Image
SmarTrip® Card
จากวอชิงตัน ดี.ซี.
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
เวลาไปต่างประเทศ บัตรโดยสารรถไฟคือหนึ่งในของที่ผมนำติดตัวกลับมาบ่อยที่สุด และบัตรที่เดินทางมาไกลที่สุดคือบัตรรถไฟฟ้าของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington D.C.)
ในประวัติศาสตร์ระบบคมนาคมนานาชาติ เป็นที่ทราบกันดีว่าสหรัฐฯ มหาอำนาจเบอร์ ๑ ของโลกเป็นเจ้าแห่งระบบถนน วางรากฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ในราคาที่จับต้องได้ จนรถยนต์แพร่หลายไปทั่วโลก แต่ในแง่ระบบรางพวกเขาตามหลังหลายประเทศ โดยเฉพาะกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวง

ตั้งแต่แรกสร้างเมือง คน ดี.ซี. (ชาวอเมริกันนิยมเรียกย่อ เพราะเมืองอยู่ในเขตดิสทริกต์ออฟโคลัมเบีย/District
of Columbia) นิยมใช้ถนนเพราะนั่งรถม้า เมื่อเข้าสู่ยุคของรถยนต์ พวกเขาก็ยิ่งไม่สนใจระบบราง แต่หลังสงครามโลก ปัญหารถติดทำให้ต้องสนใจเรื่องนี้อีกหน โดยข้อเสนอให้สร้างรถไฟฟ้าใน ดี.ซี. เริ่มมีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๖ แต่ฝ่ายต่าง ๆ ใช้เวลาถกกันตลอดทศวรรษ ๑๙๕๐ ก่อนที่การก่อสร้างจะเริ่มใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ภายใต้การดูแลของ The Washington Metropolitan Area Transit Authority (WMATA/Metro) ที่ตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๖๖ เพื่อกำกับดูแลระบบขนส่งในเมืองหลวง (District of Columbia) รัฐแมริแลนด์ (Maryland) และรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) ด้วยงบประมาณ ๑.๘ พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ WMATA ยังบริหารเรื่องรถประจำทางด้วย

เดิมพันสูงแค่ไหน เห็นได้จาก ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon Baines Johnson - LBJ) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
คนที่ ๓๖ เขียนจดหมายถึงหน่วยงานกำกับว่าขอให้ “ค้นหาแนวคิดจากทั่วโลก (ในการก่อสร้าง) เพื่อให้ระบบนี้ใช้งานได้จริงและมีเสน่ห์ เป็นต้นแบบให้แก่โครงการแบบเดียวกันที่จะตามมา” 

แฮร์รี วีส (Harry Weese) สถาปนิก ออกแบบให้สถานีรถไฟในเฟสแรก ระยะทาง ๙๘ ไมล์ (ประมาณ ๑๕๘ กิโลเมตร) มีลักษณะเด่นคือเพดานเป็นตารางช่องคอนกรีตสี่เหลี่ยม ซึ่งกลายเป็น “ภาพจำ” ของสถานีรถไฟใต้ดินใน ดี.ซี. ส่วนการก่อสร้างใช้เทคนิค “ตัดและคลุม” (cut and cover) ขุดดินลงไปแล้วคลุมด้วยโครงสร้างเพื่อให้ผิวจราจรกลับมาใช้งานได้ ขณะที่การก่อสร้างใต้ดินยังดำเนินต่อไป เส้นทางรถไฟส่วนมากวิ่งไปตามแนวถนนเก่าเพื่อลดผลกระทบและการเวนคืน โดยรถไฟฟ้าของ ดี.ซี. เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๗๖ (สายสีแดง ระยะทาง ๗.๔ กิโลเมตร) และก่อสร้างจนครบเฟสแรกเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๑
ปัจจุบันรถไฟฟ้า ดี.ซี. มี ๙๘ สถานี ระยะทางขยายเป็น ๒๐๘ กิโลเมตร มี ๖ เส้นทาง เรียกตามสี คือ แดง น้ำเงิน ส้ม เหลือง เขียว และเทา ขบวนรถสะอาด มาตรงเวลา ราคาพอรับได้ (สำหรับคนอเมริกัน) ช่วงปรกตินั่งสองสถานีราคาอยู่ที่ ๑.๘๕-๓.๘๕ ดอลลาร์ (ประมาณ ๖๖-๑๓๘ บาท) ส่วนชั่วโมงเร่งด่วนราคาอยู่ที่ ๒.๒๕-๖ ดอลลาร์ (ประมาณ ๘๐-๒๑๔ บาท) บัตรที่แนะนำให้ซื้อใช้คือ SmarTrip® Card ซื้อได้จากตู้ขายอัตโนมัติ ใช้เติมเงิน ขึ้นได้ทั้งรถประจำทางและรถไฟฟ้าทุกสายในเมืองมีลายต่าง ๆ ให้เลือกตามชอบ (ที่ผมได้มาคือลายสถานที่สำคัญใน ดี.ซี.)

ล่าสุด SmarTrip® Card พัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน SmarTrip บนโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องพกบัตรให้ยุ่งยากอีกต่อไป  เสียดายก็แต่หลังจากนี้คงไม่มี “บัตรรถไฟ” ให้ผมสะสมเมื่อกลับไปที่นั่นอีกครั้ง