Image
อุรุพงศ์ รักษาสัตย์
เสน่ห์ของความจริง
Documentary Filmmaker
40 Years of Storytelling
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image
ท่ามกลางวงการภาพยนตร์ไทยที่ยากจะคะเนผลลัพธ์ของความสำเร็จ หรือแม้แต่ในวงการภาพยนตร์โลกที่ถูกมองว่ากำลังถึงจุดเปลี่ยน มิพักต้องกล่าวถึงคนทำงานหนังสารคดีไทยที่ขาดพื้นที่และผู้ผลิตที่ทำอย่างต่อเนื่อง
นับจาก เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ (ปี ๒๕๔๘) จนถึง บูชา (ปี ๒๕๖๔) ที่ได้ออกฉาย อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ อาจมีผลงานไม่มาก แต่เป็นเพียงไม่กี่คนที่ยังยืนหยัดเลือกเดินเส้นทางของการทำหนังสารคดีมาโดยตลอด ด้วยจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เน้นบทสนทนาหรือบทสัมภาษณ์ ถ่ายทอดวิถีของชาวนาคนชนบท งานถ่ายภาพที่โดดเด่นในการจัดองค์ประกอบต่าง ๆ จนออกมามีความง่าย แต่งดงาม หากก็ใช่ไร้ประเด็นให้ขบคิดโดยเฉพาะ สวรรค์บ้านนา (ปี ๒๕๕๒) สารคดีกึ่งทดลองที่ทำให้เขาคว้ารางวัลยูเนสโกจากงานภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิก

เติบโตที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เริ่มหลงใหลในด้านภาพยนตร์จากการไปดูหนังในตัวอำเภอและร้านเช่าวิดีโอ รวมกับการอ่านเรื่องสั้นต่าง ๆ นำไปสู่การศึกษาต่อในสาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชนบท
ภาพชีวิตที่คิดถึง

“เราโตมาจากชนบท เห็นภาพ เห็นวิถีชีวิต แล้วก็คงเหมือนศิลปินหลาย ๆ คน ด้วยภูมิประเทศ ด้วยวัฒนธรรมที่เราอยากจะเล่าถึงมัน ถ้าไม่เล่ามันอัดอั้น  พอมาเรียนในกรุงเทพฯ ด้วยวิถีชีวิตจะกลับไปอยู่ก็ไม่ได้ มันคิดถึงก็เลยต้องเล่าออกมา”

นั่นรวมถึงการใช้ความรู้จากการเรียน ได้ชมผลงานจากต่างประเทศ อย่างงานสารคดีจากสถาบัน National Film Board of Canada ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เห็นงานสารคดีนั้นถ่ายทอดเรื่องราวและเล่าด้วยภาษาภาพที่ต่างจากขนบได้
Image
“มาจากการเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์และสารคดีว่ามันทำอะไรได้บ้าง อะไรที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องทำ เราว่าสำคัญนะ พื้นฐานการเล่าเรื่องทางศิลปะต้องได้ฝึกฝนจนมีรสนิยมสากล การเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นพื้นฐาน แล้วก็เป็นจังหวะที่กล้องมันเล็กพอจนไม่เป็นจุดสนใจ ด้วยราคาเราสามารถเป็นเจ้าของมันได้ พอมันมาอยู่กับเราก็เหมือนฟ้าประทานมาให้เลย เพราะเราคอนโทรลมันได้

“เราไม่เคยนึกถึงการบรรยายเลย ดูหนังมาตั้งแต่เด็กก็ไม่มีบรรยาย มันเล่าด้วยภาษาภาพ ก็สะสมก่อร่างมาจากการอ่าน การดูหนังด้วย

“มีความสุขด้วยนะ รู้สึกว่าไม่ใช่การทำงาน แต่คือการอยากจะเล่า อยากไปใช้ชีวิต คือเราอาจไม่ได้อยู่ในกระแสทุนนิยม เราไม่ได้ทำหนังกระแสหลัก พยายามปลีกตัวไม่ไปหมุนตามมันและใช้เวลาตรงนี้ให้นานที่สุดเพื่อจะได้ค้นหาเรื่องราวตรงนั้น

“อีกส่วนคือความทรงจำของเรา เคยเห็นภาพงานศพ งานเกี่ยวข้าว ถ้าคุณไปตรงนั้นต้องได้อะไรกลับมาแน่ เพราะว่าภาพมันอลังการและเล่าบางอย่างอยู่แล้ว ถ้าคนในเมืองที่ไม่มีประสบการณ์ร่วมในวัยเด็กเขาก็จะนึกไม่ออกหรอก  อย่างทำหนังสั้นเรื่อง กาล ที่ไปถ่ายคนแก่อยู่กับฝูงควายบนเขา เราเล่าแบบไม่มีพูดเลยเกือบ ๒๐ นาที เพื่อนก็งง มึงไปรู้จักวิถีชีวิตแบบนี้ได้ยังไง แต่เราเคยผ่าน เคยเห็น

“วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชนบทเขาจะรู้จักกัน เขาจะเปิดรับในเมืองเราอาจจะกลัวเกรงคนแปลกหน้ากันเยอะ แต่ถ้าคุณอยู่ชนบท อย่างการไปถ่ายการปั่นจักรยานของชมรมผู้สูงอายุที่ลูกหลานไม่ได้อยู่ด้วย ข้ามไปอีกอำเภอหนึ่ง เขาถามหนูเป็นลูกใคร ก็จะรู้จักปู่เรา มันอิงกันได้ และพูดภาษาเดียวกัน

“โดยพื้นฐานเราเป็นคนชนบท ทำตัวติดดิน ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก  คนชนบทของไทยไม่ต่างกันมากนัก เรื่องที่เราเล่าก็เป็นเรื่องคนชนบทเป็นหลัก มีความสุขที่จะออกไปถ่ายทำ รู้สึก คุ้นชิน ความยากเลยไม่เป็นอุปสรรค”

แม้หลายครั้งงานถ่ายทำหนังสารคดีจะเป็นไปตามเหตุการณ์ที่ยากจะคาดเดา แต่อุรุพงศ์ยืนยันว่าทุกอย่างไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร้จุดหมาย หากต้องผ่านการวางแผน ทั้งด้านการเตรียมกล้องวิดีโอให้พร้อมกับสถานการณ์ตรงหน้า โดยยึดหลักการมีความรู้พื้นฐานของศิลปะภาพยนตร์ บวกกับประสบการณ์ในการทำงานที่สั่งสมมา

“เป็นความโชคดีของเราที่เคยทำงานตัดต่อ ถ่ายภาพ  พอถึงตอนที่ทำงานกำกับ มันรู้ว่าที่เราถ่าย ทำอะไรต่าง ๆ จะจบยังไง  ถ้าเราถ่ายแค่นี้พอไม่ต้องเสียเวลากับมัน เราจะได้ไปทำอย่างอื่น หนังนั้นท้ายที่สุดจะอยู่ในรูปแบบของฉาก  ถ้าคุณถ่ายมาได้เสี้ยวเล็ก ๆ เก็บโน่นเก็บนี่เยอะแยะไปหมด มันไม่ใช่ฉาก ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของหนึ่งฉาก เอามาทำงานยากมาก

“ตัวอย่างตัวละครหลักในฉากนั้นคืออะไร ประเด็น-เนื้อหาของฉากนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นตอนที่ถ่ายเราจะคิดเป็นฉากว่าจะเปิดภาพยังไง ? เช่น เริ่มจากตามเท้าของพระไปในอุโบสถ นี่คือช็อตเปิดของฉากนั้น แล้วพระก็ไปก้มกราบเจ้าอาวาส  เรารู้ว่าควรจะถ่ายอะไรต่อ ถ่ายพอหรือไม่พอระหว่างที่เจ้าอาวาสกำลังเทศนาอยู่นั้นหน้าของอุบาสกอุบาสิกาเราเอาไปทำอะไรต่อได้อีกเยอะ  ถ้ามองไปข้างนอก เราถ่ายให้เห็นภาพคนขายลอตเตอรี่กำลังฟังธรรมะอยู่…ทุกฉากควรมีประเด็น ให้เวลาผู้ชมเขาเข้าใจ ให้เขารู้ว่าเราเล่าอะไรอยู่

“ไม่ว่าคุณจะลึกไปในตัวคนหรือกิจกรรม ก็ต้องมีประเด็นมีเรื่องในนั้นเสมอ”
ปล่อยให้ธรรมชาติทำงาน
อีกเหตุผลที่อุรุพงศ์เลือกเดินเส้นทางการทำหนังสารคดี นอกเหนือจากการขาดโอกาสที่จะผลิตงานเหล่านี้ในเชิงพาณิชย์ นั่นเพราะงานสารคดีมีความท้าทายที่ต่างไปจากหนังคนแสดง
Image
“คุณค่าสารคดีหลัก ๆ ก็คือความจริง แต่เรามองเห็นว่ามันท้าทาย หนังคนแสดงจะเปลี่ยนฉาก สร้างเรื่อง แต่สารคดี
ทางเราจะสร้างหรือควบคุมไม่ได้ทั้งหมด เราต้องมองว่าตรงนั้นมีเชื้ออะไรอยู่ เราจะถ่ายทอดออกมายังไง ซึ่งต้องใช้ภาษาภาพใช้การกำกับพอประมาณ โดยไม่ต้องปรับซับเจกต์มากนักหนังคนแสดงจะดีจะแย่ถ้าคุณถ่ายตามบทจนจบอย่างน้อยก็เล่าเรื่องได้ แต่งานสารคดีมันท้าทายว่าคุณอาจจะไม่ได้อะไรเลยถ้าไหวตัวไม่ทันกับเหตุการณ์ตรงหน้า แล้วเราจะพลิกแพลงยังไง จะเล่าแบบไหนโดยไม่บิดผิดจากหน้าเป็นหลังมือ ยังเป็นเรื่องจริงอยู่ แต่สนุกและมีประเด็น  การเข้าไปหาซับเจกต์ก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ ทุกครั้งไป งานจึงออกมาแตกต่างกัน”

นับจาก สวรรค์บ้านนา หนังสารคดีขนาดยาวเรื่องที่ ๒ ซึ่งว่าด้วยชีวิตชาวนาในโลกยุคปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มให้อุรุพงศ์ได้เริ่มลองอะไรใหม่ ๆ จากจุดเริ่มต้นที่จะขับเน้นงานภาพชีวิตของคนทำงานกลางแจ้งอย่างชาวนา โดยเป็นการผสมเรื่องแต่งเข้าไปตามเงื่อนไขรับทุนสร้างจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเขายอมรับว่าระหว่างการถ่ายทำที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะลงเอยอย่างไร ในช่วง ๓-๔ เดือนแรกนั้นท้อมาก แต่ก็ค่อย ๆ เปิดรับประเด็นและเรื่องต่าง ๆ ที่พบเจอสอดแทรกเข้ามา และติดการทำงานด้วยวิธีนี้มาจนถึงปัจจุบัน

เขาเปรียบวิธีการทำหนังสารคดีในแบบของตนว่าคล้ายคลึงกับแนวคิดของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ชาวนาและปราชญ์ชาวญี่ปุ่นผู้มีแนวคิดเกษตรธรรมชาติ ซึ่งได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี ๒๕๓๑ ผู้เขียนหนังสือ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว (The One-Straw Revolution) ที่เขาพบระหว่างการหาข้อมูลเพื่อทำ สวรรค์บ้านนา จากแนวคิดการทำเกษตรที่หากธรรมชาติทำได้ก็ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการเอง วิธีการทำหนังของเขาเองก็ไม่ต่างกัน คือทำเท่าที่จำเป็นก็พอ ที่เหลือธรรมชาติจะจัดการเอง

“มันยากในการหาเรื่อง แต่ง่ายในการทำให้คนเชื่อ เพราะภาพยนตร์ไม่ว่าคุณจะเล่าเรื่องอะไรก็ตาม เราต้องทำให้คนดูเชื่อในโลกนั้น

“มันเป็นปรัชญาการทำสารคดีอย่างหนึ่ง ถ้าเขียนหรือเตรียมไว้หมดงานก็จะออกมาเหมือนที่คุณรู้ หนังก็ออกมาไม่เซอร์ไพรส์เท่าไร  มีบางคนบอกว่าออกไปถ่ายแล้วไม่เหมือนกับที่คิดไว้เลย ก็จะท้อ ไปต่อไม่ได้ แต่ความเห็นผมอันนั้นคือสุดยอด เพราะเป็นสิ่งที่คุณคิดไม่ถึง คุณต้องไปค้น ไปขยายแล้วจะได้สิ่งใหม่จากการทำสารคดีชิ้นนั้น

“ถ้าคุณทึ่งกับมัน สำหรับผู้ชมก็จะยิ่งพิเศษไปใหญ่ และหน้าที่ของคุณคือทำให้มันอยู่ในรูปแบบเรื่องเล่าแก่ผู้ชมให้ได้ อันนี้เป็นพอยต์ที่คนทำสารคดีควรทำความรู้จักให้มากขึ้น

“บางอย่างอย่าไปวางแผนเยอะ เพราะสิ่งที่คุณต้องการคือความสด ความจริง พอวางแผนเยอะมันจะชัด จะแจ้งเสียจนขาดความเป็นธรรมชาติ คุณต้องหลงเหลือให้ธรรมชาติทำงานบ้าง

“แต่ว่าทั้งนี้การใช้เครื่องไม้เครื่องมือ สัญชาตญาณการใช้กล้องต้องถูกฝึกจนเป็นแขนเป็นขาให้เรา เกิดอะไรขึ้นคุณยกกล้องถ่ายกดโดยไม่ต้องคิดเลย...เพราะถ้าคุณช้า คุณไม่เคี่ยวพวกนี้ คุณก็พลาดจังหวะนั้น จะไม่ได้อะไรเลย”
สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง
นับตั้งแต่ เพลงของข้าว (ปี ๒๕๕๗) อุรุพงศ์ก็มีงานประจำเป็นอาจารย์กลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผลงานหนังสารคดีที่นำเสนอประเด็นต่างออกไปจากผลงานช่วงก่อนหน้า ดังเช่น บูชา (ปี ๒๕๖๔) งานวิพากษ์วิจารณ์พุทธพาณิชย์และความเชื่อในสังคมไทยผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
Image
รวมไปถึงการทำหนังสารคดีการเมืองที่เสร็จสมบูรณ์แล้วถึงสามเรื่อง หากยังไม่มีโอกาสนำมาฉายในไทย ซึ่งล้วนเป็นงานบันทึกเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ที่ถ่ายทอดทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาประท้วงรัฐบาลใน ขณะนั้น ได้แก่ You Fuck with the Wrong Generation เป็นสารคดีผลิตเพื่อออกฉายทางโทรทัศน์, Song of Angry People ฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ DMZ International Documentary Film Festival ประเทศเกาหลีใต้ และ Paradox of October 

แม้ดูเหมือนงานของเขาจะเปลี่ยนไป หากนี่ก็อาจไม่ใช่ ครั้งแรกเสียทีเดียวที่งานของอุรุพงศ์มีเรื่องการเมือง ดังเรื่องราวความขัดแย้งของม็อบสองฝ่ายที่ปรากฏใน สวรรค์บ้านนา หากที่ผ่านมาคือการบันทึกชีวิตของชาวนาอย่างลงลึก นี่อาจเป็นการบันทึกสิ่งที่พบเห็นในสังคมแง่มุมอื่น ๆ ของคนทำสารคดีอีกครั้ง

“เราอยู่กับสังคม ต้องมองว่าสังคมไปทางไหน ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเรายังไม่ไปบันทึกอะไรเลยแสดงว่าคุณมีปัญหาแล้วว่าคุณใช่คนทำสารคดีหรือเปล่า ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาผมอยู่กับตรงนั้นตั้งแต่แรก ๆ จนได้เป็นงานสามงานนี้”

แม้การทำหนังสารคดีอาจไม่ใช่งานที่สร้างรายได้มากมาย แต่อุรุพงศ์เชื่อว่าสื่อนี้จะยังอยู่ และฝากทิ้งท้ายให้แก่คนที่สนใจจะเดินเส้นทางสายนี้

“ก็ต้องลงมือทำ อาจไม่ได้เห็นอนาคตที่สดใส แต่ถ้าทำแล้วมีความสุข ตอบจิตวิญญาณตัวเองได้ โดยเฉพาะตอบโต้เหตุการณ์ในสังคมการเมืองของไทย งานพวกนี้ตอบโต้ได้ไว และไม่ได้ใช้ทุนเยอะ แต่ใช้เซนส์และองค์ความรู้ด้านภาพยนตร์ไปจับ  คนทำทุกคนมีต้นทุนไม่ต่างกันนัก ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกว่ากันเท่าไร เพราะทุกคนมีเรื่องเล่าของตนเอง อย่างถ้าไปทำเรื่องชาวเขาเผ่ามูเซอ ลูกหลานของคนที่อยู่ตรงนั้นเขามีต้นทุนสูงกว่าเราในการเข้าถึงประเด็น ความเป็นธรรมชาติ การฝังตัว เขาฝังตัวตรงนั้นได้นานเป็นปี เราก็มีต้นทุนในบางเรื่องที่เขาไม่มีเช่นกัน เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่าไม่ห่างกันมาก ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่ใช้มือถือถ่ายก็สามารถทำงานได้ แต่สิ่งที่เขาขาดคือองค์ความรู้ในการเล่าเรื่องของสารคดี แต่ทุกวันนี้ก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“บางคนอาจจะคิดว่าตนเองเป็นคนขาดแคลน ชีวิตมีปัญหาทำอะไรไม่ได้ แต่ในฐานะคนทำงานเล่าเรื่อง สิ่งเหล่านั้นเป็นต้นทุนชีวิตที่ดีมาก เพราะมีเรื่องที่จะเล่า เป็นเรื่องที่ถึงใจด้วย เรื่องเล่ามันเกิดจากปัญหา จากความขัดแย้งทั้งนั้น  ชีวิตที่สบาย ไม่ได้เข้าใจความทุกข์ยากของปุถุชนธรรมดาต่างหากล่ะที่เล่าออกมาแล้วไม่น่าสนใจ

“ไปดูสิ งานศิลปะที่ทรงพลังส่วนใหญ่มีที่มาทั้งนั้น มันไม่ได้มาจากความสมบูรณ์  ความขาดแคลนจึงเป็นต้นทุนในการหยิบเอามาเล่า เป็นสารตั้งต้นให้คุณไปต่อได้มากมาย เพราะมันฝังอยู่ในตัวคุณไปแล้ว”