Image
นนทรีย์ นิมิบุตร
เราต้องให้ประสบการณ์ใหม่แก่คนดู
Film Director
40 Years of Storytelling
เรื่อง : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
Image
ในปี ๒๕๖๖ ท่ามกลางภาวะซบเซาของวงการหนังไทย การมาถึงของสัปเหร่อ หนังจากภาคอีสาน ภาคแยกของภาพยนตร์ชุด ไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่กลายเป็นหนังไทยทำเงินสูงสุดในรอบ ๙ ปีนั้น พอจะทำให้คนในวงการบันเทิงมีความหวังอีกครั้ง
หากนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของปรากฏการณ์หนังไทยที่จุดประกายความหวังท่ามกลางวิกฤต

ย้อนกลับไปในปี ๒๕๔๐ การมาถึงของภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง ว่าด้วยเหล่านักเลงวัยรุ่นมีชื่อย่านพระนครยุคก่อนพุทธศักราช ๒๕๐๐ โดยผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ในขณะนั้น นนทรีย์ นิมิบุตร ก่อนตอกย้ำอีกครั้งใน ๒ ปีต่อมาด้วย นางนาก (ปี ๒๕๔๒) ตำนานผีตายทั้งกลมย่านพระโขนงที่นำมาตีความใหม่ ทำรายได้กว่า ๑๔๐ ล้านบาท เป็นเสมือนหมุดหมายสำคัญที่ต่อลมหายใจให้อุตสาหกรรมหนังไทยค่อย ๆ กลับมามีชีวิตชีวาและเฟื่องฟูอีกครั้ง
กล้าที่จะทำสิ่งใหม่
อาจกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นเกี่ยวกับภาพยนตร์ของเขานั้นมาจากความกล้า

ขณะนนทรีย์เรียนคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรปีแรก หลังจากกำลังค้นหาตนเอง เปลี่ยนที่เรียนมาหลายแห่ง วันหนึ่งเขาตอบรับคำชวนของเพื่อนไปช่วยงานถ่ายสารคดีแห่เทียนพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงมั่นใจว่าตนเองหลงใหลการทำงานด้านนี้…เมื่อขึ้นชั้นปี ๒ จึงเริ่มขอฝึกงานกับกองถ่าย ค้นคว้าหาความรู้ในศาสตร์ด้านนี้ ก่อนจะเข้าไปบอกคณบดีว่าอยากเรียนด้านภาพยนตร์ ทั้งที่มหาวิทยาลัยยังไม่เปิดวิชาด้านนี้ แม้จะถูกปฏิเสธก็สู้ไม่ถอย ไปล่ารายชื่อหาคนสนใจเรียนได้กว่า ๑๐๐ คน คณะจึงยอมเปิดเป็นวิชาพิเศษ ทำให้เริ่มได้จับกล้องฝึกใช้งานจนผลิตหนังสั้นเป็นผลสำเร็จ

ในปีต่อมาทางคณะเปิดวิชาภาพยนตร์เป็นครั้งแรก นนทรีย์กับเพื่อนยังคงสร้างสรรค์หนังสั้นอีกนับสิบเรื่อง พอขึ้นชั้นปี ๓ เขาถูกทาบทามจากค่ายรถไฟดนตรีให้มาทำงานตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์เพื่อผลิตมิวสิกวิดีโอ

เวลาผ่านไป หลังเรียนจบทุกคนต่างแยกย้ายกันไปทำงาน เขากลายเป็นคนทำหนังโฆษณามีชื่อเสียง แต่ก็เริ่มรู้สึกไม่สนุกกับงานที่เริ่มซ้ำและขาดความสร้างสรรค์ จนบังเอิญมาเจอเพื่อนร่วมรุ่น เอก เอี่ยมชื่น และ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่ห้องตัดต่อ ทุกคนต่างรู้สึกแบบเดียวกัน และต่างเห็นว่าควรต้องทำสิ่งที่รักและอยากทำจริง ๆ อย่างภาพยนตร์กันเสียที
Image
นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นร่วมกันพัฒนาเรื่อง นางนาก  แต่การจะเปลี่ยนแปลงเรื่องระดับตำนานจากคนทำหนังหน้าใหม่นั้นเสี่ยงเกินไป จึงหันมาพัฒนาเรื่องแนววัยรุ่นอันธพาลอย่าง “แดง ไบเล่ย์” เสียก่อน นำเอาวิธีการทำงานโฆษณามาใช้ ตั้งแต่การพิตชิ่ง* แก่ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้บริหารไทเอ็นเตอร์เทนเมนท์
*pitching คือการนำเสนอโปรเจกต์หรือข้อเสนอต่าง ๆ ให้ลูกค้าผู้สร้างหรือผู้ออกทุนสร้าง
“พรีเซนต์แบบโฆษณาเลย เราทำหนังโฆษณารู้ว่าจะโน้มน้าวเขายังไง  เปิดโชว์รีลหนังโฆษณาที่ผ่านมาให้ดู ให้เขาได้รู้จักเรา เล่าเรื่องหนังให้ฟัง กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร รายได้จะมาจากทางไหน จะคุ้มทุนได้ยังไง ?”

ก่อนจะอนุมัติการสร้างในที่สุดด้วยเงื่อนไขที่ตกลงกันว่าต้องใช้นักแสดงหน้าใหม่ ถ่ายทำด้วยระบบหนังเสียง (sound-on-film) ที่ต่างไปจากการพากย์เสียงทับยุคนั้น และยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยหนังเรื่องนี้ไม่ขาดทุน ซึ่งผลลัพธ์ของ 2499 อันธพาลครองเมือง ก็ประสบความสำเร็จกว่าที่ทุกคนคาดคิด

“ด้วยประสบการณ์ของพวกเราที่สั่งสมการทำมิวสิกวิดีโอและโฆษณามา งานมันมีระบบ มีการดูแลค่าใช้จ่าย ไม่มั่วเลย เป็นไปตามกระบวนการชัดเจน ตั้งแต่พรีโปรดักชัน โปรดักชัน โพสต์โปรดักชัน  เราทำงานแบบนั้นกับลูกค้ามาทั้งชีวิตและเรากล้าที่จะทำสิ่งใหม่ กล้าพูดด้วยภาษาใหม่ ๆ”

เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำ นางนาก เขาก็ไม่รีบร้อน ใช้เวลาพัฒนาร่วม ๒ ปี จนกลายเป็นงานที่สร้างความฮือฮาแก่คนดูตั้งแต่แรกเห็น ด้วยรูปลักษณ์ผีแม่นากที่ต่างไปจากหนังในอดีตโดยสิ้นเชิง

นางนาก เป็นหนังที่เขาบอกว่าเป็นงานเปลี่ยนชีวิต นำพาทั้งชื่อเสียงและรางวัล ออกฉายทั่วโลกแม้จนถึงปัจจุบัน และยังแสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดพลังวัฒนธรรมที่ทุกวันนี้นิยมเรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์ ว่าไม่จำเป็นต้องมีฉากลอยกระทง รำ โขน หรือมวยไทย แต่มันคือการถ่ายทอดความคิด บริบทสังคมให้คนดูเข้าถึงได้

“นางนากนี่เป็นผู้ต้องหาของสังคม ถ้าย้อนกลับไปดูจริง ๆ จะเห็นว่านางนากไม่เคยฆ่าใครเลย ทุกคนพูดกันเอง บอกกันปากต่อปากว่าเธอเป็นคนฆ่าคนนั้นคนนี้  เราเห็นศพในหนังเต็มเลย แต่นางนากไม่เคยบีบคอหรือทำอะไรใคร  ผมพยายามจะบอกบริบทของสังคมว่าเราเป็นสังคมที่มีข่าวโคมลอย เชื่อกันปากต่อปาก แล้วก็ใส่ความคนใดคนหนึ่งให้เป็นจำเลย  นอกจากความรัก ความน่าสะพรึงกลัวต่าง ๆ ผมพูดเรื่องนี้ล้อมมันอยู่

“ถ้าถามผมว่าถ้าจะทำหนังสักเรื่องผมดูไหมว่าคนดูอยากดูอะไร ผมไม่เคยคิดตรงนั้นเลย หนึ่ง ผมคิดว่าเราอยากทำอะไร อะไรที่กระตุ้นเร้าให้อยากทำ เพราะหนังเป็นงานที่ใช้พลังงานสูงมาก เราต้องอยากทำมันจริง ๆ  สอง เราจะไม่ทำอะไรที่คนอื่นทำไปแล้ว จะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป สิ่งที่เกิดประสบการณ์ใหม่กับคนดู  ผมมองว่า 2499ฯ เป็นประสบการณ์ใหม่ของคนดู สมัยนั้นเป็นยุคกระโปรงบานขาสั้น เป็นหนังวัยรุ่นมัธยมฯ คนที่เล่นส่วนใหญ่เป็นนักร้องค่ายเพลง มันก็วนอยู่อย่างนั้น ไม่คืบหน้า”
ค้นให้ลึกก่อนถ่ายทำ
ทั้งนี้เขาให้เวลารีเสิร์ชข้อมูลในช่วงพรีโปรดักชันเต็มที่ กรณี นางนาก นั้นเขาค้นคว้ากว่า ๒ ปี

“ผมไม่เคยเกี่ยงเรื่องนี้เลยว่าจะใช้เวลากับมันเท่าไร เวลา ๒ ปีเกิดจากการที่เรายังเจอสิ่งต่าง ๆ อยู่อีก ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ จะใช้หรือไม่ใช้ก็เป็นประโยชน์ อ่านหนังสือเล่มหนึ่งได้มาสักหน่อยนึง มันทำซีนใหม่ ๆ สร้างมุมมองใหม่ ๆ ได้เลย”
ข้อมูลที่หามาใช้ทำให้งานชิ้นนี้สร้างความแปลกใหม่ ทั้งการแต่งกายของผู้หญิงด้วยรูปลักษณ์ผมทรงดอกกระทุ่ม ฟันดำ นุ่งผ้าแถบ ผิวคล้ำ หรือการปราบนางนากโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งไม่เคยปรากฏในหนังมาก่อน รวมถึงการพบบันทึกของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เล่าว่าผู้ใหญ่เคยชี้ให้ดูรอยตีนนางนากบนเพดานวัดมหาบุศย์ แม้มีบันทึกเพียงสองบรรทัด แต่ได้นำมาพัฒนาออกแบบกลายเป็นฉากนางนากห้อยหัว ซึ่งเป็นฉากน่าจดจำที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้

ในหนังย้อนยุค การหาข้อมูลเพื่อสร้างฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากให้ดูสมจริงตรงตามยุคสมัยที่สุด และบางครั้งการพิจารณาทบทวนซ้ำก็นำมาซึ่งการตัดสินใจปรับเปลี่ยนทิศทางใหม่ก่อนถ่ายทำ เช่นใน 2499 อันธพาลครองเมือง ซึ่งดัดแปลงจาก เส้นทางมาเฟีย ของ “สุริยัน ศักดิ์ไธสง” ที่เขาอ่านมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนช่างกล

“คือเด็กวัยรุ่น แต่ทำไมถึงมีรูปอธิบดีตำรวจกอดคอ ‘แดง ไบเล่ย์’ วะ เขาใช้อันธพาลปราบอันธพาล พูดตรง ๆ เขาเป็นฮีโร่ของเรา รู้สึกว่าเขาเจ๋งมาก คือชอบในมุมนั้นมาตลอด จนกระทั่งมาอ่านอีกทีตอนจะทำหนัง ถึงเพิ่งรู้ว่ามีหลายอย่างมากกว่าฮีโร่ มีบริบทของสังคมที่คิดได้หลายมุมมาก แล้วพอเราจะเลือกสักมุม อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งธงว่าอย่าทำให้พวกเขากลายเป็นฮีโร่ที่ทุกคนทำตาม เราต้องเปลี่ยนจุดจบของเรื่องไม่ให้จบดี” โดยทุกอย่างผ่านการปรึกษาผู้เขียน “สุริยัน ศักดิ์ไธสง”และยืนยันว่าเขาไม่ได้ทำหนังชีวประวัติ

ความสนใจหาข้อมูลเช่นนี้เกิดจากการรักการอ่านเป็นพื้นฐาน

“ผมยังเชื่ออยู่ว่าการอ่านเป็นอาหารสมองที่ดี น้อง ๆ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยอ่าน ผมเป็นวิทยากร คณะกรรมการหลายที่ เห็นเลยว่าเขาจะคิดกันจากจินตนาการ ถ้าอ่านก็อ่านไม่ลึก เวลาส่งพล็อตส่งเรื่องมาผมรู้สึกถึงความฉาบฉวยเต็มไปหมด พอคุณไม่อ่านเท่ากับคุณไม่รีเสิร์ช คิดเอาเองว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

“การอ่านฝึกสร้างจินตนาการ ถ้าคุณคิดเอาเองก็จะไปจำเรื่องของคนนั้นคนนี้มา ไอเดียของคุณก็ไม่มี  เวลาเริ่มทำหนังผมจะไม่ดูหนัง แต่จะอ่านหนังสือ วันนี้อ่านแล้วภาพเป็นอย่างหนึ่ง ทิ้งไว้อีก ๒ วันมาอ่านภาพเป็นอีกอย่างแล้ว มันจะฝึกไปเรื่อย ๆ  การอ่านเป็นมิติที่สำคัญ  นอกจากการอ่าน การเขียนก็สำคัญ การลำดับเรื่องราวเดี๋ยวนี้มันสะเปะสะปะ เขียนกันเป็นภาษาพูด พออ่านน้อยก็จะไม่มีประสบการณ์ในการเขียน การย่อเรื่อง การบรรยายโวหาร เขาไม่ได้ฝึกพวกนี้เลย  การอ่านเขียนที่ถูกต้องยังจำเป็นอยู่จริง ๆ  ถ้าเราอ่านไม่รู้เรื่องเราจะซื้อมันเหรอ ? บทผมเองยังแก้แล้วแก้อีก ตรงไหนขาดบุพบท ‘และ’ ‘หรือ’ ‘ที่’ คือทำยังไงให้อ่านแล้วสมูทที่สุด”
มาตรฐานที่ไม่เคยลดลง
หลังจากความสำเร็จของ นางนาก นนทรีย์มีโอกาสทำงานท้าทายแตกต่างจากเดิมอีกหลายเรื่อง เช่น การทำหนังร่วมทุนต่างประเทศครั้งแรกใน จัน ดารา (ปี ๒๕๔๔) ซึ่งดัดแปลงนิยายอีโรติกอมตะของ “อุษณา เพลิงธรรม”, โอเค เบตง (ปี ๒๕๔๖) หนังที่ได้ทดลองวิธีการทำงานใหม่ ๆ อย่างการด้นสดเป็นครั้งแรก เพื่อตั้งคำถามความเป็นพระกับฆราวาส, ปืนใหญ่จอมสลัด (ปี ๒๕๕๑) หนังแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ฟอร์มใหญ่ที่ว่าด้วยอาณาจักรปตานี, คน-โลก-จิต (ปี ๒๕๕๕) งานสะท้อนปัญหาจิตเวชในคนยุคปัจจุบันผ่านภาพชีวิตในกรุงเทพฯ  ซึ่งความหลากหลายดังกล่าวเป็นเครื่องการันตีการทำงานที่มีมาตรฐานให้ผู้สร้างและคนดู
"แรงบันดาลใจคืออยากจะบันทึกสิ่งที่สังคมเปลี่ยนแปลงไป อยากตั้งคำถาม หาคำตอบ และก็อยากเล่าให้ฟัง สมมุติมีใครบอกทำเรื่องนี้ให้หน่อย มันก็ทำไม่ได้เพราะไม่ได้เกิดจากข้างใน ผมก็บอกว่าไม่ถนัด…พอเราอยากทำมันก็เริ่มลงมือตั้งแต่ต้นเป็นแพสชันที่มีอยู่ไปตลอดเรื่อง"
“พอเราทำงานไปเรื่อย ๆ มันเกิดความมั่นใจ ทุกครั้งที่ทำ เราเต็มที่ ได้งานที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี ได้รับการพูดถึง อาจไม่ได้เงินแต่ได้กล่องได้รางวัล  ทุกครั้งที่ทำงานเราลงเงินที่งานตลอดเวลา ทุกคนจะเห็นความตั้งใจจริงจังของเรา และไม่เคยลดมาตรฐานตัวเองลงเลย” แม้จะผลิตผลงานหลากหลายแนว แต่เจตนาหลักนั้นเหมือนกัน

“แรงบันดาลใจคืออยากจะบันทึกสิ่งที่สังคมเปลี่ยนแปลงไป อยากตั้งคำถาม หาคำตอบ และก็อยากเล่าให้ฟัง  สมมุติมีใครบอกทำเรื่องนี้ให้หน่อย มันก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดจากข้างใน ผมก็บอกว่าไม่ถนัด…พอเราอยากทำมันก็เริ่มลงมือตั้งแต่ต้นเป็นแพสชันที่มีอยู่ไปตลอดเรื่อง  ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีแพสชันแบบนั้นผมก็จะทำได้ไม่ดี ไม่มีความสุขกับมัน ถ้าทำตามโจทย์ก็จะกลับไปเหมือนงานโฆษณา แต่อันนี้ไม่ใช่ มันต้องเป็นหนังเพื่อตัวเราจริง ๆ

“โลกเปลี่ยนเร็วมาก เดี๋ยวนี้คุณจะดูที่ไหนก็ได้ ทำหนังตามเทรนด์ไม่ได้เลยเพราะมันเปลี่ยนเร็วมาก สมมุติคุณจะทำเรื่องคริปโตเคอร์เรนซี ถ้า ๖ เดือนคุณยังเขียนบทไม่เสร็จคือเลิกได้เลย คนเลิกสนแล้ว  อย่างไรก็ตามถ้าเราจะพูดกับคนในวงกว้าง ผมว่าการพูดถึงความเป็นไปในสังคมไทยยังน่าสนใจ มีความรู้สึกร่วมกันอยู่”

ล่าสุดกับการผลิตภาพยนตร์สำหรับบริการสตรีมมิง Netflix
ที่เสมือนจดหมายรักต่อภาพยนตร์ไทย ชีวิตนักพากย์หนังและพระเอกตลอดกาล มิตร ชัยบัญชา ใน มนต์รักนักพากย์ (ปี ๒๕๖๖) ตัวหนังนอกจากจะนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในวงการหนังที่ผู้คนต้องปรับตัว เขายังฝากแง่คิดในสถานการณ์ปัจจุบันเอาไว้แก่คนทำงานอย่างน่าสนใจ

“สิ่งที่ผมไม่เข้าใจในสภาวะปัจจุบันของวงการภาพยนตร์ไทย ไม่ว่าจะค่ายหนัง โรงหนัง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เรารู้มาประมาณ ๕ ปีว่ายังไงมันก็จะเคลื่อนไปสู่การสตรีมมิง หนีตรงนี้ไปไม่พ้น แต่ทำไมโรงภาพยนตร์ยังแข็งขืนกติกาอะไรบางอย่างอยู่ เช่นโควตาหนังไทยที่ไม่เป็นธรรม หนังบางเรื่องไม่ให้ฉายเลย ให้โรงน้อย หรือให้เฉพาะค่าย คือมันควรจะเป็นช่วงที่เราจับมือกันแน่น ๆ ไม่ใช่หรือ ?

“เราไม่ได้แคร์สิ่งที่จะเกิดข้างหน้าจริง ๆ หรือ ? …เราจะอยู่กันแบบตัวใครตัวมันอย่างนี้จริง ๆ หรือ ?”
Image
เลือกกระจกสะท้อนชีวิต
“ผมเป็นนักเล่าหนังที่พยายามจะใช้ศิลปะทั้งเจ็ดแขนงเพื่อมาเป็นหนังเรื่องหนึ่งให้สมบูรณ์แบบที่สุด โดยไม่ได้ขับเน้นที่ไดอะล็อกหรือนักแสดงเพียงอย่างเดียว พยายามใช้ศิลปะทั้งหลาย ภาพ แสง เสียง มาช่วยเล่า  สีของเสื้อ ลายของเสื้อ แว่นสักอัน บุหรี่สักมวน อะไรสักอย่างที่อยู่ในมือ มันก็บอกอะไรบางอย่าง บอกว่าคนคนนี้เป็นแบบนี้ มันจะเล่ายุคสมัย ช่วยเล่าทั้งหมด  นางเอกหนังของผมเขาไม่สูบบุหรี่ ก็พยายามให้นักแสดงไปหัดสูบมา เพราะในยุค ๒๕๑๓-๒๕๑๕ ผู้หญิงสูบบุหรี่กัน ดาราในหนังสูบบุหรี่จนเป็นแฟชั่น

“เวลาตัดต่อจะถามตลอดว่าสิ่งนี้จำเป็นหรือเปล่า ถ้าอะไรก็ตามที่เลอะเทอะ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเลย ผมจะเอาออก ให้เหลือแค่สิ่งจำเป็นต้องมี” ดังเช่นใน จัน ดารา ที่คนอาจมองว่าเป็นหนังอีโรติกขายฉากโป๊เปลือย แต่เขายืนยันว่าหากดูจนจบเหตุการณ์ เจตนาในเรื่องคือความพยายามสะท้อนสังคมไทยในบ้านหลังหนึ่ง ที่ลดฉากไม่จำเป็นออกไปแล้ว

ทั้งนี้จากประสบการณ์การทำหนังมากกว่า ๒๕ ปี เขามีแนวคิดในการรับฟังเสียงวิจารณ์ดังกระจก ๑๐ บาน

“ในชีวิตของผมเลือกกระจกที่สะท้อนชีวิต ความคิดไว้แล้วเรียบร้อย ผมจะเชื่อกระจก ๑๐ บาน ไม่ว่าจะด่าหรือชื่นชม ผมจะเลือกฟังในสิ่งที่เขาพูด คิด  พอโตขนาดนี้ขออนุญาตเลือกที่จะดู ฟังดีกว่า ไม่งั้นจะฟุ้งซ่าน  เดี๋ยวนี้ไปไหนก็จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ สี่ห้าคน คุยเรื่องที่ชอบในสิ่งใกล้ ๆ กัน จะขัดแย้งก็เป็นการตั้งคำถามกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่ามองยังไงมากกว่าจะไปตามทุกเรื่อง ซึ่งเราตามไม่ไหว ทั้งที่ก็รู้ว่าต้องตามเทรนด์ แต่ผมรู้สึกว่าเราโตแล้ว ทำสิ่งที่อยากทำจริง ๆ ดีกว่า”

นนทรีย์ยังเชื่อว่าวงการหนังอยู่ได้และคนดูยังพร้อมไปชมที่โรงภาพยนตร์ ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลายกว่าปัจจุบัน

“ถ้าทำหนังแย่ ๆ คนก็หมดศรัทธา สิ่งเดียวที่จะทำให้อุตสาหกรรมหนังดีได้คือต้องทำหนังดีเท่านั้น ไม่ควรคิดตีหัวเข้าบ้าน พอหนัง ไทบ้านฯ มา ทุกคนก็จะแนวไทบ้าน ๆ ๆ เต็มไปหมดเลย ความหลากหลายของภาพยนตร์มันไม่เกิด เราควรมีหนังสำหรับทุกคน ทุกทาง  ควรมีหนังสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ คนอีสาน  มีหนังตลก ผี อีโรติก แอกชัน  ควรมีหนังทุกประเภทในอุตสาหกรรม ทุกคนถึงจะมีหนังดู”