Image
เสือลายพาดกลอน ออกแบบโดย ฮิเดโอะ โคมัตสึ (Hideo Komatsu) พับโดย พุฒิไชย เลิศกุลทานนท์ สถานที่ : ป่าข้างถนน อุทยานหินเขางู จังหวัดราชบุรี บันทึกภาพ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๒
Joy of Photography
เบื้องหลัง... ภาพถ่ายสารคดี
40 Years of Storytelling
เรื่อง : สกล เกษมพันธ์ุ
เรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพ : สกล เกษมพันธ์ุ และ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
Image
ตามปรกติการถ่ายภาพในนิตยสาร สารคดี มักเป็นเรื่องจริงจัง เป็นการทำงานขณะเกิดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับช่างภาพว่าจังหวะนั้นมองเห็นอะไร ตั้งใจถ่ายทอดแบบไหน จะใช้มุมกล้องสูงหรือมุมต่ำ เลนส์ไวด์หรือเทเลโฟโต้ ซึ่งแต่ละคนก็มีประสบการณ์แตกต่างกัน ทำให้แม้อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันก็ถ่ายภาพได้งาน
ไม่เหมือนกัน แต่บางครั้งการถ่ายภาพสารคดีช่างภาพอาจออกแบบไว้ก่อนได้ว่าต้องการภาพอย่างไร ซึ่งโอกาสแบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นง่าย ๆ

ราว ๑๔ ปีที่แล้ว อาจารย์บัญชา ธนบุญสมบัติ ชวนทำเรื่องการพับกระดาษโอริงามิ ซึ่งปรกตินิยมถ่ายภาพเป็นตัว ๆ
บนฉากขาวเพื่อไดคัตมาวางเลย์เอาต์บนหน้ากระดาษ  ด้วยอารมณ์สนุก เราอยากสร้างเรื่องราวให้โอริงามิแต่ละตัวโดยขนผลงานจากจินตนาการของผู้พับใส่กล่อง ตระเวนหาสถานที่ซึ่งมีมุมและฉากหลังเหมาะสม

จากประสบการณ์เดินทางไปถ่ายภาพในหลายแห่งทั่วประเทศ เราพอจะรู้จักสถานที่ที่คิดว่าตอบโจทย์ เช่น อุทยานหินเขางู จังหวัดราชบุรี เป็นเขาหินปูน มีป่าแล้ง ๆ และบึงน้ำ เดินทางเข้าถึงง่าย เหมาะกับการถ่ายภาพโอริงามิสัตว์หลายชนิดเช่น เสือ นกกระเรียน แมงป่อง กบ ปู โดยเฉพาะมังกรกับฉากหลังเขาหินปูนแหลม ๆ คงหาที่ไหนเหมาะสมกว่านี้ไม่ได้แล้ว เรายังนำโอริงามิเป็ดกับนกอินทรีมาเข้าฉากเดียวกันเพื่อสร้างเรื่องว่าอินทรีกำลังจะโฉบเป็ด
Image
กบ ออกแบบโดย โรเบิร์ต เจ. แลง (Robert J. Lang) พับโดย เอกสิทธิ์ เข้มงวด
สถานที่ : แอ่งน้ำ อุทยานหินเขางู จังหวัดราชบุรี
บันทึกภาพ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๒

ส่วนที่เมืองโบราณ บางปู มีบ้านเรือนไทยพื้นไม้ น่าจะเข้ากับโอริงามิแมวได้ดี  สถานที่อีกแห่งคืออุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ บริเวณอ่างเก็บน้ำมอสิงโต เราจำทิศทางแสงได้ว่าจะย้อนแสงตอนบ่าย ตั้งใจใช้สร้างอารมณ์รื่นรมย์ให้โอริงามิ สาวสีไวโอลิน มีระลอกน้ำพลิ้ว ๆ เป็นฉากหลัง

โอริงามิตัวอื่น ๆ วางบนพื้นหรือก้อนหินได้ แต่โอริงามินก เช่น นกอินทรี นกกระเรียน จะดูสมจริงก็ต้องทำให้มันบิน
โดยใช้ลวดแขวน ถ่ายภาพแล้วจึงรีทัชลวดออก ซึ่งเขียนในคำบรรยายภาพให้ผู้อ่านรู้ด้วยว่า “ลวดที่เกี่ยวกับตัวนกถูกลบออกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์”
มังกร Bahamut ออกแบบโดย ซาโตชิ คามิยะ (Satoshi Kamiya)พับโดย เอกสิทธิ์ เข้มงวด
สถานที่ : บ่อหิน อุทยานหินเขางู จังหวัดราชบุรี
บันทึกภาพ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๒

สุภาพสตรีเล่นไวโอลิน ออกแบบโดย โฮเจียว ทากาชิ (Hojyo Takashi) พับโดย เอกสิทธิ์ เข้มงวด
สถานที่ : แอ่งน้ำริมถนน อ่างเก็บน้ำมอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
บันทึกภาพ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒

การถ่ายภาพเรื่องนี้จึงแตกต่างจากงานสารคดีอื่น ๆ ซึ่งช่างภาพได้ใส่อารมณ์ขี้เล่นและออกแบบภาพที่ต้องการไว้ก่อน 

ตลอด ๔๐ ปีของการทำงานมีเรื่องนี้เรื่องเดียวที่เรามีโอกาสเล่นสนุก หากใช้กับสารคดีเรื่องอื่นคงไม่เหมาะ  เมื่อมองย้อนหลังก็ทำให้เห็นว่าการถ่ายภาพสารคดีมีแนวทางอื่น ๆ ได้ด้วย  ภาพถ่ายอีกชุดที่ใช้แนวคิดคล้ายกัน คือภาพสารคดี เรื่อง “ลูกสัตว์ในอ้อมอกมนุษย์” ลงในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๑๕๕ มกราคม ๒๕๔๑ ซึ่งเราต้องการสื่อว่าลูกสัตว์ถูกมองเหมือนสินค้า จึงเซตฉากแบบถ่ายภาพสินค้ากับลูกสัตว์แต่ละชนิด 
แมงป่อง
พับโดย เอกสิทธิ์ เข้มงวด
สถานที่ : ป่าข้างทาง อุทยานหินเขางู จังหวัดราชบุรี
บันทึกภาพ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๒

แมว
ออกแบบโดย ฮิเดโอะ โคมัตสึ (Hideo Komatsu) พับโดย พุฒิไชย เลิศกุลทานนท์ 
สถานที่ : ชานเรือนคุ้มขุนแผน เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ
บันทึกภาพ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๒

Image
Image
ภาพชุดโอริงามิทั้งหมดบันทึกช่วงปลายปี ๒๕๕๒ โดยใช้กล้อง Fujifilm FinePix S5 Pro พิมพ์ลงในนิตยสาร สารคดี
ฉบับที่ ๒๙๙ มกราคม ๒๕๕๓  
สุดที่รัก
ออกแบบและพับโดย เอกสิทธิ์ เข้มงวด
สถานที่ : ริมรั้วทางเข้าสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี  
บันทึกภาพ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๒