Image
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
มนุษย์หล่อเลี้ยงกัน
ด้วยเรื่องเล่า
The101.world
writer
40 Years of Storytelling
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image

หลังเรียนจบปริญญาตรีสาขานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย หรืออีฟ ทำงานเป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร WRITER  ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน ลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ช่วงสั้น ๆ และกลับมาทำงานประจำ เป็นกองบรรณาธิการ The101.world

ช่วงรอยต่อระหว่างชีวิตนักเขียนอิสระกับพนักงานประจำ ปาณิสตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชีวิตมหาวิทยาลัยของนักเขียนจากอีสาน บ้านเกิดอยู่จังหวัดขอนแก่น ยุติลงหลังทำวิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิตหัวข้อ “อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมเพลงอีสาน ศึกษาการประยุกต์เพลงอีสานเข้ากับดนตรีสากลสมัยใหม่ การเคลื่อนตัวของสื่อเพลงจากวัฒนธรรมอีสานสู่วัฒนธรรมส่วนกลาง รวมทั้งศึกษาบทบาทของสื่อดิจิทัลในฐานะเทคโนโลยีก่อกวน (disruptive technology) ที่มีต่อการเคลื่อนตัวของวัฒนธรรม

ภายในสตูดิโอของสำนักงาน The101.world ย่านอารีย์ ปาณิสเล่าว่าวิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยสามวิธีการหลัก ได้แก่ ๑. สัมภาษณ์เชิงลึกนักร้อง ศิลปิน นักแต่งเพลง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตเพลงอีสานประสบการณ์มากกว่า ๒ ปี จำนวนห้าคน  ๒. สนทนากลุ่มกับกลุ่มคนฟังเพลงอีสานอายุระหว่าง ๒๐-๔๐ ปี ที่ไม่ใช่คนอีสาน จำนวนแปดคน และ ๓. ศึกษาเพลงอีสานที่เผยแพร่ในยูทูบระหว่างปี ๒๕๕๗-๒๕๖๑ ยอดรับชมสูงเกิน ๕๐ ล้านวิว จำนวน ๒๐ เพลง 

“ถ้าพูดกันอย่างหลวม ๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจ วิทยานิพนธ์
ปริญญาโทจะเป็นงานวิจัย เนื้อหามีหัวข้อที่มาและความสำคัญ ทฤษฎี แนวคิด และงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จุดประสงค์ของการทำวิจัย ประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งเรามักจะไม่ได้เขียนลงไปตรง ๆ ในงานสารคดี” นักเขียนอนาคตไกลวัย ๓๓ ปีที่ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการอาวุโสของ The101.world เว็บไซต์ข่าวและสื่อออนไลน์อธิบาย

แตกต่างจากวิทยานิพนธ์ปริญญาตรี ที่กลายมาเป็น กว่าจะเป็นนักมวยไทย พ็อกเกตบุ๊กแบบสั่งพิมพ์ออนดีมานด์ โปรยปกชัดเจนว่าเป็น “สารคดีฉบับย่อยง่าย ว่าด้วยชีวิตนักมวยในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้”

ขั้นเก็บข้อมูลของวิทยานิพนธ์สองเล่มนี้อาจจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เมื่อคิดจะศึกษาเส้นทางชีวิตนักมวยไทย ผู้เขียนก็ต้องขลุกอยู่ตามค่ายมวยต่าง ๆ ค่ายละหลายครั้ง ครั้งละเป็นวัน ๆ เฝ้าดูนักมวยเตะกระสอบทราย ยกดัมเบล กินนอนหยอกล้อ รวมทั้งตามไปดูการขึ้นชกที่สนามมวยลุมพินีและราชดำเนิน
Image
ในส่วนการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ก็ต้องคอยพูดคุยกับนักมวยเรื่องชีวิตทั่วไป สอบถามสิ่งที่สงสัยจากเทรนเนอร์และหัวหน้าค่าย

คุณพ่อของปาณิสเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนและเป็นคอลัมนิสต์นิตยสารกีฬามวยชื่อดังนามว่า จักรวาลมวย และ แชมป์ เจ้าของนามปากกา “หยิบสด”  นอกจากปาณิสค้นคว้าหาอ่านหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับมวยไทยแล้ว ไม่ว่าจะงานยุ่งแค่ไหนก็จะต้องหาเวลาคุยกับพ่อเรื่องมวยไทยล้วน ๆ ให้ได้ทุกวันวันละ ๑-๒ ชั่วโมง

ปาณิสอธิบายข้อแตกต่างระหว่างวิทยานิพนธ์ทั้งสองเล่มว่าเล่มแรกเป็นงานสารคดี ส่วนเล่มหลังเป็นงานวิจัย

“แตกต่างกันเยอะ ของปริญญาตรีเป็นงานที่ทำในเชิงปฏิบัติ ไม่มีทฤษฎีรองรับมากมาย เป้าหมายคือสารคดีเล่มหนึ่ง หลังจากที่เรียนมารู้สึกว่าได้เข้าสู่พื้นที่ที่มันยากขึ้น นี่คือของจริงสำหรับเรา เชิงทำหนังสือ อาจมีข้อผิดพลาด ลงพื้นที่แล้วอาจไม่ได้ดั่งใจบ้าง แต่เราไฟแรง ทุ่มเทเวลา รู้สึกมีความสุขมากมีความสุขสุด ๆ” ปาณิสร่ายยาว

“ในเล่มปริญญาตรี เราบรรยายภาพนักมวยต่อยกัน กลิ่นน้ำมันมวยเป็นยังไง อธิบายท้องฟ้าได้เป็นฉาก ๆ แต่พอปริญญาโท เป็นงานเชิงทฤษฎี เขียนตามรูปแบบงานวิจัย เป็นงานวิจัยเต็มขั้น จะทำเรื่องเนื้อเพลงอีสานต้องอ่านประวัติศาสตร์การรวบอำนาจสู่ศูนย์กลาง การกระจายอำนาจ การถูกกดทับของคนอีสาน อ่านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง เพื่อวิเคราะห์เนื้อเพลง ต้องอาศัยความรู้และกรอบทางวิชาการในการทำงานมากต้องเขียนด้วยภาษานักวิจัย ทั้ง ๆ ที่เราอยากเขียนให้เร้าใจ”

ถึงวันนี้เธอยังจำได้แม่นยำถึงคำพูดของอาจารย์ที่ปรึกษาที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการเขียนให้เหมาะสมกับงาน

“เราชอบมาก จดจำมาถึงวันนี้ อาจารย์บอกว่าอีฟเป็นนักเขียนที่ดี ภาษาดีมากนะ แต่ตอนนี้กำลังเป็นปลาที่ต้องเปลี่ยนน้ำ งานวิจัยมันต้องใช้ภาษาอีกแบบ ทำให้เราคิดและเริ่มฝึกเปลี่ยนน้ำในการเขียน”

ประเด็น “นักมวย” และ “เพลงอีสาน” อาจจัดอยู่ในหมวดศิลปวัฒนธรรมเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือแนวทางการเขียน

“ฉันศึกษามวยไทยด้วยสายตาของคนที่ไม่รู้จักกัน เอาความเป็นวัยรุ่นเข้าไปจับ แล้วก็พบว่ามวยไทยไม่เคยตกยุค ไม่ว่ามวยจะอยู่ในศาสตร์การต่อสู้ กีฬา หรือธุรกิจการพนัน...

“เพราะนักมวยที่เป็นคนเอามวยไทยมาใช้ ต่างมีหัวใจดวงเดียวกัน แม้จะเป็นคำที่เชยไปบ้าง แต่ฉันยังยืนยันคำเดิมคือนักมวยทุกคนมีหัวใจของนักสู้” - ตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนในงานระดับปริญญาตรีที่แตกต่างจากงานวิจัยปริญญาโท 

“ถ้าเราจะแจกแจงว่างานนี้เป็นสารคดี งานนั้นเป็นงานวิจัย ก็อาจแบ่งแยกได้ แต่ถ้ามองให้ลึกในแง่ของเรื่องเล่า เรากำลังอธิบายชุดความจริงเหมือนกัน แต่วิธีการเขียนไม่เหมือนกัน” ปาณิสให้ความเห็นถึงการแบ่งงานเขียนออกเป็นประเภทต่าง ๆ

“ถ้าพูดกันอย่างกว้าง ๆ ทุกอย่างก็เป็น storytelling งานวิจัย งานสารคดี  ช่างภาพก็คิดว่าการถ่ายภาพเป็นวิธีเล่าเรื่องในแบบของเขา จากเดิมเหมือนมีเส้นแบ่งบางอย่าง คำว่า storytelling สลายเส้นแบ่ง เพื่อที่จะไม่ต้องแบ่งอะไรกันแล้ว”

ตั้งแต่เรียนนิเทศศาสตร์มาถึงทำงานประจำ เป็นนักเขียน นักข่าวที่ได้รับการยอมรับในฝีไม้ลายมือ สิ่งหนึ่งที่ปาณิสยึดมั่นมาตลอดคือการลงพื้นที่สัมผัสชีวิตผู้คนและเรื่องราว

“การลงพื้นที่สำคัญมาก มันมีเสียง มีแววตา มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นทุกมุมโลกพร้อม ๆ กัน ถ้าเราไม่ไปสัมผัสก็จะไม่เห็น  กูเกิลก็ให้เราไม่ได้  ช่วงที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่บางเบาเยอะแล้ว อะไรที่ถึงเนื้อถึงหนังมันก็ยังจำเป็นอยู่”
หนึ่งในสามคณะบรรณาธิการ The101.world ที่เพิ่งจะเลื่อนตำแหน่งเป็นบรรณาธิการอาวุโสเมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๗ ยกตัวอย่างกรณีตอบรับหมายข่าวลงพื้นที่ในเมืองทวาย ประเทศพม่า ติดตามประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดนของหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนของไทยเมื่อหลายปีก่อน

“กรณีทวายฟังดูน่าสนใจอยู่แล้ว เป็นประเด็นที่คุยเรื่องประโยชน์สาธารณะ มีคนได้รับความเดือดร้อน ก็อยากไปดูกับตาว่าเป็นยังไง  ในฐานะคนทำสื่อสุดท้ายก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องยึดเอาไว้”

ในแง่ประเด็น เมื่อคิดจะทำสารคดีเรื่องหนึ่ง โดยทั่วไปแค่ลองค้นหาดูก็จะพบว่ามีคนทำก่อนอยู่แล้ว เพียงแค่ทำน้อย ทำมาก ทำเหลี่ยมไหน ทำด้วยน้ำเสียงแบบใด ที่ผ่านมาปาณิสพยายามจะยึดหลักวิธีคิดงานให้แตกต่าง

“มีอยู่สามคำ คนทำงานสารคดีทั่ว ๆ ไปก็น่าจะรู้จัก คืองานคุณ f ifirst หรือเปล่า เป็นที่แรกที่ทำเรื่องนี้หรือเปล่า สอง คุณ best หรือเปล่า คุณทำออกมาดีที่สุดหรือเปล่า  หรือสาม คุณ different หรือเปล่า คุณแตกต่างมั้ย มองในเหลี่ยมมุมที่คนอื่นไม่เคยมองหรือไม่  เวลาคิดประเด็นขึ้นมา ถ้าทำแล้วเหมือนที่คนอื่นทำมาก่อน ไม่ต้องทำก็ได้ เปลืองแรง”

ตามธรรมชาติของนักเขียนก็มักจะมีเรื่องหรือประเด็นที่สนใจส่วนตัว 

“หัวข้อหลักที่เราสนใจคือวัฒนธรรม ในแง่ที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ แล้วถูกโครงสร้างสังคมขนาดใหญ่ทำให้มนุษย์สะเทือน ไม่ใช่แค่มนุษย์คนเดียว แต่คือมวลมนุษยชาติ

“เราอ่านหนังสือเยอะมากตั้งแต่เด็ก ๆ  อ่านวรรณกรรม อ่านทุกอย่าง รู้สึกว่าสุดท้ายแล้วจริง ๆ เวลาพูดว่าสนใจในความเป็นมนุษย์หรือสนใจเรื่องมนุษย์ มันฟังน่าเบื่อนะ ใคร ๆ ต่างก็พูดสิ่งนี้  แต่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่คุณค้นคว้าตามหามันไปเถอะ ไม่มีวันจบสิ้น ไม่มีวันให้คำตอบเหมือนเดิม เราคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันกับวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือสิ่งที่อยู่รอบเนื้อตัวคน เป็นภาคแสดงของความเป็นมนุษยอีกที เราก็เลยสนใจ”

ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ ปาณิสอยากรู้รากของตัวเอง ตั้งคำถามเสมอว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน จะเติบโตก้าวต่อไปอย่างไร แล้วจะสร้างสังคมที่น่าอยู่อย่างไร

“เรื่องวัฒนธรรมเป็นส่วนที่สนุกของการคิด มีสิ่งให้คิดเยอะ หากคิดเรื่องปรัชญา การมีชีวิตอยู่ ดำรงอยู่ก็ได้ แต่ในแง่งานสื่อสารมันถ่ายทอดยาก ไม่เหมือนเรื่องวัฒนธรรมที่สนุก มีไอเท็มให้หยิบจับเยอะ แล้วมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากวัฒนธรรมก็สนใจประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมในแง่ที่เชื่อมโยงกับสิทธิและความเป็นมนุษย์”

ตัวอย่างงานเขียนของเธอที่เผยแพร่ใน The101.world ได้รับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน (Media Awards) ขององค์กร Amnesty International Thailand ได้แก่

“เปิดตาตีหม้อ : สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด” ได้รับรางวัลชมเชยในหมวดข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ ปี ๒๕๖๒

“๕๐ ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม” ได้รับรางวัลดีเด่นในหมวดข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ ปี ๒๕๖๓

วิดีโอ “ชุมชนตึกร้าง ๙๕/๑ หลากชีวิตบนซากคอนกรีต”
ได้รับรางวัลชมเชยในหมวดข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ ปี ๒๕๖๕

ต่อมางานเขียนคุณภาพจำนวน ๑๓ เรื่อง ที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ The101.world และเขียนขึ้นใหม่อีก ๑ เรื่อง จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ พูดคุย สำรวจตรวจสอบเรื่องจริงจากชีวิตของผู้คนหลากหลายบทบาทอาชีพ ตั้งแต่ผู้ใช้แรงงาน คนขายบริการ คนไร้บ้าน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ นักกีฬา ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ถูกนำมารวมพิมพ์เป็นพ็อกเกตบุ๊กชื่อ ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว สำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์
“มันต้องอยู่บนเส้นก้ำกึ่งระหว่างขาวกับดำตลอด ไม่ว่าเรื่องอะไร  ถามว่าเราโกรธมั้ย โกรธ รู้สึกมั้ย รู้สึก แต่เราต้องหันกลับมาทบทวนทุกเรื่องให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อที่สุดท้ายจะเข้าใจอะไรมากขึ้น  เราโกรธคนฆ่าข่มขืน แต่บางทีเราก็ชื่นชมผู้นำประเทศที่ก่อสงคราม ไม่เห็นว่าจะต่างกันตรงไหน ”

การทำงานที่ The101.world ปาณิสสวมหมวกหลายใบ รับผิดชอบหลายบทบาท ทั้งเป็นบรรณาธิการอาวุโส นักเขียน พิธีกร คนทำคลิปวิดีโอ เธอให้ความเห็นว่าผูกพันและชอบงานเขียนมากที่สุด

“งานเขียนทำง่ายกว่าวิดีโอ เวลาลงพื้นที่ทำสารคดี พอเรายกกล้องขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นมันชอบหยุด ผู้คนก็ชอบหยุด แต่ถ้าเราเอาตัวเข้าไปแล้วไม่ทำตัวเกะกะระรานนัก ความจริงมันจะดำเนินต่อ แล้วเราก็จะเก็บมันได้”

การผ่านพ้นของยุคสมัยจากสื่อกระดาษมาเป็นสื่อออนไลน์
เธอไม่มีปัญหา ถ้าคนทำงานยังคงคุณภาพของเนื้อหาได้เหมือนเดิม

“ก่อนหน้าเป็นเล่มกระดาษ ก็เคยเป็นม้วนกระดาษมาก่อน วัตถุที่ใช้ใส่ข้อความเป็นแค่แพลตฟอร์ม เรื่องเล่าที่อยู่ในนั้น ต่างหากที่สำคัญ เนื้อหา วิธีคิด แก่นเรื่อง วิธีมองโลก ทัศนคติของคนทำงาน  ถึงเป็นสื่อกระดาษแต่เขียนอะไรไม่มีแก่นก็ไม่ได้แปลว่ามันจะดีกว่าสิ่งที่อยู่ในออนไลน์

“ถ้าจะมีปัญหาก็เพราะแพลตฟอร์มบีบให้คนทำอะไรที่มีคุณภาพน้อยลง เช่น บีบให้ต้องเขียนสั้น ๆ ถ้าเขียน text ยาว ๆ มันจำกัดการมองเห็น  หรือต้องโพสต์ลิงก์ให้ไปอ่านต่อในช่องคอมเมนต์ ต้องโพสต์ลงบนช่องสเตตัสที่พื้นหลังเป็นสี ๆ ต้องทำแบบนี้คนถึงจะเห็นเยอะ แพลตฟอร์มบีบให้เราเล่นเกมซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่บั่นทอนเนื้อหาสำคัญ แต่ถ้าไม่ทำตามก็ทำให้มีคนเข้าถึงน้อยลง

“เราก็ต้องสู้กันไป สิ่งสำคัญคือรู้ว่าแก่นของเราคืออะไร  ถ้าหลงตามแพลตฟอร์มไปเรื่อย ๆ จะกลายเป็นหลงไปกับเปลือก แต่ลืมแก่น”

“เรื่องเล่าที่ดีคือเรื่องเล่าที่คนจำได้  ถ้าเล่าแล้วคนจำไม่ได้ ก็ถือเป็นเรื่องเล่าที่ไม่ประสบความสำเร็จ”

การทำให้คนจดจำเรื่องเล่าได้ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่าง

“วัน ๆ หนึ่งเราจดจำอะไรได้บ้าง แค่ ๒๔ ชั่วโมงก็มีเรื่องต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่จำได้ต้องสำคัญหรือมีลักษณะพิเศษที่ตรึงใจ  เรื่องเล่าที่ดีควรจะตรึงใจคนได้ ข้อหนึ่ง มักจะเกิดเป็นภาพ เพราะว่าคนเรามักจำภาพได้ ข้อสอง ทำให้คนรู้สึกได้ ถ้าคนรู้สึกกับมันจะจดจำสิ่งนั้นได้ดี ไม่ว่าจะโกรธ เกลียด รัก ชอบ ตกใจ หรืออะไรก็ตาม ซึ่งต้องเริ่มจากคนเขียนรู้สึกก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าคนเขียนไม่รู้สึก ไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจ ก็จะไม่สามารถเล่าสิ่งนั้นออกมาได้ แล้วไม่ต้องไปหวังเลยว่าคนอ่านจะรู้สึกอะไร ถ้าหากตัวคุณก็ไม่ได้รู้สึกกับมันมาตั้งแต่แรก”
Image
ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ ๑๐ แล้วสำหรับชีวิตบนถนนนักเขียนหลังเรียนจบ

“ก่อนหน้านี้ถือเป็นช่วงทดลอง หล่อหลอม เหมือนเป็นช่วงที่ค่อย ๆ ค้นหาน้ำเสียงของตัวเอง ถึงตอนนี้ยังรู้สึกว่าเป็นช่วงวัยรุ่นของเรา เป็นช่วงกำลังดี ยังแก่ได้มากกว่านี้” ปาณิส หัวเราะ

“การทำงานที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าโลกใบนี้ไม่มีขาวดำ ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลว มันยากมากที่เราจะตัดสินใครสักคนว่าเขาเป็นคนดีหรือคนเลว รวมถึงยากมากที่คนจะตัดสินว่าตัวเองดี มันเห็นความหลากหลายของมนุษย์มาก ๆ  ก็ต้องอยู่กันไปและพยายามทำความเข้าใจกับความหลากหลายนี้”

นักเขียนคลื่นลูกใหม่ที่เคยผ่านการเก็บข้อมูลและเขียนสารคดีเรื่องหญิงขายบริการให้ความเห็นว่า ในสมัยที่สังคมยังไม่ตื่นรู้หรือตื่นตัวกับบางประเด็น อาจฟันธงชี้ชัดว่าหญิงกลุ่มนั้นเป็นคนผิด ทั้งที่จริงก็ไม่รู้ว่าชีวิตเขาต้องพบเจออะไรบ้าง ถึงที่สุดเมื่อวันเวลาเปลี่ยนผ่านเราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามว่าสิ่งที่เขาทำไม่ดีตรงไหน ไม่ต่างจากประเด็นอื่น ๆ เช่นฆาตกรคดีอุกฉกรรจ์

“หากฆ่าหรือข่มขืนผิดแน่ ๆ ในแง่ที่เขาทำกับมนุษย์คนหนึ่งให้ได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจหรือเสียชีวิต ทำในสิ่งที่มนุษย์ไม่ควรกระทำต่อกัน แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาก็คงไม่ได้เลวมาตั้งแต่เกิด  แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเราอยากจะเห็นเขาถูกประหารชีวิต จงไลฟ์หรือถ่ายทอดสดให้เราดูเขาถูกประหารชีวิตเดี๋ยวนี้ เราคงไม่ได้คิดแบบนั้น

“มันต้องอยู่บนเส้นก้ำกึ่งระหว่างขาวกับดำตลอด ไม่ว่าเรื่องอะไร  ถามว่าเราโกรธมั้ย โกรธ รู้สึกมั้ย รู้สึก แต่เราต้องหันกลับมาทบทวนทุกเรื่องให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อที่สุดท้ายจะเข้าใจอะไรมากขึ้น  เราโกรธคนฆ่าข่มขืน แต่บางทีเราก็ชื่นชมผู้นำประเทศที่ก่อสงคราม ไม่เห็นว่าจะต่างกันตรงไหน มันมีเรื่องมีรายละเอียดเยอะมาก เกินกว่าจะไปชี้หน้าว่าใครเป็นคนเลว คนดี แค่ทำความเข้าใจสิ่งที่มันเป็น”

ที่แน่ ๆ การนำเสนอเรื่องราวจะเกิดขึ้นเสมอ

“เรื่องเล่าไม่มีวันหมด มนุษย์หล่อเลี้ยงกันด้วยเรื่องเล่าตลอดมา เรื่องเล่าทำให้มนุษย์เติบโต ไม่ว่าเรื่องเล่านั้นจะจริงหรือไม่จริงก็ตาม เรื่องเล่าสำคัญสำหรับมนุษย์มาก  ที่ผ่านมาเราอยู่กับเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องโกหกกันมาเยอะ แต่มันก็หล่อเลี้ยงมวลมนุษยชาติ  เราอยู่กับตำนานกรีก โรมัน รามเกียรติ์ ถ้าพูดว่าเป็นเรื่องโกหกก็อาจจะเกินไป ใช้คำว่าเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าก็ได้ แต่มันหล่อเลี้ยงเรามา  มนุษย์เชื่อในศาสนา หลายคนไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าจริงหรือเปล่า แต่เลือกที่จะเชื่อมัน เราอยู่กันมาแบบนี้”

ในส่วนของสารคดีหรืองานข่าวที่บอกเล่าความจริง ก็เป็นความจริงอีกชุดที่ประกอบสร้างใหม่ จึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจที่จะอยู่กับเรื่องเล่า

“บางครั้งเส้นความจริงกับไม่จริงมันบางมาก ต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองตลอด ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์หรือวิธีคิด แต่ยังมีเรื่องความตกยุคตกสมัย ต้องพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่งั้นอาจจะเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ถ้าเขียนงานแล้วเริ่มรู้สึกว่าน้ำเสียงเหมือนเดิม คิดได้เท่าเดิม ก็ต้องหาทางพัฒนาตัวเอง ไม่งั้นก็ไม่รู้จะทำงานเขียนไปเพื่ออะไร”

วิธีหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบตัวเองคือกลับไปอ่านงานเก่าแล้วมองหาจุดอ่อน

“ที่ผ่านมาก็มักเจอจุดอ่อน ตรงนี้ทำไมไม่ขยี้ต่อ ประเด็นนี้ยังไม่คม หรือบางประโยคยังไม่รัดกุมมากพอ เนื้อหาตรงจุดนี้เรายังเข้าใจประเด็นไม่ดีพอแล้วเขียนออกมา พยายามตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา เมื่อไรก็ตามที่เราอ่านงานเก่าตัวเองแล้วรู้สึกว่าไม่มีจุดอ่อนเลย แปลว่าเราอยู่ที่เดิม”