Image
จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต
ช่างภาพไทยในสหรัฐอเมริกา
Photographer
40 Years of Storytelling
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์   
ภาพ : จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต
Image
หากพูดถึง “นักเขียนสารคดีหญิง” ของเมืองไทย คนส่วนใหญ่อาจจะนับจำนวนได้ไม่เกินนิ้วมือหนึ่งข้าง อาจเพราะด้วยลักษณะงานที่สมบุกสมบัน ทำให้วงการนี้กลายเป็นวงการของ “ผู้ชาย” มาแต่ไหนแต่ไร
จำนวนที่ว่านั้นน่าจะยิ่งน้อยลงไปอีกเมื่อพูดถึง “ช่างภาพหญิง”  ยังไม่ต้องกล่าวถึงคนที่มีผลงานก้าวข้ามเส้นเขตแดนประเทศออกไปสู่สื่อระดับนานาชาติ

หนึ่งใน “จำนวนน้อย” ที่ว่านั้นคือ ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต สาวไทยวัยไม่ถึง ๓๐ ที่มีผลงานโลดแล่นในสื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หลายหัว เช่น นิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) วอลล์สตรีตเจอร์นัล (The Wall Street Journal)

แม้ว่าคนไทย สื่อไทยส่วนมากจะตื่นเต้นกับความสำเร็จของเธอ แต่ปูเป้กลับบอกเราว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้น เธอต้องผ่านการเคี่ยวกรำและอุปสรรคมาไม่น้อย โดยองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เธอมาถึงจุดนี้ได้คือ “โอกาส” ที่สังคมอเมริกันและนครนิวยอร์กมอบให้ ประสบการณ์ของเธอเป็นกระจกสะท้อนวงการถ่ายภาพสารคดีไทย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคน การเรียนรู้ การจัดการวิธีคิด และการให้โอกาสกับสิ่งใหม่

นี่เป็นสิ่งที่ปูเป้สะท้อนให้เราฟังจากอีกซีกโลกตลอดการสนทนา

จับกล้อง
เรียนในขนบ-นอกขนบ

“สมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายคิดว่าถ้าจะถ่ายรูปต้องเดินทางไปที่ไกล ๆ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป  แต่ครอบครัวเป็นชนชั้นกลาง ไม่มีเงินมากมายอะไร ตอนนั้นเอากล้อง Nikon D60 ถ่ายภาพเพื่อน งานโรงเรียน ในช่วงนั้นอาจเป็นภาพที่เล่าเรื่องได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกจริงจังกับมันเท่าไร

“ตอนที่เข้า ‘ค่ายสารคดี-ค่ายสร้างคนบันทึกสังคม’ (ปี ๒๕๕๙/ค.ศ. ๒๐๑๖) ของ สารคดี ถ้าจำไม่ผิดใกล้จบมหาวิทยาลัยแล้ว ได้ถ่ายภาพเล่าเรื่อง แต่เป็นแนวอนุรักษนิยม ตรงไปตรงมา หัวข้อที่ทำคือ ถนนกีบหมู : ละครชีวิตแรงงานอิสระ รู้สึกว่าค่ายเน้นงานเขียนมากกว่าภาพ ภาพเป็นแค่ตัวประกอบ

“ต่อมามีโอกาสเรียนถ่ายภาพที่ 
The International Center of Photography (ICP) นครนิวยอร์ก เป็นหลักสูตร ๑ ปี เปิดโลกมาก ทำให้เข้าใจแนวคิด (concept) ของการถ่ายภาพมากขึ้น จากเดิมคิดแค่ภาพใบเดียวก็พอ ก็มององค์รวมมากขึ้น  ตอนเอาแฟ้มงานไปให้เขาดู บอกเขาว่าเราถนัดถ่ายภาพใบเดียวจบ เห็นอะไรน่าสนุกตามถนนก็ถ่ายมา ทำภาพชุดไม่เป็น  ฝรั่งบอกว่าสิ่งที่ถ่ายมานี่แหละทำภาพเป็นชุดได้ เช่น เดิมเรามองภาพเด็กทำไอศกรีมหล่น ภาพผู้หญิงที่รองเท้าส้นหลุด เป็นคนละเรื่องกัน แต่ฝรั่งบอกว่าไปด้วยกันได้โดยแกนเรื่องคืออุบัติเหตุ ถ้าคิดแบบนี้ ภาพคนทำลูกโป่งหลุดมือก็เอามารวมได้ วันหนึ่งเราอาจเอาภาพลักษณะนี้มารวมกันเป็นสิบ ยี่สิบรูปก็ได้ แล้วกลายเป็นภาพชุด
The International Center of Photography (ICP) ก่อตั้งในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ๒๕๑๗/ค.ศ. ๑๙๗๔ โดย คอร์แนลล์ คาปา (Cornell Capa) ช่างภาพชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี เพื่อทำงานเกี่ยวกับภาพถ่ายที่ให้ความรู้แก่สาธารณะ และเปลี่ยนแปลงโลก ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย เปิดหลักสูตรอบรมการถ่ายภาพ ทำงานกับชุมชน และร่วมงานกับองค์กรสาธารณะ  ICP ยังเปิดพื้นที่สนทนาเกี่ยวกับภาพถ่ายเป็นระยะด้วย
“เวลาครูถ่ายภาพไทยสอนมักบอกว่าต้องถ่ายแบบนี้ ๆ พอเราถ่ายแหวกแนวก็จะบอกว่าไม่ได้ ๆ ๆ เช่น ครั้งหนึ่งถ่ายหน้าเบลอหลังชัด คนสอนติทันที แต่เราดื้อก็ทำต่อ (หัวเราะ) ส่วนคนหัวอ่อนก็อาจไม่ทำอีก ตรงนี้ต่างกับฝรั่งที่ไม่บอกอะไรทั้งนั้น เด็กไทยส่วนมากจะไปไม่เป็นพอเจอแบบนี้  พอถ่ายภาพมาฝรั่งจะถามว่าตอนถ่ายคิดอะไร เราตอบว่าไม่คิด เขาก็ให้ถามตัวเองอีก เพราะกดชัตเตอร์แสดงว่าต้องสนใจบางอย่าง เรากลับมาถามตัวเองจนตกตะกอน การสอนแบบนี้ใช้เวลา แต่ระยะยาวจะทำให้รู้ว่าเราสนใจอะไรแน่ สมมุติเห็นน้ำสีแดงหกกระจายบนพื้น เรามองว่าสวยก็ถ่ายไว้ ถามตัวเองว่าทำไมชอบ ก็ตอบได้ว่าเพราะชอบความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่สวยงาม ชอบของที่เคลื่อนไหว มีชีวิต  เราไม่ชอบถ่ายตึก ของไม่มีชีวิต ในทางกลับกันคนที่ชอบถ่ายตึกก็อาจตอบได้ว่าเขาชอบความสมมาตรของอาคาร งานสถาปัตยกรรม เขาก็จะค้นพบตัวเองเช่นกัน

“ยอมรับว่าตอนเรียนก็ยังติดความเป็นเด็กไทย อยากให้ครูชี้ว่างานดีหรือไม่ดี ครั้งหนึ่งเอาภาพถ่ายไปให้คนสอนดู เราถอยออกมาสามก้าว ยืนรอ เขาถามยูทำอะไร คิดยังไงกับงานตัวเอง เรียงภาพแบบนี้ชอบไหม เราตอบว่าไม่มีความรู้ ครูวิจารณ์ได้เลย เขาก็บอกว่านี่งานยู ยูต้องเป็นคนทำ เรียงเอง คิดเอง เขาช่วยได้ แต่สุดท้ายเราต้องตัดสินใจ  มันรู้สึกเปิดโลก นี่เรามีความคิดในงานตัวเองได้ด้วยหรือ ที่ผ่านมาเราโดนตัดสินด้วยคนสอนมาตลอด นี่คือการเรียนรู้การทำงานด้วยแนวคิด ยากตรงที่เราต้องทำความเข้าใจ หาทางส่งข้อความออกมาในภาพซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจทันที”

ช่างภาพในโลกตะวันตก

“ก่อนไปเรียนถ่ายภาพที่อเมริกา เรานิยามงานภาพตัวเองว่าเป็นสายสตรีต (ภาพถ่ายวิถีชีวิต) ต่อมาก็ชอบถ่ายงานปาร์ตี้ที่มักมีสิ่งคาดไม่ถึงเกิดขึ้น เช่น แก้วแตก พฤติกรรมของคนที่คาดการณ์ไม่ได้  พอเริ่มทำงานในอเมริกาจริงจังก็รับงานสะเปะสะปะ บางครั้งรับงานถ่ายคนไปเที่ยว คนไทยอาจนึกไม่ออกว่าทุกคนมีโทรศัพท์ถ่ายรูปได้ จะจ้างทำไม แต่นึกดูว่าถ้าคุณไปกับแฟนสองคน จะไหว้วานให้คนอื่นถ่ายตลอดก็ไม่ได้ ฝรั่งจึงชอบจ้างช่างภาพเวลาเที่ยวและอยากเก็บความทรงจำเอาไว้ มีทั้งจ้างแบบ ๒ ชั่วโมงครึ่ง ครึ่งวัน ฯลฯ วิธีคิดแบบนี้มี อาจเพราะเขามีรายได้ระดับหนึ่ง แต่จริง ๆ ก็มีคนไทยที่จ้างช่างภาพส่วนตัวเวลาเที่ยวต่างประเทศเหมือนกัน
Image
Soho House Award งานประกาศรางวัลประจำปีของ Soho House Emma Watson กับ Paul Mescal ยืนคุยกันโดยมีสต๊าฟยกของอยู่ข้างหลังคิดว่าแปลกดีที่รวมสองอย่างนี้เข้าด้วยกันในภาพเดียว
ภาพ : จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต

“หลังเรียนจบจาก ICP เราก็กลับไปทำงานที่เมืองไทยระยะหนึ่ง เป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายตัดต่อ แต่มาถึงจุดหนึ่งทำงาน ๒๔ ชั่วโมงไม่ได้พัก ความรู้สึกคือไม่ไหว กูจะตายแล้ว ไม่เห็นว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เลยออกจากงานมาอเมริกา ลองทำงานที่อยากทำคือการถ่ายภาพที่นี่  ช่วงแรกชีวิตก็ลำบาก ครั้งหนึ่งรับงานถ่ายภาพงานแต่งงานที่ศาลาว่าการเมือง ดีใจมาก เพราะเอาชื่อไปไว้ในทุกแอปพลิเคชันที่คนอเมริกันใช้หาช่างภาพ ถือเป็นงานแรก  ถึงเวลานั่งรถไฟไปสถานที่นัด ปรากฏว่าไม่มีใครมา ส่งข้อความไปถาม ราว ๑ ชั่วโมงคนจ้างก็ตอบมาว่าเลื่อนวันจัดงาน ขอโทษที่ลืมแจ้ง จำได้ว่านั่งรถไฟกลับน้ำตาซึม รำพึงว่ากูมันไร้ค่าขนาดนี้เลยเหรอ เขาลืมด้วยซ้ำว่าต้องบอกเรา

“ได้ทำงานให้ The New York Times คนอาจมองว่ายาก แต่ที่นี่ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน อเมริกามีช่างภาพเยอะมาก คนอยากได้งานเยอะ แต่ถ้างานถึง มีคุณภาพ โดดเด่น ยังไงก็ได้งานทำ แค่ยื่นแฟ้มงานไป เขาพิจารณาทุกคน เราเป็นคนเอเชียไม่ใช่ปัญหาเพราะเขาต้องการความหลากหลาย  ผู้ใหญ่ที่นี่ไม่มีเรื่องอายุค้ำคอ บรรณาธิการภาพของ The New York Times ทำงานหลายสิบปียังอัปเดตตัวเองเสมอ ยังดูงานช่างภาพรุ่นใหม่ ทันโลกตลอดเวลา  ที่นี่ช่างภาพผู้หญิงยังน้อย เขาก็คุยกันว่าต้องหาคนทำงานที่หลากหลายขึ้น ต่างกับไทยที่ไม่ได้คิดแบบสากล ไม่โอบรับความหลากหลาย ช่างภาพหญิงของไทยมีทำงานอยู่เยอะ แต่คนไม่ค่อยรู้จักคนที่ทำงานแบบมืออาชีพจริง ๆ ต่างจากที่นี่ที่พร้อมจะจ้างงานเด็กใหม่หากผลงานดีกว่าคนเก่า  สภาวะนี้ต่างจากเมืองไทยที่ระบบเส้นสายเป็นเรื่องหลัก คุณภาพงานเป็นเรื่องรอง คำถามหลักของวงการถ่ายภาพไทยคือ คุณจะรู้จักพี่ในองค์กรนั้น ๆ ได้อย่างไร เรื่องนี้สำคัญกว่าแฟ้มงานภาพของคุณว่าดีหรือไม่  มองว่าตัวเองคิดถูกที่ออกมา ถ้ากลับไทยก็ไม่เห็นทางออกเลยว่าจะฝ่าระบบอุปถัมภ์ได้ยังไง
มาร์ติน พาร์ (Martin Parr) ช่างภาพข่าวและสารคดีชาวอังกฤษ งานของพาร์เป็นภาพถ่ายสะท้อนสังคมสมัยใหม่ ชนชั้นทางสังคมในอังกฤษ โดยมีมิติทางมานุษยวิทยาและอารมณ์ขันแฝงอยู่ด้วย  งานของพาร์ส่งผลต่อช่างภาพสายสตรีตและสารคดี มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๗๐
“โดยส่วนตัวชอบถ่ายแนวสตรีตที่สุด เรานำวิธีการถ่ายภาพแนวนี้มาปรับใช้กับการถ่ายแนวอื่นได้หมด เช่น การถ่ายจังหวะที่รวดเร็วของแนวสตรีตก็ใช้ได้กับงานปาร์ตี้ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นฉับพลัน  ปัญหาคือถ่ายสตรีตไม่ได้เงิน ถ่ายปาร์ตี้ได้เงิน (หัวเราะ) เลยต้องทำงานทั้งสองแนวเพื่อให้อยู่รอด  บางทีก็เคยโดนขอให้ถ่ายงานที่ไม่มีประสบการณ์ว่าควรถ่ายอย่างไร เช่น ครั้งหนึ่งไปถ่ายโฆษณาจักรยาน ตัวแบบขี่เร็วมาก เราปรับค่าในกล้องไม่ทัน คือเรามีมุมมอง เล่าเรื่องได้ แต่ไม่ได้เก่งเทคนิคขนาดนั้น ไม่รู้ว่าต้องใช้สปีดชัตเตอร์แค่ไหนถึงทัน จะวิ่งตามถ่ายก็กลัวไม่ได้อารมณ์ความเร็วในภาพ จะขอให้คนขี่ชะลอก็ไม่ดี ปรากฏถ่ายมา ๕๐๐ รูป พอไหว ๒๐ รูป ขอบคุณพระเจ้า รอดไปได้ แต่ถ้าเราเก่งกว่านี้ก็จะได้ภาพมากกว่านี้ หลังจากนั้นพอเราไปถ่ายรถไฟเหาะ ประสบการณ์จากการถ่ายโฆษณาจักรยาน นี่แหละที่กลายเป็นประโยชน์ในการทำงาน “ข้อดีของที่นี่คือไม่มีกำแพง คนถ่ายภาพข่าวก็ข้ามไปถ่ายงานโฆษณาได้ อยู่ที่ใครเด่นเรื่องไหน อย่างเราเก่งเรื่องจับจังหวะคน เขาก็เอาเราไปถ่ายข่าว ถ่ายโฆษณา ขอให้เป็นเรื่องคนเราทำได้หมด สำคัญที่คุณต้องหาลายเซ็นของตัวเองให้เจอ “ในอเมริกาช่างภาพสารคดีอยู่ได้ไหม อยู่ได้ แต่มันคืองานที่เลือกแล้วว่าไม่มีวันรวยเท่ากับคนทำธุรกิจ ช่างภาพสายโฆษณาอาจมีรายได้ดี แต่ถามว่ารวยมากหรือไม่ ก็ไม่ใช่ “ลูกค้าที่จ้างช่างภาพทำงานก็มีผลกับงาน ในเมืองไทยมีลูกค้าที่บอกว่าอยากได้ภาพสไตล์เรา แต่พอถ่ายจริงก็ไม่เอา อ้าว (หัวเราะ) บางทีเขาก็ไม่ได้ดูงานใหม่ ๆ  แต่ที่อเมริกา ลูกค้าจะรู้จักงานและช่างภาพที่เป็นศิลปิน ครั้งหนึ่งตอนรับบรีฟ ตกใจว่าเขารู้จัก มาร์ติน พาร์ (Martin Parr) ช่างภาพชาวอังกฤษลูกค้ามองว่าเราถ่ายแนวคล้ายกับพาร์เลยจ้างเรา แต่ถ่ายแล้วเขาก็จะเห็นความต่างและเข้าใจตัวงานของเรา
มาร์ติน พาร์ (Martin Parr) ช่างภาพข่าวและสารคดีชาวอังกฤษ งานของพาร์เป็นภาพถ่ายสะท้อนสังคมสมัยใหม่ ชนชั้นทางสังคมในอังกฤษ โดยมีมิติทางมานุษยวิทยาและอารมณ์ขันแฝงอยู่ด้วย งานของพาร์ส่งผลต่อช่างภาพสายสตรีตและสารคดีมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๗๐

“ภาพเล่าเรื่อง” ที่ดี

“ต้องดีทั้งเนื้อหาภาพและมุมมอง (visual) แค่ได้ด้านหนึ่ง
ภาพก็จะโอเคแล้ว  ความสดใหม่ก็สำคัญมาก สมมุติว่าไม่เคยมีช่างภาพคนไหนถ่ายภาพตลาดในเมืองไทยเลย ถ้าถ่ายได้เราจะกลายเป็นคนแรกทันที เป็นเนื้อหาใหม่ที่โลกไม่เคยเห็น เกิดภาพชุดที่ดีแน่นอน  ในแง่มุมมอง ถ้าตลาดในไทยมีคนถ่ายแล้ว เราถ่ายด้วยมุมมองเก่าก็ไม่มีอะไรใหม่ ต้องหามุมมองใหม่ ยกตัวอย่าง ถ้าถ่ายผ้าปูโต๊ะตามร้านอาหารที่มีสีจัดจ้าน มีลายแปลก ๆ หลายร้าน เราอาจเอาภาพเหล่านี้มารวมกันเป็นชุดภาพผ้าปูโต๊ะในร้านอาหารไทย ถ้ายังไม่มีช่างภาพคนไหนเล่นมุมนี้ฝรั่งจะชอบมาก โครงการลักษณะนี้ค่อนข้างได้รับความสนใจในโลกตะวันตก

“ในแง่ของงานภาพ วงการข่าวไทยถือว่าดี ช่างภาพข่าวไทยเก่ง แต่ถ้ามีเรื่องฝักฝ่ายการเมืองเข้ามาเมื่อไร คนทำงานก็อาจมีปัญหากับ บก. ภาพ”
Image
TIME100 Next Gala งานรื่นเริงของนิตยสาร TIME ที่เชิญบุคคลน่าจับตามองในปีนั้น ๆ เป็นภาพที่จับจังหวะและอิริยาบถที่หลากหลายของคนบนโต๊ะอาหาร คิดว่าองค์ประกอบภาพน่าสนใจดี
ภาพ : จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต


ของฝากถึง
ช่างภาพรุ่นต่อไป

“คำแนะนำพื้นฐานที่สุดคงแนะนำให้ดูงานภาพถ่ายหลากหลายแนว ถ่ายรูปมาก ๆ เพื่อฝึกฝนตัวเอง ทำงานแนวใหม่ ๆ ออกมา  ปัญหาคือสิ่งที่แนะนำนี้ใช้กับต่างประเทศได้ แต่ใช้กับเมืองไทยไม่ได้ จะบอกให้เตรียมออกไปทำงานต่างประเทศอย่างเดียวมันก็รู้สึกแย่ (หัวเราะ) แต่ในเมืองไทยโดยระบบมันยากมากที่จะแนะนำให้คนรุ่นใหม่ทำงานแนวใหม่แล้วเติบโต เพราะผู้ใหญ่ที่มีแนวคิดการถ่ายภาพแบบเก่าคุมวงการอยู่  ในแง่ของแพลตฟอร์ม คนรุ่นใหม่อาจต้องทำขึ้นมาเองเพื่อทำลายข้อจำกัดอาจต้องทำสื่อใหม่ ต้องลงทุน เพราะเรารอให้ผู้ใหญ่ทันโลกหรือก้าวหน้าไม่ได้ ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์หลายแหล่งเป็นของฟรี เชื่อว่าศักยภาพของคนรุ่นหลังทำได้แน่  ตอนนี้อาจต้องมองไปในอนาคตด้วย เพราะมีภาพที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างขึ้นแล้วและมันก็จะเกิดปัญหาอีกแบบขึ้นในแง่ของการถ่ายภาพเล่าเรื่อง”
จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต (ปูเป้)
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์
สาขาวิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หลังเรียนจบเริ่มถ่ายภาพแนวสตรีต ภาพของเธอผ่าน เข้ารอบการประกวดถ่ายภาพระดับนานาชาติหลายรายการ

เมื่อไปเรียนที่ The International Center of Photography (ICP) นครนิวยอร์ก ชิ้นงานตัวจบได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร นิวยอร์กเกอร์ (The New Yorker) และเผยแพร่ในนิตยสาร พีดีเอ็น (pdn) เมื่อเข้าสู่โลกการทำงาน เธอเป็น “คนหลังกอง” ทำงานด้านตัดต่อภาพยนตร์ให้โปรดักชันเฮาส์ในประเทศไทย

จากนั้นตัดสินใจย้ายไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาในฐานะช่างภาพฟรีแลนซ์  งานภาพของจุฑารัตน์ได้รับการตีพิมพ์ในสื่อระดับโลกหลายหัว ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์กไทมส์, นิวยอร์กเกอร์, วอลล์สตรีตเจอร์นัล ฯลฯ