Image
หมายเหตุ มอเตอร์ไซค์ประกอบฉากเพื่อเล่าเรื่องราวได้มากขึ้น
วินัย ดิษฐจร
Photojournalist
(วัย ๖๐ ปี)
Photographer
40 Years of Storytelling
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
Image
กวาดตามองวงการช่างภาพข่าว/สารคดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นชื่อเครดิตช่างภาพที่โดดเด่นในจำนวนนับนิ้วได้ โดยเฉพาะในสนามภาพข่าวการเมือง
หนึ่งในนั้นคือ วินัย ดิษฐจร ผู้โดดเด่นในแง่ของการเล่าเรื่อง ด้วยภาพ เช่น ภาพจากการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงในปี ๒๕๕๓/ค.ศ. ๒๐๑๐ บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่มีโทนภาพเป็นสีฟ้าขมุกขมัว มีผู้ชุมนุมคนหนึ่งใส่ชุดคลุมปกปิดมิดชิด สวมหมวกกันน็อก ยืนเป็นโฟร์กราวนด์ ด้านหลังมีแนวรั้วลวดหนาม ด้านบนเป็นคานของทางยกระดับข้ามแยก

คนที่ได้ดูภาพต่างก็สงสัยว่า ช่างภาพคิดอย่างไรก่อนจะลั่นชัตเตอร์เก็บบรรยากาศและจังหวะที่ราวกับการทำ “สงครามอวกาศ” มาถ่ายทอดได้

ในความเป็นจริง วินัยไม่ใช่ช่างภาพหน้าใหม่ เขาเป็น “มือเก๋า” ที่ผ่านงานภาคสนามมาแล้วแทบทุกแบบ งานหลายชิ้นได้รับการยอมรับจากต่างประเทศในฐานะภาพถ่ายประเภท photojournalist ซึ่งมีช่างภาพไทยจำนวนน้อยคนทำได้

โดยพื้นฐานทางบ้าน วินัยไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน แต่เขามีฝันแน่วแน่ในอาชีพช่างภาพ ซึ่งเป็น “ความฝันราคาแพง” ในวัยเด็ก วันนี้ฝันนั้นเป็นจริงและยืนระยะยาวนาน เขาผลิตงานต่อเนื่องอย่างไม่ย่อท้อมาจนถึงตอนนี้

การ “เล่าเรื่องด้วยภาพ” ของวินัยเป็น “เรื่องเล่า” ที่น่าสนใจสำหรับช่างภาพสารคดีรุ่นหลัง

พื้นฐาน

“ในยุคที่ผมเติบโต อาชีพช่างภาพเป็นความฝันที่มีราคาแพง ค่าอุปกรณ์แพงมาก ครั้งที่ถ่ายภาพเล่าเรื่องหนแรกคือตอนอายุ ๒๒ ปี ตอนนั้นยังทำงานหลักเป็นกระเป๋ารถเมล์ ผมยืมกล้องจากคุณลุงเพราะจำได้ว่าพ่อขายกล้องนี้ให้คุณลุง เป็นกล้องยี่ห้อ Petri กล้อง Rangefinder เลนส์เดี่ยวระยะ ๔๐ มม. ใส่ฟิล์มสีโกดักโกลด์ ๒๐๐ นั่งรถ บขส. สีส้มจากกรุงเทพฯ ไปลงที่พัทยาเหนือ เดินเท้าเปล่าทั่วเขตพัทยากลาง ขึ้นเขา ลงหาด ถ่ายภาพไปเรื่อย ถ่ายภาพคน ขอทานไปจนหาดจอมเทียน นั่งรถสองแถวกลับไปยังถนนที่ตอนนี้เป็นถนนคนเดินที่พัทยาใต้ ความรู้สึกคืออยากสำรวจโลกด้วยกล้องถ่ายภาพ เล่าให้จบในฟิล์ม ๑ ม้วนที่มี ๓๖ ภาพ เล่าเรื่องพัทยาแบบมวยวัด จากสายตาคนรากหญ้า ไม่ได้มีหลักการอะไร  ถ้าเทียบกับที่มีการแบ่งประเภทในยุคนี้ก็คงเป็นภาพถ่ายแนวสตรีต เสียดายว่าฟิล์มม้วนนั้นเสื่อมสภาพไปแล้ว
Image
“พื้นฐานส่วนหนึ่งของผมได้มาจากการคิดเป็นเส้นเรื่อง ได้เรื่องนี้จากการอ่านการ์ตูน สมัยก่อนตามสถานีขนส่งจะมีการ์ตูนเล่มละบาทขาย มีเรื่องผีหลายแบบ ผีเครื่องปรับอากาศ ผี หม้อหุงข้าวก็มี (หัวเราะ) สตอรีบอร์ดของการ์ตูนสอนเรื่องการเล่าเรื่อง นิตยสารการ์ตูนอย่าง วีรธรรม ก็มีการ์ตูนภาพสีเรื่อง ‘พรานล่าภาพ’ เล่าเรื่องครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ลูก อาศัยอยู่ในรถบ้านที่เคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ ในทวีปแอฟริกา ได้ถ่ายภาพสัตว์ เจอกับชนเผ่าพื้นเมือง โดนแรดพุ่งชน มันคล้ายกับชีวิตวัยเด็กของผมช่วงหนึ่งที่ย้ายไปภาคอีสาน แล้วได้ไปเจอโลกอีกโลกหนึ่งคือชนบท เพราะตอนอยู่ในกรุงเทพฯ ย่านคลองเตยเป็นบึงน้ำ บ่อปลา และติดกับย่านตึกห้องแถว พอไปอีสานเป็นที่ราบสูง เมืองในหุบเขา ถนนลูกรัง ต้องเดินไปเรียน เห็นคนเป่าแคน ได้ยินเสียงกระดึงวัวควาย คาราวานเกวียน เราได้แต่จำภาพพวกนั้นไว้ไม่ได้ถ่ายรูป เพราะไม่มีกล้องในตอนนั้น เห็นภาพหลายภาพที่คิดว่าน่าจะส่งต่อให้คนอื่นดูได้

“จะทำอะไรได้มันก็ต้องอ่านหนังสือ จะฝึกถ่ายภาพก็ต้องอ่านตำรา สมัยที่ทำงานเป็นทหารอาสาสมัครเตรียมจะไปรบในสมรภูมิบ้านร่มเกล้า ฝึกอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ผมยังไม่มีกล้อง ผมลงเรียนเรื่องการถ่ายภาพ การทำภาพยนตร์กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) แบบทางไกล ก็ได้ตำรา มสธ. นี่แหละอ่าน  คนอาจจะบอกว่าระบบการศึกษาไทยมันแย่เพราะเอาแต่ท่องจำ แต่ถ้าเราเคมีได้กับการเรียนแบบนี้ก็พอไปได้ ผมทำเหมือนแอบอ่านหนังสือโป๊ มันถึงสวรรค์เลยนะ (หัวเราะ) ผมฉีกตำราเอาหน้ากระดาษมาม้วนยัดใส่กระบอกปืนเอ็ม ๗๙ แอบเอาออกมาอ่านตอนผู้บังคับบัญชาเผลอ แล้วก็ไปทำข้อสอบ ๑๕๐ ข้อ ผ่าน

“หนังสือบางเล่มสมัยนั้นที่เล่าเรื่องการไปเหยียบดวงจันทร์ของยาน อะพอลโล ๑๑ ที่ถ่ายภาพโลกเห็นทวีปต่าง ๆ อย่างชัดเจนก็มีผลมาก ผมนั่งลูบคลำมัน ทำให้อยากเล่าเรื่องด้วยภาพ ให้คนรู้สึกว่านี่คุณคือคนถ่ายหรือ พอเราแก่ ป่วยอยู่บนเตียงก็นึกได้ว่า ใช่ เราเคยไปอยู่ตรงนั้น  ยุคนั้นผมชอบงานภาพที่ตีพิมพ์ในอนุสาร อ.ส.ท. เห็นภาพทิวสน หมอก ของ ดวงดาว สุวรรณรังษี ก็ชอบแล้ว ผมยังอ่านหนังสือกล้องอย่าง Phototech และ Shutter Photography ดูหนังสือภาพต่างประเทศ แต่ตอนหลังเราก็อยากถ่ายภาพที่มีความหมายมากกว่านั้น

“พอมาทำงานที่หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) ต้องทำงานกับฝรั่ง ได้ความรู้จากการดูเขาทำงานแล้วใช้ในการสร้างความหมายตอนถ่ายภาพ สมัยนั้นภาพข่าวจะนำเสนอแบบตรงไปตรงมา  บางทีผมก็แอบไปดูเขาทั้งเรื่องจัดไฟในสตูดิโอ ตั้งค่ากล้อง  อีกเรื่องที่ได้มาคือสุนทรียศาสตร์ในการสื่อสาร การจัดแสง สี อารมณ์ ในภาพถ่าย”

ภาพถ่ายแบบวินัย

“ผมไม่ได้มีต้นแบบหรือช่างภาพที่เป็นไอดอลแน่ชัด แต่ช่วงเริ่มทำงานในปี ๒๕๓๔/ค.ศ. ๑๙๙๑ ผมเห็นงานของ แคเทอรีน เลอรอย (Catherine Leroy) ช่างภาพหญิงที่ถ่ายภาพในสงครามเวียดนาม ใช้กล้องไลก้า เลนส์เดี่ยว ใช้ใบหน้าและดวงตาคนถ่ายทอดเรื่องราว  ชอบภาพสีแนวหว่อง ๆ ของ เดวิด อลัน ฮาร์วีย์ (David Alan Harvey)  ความกล้าหาญและมุมกล้องเล่าเรื่องสงครามของ แลร์รี เบอร์โรว์ส (Larry Burrows)  กรณีแคเทอรีน ตัวเล็กมากแต่โดดร่มชูชีพไปพร้อมทหารพลร่ม ตอนหลังไปถ่ายภาพทหารเวียดนามเหนือได้อีก ไม่รู้ทำได้อย่างไร ต่อมาเธอป่วยเพราะผลจากสงคราม คนเหล่านี้ทำมากกว่าถ่ายภาพ พวกเขาใช้ชีวิต  การเป็นช่างภาพเหมือนได้วีซ่าเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ  ความท้าทายคือทำยังไงที่จะมีชีวิตรอดกลับมา
Image
“สมัยที่ถ่ายภาพให้ SUNDAY Magazine ที่แถมกับหนังสือ
พิมพ์ บางกอกโพสต์วันอาทิตย์ บางทีผมพยายามถ่ายภาพที่ดี มีมิติทางศิลปะ แต่ทำแล้วขายยาก เซลส์ขายโฆษณาจะไม่ชอบงานผม เพราะคนอ่านหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์น่าจะอยากได้อารมณ์ของวันหยุดตื่นสาย แต่งานภาพของวินัยนี่หว่อง ลึกลับ มืดมนมาก สมัยนี้ผมเห็นสื่อออนไลน์ ภาพที่นำเสนอก็มีหลายภาพ ไหลไปเรื่อย บางภาพไม่มีความหมายอะไรเลย จะให้มองแบบโป้งเดียวจอดไม่มีแล้ว อาจเพราะความเป็นสำนักข่าวออนไลน์ บางทีก็ต้องการภาพที่ตอบโจทย์ ต้องการภาพที่มวลชนอยากเห็น ถ้าคุณเป็นหนังสือพิมพ์ไทย เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ รายได้คือสิ่งสำคัญ ต่างกับสื่อที่ใช้ภาษาอังกฤษที่มีตลาดใหญ่กว่ามาก บางทีเราอาจจะต้องหาทางพิสูจน์ว่าภาพแนวที่เป็นศิลปะ เล่าเรื่องได้ และมีพลัง มันอยู่ได้ในตลาดเมืองไทย

“ความซับซ้อนของการนำเสนอภาพในยุคนี้ก็เปลี่ยนไป เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว พอพูดถึงปัญหาโลกร้อน คนก็จะคิดเรื่องภาพ
ไฟป่า แต่ในยุคนี้ภาพแรงงานอพยพก็เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ผมเคยไปงานสัมมนาในต่างประเทศ เขาจะพูดประเด็นที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ปัญหาการเมือง โรคระบาด คนชราถูกทิ้งในหมู่บ้าน นี่คือการตีความประเด็นที่จะนำมากำหนดวิธีถ่ายภาพได้

“สมัยออกจากงานประจำ พอไม่มีสังกัดจะไปถ่ายภาพบุคคลสำคัญก็ยากขึ้น ผมก็มาคิดว่าภาพแบบนั้นมักเป็นภาพข่าว อย่างมากคนใช้งานแค่ภาพเดียว เลยหันมาสนใจคนทั่วไปที่แสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ ตัวอย่างก็เช่นที่ผมแสดงนิทรรศการ ‘RED, YELLOW & BEYOND : ใบหน้าและดวงตา  ๑๗ ปี ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน’ ที่เกิดจากการมองว่าวิกฤตการเมืองดำเนินมายาวนาน สงครามเสื้อสีเกิดขึ้นบนท้องถนน เราตามถ่ายเรื่องนี้มาเกือบ ๒๐ ปี ความคิดเราก็เปลี่ยนไป พัฒนาไปด้วย ผมพยายามเก็บภาพหน้าตาของผู้คนจากสองฟากฝ่าย และเอามานำเสนอว่าเกิดอะไรขึ้น

“งานภาพของผมเหมือนการบูชายัญตัวเอง ต้องทนอากาศร้อน รอคอย บางทีก็ถูกยิงหลายครั้งเวลาไปถ่ายในม็อบ (คราวปี ๒๕๕๓/ค.ศ. ๒๐๑๐)  ตอนปี ๒๕๖๓/ค.ศ. ๒๐๒๐ มีการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อขับไล่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมรอจนได้นาทีสุดท้ายที่รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ออกมาอ่านข้อเสนอ ๑๐ ข้อ ตอนนั้นเหมือนกับช่วงสูงสุดของการชุมนุมผ่านไปแล้ว บางคนทยอยกลับ แต่ผมยังรอที่หน้าเวทีเห็นการใช้แสงไฟแปลก ๆ คิดแล้วว่าต้องมีอะไร จนได้ภาพรุ้งปราศรัยและโปรยแถลงการณ์  การถ่ายภาพเหมือนกับการใช้ชีวิต เราถูกเฝ้ามองจากอำนาจบางอย่าง เราต้องบูชายัญตัวเองเพื่อให้ได้ผลงานออกมา”
“การถ่ายภาพเหมือนกับการใช้ชีวิต เราถูกเฝ้ามองจากอำนาจบางอย่าง เราต้องบูชายัญตัวเองเพื่อให้ได้ผลงานออกมา ”
Image

มองวงการภาพถ่ายเล่าเรื่อง

“ปัจจุบันวิธีถ่ายภาพเล่าเรื่องไม่ได้เปลี่ยนไปจากอดีตมากนัก ยิ่งสมัยนี้กล้องดิจิทัลทำให้ประหยัดขึ้น การเรียนรู้ก็เร็วกว่ายุคกล้องฟิล์ม ที่ผ่านมามีความเชื่อที่ผิดว่าถ่ายภาพจากกล้องฟิล์มเก่งแล้วจะถ่ายภาพเก่ง แต่ผมมองว่ากล้องดิจิทัลนี่แหละเรียนเร็วกว่า ถ่ายเสร็จเห็นภาพบนจอทันที เปิดรูรับแสงน้อยไป สปีดชัตเตอร์ต่ำไป ก็ถ่ายใหม่ได้เลย ได้บทเรียนทันที ไฟล์ภาพมีข้อมูลพร้อมว่าวัดแสงยังไง ภาพก็เอาลง Google Maps ได้ด้วย ต่างกับสมัยฟิล์มที่ต้องเอาไปล้าง ต้องลุ้น ต้องมาจดอีกว่าตั้งค่ากล้องแบบไหนตอนกดชัตเตอร์  โดยรวมคนเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องการถ่ายภาพง่ายขึ้น

“ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องแพง พวกนี้พกไว้ก็กลัวโดนปล้น (หัวเราะ) แต่กล้องรุ่นใหม่ข้อดีคือมีตัวช่วย อย่างระบบการล็อกโฟกัสที่ดวงตาช่วยได้มาก เราไม่ต้องจ้างผู้ช่วยช่างภาพเวลาถ่ายภาพบุคคล เราคุยไปด้วยถ่ายไปด้วยได้ มันล็อกลูกตาไว้แล้ว  กล้องไร้กระจกสะท้อน (mirrorless) ก็มีน้ำหนักเบาลงมา คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่ต้องแบกก็มีน้ำหนักลดลง สิ่งที่ช่างภาพต้องทำต่อก่อนจะไปทำงานคือการหาข้อมูลเพิ่มเติม หากมีเวลาช่างภาพควรทำโครงการส่วนตัว หาทางยกระดับ ไปทำงานที่มีคุณค่า ทำเรื่องที่สนใจ พัฒนาภาพถ่ายยกระดับไปหางานศิลปะ ทำผลงานออกมา หาทางเอาไปจัดแสดงในหอศิลป์ ทำให้คนเห็นความคิดและเห็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง ผลสำเร็จจะตามมาเอง ของอย่างนี้ต้องใช้เวลาสะสม  สำหรับช่างภาพที่เป็นพนักงานประจำ ถ้าศรัทธาในตัวเองก็สร้างได้ง่ายเพราะมั่นคง ฟรีแลนซ์แบบผมนี่แหละจะลำบากกว่า

“เทียบเมืองไทยกับต่างประเทศ งานภาพข่าวเราสู้ของประเทศอื่นได้แน่นอน เพียงแต่เราใช้ภาษาไทย ตลาดมีเท่านี้ อำนาจต่อรองของประเทศเราก็มีส่วนด้วย ลองคิดดูว่าถ้าผมเป็นคนต่างชาติในตะวันตก เวลาไปทำงานในพื้นที่อันตราย มันมีอำนาจต่อรองมากกว่า เคยเกิดกรณีที่ช่างภาพต่างชาติคนหนึ่งเข้าไปถ่ายภาพม้งในลาวที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน เขาโดนจับ มีการเจรจาจนต้องปล่อยตัว ตอนนั้นเจ้านายผมจะส่งผมเข้าไปในลาว ผมบอกไม่ไหว เราทำได้แค่ถ่ายภาพตอนเขากลับออกมาถึงสนามบินดอนเมืองได้เท่านั้น เพราะมันเสี่ยงเกินไป

“สำหรับช่างภาพมีสังกัด ความท้าทายอาจอยู่ที่การสนับสนุนขององค์กร เพราะองค์กรเอกชนความอยู่รอดทางเศรษฐกิจมันสำคัญ บางที่ก็ไม่สนับสนุนอุปกรณ์การทำงานราคาแพง แนวโน้มการนำเสนอภาพก็อย่างที่เล่าว่าสุดท้ายต้องตามกระแส เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมก็มีแต่ภาพน้ำท่วม ไม่มีมิติอื่น จะส่งคนลงพื้นที่ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายสนับสนุน ยิ่งตอนนี้อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ล่มสลาย การนำเสนอมันไปอยู่บนออนไลน์ สังเกตดี ๆ จะพบว่าสื่อออนไลน์มักทำเรื่องที่เดินทางน้อย ต้นทุนต่ำ เรื่องจะเดินทางไกล จะไปเจาะลึกอะไรเขาไม่มีเงินลงทุนให้  ผมเห็นสื่อบางสำนักส่งนักข่าวเกาะเอ็นจีโอลงพื้นที่ก็เอามานำเสนอเราก็รู้ทันที เพราะในภาวะปรกติธรรมชาติของเขาจะไม่ลงทุนแบบนั้นแน่  ตอนนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจแล้วว่า ‘ศาสตร์ของการเลือกภาพ’ ยังมีเหลืออยู่ในกอง บก. ข่าวบ้านเราหรือไม่ เพราะในยุคก่อนที่ผมทำงาน ภาพของเราเวลาจะลงคนคัดกรองคือมืออาชีพ แต่สมัยนี้คนคัดไม่ใช่ บก. ภาพอีกแล้ว บางทีนักข่าวก็เลือกกันเอง”  
วินัย ดิษฐจร

เกิดปี ๒๕๐๗  ในวัยเด็กเขาเห็นบิดาทำงานในสนามบินดอนเมืองท่ามกลางเครื่องบินลำเลียงของอเมริกันที่เข้ามาใช้ฐานทัพในประเทศไทยยุคสงครามเย็น  ช่วงหนึ่งเขาย้ายตามครอบครัวไปอยู่ภาคอีสาน ต่อมาทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์หาเงินส่งเสียน้องเรียนหนังสือ ก่อนสมัครเป็นทหาร ระหว่างนั้นวินัยเรียนรู้การถ่ายภาพโดยลงเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) หลังออกจากทหาร เขาทำงานในโรงงานพักหนึ่ง ก่อนจะเริ่มงานช่างภาพและเซลส์ขายโฆษณาให้หนังสือสัตว์เลี้ยง จากนั้นย้ายไปทำงานกับวารสาร Bangkok this Weekend, Pattaya this Weekend
และ South Thai Magazine แล้วย้ายมาอยู่ หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ (The Bangkok Post) จากนั้นเขาร่วมงานกับสำนักข่าว European Pressphoto Agency (EPA) ของเยอรมัน ก่อนจะออกมาเป็นช่างภาพอิสระจนถึงปัจจุบัน

ผลงานโดดเด่นของวินัยคือภาพถ่ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี ๒๕๔๘/ค.ศ. ๒๐๐๕ เป็นต้นมา