Image

สื่อสารความรู้และวิทยาศาสตร์
“เมื่อความจริง
ไม่ได้มีคำตอบเดียว”
ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

Knowledge Communicator
40 Years of Storytelling

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ 
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image

ระหว่างการสัมภาษณ์ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ มักออกตัวว่าไม่ใช่คนเขียนหนังสือเก่ง แต่อาจารย์ “ชิว” ที่หลายคนคุ้นเคย บอกอย่างมั่นใจว่าเขาน่าจะเป็นคนในไม่กี่คนที่สามารถให้ความรู้กับคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กวัยอนุบาลจนถึงผู้สูงวัยได้อย่างสนุก และยังทำงานผ่านหลากหลายช่องทาง ตั้งแต่เขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ๑๙ ปี ในนิตยสารสารคดี ๑๓ ปี มีผลงานรวมเล่มเป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊กและงานแปลกว่า ๓๐ เล่ม เป็นผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆที่มีผู้ติดตามกว่า ๔ แสนคน เป็นวิทยากรในการสัมมนาและเวิร์กช็อปเรื่องเมฆและโอริงามิรวมกว่า ๒๐๐ ครั้ง ความรู้วิทยาศาสตร์อื่น ๆ อีกกว่า ๑๐๐ ครั้ง ไม่นับการทำรายการทีวีแนววิทยาศาสตร์กับ Nation Channel ราว ๒๐๐ ตอน รายการ podcast กับ Thai PBS Podcast กว่า ๒๓๐ ตอน ล่าสุดปี ๒๕๖๖ หนังสือ ควอนตัม : จากแมวพิศวง...สู่ควอนตัม คอมพิวเตอร์ ได้รับรางวัลดีเด่น หนังสือสารคดีด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จาก สพฐ.  ก่อนหน้านั้นเขายังเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ Science Communicator Award จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๖๓

อาจารย์ถ่ายทอดความรู้และวิทยาศาสตร์ให้คนหลายกลุ่มหลายวัยมาก มีวิธีสื่อสารอย่างไรให้น่าสนใจ

ผมมีสมมุติฐานว่ามนุษย์เราชอบเล่น แล้วก็ยังชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ  ถ้าคุยเรื่องที่เขารู้อยู่แล้ว เขาก็คงเฉย ๆ แต่ถ้าเราทำให้เขารู้เรื่องใหม่ มันก็น่าสนใจใช่ไหม หรืออีกวิธีคือให้เขาเห็นเรื่องเดิมที่เคยเชื่อในมุมใหม่ เราจะบอกว่าคุณรู้ไหมตอนนี้ มีงานวิจัยหรือมีหลักฐานใหม่ ตีความใหม่อีกแบบหนึ่งแล้ว แบบนี้จะสนุก ผมมักจะไม่ปิดว่ามีคำตอบเดียวตลอดไป แต่หลักการนี้มีข้อยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยและชีวิต เช่นฟ้าผ่า ผมจะบอกชัดเจนตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าทำอย่างไรปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย

ผมชอบการแลกเปลี่ยนด้วย ยกตัวอย่างเรื่องฟ้าฝน ผมจะถามว่ามีใครมาจากภาคเหนือ ภาคใต้ หรือภาคอีสานบ้างแล้ว ถามต่อว่าคำศัพท์ภาษาถิ่นในแต่ละพื้นที่เรียกยังไง แต่ละคนจะรู้ภาษาของเขาดี ฝนตกปรอย ๆ คนเหนือพูดว่าฝนอ่อย คนใต้เรียกว่าฝนลงดอก คนอีสานเรียกฝนริน เราทำให้เขาเห็นว่าความรู้ที่เขาคิดว่าธรรมดานั้นมีเสน่ห์และน่าสนใจ เพราะคนภาคอื่นอาจไม่รู้นะ ก็มาแลกเปลี่ยนกัน ได้ความรู้กว้างขึ้น ไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว 

Image

การเปิดกว้างกับคำตอบนี้เกี่ยวกับว่าเราเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือเปล่า

มีส่วนอยู่ครับ เรื่องทางวิทยาศาสตร์นี่ สมมุติคุณเจอข้อเท็จจริงชุดหนึ่ง คุณอาจมีสมมุติฐานใช้อธิบาย แต่สมมุติฐานไม่จำเป็นต้องมีหนึ่งเดียว วิธีการวิทยาศาสตร์คือคุณต้องทดสอบสมมุติฐานว่าอันไหนถูกอันไหนผิด ถ้าสมมุติฐานไหนใช้อธิบายข้อเท็จจริงชุดนี้ได้แล้วยังอธิบายข้อเท็จจริงใหม่ ๆ ที่พบตอนหลังได้ด้วย ก็ยกระดับเป็นทฤษฎี แต่สมมุติฐานไหนอธิบายไม่ได้เลยก็พับไป

ในทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีอาจจะถูกล้มได้เสมอ แต่เป็นการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ เพราะของใหม่ต้องครอบคลุมสิ่งที่ของเดิมเคยอธิบายไว้และบวกกับอธิบายข้อเท็จจริงใหม่ ๆ ได้ และจะดีมากก็ต้องทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตด้วย

แทบทุกคนก็เรียนวิทยาศาสตร์มาแบบท่องจำคำตอบสำเร็จ อะไรทำให้อาจารย์เข้าใจการคิดแบบวิทยาศาสตร์

มีประสบการณ์หนึ่งที่ฝังใจผมมาก คือตอนอยู่ ม. ๑ ครูวิทยาศาสตร์ให้เด็กทดลองเรื่องแบบจำลองอะตอม  ครูให้กล่องเล็ก ๆ ทรงกระบอกแบบกลักฟิล์มสไลด์มีฝาปิดสีเทา มีข้อตกลงคือห้ามเปิดดู แต่ให้เราจินตนาการว่าของข้างในมีลักษณะอย่างไร คุณมีสิทธิ์จะหยิบขึ้นมาดูว่าหนักแค่ไหน จะลองเขย่าก็ได้ เมื่อเขย่าก็ดังก๊อกแก๊ก ๆ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีชิ้นเล็ก ๆ อะไรบางอย่าง เราก็สงสัยว่าเป็นลูกแก้ว แล้วขนาดลูกแก้วเท่าไรหรือมีกี่ลูก เสียงก๊อกแก๊กมาจากการกระทบกันไหม เราก็จินตนาการแล้ววาดเป็นภาพ  ขั้นต่อไปครูให้เครื่องมือเพิ่มเป็นลวด ให้ลองแหย่เข้าไปทางรูใต้กล่องว่าเกิดอะไรขึ้น พอแหย่เข้าไปก็รู้สึกดึ๋ง ๆ เฮ้ย แสดงว่าข้างในต้องมีอะไรนุ่ม ๆ เราก็จินตนาการต่อว่าอาจจะมีโฟมหรือกระดาษอยู่ด้วย  ตอนท้ายครูก็นำมาสู่ข้อสรุปว่าเมื่อเธอตรวจสอบด้วยสายตา น้ำหนัก การเขย่า เธอก็มีสมมุติฐานว่าข้างในเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเธอมีเครื่องมือเพิ่ม เธอก็จะได้ภาพบางอย่างที่ละเอียดขึ้น และมีสมมุติฐานใหม่ที่แตกต่างและละเอียดกว่าเดิม

นี่คือการสอนวิทยาศาสตร์ที่สุดยอดและทรงพลังมาก เราได้คอนเซปต์ของการสร้างสมมุติฐานเลย หนึ่ง คือเอาข้อเท็จจริงมาให้ดู ตรวจสอบได้ด้วยประสาทสัมผัสของเรา เปิดโอกาสให้ใช้พลังจินตนาการ ค่อย ๆ เปิดให้เราคิดต่อไปทีละนิด ๆ จะเห็นว่า หนึ่ง ไม่ได้มีคำตอบเดียว  สอง กระบวนการทำให้เราคิดได้มากขึ้นแม้ภายใต้เงื่อนไขจำกัด และที่สำคัญที่สุดคือครูเก็บเป็นความลับไว้ ไม่ยอมให้เปิดดูแม้ตอนจบ จนถึงวันนี้ผมก็ไม่รู้ว่าข้างในกล่องคืออะไร เป็นความลึกลับที่ฝังใจผมมาก หลายคนอาจเคยมีความฝังใจแบบนี้ บางคนฝังใจกับนก การดูดาว หรือไอน์สไตน์ตอนเด็กก็ฝังใจกับเข็มทิศ

เรื่องของวิทยาศาสตร์เทียม หรือซูโดซายน์ (pseudoscience) ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์คิดอย่างไร

ตามความเข้าใจของผมตอนนี้สังคมไทยใช้คำว่าซูโดซายน์ไม่เหมือนฝรั่ง  ฝรั่งหมายถึงพวกเรื่องคำทำนายทายทัก ดูดวง
ดูไพ่ยิปซี โหราศาสตร์ ซึ่งจะอ้างว่ามีสถิติรองรับ แต่ไทยใช้หมายถึงอะไรที่ผิดเพี้ยนไปจากวิทยาศาสตร์เป็นซูโดซายน์หมด

ถ้ายึดตามนิยามความหมายของฝรั่ง ผมจะไม่ต่อต้านซูโดซายน์ แต่ไม่ได้สนับสนุน ผมถือว่าเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรม
เพราะถ้าคุณต่อต้านเรื่องพวกนี้ คุณก็ต้องต่อต้านเรื่องพระเจ้า เทพเจ้า ผีสางนางไม้  อย่างกรณีบั้งไฟพญานาคมักมีคนถามบ่อย ๆ ว่าผมคิดอย่างไร ผมคิดว่าเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรม แต่คำตอบในทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้อย่างไร บางส่วนก็อาจเกิดจากคนทำ หรืออาจมีคำอธิบายอื่น ๆ  แต่ในเมื่อเรื่องนี้ไม่ได้ถูกใช้หลอกลวงใครให้เสียหาย แถมยังเกิดเศรษฐกิจชุมชนในแง่การท่องเที่ยวด้วย บวกลบคูณหารแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปต่อต้าน

Image

เวลามีคนมาเล่าเรื่องผีให้ฟัง ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธที่เขาเชื่อนะ ถือว่าผมรับทราบไว้เป็นข้อมูลจากคนคนหนึ่ง เชื่อไม่เชื่อผมวางใจไว้ตรงกลาง  แต่หากเป็นความเชื่อที่มีเป้าหมายหลอกลวงและถ้าผมมีความรู้เรื่องนั้นผมจะต่อต้าน อย่างสินค้าที่นำเอาศัพท์วิทยาศาสตร์มาพูดมั่ว ๆ ให้ดูน่าเชื่อถือ หลอกคนให้ซื้อไปใช้ เช่น เหรียญควอนตัมอ้างว่ามีพลังสเกลาร์ ซึ่งที่จริงมีสารกัมมันตรังสีเป็นอันตราย รักษาโรคไม่ได้ หรือเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 อ้างว่าใช้พลังพาราแมกเนติก ชี้เป้าผิดบ้างถูกบ้างแล้วเกิดความเสียหายกับชีวิตทหารหรือคนที่ถูกชี้เป้าแบบนี้เรียกว่า fraud คือการหลอกลวงต้มตุ๋น ซึ่งผมจะต่อต้าน

ศาสตร์โบราณอย่างโหงวเฮ้ง ลายมือ ฮวงจุ้ย ถือเป็นซูโดซายน์หรือ fraud

น่าจะถือเป็นซูโดซายน์ ศาสตร์บางอย่างอาจไม่ได้ผิดทั้งหมด อย่างฮวงจุ้ยนี่อาจมีคนมองว่าเกี่ยวกับเรื่องทิศทางลม ทิศทางแสงอาทิตย์ ต้นไม้ แอ่งน้ำ ซึ่งมีผลต่อสภาพอากาศและอุณหภูมิในบริเวณนั้น และแน่นอนว่าส่งผลต่อความสุขสบายของผู้อยู่อาศัยอีกที  ใครที่เชื่อฮวงจุ้ยแล้วมีฐานะดีพอที่จะจ่ายค่าปรับแต่งหรือเปลี่ยนแปลงอาคาร ก็ถือว่าเป็นความสบายใจครับ

แต่ถ้าเมื่อไรที่มีการล้ำเส้นมาในพรมแดนวิทยาศาสตร์ เช่นอ้างว่าใช้พลังควอนตัมทำนายทายทักและพูดถึงเรื่องควอนตัมแบบผิด ๆ ผมก็ต้องบอกว่าเขาอ้างผิด และจะอธิบายในส่วนที่ผมมีความรู้ แต่ผมจะไม่เข้าไปรุกล้ำในพื้นที่ของคนอื่น เพราะเราก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง 

เคยรู้สึกไหมว่าเราอยู่ในประเทศที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์

ขอแยกเป็นสองอย่างนะครับ คือวิทยาศาสตร์ที่เป็นตัวความรู้ และวิทยาศาสตร์ที่เป็นตัวกระบวนการ  ถ้าเรื่องตัวความรู้ เมื่อก่อนอาจจะคล้าย ๆ อย่างนั้น แต่ตอนนี้ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่แล้ว เพราะการผุดขึ้นมาของเพจเฟซบุ๊กหรือสื่อออนไลน์เฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องชีวะ อวกาศ ธรณีวิทยา แล้วได้ความนิยมสูง สะท้อนว่าอย่างน้อยคนรุ่นปัจจุบันยังสนใจความรู้กันอยู่  แต่ถ้าเป็นตัวกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่จะมาถกเถียง ตรวจสอบกันจริงจัง ยังไม่ค่อยเห็นเหมือนกับโลกตะวันตก ฝรั่งเขาเถียงกันได้ถึงว่าพระเจ้ามีจริงไหม ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าเรื่องนี้อาจเกิดจากวัฒนธรรมไทยที่ไม่ได้ส่งเสริมการถกเถียงกันอย่างมีวุฒิภาวะ หรือให้เกียรติกันมากพอ  ดูง่าย ๆ คือในโซเชียลมีเดียเวลามีประเด็นอะไรขึ้นมา คนส่วนใหญ่มักจะคอมเมนต์แบบฟันธงหรือสรุปกันไปเลย ไม่ค่อยมีคนมาเขียนว่าขอเสนอแนวคิดคำอธิบายแบบหนึ่ง ๆ อย่างมีหลักการ

เพราะคนชอบได้ความจริงแบบเบ็ดเสร็จ ไม่อยากรอการตรวจสอบหรือความไม่ชัดเจน

เชื่อว่าทุกคนต้องการความจริง นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องการ แต่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการนำเราเข้าใกล้ความจริงไปเรื่อย ๆ  บางครั้งก็อาจเฉจากความจริงไปบ้าง แต่วิทยาศาสตร์จะมีวิธีทบทวนตัวเอง โดยมีคนในวงการมาตรวจสอบซ้ำ ลองทำซ้ำ หรือดูเหตุการณ์อื่นด้วยว่าใช่ไหม ถ้าคุณอธิบายผิดก็ต้องถอยกลับมาตั้งหลักใหม่

สมมุติว่าต้นไม้มีผลไม้อยู่กิ่งนี้ (อาจารย์ชูมือซ้ายสูงแทนผลไม้) กระรอกตัวหนึ่งอยากกินก็ปีนขึ้นไป (อาจารย์ใช้มือขวาขยับแทนกระรอก) แต่ปีนกิ่งผิดก็ต้องถอยกลับมาอีกกิ่ง ปีนขึ้นไปใหม่จนกว่าจะเจอกิ่งที่ถูกต้อง เราไม่สามารถไปจับผลนี้แล้วเด็ดกินได้เลย ก็เหมือนวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าเราจะเข้าใกล้ความจริงไปเรื่อย ๆ จากการค้นหาข้อเท็จจริง กำหนดทฤษฎี ทดสอบทฤษฎี แล้วเอาข้อเท็จจริงใหม่มาตรวจสอบ วิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการ ไม่ใช่เริ่มจากหนึ่งแล้วไปตอนจบเลย

แต่คนส่วนใหญ่จะ “บอกมาสิต้นไหน อยากกินแล้ว อยากเด็ดแล้ว” แล้วสื่อก็ชอบแบบนั้น  ปัจจุบันยิ่งหนักกว่าเดิมคือโลกโซเชียลมีเดียมันเร็ว คนสนใจเรื่องนี้แบบด่วน ๆ พักเดียวก็ไปเรื่องใหม่แล้ว  ยกตัวอย่างปรากฏการณ์หนึ่งที่ชัดเจนมาก คือข่าวแสงสีเขียวที่เขาพะเนินทุ่ง (ข่าวเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖) ที่ตอนแรกบอกว่าเป็นแสงออโรรา เราก็รู้ว่าไม่ใช่ จนมีคนบอกว่าเป็นแสงเรือไดหมึก คนก็พูดตามต่อ ๆ กันไป แต่น่าคิดเหมือนกันว่าไม่มีใครพูดถึงว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Skyglow ซึ่งสำคัญมาก เพราะแสงที่มนุษย์สร้างไปรบกวนหลาย ๆ อย่าง ทั้งวงจรชีวิตของสิ่งมีชีวิต การดูดาว หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยการจัดการระดับเมืองหรือเชิงนโยบายด้วย  ผมก็รออยู่นานว่าจะมีใครพูด แต่ไม่มี สุดท้ายผมถึงเขียนอธิบายลงหนังสือพิมพ์และพูดในการสัมมนา  เรื่องนี้น่าแปลกใจคือคนที่มีความรู้ต่อยอดไปถึงปัญหา Skyglow ได้กลับไม่ออกมาพูด หรืออาจพูดแล้วแต่เสียงไม่ดังพอ  ส่วนสื่อสารมวลชนนี่น่าจะทำงานให้ภาพกว้างและเจาะลึกได้มากกว่านี้ 

เวลาคนเขียนงานหรือสื่อสารก็อยากโน้มน้าวให้คนเชื่อเรื่องที่เราเล่า มีเส้นแบ่งอย่างไรกับการเล่าเรื่องที่เชื่อถือได้

คำถามนี้น่าสนใจมาก บางคนจับเอาข้อเท็จจริงที่คนในวงการรับรู้แล้วมาบวกกับข้อสมมุติฐานของตัวเอง เขียนปนกันไปด้วยสำนวนการเขียนหรือการพูด ก็พาให้เชื่อว่าความจริงเป็นแบบนั้น แต่ถ้าอ่านให้ดีจะรู้ว่ายังเป็นแค่สมมุติฐาน 

โดยส่วนตัวผมจะยกข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันขึ้นมาก่อน ตามทฤษฎีที่ดีที่สุดตอนนี้ว่าแบบนี้ ๑ ๒ ๓ ทฤษฎี ถ้ามีหลักฐานเพิ่มเติมที่น่าเชื่อถืออาจจะเป็นแบบที่ ๑ แบบที่ ๒ ก็ปัดตกไป แล้วค่อยบอกความคิดของผมว่ามีแนวโน้มจะเป็นอย่างไร แยกออกจากกันเป็นคนละย่อหน้าเลย เท่าที่สามัญสำนึกรับรู้ ผมจะไม่เอาข้อเท็จจริงและความคิดของคนอื่นมาปนกับความคิดของผม

เวลาไปสื่อสารในรายการสด ต้องเตรียมตัวก่อนไหมว่าจะเล่า ๑ ๒ ๓ ๔ อย่างไร

เตรียมครับ ที่สำคัญต้องเตรียมด้วยว่าถ้าเกิดผู้ดำเนินรายการพาเราเป๋ไปทางอื่น เราจะมีทางหนีทีไล่ยังไง แต่ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่เตรียมมาจะมีแก่นที่ห้ามพลาด คือไม่พูดถึงไม่ได้ เรื่องนี้ต้องขอยกย่องคุณสรยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) ตอนนั้นเขาเชิญผมไปออกอากาศเรื่องวันสิ้นโลก ค.ศ. ๒๐๑๒ มีเวลาพูดแค่ ๒๐ นาที พอไปถึงปั๊บ สรยุทธถามผมเลยว่า “อาจารย์ครับ ๒๐๑๒ เป็นยังไง บอกมาแค่สามเรื่องที่สำคัญ” ผมก็บอก โอเค หนึ่ง คือเขาอ้างว่าโลกจะแตกยังไง สอง คือสิ่งที่กล่าวอ้างมีส่วนไหนถูกหรือไม่ถูกยังไง  สาม คือเราควรจะทำตัวยังไง เขาก็บอกว่าจบ เข้ารายการได้  ผมก็อ้าว เตรียมตัวแค่นี้เองเหรอ  ในรายการ พอผมเริ่มลงรายละเอียดมาก เขาจะบอกทำนองว่า “ตรงนี้พอก่อนครับ เดี๋ยวไม่ครบสามเรื่องที่ตกลงกันไว้” สุดท้ายจบที่สามเรื่องพอดี จบการสัมภาษณ์สดก็มีคนส่งข้อความมาหาผม บอกว่าสนุกมาก คนดูทีวีกันเต็มเลย

ตอนหลังผมใช้หลักการนี้เสมอ แก่นสาระสำคัญสามเรื่องคืออะไร จับให้อยู่ ที่เหลือเป็นแค่อาหารเสริม เคยมีคนถามผมว่า “อยากเขียนบทความ แต่ทำไมรู้สึกว่าเขียนแล้วไม่จบสักที” ผมถามกลับว่า “แก่นสาระที่อยากสื่อสารคืออะไร แบบเด็ด ๆ สักอันมีหรือเปล่า ถ้าเราเขียนแล้วก็จบ ที่เหลือเป็นแค่การทำให้เรื่องน่าอ่าน”  เมื่อไรใช้ลูกเล่นภาษาสวิงสวายแต่ไม่เข้าเป้า ตัวคนเขียนก็รู้เองว่ายังไม่จบ คนอ่านก็รู้สึกแปลก ๆ ว่าเราจะสื่ออะไร ผมคิดว่าเรื่องนี้ใช้ได้กับทุกแพลตฟอร์ม

ทำงานมาหลายปี ยึดหลักการเป็นนักสื่อสารความรู้และวิทยาศาสตร์อย่างไร

หลักคือ หนึ่ง ความรู้มีคุณค่า ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ถ้าเรารู้ก็ควรจะเผยแพร่ เพราะว่าความรู้ต่อยอดไปได้ เรื่อย ๆ  สอง คือพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่สื่อสารในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จริง ต้องใช้คำว่า “พยายาม” เพราะบางทีความรู้เรายังไม่อัปเดต มันอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้  สาม คือต่อให้เรารู้จริง ก็อาจจะรู้ไม่ครบทุกมิติ  ข้อหลังนี้ผมเคยได้ประสบการณ์จากการไปออกรายการสดกับคุณจอมขวัญ (จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์) เรื่อง “ไมโครเบิร์สต์” เป็นรายการสด ๑ ชั่วโมงซึ่งมีคำถามเข้ามาจำนวนมาก ถึงจุดหนึ่งก็เกินความสามารถของผม จนต้องตอบว่าไม่รู้ รู้สึกเสียดายเหมือนกัน แต่ถ้าผมตอบแบบเดา ๆ ไปก็จะสร้างความรู้ผิด ๆ ติดหูคนไป  ตอนหลังผมจะดูว่ารายการสั้นยาวแค่ไหน แล้วผมมีความรู้มากพอจะรับมือไหม ถ้าไม่มั่นใจผมจะไม่ไป

การสื่อสารเรื่องยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจ 

ดูกลุ่มผู้รับสารว่าเป็นใครและทำให้ง่ายในระดับผู้รับสารฟังได้ ซึ่งอาจใช้การเปรียบเทียบ แต่จะบอกก่อนว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่รัดกุมมากนะครับ เพื่อให้เข้าใจได้  ผมจะบอกว่าถ้าพูดภาษาง่าย ๆ เป็นแบบนี้ แต่ถ้าพูดแบบวิชาการก็เป็นคำนี้ ฟังยากนิดนึงนะครับ  แล้วถ้ามีเวลาหรือพื้นที่พอ ผมจะบอกให้รู้ว่ายังมีบางอย่างลึกกว่านี้อีก มีคำให้ไปค้น ให้ลิงก์นี้ไปดูต่อ เพราะพื้นที่สื่อมีจำกัด หรือถ้าเป็นเรื่องที่ผมไม่เชี่ยวชาญ แล้วเขาอยากลงลึกกว่าความรู้พื้นฐานที่ผมพออธิบายได้ ก็จะบอกชื่อนักวิชาการหรือแหล่งข้อมูลให้ไปค้นต่อได้

Image

“หนึ่ง ความรู้มีคุณค่า ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ ถ้าเรารู้ก็ควรจะเผยแพร่ เพราะว่าความรู้ต่อยอดไปได้เรื่อยๆ  สอง คือพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่สื่อสารในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จริง ต้องใช้คำว่า พยายาม เพราะบางทีความรู้เรายังไม่อัปเดต มันอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้  สาม คือต่อให้เรารู้จริง ก็อาจจะรู้ไม่ครบทุกมิติ ”

การชี้ว่ายังมีอะไรให้ค้นต่อ อาจารย์ต้องการอะไร

เป็นการบอกกลาย ๆ ว่า ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ให้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แล้วเวลาผมพูดในสื่อหรือแม้แต่ในงานเขียน ผมจะบอกว่าเรื่องนี้ผมรู้แค่นี้นะครับ แต่มีบางเรื่องกำลังศึกษาและตรวจสอบอยู่ ผมยังไม่มั่นใจที่จะให้คำตอบ คือต่อให้คุณคิดว่าใครสักคนเชี่ยวชาญเรื่องนี้ แต่ก็จะมีเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญไม่รู้เสมอ นี่เป็นความจริงในวงการวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าไปถามนักวิจัยแท้ ๆ เขาจะบอกว่ากำลังศึกษาอยู่ มีสมมุติฐานแบบนี้ ทดสอบอยู่ และสิ่งที่มั่นใจพอสมควรจะเป็นแบบนี้ แปลว่าเขายังไม่รู้เรื่องนั้นทั้งหมดในทุกแง่มุม

สะท้อนหลักคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่อาจารย์บอกว่าความรู้ต่อยอดได้

ต่อยอดได้เสมอ มันอยู่ในตัวคนทุกคน แม้แต่เด็กเราก็เรียนรู้จากเขาได้  ผมเคยจำจากเด็กมาสอนต่อเรื่องการทดลองสร้างเมฆ คือเรามีขวดที่ต้องหาวิธีเคลือบแอลกอฮอล์ข้างในให้ทั่ว ผมจะถามผู้ใหญ่หรือเด็กว่าทำยังไง ส่วนใหญ่ทุกคนจะจับขวดเขย่าแรง ๆ แต่มีเด็ก ป. ๔ คนหนึ่งเขาจับขวดไว้แล้วกระโดดขึ้นลง ตอนหลังผมก็เอาเรื่องเด็กคนนี้ไปเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง แล้วแกล้งพูดเล่น ๆ ว่าเด็กใช้ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพ” เชียวนะ คือขวดอยู่นิ่งเทียบกับตัวเด็ก นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าอย่าปิดกั้นจินตนาการ  ผมชอบสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนเข้าร่วม หาทางเอาความรู้ออกมาจากตัวเขา ทำให้เราและคนอื่นได้เรียนรู้ไปด้วย

คิดว่า storytelling ในการสื่อสารความรู้หรือวิทยาศาสตร์ คืออะไร

คำว่า storytelling ความจริงซ่อนอีกคำหนึ่งไว้ซึ่งสำคัญกว่า คือ engagement เป็นการดึงผู้รับสารเข้ามาอินกับคุณให้ได้มันคือหัวใจของ storytelling  สำหรับผมกรณียากหน่อยคือ podcast เพราะไม่มีภาพ ไม่มีวิดีโอ ใช้เสียงกับเอฟเฟกต์อย่างเดียว คุณจะเล่ายังไงให้คนรู้สึกอินว่า “เรื่องนี้เกี่ยวกับฉัน ที่คุณเล่านี่ฉันเจอกับตัวเองเลย ไหนฟังซิจะแก้ไขยังไง” คุณจะเขียนสารคดีลงสื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย ทำ TikTok เป็น YouTuber หรือสื่อรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะตามมา คุณก็ต้อง engage กับคนที่รับสารให้เป็นส่วนหนึ่งกับคุณ แล้วคุณจะกลายเป็นเพื่อนเขา เหมือนนักสื่อสารดัง ๆ อย่าง “ฟาโรส” หรือ “นิ้วกลม”

ความสุขที่สุดของการเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มา ๒๐ กว่าปี

ถ้าตอบจริง ๆ คือตัวเราเอง ผมพึงพอใจทุกครั้งที่สามารถเอาเรื่องที่ผมสนใจ และคิดว่าคนอื่นน่าจะสนใจด้วย มาเรียบเรียงย่อย ด้วยวิธีการใหม่ ๆ ที่เราคิดขึ้นมา เผยแพร่แล้วไม่ว่าเขาจะรับไปมากน้อยแค่ไหน แต่เราเองได้ความรู้ที่มั่นคงขึ้น เพราะ หนึ่ง เราได้จัดความรู้เป็นระบบ  สอง คือเราได้สร้างวิธีการใหม่ในการเรียบเรียงความรู้ขึ้นมา แค่นี้ก็อิ่มใจระดับหนึ่งแล้ว

รู้สึกเสมอว่า “ช่วงเตรียมงานคือช่วงที่โรแมนติกที่สุด” จะคิดตลอดว่าจะชวนคุยชวนเล่นยังไง คือความสุขสองในสามเกิดขึ้นตอนเตรียมงาน แล้วถ้าตอนทำได้สำเร็จตามที่เตรียมไว้ก็เติมเต็มความสุขอีกหนึ่งในสาม มากกว่านั้นคือบางครั้งได้ความรู้ใหม่จากคนที่เราเล่นด้วย แบบนี้ความสุขก็ล้นเลย ผมจะขอความรู้เขาไปเผยแพร่ต่อ แล้วให้เกียรติโดยการบอกชื่อเขาเสมอ