Image

๔๐ ปี
“จากบรรณาธิการ”

เบื้องหลัง...
จากบรรณาธิการ
40 Years of Storytelling

เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

Image

ทำไม เราจึงกล้ากล่าวว่า สารคดี เป็นนิตยสารแนวใหม่ ที่จักให้คุณภาพใหม่แด่ท่าน ‘สารคดี’ คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากความเป็นจริง มิใช่จาก จินตนาการ (นี่คือความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ...และเรื่องราวความเป็นจริงเหล่านี้แหละคือที่มาของสาระอันน่าสนใจ มีชีวิตชีวา ให้ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นความเคลื่อนไหวที่ลึกซึ้งและกว้างไกลรอบ ๆ ตัวเรา-ท่านทั้งหลาย แต่ทว่า ‘สารคดี’ กลับเป็นเพียงข้อเขียนหรือคอลัมน์หนึ่งในนิตยสารประเภทต่าง ๆ เท่านั้น !” 

บรรณาธิการบริหาร

ข้อความส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ “บท บ.ก.” ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๑ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๘  แม้ สุชาดา
จักรพิสุทธิ์ บรรณาธิการบริหารคนแรกจะไม่ได้ลงชื่อเธอไว้ท้ายบทความ แต่ก็ประกาศจุดยืนการเกิดนิตยสาร สารคดี ไว้อย่างชัดเจน

“บก.” เป็นคำย่อของบรรณาธิการ ซึ่งใน สารคดี ฉบับต่อมาฉบับที่ ๒ ก็เปลี่ยนชื่อคอลัมน์จาก “บท บ.ก.” เป็น “บทบรรณาธิการ” น่าจะด้วยต้องการสื่อสารให้ชัดเจน และใช้ชื่อใหม่นี้จนถึงฉบับที่ ๑๐ จึงเปลี่ยนเป็น “จากบรรณาธิการ” ซึ่งคงอยู่มาถึงปัจจุบันกว่า ๓๙ ปี

เมื่อลองสืบประวัติว่านิตยสารทั่วไป หน้าคอลัมน์ประจำที่เรียกว่า “บท บก.” “บทบรรณาธิการ” หรือ “จากบรรณาธิการ” มีจุดเริ่มต้นเมื่อไร มาพร้อมนิตยสารฉบับแรกของโลกเลยหรือไม่ ก็ยังไม่พบคำตอบ  ผู้เขียนรู้แค่ตั้งแต่เปิดอ่านนิตยสารหรือวารสารในเมืองไทยเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อน เช่น ชัยพฤกษ์ ที่มี อนุช อาภาภิรม เป็นบรรณาธิการ  โลกหนังสือ - สุชาติ สวัสดิ์ศรี  ลลนา - สุวรรณี สุคนธา  ฟ้าเมืองไทย - อาจินต์ ปัญจพรรค์ ฯลฯ ก็ได้ พบ “บรรณาธิการ” ที่มาพูดคุยกับคนอ่านผ่านหน้านี้เสมอ

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ “จากบรรณาธิการ” เป็นพื้นที่สื่อสารระหว่างคนทำนิตยสาร ซึ่งมีบรรณาธิการบริหารเป็นตัวแทนกับผู้อ่าน

สารคดี ในช่วงแรกของการเปิดตัวสู่สาธารณะ บก. สุชาดาจึงพยายามสื่อสารแนวคิดและความมุ่งมั่นของการทำงานสารคดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้อ่านสนใจและติดตามนิตยสารแนวใหม่

Image

“...เราจะยังก้าวไปไม่หยุดยั้ง หลังจากที่ได้เที่ยวตระเวนถ่ายภาพ เก็บข้อมูลสาระเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ได้จำนวนไม่น้อย แต่เราจะยังคงค้นหาต่อไปเพื่อสิ่งที่ดีกว่า”

เนื้อหาหลักที่ขาดไม่ได้ คือแนะนำบทความ คอลัมน์ และสารคดีพิเศษในฉบับนั้น ๆ บางฉบับก็จะเล่าเบื้องหลังการทำงานให้ผู้อ่านร่วมตื่นเต้นไปด้วย

“ฉบับกันยายน เดือนแห่งฤดูฝน ฉบับนี้ ‘สารคดี’ พาท่านไปรู้จักนกยาง หรือนกกระยางในเขตทุ่งข้าว ซึ่งกำลังจะปิดฉากฤดูผสมพันธุ์ลง เราใช้เวลาเกือบสัปดาห์ในการติดตามและบันทึกภาพ ด้วยการสร้างนั่งร้านเหล็กสูงเท่าตึกสามชั้นขึ้น เฝ้าดูตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพื่อให้ได้ลีลาชีวิตของนกยางที่สมบูรณ์ครบถ้วน...”

ว่ากันว่าสมัยนั้นการพิสูจน์ว่านิตยสารรายเดือนหัวใหม่สักฉบับจะอยู่รอดบนแผงหนังสือหรือไม่ (ยังมีใครรู้จักแผงหนังสือบ้าง) ต้องใช้เวลาสัก ๒-๓ ปี หากมียอดผู้อ่าน ผู้สมัครสมาชิก และโฆษณาเข้ามากพอ ก็มีโอกาสยืนหยัดต่อ และสารคดี ก็ทดสอบผ่านด่าน ๒ ปีแรก ใน “จากบรรณาธิการ” ฉบับที่ ๒๔ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ บก. สุชาดาเขียนว่า

“วันนี้ ‘สารคดี’ มีอายุย่างเข้าปีที่ ๓ แล้ว...ระยะทางที่ก้าวล่วงมาอาจกล่าวได้ว่ายังสั้นนัก...มีคำถามมาถึงบ่อย ๆ ว่า เราจัดทำ ‘สารคดี’ เพราะอะไรและเพื่ออะไร ?...นิตยสารหรือสื่อที่ดีควรเป็นงานทางความคิดได้ด้วย เราจึงวางจุดมุ่งที่จะเป็นนิตยสารแนวคุณภาพของเมืองไทยที่มีมาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ และประการสุดท้าย เราเชื่อว่าเมืองไทยมีของดีมีคุณค่าที่ยังขาดการนำเสนออยู่อีกมาก จะเป็นเรื่องดีเพียงใดถ้าเราสามารถเป็นจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่ ‘ทำหน้าที่’ ต่อมาตุภูมิของเราได้บ้าง...เท่านี้เอง”

การตอกย้ำถึงการทำงานของ สารคดี ยังปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ ในหน้านี้ เช่นฉบับที่ ๓๑ เดือนกันยายน ๒๕๓๐ เรื่องเกณฑ์การเลือกคนมาจัดทำเป็นสารคดี 

“‘สารคดี’ ไม่ใช่พวก ‘บูชาความดี’ อย่างหลับหูหลับตา เราเพียงแต่คิดและเชื่อว่าคนเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของโลกที่เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย คนมีเมล็ดพืชแห่งบวกและลบอยู่ภายใน และเราศรัทธาเชื่อมั่นในภาคของความดีงามสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในคนทุกคน เราจึงเลือกที่จะรดน้ำพรวนดินภาคนี้ในตัวคนให้เจริญงอกงามและเราปรารถนาจะเป็น ‘สิ่งแวดล้อม’ ดี ๆ อย่างหนึ่งของสังคมนี้...”

จากนั้น “จากบรรณาธิการ” ก็มีความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคมบ่อยขึ้น เช่นฉบับที่ ๔๓ เดือนกันยายน ๒๕๓๑ ปีที่ ๔

“ยินดีต้อนรับ ‘ปุ๋ย’ กลับสู่แผ่นดินถิ่นเกิด...แม้ปุ๋ยจะไม่ใช่คนแรกที่สนใจและกล่าวถึงปัญหาเด็ก ๆ ในสังคมไทยต่อหน้าสาธารณะ แต่ปุ๋ยก็เป็นคนที่พูดถึงปัญหาเด็กได้ ‘เสียงดัง’ ที่สุดในเวลานี้...” ซึ่ง “ปุ๋ย” ที่อ้างถึงคือ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางสาวไทยผู้ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลคนที่ ๒ ของเมืองไทย

เป็นบรรณาธิการบริหารครบ ๕ ปี และ สารคดี ย่างก้าวแรกขึ้นปีที่ ๖ บก. สุชาดาก็ยุติบทบาทโดยไม่ได้เขียนกล่าวอำลาผู้อ่านไว้ใน “จากบรรณาธิการ” ของฉบับที่ ๖๑ เดือนมีนาคม ๒๕๓๓ ซึ่งเธอเป็นหัวเรือใหญ่ฉบับสุดท้าย 

“และแล้วก็ครบรอบวันเกิดนิตยสาร ‘สารคดี’ อีกปีหนึ่ง คิดว่าสิ่งที่ได้ประพฤติและงานที่ได้ปฏิบัติล่วงมาน่าจะได้เผยตนบ่งบอกเจตนาและธาตุแท้ของ ‘สารคดี’ ต่อสาธารณชนบ้างแล้วไม่มากก็น้อย แม้จะยังมีความเด๋อด๋าพลาดพลั้งไปในบางครั้ง นั่นก็เป็นส่วนที่เราต้องยอบกายยอมรับและใส่ใจปรับปรุงแก้ไขเรื่อยไป ทว่า กับความเชื่อมั่นในหลักการและแนวเนื้อหาเช่นที่เป็นอยู่ต่างหาก ที่สมควรต้องยืดกายหยัดยืนอย่างสง่าผ่าเผยต่อไป...” จบด้วย “พบกันใหม่ สวัสดีค่ะ”

Image

การเปลี่ยนบรรณาธิการบริหารเป็น วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ มาพร้อมการเปลี่ยน “จากบรรณาธิการ” ในยุค บก. สุชาดา ที่เน้นเป็นตัวแทนสื่อสารแนวคิดและการทำงานของสารคดี มาแสดง “ตัวตน” ของ “บรรณาธิการบริหาร” มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ “จากบรรณาธิการ” ฉบับแรกของเขาคือฉบับที่ ๖๒ เดือนเมษายน ๒๕๓๓

“ผมอาจจะอยู่ในฐานะที่เปรียบเสมือนพ่อครัวคอยปรุงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งนอกจาก
จะมีคุณค่าแล้ว อาหารจานนี้ก็ควรมีรสชาติอร่อย ให้ผู้คนอยากมาลองลิ้มชิมรสกัน...”

ไม่กี่ฉบับต่อมา “จากบรรณาธิการ” ก็เป็นพื้นที่แสดงทัศนะ
ส่วนตัวแบบแรง ๆ ครั้งแรกของบรรณาธิการบริหาร ในฉบับที่ ๖๕ เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๓ ซึ่งใช้ภาพปกร้อนแรงไม่แพ้กัน คือกองกะโหลกสัตว์ป่า พาดคำว่า “หยุดเขื่อนแก่งกรุงฤๅจะให้เลือดนองแผ่นดิน”

“ผลกระทบของการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน นอกจากทำลายป่าไม้แสนกว่าไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าที่สมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้แล้ว ยังเป็นช่องทางให้มีการตัดไม้รอบบริเวณใกล้เคียง จากถนนที่ตัดเข้าไปในป่าลึก...โกหกกันชัด ๆ เรายังไม่พูดถึงสัตว์ป่าที่ต้องล้มตายไปจำนวนมหาศาล โดยที่มนุษย์เองไปรุกรานที่อยู่ของมัน ราวกับโลกนี้เป็นของมนุษย์เพียงสปีชี่เดียว...ไม่มีใครเข้าใจจริง ๆ ว่า ทุกครั้งที่มีการสร้างเขื่อน ทำไมต้องสร้างในป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด...เมื่อไรคนของรัฐจะหูตาสว่าง ฟังเสียงชาวบ้าน หรือว่าทุกวันนี้คนในคณะรัฐบาลคิดเพียงแค่ว่า...‘ผลประโยชน์ของพรรคการเมือง ย่อมอยู่เหนือผลประโยชน์ของประชาชน’”

ในช่วงแรก “จากบรรณาธิการ” ยุค บก. วันชัย ยังทำหน้าที่สื่อสารและแนะนำเนื้อหาใน สารคดี ฉบับนั้นอยู่บ้าง แต่เมื่อผ่านไปหลายฉบับ “เรื่องเล่า” จากประสบการณ์ส่วนตัว ทั้งการเดินทางไปจัดทำสารคดีทั่วประเทศในฐานะ บก. และนักเขียน การเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งข่าวและชีวิตผู้คนหลากหลาย รวมถึงมุมมองต่อสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมการเมือง ก็เข้ามาครองพื้นที่และสร้างสีสันให้ผู้อ่านบนหน้ากระดาษ

ฉบับที่ ๙๗ เดือนมีนาคม ๒๕๓๖ ขึ้นปีที่ ๙ เขาเล่าถึงปัญหาการใช้น้ำในสนามกอล์ฟ ผ่านปากคำของเพื่อนวิศวกรที่เริ่มเล่าว่า “ผมหาน้ำให้สนามกอล์ฟโดยนั่งอยู่ในห้องแอร์...ไม่เคยมีใครออกไปเดินดูรอบ ๆ หรอกครับว่าการกั้นน้ำในคูคลองจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนขนาดไหน”

ฉบับที่ ๑๘๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๓ ปีที่ ๑๖ เล่าเรื่องผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ บ้านและคอนโดฯ ของเขาถูก ปรส. ยึดทรัพย์ เพื่อสะท้อนมุมมองของชนชั้นกลาง “มองออกไปรอบตัว ผมเชื่อว่ามีคนนับพันคนที่กำลังประสบปัญหา ที่ผ่อนบ้านอยู่ดี ๆ ปรากฏว่าจะถูกยึดบ้าน เพราะการที่ ปรส. ของรัฐออกกฎกติกาที่เอื้ออำนวยประโยชน์ฝรั่งมากกว่าคนไทยด้วยกันเอง แต่ทุกคนก็ต่างคนต่างอยู่ ยอมรับชะตากรรมอย่างเงียบ ๆ  วันหนึ่ง ผมอ่านข่าวสมัชชาคนจนมาเรียกร้องปัญหาของพวกเขา...แม้จะถูกโจมตีอย่างไร แต่ผมมองอีกมุมหนึ่งว่า...พวกเขายังรวมตัวกัน มีศักดิ์ศรีพอที่จะกล้าออกมาต่อรองกับอำนาจรัฐเมื่อพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ...ผมอิจฉาสมัชชาคนจนครับ”

ฉบับที่ ๒๕๑ เดือนมกราคม ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๑ กับเรื่องปลาแซลมอน เริ่มประโยคแรกด้วย “ผมเป็นคนชอบกินปลาครับ ปลาในดวงใจที่ชอบก็คือปลาจะละเม็ด ปลาทู และปลาแซลมอน” ก่อนจะพาคนอ่านไปพบข้อมูลในวารสาร Ecologist ว่าแซลมอนที่เรากินไม่ใช่ “แซลมอนที่ต้องว่ายน้ำข้ามทะเลหลายพันไมล์เพื่อขึ้นมาวางไข่ออกลูกหลานที่ต้นลำธาร” แต่มาจากฟาร์มเลี้ยงปลาในยุโรปที่อุดมด้วยเชื้อโรค “เจ้าของฟาร์มจึงต้องใส่สารเคมีและยาปฏิชีวนะลงในบ่อปลา เพื่อกำจัดแมลงรบกวนและเชื้อโรคหลายอย่าง” ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังมีคนนำ “จากบรรณาธิการ” เรื่องนี้กลับมาแชร์ในกลุ่มไลน์วนไปวนมา

Image

บก. วันชัยเคยถ่ายทอดประสบการณ์ให้เยาวชนในค่ายสารคดีว่า เคล็ดลับการเขียนให้น่าสนใจมีสามข้อ คือ หนึ่ง ความขัดแย้ง หาความขัดแย้งในเรื่องและเล่าโดยใช้ประเด็นความขัดแย้ง จะทำให้เรื่องน่าติดตาม  สอง สร้างความใกล้ชิดคนอ่าน หาทางโยงเรื่องที่จะเขียนให้เป็นเรื่องใกล้ตัวคนอ่านให้ได้ และสาม คือ clean and clear เขียนด้วยภาษาชัดเจน อ่านง่ายและกระจ่าง และการเริ่มประโยคแรกสำคัญที่สุด

ถ้าผู้อ่านมีเวลาแกะรอยวิธีเขียนของเขาก็จะเห็นจริงตามสูตรนี้ เมื่อบวกกับเรื่องเล่าที่มีชีวิตชีวาสะท้อน “ตัวตน” ซึ่งหลายครั้งเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ที่แบ่งปันอารมณ์ร่วมกับผู้อ่านได้อย่างกินใจ ทำให้ตลอดเวลา ๒๐ ปี “จากบรรณาธิการ” ของ บก. วันชัย เป็นคอลัมน์ที่แฟน สารคดี คิดถึงและชอบเปิดอ่านเป็นคอลัมน์แรก ๆ

ฉบับที่ ๓๑๑ มกราคม ๒๕๕๔ เขาเขียน “จากบรรณาธิการ” บทสุดท้ายบอกเล่า “ภารกิจของบรรณาธิการ”

“แน่นอนว่าอาชีพบรรณาธิการไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งใดในเมืองไทยเปิดสอน ไม่มีสูตรสำเร็จ ผมเริ่มจากการศึกษาดู
แม็กกาซีนทั้งในและต่างประเทศชื่อดังมากขึ้น ถามผู้รู้ในวงการทำหนังสือ ดูวิธีเลือกเรื่อง ดูวิธีเลย์เอาต์ วิเคราะห์ว่าทำไมเอารูปนี้ขึ้นปก ทำไมเลือกเรื่องนี้เป็นสกู๊ปใหญ่ เรื่องนี้เป็นสกู๊ปรอง ดูวิธีโปรยชื่อเรื่องบนหน้าปก ดูกลวิธีการเล่าเรื่อง กลวิธีการนำเสนอ ไปจนถึงสไตล์การถ่ายภาพของช่างภาพสารคดีชื่อดังหลายท่าน  ผมสังเกตว่านิตยสารหลายเล่มที่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีตัวตนของบรรณาธิการหรือคนทำหนังสือมากเกินไปจนบดบังเนื้อหาที่ต้องการเสนอ ผมสังเกตว่านิตยสารหลายเล่มที่ประสบความสำเร็จ มักจะพยายามรักษาความสมดุลระหว่างเรื่องราวที่เป็นความสนใจของคนอ่านกับเรื่องราวที่เป็นความสนใจของคนทำหนังสือได้อย่างพอเหมาะพอควร...”

ก่อนจบบทเขายกส่วนหนึ่งใน “จากบรรณาธิการ” ฉบับแรกที่ทำหน้าที่ มาย้ำและส่งต่อภารกิจของ สารคดี ว่า “โลกไม่เคยหยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงเสมอ ด้านหนึ่งของโลกอาจดูโหดร้าย แต่อีกด้านของโลกยังงดงามอยู่ มาช่วยกันสร้างด้านที่โหดร้ายให้สวยงาม มาช่วยกันสร้างโลกนี้ให้น่าอยู่และมีความหวังมากขึ้น นี่คือภารกิจของ ‘สารคดี’” สำหรับบรรณาธิการบริหารรุ่น ๓ คือผู้เขียน รับไม้ต่อความรับผิดชอบมา ๑๓ ปีแล้ว ตั้งใจเขียน “จากบรรณาธิการ” โดยเปลี่ยนจากการเล่าเรื่องในแบบ บก. วันชัย มาเป็นการชวนคิด ชวนตั้งคำถาม พร้อมสะท้อนเรื่องราวในเล่มที่เชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ รอบตัว ซึ่งหลายสิ่งอาจดูไม่เกี่ยวข้อง แต่ก็สามารถค้นพบความสัมพันธ์กันได้เสมอ ฉบับที่ ๓๑๒ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ใน “จากบรรณาธิการ” ที่ทำหน้าที่ฉบับแรก ผู้เขียนขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมสร้าง สารคดี และทีมงานที่เข้มแข็งซึ่งช่วยกันทำคลอดนิตยสารออกมาสู่มือผู้อ่านทุกเดือน ทั้งนักเขียน ช่างภาพ บรรณาธิการภาพ บรรณาธิการต้นฉบับ บรรณาธิการศิลปะ ผู้ดูแลการผลิต คอลัมนิสต์ นักวิชาการ ฯลฯ

สารคดี ยังคงเชื่อมั่นกับการทำหน้าที่ ‘จุดประกาย’ ความรู้อันเป็นรากฐานของการสร้างปัญญา ‘บันทึก’ เรื่องราวและเหตุการณ์อย่างรอบด้านและรอบคอบ ‘ค้นหา’ ความจริงและความงามในธรรมชาติและสังคมซึ่งอุดมด้วยความหลากหลาย...”

ถึงวันนี้บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี จะเปลี่ยนหน้ามาแล้วสามคน แต่หน้ากระดาษที่จั่วหัวว่า “จากบรรณาธิการ” ยังปรากฏในนิตยสารเหมือนเดิม เฝ้ารอต้อนรับการเขียนและเล่าเรื่องใหม่ ๆ จากบรรณาธิการบริหารคนใหม่ในอนาคต