Image
เปิดโลกศิลปะ
เบื้องหลัง... คอลัมน์ประจํา
40 Years of Storytelling
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : จาก สารคดี ฉบับที่ ๑๗๑ 
พฤษภาคม ๒๕๔๒ หน้า ๑๔๑-๑๔๔
Image
ครั้งหนึ่งเมื่อ สารคดี ประกาศเปิดรับสมัครกองบรรณาธิการ น่าจะปี ๒๕๓๒ ผมเป็นคนหนึ่งที่ส่งใบสมัครเข้ามา จำได้ว่าคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหาร สัมภาษณ์ด้วยตัวเอง คุยกันเสร็จ ท่าน บก. ก็บอกว่าไว้จะติดต่อกลับ
แต่เอาเข้าจริง อีกปีหนึ่งให้หลัง คนที่ติดต่อผมกลับกลายเป็นคุณเอนก นาวิกมูล ซึ่งรู้จักกันมาระยะหนึ่งจากที่ผมเคยช่วยงานสโมสรนักสะสม จัดงานนิทรรศการที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า 

ตอนนั้นคุณเอนกมีคอลัมน์ประจำใน สารคดี คือ “มุมสะสม” ว่าด้วยของสะสมต่าง ๆ  คุณเอนกบอกผมว่าต้องส่งต้นฉบับทุกเดือน เขียนไม่ค่อยทัน อยากให้ช่วยเขียนสลับกันคนละเดือน และย้ำว่าทางกองบรรณาธิการของ สารคดี ไม่ขัดข้อง

เมื่อมานึกดูตอนหลัง ระดับ “เอนก นาวิกมูล” งานเขียนที่เพิ่มขึ้นแค่เดือนละชิ้น ไม่น่าเป็นภาระหนักหนา เลยเดาว่าคุณเอนกคงอยากให้โอกาส หรืออยาก “เชียร์” คนรุ่นใหม่ ๆ มากกว่า จึงต้องถือว่าคุณเอนกมีบุญคุณอย่างยิ่งที่มีส่วนส่งเสริมให้ผมทำงานหนังสือมาจนทุกวันนี้

ที่จริงแล้วคอลัมน์แบบ “มุมสะสม” น่าจะเหมาะแก่ผู้เขียนซึ่งมีแวดวงหลากหลาย รู้จักคนมาก และซอกแซก ช่างพูดช่างเจรจา จนได้เบาะแสว่ามีใครที่ไหนเก็บสะสมข้าวของทรงคุณค่า น่าสนใจ และมีความหมาย พอจะหยิบยกมานำเสนอในหน้านิตยสาร ซึ่งผมไม่ได้มีคุณสมบัติใด ๆ ดังกล่าวเลยทั้งสิ้น  ไป ๆ มา ๆ จึงตกที่นั่งเดียวกับคุณเอนก คือพอถึงกำหนดต้องส่งต้นฉบับก็เริ่ม “ร้อนอาสน์” เหมือนมีไฟลนก้น เที่ยวหาว่าจะเขียนเรื่องของใครดี  สุดท้าย “นักสะสม” ส่วนใหญ่ที่ต้องไปเรียนรบกวนให้มาปรากฏตัวในคอลัมน์ จึงมีตั้งแต่เพื่อนฝูง ญาติผู้ใหญ่ มิตรสหายของญาติผู้ใหญ่ จนถึงครูบาอาจารย์สมัยมัธยมศึกษา

ผมเขียนคอลัมน์ “มุมสะสม” อยู่ถึงปี ๒๕๓๔ ก่อนจะยุติเมื่อมีการปรับเปลี่ยนคอลัมน์ตามวงรอบปรกติของนิตยสาร อีกหลายปีให้หลังจึงได้รับโอกาสอีกครั้ง (จากบรรณาธิการคนเดิม) ให้เขียนเรื่องลงในคอลัมน์ “โลกศิลปะ” ของ สารคดี เป็นระยะ ๆ ระหว่างปี ๒๕๔๒-๒๕๔๕ โดยมีคุณธนิศา บุญถนอม ประสานงานและดูแลต้นฉบับ

งานชิ้นแรกสุดที่เขียนลงในคอลัมน์ “โลกศิลปะ” ก็มีต้นทางมาจากคุณธนิศาเช่นกัน

วันหนึ่งปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๑ เธอบอกผมว่ามีพี่ที่นับถือแจ้งว่า บังเอิญได้รู้จักบุตรชายของศิลปินญี่ปุ่นคนหนึ่ง ซึ่งมีผลงานภาพวาดงดงามจำนวนมาก น่าจะนำมาเผยแพร่ เธอถามว่าผมสนใจเขียนเรื่องนี้ลงใน สารคดี หรือไม่ แน่นอนผมตกลงรับปากทันที

ก่อนหน้านั้นหลายปี ผมเคยติดใจภาพเขียนสีน้ำขนาดใหญ่ในภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเก่าแก่ย่านถนนสี่พระยาภาพหนึ่ง ใส่กรอบกระจกแขวนไว้ที่ผนังทางเดินชั้นบนของร้าน

เป็นรูปตลาดน้ำ เขียนด้วยลายเส้นสีดำ แล้วใช้สีน้ำบาง ๆ ลูบทับ แม้กระดาษวาดเขียนจะเสื่อมสภาพกลายเป็นสีเหลืองแก่ แต่เมื่อเพ่งดูรายละเอียด เห็นได้ว่าจิตรกรรู้แน่ชัดถึงสิ่งที่ตนเองกำลังเขียน เช่น เข้าใจว่าแม่ค้านุ่งผ้านุ่งโจงกระเบนอย่างไร เรือแพในคลอง ตลอดจนช่อฟ้าหางหงส์บนหลังคาศาลาท่าน้ำ มีรูปร่างหน้าตาเช่นใด ฯลฯ

เมื่อมองดูมุมภาพ เห็นลายเซ็นของศิลปินและปีที่เขียนก็ต้องแปลกใจ เพราะเป็นภาพวาดฝีมือจิตรกรญี่ปุ่นและเขียนขึ้นกว่า ๓๐ ปีมาแล้วต้องสารภาพว่าถึงแม้จะติดใจ แต่ผมกลับจำชื่อศิลปินไม่ได้นึกออกแต่ชื่อเป็นญี่ปุ่น จนมีโอกาสเขียนเรื่องนี้จึงหวนระลึกขึ้นมา และแน่ใจว่าตรงมุมภาพย่อมเป็นลายเซ็นของ นิโร โยโกตา (Niro Yokota)

ทว่าพอลงมือค้นคว้าก็ต้องประหลาดใจอีก ว่าหนังสือศิลปะภาษาไทยไม่ค่อยมีประวัติชีวิตของเขามากนัก หรือถ้ากล่าวถึงบ้างก็ระบุเพียงเป็นชาวญี่ปุ่น เคยเป็นครูโรงเรียนเพาะช่าง

ในเมื่ออยากรู้เรื่องราวให้มากกว่าที่มีอยู่จึงไม่มีทางอื่นนอกจากต้องลงมือหาเอง
Image
Image
Image
เรื่องของโยโกตาในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นปี ๒๔๘๒ เมื่อทางกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ของไทย ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้สถานทูตไทย ณ กรุงโตกิโอ (โตเกียว) ช่วยจัดหาครูชาวญี่ปุ่นเข้ามาสอนวิชาช่างไม้ไผ่ในโรงเรียนอาชีวศึกษา  ทางกระทรวงธรรมการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นชายชาวญี่ปุ่น มีวุฒิเรียนสำเร็จสาขาวิชาช่างไม้ไผ่ สอนการประดิษฐ์ไม้ไผ่เป็นเครื่องใช้เครื่องประดับ และของเล่นได้ มีอายุระหว่าง ๓๐-๔๐ ปี และถ้ารู้ภาษาอังกฤษบ้างก็จะดี

ปรากฏว่าได้นายนิโร โยโกตา อายุ ๔๔ ปี มีคุณวุฒิตามต้องการ ทางสถานทูตให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าแม้นายโยโกตาจะมีอายุเกินกว่ากำหนด แต่ถ้าทางราชการจ้างไว้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย จึงนำไปสู่การตกลงเซ็นสัญญาที่สถานทูตไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๓

นิโร โยโกตา เกิดวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๓๘ ที่จังหวัดโทจิงิ (Tochigi Prefecture) ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเดินทางมาเมืองไทยคือครูสอนวิชาหัตถกรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยเคโอ (Keio-  Gijuku) ถึงจะเป็นเพียงครูวิชาช่าง แต่นับว่าโยโกตาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงพอตัว เขามีโอกาสฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของศิลปินใหญ่หลายท่าน ผลงานภาพจิตรกรรมเคยได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในงานแสดงศิลปะแห่งชาติ (Imperial Art Exhibition) และเคยเปิดนิทรรศการแสดงเดี่ยว รวมทั้งเคยไปประชุมและดูงานด้านศิลปะในยุโรปเป็นแรมปี

โยโกตาเดินทางมากรุงเทพฯ ช่วงกลางปี ๒๔๘๓ เข้ารับราชการเป็นครูโรงเรียนเพาะช่าง สอนวิชาช่างไม้ไผ่ตามที่ทำสัญญามา แต่แล้วอีกเพียงปีเดียว สงครามมหาเอเชียบูรพาก็ลุกลามถึงเมืองไทย

มีตำนานเล่าในหมู่ครูโรงเรียนเพาะช่างว่าวัน “ญี่ปุ่นขึ้น” ต้นเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ พร้อมกับที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ โยโกตามาที่โรงเรียนเพาะช่างในเครื่องแบบทหารญี่ปุ่น ติดยศนายพันโท แต่ครูบางท่านยืนยันจากสิ่งที่เห็นว่าคนแต่งชุดทหารเดินลากกระบี่นั้นเป็นครูญี่ปุ่นอีกคน ไม่ใช่โยโกตา

หลังสงครามสงบในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ รัฐบาลไทยกลายเป็นฝ่ายชนะร่วมกับสัมพันธมิตร ขณะญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้  บรรดาคนญี่ปุ่นในเมืองไทยรวมถึงโยโกตาถูกจับกุมในฐานะ “ชนศัตรู”  คุณยาซูโกะ ภรรยาของเขาที่ติดตามมาอยู่เมืองไทยด้วยกัน ถึงแก่กรรมระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายกักกันชาวญี่ปุ่นที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี ๒๔๘๙  หลังจากได้รับการปล่อยตัว โยโกตาคงกลับมาสอนในโรงเรียนเพาะช่างต่อไป

ผมสงสัยว่าโยโกตาคงวาดภาพเมืองไทยตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่เข้ามา เพราะสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ แสงสี ผู้คน บรรยากาศแปลกหูแปลกตา น่าจะเป็นวัตถุดิบอย่างดีสำหรับศิลปิน แต่อาจด้วยภัยสงครามและการถูกยึดทรัพย์จับกุม งานจึงกระจัดกระจายสูญหาย เพิ่งในทศวรรษ ๒๔๙๐ นี่เองที่เริ่มมีหลักฐานภาพวาดของเขามากมาย บันทึกสภาพชีวิตริมแม่น้ำลำคลอง ต้นหมากรากไม้ร่มรื่นเขียวชอุ่ม และสถาปัตยกรรมไทย ทั้งวัดวาอาราม เรือนไทย เรือนแพ กระต๊อบ และพะเพิงหลังคาจาก หลังคาสังกะสี

เทคนิคยอดนิยมที่โยโกตาใช้บันทึกภาพความประทับใจในเมืองไทย คือเขียนลายเส้นตวัดเร็ว ๆ เหมือนภาพสเกตช์ด้วยดินสอหรือปากกา แล้วลงสีน้ำบาง ๆ ทับ แต่ก็มีผลงานภาพสีน้ำมันไม่น้อยเช่นกัน

หลังเกษียณจากการสอนที่โรงเรียนเพาะช่างตอนต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ ยิ่งเป็นโอกาสในการเขียนภาพอย่างจริงจังของศิลปิน  ภาพตลาดน้ำวัดไทร มหานาค บางแค เมืองนนท์ ดำเนินสะดวก อยุธยา และที่อื่น ๆ นับร้อยนับพันภาพ หลั่งไหลผ่านฝีมือและฝีแปรงของเขา

ช่วงที่เขาทุ่มเทเขียนภาพตลาดน้ำ คือระยะเวลาเดียวกับที่การท่องเที่ยวของไทยเฟื่องฟูขึ้น งานศิลปะของโยโกตาจึงกลายเป็นอาชีพที่ดีสำหรับศิลปิน เพราะมีตลาดใหญ่คือลูกค้าต่างชาติรองรับ หลายคนจึงเชื่อว่ามีงานดี ๆ ของเขาที่เก็บรักษาอยู่กับนักสะสมทั่วโลกอีกมาก

นอกจากในประเทศไทยแล้ว โยโกตายังเดินทางไปเขียนภาพในที่อื่น ๆ ไม่ว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า หรือไกลออกไปถึงอินเดีย เกาหลี และสหรัฐอเมริกา

โยโกตาทำงานศิลปะที่เขารักต่อมายาวนาน  นิทรรศการใหญ่ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระที่จิตรกรมีอายุครบ ๘๘ ปี เมื่อปี ๒๕๒๖ นับเป็นนิทรรศการครั้งที่ ๑๔ ของเขา

นิโร โยโกตา ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๘ รวมอายุขัยได้ ๘๙ ปี มีพิธีฌาปนกิจตามประเพณีไทย ณ วัดมกุฏกษัตริยารามในเดือนเดียวกัน
Image
ข้อมูลที่สรุปย่อมาเล่าซ้ำอีกครั้งทั้งหมด คือสิ่งที่ผมได้จากการใช้เวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๑ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ค้นคว้าเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และตระเวนสัมภาษณ์ใครต่อใครหลายคนที่ทันพบเจอเขา ผมค่อย ๆ ทำความรู้จักกับ นิโร โยโกตา ผ่านความทรงจำและคำบอกเล่ามากมายของเพื่อนครูและศิษย์เก่าโรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่ศาสตราจารย์ประกิต (จิตร) บัวบุศย์, “น. ณ ปากน้ำ” (อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ), อาจารย์สุวัฒน์ เกสรกุล, อาจารย์สมคิด สุภาพ, อาจารย์อภัย นาคคง จนถึงอาจารย์สวัสดิ์ ภู่วนิชลาวัลย์ ครูศิลปะประจำโรงเรียนพลับพลาศิริ ลูกศิษย์ก้นกุฏิ ผู้เป็นเหมือนลูกเลี้ยงของโยโกตา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร. ศิริชัย โยโกตา บุตรชายของศิลปิน ผู้อำนวยการโรงเรียนพลับพลาศิริ โรงเรียนเอกชนเล็ก ๆ ในซอยข้างโรงเรียนสตรีนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี อันถือเป็นมรดกอีกชิ้นของ นิโร โยโกตา ซึ่งเขาและภรรยาชาวไทย คืออาจารย์สุนิตย์ โรจนรัต ก่อตั้งขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงจากการเขียนภาพ

อาจารย์ศิริชัยเป็นสถาปนิกนักการศึกษาร่างใหญ่ หน้าตาคมเข้มด้วยหนวดเคราและแว่นตากรอบหนา แต่พูดจาเสียงทุ้มนุ่มนวล  สิ่งหนึ่งที่เป็นประจักษ์พยานความอ่อนโยนของอาจารย์และความอบอุ่นของโรงเรียนแห่งนี้ คือกลุ่มเด็กนักเรียนตัวเล็ก ๆ เดินล้อมหน้าล้อมหลังผู้อำนวยการ พลางพูดคุยอย่างใกล้ชิด

อาจารย์ศิริชัยกรุณาอนุเคราะห์ให้ทาง สารคดี บันทึกภาพผลงานสีน้ำของคุณพ่อที่เก็บรักษาไว้ที่โรงเรียน ซึ่งภาพที่ตีพิมพ์ประกอบบทความ “นิโร โยโกตา ตลาดน้ำในเงาสีน้ำ” ในสารคดี ฉบับที่ ๑๗๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ถือเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของกรุภาพที่จัดใส่แฟ้มวางเรียงซ้อนกันเต็มตู้หลายใบในห้องชั้น ๓ ของโรงเรียน กะด้วยสายตาน่าจะมีจำนวนหลายร้อยภาพ

ส่วนตัวผมเอง ด้วยความประทับใจกับภาพเขียนฝีมือของโยโกตา และรู้สึกว่าคนรุ่นปัจจุบันน่าจะได้รู้จัก ได้เห็นฝีไม้ลายมือของเขาให้มากยิ่งขึ้น ปีต่อมาคือ ๒๕๔๓ ผมซึ่งยังทำงานเป็นกองบรรณาธิการของวารสาร เมืองโบราณ จึงเรียนขออนุญาตอาจารย์ศิริชัย นำสไลด์ภาพวาดฝีมือคุณพ่อที่ช่างภาพของ สารคดี ก๊อบปี้จากโรงเรียนพลับพลาศิริ มาเป็นปกวารสาร เมืองโบราณ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๔๓) อีกครั้ง

น่าแปลกว่าหากเราเคยรับรู้บางเรื่องแล้ว ในเวลาต่อมาก็มักพบชิ้นส่วนต่อขยายของเรื่องราวมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เขาว่ากันว่า “เมื่อเห็นเข้าครั้งหนึ่งแล้ว ไปไหนก็จะได้เห็นอีก” เรื่องของโยโกตาก็เช่นเดียวกัน

ตลอด ๒ ทศวรรษให้หลังจากที่เขียนบทความเรื่องโยโกตาลงใน สารคดี ผมยังบังเอิญพบข้อมูลหรือเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับเขาเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว เช่นในหนังสืออัตชีวประวัติชุดชีวิตของ มาซาโอะ เซโตะ ผู้ถูกพ่อและญี่ปุ่นทอดทิ้ง (ปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙) ก็มีเรื่องเล่าของผู้เขียนเมื่อครั้งพบโยโกตาในค่ายกักกันบางบัวทอง ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

ส่วนในหนังสือชุด ข้างครัว ของคุณพิชัย วาศนาส่ง ก็มีตอนหนึ่งเล่าเรื่องช่วงหลังสงครามโลก เมื่อโยโกตาเดินทางกลับญี่ปุ่นและลงเรือโดยสารเที่ยวเดียวกับคุณพิชัยที่ไปเรียนต่อ ขณะเรือโดนพายุหนัก โยโกตาในวัย ๕๐ ปลายจึงเอ่ยชวนคุณพิชัยซึ่งเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่น ให้กินเหล้ากันเสียให้เมาปลิ้น จะได้ไม่ต้องเมาเรือ เป็นต้น

ล่าสุดเดือนธันวาคม ปลายปี ๒๕๖๕ ผมบังเอิญพบครูช่างไม้ไผ่ชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง

หน้าห้องแกลเลอรีแห่งหนึ่งในศูนย์สรรพสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา สองฝั่งติดตั้งตู้กระจกขนาดใหญ่ยาวเหยียดเต็มผนังทั้งซ้ายขวา แสงไฟสว่างส่องให้เห็นภาพวาดสีน้ำพร้อมลายเซ็น Yokota ที่คุ้นตา วางเรียงแถวอยู่ในตู้ร่วมร้อยชิ้น ทั้งภาพพอร์เทรตผู้คน ตลาดริมน้ำ วัดวาอาราม และรูปวาดในต่างประเทศ หลายภาพมีสติกเกอร์วงกลมสีแดงเล็ก ๆ ติดข้างใต้ เป็นสัญลักษณ์ว่า “จองแล้ว”

เช้าวันนั้นแกลเลอรียังไม่เปิด ผมจึงไม่มีโอกาสสอบถามใครแต่ก็เข้าใจได้ว่าต้องมาจากกรุที่ผมเคยเห็นในโรงเรียนพลับพลาศิรินั่นเอง

ลองค้นข้อมูลต่อจึงพบว่าโรงเรียนเลิกกิจการตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๓

กว่า ๓๐ ปีของงานเขียนใน สารคดี นำพาผมไปพบผู้คนมากมาย โดยเฉพาะการทำงานสำหรับคอลัมน์ “โลกศิลปะ” ช่วยให้มีโอกาสรู้จักศิลปินไทยหลายท่าน รวมถึงทายาท และได้รับความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง เช่นจากการเขียนเรื่องของหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์  “คุณท่าน” หม่อมหลวงประอรจักรพันธุ์ หม่อมของท่านการวิก (คุณแม่ของคุณหมึกแดง) ยังกรุณาส่งการ์ดปีใหม่ให้ผมประจำทุกปีต่อเนื่องมาจนตลอดอายุขัยของท่าน เช่นเดียวกับทุกคราวที่อาจารย์สงัด ปุยอ๊อก ลงจากเชียงใหม่มาจัดนิทรรศการผลงานศิลปะในกรุงเทพฯ ท่านก็ไม่ลืมส่งบัตรเชิญให้เสมอ จนถึงนิทรรศการครั้งสุดท้าย

ผมจึงขอถือโอกาสในวาระ ๔๐ ปีของนิตยสาร สารคดี กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ข้อมูลและความเอื้อเฟื้อนานาประการ ทั้งบรรดาท่านที่ล่วงหน้าไปก่อนและที่ยังมีชีวิตอยู่

ด้วยความระลึกถึงเสมอครับ