Image
๔๐ ปี กวีศรีชาวไร่
พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
นักเล่าเรื่องผ่านบทเพลง 
และ “พูดเพลง”
Single
40 Years of Storytelling
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง   
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image
พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หรือน้าหมู ที่เรียกกันในวงการเพลงเพื่อชีวิต เพิ่งจัดคอนเสิร์ตครั้งล่าสุด “๔๐ ปี กวีศรีชาวไร่” ไปเมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ที่ปากช่อง จังหวัดโคราชบ้านเกิด
เป็นวาระโดยประมาณ นับจากการออกผลงานเพลงชุดแรก ห้วยแถลง เมื่อปี ๒๕๒๖ แต่หากนับจากจุดเริ่มต้นบนถนนสายดนตรีเพื่อชีวิตจริง ๆ นั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ จนถึงเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เขา “เข้าป่า” ไปร่วมขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม ก่อนกลับออกมาเริ่มต้นอาชีพศิลปินเพลงเพื่อชีวิต

เป็นที่รู้กันดี ทุกเวทีคอนเสิร์ตพงษ์เทพ นอกจากคนฟังจะมีความสุขจากเสียงเพลง ยังได้ความสนุกจากเรื่องเล่าหลากหลายที่เขาได้รู้ได้ฟังแล้วนำมาเล่าต่อ จนเป็นที่มาของฉายา “คนพูดเพลง”--กวีศรีชาวไร่ นักเล่าเรื่องผ่านเสียงเพลงและเรื่องเล่า

แม้แต่การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ก็ยังเป็นการสนทนาที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ไม่ต่างจากบนเวทีที่มีคนฟังเรือนพันเรือนหมื่น แม้ไม่มีบทเพลงแทรกขับขาน และถ้อยคำถูกถอดเป็นตัวหนังสือ แต่ผู้อ่านคงสัมผัสได้ถึงบรรยากาศความรื่นรมย์แบบคนพูดเพลงที่อบอวลอยู่ในแต่ละบรรทัด
......
Image
เคยได้ยินน้าหมูบอกว่าไม่เคยทำอาชีพอื่นเลยนอกจากเป็นศิลปิน
เขาเรียกว่าพืชเชิงเดี่ยว (หัวเราะ) มีหลายคนแนะนำชวนไปทำโน่นนี่นั่น โอ๊ย...ผมไม่ทำ

มีคนชวน “น้าหมูเอาไหม เดี๋ยวผมเอาให้ ทำกางเกงยีนยี่ห้อตังเก”  แฟนเพลงคนหนึ่งเขาทำการค้า เขาบอกทำถังสังฆทานกันไหม เออ เขาคิดได้ดีนะ (หัวเราะ)  บางคนมาบอก

“น้า เดี๋ยวจะถึงรดน้ำสงกรานต์แล้ว ทำอ่าง ทำแป้งร่ำใส่ขันขายกัน” โอ๊ย...มีเยอะ

บอกเขา “อย่าเลย ให้กูอยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว”
ตั้งแต่เมื่อไรที่น้าตัดสินใจว่าจะเลือกเส้นทางนี้
ตั้งแต่กลับจาก “ป่า” ตอนอยู่ในป่าเจอลุงผี-อัศนี พลจันทร แกให้การศึกษาหลายอย่าง จนเรารู้สึกในใจว่ามันต้องอะไร สักอย่าง

ผมเป็นคนที่เชื่อถือคนเฒ่าคนแก่เพราะเราไม่ได้เรียนสูง เขาสอนว่า มึงจะได้ดีมึงทำอะไรสักอย่างให้ดีพอ มันก็เลี้ยงตัวเองได้
ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่วัยรุ่นหนุ่มๆ น้าใฝ่ฝันถึงอะไรมาก่อนไหมครับ
ไม่เลยครับ ชีวิตผม เด็กบ้านนอกที่มันค่อนข้างกลวง สมองกลวง ๆ ไม่มีอะไร วิ่งเล่นกะโหลกกะลา ขี่ม้าก้านกล้วย นั่งบนกาบหมากลากเล่นกัน เวลาเขามีรำวงรำโทนในหมู่บ้านก็ไปกับเขา จนกระทั่งแม่บอกมึงต้องเรียน ถ้าไม่เรียนมึงจะเป็นอย่างพ่อมึง ไปรับจ้างเป็นกรรมกร

แต่ขนาดเข้ามาเรียน ม.ศ. ๓ ก็ยังกลวงอยู่เลย เพราะไม่รู้ว่ามาเรียนอะไร ไม่เข้าใจ โอ้โฮ ผมสมองปั่นป่วน (หัวเราะ)
สนใจดนตรีตอนไหน
ศีรษะละเลิง บ้านเกิดผม เป็นหมู่บ้านที่มีดนตรีเป็นประจำอยู่แล้ว

ผมเห็นเขาตีโทนดินเผาหุ้มหนังงู รำวงกันประจำ เป็นดนตรีพื้นบ้าน เล่นกันในงานแห่นาค ศาลตาปู่ แห่นางแมวอย่างนี้ แล้วเราก็ได้ความรู้สึกนั้นมาโดยไม่รู้ตัว

พอจบ ม.ศ. ๓ จะไปสอบต่อช่างยนต์ ผมสอบไม่ได้ ยุคนั้นปี ๒๕๑๑ มันฝากกันแบบไม่มีความรู้สึกว่าผิดน่ะ  จะมาขึ้นรถเมล์กลับบ้าน เห็นกระดาษเล็ก ๆ ติดตรงเสาไฟป้ายรถเมล์ เปิดรับสมัครนักศึกษาแผนกศิลปะ ศิลปะแม่งคืออะไรวะ ไม่รู้จักเลยจริง ๆ  แม่ก็บอกว่ามึงก็ไปเรียนเถอะ มันแผนกอะไรก็ช่างมันเถอะ ดีกว่าอยู่เปล่า ๆ ก็ไปสมัคร เสือกสอบได้ (หัวเราะ) สเกตช์ วาดลายเส้น ทำอะไรไม่เป็นหรอก แต่ว่าคงเพราะคนสมัครน้อย เขาเลยรับไว้ก่อน

ทีนี้อาจารย์ทวี รัชนีกร ที่สอนผม ให้หนังสือมาอ่าน โอ้โฮตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นหนังสือของศิลปินใหญ่ ปีกหัก อย่างนี้ รุไบยาต ของ โอมาร์ คัยยัม และให้ฟังเพลงของเบโทเฟน ของบาค  เราก็ไม่รู้เรื่องเพราะสมองกลวง แต่มันก็เข้าไปโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้สึกตัวเลยว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นได้

จนกระทั่งวงคาราวานไปเล่นที่โคราช ปี ๒๕๑๗ หงา-สุรชัย จันทิมาธร ถามหว่อง-มงคล อุทก ว่ามีเพื่อนสักคนพอเป่าขลุ่ยได้ไหม จะให้มาเป่าเพลง “นกสีเหลือง” หว่องก็ไปตามผมมาจากด่านเกวียน เขาเป็นรุ่นพี่ผมปีหนึ่งตอนเรียนศิลปะด้วยกัน

ผมถาม “ให้เป่าแบบไหน” “แล้วแต่มึง อิมโพรไวซ์” คืออะไรวะ แสดงโดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน มั่ว ๆ ไป แต่ต้องให้มันดีหน่อย (หัวเราะ)

เป่าอยู่เพลงหนึ่งแล้วก็กลับ (หัวเราะ) นั่นแหละที่มาเรื่องเล่นดนตรี
Image
“เพลงจะอยู่ของมันเอง ตัวเราจะต้องไป มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเกิดแก่เจ็บตาย  เพลงเป็นวิญญาณที่จะอยู่กับต้นไม้ใบหญ้า อยู่ของมันไป ใครจะหยิบฉวยไปทำอะไร มันก็รับใช้ตลอดเวลา ”
เป่าขลุ่ยเป็นตั้งแต่เมื่อไร
ไม่… (เสียงสูง) เป่าไปอย่างนั้นแหละ คือมีอะไรสักอย่างเอาไว้กล่อมตัวเองให้อยู่ได้ไป

ผมมีขลุ่ย แคน และโทนหนังงูเป็นดนตรีประจำตัว นึกอยากตีก็ตี นึกอยากเป่าก็เป่าไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้ลายอะไร ไม่เป็นเพลง ไม่มีครูอาจารย์ ไม่มีศาสตร์ใด ๆ ทั้งสิ้น  เพื่อนในวงเหล้าบอก “หมูเป่าแคนให้ฟังสิ” โอ้โฮ ยิ่งชอบ เพื่อนบอกเอ็งเป่าดี
ได้เป่ากับวงคาราวานอีกใช่ไหม
เมื่อเขาจะทำชุด อเมริกันอันตราย ก็เรียกเรามาอีก เรียกไปเรียกมาก็เลยบอกว่า “มึงให้กูอยู่เลยก็ได้นะ ไป ๆ มา ๆ กูเหนื่อยว่ะ” (หัวเราะ) ก็เลยมาเช่าบ้านแถวอินทามระ ซอย ๘ เขาบอกมึงอยู่นี่แหละ จะได้ออกม็อบบ่อย ๆ พอไปเล่นในม็อบบ่อย ๆ ก็เลยคุ้นชิน เริ่มได้ร่วมเล่นในเพลง “นกสีเหลือง” “จิตร ภูมิศักดิ์” “เปิบข้าว” “กระต่ายกับเต่า”

ขลุ่ยมันจำกัด ไม่มีคีย์เหมือนเครื่องดนตรีฝรั่ง แต่เพลงคาราวานเป็นสไตล์ฝรั่ง ก็เป่าได้ไม่กี่รูหรอก มันเพี้ยนบ้างแต่ต้องพยายามอย่าให้เพี้ยนมาก เล่นอยู่สามสี่รู (หัวเราะ)

จากที่เคยตีโทนเขาก็ซื้อบองโกให้เราตี ตอนนี้กลับบ้านไม่ได้แล้ว เสียคนแล้ว (หัวเราะ)
แล้วเล่นกีตาร์ตอนไหนครับ
ตอนอยู่ในป่าก็พยายามฝึกเล่น หงาบอกไม่ยากหรอก อยากได้เสียงไหนก็กด ๆ หาเอา แล้วบวกกัน โห...มึงสอนกูง่ายจริง ๆ (หัวเราะ) คือเขาก็ไม่มีทฤษฎีไง หงาเขาฟัง บ็อบ ดีแลน เขาก็เล่นแบบ บ็อบ ดีแลน มีไม่กี่คอร์ด

ในป่าเราไปอยู่กับคนลัวะ เขามีลายซอคนน่าน เออ...มันประทับใจ ก็เอาลายนั้นมากดหาตามคอกีตาร์เลย กลายเป็นทำนองเพลง “ลิงทะโมน” “นกเขาไฟ” “จูบฟ้าฝากดิน” และอีกหลายเพลงเลยนะที่คลี่คลายออกมา...ตึ่งต่องติ๊งดาดี่แด่น…เสียงกีตาร์ จริง ๆ ได้มาจากลายเพลงของคนลัวะ
แล้วพวกคอร์สพื้นฐาน C Am เป็นมาอย่างไร
โอ๊ย...รุ่นผมเป็นวัยรุ่นมันมีอยู่แล้ว สมัยผมมันยุค 70s มีเพลงฝรั่งดังอยู่แล้ว  บ้านผมโคราชมีฐานทัพอเมริกา พวกวงใหญ่ ๆ จะมาเล่นในฐานทัพ คนไทยก็แกะคอร์ดเล่นเพลงฝรั่ง บางทีเพื่อนไปเป็นนักดนตรีประจำบาร์ ก็ไปนั่งกินเหล้า ไปจำคอร์ดที่มันแกะได้ ก็เป็นโดยธรรมชาติ

คอร์ดพวกนี้มาเอง ไม่เยอะหรอก สามสี่คอร์ด ว่าวนไปให้มันได้อารมณ์อย่างที่เราคิด  เป็นเสียงของอารมณ์ มันไม่ใช่เสียงของโน้ตดนตรีแบบฝรั่ง ที่ต้องมีคอร์ดเยอะ ๆ เพื่อจะได้หาเสียงตามคอร์ด แต่ของเราเสียงมาก่อน แล้วค่อยใส่คอร์ดทีหลัง แต่ก็ไม่ต่างกันหรอก ถ้าเอามาร่วมกันก็โอเค
เขียนเพลงอะไรเป็นเพลงแรก
“โคราชขับไสไอ้กัน” เมื่อปี ๒๕๑๘ ตอนเล่นอยู่กับคาราวาน ไปเล่นที่โรงงานอ้อมน้อย คนโคราชเป็นกรรมกรกันเยอะ เลยเขียนเพลงให้ “เอ้า คนบ้านเอ็งเขียนเพลงให้เอ็งฟังจะเป็นไร” ไม่รู้จะเขียนอะไรเพราะเพลงตัวเองก็ยังไม่เคยมี  แต่เพลงโคราชที่เราเคยฟังร้องว่า “โอ้ละน้อ…” ก็เลยเขียนเพลงนี้

พอร้องก็ระเบิดลงทันที (หัวเราะ) ระเบิดลงทุกที ฮู้...สนุกสนาน แต่ก่อนไม่คิดหรอกมันจะเป็นจะตาย ด่าเขาได้นี่ดีใจ อู้ฮู้ กูด่าได้ ยังเป็นวัยรุ่น คะนองปากเป็นธรรมดา (หัวเราะ) คนฟังก็ชอบเวลาด่า ๆ แบบยุ ดีนะมึง แต่คนถูกด่าเขาไม่ยอมเราหรอก
Image
เมื่อคิดจะทำเพลงจริงจังเขียนเพลงอะไรก่อน
เพลงที่เขียนก่อนคือ “ลิงทะโมน” แต่ว่าตอนที่อยู่ในป่าเขาไม่ให้ร้อง เพราะไม่ใช่เพลงปฏิวัติ เลยร้องไม่ได้ ก็เลยเก็บไว้ในใจ ไอ้เราก็เขียนเพลงปฏิวัติไม่เป็น  ในป่าได้ร้องเพลงเดียว ๑๐๕ แหนบหัก...ปืน ค. นั้นย่อมาจากปืนครก...นอกนั้นที่เขียนไว้มีเพลง “หยดน้ำ” “ลิงทะโมน” “นกเขาไฟ” “นกละเมอ” “จูบฟ้าฝากดิน” “ฝนสว่าง” “รื่นเริง” รวมประมาณ ๑๐ เพลง แต่เราเอาอะไรออกมาไม่ได้ ต้องจำมา เพราะว่าถ้าพกอะไรออกมาจากป่ามันเป็นหลักฐาน
ตอนเข้าป่ารู้ทฤษฎีปฏิวัติไหม
ไม่รู้หรอกเขาปฏิวัติเรื่องอะไร เลนิน สตาลิน ครุสชอฟ ประธานเหมาคือใคร ผมไม่รู้จริง ๆ ให้ตายเถอะ ไปเพราะหงาบอกว่า มึงอยู่ไม่ได้ เขาจะฆ่าเอา ก็ไป ไม่รู้เรื่องทฤษฎีเหี้ยอะไร

ไปใหม่ ๆ ก็อยากจะเหมือนเขา ขอปืนกระบอกยาว ๆ ลูกเยอะ ๆ ระเบิดหลาย ๆ ลูก  ปืนอาก้า กระสุนสามแม็ก ระเบิดสี่ลูก ข้าวสารในเป้อีกรวมสัก ๓๐ กว่ากิโลกรัม แล้วกูจะแบกไปทำเหี้ยอะไรหนักฉิบหาย ปฏิวัติแม่งหนัก  กูขอปืนสั้นกระบอกเดียวพอ
สมญา “กวีศรีชาวไร่” ก็ได้มาจากป่า ?
ลุงผีตั้งให้ตอนอยู่ในป่า เราคุยกับแก ให้แกสอนเขียนหนังสือ แกให้หนังสือ ไตรภูมิพระร่วง มาอ่าน บอกถ้าอ่านเล่มนี้จบอ่านเล่มอื่นง่าย  แกให้ลองเขียน ผมก็เลยเขียนนิทานคำกลอน “พญาช้างมหากัณฑ์” กับ “เสือกระบาก”  แกเอาไปลงหนังสือฐานที่มั่น แล้วเขียนว่า เราขอแนะนำนักปฏิวัติรุ่นใหม่ที่เป็นนักเขียน ต่อไปนี้ข้าพเจ้าขอเรียกเขาว่า “กวีศรีชาวไร่”  ตั้งแต่นั้นมาเลย เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร (หัวเราะ)

ผมบอกลุงว่าผมยังไม่รู้ผมเป็นอะไร ยังไง “เดี๋ยวก็รู้ เราอย่าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียน อย่าเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน ต้องให้คนอื่นเขาเรียก แล้วมันจะเป็น ถ้าเราเรียกเองยังไม่เป็น” แกว่าอย่างนั้น
พอออกจากป่ามาแล้วทำไมเลือกเส้นทางดนตรี
ผมไม่มีความรู้อื่นเลย ไปป่าก็โชคดีหน่อยเขาเอาไปเรียนโรงเรียนดนตรีเพื่อการปฏิวัติ ส่งผมไปเมืองจีนด้วย  เรียนก็เรียน เขาให้ไปไหนก็ไป  ไปเรียนกับนักดนตรีปฏิวัติของจีน สอนเรื่องโน้ต เป่าแคน เป่าฟลุต  กลับมาก็เขียนโน้ตได้ แต่ออกมาก็ไม่มีวุฒิอะไร ไม่มีความรู้ที่เป็นหลักเกณฑ์ตามที่เขารับ จะไปทำงานที่ไหน เขาขอดูใบ ไอ้เราไม่มีใบเหี้ยอะไรเลย กูมีแต่บิลค่าน้ำ ค่าไฟ (หัวเราะ)

ไม่ได้ทำอะไรก็ไปหาเพื่อน ไปนั่งกินเหล้ากับเพื่อน เพื่อนร้องเพลงเราก็ตีโทน

พอดีแอ๊ด คาราบาว ไปเล่นดนตรีที่โรงเรียนที่อาจารย์สีเผือก คนด่านเกวียน สอนอยู่  เพื่อนก็เลยแนะนำ “ไอ้หมู แต่ก่อนอยู่วงคาราวาน เพิ่งออกจากป่า ยังไม่ได้ทำอะไร ฝากให้อยู่ด้วย” แอ๊ดบอกได้ครับ ๆ  พอได้ครับ กูกระโดดขึ้นรถมันเลย กลัวมันไล่ลง  ก็มาอยู่กับแอ๊ดที่กรุงเทพฯ เขาทำงานเป็นสถาปนิกของการเคหะแห่งชาติ มีห้องอยู่เล็ก ๆ เรานอนสองคน  ห้องเล็กมากแต่ว่ากั้นเป็นสองห้อง จะให้ดูเป็นห้องมั้ง มีพัดลมตัวเดียวก็ส่ายให้แอ๊ดบ้างให้หมูบ้าง

แอ๊ดมีงานเล่นดนตรี ผมก็ไปช่วยถือกีตาร์ถืออะไร ทำไปทำมาก็ช่วยเขาเคาะกลอง เขาให้ตังค์กินข้าว อยู่คาราบาวตั้ง ๔ ปีนะ เพราะไม่รู้จะไปไหน เขาให้ตังค์งานละพันบ้าง เยอะหน่อยก็สองพัน  เราก็นอนบ้านแอ๊ด บ้านเล็ก คาราบาวบ้าง ผลัดกันไปมีแต่เป้หลังนึง

จนกระทั่งแอ๊ดเขาชวนว่ามาอยู่วงคาราบาวไหม จะได้เป็นสมาชิกแล้วก็ทำเพลงกัน จะให้ส่วนแบ่ง เราก็ไม่เข้าใจดนตรี เขาเป็นเพลงสไตล์ฝรั่ง กูทำไม่เป็นน่ะ เราตีโทน เป่าแคน เลยบอกแอ๊ด เอางี้ละกัน ขอทำเพลงสักชุด ช่วยหน่อย ๆ

ชุดแรก ห้วยแถลง วงคาราบาวเล่นให้หมดเลย ห้องอัดก็ของคาราบาว พอเขาเหนื่อยแล้วพักกัน “อ้าว มึงพักใช่ไหม มา ๆ มาเล่นให้กู” ช่วยกันหมดเลย ใช้เวลาอัด ๔-๕ วันเอง ชุดนี้ แต่แม่งขายไม่ได้ เจ๊ง ไม่มีคนฟัง เลยติดหนี้บริษัทอีก ค่าห้องอัด ค่าถ่ายรูปปกอีก (หัวเราะ) ฮู้...กรรมเวร ก็เลยอยู่คาราบาวต่อ เพราะยังไม่เกิด

คาราบาวเริ่มดังแล้ว เพลง “วณิพก” “ลุงขี้เมา” ไปเล่นก็เอาเราไปด้วย เลยบอกแอ๊ด ขอขึ้นร้องหน่อย นักศึกษาคงจะฟังได้มั้งเพลงแปลก ๆ ...ภูบ่สูงแต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึกแต่ว่าฟ้ามันไกล... คนฟังโห่เลย อือ…ไม่เอา ๆ มันไล่ลงนะ ที่ ม. เกษตรศาสตร์ ไปนั่งร้องไห้อยู่ข้างหลังเวที  เล็กมาปลอบ “ไม่ต้องเสียใจ เพลงพี่อย่างนี้เลย ดี (ยกนิ้วโป้ง) แต่มันฟังไม่รู้เรื่อง” นั่นน่ะสิ เพราะมันไม่รู้เรื่องไง เขาถึงด่ากู โห่กูน่ะสิ

จากนั้นบอกแอ๊ด ช่วยผมอีกชุดนึงไป ถ้าชุดนี้ผมไม่ได้ คุณจะให้ผมอยู่ จะไล่ผมออก หรือให้ผมทำอะไรก็แล้วแต่  แอ๊ดนั่งเขียนเพลง “คนกับหมา” เล็กใส่กีตาร์ เรานั่งอยู่ด้วยก็ร้องด้วยกัน ...ชีวิตฉันมีแต่หมาพาไป จะเดินหนใดมีหมานำ…โคว้ก แคว้ก ๆ ควาก แอ๊ดบอก ดี ๆ ร้องอย่างนี้กวนตีนดี เลยให้เราร้อง เพลงแม่งดัง คนบอกเออ เพลงมันแปลกดีว่ะ เสียงมันก็แปลกด้วยเว้ย เฮ้ย มัน ๆ ๆ ก็เลยได้แจ้งเกิด แต่ว่ามันยังไม่ใช่เพลงเรา นี่ในชุดที่ ๒ ชื่อชุด เดี่ยว

ปลายปี ๒๕๒๙ ทำอีกสองอัลบัม ไอแอมอีสาน กับ มันดี เลยมาตั้งวงแรกของตัวเอง ออกทัวร์  บอกแอ๊ดไปว่าผมขอแยกวงไปนะ เขาบอกโชคดี ๆ ก็ทำวงกัน  ค่อย ๆ เริ่มนะไม่ใช่ทีเดียว ยังกลัว ๆ อยู่  ถ้ามึงมีงานวันไหนรับกูไปเล่นด้วยเด้อ เขาก็จ่ายตังค์ให้พันสองพันบาท

พอได้เพลง “ตังเก” เท่านั้นแหละ โอ้โฮ…ทั้งชาวไร่ชาวนา ปัญญาชน กรรมกร เจ้าของโรงแรม เจ้าของผับบาร์ ฟังกันหมดเลย ต่อจากนั้นคนก็ตามกลับไปค้นหาเพลงเก่า ๆ ของเราไปฟัง “ยิ้มเหงาๆ ” “วันเวลา” ก็ดังตามมาทันที

“ตังเก” เป็นเพลงสนุกก็จริงแต่เนื้อหาก็ไม่ต่างจากเพลงเก่า ๆ ของเรา เนื้อหาเพลงแบบเดียวกัน แต่ว่าอารมณ์เป็นชาวบ้าน เป็นลูกทุ่ง สนุกสนาน แต่มันเศร้า

ขายเป็นล้านม้วน ต๊กกะใจเลย กูดังแล้วเหรอเนี่ย (หัวเราะ) งง  ชุดก่อน ๆ กูยังขายไม่ออกเลย  ผมได้ม้วนละ ๑๐ บาท
อยู่ ๆ มีเงินเป็น ๑๐ ล้าน ได้เป็นเบี้ยหัวแตกมาแต่มันก็เยอะสำหรับเรา  ตั้งแต่ตอนนั้นเลยมั่นใจว่าทำอาชีพเดียวก็พอแล้ว
Image
ทางเพลงแบบพงษ์เทพ
เป็นอย่างไรครับ

เป็นบ้าน ๆ เพลงแบบบ้านนอก เขียนแบบปัญญาชนได้เพราะเราก็เป็นนักศึกษา แต่ว่าอารมณ์ชีวิตเราจริง ๆ เป็นเด็กบ้านนอก  “ยิ้มเหงา ๆ” “วันเวลา” “มันดี” “ตรงเส้นขอบฟ้า” มาจากหัวสมอง แต่ “ตังเก” เป็นตัวเรา คนบ้านนอก ตึ๊งตะลึงตึ๊งตึ่ง ปะโล่งปะโล่งตึง…
มองย้อนไปน้าหมูคิดว่าความสำเร็จมาจากอะไร
ความเป็นตัวเองที่ยึดมั่นในแนวทางของเรา มั่นใจว่าจะทำอย่างนี้ มีความเชื่อมั่นแล้วทำไปเถอะ ดูลุงผมเปีย วิลลี เนลสัน เพลงคันทรีฝรั่ง แกมาดังมากเอาตอนอายุ ๖๐ กว่า แกก็เอาเงินไปทำบุญกุศล ให้เด็ก คนพิการ โรงพยาบาล มูลนิธิ แกมีความสุข แต่ว่าระหว่างที่รอแกก็ไม่ได้มีความทุกข์นะ แกเขียนเพลง รอคนฟัง แกเชื่อมั่นว่าเพลงที่ทำมันจะต้องใช่ คนต้องรู้จัก เราต้องมั่นใจว่าที่เราทำมันใช่  ก็ต้องรอให้เขาฟัง ไม่ไปทำอย่างอื่น

เดี๋ยวนี้คนทั้งประเทศมาฟัง ม. เกษตรศาสตร์เขาจ้างผมไปเล่นอีกตั้งหลายครั้ง เพราะเขาฟังรู้แล้วไง แล้วก็ขอเพลง “นกเขาไฟ”  วันนั้นเมื่อปี ๒๕๒๗ ไล่ผมลง หลังจากนั้นมาไม่กี่ปีมาเชิญผม แล้วก็ขอเพลงนี้ “น้าเล่นกีตาร์ให้ฟัง เพลงนี้เพราะ ชอบมาก” นั่น…เห็นไหม ตอนแรกไม่มีใครฟัง แต่ไม่โทษเขานะ
กว่าจะไปถึงตรงนั้น ผ่านช่วงเวลาที่เหนื่อยท้อมาอย่างไร
ชีวิตผมมันโดดเดี่ยวมาตลอดอยู่แล้ว ท้อก็ท้อ เหนื่อยก็เหนื่อย  ผมมีเพื่อนไม่กี่คน มีสี่ห้าคน มีสังคมผมก็ไม่ค่อยยุ่งกับเขา ทำงานเขียนเพลงร้องให้กับคนฟังเป็นหมื่นเป็นแสนแต่ว่าผมก็ไม่ใช่เพื่อนหรือญาติเขานะ  เป็นศิลปินที่เขาชื่นชอบ เขาไม่มายุ่งกับเรา ผมก็อยู่บ้านป่าเมืองเถื่อนของผม ตั้งแต่เกิดมาผมก็อยู่ในบ้านสวน ขอแม่ไปทำกระท่อมอยู่คนเดียว เดี๋ยวนี้อยู่เขาใหญ่ผมก็อยู่คนเดียว ฉะนั้นชีวิตอย่างนี้เวลาท้อมันก็เลยธรรมดา เวลาเหนื่อยก็โทษอายุ กูแก่แล้ว

คอนเสิร์ต ๔๐ ปี กวีศรีชาวไร่ ผมยังเล่น ๔๓ เพลง ก็เหนื่อยอยู่นะ แต่ก็มีความสุข ถ้าไม่เหนื่อยก็อาจจะนอนแบบขี้เกียจอยู่เฉย ๆ นอนตาปริบ ๆ (หัวเราะ)

ท้อก็ดี บางทีก็เหมือนกับเราเห็นภูเขาลูกหนึ่ง แต่ก่อนกว่าจะมาเป็นพงษ์เทพ ต้องเดินข้ามเขาลูกนี้ ตังค์ก็ไม่มี อะไรไม่มีตัวเปล่า ต้องเดินข้าม ท้อและเหนื่อยนะ แต่พอข้ามได้แล้ว หันกลับไปดู มันเป็นแค่ก้อนหินก้อนเดียวเอง เป็นก้อนหินของความทรงจำที่ไม่แตกสลาย มันหนักแน่นและแข็งแกร่งอยู่ในหัวใจตลอดเวลา

เดี๋ยวนี้นะไม่สนใจเลยว่าต้องมีอะไร ใครมาจ้างไปเล่นก็เล่น เดือนหนึ่งรับแค่หกเจ็ดงาน บอกน้องนุ่งในวงว่าถ้าใครมีงาน เขาจ้างไปเล่นก็ไปนะ ไม่ต้องจ้างน้าก็ได้ เอาวงน้าเอาเพลงน้าไปเล่นก็ได้

ไม่ค่อยสบายเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พอฟื้นตัวมาได้การไปทำงานอย่าคิดว่างาน คิดว่าไปร้องเพลงเที่ยว ร้องเพลงของเราแล้วมีความสุข แล้วก็ปล่อยไป เขาจะจ่ายเงินเมื่อไรก็อย่าไปคิด

อายุ ๗๐ แล้ว เดี๋ยวตายมึงก็เอาไปไม่ได้
เดี๋ยวนี้ยังเขียนเพลงอยู่ไหม
มีแต่คนถาม  กูอยากเขียน แต่ว่ามันเล่นกีตาร์ไม่ได้ มือข้างขวาผมมีปัญหาเพราะเป็นโรคที่เกี่ยวกับสมอง แล้วปลายประสาทมือไม่สัมพันธ์กัน  ผมเล่นกีตาร์เป็นลายเฉพาะ ทั้งสองมือต้องเข้ากัน ถ้าแต่งเพลงผมต้องแต่งกับกีตาร์ ไม่ใช่ว่าเขียนเนื้อแล้วเอาดนตรีมาใส่ ต้องไปพร้อมกัน  พอไม่มีตรงนี้มาช่วยจำ กูลืมเลย เออว่ะ ไม่ต้องแต่งก็ได้ เพลงกูมีตั้ง ๒๐๐ เพลง เพิ่งร้องไป ๖๐ เพลง จะร้องให้หมดเลยที่ยังเหลืออยู่อีกตั้งหลายเพลง
เล่นคอนเสิร์ตตอนนี้ร้องกี่เพลง
เล่นให้เขาประมาณ ๒๓-๒๔ เพลง แต่ว่าให้ลูกชาย มือกลอง มือกีตาร์ช่วยร้องด้วย  ผมก็ประมาณ ๑๕ เพลง แต่ร้อง ๒-๓ เพลง ก็เว้นให้น้องเขาร้องเพลงสองเพลงให้หายเหนื่อย คนที่จ้างเราต้องการดูเราอยู่แล้ว  เราป่วยเขาก็รู้นะ ร้องมาก เขายังบอกเลย น้าพอแล้ว ๆ เขากลัวเราตาย เดี๋ยวกูไม่ได้ดูมึงอีก ไม่ได้ห่วงมึง กูห่วงจะไม่ได้ดูอีก (หัวเราะ)
คอนเสิร์ตพงษ์เทพทำไมต้องมีเรื่องเล่า
ต้องมี ไม่พูดไม่ได้ ไม่เล่าแล้วหน้างอเลย “เรื่องนั้นยังไม่เล่า เรื่องนี้ก็ไม่เล่า”  เอ้า ก็ฟังแล้วไง  “ฟังใหม่อีกได้ อยากฟังอีก” เล่าทุกครั้งนี่เหมือนกัน แต่ความสนุกมันต่างกัน อารมณ์มันต่างกันนะ “ทำไมเรื่องนี้น้าเล่าสนุกกว่าเก่าวะ” เล่าเรื่องเดียวกันแม่งหัวเราะใหม่อะ ตอนหลังไม่พูดก็ไม่ได้แล้ว “เรื่องอันนั้นน่ะเล่าให้ฟังหน่อย” กูจะเล่นเพลง “เดี๋ยวค่อยเล่น ขอเล่าก่อน”
Image
“คนพูดเพลง” น้าหมูนิยามเองไหมครับ
ใช่ เพราะว่าต้องพูดก่อนแล้วค่อยร้องเพลงทีหลัง  แต่ก่อนเพลงผมน้อย เขาจ้างไปคนเดียว ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาท โอ้โฮ เยอะนะ มีเพลงเล่นอยู่ ๕-๖ เพลง ทำไงดีวะ เล่ายาวแม่งเลย เล่าเรื่อง เล่านิทาน ดีไม่ดีถ้าจิ๊กโก๋ทำท่าเมา ๆ ด่ารัฐบาลเลย จิ๊กโก๋กลัว โอ้โฮ...พงษ์เทพแม่งด่ารัฐบาล แล้วกูเป็นใคร จิ๊กโก๋แม่งนั่งเงียบเลย เป็นไงล่ะ (หัวเราะ) ต้องด่าคนใหญ่กว่ามัน

พอจับมุกได้ เออ เข้าท่าเว้ย ก็เลยกลายเป็นบุคลิกของเรา หากินได้ ไม่ยากหรอก เล่นสองเพลง คุยอยู่ชั่วโมง สบาย เป็นสมญานามเลย “คนพูดเพลง” จ้างพงษ์เทพมาคุยพอแล้ว ร้องเพลงประกอบการคุย (หัวเราะ)
อยู่กับเสียงเพลงมา ๔๐-๕๐ ปี ได้เรียนรู้อะไร
ชีวิตคนมันอยู่ได้ ถ้าตั้งใจจะทำชีวิตให้ดีมันดีได้  ไม่ต้องกลัวว่าไม่รู้ชีวิตไปทางไหน ชีวิตมีทางของมันเสมอ

ผมเจอทางชีวิตของผมแล้วว่าผมต้องร้องเพลง เขียนเพลง เล่นดนตรี ผมก็ต้องเดินทางนี้ให้ได้ อย่าเขว ยืนหยัดในเส้นทางชีวิตของตัวเอง แล้วจะได้ความสุข
จะเล่นดนตรีไปถึงเมื่อไรครับ
โอ้...ดนตรีไม่มีอายุ ดูวง Kiss วงเฮฟวีเมทัลที่ใส่หน้ากากและใส่ชุดหนังสีดำ เขาอายุ ๗๐-๘๐ กันแล้วนะ เขาบอกว่า แม้เล่นดนตรีไม่ไหวแต่ดนตรีมันยังมีชีวิตอยู่ นี่คือดนตรี  ถ้าเพลงคุณเป็นอมตะ มันก็อยู่ตลอดไป เหมือน “เขมรไทรโยค” เป็นร้อยปีแล้วยังอยู่ เหมือนเพลงของโมสาร์ท เพลงของบีเทิลส์ เดี๋ยวนี้ทั่วโลกก็ยังแห่ เพลงของเอลวิสคนไทยก็ยังเล่นอยู่ เป็นอมตะ แต่ของผมคงไม่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น พออยู่ได้ก็โอเคแล้ว

เพลงจะอยู่ของมันเอง ตัวเราจะต้องไป มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเกิดแก่เจ็บตาย  เพลงเป็นวิญญาณที่จะอยู่กับต้นไม้ใบหญ้า อยู่ของมันไป ใครจะหยิบฉวยไปทำอะไรมันก็รับใช้ตลอดเวลา
ไม่ได้คิดเรื่องเกษียณ
คิดไม่ได้หรอก คนที่มีอาชีพนี้เหมือนกับคนธรรพ์ที่นั่งอยู่บนก้อนเมฆ ไม่รู้ว่าก้อนเมฆก้อนนี้จะแตกสลายเมื่อไร จะถูกลมพัดไปทางไหน  ถ้าแดดร้อนแล้งมากก็สลายหายไป ก็ไม่เดือดร้อนใคร มันหายไปเอง  เพลงก็เหมือนกัน เหมือนก้อนเมฆที่ลอยอยู่ ถ้าวันไหนไม่มีก็คือไม่มี
......
ช่วงหนึ่งน้าหมูมักเลือกเพลง “เพียงลมพัดผ่าน” เป็นเพลงปิดท้ายคอนเสิร์ต น้าหมูเล่าว่าแต่งเพลงนี้ด้วยอารมณ์ที่สัมผัสจากคนดูตอนจะอำลาจากกันตอนจบการแสดง

“เล่นคอนเสิร์ตทีไรพอจะจบร่ำลามีคนตบมือให้ เราก็น้ำตาไหลทุกทีเลย  อย่างเราต้องมีคนปรบมือให้ด้วยเหรอ นักร้องบ้านนอกเสียงแบบนี้ มีคนดี ๆ มาให้กำลังใจขนาดนี้เชียวหรือ ก็เลยคิดว่า เออ ไม่เป็นไร แค่จากกันวันนี้ไม่ได้จากนิรันดร์ไป คุณจะได้อยู่กับเพลงเรา จะได้เจอมันอีก เรามีความสุขวันนี้ วันต่อไปเราก็จะเจอ มีความสุขกันอีก ...ฉันไม่อยากกล่าวคำว่าอำลา... จริง ๆ แล้วไม่อยากไปหรอก แต่ว่าหมดเวลาของการเล่นคอนเสิร์ต เป็นความรู้สึกที่แฟนเพลงให้กำลังใจ เราก็รู้สึกว่าน่าจะเขียนเพลงสักเพลงที่ให้เขามั่นใจว่าต้องเจอเราอีก แล้วเราก็มั่นใจว่าเราจะมีชีวิตเพื่อร้องเพลงให้เขาฟังอีก”

...เราพบกันมีเรื่องราวเล่ากันฟัง เป็นเหมือนดั่งภาพเขียนที่เสกสรร บรรยากาศที่ดีและจริงใจ

แม้ไม่มีพยาน คำมั่น ฤๅสัญญา อย่ารอเวลาให้ล่วงเลย ร่างกายจะร่วงโรย

จงโบกโบยโผบินแม้เหน็บหนาว ใช่ว่าเราจะจากกันนิรันดร์ไป  
ขอบพระคุณ : อาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง, “จันทนา ฟองทะเล”
และ The Landmark @สายไหม

เล่าเรื่องเบื้องหลัง
(บางเพลง)

“ตังเก”

ตอนนั้นขับรถไปเล่นงานที่ปากน้ำปราณบุรี  ไม่ใช่รถมือสองหรอก มือแปดละมั้ง ขนาดว่าสีมันกะเทาะเป็นกาบ ๆ แล้ว แต่ว่าเครื่องก็ยังโอเคอยู่ นิสสันเครื่องสี่สูบ ซ่อมง่าย  เล่นเสร็จตอนเช้าก่อนกลับไปกินกาแฟ เดินดูทะเล ไปเจอเรือตังเกพื้นบ้านหลายลำเรียงจอดแถวปากน้ำ เสียงคุยกัน เอ้ย…มันเสียงลาวคัก ๆ เนาะ เฮาจั่งซั่น เฮาจั่งซี้ เอ้า…มันคือเสียงคนบ้านเฮาน้อ  เข้าไปคุย นั่งกินเหล้ากับเขา เมาเหล้าเสร็จอยากออกเรือไปตกหมึกกับเขา ไปเมาเรืออีก เมาเรืออ้วกแตกอ้วกแตน (หัวเราะ)

ในเรือก็มีแต่คนอีสาน คุยกัน เขาเคยทำนา แต่ไม่ได้ทำแล้ว เป็นหนี้เป็นสิน ถูกยึดไปหมดแล้ว เลยมากับเรือตังเก อยากมีเรือสักลำจะพาคนงามที่คิดจะแต่ง เพราะแกมาอยู่นานแล้ว มันก็เป็นอารมณ์ของคนเรือ

กลับมา มันใช่จริง ๆ ว่ะ

ฉันเกิดอยู่แดนอีสาน ถิ่นกันดารที่เขาดูหมิ่นดูแคลน  จากไกลไปหากินต่างแดน ก็อาลัยแสนเมื่อจำต้องพรากบ้านมา ร่อนเร่พเนจรไป เหมือนนกไพรไร้พงพนา…

เป็นนกที่บินหาที่เกาะไปเรื่อย

เขียนไปแก้ไปสัก ๒ ปี คิดว่ายังไม่สมบูรณ์ จนกระทั่งมาทำชุด คนจนรุ่นใหม่ ที่แกรมมี่ เขาบอกว่ายังไม่มีเพลงโจ๊ะ ๆ สักเพลงเลย ขอเอาเพลงแถม  “ตังเก” นี่เพลงแถมนะ ไปทำในห้องอัดคนเดียว ไม่มีเงินจ้างเขา เพราะว่าหมดตังค์แล้ว เล่นคีย์บอร์ดเอง คีย์ซีติดสีเหลือง คีย์เอฟสีชมพู จะได้จำได้ (หัวเราะ) เล่นเครื่องเป่าเอง  มีเบสกับกลองที่ให้อู๊ดกับเอ็ดดี้มาช่วย

พอจะวางขายอากู๋ถามว่าจะใช้ชื่ออะไร ชื่อพงษ์เทพ โอ้โฮ…แค่ชื่อก็ไม่ขายแล้ว นามสกุลกระโดนชำนาญ โอ้ โอ้วววว… ช่วงนั้นเขามีแต่ฟรุตตี้ คีรีบูน อินโนเซนท์ สาวสาวสาว เบิร์ด (หัวเราะ) นี้ไร... พงษ์เทพ โอ๊ะ…ไม่ขาย ๆ จะให้เปลี่ยนชื่อนะ โอ๊ะ ๆ อย่าเลย ๆ ผมเอาชื่อนี้แหละ
“คนจนรุ่นใหม่”

ไปเล่นกับหงาในบาร์เล็ก ๆ ที่ริมกว๊านพะเยา เล่นเสร็จแฟนเพลงมาทักทายบอก “เรารักน้านะน้าหมู พวกเราเป็นคนจนรุ่นใหม่” เขาเป็นเด็ก ๆ ไง บอกเป็นคนจนรุ่นใหม่ โอ้ว…ปิ๊งว่ะเฮ้ย “น้าขอชื่อนี้ไปทำเพลงได้ไหม” “ตามสบายเลย น้าเขียนเลย ๆ”

ขับรถกลับมาจากพะเยา

ยอมทุกข์ยอมทน ยอมให้คนเขาหมิ่น เดินก้มหน้าสู้ดิน เมื่อยังไม่ยิ่งไม่ใหญ่…
“ตรงเส้นขอบฟ้า”

จากบ้านศีรษะละเลิง มองเข้าไปในเมืองโคราช ตอนกลางคืนเห็นแสงไฟเหมือนเป็นเส้นไกลตรงขอบฟ้า ชีวิตเราจะไปถึงเมืองได้ไหม เก็บความรู้สึกไว้ในใจ  จนกระทั่งกลับจากป่าแล้วไปหาดใหญ่ อาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง พาไปหาดสมิหลา ไปดูเรือประมงเรือพื้นบ้านลำเล็ก ๆ  เราอยากรู้อยากเห็นก็ถามไปเรื่อย พี่ไปหาปลาถึงไหน ชี้ไป “มันไกลนะ นู้นแหละ ตรงเส้นขอบฟ้ากับน้ำจรดกัน” โอ๊ะ…ปิ๊งเลย เส้นขอบฟ้า นึกถึงตอนที่เราอยู่บ้านมองดูเมืองว่ะ เป็นเส้นขอบฟ้าที่ไม่รู้ว่ามันมีหรือไม่มี แต่ว่าในทะเลเขาบอกตรงเส้นขอบฟ้ามันจะมีปลา จากบ้านเราก็มองไปในเมือง น่าจะมีเงิน มีงาน มีอะไรหลาย ๆ อย่างในความคิดของเรา

อีกปีหนึ่งมาพัทยา ยุคผมมันยังไม่เป็นอย่างนี้ หาดยังเป็นหาดอยู่ มองไปก็เป็นเส้นขอบฟ้าอีกเส้นหนึ่ง น่าจะเขียนสักเพลง จะเป็นศิลปินมันก็เหมือนพรานทะเล ต้องลงเรือไป เหมือนใครที่ต้องเดินทาง มันไกลแสนไกลดั่งเส้นขอบฟ้าก็ต้องไป

...จะไปแม้ไกลกว่านั้น...

กูก็ต้องไป เราไม่อยากอยู่กับคาราบาวแล้ว เพราะคนละแนว เป็นเพื่อนที่รักกัน พร้อมจะเป็นเพื่อน แต่ว่าถ้าเราอยู่กับคาราบาวมันก็จะอยู่กันแค่อย่างนี้

...ตรงเส้นขอบฟ้ารุ่งเรืองเมืองที่เราใฝ่ฝัน… ไปเลยทีนี้
“วันเวลา”

ไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่นกับหงา ช่วงครบรอบ ๔๐ ปี ฮิโรชิมะ นางาซากิ เจอเพื่อนนักดนตรีชาวญี่ปุ่นเขาแต่งเพลงคล้าย ๆ ว่าเวลาที่ผ่านไปมีแต่ความทุกข์ หลังจากญี่ปุ่นโดนระเบิดปรมาณู  ภาษาญี่ปุ่นเราก็ไม่รู้ แต่ว่าพอร้องเป็นเพลงมันกินใจ พอขึ้นเพลงรู้สึกเหมือนเราฟังออกว่าดนตรีจะพูดอะไร ไม่ต้องรู้ภาษาเลยนะ โอ๊ย…สะเทือนใจ

กลับมาเราก็เลยเขียน ได้ไอเดียจากความรู้สึกที่เขาบรรยาย ภาษาเรากับภาษาญี่ปุ่นต่างกัน แต่ว่าความรู้สึก เสียงสูงต่ำอันเดียวกัน ฟังแล้วอารมณ์เหมือนกันเลย จับกีตาร์ขึ้นมาไปเลย


วันเวลาหมุนเปลี่ยนเวียนไป สุขสดใสไม่เคยเดินตาม…ร้อย
เรืองรองในคืนข้างแรม

ตอนนั้นคนอีสานถูกกดขี่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาก แห้งแล้ง ไม่มีใครสนใจ มีแต่รถบรรทุกเข้าไปขนสินค้ากลับมา แต่ไม่เคยเอาความเจริญให้ มีแต่การเอาเปรียบ เหมือนเราเป็นทุกข์ตลอดเวลา ถึงแม้จะน้อยกว่าฮิโรชิมะ แต่ความทุกข์อะยังไงก็ทุกข์ไม่ต่างกันหรอก แต่ยังมีความหวังเหมือนหิ่งห้อย ถึงไม่มีแสงสว่างใหญ่โต ขอแค่หิ่งห้อยดวงเล็ก ๆ ก็พอแล้ว แค่นี้ชีวิตมันก็อยู่ได้

“เด็กหญิงปรางค์”

นั่งอยู่บ้านสุเทพ วงโฮป ทำเพลงกัน เห็นเด็กมาเขี่ยขยะอยู่เรื่อย ๆ  สุเทพบอกน้องเขามาเขี่ยอย่างนี้ทุกวัน ไม่รู้เขาได้อะไร ตอนนั้นเราก็ยังไม่ปีกกล้าขาแข็ง โอ้โฮ…มันเป็นแรงขึ้นมาเลย ขนาดเด็กเขาไปเขี่ยถังขยะ ไอ้เรามีเพื่อนเป็นนักดนตรี มีพ่อแม่ พี่น้อง ครูบาอาจารย์เยอะแยะ บางทีก็ยังกลัว ไม่มั่นใจ  พอเห็นเด็กคนนี้ ผมคิดว่าแกสูงส่งเหมือนปรางค์ คือเป็นสูงสุดของความเชื่อมั่น ความศรัทธา

เราศรัทธาแกว่าคุ้ยขยะเลี้ยงชีวิตตัวเองได้ ก็เลยตั้งชื่อแกว่า
เด็กหญิงปรางค์ แต่แกชื่ออะไรก็ไม่รู้นะ และไม่ถามแกด้วย เอาแต่ภาพนั้นมาไว้ในใจเลย แกเป็นเหมือนยอดปรางค์อยู่สูงสุดที่คนศรัทธากราบไหว้ มันเป็นศรัทธาของเราต่อเด็กคนนั้น

ขยะในถังที่ตั้งริมทาง เด็กหญิงปรางค์กำลังคุ้ยเขี่ย…


อยากได้อะไรก็ไม่รู้ แต่ก็เขี่ยอยู่อย่างนั้น ตามที่แกฝัน ฝันว่าจะมีสุขกับหุ่นยนต์หรือตุ๊กตาที่แกจะได้

“ดาวน์สาว”

เป็นเรื่องเล่าก่อนเป็นเพลง ผมไปหาอาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง ที่สงขลา ไปเจอรูญ คนหนุ่มรุ่นเดียวกัน ก็กินเหล้ากัน  เขายังพูดติดใต้ “พงษ์เตบ ๆ ผมทำแต่ฮาน แต่ก็ไม่มีเฮินเลย อยากแต่งเมียจะทำอย่างไรดี”

เราเป็นคนปากพล่อย ก็ว่า มึงต้องดาวน์เอาว่ะ อย่างกูเพิ่งดาวน์ตู้เย็น  คุณหมีผู้จัดการวงคาราบาวคนแรกเขามีบ้านให้ผมนอนฟรี ไม่มีตังค์ เขาสงสาร ขายตู้เย็นผมหลังหนึ่ง ๕ คิว เขาให้ผ่อน (หัวเราะ)

“รูญมึงก็ดาวน์เอาเลย มึงเป็นครู กู้สหกรณ์มาก่อนก็ได้ แล้วก็ผ่อนทีละ ๑,๐๐๐ บาท” เรามีแนะนำด้วย ผ่อนไปสัก ๓-๔ เดือน บอกไฟแนนซ์ยึดคืน (หัวเราะ) แล้วก็หัวเราะกัน ไอ้รูญก็หัวเราะ “มึงก็พูดไปเนาะ เขาเป็นคน เขาไม่ได้เป็นตู้เย็น”

ขับรถกลับมา รถนิสสันคันนั้นน่ะ

ไอ้ไข่นุ้ยเป็นหนุ่มมีหัวใจแต่ไม่มีเฮิน...ก็เพลิดก็เพลินเที่ยวไปพอได้ฮานทำ…

โอ้วว...ไปร้องทางใต้ดังระเบิดเถิดเทิง  แต่ก่อนเพลงนี้อยู่ในเทปหน้าบี พอมันดังแกรมมี่ทำใหม่เอามาไว้หน้าเอ (หัวเราะ)