Image
คน (เล่า) - เล่า (เรื่อง)
- เรื่อง (เล่า)
40 Years of Storytelling
เรื่อง : ถมทอง ทองนอก

******
อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเขียนถึง
ตัวเองไว้ว่า “I write and I ask question for a living.”
เพราะเคยทำงานสื่อมวลชนที่สัมภาษณ์คนเป็นอาชีพ
ก่อนมาชวนนักศึกษาตั้งคำถามถึงเรื่องต่าง ๆ
ในสังคม จึงเชื่อว่ามนุษย์เรียนรู้และเติบโต
ผ่านการบันทึกและการตั้งคำถาม รวมถึงเชื่ออย่างยิ่งว่า
ก่อนถาม...จงฟัง และถ้ายังไม่ได้ยิน...จงอย่าพูด
นิตยสาร สารคดี รับหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้กับคนไทยมาเป็นระยะเวลา ๔๐ ปีแล้ว ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ งานเขียน “สารคดี” เปลี่ยนแปลงไปมากมาย

คนเล่าเรื่อง…เขาเป็นอย่างไรบ้าง ยังมีใครอยากทำงานเกี่ยวกับสารคดีอยู่ไหม

กระบวนการเล่าเรื่อง…เมื่อวันก่อนโน้นกับวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เรื่องราวที่เล่า…เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ขนาดไหน ในฐานะคนรับหน้าที่เล่าเรื่องงานสารคดีให้นักศึกษาฟังอยู่เรื่อย ๆ จะขออนุญาตสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ค่ะ

ว่าด้วย “คนเล่าเรื่อง”
วันเด็กแห่งชาติในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลสำรวจโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า
จากกลุ่มตัวอย่าง ๗,๔๓๙ คน ๙.๕๗ เปอร์เซ็นต์อยากเป็นยูทูบเบอร์ นับเป็นความฝันลำดับที่ ๕ รองจากครู หมอ-พยาบาล พ่อค้า ทหาร-ตำรวจ

ในการสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเรียนต่อคณะสายวารสารศาสตร์-นิเทศศาสตร์ระดับปริญญาตรี คำตอบว่า “อยากเป็นคนทำคอนเทนต์” “อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์” หรือ “รู้จักคณะนี้เพราะพี่xxx ที่เป็นครีเอเตอร์พูดถึง” มีให้ได้ยินหนาหูขึ้นช่วง ๒-๓ ปีให้หลัง และดูเหมือนจะดังขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน้อยก็น่าจะดังกว่าคำตอบ “อยากเป็นนักข่าว” หรือ “อยากทำงานทีวี” แน่ ๆ

นี่น่าจะพอเป็นหลักฐานได้ว่า มีคนรุ่นใหม่สนใจอยากเล่าเรื่องเป็นอาชีพอยู่พอประมาณ โดยอาชีพนักเล่าเรื่องของวัยรุ่นสมัยนี้มีคำเรียกรวม ๆ ว่า content creator ซึ่งใช้สำหรับคนในวงการงานสร้างสรรค์ และเป็นที่รู้จักมาก ๆ สมัยยุคดิจิทัลนี้เอง

ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาในยุคดิจิทัลทำงานในรูปแบบหลากหลาย ทั้งวิดีโอ วาดภาพ งานเขียนขนาดยาว โพสต์สั้น ๆ ที่สร้างขึ้นเฉพาะโซเชียลมีเดีย เล่าเรื่องผ่านเสียงหรือทำพอดแคสต์ โดยเรียกตัวเองตามชื่อแพลตฟอร์มที่ทำงานว่าเป็น YouTuber หรือ TikToker ซึ่งเนื้อหามีทั้งสาระความรู้ ข้อมูลข่าวสาร จนถึงเล่าชีวิตประจำวันของตัวเองหรือทำเนื้อหาสนุก ๆ เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ชม 

รายได้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้อาชีพ content creator ต่างจากคนทำงานสื่อแบบดั้งเดิม เพราะอาจได้รับการสนับสนุนทั้งจากสปอนเซอร์ทางตรงที่เป็นแบรนด์สินค้าและผู้ติดตามที่ชอบ พร้อม “เปย์” จ่ายเงินให้เมื่อถูกใจคอนเทนต์ หรือถ้าในเนื้อหาที่นำเสนอแปะ affiliate link (ลิงก์ที่สามารถกดต่อเพื่อชมหรือซื้อสินค้าได้) ก็จะมีรายได้จากแพลตฟอร์มของลิงก์นั้น นอกจากนี้ถ้ามีสินค้าของตัวเองก็จะมีรายได้จากการขายสินค้าด้วย

ในชั้นเรียนเคยถามชาวเจเนอเรชัน Z รู้สึกอย่างไรกับคำว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพราะก็คือคนในรุ่นพวกเขาเช่นกันที่บางครั้งพูดว่า “ก็แค่ทำคอนเทนต์” สำหรับเนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพนัก หรือใช้อธิบายพฤติกรรมที่อาจดูไม่เหมาะสม หรือ “เกินไป” ที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทำเพื่อนำเสนอในพื้นที่ของตัวเอง  นักศึกษาแทบทุกคนบอกว่าสำหรับพวกเขา คอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นคำกลาง ๆ ไม่มีความรู้สึกบวกหรือลบกับอาชีพนี้ ส่วน content หมายถึง เนื้อหา จึงอาจมีทั้งที่มีคุณภาพและไม่มี ซึ่งพวกเขาก็เข้าใจว่าเพราะอะไรคนในเจเนอเรชันต่างไปจึงตั้งคำถามด้วยตัวพวกเขาเองก็ยังรู้สึกว่ามีคอนเทนต์ที่เป็น “แค่คอนเทนต์” เพื่อดึงดูดความสนใจเท่านั้นจริง ๆ

นอกจากคำว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยังมีคำว่า storyteller ซึ่งมักพูดถึงเมื่อคุยกันเรื่อง “อาชีพคนเล่าเรื่อง”

จากข้อมูลแม้ storyteller จะหมายถึงคนที่เล่าเรื่องผ่านวิธีการและสื่อหลากหลายเช่นเดียวกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ แต่สิ่งที่ต่างกันน่าจะอยู่ตรงความละเมียดและประณีตของกระบวนการสร้างเรื่องเล่าที่ storyteller จะให้ความสำคัญมากกว่า (แต่ก็ไม่อาจการันตีได้ว่าเสมอไป) เพราะตั้งใจจะให้เรื่องนั้นสร้างผลกระทบบางประการต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ชม รวมถึงให้ความสำคัญกับความหมายของเรื่องที่เล่าอย่างยิ่ง

คนทำหนัง คนเขียนนิยาย นักแสดงเดี่ยวไมโครโฟน หรือพ่อแม่ที่แต่งนิทานเล่าให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน ซึ่งใช้เวลากับกระบวนการคิดว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรจึงจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ผู้ฟังได้ และจะส่งผลกระทบกับคนนั้นตรงไหน ด้วยวิธีการใด จึงน่าจะเรียกว่าเป็น storyteller มากกว่า content creator ด้วยคำอธิบายชุดนี้ งานที่ปรากฏในนิตยสารสารคดี จึงน่าจะเอนเอียงเป็น story มากกว่า content และมนุษย์ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานกว่า ๔ ทศวรรษของนิตยสารที่ทุกคนถืออยู่ในมือตอนนี้ จึงอาจเรียกว่า storyteller หรือนักเล่าเรื่อง เพราะในฐานะคนอ่านทั้งฉบับพิมพ์และออนไลน์ มั่นใจว่ามีหลายต่อหลายครั้งเหลือเกินที่ตัวหนังสือ ภาพถ่าย กระทั่งลายเส้นของภาพประกอบทำให้ความรู้สึกที่มีต่อเรื่องบางเรื่อง ประเด็นบางประเด็นและคนบางคน เปลี่ยนไปจากเดิม หรือหากไม่เปลี่ยนทันทีขณะอ่าน ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญติดอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งในความทรงจำที่พร้อมนำมาใช้เถียงกับตัวเองเสมอ ๆ

คำอธิบายชุดเดียวกันนี้ เมื่อหันมองการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในโลก ยูทูบช่องใหม่ ๆ รายการพอดแคสต์ชื่อสนุก เพจเฟซบุ๊กใหม่ หรือแม้แต่คอมิก ที่เล่าเรื่องอวกาศ ปัญหาสุขภาพใจ บ่นเรื่องการศึกษาไร้คุณภาพ หรือวิธีออกกำลังกาย ฯลฯ โดยคนรุ่นใหม่ ก็พอเป็นสัญญาณว่าเรามี “นักอยากเล่าเรื่อง” มากมาย และตราบใดเรื่องที่พวกเขาอยากเล่าเป็นเรื่องจริงและคิดวางแผนว่าจะเล่าอย่างไร คงบอกได้ว่าบ้านเราจะยังมีคนสนใจทำสารคดีต่อไปแน่ ๆ แค่พวกเขาอาจเรียกตัวเองว่า storyteller, content creator, YouTuber, นักข่าว หรือคนทำสารคดีก็เท่านั้น
ว่าด้วยการ “เล่าเรื่อง”
เมื่อ storyteller หมายถึงคนเล่าเรื่อง storytelling จึงหมายถึงการเล่าเรื่อง

storytelling เป็นคำใหญ่ค่ะ เพราะนำไปผูกกับเรื่องอะไรก็ได้ จะสังคม ธุรกิจ จิตวิทยา ภาษาศาสตร์ หรือแม้แต่นิติศาสตร์ ก็มีมุมเชื่อมโยงกับคำนี้ทั้งสิ้น และแทบทุกมุมการเล่าเรื่องก็ดูจะมีความหมายสำคัญยิ่งใหญ่ เช่น ถ้าจับโยงกับแนวคิดทางจิตวิทยา เราจะได้เจอประโยคที่ แดน แม็กอดัมส์ (Dan McAdams) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขา Narrative psychology บอกว่า “เราทุกคนคือผู้เล่าเรื่องราว และเราคือเรื่องราวที่เราเล่า” ซึ่งแปลความแบบหยาบที่สุดได้ว่า เรื่องที่เราเล่านั้นส่งผลสัมพันธ์กับการสร้างตัวตนของเรา

แต่หากถามการเล่าเรื่องในบริบททั่วไป เมื่อพิมพ์ว่า “storytelling คืออะไร” ลงในช่องค้นหาของ search engine ชื่อดัง กว่า ๑๐ ผลการค้นหาแรกในภาษาไทยล้วนระบุคำตอบที่เชื่อมโยง storytelling เข้ากับแง่มุมทางธุรกิจ การค้า การตลาด และเมื่อค้นหาต่อก็พบว่าในเมืองไทยมีคอร์สเรียนที่สอนการเล่าเรื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจจำนวนมาก สนนราคามีตั้งแต่หลักพันยันหลักหมื่น สอนโดยคนดังทางโซเชียลมีเดีย นักธุรกิจเจ้าของกิจการ และหลักสูตรฟรีที่สนับสนุนโดยหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้แทบทั้งหมดมองการเล่าเรื่องเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าและตราสินค้า (แบรนด์) ได้เห็นความแตกต่างของแบรนด์และคู่แข่ง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นและความจงรักภักดีต่อแบรนด์ เพื่อให้ผู้ฟังตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่ผู้เล่านำเสนอ

นั่นแสดงว่าในโลกธุรกิจมีคนให้ “คุณค่า” และ “ราคา” กับการเล่าเรื่องอย่างชัดเจน

ทว่าเมื่อพูดในมุมมองของนักวารสารศาสตร์ หรือ “สื่อสารมวลชน” โดยวิชาชีพ อันได้แก่ นักข่าว คนทำนิตยสาร ฯลฯ หรือที่เรียกติดปากว่า “สื่อ” ความหมายของการเล่าเรื่องจะแตกต่างจากโลกธุรกิจ

ในโลกของสื่อ “ผู้เล่าเรื่อง” จะไม่ให้ความสำคัญกับประโยชน์อันจะเกิดแก่ผู้เล่าเท่ากับประโยชน์ของผู้ฟัง-ผู้ชม-และผู้อ่าน เพราะหลักของการเล่าเรื่องในมุมคนทำงานวารสารศาสตร์ คือการมอง storytelling เป็น “เครื่องมือ” ในการนำข้อมูลและข่าวสารที่คนเล่ามองว่าผู้ฟัง ควรรู้-ต้องรู้-อยากรู้ ส่งออกไป เพื่อให้ผู้ฟังมีข้อมูลมากพอจะนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจทุกเรื่องในชีวิต ไม่ว่าเรื่องเล็ก ๆ อย่างควรซื้อไข่ไก่แบบไหน จะให้ลูกเรียนต่อโรงเรียนอะไร จนถึงจะเลือกพรรคการเมืองเดิมไหมในการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือจะคอมเมนต์เชียร์ทีมไหนระหว่าง #ทีมป้า กับ #ทีมลุง เมื่อมีกรณีดรามาในสังคม

สื่อให้ความสำคัญกับวิธีเล่าเรื่องมานานแล้ว เพราะมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ดังนั้นสื่อจึงวางแผนว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรและคิดว่าจะเกิดผลเช่นใดเสมอ จะไม่เพียงพูดหรือเขียนไปเรื่อย ๆ นักข่าวและนักเขียนจึงต้องหาเทคนิคการเล่าเรื่องที่ดีที่สุดให้ได้

ในศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ นักข่าวอเมริกันเล่าเรื่องโดยใช้รูปแบบงานวรรณกรรมมาช่วย มีการบรรยายพรรณนาให้เห็นภาพชัดเจน แต่ศตวรรษที่ ๒๐ เมื่องานวารสารศาสตร์หันมาให้ความสำคัญกับ “ความเป็นกลาง” การเล่าเรื่องโดยใช้สไตล์งานวรรณกรรมก็ลดความนิยมลง กลายเป็นรายงานข่าวด้วยคำ ภาษา และรูปแบบที่แข็งและเป็นกลางที่สุดเท่าที่จะทำได้  แล้วช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ และ ๑๙๗๐ เริ่มที่สหรัฐอเมริกา ตามด้วยประเทศอื่น ๆ ในยุโรป นักข่าวก็นำเทคนิคการเล่าเรื่องที่ขอยืมจากงานวรรณกรรมกลับมาอีกครั้ง เช่น การเลือกจะเล่าเรื่องจากมุมมองใครในเรื่อง หรือบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฉาก ๆ ตามช่วงเวลา ซึ่งหลัก ๆ เพื่อให้คนอ่านคนดูสนใจ แน่นอนว่าเมื่อมีคนสนใจมากก็ส่งผลดีต่อสื่อในมุมของธุรกิจด้วย
เรื่องเล่าที่ดีนอกจากจะทำให้คนสนใจข้อมูลที่ควรสนใจแล้ว ถ้ามองในภาพกว้าง ยังช่วยให้เห็นภาพอดีต เข้าใจโลกปัจจุบัน จนถึงมีความหวังกับอนาคต อีกทั้งยังเข้าใจตัวเองรวมถึงสรรพสิ่งที่ไกลออกไป เพราะเมื่ออ่าน ฟัง หรือมีโอกาสได้ดูเรื่องเล่า เราจะนำตัวเราเข้าไปทำความเข้าใจ หาจุดยืนที่มีต่อเรื่องนั้น ซึ่งทำให้เราได้เห็นตัวเอง ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ สร้างตัวเองขึ้นจากเรื่องเล่าที่เราได้ยินทุกวันด้วย

ประเภทของการเล่าเรื่องที่ไม่ใช่ธุรกิจจ๋า ในทางวิชาการแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ข่าว เนื้อหาที่เน้นแสดงความคิดเห็นของผู้เขียน และสารคดี

งานข่าว คืองานที่ผู้อ่าน ผู้ชม และผู้ฟัง มีความหลากหลายในทุกมิติ ทั้งอายุ อาชีพ ความสนใจ ฯลฯ ดังนั้นข่าวจึงถูกออกแบบให้ใช้การเล่าเรื่องเรียบง่าย หลัก ๆ เพียงตอบคำถามว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และทำไม ภาษาที่ใช้ไม่ต้องหรูหรา ควรเป็นภาษาที่ชาวบ้านในจังหวัดห่างไกลหรือคนในเมืองใหญ่พร้อมจะเข้าใจได้ง่าย

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการเขียนค่อนข้างตายตัว ซึ่งคนเรียนวิชาสื่อรู้จักกันในชื่อ “พีระมิดหัวกลับ (inverted pyramid)” คือส่วนสำคัญสุดของเรื่องจะอยู่ด้านบน และส่วนที่สำคัญน้อยกว่าจะค่อย ๆ ตามลงมา ทำนองว่า ถ้ามีพื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่พอ ส่วนท้ายจะต้องตัดทิ้งได้โดยนักข่าวไม่เสียดายนัก เช่นเดียวกับเมื่อเปลี่ยนไปรายงานทางโทรทัศน์หรือเป็นคลิปออนไลน์ ก็มักกล่าวถึงเนื้อหาข่าวส่วนสำคัญที่สุดก่อนลงรายละเอียดของข่าว

งานเขียนแบบที่ ๒ ซึ่งเน้นความคิดเห็นของผู้เขียนนั้น ฝรั่งเรียกว่างาน opinion ส่วนคนไทยเรียกง่าย ๆ ว่าบทความเป็นการเขียนชิ้นงานในประเด็นที่ผู้เขียนมีความเชี่ยวชาญพิเศษ วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ที่กำลังพูดถึงกันมากในเวลานั้น หรืออาจไม่เกี่ยวข้องกับเวลาก็ได้  การเล่าเรื่องรูปแบบนี้จึงทำให้เราเห็นความคิด ตัวตน และมุมมองของผู้เขียนชัดเจน เช่น งานเขียนของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมการเมือง หรืองานวิจารณ์ภาพยนตร์โดยคุณประวิทย์ แต่งอักษร

ประเภทสุดท้ายคืองานสารคดี หรือ feature เช่นในเล่มที่ทุกคนกำลังถือในมือ ซึ่งมีนิยามที่ขยับขยายและเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลา แต่หัวใจของงานสารคดีที่ยังเหมือนเดิมคือ storytelling แบบสารคดีมีหลักอยู่ที่ความเข้มข้นของเนื้อหา ซึ่งลึกกว่า ละเอียดกว่า และรอบด้านกว่างานเขียนประเภทอื่น

นอกจากนี้ในงานสารคดีเราจะสามารถเห็นตัวตนของคนเขียนได้ เพราะเขาจะให้ความสำคัญกับการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกกับเรา เขามองเห็นสิ่งใด ได้ยินอะไร คุยกับใคร ได้กลิ่นแบบไหน รู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่ลิ้นหรือร่างกายสัมผัส เราจะรับรู้สิ่งนั้นผ่านงานสารคดีได้

สุดท้ายงานสารคดีต่างจากงานข่าวตรงที่ แม้จะเล่าเรื่องจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์เหมือนกัน แต่วิธีเล่าแบบคนทำสารคดีจะมีชั้นเชิงต่างไป คนเขียนงานสารคดี หรือ feature จะใช้ลีลา สำนวน การบรรยาย และการพรรณนาได้ คือ เปิดโอกาสให้โชว์สไตล์การเขียน ไม่ต้องเล่าแบบพีระมิดหัวกลับเท่านั้น ซึ่ง “วรรณศิลป์” นี่เองที่ทำให้งานสารคดีน่าสนใจและเข้าใกล้ใจของผู้คนมากกว่า กระทั่ง “รู้สึก” กับเรื่องที่อ่านหรือเห็นได้มากกว่า
ว่าด้วยเรื่องของ “เรื่องเล่า”
เพราะมีฟังก์ชันแตกต่างและสำคัญ งานสารคดีจึงยังมีพื้นที่ในสังคมไทย แม้เราจะอยู่ในยุคสมัยที่เชื่อว่ามีคนชอบอ่านเรื่องยาวและมีสาระน้อยลงทุกที (การเติบโตของแอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งเล่าเรื่องผ่านคลิปวิดีโอสั้น ๆ น่าจะเป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัดประการหนึ่ง)

ถ้าไม่นับหนังสือเล่มหรือนิตยสาร สารคดี ซึ่งเป็นหนึ่งในนิตยสารโดยคนไทยจำนวนไม่กี่เล่มที่หลงเหลืออยู่จนทุกวันนี้ เราก็ยังเห็นพื้นที่สื่อซึ่งนำเสนองานสารคดีอยู่บ้าง ที่นึกออกง่ายสุดน่าจะเป็นสารคดีในรายการข่าวทางโทรทัศน์ที่ดึงส่วนประกอบต่าง ๆ ของข่าวมาขยายความให้เข้าใจข่าวนั้นลึกขึ้น เช่น นำเสนอปูมหลังของคนในข่าวบริบทที่เกี่ยวข้อง หรือเปรียบเทียบกับกรณีอื่น ๆ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องที่แม้จะไม่เป็นข่าวดัง แต่มีคุณค่าเหมาะจะเป็นสารคดีเชิงข่าว เช่นรายการ “เล่าเรื่องรอบโลก” โดยคุณกรุณา บัวคำศรี ซึ่งมีแฟน ๆ ติดตามจำนวนมาก

สารคดียังปรากฏตัวในสื่อที่มีทีมงานหลักเป็นคนรุ่นใหม่ อย่าง The Matter, The Momentum, The Cloud, Capital, The101.world หรือ Thairath Plus ซึ่งนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และบันเทิงในเชิงลึก โดยให้ความสำคัญกับการใช้ศิลปะการเล่าเรื่องอย่างมาก ภาษาที่ขี้เล่น ท่าทีหยิกแกมหยอก ภาพประกอบสวยงาม ข้อมูลแวดล้อมที่มาจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ทำให้ประเด็นต่าง ๆ น่าสนใจขึ้น เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นตอนปลายและคนทำงาน

ที่ลืมไม่ได้คงเป็นงานสารคดีในรูปวิดีโอซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ใน streaming platform อย่าง Netflix,
Disney Plus หรือ Amazon Prime ฯลฯ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวหลากหลาย ทั้งแบบที่เราคุ้น เช่นมีคนดังเป็นเนื้อหาหลัก อย่าง Beckham (เดวิด เบ็กแฮม), Inside Bill’s Brain : Decoding Bill Gates (บิลล์ เกตส์), Becoming (มิเชลล์ โอบามา) หรือสารคดีธรรมชาติอย่าง Fantastic Fungi, My Octopus Teacher หรือ Our Planet ที่ได้คุณปู่เดวิด แอตเทนโบโรห์ เป็นพิธีกรและผู้บรรยาย
ช่วงปีที่ผ่านมา สารคดีในตระกูล true crime ที่เล่าถึงคดีอาชญากรรมซึ่งเกิดขึ้นจริง ก็เป็นอีกประเภทที่ได้รับความนิยมสูงมากทั้งใน streaming platform และ podcast แต่ขณะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะควรและเส้นจริยธรรม เนื่องจากประเด็นอาชญากรรมเป็นประเด็นละเอียดอ่อนและมีผู้เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบจำนวนมาก มีทั้งโดนตัดสิน ดูหมิ่น เหยียดหยาม ไม่เข้าใจ หรือผู้ที่อาจสะเทือนใจกับความรุนแรงที่ปรากฏ ยังไม่รวมถึงมีผู้ออกมาตั้งคำถามกับการทำให้เรื่องราวความรุนแรงดูน่าติดตาม มีเงื่อนปม ดรามา ราวบทภาพยนตร์ที่แต่งขึ้น ทั้งที่คือเรื่องจริงและมีผู้ได้รับความเสียหายหรือโดนกระทำความรุนแรงจริง

สุดท้ายที่คิดว่าไม่น่าเรียกสารคดีได้เต็มปากเต็มคำ แต่ครึ่งคำยังเป็นสารคดีอยู่ คงเป็นงานในกลุ่มที่เรียกว่า mockumentary ซึ่งมาจากคำว่า mock-ยั่วล้อ และ documentary-สารคดี มารวมกัน โดยพจนานุกรมออนไลน์ของ Oxford ให้ความหมายว่า ภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ที่นำรูปแบบงานสารคดีที่จริงจังมาใช้ล้อเลียนหรือเสียดสีประเด็นที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งสารคดีล้อเลียนที่พูดถึงมากสุดปีที่แล้วคือ Cunk on Earth อีกตอนของ mockumentary ในตระกูล Cunk ที่มีทั้ง Cunk on Shakespeare, Cunk on Christmas และ Cunk on Britain ซึ่งเคยนำเสนอกับ BBC ที่อังกฤษ ก่อนจะพูดถึงกันมากขึ้นเมื่อ Cunk on Earth สตรีมใน Netflix

Cunk on Earth ดำเนินเรื่องโดยให้นักแสดงตลก Diane Morgan แสดงเป็น Philomena Cunk นักข่าวหน้ามึน ผู้ไม่ค่อยทำการบ้าน แต่ต้องเดินทางทั่วโลกเพื่อสัมภาษณ์นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่มีตัวตนอยู่จริง ในประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลก คำถามประหลาด ๆ ของ Cunk เช่น “มองในมุมวัฒนธรรม อะไรคือสิ่งสำคัญกว่า ระหว่างยุคเรอเนซองซ์หรือเพลง ‘Single Ladies’ ของบียอนเซ” และคำตอบอันเป็นข้อมูลจริงจังจากผู้เชี่ยวชาญเป็นเสน่ห์ที่ทำให้รายการนี้ได้รับความนิยมมาก

อารมณ์ขัน ท่าทีขี้เล่น และความพยายามเล่าเรื่องจริงด้วยมุมมองใหม่ ๆ ยังใช้ในงานสารคดีอีกหลายเรื่อง เช่น How to Become a Tyrant หรือ How to Become a Mob Boss ซึ่งแทนที่จะเล่าเรื่องราวของเหล่าทรราชและเจ้าพ่อเบอร์ต้นของโลกตรง ๆ ทื่อ ๆ กลับนำเสนอแบบฮาวทูคู่มือสอนการเป็นทรราชและเจ้าพ่อแทน

เมื่อทดลองถาม ChatGPT 3.5 และ Bard ระบบ AI ที่ทำงานโดยใช้ภาษาและคลังข้อมูลขนาดใหญ่ ให้ช่วยเช็กว่าช่วงปีที่ผ่านมา เทรนด์น่าสนใจของ storytelling ในโลกสารคดีเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้คล้ายคลึงกันอย่างมีนัยสำคัญ คือเทรนด์ของการเล่าเรื่องในโลกสมัยใหม่นั้นเปลี่ยนไปเพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งตรงกับสิ่งที่คนในวงวิชาชีพสื่อสังเกตเห็นและเป็นประเด็นในวงเสวนาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น

ข้อแรก เรื่องเล่าในโลกสมัยใหม่ออกแบบให้เหมาะกับสื่อดิจิทัลซึ่งมีผู้ใช้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อการอ่านคือ “การไถ” ซึ่งหมายถึงใช้นิ้วปัดขึ้นลงเพื่อไล่ดูเนื้อหา เรื่องเล่าหรืออย่างน้อยชื่อและพาดหัวของเรื่องจึงต้อง ทั้งตะโกนเรียก สวยเตะตา และน่าสนใจพอให้คนอ่านหยุดไถ นั่นเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่เราได้เห็นสิ่งที่เรียก clickbait มากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

clickbait อาจแปลตรงตัวว่าเหยื่อล่อทำให้กดคลิก หมายถึงถ้อยคำหรือข้อความที่มีเนื้อหาน่าสนใจเกินจริง ซึ่งผู้ผลิตตั้งใจใช้ “ตก” ให้คนที่หลงกินเหยื่อล่อคลิกเข้าไปอ่านเพื่อประโยชน์ของผู้เขียน โดยเนื้อหาฉบับเต็มนั้นอาจไม่มีอะไร ไม่เกี่ยวข้องกับพาดหัว หรือไม่น่าสนใจเลย

นอกจากนี้เพราะมีการศึกษาและความเชื่อว่ามนุษย์ที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตอย่างคุ้นชิน มักมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำไม่นาน เนื้อหาหรือเรื่องเล่าที่ให้อ่านผ่านหน้าจอจึงมักออกแบบให้สอดรับกับพฤติกรรมการอ่านอะไรสั้น ๆ ไปด้วย โดย short-form content หรืองานเขียนขนาดสั้นถูกกำหนดให้มีความยาวไม่เกิน ๑,๐๐๐ คำ  อีกข้อพิสูจน์ที่น่าสนใจ (แม้ไม่เกี่ยวกับงานสารคดี) น่าจะเป็นปรากฏการณ์ “นิยายแชต” ซึ่งคือนวนิยายที่ตัดหรือลดเนื้อหาส่วนที่เป็นการบรรยายพรรณนา อันเป็นจุดเด่นของนวนิยายในรูปแบบเดิมลง แต่ดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาซึ่งพิมพ์ข้อความแชตคุยกันของตัวละครในเรื่องแทน

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีสื่อที่ผลิตเนื้อหาแบบ long-form content หรือเนื้อหาขนาดยาวซึ่งได้รับความนิยมอยู่เหมือนกัน เพียงเงื่อนไขคือเนื้อหาต้องมีคุณภาพดี มีความลึก ความละเอียดถูกต้อง และความน่าเชื่อถือ แตกต่างจากเนื้อหาขนาดสั้นที่หาได้จากโซเชียลมีเดียทั่วไป หรือต้องมีคุณค่ามากพอจะทำให้แย่งเวลาจากการไถหาเรื่องอ่านได้

ข้อ ๒ คือการนำคุณสมบัติพิเศษของเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องเล่ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น data อันได้แก่ตัวเลขฐานข้อมูลขนาดใหญ่  multimedia การใช้สื่อหลายประเภท  หรือเทคโนโลยี interactive ที่พยายามดึงผู้อ่านมามีส่วน

ร่วมกับเรื่องเล่า เพราะคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้เองจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอชัดเจนขึ้น
ในฐานะผู้อ่านงานสารคดีผ่านหน้าจอในช่วงนี้ นอกจากตัวหนังสือของคนเขียนแล้ว ด้วยเทคโนโลยีเราอาจเห็นคลิปวิดีโอฉายหน้าตาของภูเขาไฟโหดร้ายที่กลืนกินชีวิตผู้คนได้ยินเสียงสัมภาษณ์ของผู้คนที่ยังมองเห็นความงามแม้อยู่ท่ามกลางห่ากระสุนผ่านไฟล์เสียง ได้เห็นภาพตัดเชิงขวางของตึกสูงที่พังทลาย ได้เห็นข้อมูลตัวเลขที่ทำให้เข้าใจว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นใหญ่โตแค่ไหนเมื่อเทียบกับระดับโลก หรือเลือกได้ว่าอยากอ่านอะไรก่อน ระหว่างข่าวดีหรือข่าวร้ายในเรื่อง เพียงแค่เรากดปุ่ม ซึ่งแน่นอนว่าบรรยากาศในการดื่มด่ำกับตัวหนังสือและจินตนาการไม่น่าตื่นเต้นเท่าเก่า แต่ถ้าเรายึดว่าสารคดีคือเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องจริง เหล่านี้ก็ช่วยให้เราเห็นความจริงชัดเจนขึ้น และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องเล่านั้นมากขึ้น

ตัวอย่างของสื่อที่มีผลงานซึ่งใช้คุณสมบัตินี้เข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจมีหลายสำนัก แต่ถ้าให้คิดไว ๆ ก็สามารถเปิดเข้าไปดูในหมวด graphics ของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The New York Times หรือหมวด infographics ของเว็บไซต์สำนักข่าว Al Jazeera ก่อนได้ เพราะสองเจ้านี้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในงานอย่างสม่ำเสมอ

ข้อ ๓ อาจไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรง แต่เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้การขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ในสังคมเติบโตอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และเป็นสากล  ประเด็นที่เริ่มต้นเคลื่อนไหวในโลกตะวันตก ใช้เวลาไม่นานก็ได้รับความสนใจในโลกตะวันออก เพราะประชาชนชาวโลกต่างใช้โซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์สื่อสารกัน นั่นทำให้ประเด็นเชิงสังคมที่สอดรับกับการเคลื่อนไหวต่าง ๆ นี้กลายเป็นเรื่องเล่าที่ได้รับความนิยมมาก

ช่วงที่ผ่านมาเราจึงเห็นสารคดีที่ว่าด้วยบทบาทของผู้หญิงในมุมมองใหม่ ๆ ผ่านการตั้งคำถามกับระบบสังคมและความเชื่อแบบเดิม ได้อ่านประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการรักษาและดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ซึ่งนักอนุรักษ์ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนมากกว่าเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าเช่นสมัยก่อน

นอกจากนี้ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มี เราจึงได้ยินเรื่องเล่าอันรุ่มรวยเสียงสะท้อนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ทั้งในมุมชาติพันธุ์ ศาสนา สถานะ ความเชื่อ ฯลฯ จากตัวเจ้าของเรื่องเล่านั้นเองมากขึ้นทุกที ซึ่งเรื่องเล่าอันเปี่ยมพลังและอารมณ์ความรู้สึกนี้ก็พร้อมจะเปลี่ยนความคิดและความเข้าใจของผู้คนในโลกได้
ว่าด้วย...เรื่องเล่าโดยนิตยสาร สารคดี
สี่สิบปีที่นิตยสาร สารคดี อยู่คู่เมืองไทยมา ถือเป็นตัวแทนของงานเขียนเชิงวารสารศาสตร์ขนาดยาวและเป็นตัวอย่างงานสารคดีที่ตรงตามตำรา ซึ่งถ้าจะยกตัวอย่างว่างานสารคดีหน้าตาแบบไหน ก็หยิบเล่มนี้ไปดูได้เสมอ นิตยสาร สารคดี เป็นที่ที่หลายคน go to เมื่ออยากรู้เรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองไทยที่บันทึกผ่านมุมมองของนักเขียนไทย ทำให้อุ่นใจว่า...ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรื่องราวในประเทศไทยก็ได้รับการบันทึกแล้ว และจะมีผู้คนรับรู้เรื่องเล่านั้น ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน

ในฐานะคนที่ยังซื้อนิตยสาร สารคดี เป็นเล่ม ๆ มาเก็บไว้ อ่านบ้าง ไม่อ่านบ้าง อ่านทั้งเล่มบ้าง อ่านเฉพาะเรื่องจากปกบ้าง  สารคดี ในสายตาคือสาวใหญ่-หนุ่มใหญ่ที่ใจถึงและพึ่งพิงได้ เนื้อหาที่เฉียบเล่าถึง “ความเป็นไทย” ซึ่งต้องอาศัยคนขยันทำข้อมูล แล้วช่วง ๒-๓ ปีหลังก็พบว่า “คุณพี่” พยายามปรับตัวให้ไม่แก่ ด้วยการแต่งตัว มีสีสันมากขึ้น ปก “ป็อป” ขึ้น และลงมาเล่นโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นคนเล่นโซเชียลฯ ที่ไม่คล่องกับวิถีสื่อสารแบบชาวเน็ตสักเท่าไร ทุกโพสต์ค่อนข้างสุภาพ เป็นทางการ สะกดถูกทุกตัวอักษร และไม่ค่อยงับเรื่องที่เป็นกระแสหรือดรามามาเล่าบนพื้นที่ตัวเองนัก ซึ่งอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมยังมีเพื่อนใหม่ชาวเน็ตไม่เยอะเท่าที่ควร

แต่อย่างหนึ่งที่เชื่อโดยสนิทใจคือ โลกยังต้องการคนรุ่น “คุณพี่” ที่หันไปหาแล้วมั่นใจว่าจะให้ข้อมูลถูกต้อง เพราะถ้ามองกันยาว ๆ โลกคงจะหมุนไปกับเพียงข้อมูลขนาดสั้นที่เปลี่ยนแปลงทุกนาทีและกระแสอย่างเดียวไม่ไหว การเล่าเรื่องในรูปแบบของสารคดีและนิตยสาร สารคดี จึงยังมีที่ทางและเส้นทางให้ดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเล่าเรื่องในรูปแบบเดิม ผ่านคนเล่าเรื่องกลุ่มเดิมที่สะสมความเชี่ยวชาญขึ้นทุกวันหรือเล่าเรื่องในรูปแบบใหม่โดยคนเล่าเรื่องหน้าใหม่ ด้วยเครื่องมือใหม่
เพราะเมื่อเรื่องเล่าเป็นทั้งจุดเริ่มต้น จุดจบ และการดำเนินไป...เรื่องเล่าก็จะดำรงอยู่ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  
Image