Image

หมายเหตุจากหมู่บ้าน
อีสานสวิส

เบื้องหลัง... Scoop
40 Years of Storytelling

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : จาก สารคดี ฉบับที่ ๒๔๗ กันยายน ๒๕๔๘
หน้า ๑๑๘-๑๓๒

Image

สารคดี ขึ้นปีที่ ๔๐ ก็ครบ ๒๑ ปีที่ผมเข้ามาอยู่ร่วมสำนักนี้ ร่วมทำนิตยสาร สารคดี มานับ ๒๔๐ ฉบับ เขียนสารคดีเรื่องยาวมาแล้วราว ๑๑๑ เรื่อง เยอะที่สุดในปี ๒๕๕๓ เคยทำถึง ๑๑ เรื่องต่ำสุดในปีที่มีสถานการณ์การระบาดของโควิด-๑๙ ได้ทำเพียง ๒ เรื่อง

สื่อสารสังสรรค์กับผู้อ่านตั้งแต่บนหน้ากระดาษยันกระดานออนไลน์ รวมทั้งได้พบปะเจอตัวต่อหน้ากันบ้าง

หนึ่งในคำถามลำดับต้นที่ถามบ่อยที่สุด สารคดีแต่ละเรื่องใช้เวลาทำนานไหม

ตอบกี่ครั้งก็ยังเหมือนเดิม เรื่องทั่วไปราว ๒ เดือน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องรอช่วงเวลาหรือรอรอบฤดูกาลก็อาจเป็นปี ขณะที่บางกรณีมีงานเกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุด เราก็จะแบ่งทีมกระจายไปลงพื้นที่พร้อม ๆ กันแบบจบในรอบเดียว  ล่าสุดช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มีงานประเพณีประจำปีของกลุ่มชาติพันธุ์หลายเผ่าแถบอีสานเหนือ จัดช่วงเวลาเดียวกัน เราก็แยกทีมไปร่วมงานที่นครพนม มุกดาหาร สกลนคร และมหาสารคาม หลังจากรอวันงานประเพณีนี้มานับปี

หากถามเบื้องหลังการทำงาน--ซึ่งไม่มีเล่าในตัวเรื่อง ในแง่ถอดบทเรียนกระบวนการทำงานสารคดี  เรื่องหนึ่งที่น่าเล่าสู่กันฟังก็อยู่ในพื้นภาคอีสานเช่นกัน

ยุคก่อนมีสื่อสังคมออนไลน์มาทำให้คนรู้เห็นเป็นเพื่อนกันได้ทั่วโลก ก็มีผู้ชายฝรั่งมาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านอีสานบ้างแล้ว อย่างน่าสนใจในสายตานักสารคดีซึ่งอยู่กับการมองหา “ประเด็น” จากสถานการณ์ ความเคลื่อนไหว สิ่งที่ผู้คนสนใจหรือควรรู้ เหล่านี้ถือเป็นประเด็นที่ดีสำหรับงานสารคดี

ลำดับต่อมาคือการหา “ข้อมูล”

เมื่อสืบสาวก็เริ่มรู้ว่าชายชาวตะวันตกเหล่านั้นมีภรรยาเป็นคนไทย  ข้อมูลจากสื่อท้องถิ่นอีสานขณะนั้นระบุว่าอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีเขยฝรั่งมากที่สุด แต่พอสืบหา “พื้นที่” จะลงเก็บข้อมูลก็ไม่พบเป้าหมายเหมาะ เนื่องจากไม่มีกลุ่มก้อนชัดเจน และส่วนใหญ่คู่สามีภรรยาไทย-ฝรั่งใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนจะกลับมาเยี่ยมบ้านอีสานเพียงบางช่วงในแต่ละปี

“ค้นคว้า” ข้อมูลต่อไปก็พบว่าเรื่องนี้มีนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยมหิดลทำวิจัยไว้แล้ว  ตามต่อจนได้ “สัมภาษณ์” ดร. รัตนา บุญมัธยะ ผู้วิจัย ได้ชื่อชุมชนน่าสนใจ

แต่ปัญหาใหญ่ที่ได้รู้ต่อมาคือ เมียฝรั่งในชุมชนนี้จะไม่พูดกับสื่อ เนื่องจากมีประสบการณ์ไม่ดีจากการที่สื่อนำเสนอให้พวกเธอดูแย่  หากเดินเข้าไปในชุมชนเพื่อขอเก็บข้อมูลคงไม่ค่อยมีใครยอมคุยด้วย

ในยุคที่ยังไม่มีการสื่อสารผ่านออนไลน์ ผมค้นหาเบอร์แล้วลองโทร. สุ่มไปที่ว่าการอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เนื่องจากชุมชนที่ได้ชื่อมาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอนี้ ประชาสัมพันธ์อำเภอบอกว่ามีพัฒนากรท่านหนึ่งทำงานอยู่ในชุมชนที่ผมถามถึง แล้วเธอก็ให้เบอร์ติดต่อเขา

ผมโทร. หาพัฒนากร แนะนำตัวและเล่าสิ่งที่ต้องการอีกรอบเหมือนที่บอกกับสาวประชาสัมพันธ์บนอำเภอ  นักพัฒนาชุมชนบอกว่ากำลังจะมีงานบุญใหญ่ของตำบล เป็นช่วงที่เมียฝรั่งกับสามีจะกลับมาเยี่ยมบ้าน แนะนำให้เรามาช่วงงานนั้นจะเห็นภาพได้ดี

และให้ข้อมูลเช่นเดียวกับอาจารย์รัตนา ว่าคนในชุมชนจะไม่ค่อยยอมพูดกับสื่อ

“ช่วงงานบุญมาหาผม แล้วจะพาเข้าชุมชนเอง” พัฒนากรหนุ่มนัดแนะก่อนวางสาย
...

Image

 บ้านไม้ใต้ถุนสูงแบบพื้นบ้านอีสานดั้งเดิม ตั้งอยู่ต่อรั้วกับบ้านสไตล์คฤหาสน์ เปรียบเทียบให้เห็นฐานะที่ทิ้งห่างกันไกลระหว่างเมียฝรั่งกับเพื่อนบ้าน  หลังตีพิมพ์ใน สารคดี ภาพนี้ถูกนำไปใช้ต่อกันอยู่บ่อยครั้ง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

บางหลังคาเรือนเป็นบ้านไม้แบบอีสานดั้งเดิม ใต้ถุนสูงโปร่งโล่ง มีแคร่ปูฟากไม้ไผ่วางไว้ตรงกลาง เป็นที่นั่งนอนตอนกลางวัน กิจกรรมส่วนใหญ่ของคนในครอบครัวจะอยู่ตรงนี้ รวมทั้งเป็นที่รับแขกและโต๊ะอาหาร ซึ่งมีครัวแบบใช้เตาฟืน
นึ่งข้าวเหนียว ครกดินเผา กระปุกปลาร้าอยู่มุมหนึ่ง อุปกรณ์เครื่องมือการเกษตร เบ็ดแหและภาชนะจักสานอาจแขวนอีกมุม รวมทั้งมักมีรถไถนาหรือรถอีแต๊กจอดอยู่ด้วย

ขณะที่บ้านอีกจำนวนหนึ่งเป็นบ้านสมัยใหม่แบบคุ้นตาตามหมู่บ้านจัดสรรในเมือง หลังละเป็นล้านจนถึงหลายสิบล้าน ซึ่งสะดุดตานักก็ตรงที่มาตั้งอยู่ตามริมไร่ริมนา

บางหลังตั้งต่อรั้วกับบ้านแบบอีสานดั้งเดิม
เหล่านี้เป็นภาพติดตาจากการได้ “สัมผัส” ที่ต้องนำมา
เล่าต่อให้ผู้อ่านเห็นภาพไปด้วย

บ้านทันสมัยราคาหลักล้านเหล่านั้นเป็นบ้านเมียฝรั่ง ซึ่ง
รู้กันทั่วไปว่าสร้างด้วยเงินยูโร

เจ้าของบ้านหรูหราเหล่านั้นจะไม่ค่อยยอมพูดกับสื่อ ด้วยเรื่องราวแต่หนหลัง ตั้งแต่ผู้หญิงคนแรกในหมู่บ้านที่ได้สามีฝรั่ง ภูมิหลังของเธอค่อนข้างขมขื่น ด้วยได้สามีไม่เอาไหน ทำให้เธอต้องเลิกร้างแล้วไปทำงานบาร์ที่พัทยาหาเงินเลี้ยงดูลูก จนเจอฝรั่งสูงวัยกว่ามารักเธอจริง พาไปอยู่กินเป็นภรรยาที่สวิตเซอร์แลนด์ เธอดูแลสามีและบ้านช่องอย่างดีจนเพื่อน ๆ สามีชื่นชม คนไม่มีคู่ก็เอ่ยปากให้เธอช่วยหาคนมาดูแลบ้าง เธอจึงเป็นแม่สื่อชักนำญาติมิตรสตรีในหมู่บ้านผู้อยู่ในชะตากรรมเดียวกับเธอไปสมรสกับชายฝรั่ง กระทั่งกลายเป็นเครือข่ายใหม่ระหว่างหญิงในหมู่บ้านอีสานแห่งหนึ่งกับชายตัวขาวผมทองจากสวิส  ซึ่งช่วงหลังไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มชายสูงวัยกับหญิงไทยที่ผ่านการหย่าร้าง แต่ยังมีคู่ชายหนุ่มหญิงสาวต่างชาติพันธุ์คบหาดูใจกัน กระทั่งสู่ขอแต่งงานตั้งต้นชีวิตคู่เยี่ยงหนุ่มสาวทั่วไป

ด้านหนึ่งของงานบุญหมู่บ้านทุกวันนี้จึงเหมือนเป็นโอกาสให้หนุ่มฝรั่งกับสาวไทยได้มาพบหน้าหาคู่กันอย่างสังคมไทยสมัยก่อน รวมถึงกลุ่มกะเทยด้วย ซึ่งทั้งสาวจริงหญิงไม่แท้ต่างพากันแต่งตัวแต่งหน้าสวยสะพรั่งกันทั้งงาน

การหาคู่ของผู้หญิงในหมู่บ้านแทบไม่ข้องเกี่ยวกับงานบาร์พัทยาอีกแล้ว แต่คนในถิ่นฝังใจว่าสื่อยังติดภาพนั้นเมื่อมองมายังพวกเขา จึงไม่ยอมคุยด้วยให้ตกเป็นเหยื่อ

ฐานะที่ดีขึ้นแบบทันตาของคนได้สามีฝรั่งสร้างแรงสะเทือนในสังคมชาวบ้านหลายด้าน ภรรยาที่เคยทนกล้ำกลืนกับพฤติกรรมไม่เอาไหนของสามีคนท้องถิ่น เห็นช่องทางที่กล้าก้าวออกไปหาคู่ครองใหม่  ผู้ชายซึ่งเคยอยู่บนสุดในบ้านทั้งแง่ความสัมพันธ์และการหารายได้ก็ด้อยค่าลงจนกลายเป็นความสับสนกดดัน  และมากกว่านั้นกระแสสามีสวิสยังกลายเป็นแรงบันดาลใจใหม่ของเหล่าเด็กหญิงในชุมชน

Image

ในหมู่บ้านตอนนี้ถ้าถามเด็กผู้หญิงว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร จำนวนไม่น้อยตอบว่าอยากเป็นเมียฝรั่ง !
...
ขณะเพื่อนบ้านในชุมชนที่ยังอยู่ฐานะเดิม เริ่มกดดันด้วยความแตกต่างทางวัตถุซึ่งปรากฏอยู่โทนโท่ บางคนจึงดิ้นรนหาฝรั่งมาร่วมบ้าน

ชายเจ้าของบ้านแบบท้องถิ่นอีสานรายหนึ่งเล่าหลังจากร่วมวงกินข้าวกินเหล้าในงานบุญด้วยกันมา ๒-๓ วัน จนรู้สึกสนิทสนมเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ว่าก่อนนี้เขากับภรรยาระหองระแหงกันอยู่ เลยตกลงกันให้เธอไปหาสามีฝรั่งที่สวิส ส่งเงินมาให้เขาสร้างบ้านและเลี้ยงดูลูกอยู่ที่นี่

เธอไปแล้ว ทำศัลยกรรมเสริมอึ๋มบน-ล่าง แต่ยังไม่มีฝรั่งคนไหนรับเป็นภรรยา  สามีชาวไทยเล่าด้วยสีหน้าอารมณ์ขมขื่น แล้วบอกว่าตอนนี้เตรียมจะให้ลูกสาวไปทำงานในสถานประกอบการ ที่เหมือนจะรู้อยู่กลาย ๆ ว่าอาจแฝงการค้าประเวณีด้วย

โมเมนต์นั้นผมถามเขาตรง ๆ ว่า ยอมให้ลูกสาวขายหรือ

เขาบอก ถ้าให้ตอบอย่างลูกผู้ชายคือยอม !

ทำไมต้องทำขนาดนั้น ก็บ้านหลังที่เรานั่งคุยกันอยู่นี่ก็ดูใหญ่โตพออยู่สบายแล้ว  เขาบอกเดี๋ยวนี้คนบ้านเราต้องมีบ้านสมัยใหม่แบบบ้านเมียฝรั่ง

เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูล “สัมภาษณ์” ซึ่งเมื่อนำไปใช้ในงานเขียนสารคดี อาจแสดงเป็นบทสนทนาแบบ “อ้างตรง” อยู่ในอัญประกาศ หรือ “อ้างอ้อม” อยู่ในเสียงเล่าของผู้เขียนตามจารีตของงานสารคดีต้องระบุชื่อที่อยู่ของแหล่งข้อมูลตามจริง ยืนยันตัวตนที่มาของเรื่องราวชัดแจ้ง แต่เป็นข้อยกเว้นสำหรับกรณีนี้ ด้วยมารยาทและความเคารพต่อแหล่งข้อมูล เพื่อไม่ให้เขาเสียหายจากการออกสื่อ

ทั้งชื่อบุคคลและสถานที่จึงใช้นามแฝงทั้งหมด

ตั้งแต่ชื่อเรื่อง “หุบ ๆ บาน ๆ เรื่องเล่าขานหมู่บ้านดอกไม้แดง” เป็นการสื่อเชิงสัญลักษณ์ถึงภาวะปิด ๆ เปิด ๆ ของสถานการณ์ในหมู่บ้านที่มีอยู่จริง เหมือนการหุบ-บานของดอกไม้ที่มักใช้สื่อความหมายแทนผู้หญิงด้วย  ดอกไม้แดง เป็นนามแฝงของหมู่บ้านมาจากชื่อดอกไม้ซึ่งมีกลีบสีสดราวเปลวเพลิง

เป็นเรื่องแนวดรามาที่สื่อและผู้เสพข่าวสารใคร่รู้ แต่เจ้าของเรื่องอาจไม่อยากเล่า และไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่มีอยู่จริง ซึ่งนักเขียนผู้มีชีพจรอยู่กับการจับความเคลื่อนไหวของสังคมต้องนำมาเล่าสู่ผู้อ่าน ไม่เล่าไม่ได้

เมื่อเรื่องนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ก็ส่งผลต่อเนื่องทางสังคมและการแสวงหาความรู้ตามสมควร ผู้อ่านหลายรายสอบถามขอรายละเอียดเพื่อติดตามทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยเครื่องมืออย่างหนึ่งอย่างใดของใครแต่ละคน ซึ่งทาง สารคดี ก็ให้ข้อมูลเบื้องต้นตามที่สามารถเปิดเผย เช่นที่เคยได้รับจากผู้อื่นมา

ส่วนภาพถ่ายและข้อมูลทั้งหลายจากหมู่บ้านดอกไม้แดงซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน สารคดี ก็ถูกนำไปใช้ต่อในหนังสืออื่น ๆ บ่อยครั้ง รวมทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับอีสานร่วมสมัยในส่วนกลาง

สมตามหน้าที่ของงานสารคดีที่ไม่ใช่สักแต่ว่าเล่าเรื่อง ทว่าผู้อ่านต้องได้ความรู้คู่ความงามในศิลป์แห่งอักษรด้วย