Image
“ประวัติศาสตร์”
ในงานเขียนสารคดี
เบื้องหลัง... Scoop
40 Years of Storytelling
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : จาก สารคดี ฉบับที่ ๔๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๒ หน้า ๑๓๖-๑๔๐
และจาก สารคดี ฉบับที่ ๓๖๒ เมษายน ๒๕๕๘ 
หน้า ๘๖-๑๒๒
Image
“ผู้ที่ควบคุมอดีตจะควบคุมอนาคต
ผู้ที่ควบคุมปัจจุบันจะควบคุมอดีต”

จอร์จ ออร์เวลล์ (1984)

ย้อนกลับไปช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ ๒๐๐๐
ตอนเริ่มเรียนรู้วิธีเขียนงานสารคดี ผมก็ไม่ต่างจากคนจำนวนมากที่รู้สึกว่างาน nonfiction หรืองานที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง อ่านแล้วเข้าถึงง่ายสุดคือประเด็นว่าด้วย “ประวัติศาสตร์”

ความย้อนแย้งคือ วิชานี้เป็นวิชา “น่าเบื่อ” ที่สุดสำหรับคนที่เรียนในระบบโรงเรียนไทยยุค 90s และความน่าเบื่อก็น่าจะดำรงอยู่เคียงคู่วิชานี้มาถึงปัจจุบัน

แต่ความรู้สึกนั้นกลับหายไปเมื่อผมได้เรียนรู้ว่า “ประวัติศาสตร์” เล่าผ่านงานเขียน “สารคดี” ได้ พลังของงานสารคดีทำให้เรื่องเคี้ยวยากนี้กลายเป็นเรื่องน่าอ่าน มีพลังมากพอจะเปลี่ยนแปลงการรับรู้บางอย่างในสังคม

นักเขียนสารคดีอาวุโสคนหนึ่งบอกผมว่า งาน nonfiction ที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้ และคุณต้องตระหนักถึงพลังของมัน
“ประวัติศาสตร์” ในชีวิตประจำวัน
ผมตระหนักถึงพลังนั้นครั้งแรกตอนเขียนเรื่องของแขกขายถั่วชื่อ “เบอร์นาร์ด” 

เบอร์นาร์ดเข้ามาขายถั่วที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ ความยาวนานของการขายของในธรรมศาสตร์ทำให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นี่ นักศึกษานับสิบรุ่นต่างจำเรื่องราวของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่เบอร์นาร์ดฮาร์ดเซลด้วยการปาถั่ว เอาโต๊ะขายถั่ว (ซึ่งเขาแบกไปทุกที่) ไปนั่งกดดัน การที่นักศึกษาแกล้งกลับโดยการขโมยถั่วเวลาเบอร์นาร์ดนั่งหลับ (เพราะกลางคืนทำงานเป็นยาม)

เขานั่งอยู่ตรงนั้นมาตลอด ขณะนักศึกษาแต่ละรุ่นต่างจบออกไปทำงานทำการ เป็นผู้บริหาร เติบโตในหน้าที่การงาน 
ที่สำคัญคือ ส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เบอร์นาร์ดนั่งขายของอยู่ที่เดิม พร้อมกับเส้นผมบนหนังศีรษะเปลี่ยนเป็นสีดอกเลามากขึ้น แต่เรื่องราวหนหลังกลับถูกลืมเลือน เหล่านักศึกษาที่กลายเป็นผู้บริหารกลับกลายเป็น “ผู้ใหญ่ที่พวกเขาเกลียด” ออกนโยบายขับไล่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดพื้นที่ค้าขายใหม่ให้เช่าในราคาแพง

ตอนนั้นผมเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ประจำอยู่ในหน้า “สารคดีข่าว” ชื่อ “ปริทรรศน์” จำได้ดีว่าเป็นครั้งแรกที่ผมตัดสินใจใช้พลังในงานสารคดีและข้อมูลทางประวัติศาสตร์นำเสนอกรณีของเบอร์นาร์ดให้มากกว่ารายงานข่าวว่า “ผู้บริหารไล่ที่พ่อค้าแม่ค้าในมหาวิทยาลัย”

ผมพบกุญแจสามดอก คือ เบอร์นาร์ดเป็นคนอินเดีย เบอร์นาร์ดอยู่ในธรรมศาสตร์อันเป็นพื้นที่สำคัญที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง และที่สำคัญคือการขับไล่ผู้ค้ารายย่อยเพื่อเอื้อต่อผู้ค้ารายใหญ่ ไม่เป็นธรรมอย่างแน่นอนในสายตาของสังคม

ทำไมเบอร์นาร์ดเข้ามาอยู่เมืองไทย คำถามนี้นำผมไปยังงานศึกษาเรื่องผู้อพยพชาวอินเดียในสังคมไทยที่มักประกอบอาชีพเป็นแขกปล่อยเงินกู้ “แขกยาม” และ “แขกขายถั่ว” อันเป็นอาชีพที่เบอร์นาร์ดทำ  การอยู่มานานของเบอร์นาร์ดในธรรมศาสตร์ทำให้ผมพบความทรงจำของนักศึกษายุค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ว่าชายคนนี้แจกถั่วแก่ผู้ชุมนุมประท้วงเผด็จการ ผมนำประเด็นทั้งสองมาร้อยเรียงเพื่อเสนอผู้อ่านว่า ทำไมเราหลงลืมประเด็นเหล่านี้ จนปล่อยให้ผู้บริหารขับไล่คนสำคัญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัย 

ในยุคที่สื่อออนไลน์เริ่มแพร่หลาย (ปลายทศวรรษ ๒๕๔๐)
งานชิ้นนี้ถูกกล่าวถึงเพราะเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อท้าย กลายเป็นพื้นที่รวมญาติของศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และเป็นแรงกดดันทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอนุญาตให้เบอร์นาร์ดขายของต่อมา

นี่คือ “พลังของงานเขียนสารคดี” ชิ้นแรกที่สำแดงให้ผมเห็น
Image
“เพดาน” ของงานสารคดีประวัติศาสตร์
เมื่อเวลาผ่านไป เขียนงานสารคดีประวัติศาสตร์หลายชิ้น ผมค้นพบว่า “เพดาน” อย่างหนึ่งของงานเขียนสารคดีแนวนี้คือ จำนวนมากไม่ “วิพากษ์หลักฐาน” 

พูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุดคือ ถูกหลักฐานหลอกเสียสนิท ในความเป็นจริง เครื่องมือจัดการหลักฐานเวลาเขียนสารคดีแนวนี้ เราทุกคนรับมอบมาแล้วเมื่อเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมฯ ต้น (แม้แบบเรียนจะสอนพอเป็นพิธี) เพียงแต่หลายคนหลงลืม

ไม่ว่าการแบ่งประเภท-ประเมินความน่าเชื่อถือ-วิพากษ์ หลักฐาน ทั้งหมดนี้ผมมองว่าไม่ต่างจากสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ทำคือต้องนำเสนอลงในงาน เพราะงาน “สารคดี” มิใช่เล่าแค่ “เขาว่ากันว่า” หากแต่ผู้เขียนมีหน้าที่แสดงที่มาที่ไปของคำกล่าวอ้างหรือหลักฐานนั้นด้วย

ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเพียงงานเขียนที่นำคำบอกเล่าของคนอื่นมาบอกต่อทื่อๆ 

วิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ผมนำมาใช้กับงานเขียนสารคดีแบบเข้มข้นคือ “๒๓๑๐ อวสานกรุงศรีฯ” ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ ๓๖๒ (เมษายน ๒๕๕๘)
Image
จุดเริ่มต้นในการทำเรื่องนี้มีคำถามเดียวคือ ความคั่งแค้นในการเสียกรุงศรีอยุธยา ที่ถูกใส่เอาไว้ในแบบเรียน ละครทีวี และสื่อต่าง ๆ ซึ่งกล่อมเกลาคนยุค 90s มาตั้งแต่เด็ก เป็นความจริงแค่ไหน

ก่อนจะพบว่า หากใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์มาจับหลักฐานทั้งหมดที่เป็นฐานของ “โครงเรื่องเก่า” ซึ่งเล่าเกี่ยวกับการเสียกรุงนั้น วางอยู่บนหลักฐานของไทยเป็นส่วนมาก อีกทั้งยังเจือปนด้วยอุดมการณ์ของรัฐที่ต้องการใช้กรณีนี้สร้าง “ความสามัคคีในชาติ” จนทำให้เรื่องเล่าสำนวนหลักไม่อาจเล่าไปทางอื่นได้เลย แม้จะปรากฏหลักฐานใหม่ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ผมตัดสินใจนำหลักฐานใหม่เข้ามาประกอบทั้งหมด ผลที่ได้คือ “โครงเรื่องใหม่” ที่บอกว่า กรุงแตกไม่ได้เกิดจากคนอยุธยาขาดความสามัคคี ไม่ได้เป็นเพราะพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอยุธยาอ่อนแอ แต่เกิดจากยุทธวิธีของฝ่ายกองทัพอังวะซึ่งบรรลุจุดสูงสุดทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้อยุธยาไม่ว่าจะเข้มแข็งเพียงใดก็ต้องแตก 

“๒๓๑๐ อวสานกรุงศรีฯ” จึงเป็นงานทดลองชิ้นแรก ๆ ในการอธิบายประวัติศาสตร์ “ปมใหญ่” ของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในรูปแบบงานสารคดี โดยอาศัยงานของนักประวัติศาสตร์หลายท่านที่นำเสนอทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเป็นฐาน เช่น งานของ ศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ซึ่งวิจัยหลักฐานพม่าอย่างค่อนข้างละเอียด  จุดแข็งอีกเรื่องที่ผมนำมาเสริมคือการเก็บปากคำในพื้นที่เกิดเหตุ และลงไปสัมผัสสถานที่เกิดเหตุจริง

เพราะเราจะไม่มีวันเขียนถึง “หัวรอริมป้อมมหาชัย” ของอยุธยาได้เลย หากไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร

เพราะผมจะไม่มีวันเข้าใจว่า “ทุ่งภูเขาทอง” กว้างใหญ่แค่ไหน และทำไมหลายครั้งกลายเป็นสนามรบสำคัญ
สารคดีประวัติศาสตร์
สิ่งที่ผมคิดว่านักเขียนสารคดีแนวประวัติศาสตร์ต้องตระหนักอีกอย่างคือ เราเขียนรับใช้ใคร และรับใช้อุดมการณ์แบบไหน เราเขียนงานเพื่ออะไร เราอยากให้สังคมไทย คนไทย เป็นแบบไหน ในแง่ของการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

เพราะวิชาประวัติศาสตร์ในมุมหนึ่งแม้จะเป็น “ยาขมหม้อใหญ่” ซึ่งน่าเบื่อที่สุดในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นเพียงภาควิชาลูกเมียน้อยในระดับมหาวิทยาลัย (เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่เรียนสายสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ จะเลือกสาขาที่ทำมาหากินได้มากกว่า เช่น เอกภาษาอังกฤษ เอกเกาหลีศึกษา) แต่กลับกลายเป็นศาสตร์ที่ใช้กล่อมเกลาผู้คนมากที่สุดผ่านสื่อต่าง ๆ 

ผมคิดว่ากระแสละครทีวีแนวพีเรียด (ประวัติศาสตร์) ที่ฮอตฮิตติดเทรนด์ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามของมือลึกลับในการทุบทำลายโบราณสถานที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองช่วงยุคคณะราษฎร คือพยานชี้ถึงความสำคัญของศาสตร์ชนิดนี้ซึ่งส่งผลต่อความรับรู้ของผู้คน

ทั้งหมดข้างต้นคือคำตอบว่า ทำไมงานเขียนสารคดีแนวนี้ จึงสำคัญอยู่ไม่น้อย