวงการหลายคน เช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี  สุจิตต์ วงษ์เทศ  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นิลวรรณ ปิ่นทอง ไปเกาะโต๊ะขอความรู้ แหล่งข้อมูลสารคดีมีอะไรบ้าง เรื่องใดอยู่ในความสนใจของผู้คน เราใช้วิธีเรียนทางลัด จากผู้อาวุโส จำได้ที่พี่สุชาติทักท้วงว่ามันยาก เป็นอุดมคติเกินไป พี่ตอบว่า นี่พี่สุชาติกำลังห้ามเด็กปีนต้นไม้ บอกต้นไม้สูงตกลงมาจะเจ็บ  ขอโทษ หนูไม่มีแนวคิดนี้ในหัว ไม่รู้หรอกเป็นอย่างไร ให้หนูตกเองได้ไหม เขาก็เอ็นดู ลองผิดลองถูกแบบนี้ เวลาทำงานส่วนมากจะใช้วิธีระดมความคิด คนอาวุโสที่สุดในทีมคือพี่จำนงค์ก็เตือนบ้าง สั่งสอนบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ไม่เชื่อก็ขว้างโทรศัพท์ใส่แก ชกกระจกบ้าง (หัวเราะ)

คราวที่กองบรรณาธิการ สารคดี มาสัมภาษณ์ (สารคดี ฉบับที่ ๒๒๙ มีนาคม ๒๕๔๗) พี่พูดไปแล้วว่ามีปัจจัยสามอย่างที่ต้องขอพูดซ้ำ คือ หนึ่ง เจ้าของทุน คุณสุวพร ทองธิว ถ้าแกเป็นนายทุนที่มองแต่ผลกำไร สารคดี คงไม่มีทางได้เกิด แต่คุณสุวพรคือคนรักหนังสือ รักความรู้ ฝักใฝ่ในธรรม  สอง จังหวะเวลาของสังคมไทยสมัยนั้นเอื้ออำนวย คือมีชนชั้นกลางมากขึ้น คนได้เรียนได้อ่านหนังสือมากขึ้น เริ่มแสวงหาคุณภาพชีวิต หาความรู้บำรุงบำเรอตัวเองมากกว่าเรื่องปัจจัยสี่ ทำให้ต้องการหนังสือดีอ่านยามว่าง  สาม เรามีทีมงานซึ่งมีความมุ่งมั่นเหมือนกัน เราเตรียมงานประมาณ ๑ ปี ต้องเดินทางตลอดเพื่อสต๊อกภาพและเรื่อง เราแบ่งทีมทำงาน ทีมหนึ่งจะมีคนเก็บข้อมูลกับคนถ่ายภาพ สลับกันไป ช่วงนั้นพี่กินนอนอยู่ที่สำนักงาน เพราะต้องหาโฆษณามาลงนิตยสารและเขียนเรื่องด้วย
จำนงค์ ศรีนวล
อดีตบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ วารสาร เมืองโบราณ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด

“การดำเนินงานเพื่อจัดทำนิตยสารใหม่ (ศึกษากรณี นิตยสาร ‘สารคดี’)”
สารนิพนธ์ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ปี ๒๕๒๗ เป็นงานวิจัยเล่มแรกที่พูดถึงนิตยสาร สารคดี ในฐานข้อมูลของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลัง สารคดี เล่มแรกวางแผง เสียงตอบรับเป็นอย่างไร
สั่นสะเทือนวงการพอสมควร เราก็เครียดว่ามาถูกทาง แต่ความคาดหวังสูง เราก็คาดหวังกันเองด้วย ตอนหนังสือใกล้ออกจากโรงพิมพ์ ก็ลุ้นว่าจะถูกรางวัลที่ ๑ หรือไม่ เลขท้ายสองตัวได้ไหม ช่วงปีแรกเครียดแบบนั้น งานอื่นก็ต้องทำ บรรจุหนังสือลงซอง รับสมัครสมาชิก ทำทุกอย่าง เล่มเดือนถัดไปหากต้องเปลี่ยนประเด็นปก ถ้าไม่มีในสต๊อก ก็ต้องเริ่มทำงานใหม่ ทำงานแบบข้าวสารกรอกหม้อ ยุคนั้นนิตยสารไม่ได้ออกตรงเวลา แต่แนวที่เราทำต้องหาและอ่านข้อมูล บางทีคิดจะปิดต้นฉบับได้วันนั้นวันนี้ พอถึงเวลาจริงปรากฏว่าไม่ไหว งานด่วนแทรกบ้าง มีงานแถลงข่าวที่ถ้าไม่ไปก็ไม่มีโอกาสเจอแหล่งข้อมูล ต้องบริหาร ประชุมกองบรรณาธิการ ประสานคอลัมนิสต์  สมัยพี่ยังเป็นบรรณาธิการบริหารมีคนเสนอให้ออกทีวี ไปถ่ายโฆษณาแต่เวลาไม่พอเลยไม่เอาสักอย่าง ยกเว้นไปบรรยายในสถานศึกษา

ประมาณช่วงปีที่ ๓ พี่สร้างนิยามงานเขียนสารคดีว่าเป็น “รอยต่อระหว่างวรรณกรรมกับงานวิชาการ” ขึ้นมา อยากบอกว่านี่คือสมบัติของ สารคดี คือวรรคทองที่นิตยสารเล่มนี้จะต้องรักษาไว้ให้ดี
สารคดี  ยุคสุชาดากำหนดน้ำหนักระหว่างงานเขียนกับภาพถ่ายและองค์ประกอบอื่นในเล่มอย่างไร
น้ำหนักเรื่องกับภาพวางไว้เท่ากัน โดยมีหลักว่า สารคดี มีสามห้อง คือ “ชีวิตและผู้คน” “ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” และ “วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม” นอกจากนั้นคือ “คอลัมน์” หลากหลาย เราค่อย ๆ สร้างคอลัมน์ เพราะเชื่อว่าต้องมีทางเลือกให้คนอ่านที่มีรสนิยมแตกต่างกัน มีเรื่องเบา ๆ อ่านง่าย หรือทำให้ผ่อนคลายบ้าง

พี่คิดคอลัมน์ “เฮโลสาระพา” โดยคอลัมนิสต์ใช้นามปากกา “หมูอมตะ” พรรคพวกล้อกันว่าจริงๆ คนเขียนชื่อ “หมูอม (ไม้) ตะพด” เพราะเป็นคนยียวนกวนประสาท และคอลัมน์อย่าง “สมาชิกอุปถัมภ์” คุณจำนงค์ก็มาบอกทีหลังว่าขอบคุณที่สร้างไว้ เพราะทุกวันนี้ทำรายได้เข้ามาส่วนหนึ่งและได้มอบหนังสือแก่โรงเรียนห่างไกลด้วย คอลัมน์ “ซองคำถาม” ระยะแรกเราเป็นหน้าม้าส่งคำถามกันเอง เจตนาคืออยากให้คนอ่านมีส่วนร่วม พอผ่านไปสักพัก คนอ่านก็อยากรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้เขียนจดหมายถามมากมาย ซึ่งคอลัมน์ก็เติบโตจนจัดพิมพ์รวมเป็นเล่มได้ในเวลาต่อมา
“เฮโลสาระพา”
คอลัมน์เม้ามอยคนในกองบรรณาธิการและสื่อสารกับผู้อ่าน ได้ชื่อว่า “บันเทิง” และมีอารมณ์ขันที่สุดเมื่อเทียบกับคอลัมน์อื่น ๆ ของ สารคดี ดำเนินการโดย “หมูอมตะ” โผล่ตามรายสะดวกหรือกลิ่นหมูปิ้งที่โชยมาตามลม

บรรณาธิการแบบสุชาดาเป็นอย่างไร
จำได้ว่าครั้งหนึ่งนำต้นฉบับคอลัมน์ไปคืนคุณพิชัย วาศนาส่ง เพราะงานเอียงเข้าข้างฝ่ายอเมริกันมาก ไปกราบท่าน แต่ท่านเป็น big man (ใจกว้าง) ยอมแก้ให้  มีเหตุการณ์สำคัญที่ยังจำได้ บรรณาธิการผู้ชายชื่อดังเชิญพี่ไปรับประทานข้าว แล้วคุยในลักษณะข่มขู่ เกทับว่า สารคดี ควรทำได้ดีกว่านี้ ควรให้เขาเป็นบรรณาธิการ แล้วพี่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการเขาคงเห็นเราเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ตอนคุยก็มีทหารยืนล้อมรอบ เราก็แกล้งทำตัวไร้เดียงสา บอกไม่มีอำนาจจะตอบ ต้องไปคุยกับคุณสุวพร (เจ้าของ) หลังจากนั้นก็มีเรื่องอีก คือมีบรรณาธิการผู้ชายอีกคนติดต่อจะยกนิตยสารผู้หญิงของเขาให้มาอยู่ในสังกัด สารคดี เขาคุยกับคุณสุวพรแบบไหนไม่รู้ กลายมาเป็นผู้บริหารมีอำนาจเหนือพี่ ทำให้ สารคดี ต้องปรับราคาจาก ๔๐ บาทเป็น ๓๗.๕๐ บาทอยู่ระยะหนึ่งด้วยเหตุผลน่าขบขันบางอย่าง ก่อนจะยกเลิกไป
พิชัย วาศนาส่ง (ปี ๒๔๗๒-๒๕๕๕)
สถาปนิก นักเขียน นักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังการรัฐประหารปี ๒๕๔๙

"ตอนครบ ๒๐ ปี พี่ให้สัมภาษณ์ว่า การที่คนเก่ายังทำงานอยู่มีข้อดีคือมันมั่นคง เพราะรู้แนวคิดและรักษาอุดมการณ์ชุดหนึ่งไว้ได้ แต่ข้อเสียคือ มันจะจืด จำเจ แล้วนิตยสารจะตกยุคไปเรื่อย ๆ เพราะโลกหมุนเร็วมาก"
ตอนออกจาก สารคดี ปี ๒๕๓๓ ในแง่ของวงการนิตยสารงานเขียนสารคดีมีที่ทางชัดเจนหรือยัง และตัวนิตยสารไปรอดทางธุรกิจไหม
ยุคของพี่น่าจะขาดทุน ๖ ล้านบาท เราช่วยกันทำให้หมดตัวแดงได้ เพราะมีฝ่ายโฆษณา คุณปฏิมา หนูไชยะ มาดูแล แกมีเพื่อนฝูงสายอักษรศาสตร์ มีเครือข่ายกว้าง ตอนนั้นแหละโฆษณาเริ่มเข้ามามากขึ้น คนก็รู้จักแล้วว่านิตยสาร สารคดี คืออะไร

พี่เคยพูดว่างาน nonfiction ที่ยิ่งใหญ่เปลี่ยนชีวิตคนได้ ทำให้เกิดความรับรู้ ความปีติ หรือกระตุ้นสำนึกในเชิงมนุษยนิยม เกิดคำถามและการเรียนรู้ ถ้าอ่านงานวิชาการว่าค้นพบอะไร ทฤษฎีนั้นทฤษฎีนี้คูณกันยกกำลังสอง ก็เป็นความรู้ที่ไม่มีความรู้สึก ไม่ประทับใจเท่าไร แต่พอเล่าเรื่องโดยมีวรรณศิลป์มาช่วย ผลคือคนอ่านแล้วอาจน้ำตาคลอ จับใจกับคำบางคำ ประโยคบางประโยค บางคนถึงกับบอกว่าก้าวพ้นช่วงชีวิตสะดุดได้จากการอ่านงานเขียนสารคดีที่ดี ตอนนั้น สารคดี พิสูจน์ตัวเองได้แล้วจากการตอบรับและยอดจำหน่าย ได้รับการกล่าวถึงในแวดวงวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เราเห็นคณะ ภาควิชาในมหาวิทยาลัยสร้างหลักสูตรการเขียนสารคดีขึ้น 

ช่วงท้าย ๆ ก่อนลาออกจากบรรณาธิการบริหาร โดยส่วนตัวพี่เริ่มไม่สนุก โฆษณาก็มีคนทำแล้ว กองบรรณาธิการมีสต๊อกงาน มันเริ่มลงตัว แต่ถ้าตอบตามตรงก็มีเหตุผลส่วนตัวด้วย
ตอน สารคดี ใกล้ครบรอบ ๒๐ ปี พี่เคยบอกอยากเห็น สารคดี เป็นสถาบัน สร้างนักเขียนสารคดีให้กับสังคมไทย มองในตอนนี้คิดว่า สารคดี ทำหน้าที่นั้นได้ดีหรือยัง
ตอนครบ ๒๐ ปี พี่ให้สัมภาษณ์ว่า การที่คนเก่ายังทำงานอยู่มีข้อดีคือมันมั่นคง เพราะรู้แนวคิดและรักษาอุดมการณ์ชุดหนึ่งไว้ได้ แต่ข้อเสียคือ มันจะจืด จำเจ แล้วนิตยสารจะตกยุคไปเรื่อย ๆ เพราะโลกหมุนเร็วมาก  อีกเรื่องคือ สารคดี อยู่มานาน ควรสร้างนักเขียนสารคดีให้สังคม เป็นสถาบันได้แล้วก็เกิด “ค่ายนักเขียนสารคดี” ซึ่งอาจตอบความคาดหวังระดับหนึ่ง แต่เราก็อ่านออกว่าส่วนหนึ่งคือการหารายได้ อีกส่วนคือสร้างความรู้จักแก่คนรุ่นใหม่ งานเขียนที่น้อง ๆ ในค่ายผลิตออกมาถือว่าดีจริง ถ้าให้คะแนนก็คง ๘-๙ เต็ม ๑๐ อย่างน้อยก็มีเด็กหลักร้อยคนที่พูดได้ว่าเรียนจากค่ายนี้ และเขียนสารคดีอย่างมืออาชีพได้

ส่วนคำว่า “สถาบัน” พอเป็นได้ หนึ่ง เพราะชื่อนิตยสารเราฉลาดที่ครอบครองคำว่า “สารคดี” ตั้งแต่ต้น แน่นอนทำงานระยะแรกต้องฝ่าความลำบาก ติดต่อสัมภาษณ์ใครก็ต้องอธิบายกันยาว เพราะเขาจะถาม “สารคดีอะไร” แต่พอเข้าที่ก็ไม่ต้องอธิบายแล้ว  การพูดว่าเป็น “สถาบัน” ต้องระวังในแง่ที่คุณพูดถึงด้วยเจตนาไหน ถ้ารู้สึกกร่างว่าเหนือกว่าคนอื่นก็ไม่ดี เหมือนพรรคการเมืองหนึ่งที่คุยโวว่าตัวเองเป็นสถาบันเก่าแก่แต่ความเป็นจริงเป็นอีกแบบ สิ่งที่เรียกว่าความเป็นสถาบันนั้นเกิดจากการยอมรับด้วย คุณคุยกันเองได้ ภูมิใจเองได้ แต่ให้ระวังอย่าเปิดปากง่ายนัก
วิจารณ์ภาพรวมของนิตยสาร สารคดี ปัจจุบัน
พี่ยังติดตามเสมอเพราะเป็น brain child ของเรา เฝ้าดูว่า ลูกเราโตแค่ไหน ห่วง แต่ไม่อาจเข้าไปยุ่งได้ ก็เห็นว่ามัน “รูทีน” (จำเจ) แล้ว งานออกแบบจัดหน้าช่วยให้หวือหวาขึ้นบ้าง เรื่องที่คนอ่านบอกว่าเดาทางการนำเสนอได้ก็เป็นจริง แต่มองว่าก็แล้วยังไง เพราะยุคหนึ่งนิตยสารอย่าง ขวัญเรือน สกุลไทย สตรีสาร เราเดาการนำเสนอได้หมด แต่ก็กลายเป็นนิตยสารประจำครอบครัว เป็นสมบัติประจำบ้านที่พ่อแม่ส่งต่อให้ลูกอ่าน พี่มองว่า สารคดี เป็นแบบนั้น  ที่น่าห่วงคือ ในระยะยาวเมื่อสังคมไทยเปลี่ยนไปมากกว่านี้ เร็วกว่านี้ คนจดจ่อกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ นิตยสารกระดาษจะอยู่อย่างไร ทุกวันนี้เปิดอ่านก็พบโฆษณาไม่กี่ชิ้น ตอนนี้สถานการณ์การเมืองไทยสงบลงคนยังพอมีอารมณ์อ่านนิตยสาร แต่ถ้าการเมืองแรงขึ้น คนจะไม่อ่าน  ภายใน สารคดี คิดเรื่องการปรับตัวแค่ไหน ถ้าจะรักษาไว้ อาจต้องคิดเรื่องผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องให้มากขึ้น หามือการตลาดเก่ง ๆ มาช่วย ไปรับจ้างทำงานสิ่งพิมพ์ให้องค์กรต่าง ๆ เพราะเป็นจุดเด่นของ สารคดี
Image
ครั้งหนึ่ง “งานเขียนสารคดี” ได้รับพิจารณาว่าจะเป็นหนึ่งในงานเขียนที่คณะกรรมการรางวัลซีไรต์จะมอบให้โดยมีวงเล็บว่า “สร้างสรรค์” แล้วเรื่องก็เงียบไป ส่วนรางวัลที่มอบให้งานเขียนสารคดี บางแห่งก็นำไปปนกับงานประเภทอื่น เช่นงานวิชาการ หรือกระทู้ที่โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ เช่นการสัมภาษณ์สั้นๆ บางครั้งก็ถูกนับเป็นสารคดีประเภทหนึ่ง มองเรื่องนี้อย่างไร
ในทางวิชาการ มองว่ายังคงต้องมีกรอบคิดเรื่องประเภทงานสารคดีไว้อ้างอิง แต่เนื้อหา ถ้ามาจากเรื่องจริง เช่น เฟซบุ๊กเพจ มนุษย์ต่างวัย มนุษย์กรุงเทพฯ ที่สัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ พี่ก็มองว่าเป็นสารคดีชีวิตแบบหนึ่ง  งานสารคดีมีหลายแบบ สารคดีชีวิต สารคดีวิทยาศาสตร์ สารคดีธรรมชาติ ฯลฯ กติกาพื้นฐานคือต้องมาจากความจริง ส่วนการใช้ภาษาวรรณศิลป์ต้องไม่ทำให้ความจริงลบเลือนจนคนอ่านไม่แน่ใจว่านี่เรื่องจริงหรือดรามาฟูมฟาย กติกามีแค่นั้น

สำหรับรางวัลซีไรต์ ถ้ามีจุดประสงค์จะยกระดับวงการงานเขียน รักษาคุณภาพงานเขียน ก็ควรมีงานเขียนสารคดีไว้ค้ำยัน จะวงเล็บว่า “สร้างสรรค์” หรือไม่ พี่ว่าเป็นเรื่องเล็กมาก ตรงนี้ต้องตีความกันอีก กรรมการแต่ละคนก็อาจมองไม่เหมือนกัน ส่วนที่มีการนับงานวิชาการมาปะปน พี่ว่าไม่แปลก โลกเคลื่อนไปข้างหน้าเยอะแล้ว วิทยานิพนธ์บางเล่มที่มีตัวละครจริงก็อาจปรับเป็นงานเขียนสารคดีได้

สารคดี ต้องคิดให้มากขึ้นนะ เพราะ “งานเขียนสารคดี” กำลังจะหมดความหมาย ใคร ๆ ก็เขียนได้ เส้นแบ่งนี้ค่อย ๆ เลือนและจะหายไปในที่สุด ไม่ต่างจากอาชีพสื่อมวลชน สื่อจำนวนมากชอบบอกว่าตัวเองเป็นสื่อมืออาชีพ แต่กลายเป็นคนไม่มืออาชีพ เมื่อเทียบกับคนธรรมดาที่ผลิตสื่อแบบไม่สังกัดที่ไหน สารคดี ก็โดน disrupt ต้องคิดว่าจะไปต่ออย่างไร
อยากฝากอะไรถึง “นักเล่าเรื่อง” หรือคนทำงานสารคดีรุ่นหลัง
คุณสมบัติข้อแรกคือ ต้องอ่านมาก เห็นมาก อย่าอยู่แค่ในพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) ต้องไปโน่นมานี่ ทำกิจกรรม รู้จักผู้คน การอ่านมากอย่างน้อยจะทำให้เป็นคนช่างสงสัยใคร่รู้ ถ้าไม่อ่านก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในหัว  การไม่รู้จักผู้คน ไม่มีความรู้รอบตัว เช่นถ้าไม่รู้กวางผาคืออะไร จะเขียนถึงได้อย่างไร  งานสารคดีต้องสะสมความรอบรู้ แล้วคุณจึงจะมีความรู้สึก มีสิ่งที่จะแบ่งปัน อยากพูดอยากเขียน