Image
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
นักเล่าเรื่อง ณ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา
Curator
40 Years of Storytelling
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
Image
ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ เกิดที่จังหวัดเชียงราย (นี่เป็นคำอธิบายอันหมดจดถึงที่มาของชื่อตัว) เติบโตที่พิษณุโลกและสุโขทัย เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (ม.ศ. ๕) รุ่นสุดท้ายของประเทศจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วยมานุษยวิทยามหาบัณฑิต จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรม-ศาสตร์ จากนั้นเดินทางไปศึกษาชีวิตและโลก ณ กรุงปารีส อีกหลายปี
ถ้าจะเล่าให้เข้ากับ สารคดี ฉบับครบรอบ ๔๐ ปี สมควรต้องกล่าวด้วยว่าอาจารย์สุดแดนเป็นอดีตฝ่ายวิชาการของนิตยสาร สารคดี (ปี ๒๕๓๒-๒๕๓๔) อดีตโปรดิวเซอร์และผู้เขียนบทสารคดีโทรทัศน์ ทั้งในสังกัดบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๗) และบริษัทพาโนราม่า ดอคคิวเมนทารี่ จำกัด (ปี ๒๕๓๘-๒๕๔๐) ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของทางคณะระบุ “ความสนใจทางวิชาการ” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ท่านนี้ ว่าครอบคลุมประเด็นหลากหลาย อันได้แก่ มนุษย์กับการเดินทาง/มานุษยวิทยาการเดินทางและการท่องเที่ยว/พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมศึกษา/ภาพถ่ายและภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์/พุทธศาสนาในเอเชีย ซึ่งล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับภูมิหลังดังกล่าว พ่วงด้วยรายชื่อหนังสือสารคดีเดินทาง อันได้แก่ จะไปให้ไกลถึงไหนกัน (ปี ๒๕๔๖)  จะไปให้ไกลทำไมกัน (ปี ๒๕๕๕) และ Paris Syndrome ชีวิตอันระเหิดไปของชายไทยคนหนึ่ง (ปี ๒๕๕๕) ขณะที่ความสนใจในด้านงานพิพิธภัณฑ์และมรดกทางวัฒนธรรม ยังนำพาอาจารย์สุดแดนเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรม-ศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเพิ่งหมดวาระไปเมื่อไม่นานมานี้

สารพัดสารพันในชีวิตของเขา ทั้งในฐานะ “ศิษย์เก่า (นิตยสาร) สารคดี” “นักสารคดี” “ผู้เล่าเรื่อง” “อาจารย์มหาวิทยาลัย” และ “พิพิธภัณฑกร” จึงทำให้เราเลือกมาคุยกับ ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ในประเด็นว่าด้วยเรื่องเล่าของพิพิธภัณฑ์ ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งเขาบอกว่าเคยดูมาเป็นร้อยแห่งกับนับพันนิทรรศการ
Image
ในฐานะผู้ชม หรือคนดูพิพิธภัณฑ์
อาจารย์อยากดูอะไร

อย่างหนึ่งที่อยากไปดู อยากไปค้นหา คือของที่จัดแสดงอยู่หรือสิ่งที่พิพิธภัณฑ์พยายามบอกเรา มันคืออะไร ขณะเดียวกัน ก็รู้สึกสนุกที่จะได้ค้นหาว่า มีอะไรที่เขาซ่อนไว้ ที่เขาไม่ได้บอกเรา  ถ้าดูพิพิธภัณฑ์ก็จะดูแบบนี้ คือสนุกที่จะเท่าทัน แต่ก็ยังชื่นชมกับเรื่องที่เขาเล่าให้เราฟัง

อย่างเวลาเข้าไปในพิพิธภัณฑ์พระนคร (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) เราเคยอ่านหนังสือเรื่องการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สมัยก่อน ก็อยากดูว่าพิพิธภัณฑ์เคยจัดแสดงอะไรบางอย่างไว้แล้วมันหายไป ตัวอย่างเช่นเคยอ่านพบว่ามีการจัดแสดงธงชาติผืนที่ชักขึ้นเหนือพระที่นั่งอนันตสมาคม ตอนเช้า วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือมีเสื้อของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใส่ในวันถูกลอบยิง เป็นเสื้อเปื้อนเลือด แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทำไมไม่เห็น
ในฐานะคนทำนิทรรศการ หรือคนจัดพิพิธภัณฑ์ อยากให้คนดูได้เห็นอะไร
ความสนุกคือการเล่าเรื่องบางอย่างที่คนไม่เคยรู้มาก่อน
หรือหากเคยมีคนจัดเรื่องนั้น ๆ มาแล้วหลายครั้ง ก็จะคิดว่าถ้าเล่าผ่านเรา มีมุมอะไรอยากจะบอก อยากจะเล่า ที่แปลกไปสำหรับคนอื่นที่จะได้ฟัง

อย่างเรื่อง เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince ของ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี Antoine de Saint-Exupéry) จริง ๆ ก็สนใจมานานแล้ว คิดว่าอยากจะจัดแสดงของสะสม เพราะมีเพื่อน ๆ ที่เขาสะสมไว้ แต่ในฐานะที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ เป็นพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยา สิ่งที่เราทำไม่ใช่พูดถึงแค่เรื่อง เจ้าชายน้อย เฉย ๆ แต่เราอยากนำเสนอเรื่องความต่างทางวัฒนธรรมผ่านหนังสือเล่มนี้ เลยกลายเป็นนิทรรศการ “เจ้าชายน้อย : หนังสือ การสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม” (มีนาคม-ธันวาคม ๒๕๖๓ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่พูดถึงเรื่องเจ้าชายน้อยในแง่ประวัติ ในแง่ของสะสม และในฐานะความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งน่าจะเป็นมุมของเจ้าชายน้อยแบบใหม่ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง

หนังสือ เจ้าชายน้อย คนทั่วไปอ่านแล้วชื่นชอบว่าเป็นเรื่องของเด็กกับสิ่งที่หลงลืมไป แต่เราคิดว่ายังมีการพูดถึงเรื่องการเจอกันของคนที่ไม่รู้จักกัน คนที่แตกต่างกันในทางวัฒนธรรม อย่างคนที่เจ้าชายน้อยไปพบตามดวงดาวต่าง ๆ แท้จริงแล้วคือ “คนอื่น” “คนต่างถิ่น” หรือคนที่เราไม่ได้คุ้นเคยนั่นเอง เจ้าชายน้อย จึงทำให้ได้เห็นว่ามีคนที่แตกต่างจากเรา
Image
“ให้ดูพิพิธภัณฑ์ด้วยความตื่นตัวและไม่ยอมอย่างเชื่อง ๆ ที่จะคล้อยตามสิ่งที่เขาพยายามบอกเรา คือให้ลองดูว่า คนทำนิทรรศการพยายามจะบอก จะสื่อสารอะไร เราอยากให้นักศึกษา วิพากษ์วิจารณ์ อยากให้สงสัยว่าทำไมเขาเล่าแบบนี้และด้วยเหตุผลอะไรเขาจึงไม่เล่าเรื่องอื่น พยายามจับให้ได้ว่า ความคิดเบื้องหลังของคนจัดนิทรรศการคืออะไร ”
เวลาจะออกแบบนิทรรศการเรื่องหนึ่งๆ มีวิธีคิดอย่างไร
เวลาที่เราทำงานนิทรรศการ ก็เหมือนกับมีเรื่องอยู่แล้ว ในเรื่องนั้นจะประกอบไปด้วยอดีตที่เรามีมา กับปัจจุบันที่เรามีอยู่ แล้วเอามาเล่าใหม่ในแบบของเรา ซึ่งเป็นวิธีการที่อาจไม่มีระบบระเบียบอะไร เหมือนเป็นเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งจากตัวเราเอง แล้วแปลงจากเรื่องเล่าไปสู่นิทรรศการ ถ้าถามว่ามีความรู้อะไรมาก่อนหรือเปล่า ก็ไม่นะ คือเป็นแบบครูพักลักจำ ไม่ใช่สายตรง ว่าอย่างนั้นเถอะ
นอกจากเรื่องเจ้าชายน้อยแล้ว ในช่วงที่อาจารย์เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ มีนิทรรศการอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง
ก็มี Primates and Me : เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์ (มีนาคม ๒๕๖๖-กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗) เป็นอีกนิทรรศการหนึ่งที่เราอยากทำ

กระแสช่วงหลัง ๆ วิชามานุษยวิทยาไม่ได้สนใจแค่มนุษย์ แต่ขยายความสนใจไปถึงเรื่องของสัตว์และวัตถุอื่น ๆ ด้วย เราก็มานึกว่าสิ่งที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากคือไพรเมต เลยเอามาจัดแสดง

ที่เราพูดว่า Primates and Me เพราะตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในไพรเมต บรรดาวานรทั้งหลายเป็นพวกเดียวกับเรา จึงคิดว่าจะเชื่อมโยงกันอย่างไรได้บ้าง อย่างที่มีนักวิชาการบางคนว่า มนุษย์เป็น “ลิงเปลือย” (Naked Apes) คือเราเป็นไพรเมตที่มีขนน้อยกว่าไพรเมตชนิดอื่น

ในนิทรรศการเรายังจัดแสดงภาพหัวกะโหลกของเดการ์ต (René Descartes 1596-1650) คนที่พูดว่า “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (Cogito, ergo sum/I think, therefore I am.) วางมือของวานรและมือของมนุษย์เทียบเคียงกัน รวมถึงมีหนังสือซึ่งเป็นผลงานของเดการ์ต และ ปรีดี พนมยงค์ เพราะในฐานะมนุษย์ เรามีสมองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบสัดส่วนกับไพรเมตอื่น  และเรามีมือที่จะเขียนหนังสือเพื่อสื่อความคิด แสดงอุดมการณ์ที่เชื่อว่าจะทำให้โลกดีกว่าเดิมด้วย
Image
วัตถุจัดแสดงชิ้นหนึ่งในนิทรรศการนี้คือไม้เท้าของ ปรีดี พนมยงค์ แล้วอาจารย์ปรีดีเกี่ยวอะไรกับไพรเมต ?
หนึ่งในเกณฑ์ที่ใช้แบ่งแยกความเป็นมนุษย์ออกจากสัตว์ คือการที่มนุษย์เดินตัวตรงด้วยสองเท้า ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการที่สำคัญมาก เราคิดว่าเมื่อมนุษย์ยืดตัวตรงและเดินสองเท้าแล้ว ก็ไม่อยากกลับไปคลานเหมือนเดิมอีก แม้ว่าจะแก่แล้ว ก็ยังพยายามหาวัตถุต่าง ๆ มาค้ำยันร่างกาย เพื่อบอกว่าเราจะไม่กลับไปคลานแล้วนะ

ไม้เท้าของอาจารย์ปรีดีเกี่ยวกับเรื่องไพรเมตในแง่ที่ว่า ความมุ่งมาดปรารถนาของอาจารย์ปรีดีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือต้องการให้คนเสมอกัน เท่าเทียมกัน  เราเลยเอาไม้เท้าเข้ามาเชื่อมโยงกับการเดินสองเท้า เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ เพื่อมุ่งไปสู่อะไรที่ดีไปกว่า อะไรทำนองนั้น

แต่อันนี้ก็น่าสนใจว่ามีผู้ชมหลายคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ มาพูดว่า ยังรู้สึกเชื่อมโยงไม่ค่อยได้ ว่าไม้เท้าของอาจารย์ปรีดีกับไพรเมตเกี่ยวข้องกันอย่างไร ก็อาจจะเป็นปัญหาของการเล่า
ของเราเหมือนกัน (หัวเราะ)
ถ้าอย่างนั้นอุดมคติของความสัมพันธ์ระหว่างนิทรรศการกับผู้ชมควรเป็นเช่นไร
เรามีข้อตำหนิติเตียนตัวเองอยู่นะ คือว่าเป็นคนพูดมาก จะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสารคดีโทรทัศน์หรือนิทรรศการที่เราทำ จะเป็นสารคดีและนิทรรศการที่ “พูดมาก” (หัวเราะ) ในความหมายที่ว่าเวลาเขียนงาน เราจะพรรณนามาก หรือเมื่อทำวิดีโอ ทำสารคดีโทรทัศน์ จะมีคนมาบอกว่า โอเค ! ข้อมูลดีแหละ แต่วิธีการสื่อสารให้เป็นภาพอาจไม่ได้โดดเด่น หากเทียบกับของคนอื่น ซึ่งเขามีวิธีการเล่าเรื่องด้วยภาพที่ดีกว่า

พอมาอยู่ในวงการพิพิธภัณฑ์ เราก็ยังเป็นคนเดิม ในแง่ที่ว่าถึงจะมีความรู้ มีเรื่องที่ต้องการสื่อสาร และพยายามสื่อสารด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว แต่เรายังขาดเทคนิคในการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลกับผู้ชม

เล่ากันว่าในกระบวนการทำนิทรรศการ คนที่นำข้อมูลมาตีความให้ออกมาเป็นการจัดแสดง ต้องถูกจ้างด้วยค่าแรงที่แพงมาก เพราะเขาจะเก่งมากในการคิดว่าจะเล่าอย่างไรดีที่จะสื่อสารกับผู้ชมได้ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนกันเป็นเรื่องเป็นราว  เราเองที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาด้านนี้มาโดยตรง ก็อาจจะมีข้อจำกัดตรงนี้
ในฐานะคนสอนวิชาว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์มีประเด็นอะไรที่อยากให้นักศึกษาได้เห็น
สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกกับนักศึกษา คือให้ดูพิพิธภัณฑ์ด้วยความตื่นตัว และไม่ยอมอย่างเชื่อง ๆ ที่จะคล้อยตามสิ่งที่เขาพยายามบอกเรา คือให้ลองดูว่าคนทำนิทรรศการพยายามจะบอก จะสื่อสารอะไร เราอยากให้นักศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ อยากให้สงสัยว่าทำไมเขาเล่าแบบนี้ และด้วยเหตุผลอะไรเขาจึงไม่เล่าเรื่องอื่น พยายามจับให้ได้ว่าความคิดเบื้องหลังของคนจัดนิทรรศการคืออะไร
เท่าที่อาจารย์เคยดูมา มีพิพิธภัณฑ์ไหนที่เล่าเรื่องได้น่าสนใจเป็นพิเศษบ้าง
เดิมเราเคยคิดว่าพิพิธภัณฑ์ต้องมีวัตถุจัดแสดง มีการเล่าเรื่องอย่างเป็นกลาง หรืออย่างระมัดระวัง แต่ในพิพิธภัณฑ์บางแห่งก็มีเรื่องเล่าที่ชัดเจนจากจุดยืนที่ชัดเจนเลย แล้วทรงพลังด้วย เช่น พิพิธภัณฑ์ทิเบต (Tibet Museum) ที่เมืองธรรมศาลาในอินเดีย อันนี้ชัดเจนว่าเขาต้องการเล่าเรื่องการที่ทิเบตถูกรุกราน แต่ขณะเดียวกันเขาก็พยายามตอบคำถามว่า การที่พระทิเบตเผาตัวเองเพื่อประท้วงทางการจีนนั้น จะอธิบายจากความคิดหรือมุมมองของศาสนาพุทธได้อย่างไร
Image
ภาพ : สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
อีกแห่งที่น่าสนใจและชอบมาก คือพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (The Museum of Innocence) ที่อิสตันบูลในตุรกีที่จริงเคยได้ยินมาพักหนึ่งแล้ว และได้อ่านหนังสือก่อนเข้าไปชมที่นั่น ปรากฏว่าประทับใจมาก เพราะนี่คือพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องเล่าในนิยาย The Museum of Innocence (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน) ของ ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนรางวัลโนเบล ซึ่งพูดได้ยากว่าเขาคิดทำพิพิธภัณฑ์ก่อนเขียนหนังสือ หรือเขียนหนังสือก่อนทำพิพิธภัณฑ์ หรือทำไปพร้อม ๆ กัน แต่ว่านี่คือพิพิธภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาสำหรับหนังสือเล่มนี้

ในหนังสือแบ่งเป็น ๘๓ บท แล้วในพิพิธภัณฑ์ก็แบ่งเป็น ๘๓ ตู้จัดแสดงตามบทเลย คุณอ่านบทนี้ในหนังสือแล้วเดินไปดูตู้นี้ก็จะสอดคล้องกัน  เรื่องเล่าก็ซับซ้อนมาก พูดถึงผู้ชายคนหนึ่งไปหลงรักผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ จึงไม่ได้แต่งงานด้วย แต่ก็ยังลักลอบคบหากัน ในระหว่างที่มีสัมพันธ์กัน แต่ละครั้งผู้ชายจะแอบหยิบข้าวของของผู้หญิงมา และทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้คือของที่เกี่ยวพันกับผู้หญิงคนนั้น เช่นตุ้มหูของผู้หญิงจากวันที่ได้กันครั้งแรก แล้วตุ้มหูหล่น เก็บมาได้ อะไรอย่างนี้

หรือที่ฝาผนังด้านหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ระบุหมายเลข ๖๘ จัดแสดงก้นบุหรี่ที่ “เธอ” เคยสูบ ๔,๒๑๓ ชิ้น พร้อมกับข้อความที่จดไว้ว่าก้นบุหรี่นี้ได้มาจากวันไหน อย่างที่เขาเล่าไว้ในหนังสือว่า “แต่ละอันเคยสัมผัสริมฝีปากสีกุหลาบของหล่อน บางอันเคยสัมผัสลิ้นหล่อนอย่างชุ่มชื่นด้วยซ้ำ”

ของพวกนี้เวลาเราเข้าไปดูก็เหมือนจะต่อกันได้ระหว่างในนิยายกับสิ่งที่เป็นจริง แล้วดูเป็นจริงเป็นจังมาก เพราะมีคำอธิบายว่าคนที่สร้างพิพิธภัณฑ์คือคนที่มอบหมายให้ปามุกเขียนเรื่องนี้ขึ้น คือบอกว่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล่าของปามุกนะ แต่เป็นเรื่องของคนอื่นที่เอามามอบให้ผู้เขียน และตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งนั้น

พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการไปจบลงที่ชั้นบนสุดของพิพิธภัณฑ์ ด้วยฝาผนังที่จารึกประโยคสุดท้ายในหนังสือที่เขียนไว้ว่า “Let everyone know, I lived a very happy life.” (ขอบอกให้ทุกคนรู้นะ ผมมีชีวิตที่มีความสุขมาก)

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ เรื่องราวทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์ไม่เพียงแต่สะท้อนเรื่องราวในหนังสือ แต่มันสะท้อนชีวิตของเมืองอิสตันบูลในระยะ ค.ศ. ๑๙๕๐ ถึง ๒๐๐๐ เพราะฉะนั้นวัตถุที่จัดแสดงก็จะอยู่ในยุคสมัยนั้นจริง ๆ
พอเราดูจบแล้วก็นึกถึงว่าไม่ต่างจากบ้านพิพิธภัณฑ์ของเอนก นาวิกมูล  คุณเอนกเก็บของไว้เยอะแยะ แต่ของเหล่านั้นไม่มีเรื่องเล่า  ถ้ามีใครสักคนเอาของที่คุณเอนกเก็บไว้มาสร้างเรื่องเล่าใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของกรุงเทพฯ เมื่อ ๕๐ ปีก่อน มันจะทรงพลังมาก เพราะจะทำให้ข้าวของมีเรื่องเล่า ทำให้กระป๋องฮอลล์ กล่องแฟ๊บ ซองยาทัมใจ มีชีวิตชีวา และเป็นเรื่องเล่าที่มีวิถีชีวิตจริง เกิดขึ้นจริงในกรุงเทพฯ พ.ศ. นั้น สิ่งนี้ทำได้สำเร็จในพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ทำให้เห็นชีวิตทางสังคมของคนในอิสตันบูลยุค ๕๐-๖๐ ปีที่ผ่านมา เป็นบันทึกทางสังคมอย่างชัดแจ้งเลย
แต่เรื่องในนิยายไม่ใช่ความจริงนี่
คือจะบอกว่ามันไม่จริงก็เหมือนไม่ใช่นะ ของในนั้นเป็นของจริง ถูกใช้จริงในยุคสมัยนั้น แล้วผู้หญิงคนนั้นก็อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน ของทุกชิ้นคือชีวิตที่ถูกใช้จริง ๆ ของใครบางคนในยุคสมัยนั้น เพียงแต่ว่าเรื่องที่เขาแต่งขึ้นมันครอบของทั้งหมดไว้ด้วยกัน เอาเรื่องเล่าไปทาบทับไว้

อีกอันที่ชอบมาก คิดว่าเขาฉลาดมาก คือหนังสือเล่มนี้มีการแปลไปหลายภาษา ตอนท้ายผู้เขียนก็เล่าว่า คนที่มาขอให้เขียนเรื่องนี้บอกว่าจะทำอย่างไรดี อยากให้คนมาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ของเขา ถ้าอย่างนั้นก็แจกบัตรให้ฟรีเลยสิ ในหน้าท้าย ๆ ของหนังสือก็จะพิมพ์บัตรไว้ให้ใบหนึ่ง เป็นบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้ ไม่ว่าจะมาจากที่ไหนในโลก ถ้าถือหนังสือไปแสดง เขาก็จะสแตมป์ (ประทับตรา) ตรงบัตรให้ แล้วคุณก็จะได้เข้าฟรี

ที่ว่าฉลาดก็เพราะว่าคุณเข้าชมได้ครั้งเดียว และถึงไม่ได้ซื้อตั๋ว แต่คุณซื้อหนังสือไปแล้ว แล้วหนังสือเรื่องนี้มีขายทั่วโลก เงินก็กลับไปสู่คนเขียนอยู่ดี เขาเก่งมาก 
ตอนที่อาจารย์ไปดู ได้เอาหนังสือไปให้เขาสแตมป์ตรงบัตรด้วยไหม
เอาไปสิ...จะพลาดหรือ (หัวเราะ)