Image
เลาะสกู๊ปรถไฟ 
“VERNADOC 
อนุรักษ์สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟ” และ “Beyond Horizon รถไฟทำเอง”
เบื้องหลัง... Scoop
40 Years of Storytelling
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : จาก สารคดี ฉบับที่ ๔๖๕ ธันวาคม ๒๕๖๖
หน้า ๖๘-๘๕
Image
สารคดี ฉบับที่ ๔๖๕ เดือนธันวาคม ๒๕๖๖ ปก Train Stories ผมเขียนสองสกู๊ป  คือ การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟ และคนไทยผลิตรถไฟใช้เองทดแทนการนำเข้า ทั้งสองสกู๊ปต่างมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับบ้านเกิดและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งผมเป็นศิษย์เก่าบรรณาธิการบริหาร
ผมรู้จักรองศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว หรืออาจารย์แป่ง คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ผู้ให้สัมภาษณ์ หรือ “แหล่งข้อมูล” หลักของสกู๊ป “VERNADOC อนุรักษ์ สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟ” ตั้งแต่ช่วงที่อาจารย์พานักศึกษามานั่งวาดภาพทำกิจกรรมอนุรักษ์ท้องถิ่นที่ตลาดหัวตะเข้ ย่านลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เมื่อหลายปีก่อน ทราบว่าเป็นผู้สนับสนุนจนเรือนไม้หลังหนึ่งในตลาดหัวตะเข้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี ๒๕๕๙ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

ช่วงที่สังคมตั้งคำถามเรื่องยุติการใช้งานสถานีรถไฟหัวลำโพง อาจารย์ปริญญาได้รับเชิญเป็นวิทยากรเวทีเสวนา และให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องการอนุรักษ์สถานีรถไฟหลายครั้ง เมื่อ สารคดี จะทำฉบับรถไฟ ผมเสนอประเด็นการอนุรักษ์อาคารสถานี และรีบติดต่อขอสัมภาษณ์อาจารย์

โดยทั่วไปข้อมูลในงานเขียนสารคดีแบ่งเป็นสามส่วนหลัก ๆ
ประกอบด้วย ข้อมูลแห้ง หมายถึงชุดความรู้จากหนังสือ ตำรา เอกสาร เพลง ภาพยนตร์ สื่อออนไลน์  ข้อมูลสัมภาษณ์ ได้จากการซักถาม อาจนั่งคุยกันนาน ๒-๓ ชั่วโมงในห้องทำงาน หรือพูดคุยระหว่างลงพื้นที่ภาคสนาม และข้อมูลสังเกตการณ์ อาศัยประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ ของผู้เขียนจับสังเกตเรื่องราว ความเป็นไปรอบตัว มักได้ระหว่างลงพื้นที่ภาคสนามเช่นเดียวกัน
Image
กรณีสกู๊ป VERNADOC ผมเริ่มด้วยนัดสัมภาษณ์อาจารย์
ปริญญาที่มหาวิทยาลัย นั่งคุยกันจนทราบว่าเครื่องมือที่ใช้อนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟคือการออกค่ายเวอร์นาด็อก (VERNADOC) หมายถึงการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นโดยเน้นเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงด้วยเทคนิคพื้นฐานทางสถาปัตยกรรม ภาพที่ชาวค่ายเขียนขึ้นจากการสำรวจรังวัดจะนำมาจัดแสดงวันสุดท้าย และใช้ต่อยอดอีกหลายวัตถุประสงค์  นักศึกษาชาวค่ายต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ลงไปคลุกคลีตีโมง อาศัยอยู่กับคนในชุมชนนานนับสัปดาห์

น่าเสียดาย ช่วงผมเก็บข้อมูลไม่มีการจัดค่ายเวอร์นาด็อก เวลาไม่ได้ลงล็อกขนาดนั้น ทำให้ไม่ได้ลงพื้นที่ติดตามชาวค่ายไปสัมผัสบรรยากาศภาคสนามอย่างเต็มตัว ต้องอาศัยข้อมูลสัมภาษณ์ร่วมด้วยข้อมูลแห้งค้นคว้าจากเอกสารเป็นหลัก

โชคดีวันสัมภาษณ์ อาจารย์ปริญญาเตรียมชุดภาพวาดเวอร์นาด็อกขนาดใหญ่ของอาคารสถานีรถไฟต่าง ๆ รวมทั้งภาพบ้านพักนายสถานี ป้ายสถานี ผังบริเวณสถานีรถไฟ วางเรียงรายเต็มโต๊ะตัวใหญ่ ช่วยให้ผมเห็นภาพ ซึมซับผลจากความมานะพยายามของชาวค่ายเวอร์นาด็อกที่จับต้องได้จริง

หลังสัมภาษณ์ผมสอบถามช่องทางติดต่อแหล่งข้อมูลเพิ่ม จนได้พูดคุยกับบุคคลสำคัญของเรื่องอย่างน้อยสองคน

หนึ่งเป็นอดีตเด็กค่ายเวอร์นาด็อกที่ขณะเรียนมหาวิทยาลัยออกค่ายร่วม ๑๐ ครั้ง ทั้งค่ายสถานีรถไฟ ศาสนสถาน โบราณสถาน อาคารสาธารณะ ตลาด บ้านเรือน ฯลฯ สมัยเรียนชั้นปี ๕ ยังรับหน้าที่หัวหน้าค่าย  ทุกวันนี้ ปริชญ์ ปุญญถาวร ทำงานเป็นดีไซเนอร์ให้บริษัทผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ผมขอให้ช่วยรำลึกความหลัง เล่าอย่างละเอียดว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้างในค่าย ทักษะวิชาศิลปะที่ใช้วาดรูปคืออะไร เรื่อยไปถึงความสนุกสนานของการออกค่ายปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน

คนต่อมาคือ พรนิภา ฉะกระโทก หรือครูเจี๊ยบ ครูโรงเรียนสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ปูชนียบุคคลผู้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญในมิติทางสังคมและประวัติศาสตร์ โอกาสที่ชุมชนจะสูญเสียหากปล่อยให้อาคารสถานีรถไฟถูกรื้อถอนเพราะโครงการรถไฟความเร็วสูง

ครูเจี๊ยบถ่ายทอดความรักความผูกพันที่มีต่อสถานีรถไฟสูงเนินมาตั้งแต่เด็ก ๆ ความมุ่งมั่นอันยากเย็นแสนเข็ญที่จะรักษาสถานีรถไฟนี้ไม่ให้ถูกทำลาย
Image
การได้ “แหล่งข้อมูล” ดี เป็นผู้เชี่ยวชาญ รู้ลึกรู้จริงในศาสตร์หรือประเด็นนั้น ๆ จะช่วยให้การทำงานของผู้เขียนเพื่อส่งผ่านเรื่องราวประสบความสำเร็จมากขึ้น

ช่วงหนึ่งครูเจี๊ยบพูดว่า “เราเคยคิดว่าเด็กสถาปัตย์ต้องหยิบโหย่ง ที่ไหนได้เขาละเมียดละไม เราเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจเรือนรักษ์รถไฟทั้งสองหลังตอนนั้นเป็นเล้าไก่ เขาปีนขึ้นไปวัดอย่างไม่รังเกียจ เราเองยังไม่ค่อยกล้า เวลาจะทำความสะอาดต้องจ้างคนขึ้นไป เกิดคำถามในใจว่าทำไมเขาต้องทำขนาดนี้คิดแล้วก็ตั้งมั่นว่าจะต้องเก็บรักษาสถานที่แห่งนี้ไว้ให้ได้”

ข้อความที่กลั่นมาจากใจในห้วงเวลาที่ผู้ให้สัมภาษณ์เริ่มผ่อนคลาย เป็นมิตรกับผู้เขียน ไว้วางใจที่จะบอกเล่า สะท้อนฉากทัศน์หลากหลายมิติ ที่สำคัญคือเชื่อมโยงคนท้องถิ่นกับผู้มาเยือนเข้าด้วยกัน ทำให้เรื่องราวที่อาจารย์ปริญญา คุณปริชญ์ และครูเจี๊ยบเล่าเชื่อมร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมด้วยเวอร์นาด็อกเป็นทักษะเฉพาะทาง รายละเอียดการทำงาน เทคนิคการเขียนภาพ มีศัพท์แสงเฉพาะด้านทางสถาปัตยกรรมเต็มไปหมด แม้แต่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็เรียกร้องความถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน

ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมายไหลทะลักอยู่ในอินเทอร์เน็ต แต่ผมยังให้ความสำคัญกับหนังสือเล่ม ตำรา งานวิจัย ซึ่งผ่านกระบวนการตีพิมพ์ ได้รับการรับรองความน่าเชื่อถือเบื้องต้นจากผู้จัดพิมพ์เป็นตัวเลือกแรก ๆ สำหรับอ้างอิงข้อมูล

หลัก ๆ ผมสืบค้นและตรวจทานความถูกต้องจากเอกสารบทความวิจัย VERNADOC กับการบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย (VERNADOC and Vernacular Architecture Documentation of Thais) ของ สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่อาจารย์ปริญญาช่วยชี้เป้า ประกอบกับอ่านหนังสือรถไฟ ดูไฟล์ภาพ โปสต์การ์ดต่าง ๆ ค่อย ๆ เรียบเรียงเนื้อหาจนออกมาเป็นสกู๊ปสารคดีความยาวประมาณ ๑๑ หน้า A4 ตั้งชื่อว่า “VERNADOC อนุรักษ์สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟ”  ทั้งนี้งานเขียนทุกชิ้นของสารคดี ต้องผ่านการตรวจต้นฉบับรวมทั้งพิสูจน์อักษรอย่างพิถีพิถันกว่าจะได้ตีพิมพ์

สกู๊ปอีกชิ้นคือ “Beyond Horizon รถไฟทำเอง สถานีแรกของรถไฟสุดขอบฟ้า” ว่าด้วยเรื่องนักวิจัยไทยที่พยายามผลิตรถไฟสัญชาติไทย โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากสุดเพื่อลดการนำเข้า

รถไฟทำเอง หรือรถไฟไทยทำ เป็นงานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก้าวแรกของทั้งสองสกู๊ปจึงอยู่ที่ “พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง” เหมือนกัน 

ผมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโครงการ ได้รับคำแนะนำให้ไปสอบถามผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะรองหัวหน้า
โครงการรถไฟไทยทำ (Thai Makes Train) รุ่นสุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)

อย่างไรก็ตามสถานที่สัมภาษณ์ไม่ใช่คณะวิศวกรรมศาสตร์แต่เป็นบริษัทกิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพราะทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรนัดที่โรงงานของผู้ประกอบการซึ่งมีบทบาทสำคัญ  ที่สำคัญคือรถไฟไทยทำอยู่ระหว่างกระบวนการทดสอบขั้นสุดท้ายบนรางรถไฟจริงที่นี่
Image
เมื่อเดินทางไปถึง นอกจากสัมภาษณ์อาจารย์รัฐภูมิ ผมยังได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในโรงงาน นำโดย เมธัส เลิศเศรษฐการ กรรมการรองผู้จัดการบริษัท

เพื่อให้เรื่องเล่ามีลักษณะรอบด้าน เราควรสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลหลากหลาย แม้ยากชี้ชัดฟันธงว่าใคร ? จำนวนเท่าไร ? แต่เบื้องต้นอาจใช้วิธีจำแนกหรือจัดหมวด เช่น งานเขียนชิ้นหนึ่งจะมีทั้งเสียงชาวบ้าน คนเมือง นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานบริษัทเอกชน งานเขียนอีกชิ้นเน้นเสียงคนหลายช่วงวัย อาจแตกต่างทางสาขาอาชีพ ความสนใจ หรือเพศสภาพ เป็นต้น

ที่พลูตาหลวง ผมมีโอกาสขึ้นไปบนตู้โดยสารของรถไฟ ทดลองนั่งเก้าอี้ ยืดเหยียดแขนขา เปิดปิดช่องเก็บของเหนือศีรษะที่คล้ายกับในเครื่องบิน พยายามเก็บรายละเอียดข้อมูลสังเกตการณ์ สร้างความมั่นใจก่อนลงมือเขียนเวลานั้นเริ่มมีสื่อมวลชนพาดหัวข่าวว่านี่คือตู้โดยสารของรถไฟไทยซึ่งหรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน  เพื่อพิสูจน์ว่าสมราคาจริงหรือไม่ ผมจึงตั้งคำถามอาจารย์รัฐภูมิขณะเรากำลังอยู่บนรถไฟ

“คำยกย่องว่าทันสมัยที่สุดในอาเซียน จริง ๆ สื่อมวลชนคิดขึ้นมา  ผมว่าความทันสมัยอยู่ระดับที่แข่งขันได้ในอาเซียน ด้วยวิธีคิดของผู้ผลิตที่ไม่เหมือนใคร การให้บริการที่แตกต่าง อย่างนำหุ่นยนต์มาให้บริการอาหาร จะเห็นว่าความทันสมัย ไม่ได้มาจากความหรูหราของเบาะเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเทคโนโลยีที่เราใส่ลงไป” อาจารย์คลี่คลายข้อสงสัย

นิตยสาร สารคดี เป็นสื่อแรก ๆ ที่ลงลึกประเด็นนี้ โดยเน้นเรื่องความมานะพยายามของผู้สร้าง ความรู้ทางวิชาการ การร่วมไม้ร่วมมือ ข้อจำกัด อุปสรรคปัญหา จนถึงชี้ให้เห็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟภายในประเทศมากกว่ามุ่งเน้นความหรูหราทันสมัย

นี่เป็นอีกสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเลือกทำสารคดีสักชิ้นบนโลกที่แทบจะไม่มี “หัวข้อใหม่” โยนคำว่าอะไรลงไปในออนไลน์ก็พบเจอ  ผู้เขียนต้องตอบคำถามก่อนว่าจุดเด่นของงานคืออะไร ความสดใหม่ การลงลึก หรือความแตกต่างจากคนอื่น

ส่วนข้อมูลตัวเลข ไม่ว่าราคา ความเร็ว ค่าสถิติต่าง ๆ ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าไม่ผิดพลาด

ผมตั้งข้อสังเกตว่าเอกสารประกอบงานเขียนชิ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นโบรชัวร์ แผ่นพับ รวมถึงไฟล์พาวเวอร์พอยต์ที่อาจารย์
รัฐภูมิเปิดอธิบายรายละเอียดระหว่างสัมภาษณ์ อาจเพราะรถไฟไทยทำเป็นสิ่งใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่มีการตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมา

ปลายทางของงานเขียนชิ้นนี้ไม่ใช่หน้ากระดาษ แต่เป็นเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก สื่อออนไลน์ของนิตยสาร

เมื่อวันเวลาผ่านไป หากจะมีสิ่งที่ผู้เขียนจดจำได้เกี่ยวกับสกู๊ปรถไฟทั้งสองชิ้น นอกเหนือจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่เข้มข้น ให้ความสำคัญกับข้อมูลทั้งแห้ง-สัมภาษณ์-สังเกตการณ์ ตามแนวทางเล่าเรื่องที่ สารคดี ยึดถือ คงเป็นการมีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลและเรื่องราวที่คล้ายกับเรื่องใกล้ตัว...แต่ล้วนเป็นความรู้ใหม่