Image

การ์ตูนเป็นราก
มาตั้งแต่เด็ก ๆ
ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์
นักวาดการ์ตูน นามปากกา
“สะอาด”

Comic Writer
40 Years of Storytelling

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล  
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image

ภาคแรก
วัยเด็ก

เนื้อตัวของเรา

ผมเติบโตมากับการเสพการ์ตูน เริ่มตั้งแต่ ป. ๓  พี่สาวอายุมากกว่าผม ๓ ปี พี่ชายมากกว่า ๖ ปี พวกเรามีวัฒนธรรมเขียนการ์ตูนแลกกันอ่าน เขียนลงสมุดเรียน รักษาสิ่งนี้ ทำกันมานาน

การ์ตูนที่ผมเขียนจะมีทั้งที่พี่ชอบและไม่ชอบ อ่านแล้วไม่รู้เรื่องก็ต้องช่วยอธิบายว่าช่องนี้สู้กัน ช่องนี้ปล่อยพลัง ช่องนี้เลือดออกคิดว่าช่วงแรก ๆ พี่ไม่ได้ชอบการ์ตูนผมจริง ๆ หรอก น่าจะใช้เวลาเกือบ ๑๐ ปีถึงจะอ่านรู้เรื่อง แต่เหมือนเป็นวัฒนธรรมว่ากูเขียนให้มึงอ่านมึงไม่รู้เรื่องเหรอ กูช่วยอธิบาย  สนุกในแง่ที่ต้องอธิบาย ไม่ได้สนุกจากการอ่านโดยตรง

ตอนผมเรียนชั้นประถมศึกษา พี่ชายอยู่มัธยมศึกษา เขาอยากส่งการ์ตูนไปลงนิตยสาร พวกเราจะช่วยกันทำต้นฉบับ พี่ชายวาดผมเป็นลูกมือ ถมดำ ลบจุดผิด ช่วยกันสามคน ตอนผมอยู่ ม. ต้น พี่ชายทำแมกกาซีนในมหาวิทยาลัยก็ชวนผมเข้าไปแจม

เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องว่าต้องมีการ์ตูนเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ การ์ตูนเป็นรากมาตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นเนื้อตัวของเรา  ทุกวันนี้พี่ชายก็ยังทำสำนักพิมพ์กับผม ทำสินค้าพวกเสื้อ ของเล่นที่มีคาแรกเตอร์เป็นตัวการ์ตูน แล้วยังเป็นบรรณาธิการให้ผมอีกหลาย ๆ งาน ส่วนพี่สาวทำงานกับบริษัทโปรดักชันภาพยนตร์โฆษณา

แรงสนับสนุน

พ่อแม่เห็นลูก ๆ ชอบวาดการ์ตูน ดูสนุก ก็ส่งเสริมด้านศิลปะ ส่งไปเรียนตามที่ต่าง ๆ แต่พอเรียนแล้วถึงรู้ว่าการใช้สีน้ำกับการวาดการ์ตูนมันต่างกันเยอะ  การวาดภาพเป็นการวาดตามแบบหรือสร้างภาพขึ้นมา แต่การวาดการ์ตูนเป็นการเล่าเรื่องมากกว่าการทำให้ภาพสวยงามหรือลงตัว

การวาดต้นไม้กับการวาดต้นไม้ใส่ลงในช่องมันต่างกัน วิธีคิด วิธีออกแบบต่างกันคนละโลก ผมชอบเขียนการ์ตูนมากกว่าเยอะ  เคยมีคนถามผมว่าสนใจวาดภาพลงบนเฟรมขายมั้ย เขาเห็นการ์ตูนเรื่องหนึ่งต้องวาดเป็นร้อยเป็นพันรูป แต่การวาดในช่องการ์ตูนเป็นพันรูปกับวาดลงเฟรมเป็นการเล่าคนละประเภทกัน มีธรรมชาติที่แตกต่าง  ผมไม่ได้ชอบวาดภาพบนเฟรมให้สวยงาม แต่อยากจะวาดต้นไม้ให้มันเล่าเรื่อง สอดคล้องกับสิ่งที่ผมอยากจะเล่า

Image

ช่วง ม. ต้น เริ่มวาดการ์ตูนจริงจัง ส่งไปลงแมกกาซีนตั้งแต่อายุ ๑๔ เริ่มมีรายได้จากค่าต้นฉบับจริง ๆ จัง ๆ อายุ ๑๖
แมกกาซีนฉบับแรกที่ได้ลงชื่อ อินฟินิตี้ ของอุบลราชธานี ช่วงนั้นมีแมกกาซีนใหม่ ๆ ผุดขึ้นเยอะมาก เขาอยากได้การ์ตูนแบบ hesheit ของตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร ก็เลยให้ผมวาดการ์ตูนแปดหน้า ได้ค่าต้นฉบับมา ๒,๐๐๐ บาท น่าจะพิมพ์ออกมาห้าฉบับได้ค่าเรื่องบ้างไม่ได้บ้าง

พ่อแม่สนับสนุนมาตลอด แต่พอผมจะวาดการ์ตูนเป็นอาชีพ เขาก็เริ่มกังวล  วันที่ผมพยายามหาเส้นทางเขาไม่เคยเห็นตัวอย่างคนเป็นนักเขียนการ์ตูนแล้วจะอยู่รอดได้ เวลานั้นยังไม่มีที่ทางในวงการว่าอาชีพนี้จะอยู่รอดได้ยังไง ตัวอย่างมีให้เห็นน้อยมาก ๆ  ถึงเวลาเลือกคณะเรียนก็เลยอยากให้เราเลือกทางที่มีรายได้ชัดเจน แต่ผมเขียนการ์ตูนส่งแมกกาซีนมาตลอดตั้งแต่มัธยมฯ จนถึงมหาวิทยาลัย จบวารสารศาสตร์ก็ทำฟรีแลนซ์เขียนการ์ตูน ไม่เคยทำอย่างอื่นเลย ค่อย ๆ พิสูจน์ไปทีละนิดว่ามันอยู่ได้ เขาก็เข้าใจ

ผมไม่ค่อยชอบพูด แต่ชอบเขียนการ์ตูนมากกว่า พอทำเป็นอาชีพ มีกลุ่มคนอ่าน ก็สะท้อนกลับมาว่าสิ่งที่เราชอบตอนเด็ก ๆ มีคนให้ความหมาย

ภาค ๒
นักวาดการ์ตูน

คิดแบบการ์ตูน

ผมไม่ใช่คนพูดเก่ง ประเภทเจอใครก็เล่าเรื่องให้ฟัง ผมเป็นอินโทรเวิร์ตมากกว่า ไม่ได้ชอบเจอคนใหม่ ๆ ไม่ได้รับพลังงานจากการเจอคนหน้าใหม่ ๆ เหนื่อยง่ายเวลาพูดเยอะ แต่เขียนการ์ตูนได้เป็นวันโดยไม่รู้สึกเหนื่อยนัก

วิธีการสื่อสาร หรือวิธีมองโลก ผมมองแบบการ์ตูน มีวิธีคิดแบบการ์ตูน สมมุติเจอใครคนหนึ่ง ก็จะมีนิสัยชอบจับคาแรกเตอร์ว่าเขามีจุดเด่นอะไรที่เราจะเล่าออกมา

ผมมองคำว่า storytelling ในสามระดับ หนึ่ง ในฐานะที่ผมทำงานสื่อสาร เป็นนักวาดการ์ตูน storytelling เป็นการเล่าเรื่องไปถึงคนรับสาร  storytelling ที่ดีเป็นการเล่าเรื่องที่ไปสู่คนรับสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งความบันเทิงและประเด็น สอง ผมมองในเชิงสังคมวิทยา ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เราขับเคลื่อนกันทุกวันนี้เกิดจากเรื่องเล่า เราเชื่อว่าเงินมีค่า หรือเชื่อว่ามนุษย์ต้องมีเสรีภาพ ก็หาทางขับเคลื่อนเรื่องเล่าเหล่านี้ต่อไป มันอาจจะจริงในเวลาหนึ่ง ไม่จริงในอีกเวลาหนึ่งก็ได้  โจทย์ของผมในงานสื่อสารคือพยายามเล่าให้คนเชื่อในสิ่งที่เราคิดว่ามันดีให้มาก  สาม มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่เล่าเรื่องตลอดเวลา เล่าอะไรแบบไหนก็สะท้อนตัวตนออกมา เป็นกระบวนการที่ทำให้เข้าใจตัวเอง เหมือนกับว่าเขาเป็นคนอย่างไร มันอยู่ที่ว่าเขาเล่าเรื่องตัวเองในอดีตแบบไหน นิยามตัวเองอย่างไหน

สุดท้ายแล้วเรื่องเล่ามีความหมายต่อมนุษย์ในฐานะคนฟังและคนเล่าเองว่าเขานิยาม มองเห็น หรือตีความสิ่งต่าง ๆ อย่างไร

คนละศาสตร์

ลักษณะของการ์ตูนมีความกึ่งอ่าน กึ่งดู เซนส์ของมันใกล้เคียงกับแมกกาซีน ทั้งอ่านเรื่องและดูภาพไปด้วยกัน เวลาออกแบบคอลัมน์หรือดีไซน์การเล่าจะมีทั้งภาพทั้งเรื่อง การ์ตูนใช้เทคนิคนี้เยอะ  บางซีน บางหน้า ออกแบบโดยเน้นภาพเป็นหลัก  บางหน้าผ่านการพูด จะตัวหนังสือเป็นหลัก เนื้อหาที่สื่อผ่านภาพวาดเป็นหลักก็ได้

ขณะเดียวกันการ์ตูนก็ไม่ใช่หนังสือเล่มหรืองานเขียนยาว ๆ มีเทคนิคการเล่าหลายแบบที่ดึงดูดความสนใจของคนอ่าน แต่ก็ไม่ได้เรียกร้องความสนใจมากเท่าสื่อที่มีเสียงมากระตุ้น

ถ้าพูดในทางปฏิบัติ ผมดูซีรีส์หรือภาพยนตร์ก่อนนอนไม่ได้ เพราะจะถูกเรียกร้องความสนใจจากสื่อประเภทนี้มาก จนทำให้หัววิ่ง มัวแต่คิดตามว่าตัวละครหรือพล็อตเรื่องเป็นยังไงต่อไป แล้วจะทำให้หลับไม่สนิท แต่ถ้าเป็นหนังสือหรือการ์ตูนสามารถทำได้ ผมเสพสื่อประเภทนี้ด้วยความเพลิดเพลินและผ่อนคลาย ถึงกลางเรื่องอ่านคาไว้แล้วค่อยกลับมาหามันอีกทีได้

โดยธรรมชาติของภาพยนตร์หรือซีรีส์ เวลาเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นจะถูกเร้าอารมณ์ ถูกดูดความสนใจให้ตื่นเต้น นั่งไม่ติดเก้าอี้ อยากกดดูตอนต่อ ๆ ไป  หนังสือไม่เรียกร้องขนาดนั้น จะอ่านเมื่อไรก็ได้ บางเล่มอาจใช้เวลาเป็นปี

เคยมีช่วงที่ผมพยายามสำรวจ ค้นหา ว่าจะเล่าเรื่องยังไงให้มากกว่าแค่การ์ตูน การเข้า “ค่ายสารคดี” ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในนั้น มีไปร่วมเวิร์กช็อปการเขียนบทละครเวที จบออกมาก็เคยเขียนบทซีรีส์ แต่ก็กลับมาตายรัง  สุดท้ายสิ่งที่เข้ากับธรรมชาติของผมมากสุดคือการ์ตูน เหมือนเราพัฒนาทักษะ อัปเลเวลตัวละครในเกมมาทางนี้แล้ว

ผมใช้ความพยายามเขียนงานสักชิ้นให้ดีมากกว่าใช้ความพยายามในการเขียนการ์ตูนให้ดีเยอะ ทักษะที่ฟอร์มตลอดช่วงที่ผ่านมามันส่งเสริม ยิ่งปัจจุบันมองทางวิชาชีพ มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ต้องหาเงิน จะพัฒนาทักษะไปในทางเขียนบท ผมว่ายาก สู้เอาแรงไปต่อยอดการ์ตูนดีกว่า

"เคยมีความคิดว่าการ์ตูนที่ดีต้องสร้างประโยชน์ให้สังคม เคยเห็นการ์ตูนคนยิงกัน สู้กัน ปล่อยพลัง มีความรุนแรง แล้วคิดว่า การ์ตูนมันต้องมีมากกว่าความสนุก แต่ตอนนี้คิดว่าความสนุก มีค่ามากต่อมนุษย์"

ภาค ๓
การวาด

การ์ตูนช่อง

การ์ตูนหน้าเดียว การ์ตูนสี่ช่อง หรือแปดหน้า เป็นคนละศาสตร์กัน ในภาพรวมความเข้าใจง่ายหรือแก๊กที่ต้องการจะสื่อสารสำคัญที่สุด ทุกช่องต้องชัด ไม่มีองค์ประกอบอื่นมารบกวนความเข้าใจ  ถ้าผมจะเล่าถึงตัวละครที่เป็นนักเขียนสารคดี ในแต่ละฉากไม่ควรมีอะไรเข้ามาทำให้ความเป็นนักเขียนสารคดีซับซ้อน ผมไม่ควรจะวาดแพะหรือหุ่นยนต์ลงไป เพราะจะทำให้คนอ่านต้องใช้เวลากับช่องมากขึ้น

โจทย์ของการ์ตูนแก๊กส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในยุคนี้ คนต้องอ่านจบได้ไม่เกิน ๓ วินาที งานจะยิ่งคม มันต้องชัดทั้งสี่ช่อง

การ์ตูนแปดหน้าต้องวางพล็อต กำหนดคาแรกเตอร์ มีโลกทัศน์ของเรื่อง อุปสรรคที่ตัวละครเจอ บทจบยังไงที่ลงตัวยังไงให้คนอิ่มหลังอ่านจบ จบแล้วได้ประเด็นอะไร

ถ้าวาดการ์ตูนเป็นภาพปกต้องดึงดูดสายตา มีองค์ประกอบกว่าความชัด อาจจะมีลวดลายที่ไม่ได้สื่อสาร แต่ให้ความรู้สึกถึงอารมณ์หนังสือ

การ์ตูนซีรีส์แบบญี่ปุ่นก็เป็นอีกโจทย์ จะเล่าเรื่องยังไงให้คนอ่านหิว อ่านจบแล้วอยากติดตามต่อ ทำยังไงให้คนหลงรักตัวละคร ต้องพาตัวละครไปอยู่ในสถานการณ์ใดถึงจะดึงเสน่ห์ออกมา

กระบวนการ

การวาดการ์ตูนมีกระบวนการหลัก ๆ สามขั้น คือ ตัวบท storyboard และต้นฉบับ

บทเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรื่องสนุกและน่าสนใจ  พอทำงานมาเรื่อย ๆ ผมพบว่าสุดท้ายแล้วภาพคือบทแบบหนึ่ง ภาพคือเรื่อง ผู้กำกับภาพยนตร์บางคนแช่เฟรม มันคือการเล่าเรื่องในแบบของเขา ให้คนดูทำงานภายในกับตัวเองผ่านการจ้องมองเฟรมนั้น มันมีเซนส์นี้อยู่เหมือนกัน  การ์ตูนบางเรื่องเวลาเรามองภาพเขาแล้วรู้สึกสบายใจ มันคือเรื่องในตัวของมัน

ลายเส้นของผมถ้าดูลำพังมันกึ่ง ๆ ลายมือ คงไม่สามารถบิดลายเส้นไปมากกว่านี้ แต่ว่าบางฉากผมกำหนดโทนว่าตัวภาพควรจะต้องส่งกลิ่นเหม็น มีความดิบ แฉะ จังหวะนี้ให้มันขมุกขมัว หรือบางอารมณ์ต้องการความโปร่งก็วาดออกมา

ถ้าต้องการภาพพระนครที่คนอ่านไม่เคยเห็นจากงานประวัติศาสตร์ที่สวยสดงดงาม ก็ลงเนื้อสัมผัสของภาพให้ดิบหยาบ เส้นทุกเส้นสื่อนัยของตัวเรื่อง ผมคิดเรื่องแบบนี้มาก

ขั้นตอนยากที่สุดคือการลง storyboard เอาบทมาตีเป็นช่อง ๆ แล้วสเกตช์ภาพ หาทางสื่อว่าตัวอักษรจะถูกเล่าแบบไหน ตัวละครแสดงสีหน้าท่าทางอย่างไร  ผมติดใช้เวลาทำ storyboard นาน ปรับแก้เยอะเพื่อทำให้ลงตัว

ถ้า storyboard ลงตัว ต้นฉบับก็จะไหลลื่น ภาพในหัวชัดแล้วไม่ติดปัญหา

ภาค ๔
อาชีพ

ผสมผสาน

การ์ตูนที่เขียนให้พี่ ๆ อ่านตอนเด็ก ๆ ไม่ได้ใกล้เคียงกับตอนนี้ เป็นการ์ตูนต่อสู้ ลูกฆ่าพ่อ เล่นบาสแข่งกันไปเรื่อย ๆ ไม่มีจุดมุ่งหมาย  บางช่วงอ่านการ์ตูนมอนสเตอร์มาก ก็วาดการ์ตูนมอนสเตอร์

ความเข้าใจเรื่องหรือว่าโครงสร้างการเล่าเรื่องเพิ่งมาช่วงมัธยมฯ เริ่มจากพี่ชายที่เขาชอบดูหนัง ชอบศึกษานิตยสาร ซื้อหนังสือสอนเขียนบทหนังมาอ่าน ผมก็ตามซื้อหนังสือสอนวาดการ์ตูน มองย้อนกลับไปวิเคราะห์ว่าการ์ตูนที่อ่านตอนเด็ก ๆ สนุกเพราะอะไร ถ้าเราอยากทำให้สนุกบ้างต้องทำยังไง ค่อย ๆ เรียนรู้ โดยมีพี่ชายเสาะแสวงหาอะไรใหม่ ๆ มาเติมให้  ขณะเดียวกันก็มีสนามให้ทดลองอยู่เรื่อย ๆ

Image

ผมเขียนการ์ตูนลงบล็อกออนไลน์เป็นคนแรก ๆ ได้เรียนรู้การทำงานที่มีคนมาอ่านแล้วแสดงความเห็นตั้งแต่ช่วง ม. ต้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำงานกับฟีดแบ็กหรือคอมเมนต์ของคนอ่าน มันช่วยกำหนดทิศทางให้มีวิธีทำงานที่ต้องตรวจสอบการทำงานของตัวเองให้ดีขึ้น

ช่วงแรกที่ทำงานวาดการ์ตูน เราแสวงหาโอกาสเพราะยังไม่รู้ว่าจะทำได้มั้ย พยายามวาด ๆ ส่ง ๆ พัฒนาตัวเองจนมาถึงจุดนี้

ทุกวันนี้เริ่มคิดในเชิงระยะยาว ออกแบบแนวทางที่จะอยู่กับมันในระยะยาวมากขึ้น คิดว่าในแง่อาชีพนักวาดการ์ตูนต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ต้องผลิตงานแบบไหน สร้างระบบนิเวศการทำงานที่ตอบโจทย์ทั้งรายได้และจิตใจ อยากทำในสิ่งที่รักและดีต่อสุขภาพผสานกัน

ช่วงแสวงหาผมยึดตัวเราเป็นหลัก วาดแบบที่ชอบ แต่ปัจจุบันมองว่าสิ่งที่ผมชอบจะเชื่อมกับคนอ่าน หรือไปสู่คนอ่านใหม่ ๆ ได้ยังไง  การวางแผนทางการเงินหรือเรื่องตลาดก็มากขึ้น จะมีคนอ่านเข้ามาอยู่ในสมการเสมอ ทำเพจก็ไม่ใช่คุยกับตัวเองแบบช่วงแรก ๆ ที่มั่วไปเรื่อย ปัจจุบันรู้ว่าจะคุยกับคนประมาณไหน พยายามรักษาฐานเหล่านี้เพื่อต่อยอดไปเรื่อย ๆ

สานต่อ

เคยมีความคิดว่าการ์ตูนที่ดีต้องสร้างประโยชน์ให้สังคม เคยเห็นการ์ตูนคนยิงกัน สู้กัน ปล่อยพลัง มีความรุนแรง แล้วคิดว่าการ์ตูนมันต้องมีมากกว่าความสนุก แต่ตอนนี้คิดว่าความสนุกมีค่ามากต่อมนุษย์

การ์ตูนอย่าง ดราก้อนบอล มองในบางแง่มีประโยชน์กว่าการ์ตูนของผม เพราะมันเข้าถึงคนหลากหลาย กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ

การ์ตูนที่ดีควรจะสนุก และเมื่ออ่านจบคนอ่านรู้สึกว่าได้อะไรบางอย่าง อะไรก็ได้ เช่น ชอบตัวละคร ในเชิงประวัติศาสตร์อาจจะสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น หรือมีมุมมองใหม่ในการใช้ชีวิต แต่เอาแค่สนุกผมก็ดีใจแล้ว ความสนุกเป็นพื้นฐานในการคิด ถ้าอ่านแล้วไม่สนุกผมก็จะเศร้า ถือว่าเป็นความล้มเหลวในฐานะนักเล่าเรื่อง

ทุกวันนี้มีคนวาดการ์ตูนสะท้อนปัญหาสังคม มีคนไปอยู่ในฉนวนกาซาแล้วกลับมาเขียนเป็นเล่ม เล่าในเซนส์ของการสื่อสารมวลชนสูงมาก มีคนไปทริปเกาหลีเหนือแล้วกลับมาเล่าเรื่องด้วยลายเส้นน่ารัก แต่บรรยากาศมีความดาร์กสูง

การเล่าโดยใช้การ์ตูนเป็นเครื่องมือติดภาพความรู้สึกถึงความเป็นเด็ก ยังมีภาพจำว่าการ์ตูนเบาสมองต้องเป็นเด็ก แต่รูปแบบของมันถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ  มีการ์ตูนที่เล่าเพื่อผู้ใหญ่อ่าน นำเสนอเนื้อหาจริงจัง เล่าแบบหนังสารคดี บางเรื่องเข้มข้นมากกว่านิยาย เป็นงานคลาสสิก เช่น เรื่อง Mouse เล่าเรื่องผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวที่มาอาศัยในอเมริกา แต่จงใจทำให้เบลอ วาดทุกคนเป็นหนู วาดนาซีทุกคนเป็นแมวเป็นปัญหามากในร้านหนังสือว่าจะวางไว้หมวด fiction หรือ nonfiction

รูปแบบของการ์ตูนมีการแสวงหาลู่ทางใหม่ ๆ ค่อนข้างไปไกล เพียงแต่ตลาดนี้ยังไม่มีที่ทางนักในเมืองไทย คนเลยไม่รู้

กลุ่มเอ็นจีโอมีความคิดว่าจะสื่อสารปัญหาในเชิงสังคมให้คนชนชั้นกลางเข้าใจ ก็พยายามหาช่องทางใหม่ ๆ ในการสื่อสาร เขาใช้การ์ตูนเป็นสื่อให้คนรุ่นใหม่รับรู้ถึงปัญหา มองปัญหาเชิงกลยุทธ์ ให้สังคมรับรู้ว่าเขาทำอะไร เป็นอีกเหตุผลให้เขาอยากร่วมงานกับนักวาดการ์ตูน ซึ่งมันก็ตอบโจทย์ เพราะในโซเชียลมีเดียการ์ตูนไปได้ค่อนข้างดี ทำให้วัฒนธรรมการอ่านการ์ตูนไม่ได้กระจุกตัวที่คนเมือง แต่ไปในทุกที่ เพราะมันเด้งขึ้นหน้าฟีดทุกวัน ผู้คนคุ้นเคยกับการเสพภาพการ์ตูนกว่าแต่ก่อนคนยอมรับการใช้การ์ตูนเล่าเรื่องมากขึ้น

ถึงวันนี้อยากมีคนอ่านมากพอที่ผมจะเขียนงานที่ชอบแล้วเลี้ยงตัวได้

การ์ตูนของผมจะประสบความสำเร็จหรือไม่ มีสองอย่าง หนึ่ง งานชิ้นนั้นมีคุณค่าต่อผมมั้ย  สอง งานชิ้นนั้นมีคุณค่าต่อคนอ่านแค่ไหน อาจจะไม่ต้องเยอะก็ได้ ไม่ต้องเอาตัวเลขมาวัด เพราะตัวเลขจะกัดกินให้รู้สึกผิดหวัง

ผมมีทัศนคติว่าถ้าหนังสือมีความหมายต่อคน แค่คนหรือสองคนก็พอแล้วที่เราจะทำงานต่อ กรอบคิดแบบนี้ทำให้ผมรักษาความสม่ำเสมอในการทำงาน  ความอึดและความสม่ำเสมอสำคัญมากต่ออาชีพ ในทางตรงข้าม ถ้าคุณไม่สามารถยืนระยะเพื่อเล่ามันได้ยาวนาน คุณก็จะไม่สามารถพัฒนาทักษะให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

โปรดติดตามตอนต่อไป