Image
ทีละภาพ
ธีรภาพ
writer
40 Years of Storytelling
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image
ธีรภาพ โลหิตกุล เป็นมากกว่ามือพระกาฬที่อยู่นานจนคร่ำหวอดมากกว่าบารมีครูใหญ่ของนักเรียนเขียน-ถ่ายภาพ พี่ชายที่ส่งต่อโอกาสการงานแก่น้อง ๆ ต้นแบบการวางตัวที่แสนสุภาพ เรียบง่าย
วาระครบ ๔๐ ปี นิตยสาร สารคดี จึงติดต่อ “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ปี ๒๕๕๘ ให้นักเล่าเรื่องรุ่นใหญ่ปันประสบการณ์แก่รุ่นใหม่ ทั้งรู้ว่าอาจถูกปฏิเสธ ด้วยกว่าทศวรรษที่ร่างกายบอบช้ำจากฤทธิ์พาร์กินสันทำให้ห่างจากหลายสิ่งที่รัก ทั้งเดินทาง ถ่ายภาพ เขียน พูด วิทยากรนำเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ฯลฯ เก็บตัวอยู่บ้านย่านอินทามระ รักษากาย-ใจ  ทว่าได้การตอบรับทันที มีข้อแจ้งเดียวคือ “พี่ย้ายมาอยู่ราชบุรีแล้ว”

เป็นครั้งแรกที่เห็นชาวกอง บก. กระตือรือร้นฝากของไปสวัสดีปีใหม่พี่ใหญ่ในวงการที่ไม่ได้ตามข่าวมานาน น้อยนักที่พวกเราจะรู้สึกรัก-คิดถึงใครร่วมกันมีผู้วิเคราะห์ว่านั่นเพราะ “พี่ธีร์เป็นสุภาพบุรุษ”

วันที่พบกันในบ้านสร้างใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้าอยู่ ชายย่าง ๖๖ ปี ยิ้มแจ่มใส กินก๋วยเตี๋ยวรวดเดียวสองชาม เดินเหินคล่องแคล่ว เป็นธีรภาพผู้ทวงคืนชีวิตชีวาที่หายไป ๑๐ กว่าปีสำเร็จ พร้อมปันฉากชีวิตทีละภาพ
โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ
เขาเป็นคนอยู่ไม่สุข

ด้วยฝีไม้ลายมือทำให้เริ่มเป็นนักเล่าตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน รับหน้าที่ผลิตเนื้อหาลงวารสาร เทพสนุก ของโรงเรียนเทพศิรินทร์  เป็นสาราณียกร (บรรณาธิการ) วารสารอนุรักษ์ ของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม  แต่ละวันหมดไปกับการผลิความคิดเต็มหัวจนเป็นนิสัย บ่มประสบการณ์ถึงวัยนักศึกษาก็ไปทำวารสาร ร่มนนทรี ให้องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลังจบปริญญาตรีสังคมศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ รั้วนนทรี เด็กหนุ่มจึงมุ่งสู่เส้นทางที่ตนถนัดชัดแจ้งอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร

“ผมเริ่มงานด้วยอาชีพนักข่าวหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ แนว working women ชื่อ หญิงยุคใหม่ นำเสนอเรื่องราวของสตรีหัวก้าวหน้าที่เก่งการงานนอกบ้าน อย่างผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือเสาะหาผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างความคิดทันสมัย ยุคนั้นมีคนหนึ่งเขาสร้างสรรค์ธุรกิจโดยนำผักตบชวามาทำกรงแมวส่งขายญี่ปุ่น”
ธีรภาพพาวัยค้นหาชีวิตเดินเข้าออกกองบรรณาธิการนิตยสารอยู่หลายหัว รายได้เลี้ยงปากท้องจากการเขียนไม่มากแต่เป็นอาชีพและรายรับที่เขาพอใจ เพราะหลายสิ่งที่โลกหนังสือตอบแทนให้มีราคากว่าเงิน ยังเป็นประสบการณ์เดินทางที่หล่อเลี้ยงลมหายใจและทำให้มีเรื่อง-ภาพมาเล่าต่อ

“ยุคที่ยังใช้ฟิล์มสีถ่าย ผมเคยส่งภาพเรือประมงพื้นบ้านจังหวัดระยองไปประกวด กรรมการคงเห็นว่ามีมุมมอง องค์ประกอบ และเรื่องราวดีพอจะชนะเลิศ จึงได้รางวัลเป็นตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ดอนเมือง-พิษณุโลก หนึ่งที่นั่ง  ตอนนั้นพิษณุโลกกำลังดัง มีพระพุทธชินราช มีอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า  ตอนจะกลับผมทราบจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าหมู่บ้านชาวม้งที่ภูหินร่องกล้าจะมีงานปีใหม่จึงไปเลื่อนตั๋วเครื่องบินเพื่ออยู่ต่อ ๕ วัน แล้วโบกรถที่นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่เช่ามา ขอติดรถกลับไปภูหินร่องกล้า แต่ไปไม่ถึงหมู่บ้านหรอก ต้องหาโบกรถต่อ ใช้เวลารอรถยาวนานตรงจุดสุดท้ายก่อนถึงหมู่บ้าน จนใกล้ค่ำแล้วจึงโบกได้รถขนข้าวของชาวบ้าน โชคดีที่เจอเพื่อนร่วมทางเป็นทหารกองร้อยประจำอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน ผมต้องการหาที่นอนใกล้สุดเพื่อจะตื่นเช้าให้ทันถ่ายภาพกิจกรรมแรกของงานปีใหม่ม้ง จึงอาศัยผูกมิตรแล้วขอไปนอนด้วย  สถานการณ์บ้านเมืองเวลานั้นเงียบสงบแล้ว และเราเดินทางมาคนเดียว เขาจึงไว้ใจให้นอน เป็นเบาะที่นอนง่าย ๆ แบบมีกำบังกันกระสุน”

แม้ธรรมชาติของนักเก็บข้อมูลเมื่ออยู่ในบรรยากาศแปลกที่ต่อมสอดรู้สอดเห็นจะทำงานดีเป็นพิเศษ แต่ปฏิภาณไหวพริบในการคัดสรร-ใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบตัวก็ถือเป็นคุณสมบัติเฉพาะบุคคล

“ทหารย่อมมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านเพื่อผลทางการข่าวอยู่แล้ว จึงช่วยแนะนำให้เรารู้จักกับผู้นำชุมชนซึ่งเป็นชาวม้งที่พูดไทยได้ เขาเมตตาเล่าโปรแกรมให้ฟังว่าช่วงเวลาไหนมีกิจกรรมอะไร ผมฝังตัวในหมู่บ้าน ๒ วัน อาศัยกินกับชาวบ้าน นอนกับทหาร รู้เห็นอะไรก็จดบวกจำ เน้นบันทึกความรู้สึกผู้คนและตัวเราที่ได้สัมผัส รวมถึงการสื่อความหมายทางวัฒนธรรม ว่าสิ่งที่พวกเขาทำสะท้อนทัศนคติอะไร”

ธีรภาพยกตัวอย่างภารกิจสำคัญของงาน “น่อเป๊โจ่วฮ์” (ประเพณีปีใหม่ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง) ช่วงวันส่งท้ายปีแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ และวันปีใหม่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ ของม้ง (ตรงกับปฏิทินไทย ๑ ค่ำ เดือนยี่)

“ราว ๑ ทุ่มของวันส่งท้ายปี พวกผู้ชายจะอาบน้ำเตรียมรับสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่ พอเที่ยงคืนก็จุดพลุ โห่ร้องต้อนรับ
วันแรกของปี  ส่วนพวกแม่บ้านกับลูก ๆ จะพากันไปหนองน้ำของหมู่บ้านตอนรุ่งสาง ยังได้เห็นทะเลหมอกลอย  พวกเขามากันเป็นกลุ่ม ตักน้ำสะอาดกลับไปดื่มใช้เป็นมงคลในครัวเรือน มันเป็นพิธีกรรมเล็ก ๆ ที่มากความหมาย และความเงียบสงบก็ทำให้กระทั่งเสียงของการตักน้ำยังเป็นเรื่องงดงาม”

แม้แต่กิจกรรมชนไก่เสี่ยงทาย ตีลูกข่าง โยนลูกช่วง ยิงหน้าไม้ ฯลฯ เมื่อผ่านสายตาและการเล่าแบบธีรภาพ สิ่งเหล่านั้นถือเป็นสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรมสำคัญไม่น้อยกว่าแง่มุมรื่นเริงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

“เราไม่รู้ก่อนหรอกว่าการตัดสินใจเลื่อนตั๋วเครื่องบินข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ทุกการเดินทางมักมีเรื่องน่าสนใจให้ได้ต่อยอดจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่ง และครั้งนั้นก็เป็นประสบการณ์ครึ่งเดือนที่คุ้มค่ามาก ๆ”

ไม่หยุดนิ่ง คือวิธีหาข้อมูลใหม่ของเขา
ผู้อ่อน (น้อม) ต่อโลก
การเลือกใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดคือหัวใจของงานสารคดี

เช่นเดียวกับการจะได้ข้อมูลที่ดีมา ต้องรู้ว่าจะเข้าถึงอย่างไร

“สังเกตความเป็นไปของสิ่งรอบข้างแล้วสร้างความไว้ใจ การเข้าหาใครด้วยความถ่อมตนกลมกลืนมักได้รับความเมตตาและน้ำใจจากเขา อยากรู้อะไรก็ถาม อย่างชาวบ้านที่ภูหินร่องกล้านั้นพวกเขาเป็นม้งกลุ่มไหน เป็นม้งลาย ม้งดำหรือม้งไหน  การที่ผมไปที่นั่นแบบไม่มีการเตรียมตัวไปก่อนก็ดีตรงเห็นอะไรก็สงสัยไปหมด  ถ้าเราเข้าหาแบบบริสุทธิ์ใจชาวบ้านเขาก็ดูออก เขาภูมิใจให้คำตอบด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่ฝังอยู่ในตัวเขา เล่าให้ลูกหลานฟังจนเบื่อ มีคนนอกมาแสดงความสนใจเขาก็ยินดี”
แต่ความเดียงสาอาจไม่พอให้คนแปลกหน้าใช้แลกเรื่องราวเสมอไป

“ต้องทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน อะไรที่พวกเขาทำด้วยความเชื่อว่าจะโชคดีเราก็ควรปฏิบัติด้วย ให้กินไก่กินหมูที่เพิ่งเชือดมาทำอาหารใหม่ ๆ เราก็กิน ส่งเหล้าข้าวโพดที่เขาต้มกันเองให้ชิมเราก็ลอง แม้รู้ตัวว่าแพ้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จิบสักจอกสองจอกให้เจ้าบ้านเห็นว่าเราให้เกียรติเขา ไม่แปลกแยก”

มันเป็นศิลปะการใช้ชีวิตที่ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าลองเรียนสิ่งที่ยังไม่รู้

“ก็เหมือนกับการที่ผู้คนไปหิมาลัยที่เนปาลเพื่อจะบันทึกภาพยอดเขามัจฉาปูชเรที่มีลักษณะคล้ายหางปลาในตอนดวงอาทิตย์เพิ่งปรากฏแสงแรกเป็นสีทอง แต่ถ้าลองเปิดกล้องกว้างขึ้น เป็นมุมมองไวด์ ให้เห็นธงมนตราที่ชาวบ้านนำมาแขวนเป็นสิริมงคล ก็จะได้เรื่องมาเขียนเพิ่มว่าธงมนตราคืออะไร มีสีอะไรบ้าง ความหมายอย่างไร  หรือถ้าซูมกล้องให้แคบลงเพื่อโฟกัสที่จุดหนึ่ง แทนที่ต้องเล่าทุกอย่าง แค่ลองหยิบสิ่งเล็ก ๆ สิ่งใหม่มาให้ความสำคัญ ก็จะได้มุมไม่ซ้ำกับคนอื่นแล้ว มุมมหาชนมันสวยนั่นละ แต่ถ้าเห็นมากแล้วก็น่าเบื่อ”
ผมชอบวิธีเล่าความรู้แบบนิยายเพราะอยากให้คนอ่านได้อรรถรส ต่อให้ต้องนำข้อมูลวิชาการมาเขียนก็จะกลั่นกรองผ่านจินตนาการค่อยนำเสนออย่างมีศิลปะ และต้องเป็น สารคดีที่มีชีวิตžนำเสนออย่างมีอารมณ์ความรู้สึกผ่านตัวละครที่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นักวิชาการ 
ปรุงสารคดีให้มีรสนิยาย
ถึงใครจะกังขา แต่ธีรภาพยืนยันว่างานสารคดีต้องเปี่ยมความรื่นรมย์

“ผมชอบวิธีเล่าความรู้แบบนิยายเพราะอยากให้คนอ่านได้อรรถรส ต่อให้ต้องนำข้อมูลวิชาการมาเขียนก็จะกลั่นกรองผ่านจินตนาการค่อยนำเสนออย่างมีศิลปะ และต้องเป็น ‘สารคดีที่มีชีวิต’ นำเสนออย่างมีอารมณ์ความรู้สึกผ่านตัวละครที่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นักวิชาการ”

ให้พวกเขาสะท้อนปฏิสัมพันธ์ที่ตนมีผ่านบรรยากาศของเรื่อง

“ตอนที่ผมทำอนุสาร อ.ส.ท. ได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่องโขง ชี มูล ผมก็หาคนที่เคยเดินทางผ่านแม่น้ำสามสายนี้ โดยไปที่อำเภอโขงเจียมซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านไทย ได้นายอำเภอช่วยแนะข้อมูลและผู้คนอีกหลายทอด หมดเวลาเป็นสัปดาห์จึงพบ ‘พ่อเฒ่าดิษฐ์’ นายฮ้อยคุมเสบียงสินค้า คือเกลือที่ได้จากลุ่มน้ำชี ขนลงเรือล่องจากน้ำชี เข้าน้ำมูล ออกน้ำโขง ไปขายที่ปากเซ ระหว่างทางต้องผ่านแก่งอันตราย ถึงขั้นมีป้ายเตือนจากทางการว่าถ้าไม่อยากให้เมียเป็นแม่ฮ้าง-แม่ม่าย ก็อย่าล่องเรือฤดูน้ำหลาก  พ่อเฒ่าไม่ได้เดินทางคนเดียว มีลูกเรือช่วยคุมเกลือติดเรือไปเที่ยวลาว ระหว่างทางจึงทำพิธีเซ่นไหว้ผีในแม่น้ำ ด้วยการจุดบุหรี่ทิ้งแม่น้ำ ค่อยเทเหล้าตาม  ตอนกลับมาเล่าผมเอาสำนวนอีสานจากป้ายเตือนมาเขียนด้วย การเล่าวิถีโดยรักษาภาษาถิ่นไว้มันคือเสน่ห์ สีสัน และช่วยเสริมให้เรื่องเล่ามีมิติ

“เมื่อผมจะเล่าชีวิตหญิงกะเหรี่ยงที่ดอยแม่เหาะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งวัฒนธรรมด้านอาหารหรือเย็บปักถักร้อย ผมก็เลือกเล่าผ่าน ‘พอวา’ ชื่อของเธอแปลว่าดอกไม้สีขาว ตัวเธอก็ยังสวมชุดทอเชวาสีขาวอยู่ อาศัยสัญลักษณ์เหล่านี้โยงถึงทุ่งดอกบัวตองบนดอยแม่เหาะ ซึ่งเกิดจากมีมิชชันนารีพกเมล็ดพันธุ์ใส่กระเป๋าเดินทางตอนมาเผยแผ่ศาสนาในไทยแล้วหว่านทิ้งไว้โดยไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต”

พอวาก็ดั่งเมล็ดพันธุ์ที่กำลังถูกเพาะให้งอกงามบนดอยแม่เหาะ ทั้งฝีมือปลายจวัก-ทักษะการทอ

เขาเห็นด้วยว่าชีวิตคนเราในช่วงแรกคือการเรียนรู้ พออายุนำหน้าด้วยเลข ๔ จะสั่งสมประสบการณ์และมุมคิดมาพอสมควร ขณะที่ร่างกายยังแข็งแรงพอให้ลุยเต็มที่ งานสารคดีคุณภาพของเขาจำนวนมากก็ออกมาช่วงวัยนั้น

“แต่ยิ่งอายุมากขึ้นผมจะทิ้งทัศนะบางเรื่องที่ส่วนตัวเกินไปตัดความเห็นที่ไม่มีน้ำหนักหรือชี้นำผู้อ่านโดยไม่จำเป็นออกแล้วเพิ่มพื้นที่สีสันให้ฉาก-ตัวละครอย่างเข้มข้นมากขึ้น”
Image
ก้าวเท้าออกข้างนอกเพื่อเติบโตข้างใน
การเดินทางไม่ได้แค่สอนให้เป็นตัวเองน้อยลง เป็นคนอื่นมากขึ้น

ยังเปิดตาให้เห็นว่าทุกเรื่องในโลกมีราก ไม่มีสิ่งดี-ร้ายใดไร้เหตุผล

“ผมก็โตมากับตำราประวัติศาสตร์ชาตินิยมในห้องเรียน ดูละครกู้บ้านกู้เมืองมาแต่เด็ก เห็นฉากพม่ายกทัพมาตีบ้านเราก็ติดเป็นภาพจำมาโกรธเกลียด จนได้เรียนประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งขึ้นตอนมหาวิทยาลัยจึงเข้าใจโลก  ผมคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งแรก ๆ ที่คนเราควรเรียนรู้ก่อนตัดสินสิ่งใด จะทำให้เข้าใจว่าทำไมคนชาตินั้นถึงมีนิสัยอย่างนั้น แล้วการเดินทางไปเห็นด้วยตาก็จะช่วยตรวจสอบประวัติศาสตร์ที่รู้มาอีกที”

เรื่องจริง-เรื่องแต่งแยกแยะชัดขึ้นเมื่อคลุกวงสารคดีโทรทัศน์ที่ผู้บริหารสนใจประเทศเพื่อนบ้านเป็นพิเศษ ฐานะผู้เขียนบทรายการ “โลกสลับสี” และดูแลการผลิตภาคสนามจึงได้รู้เห็นชีวิตชาวอุษาคเนย์มากขึ้น

“จากที่มองเวียดนาม ลาว กัมพูชา แล้วเห็นแต่ภาพสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความสยดสยองของการสู้รบ เมื่อได้เยือนประเทศเขา สำรวจเรื่องราวของบ้านเมืองด้วยสายตาตัวเองผ่านการทำงานที่ต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ จึงได้เห็นอารยธรรมที่งดงามมายาวนาน ทั้งศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี สถาปัตยกรรม เมื่อนำกลับมาเขียน ผมถือเป็นหน้าที่ต้องลบอคติผู้คน ชวนตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบด้วยข้อมูลที่ตรวจสอบได้”

ขณะที่ชีวิตกำลังสุกงอมและสนุกกับการเผื่อแผ่ความรู้สู่สาธารณะก็ถูกร่างกายส่งบททดสอบให้

“ผมรู้ตัวว่าเป็นพาร์กินสันตอนอายุ ๔๖ ปี เริ่มควบคุมมือซ้ายไม่ได้ แต่อาการอื่นยังไม่มาก ดีขึ้นได้ด้วยการกินยา ช่วงเกือบ ๑๐ ปีแรกจึงใช้ชีวิตเกือบปรกติ แค่โลดโผนน้อยลง มาทรุดจริงตอนเข้าวัย ๕๕ ปี ทุกครั้งที่มีอาการสั่นเกร็งจะไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาทั้งชีวิต  ช่วงที่พาร์กินสันคุกคามหนักแทบจะนอนไม่ได้ เมื่อพักผ่อนไม่พอก็ไม่มีแรง ใช้ชีวิตปรกติลำบาก แค่จะเข้าห้องน้ำยังยาก เรื่องออกเดินทางตัดทิ้งไปเลย”

ประเด็นนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากหลายครั้งที่เคยได้สนทนากันเป็นระยะ พบกันคราวนี้เขาสดชื่นขึ้นมากแล้วจากการรักษาหลายรูปแบบรวมถึงวิธีฝังเข็มและผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อช่วยให้ไม่สั่นเกร็ง

“สิบปีที่ผ่านมาการใช้ชีวิตผมเปลี่ยนไปเยอะ วัยมีเลข ๕ ๖ นำหน้า สุขภาพคนอื่นอาจยังแข็งแรงให้ลงพื้นที่ลุย ๆ ผมเองก็ยังมีสถานที่อีกมากมายที่อยากไปเห็น แต่เมื่อสุขภาพไม่เอื้อก็ต้องใช้ชีวิตไปตามจริง เบนความสนใจมาเรื่อสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม การสื่อความหมายทางโบราณคดี ว่าวัฒนธรรมแบบนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ถึงอย่างนั้นผมก็ยังสนุกกับวิธีเล่าเรื่องแบบมีผู้คน สมมุติถ้าจะเล่าถึงเก้าอี้ตัวหนึ่งที่ชาวจังหวัดน่านทำจากไม้ถวายในหลวง แล้วมีนายอำเภอมายกออกไปจากที่ว่าการอำเภอเก่า ผมก็ยังเลือกเล่าผ่านปากชาวบ้าน”

มองแง่ดี พาร์กินสันเข้ามาทำให้วัยหลังเกษียณของคนอยู่ไม่สุขได้มีเวลาพักร่างอย่างเป็นสุขบ้าง

“นี่ก็เป็นสารคดีเรื่องที่ผมกำลังเขียนใกล้เสร็จแล้ว จะพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ให้คนเป็นพาร์กินสันศึกษาการรับมือ เพราะยังไม่เคยมีใครเขียนประสบการณ์ป่วยพาร์กินสันอย่างละเอียด”

โดยไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อผ่านมือนักเล่าสนุก สิ่งที่เป็นวิชาการย่อมถูกผลักไปอยู่ในภาคผนวก และเรื่องนี้คงไม่มีตัวละครใดเหมาะจะเป็นผู้ปันประสบการณ์เชิงบวกให้เห็นภาพดีเท่าธีรภาพ

เมื่อไรที่สำเร็จเป็นเล่ม นี่อาจเป็นเรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่สุดในชีวิตของเขาทีเดียว