Image

เมื่อนักแสดง เรื่องราว คนดู
เป็นหนึ่งเดียวกัน 
ละครก็ปรากฏ
๔๐ ปี นักเล่าเรื่องด้วยละคร
ครูช่าง ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง

Story Teller
40 Years of Storytelling

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image

หากนับจากปี ๒๕๒๕ ที่เขาเริ่มเข้าสู่วงการละครโทรทัศน์และภาพยนตร์
จนถึงปีนี้ก็ล่วงมากว่า ๔ ทศวรรษแล้ว

ต่อมาเขาได้ก่อตั้งคณะละครมรดกใหม่ขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๗ เปลี่ยนโฉมการละครที่ไม่เน้นการแสดงในโรงละคร แต่ออกไปเร่หาคนดูทั่วประเทศจนถึงต่างประเทศ โดยนักแสดงเด็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อายุ ๘-๑๘ ปี และไม่มีพื้นฐานการแสดงมาก่อน

ทั้งหมดเกิดจากการปลุกปั้นของครูช่าง-ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ซึ่งเคยคลุกคลีอยู่ในแวดวงภาพยนตร์และละครกระแสหลักมาร่วม ๔๐ ปี กับผลงานการแสดงหนังและละครมากกว่า ๔๐ เรื่อง

“ผมเล่นหนัง ทำรายการทีวี หวังจะเอาเงินมาทำละคร แต่มันดึงเวลาผมไปหมดก็คิดว่าต้องแยกให้เด็ดขาดไปเลย”

ในปี ๒๕๓๗ เขาจึงเลิกเป็นดาราอาชีพและลาออกจากการเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หันมาทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างเรื่องเล่าผ่านละคร

แต่ทำละครเวทีแล้วไม่มีคนมาดู ก็คิดว่าต้องพาละครออกไปหาคนดู ในลักษณะของการปิดวิกไปตามจังหวัดใหญ่ ๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓

“เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้คนมาดูละครถ้าเราไม่สร้างเขา การออกไปเดินสายเล่นตามที่ต่าง ๆ ก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการสร้างคนดูละคร มรดกใหม่มีเจตนาในการสร้างคนดู เพราะเคยเจ็บปวดที่เล่นในโรงแล้วไม่มีคนดูสักคน”

จนวันหนึ่งขณะเปิดการแสดงอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ฝนตก ไฟฟ้าดับ

“ตั้งเวทีเล่นไปแล้วฝนตก คนดูเปียก ไฟดับ ก็ถามเขาว่า ไฟไม่ติดแล้วจะดูต่อไหมครับ ดู  เครื่องเสียงพัง ไมค์ไม่ติดไม่ค่อยได้ยินจะดูไหม ดู  งั้นช่วยกันเงียบและตั้งใจดูนะครับ เราก็เล่นต่อจนจบ ก็พบว่าเวที เครื่องเสียงนี่ไม่จำเป็น  ต่อมาก็เริ่มเอาออก อันนี้ไม่จำเป็น อันนี้เอาออกไปได้  วินาทีที่เอาออก ผมรู้สึกว่าเริ่มสัมผัสกับงานศิลปะที่แท้จริง เริ่มเข้าใจการยกออก เมื่อก่อนไม่เคยเอาออก เสียดาย”

Image

เมื่อพบว่าการกลับสู่มินิมอลที่สุดก็เล่นได้ ละครมรดกใหม่นับแต่นั้นจึงเหลือเพียงสามองค์ประกอบ นักแสดง เรื่องราวและคนดู

เมื่อใดสามองค์ประกอบนี้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือละคร

“ละครต้องมีการทำให้ดู ประกอบไปด้วยนักแสดง เรื่องราว คนดู ที่ไหนมีสามสิ่งนี้ก็มีละครแล้ว  แม่กล่อมลูกก็เป็นละคร แม่เป็นนักแสดงให้ลูกดู มีเรื่องราว มีคำสอนที่อยากให้ลูกทำ หวังว่าลูกจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้”

ละครมรดกใหม่เล่าเรื่องว่าด้วยการกระทำของมนุษย์ ให้คนดูได้เห็นความทุกข์ของมนุษย์ด้วยกัน ตีแผ่ความทุกข์ของมนุษย์ด้วยกัน ให้เห็นว่าอย่าเป็นเช่นนั้น รวมทั้งวิธีที่จะมีความสุขเมื่อเจอความทุกข์แบบนี้ เล่าเรื่องราวเหล่านี้ เล่าผ่านละคร

สำหรับชาวมรดกใหม่เชื่อว่า เรื่องเล่าคืออำนาจที่จะขีดเส้นทางให้ผู้คนเดินตาม ผู้ถือครองเรื่องเล่าสามารถขับเคลื่อนโลกได้  แต่สำคัญว่าเล่าเพื่ออะไร คุณค่าของเรื่องเล่าต้องให้ประโยชน์กับคนอื่น ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และแคบที่สุดคือเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่าด้วย

ธีม หรือบท เรื่องเล่าของมรดกใหม่จึงมักเริ่มจาก จง... หรือ อย่า... อย่างละครง่าย ๆ ที่จะบอกกับเด็ก ๆ ว่า อย่าบี้มด อย่าตีหมา จงรักสัตว์  แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้นก็ต้องมีเรื่องราวห่อหุ้ม ธีมจะถูกพัฒนา เพิ่มตัวละคร อุปสรรค ละครมรดกใหม่เน้นว่าคนดูต้องได้ประโยชน์ ถ้าสนุกอย่างเดียวถือเป็นมหรสพ ไม่นับว่าเป็นละคร เพราะละครมีไว้เพื่อการเปลี่ยนแปลงผู้คน

ต่อมาชาวละครมรดกใหม่เริ่มทำละครเพื่อการศึกษา นำละครสัญจรไปแสดงตามโรงเรียน ใช้ผู้แสดงเพียงทีมละหกคน ขนกันไปได้ในรถคันเดียว

นักแสดงส่วนใหญ่ในระยะหลังเป็นเด็ก ๆ ในบ้านเรียนละครมรดกใหม่ ซึ่งเป็นโฮมสกูลที่ครูช่างตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๘ เป็นบ้านเรียนให้กับลูกชายของเขากับนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่สนใจเข้ามาร่วมเรียนร่วมเล่น (ละคร) บนพื้นที่ ๑๐ ไร่ ในย่านคลอง ๖ ปทุมธานี

“ผมสร้างนักแสดงจากไม่เป็นอะไรเลย สร้างจากดิน ผมไม่เลือก เพราะมนุษย์ฝึกได้  พวกที่เห็นอยู่ตอนนี้มาวันแรกดูไม่น่ารอดสักคน  พวกที่ไม่อยู่แล้วคือมาแล้วเก่ง ล้นแล้ว” ครูช่างสะท้อนถึงเด็ก ๆ นักแสดง “จริง ๆ ผมไม่มีอะไรสอนหรอก เขาต้องสอนตัวเอง เราเพียงช่วยนำให้เขาเจอทางของเขาเอง และรู้ไหม-ความรู้เป็นรสชาติที่หอมหวานมาก”

“ทำโฮมสกูลเพื่อให้ได้ละคร หรือตั้งใจจะใช้การละครเป็นช่องทางการเรียนรู้ให้ลูก ?”

“จริง ๆ ผมไม่ได้คิดมากอย่างที่ถามนะ ผมนึกแค่ว่าวันนี้จะทำอะไรก็ทำไป ลุยส่งเดชไปก่อน เดี๋ยวจะเจอทางเอง  ที่สำคัญคือไม่เลิก ถ้าเลิกคือตัวปลอม ไม่ใช่ของจริง  แต่ถ้าใครไม่เลิก แล้วส่งเดชไปนี่จะทะลุเลย เจอแล้วได้เลย  ลูกศิษย์ผมที่เล่นมาก็ส่งเดชมาทั้งนั้น  ผมรู้แค่ว่าต้องมีเครื่องมือเพื่อให้ไปถึง อย่างใดอย่างหนึ่ง  ภาษาอังกฤษนี่ไม่ต้องแกรมมาร์ ส่งเดชไปก่อน เดี๋ยวแกรมมาร์มาทีหลัง  ไม่ต้องสนใจว่าแปลว่าอะไร ท่องแม่งไปก่อน มันจะไปยากอะไร ส่งเดชเดินไปก่อน มัวแต่กลัวจะชนจะล้มก็อ่อนแอสิ”

กับคาถาบทหนึ่งที่ครูช่างใช้บอกตัวเองและพร่ำบอกกับลูกศิษย์

“ทำแล้วทำเล่าจนกว่าจะทำได้  พอทำได้แล้วก็ไม่ต้องทำเพราะมันทำได้เอง เป็นธรรมชาติไปแล้ว”

นับจากนั้นครูช่างก็พลิกทฤษฎีว่าด้วยการละครใหม่หมด ตัวเขาเองเคยเขียนบทโทรทัศน์มาเป็นสิบเรื่อง แต่เมื่อตั้งคณะละครมรดกใหม่ เขาไม่แยกบทบาทระหว่างนักแสดง ผู้เขียนบท ผู้กำกับละคร อย่างในอุตสาหกรรมการแสดงกระแสหลักที่แบ่งส่วนออกจากกัน แต่ครูช่างใช้ทฤษฎีเล่นก่อนเขียน ให้เด็ก ๆ ที่เป็นนักแสดงเป็นผู้เขียนบทและกำกับเองด้วย

นอกจากละครอิงวรรณคดีที่มักใช้แสดงตามโรงเรียน บทละครเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ทุกปี ตั้งต้นจากเจอร์นัล (journal) ที่ครูช่างกำหนดให้เด็ก ๆ เขียน “เรื่องระยำ” ของตัวเองออกมา

หัวข้อที่ฟังดูรุนแรงและจำง่ายนั้น มีความหมายคล้ายเรื่องสารภาพของผู้เขียนต่อใครสักคน

เน้นเขียนถึงการกระทำของตัวเองในแต่ละวัน ไม่เน้นพรรณนาโวหาร เลือกการกระทำสำคัญอย่างหนึ่ง เขียนอย่างละเอียด ซึ่งอาจเป็นเรื่องเล่ายาก แต่ไม่เล่าไม่ได้  เลือกคนฟังที่อยากจะเล่าให้ฟังเพียงคนเดียว เขียนอย่างจริงใจมุ่งเน้นไปที่คนฟังเพียงคนเดียว

การเขียนบันทึกประจำวันที่พร้อมจะอ่านให้คนอื่นฟังของเด็กมรดกใหม่ นอกจากเป็นโอกาสได้ถามตอบทบทวนตัวเองเพื่อขัดเกลาตน ยกระดับจิตใจของผู้เขียนด้วยการบอกเล่าถึงการกระทำของตัวเองที่ส่งผลต่อผู้อื่น ด้วยความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว ยังเป็นงานเขียนที่ทีมจะคัดเลือกไปทำบทละคร เป็นละครที่พูดกับคนดูพิเศษเพียงคนเดียวด้วย “ความจริงใจ” ประกอบสร้างเข้ากับเรื่องคลาสสิกที่มีแนวเนื้อหากลมกลืนกันได้  สำคัญที่สุด--ต้องสนุก

“ถ้าไม่สนุกไม่ยั่งยืน”

ไม่ว่าในระหว่างการฝึกฝนเคี่ยวกรำ หรือตัวงานเมื่อนำออกมาแสดง ครูช่างจะเฝ้าย้ำถึงหลักสำคัญข้อนี้

ทุกช่วงสิ้นปีชาวมรดกใหม่จะพากันไปเก็บตัวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันในพื้นที่มรดกใหม่ เมืองเลย ที่เป็นเหมือนสตูดิโอกลางธรรมชาติ เพื่อเตือนสติตัวเองว่า ไม่ว่าตลอดทั้งปีจะใช้ชีวิตโลดโผนโจนทะยาน เดินทางไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราต้องไม่ลืมรากเหง้า ไม่ลืมว่าเราเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของธรรมชาติ และหาความสุขให้ได้จากการนอนกลางดินกินกลางทราย อยู่อย่างต่ำทำอย่างสูงคือการสร้างงาน

ระหว่างนั้นแต่ละทีมจะแยกย้ายไปสร้างละครเรื่องใหม่ขึ้นจากเจอร์นัลของคนในทีมให้จบเรื่องในวันเดียว  หลังผ่านเทศกาลปีใหม่แต่ละทีมต้องได้ละครใหม่อย่างน้อยสามเรื่อง

“ทำโปรดักชันกันบนยอดเขา ตอนนี้มรดกใหม่เรามีทีมย่อยเป็นสามทีม ทำทีมละสามเรื่อง ได้เก้าเรื่อง พอใช้แสดงได้ตลอดปี”

งานละครเก้าเรื่องที่ได้มาช่วงปีใหม่ ๒๕๖๗ ได้แก่

ขอมอบรักนี้ให้เธอคนดี (this love got no exit) จากเจอร์นัลของนายท้าย-บทละคร จันทร์เรือง ประกอบกับวรรณกรรมเรื่อง No Exit ของ Jean Paul Sartre

Little blur mate จากเจอร์นัลของเป็ดน้อย-สุนันทา ขจรภพคู่กับเรื่อง The Little Mermaid ของ Hans Christian Andersen

Run Elsa Run จากเจอร์นัลของต้นน้ำ-สุทัตตา ม่วงทิพย์ คู่กับเรื่อง Frozen ของ Disney

Image

มิดไนท์มิดด้าม จากเจอร์นัลของปอเช่-ศิริศักดิ์ มาหา ประกอบกับ A Midsummer Night's Dream ของ William Shakespeare

My little doll, Ester จากเจอร์นัลของสตางค์-พรรณนิภา มีจันทร์ ทำคู่กับวรรณกรรมคลาสสิก The Glass Menagerie ของ Tennessee Williams

กันดั้มสงครามบอย จากเจอร์นัลของครูติ้ว-ศุภเมธ หมายมุ่ง ทำคู่กับ Mother Courage and Her Children ของ Bertolt Brecht

Forgottenอรชุน จากเจอร์นัลของชาดก-คีตภูมิ สายสินธุ์ เชื่อมกับวรรณกรรม อรชุนมหาภารตะ

Oh. ! This sea จากเจอร์นัลของไปป์-จิรภาส โอภาสเพิ่มพงศ์เชื่อมกับวรรณกรรม Odyssey ของ Homer

เจ็ดเซียนสารถี จากเจอร์นัลของเต้-ชัยณรงค์ นีติจรรยา เชื่อมกับเรื่อง เจ็ดเซียนซามูไร ของ อะกิระ คุโรซาวะ ส่วนเรื่องที่ใช้เดินสายเล่นตามโรงเรียน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่อิงจากวรรณคดีตามที่เด็ก ๆ ได้เรียนในวิชาภาษาไทย อย่าง สังข์ทอง  ขุนช้างขุนแผน (ตอน เหตุเกิดที่ลานประหาร) อิเหนา (ตอน ศึกรบศึกรัก)  พระเวสสันดรชาดก (ตอน ชูชกผู้หวังดี)  รวมทั้ง รามเกียรติ์ (ตอน นารายณ์ปราบนนทก)  และพระอภัยมณี (ตอน สินสมุทรร้องทุกข์) ซึ่งสองเรื่องหลังนี้มีเล่นเป็นภาคภาษาอังกฤษด้วย นอกจากเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาต่างประเทศในโรงเรียน ยังสามารถนำไปใช้ตอนไปเดินสายเล่นตามต่างประเทศด้วย

“ซื้อตั๋วไปแสดงต่างประเทศด้วยเงินเปิดหมวกตามตลาด” ครูช่างเล่าถึงจุดตั้งต้น “เวลาลูกศิษย์ท้อก็ต้องมีตัวล่อตัวชนต่าง ๆ นานา ชวนว่าไปเมืองนอกกันไหม  เราหาเทศกาลละครไปร่วมสักสามงาน จากนั้นเราก็นอนวัด เปิดหมวกในวัด โทร.ไปขอเล่นตามร้านอาหาร ไม่ได้เล่นทุกวัน มีหยุดซักผ้า บางทีมีโยมคนไทยที่นั่นพาไปเที่ยวบ้าน หาข้าวปลาให้กิน”

เป็นคณะละครที่ร่อนเร่ไปตามรัฐต่าง ๆ ของอเมริกา หรือประเทศต่าง ๆ ในยุโรปด้วยรถตู้คันเดียว

“ไปกันหกเจ็ดคน แต่ละคนทำทุกอย่าง คนเล่นดนตรีลุกไปแสดง อีกคนมานั่งตีแทน  ตรงนี้ฝรั่งตื่นตา  จริง ๆ เป็นเรื่องไม่ยาก แต่ฝรั่งถูกเทรนมาให้แยกส่วน เลยมองเรื่องนี้เป็นเรื่องพิเศษไป”

การตระเวนแสดงในต่างแดนที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เป็นไปด้วยดีจนกลายเป็นรายการประจำที่ต้องทำทุกปี

“ยุโรปกับอเมริกา สองสายนี้เราไปปีละครั้ง ครั้งละ ๒-๓ เดือน ฝากเครื่องดนตรีไว้ที่นั่น  การเดินทางในพื้นที่ตอนแรกไปเช่ารถ ทำให้เราไม่เหลือเงินกลับบ้าน  ตอนหลังเราขายรถที่เมืองไทยไปซื้อรถที่นั่น ฝากเขาไว้ให้ช่วยดูแล ที่ยุโรปเป็นรถแวนยี่ห้อเบนซ์ รุ่น ค.ศ. ๑๙๙๙  ที่อเมริกา เชฟโรเลต ๑๕ ที่นั่ง ถอดเบาะแถวหลังไว้วางสัมภาระ”

รอนแรมในต่างแดนอยู่ด้วยรายได้จากการแสดงเปิดหมวกและนอกจากหาค่าตั๋วเครื่องบินขากลับ ยังต้องหามาทดแทนค่าตั๋วขาไป เพื่อเก็บเป็นกองทุนสำหรับการออกเดินทางครั้งต่อไปด้วย

แต่มากกว่ารายได้นั้นคือสิ่งที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้

“ระหว่างเดินสายก็สร้างงานไปด้วย ละครเรื่อง สุดสาครก็สร้างที่นั่น  เด็ก ๆ ต้องเขียนเจอร์นัล ไม่ว่าเขาโตไปแค่ไหนบันทึกนั้นยังอยู่ ไม่งั้นจะลืม อันนี้มีคุณค่ามหาศาลเลย”

รวมทั้งเป็นข้อดีต่อหมู่คณะด้วย

scrollable-image

“ตอนไปเมืองนอกได้อยู่ด้วยกันจริง ๆ สมัยก่อนคนเปลี่ยนเข้าออกเยอะมาก ไม่มีอะไรดึงเขาไว้”

ด้วยคาดหวังถึงความยั่งยืนต่อไป ในช่วงหลังครูช่างจึงวางหลักหกข้อ เป็นปรัชญานำทางมรดกใหม่ในระยะยาว

พร้อมใจกันทำ พร้อมใจกันเลิก

ทำแล้วทำเล่าจนทำได้

อยู่อย่างต่ำทำอย่างสูง

แผ่วที่ผล ทำที่เหตุ

ไม่มีเรื่องที่เล่าไม่ได้ มีแต่นักแสดงที่เล่าไม่เป็น

เป็นอย่างที่กิน เป็นอย่างที่อ่าน เป็นอย่างที่สอน

“ปลายทางของมรดกใหม่ครูคิดถึงอะไร”

“ผมต้องการสร้างชุมชนไงล่ะ สร้างครอบครัวขยาย ใครแต่งงานมีครอบครัวก็อยากให้มาอยู่ตรงนี้”

“หลายสิบปีที่อยู่กับการละครครูได้รู้เห็นอะไร”

“เมื่อก่อนอยากให้ผีเสื้อมาบินเต็มบ้าน อยากได้สวนที่งดงาม แต่ผมลืมทำดินเพาะเมล็ด  เมื่อก่อนผมมุ่งความสำเร็จอย่างเดียว อยากได้สวนสวยงามในทันที แต่ลืมไปว่าผมต้องทำดินก่อน  สัจธรรมที่ได้รู้มากที่สุดคือผมต้องเตรียมดินให้พร้อมก่อน แล้วเอาเมล็ดดี ๆ มาลง คอยให้น้ำ  เมื่อเตรียมดินไว้ดี สิ่งที่งอกเงยมาก็งามสิ  เราจัดสิ่งแวดล้อมให้เขา พอเขาโตมาก็เป็นไปด้วยตัวเอง ทุกวันนี้ผมตีระนาดสู้ลูก ๆ ไม่ได้”

ในวัย ๗๐ ปี ครูช่างยังตื่นตี ๕ พร้อมกับเด็ก ๆ ที่ลุกขึ้นมาตีกลอง จุดเทียน “ดริล (drill)” ซ้อมร้องรำ ฝึกดนตรี และ “แขวน” โชว์งานที่ซุ่มซ้อม ให้ครูชมและรับคำแนะนำในทุกจุดทุกด้านไปปรับปรุงพัฒนาต่อ และปิดกิจวัตรยามเช้าด้วยข้อคิด word of wisdom จากครูช่าง  เป็นอยู่เช่นนี้ทุกวันทุกที่ตลอดทั้งปีไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

ถ้อยคำแห่งปัญญาจากครูช่างบางวรรคที่เหล่าศิษย์จดจำได้ขึ้นใจ เช่น

ทำแล้วทำเล่าจนทำได้

นักแสดงรู้สึกอย่างไรคนดูรู้สึกอย่างนั้นครูไม่สามารถทำให้เรารู้ได้ เราต้องรู้ด้วยตัวเอง

วินัยคืออิสรภาพ

การ “ดริล” และ “แขวน” งานต่อหน้าครู เป็นกิจวัตรแรกของวันที่ไม่เคยขาดของชาวมรดกใหม่

ถ้ามีแขกหรือใครมาร่วมชมการซ้อมอยู่ด้วย

ครูช่างผู้อยู่กับการละครมากว่าครึ่งค่อนชีวิตมักกล่าวกับกัลยาณมิตรเหล่านั้นอย่างเบิกบาน

“ชีวิตผมตอนนี้โคตรมีความสุขเลย มีคนมาเล่นละครให้ดูทุกวัน”  

ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง

- มีศักดิ์เป็นหลานคนเล็กของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นลูกคนสุดท้องของคุณแม่ชัชวาลย์ลูกสาวคนเล็กของหลวงประดิษฐไพเราะ กับคุณพ่อกุมุท จันทร์เรือง วิศวกรเหมืองแร่และนักเขียนบทละคร

- โตมาในสำนักดนตรีบ้านบาตรของหลวงประดิษฐไพเราะ ซึ่งเป็นที่มาแรงบันดาลใจให้ทำคณะละครมรดกใหม่ในรูปแบบสำนัก

- เรียนด้านการละครที่มหาวิทยาลัยมอนแทนา ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ๗ ปี

- กลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๒๔

- มีผลงานการแสดงละครโทรทัศน์ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕-๒๕๔๕ รวม ๒๖ เรื่อง กับแสดงภาพยนตร์มาแล้ว
๒๐ เรื่อง เช่น น้ำเซาะทราย, นวลฉวี, นายซีอุย แซ่อึ้ง, หลังคาแดง, ปัญญาชนก้นครัว ฯลฯ

- เขียนบทละคร เหรียญมรดก เป็นเรื่องแรก และเรื่องต่อ ๆ มารวมไม่ต่ำกว่าแปดเรื่อง

- ตั้งคณะละครมรดกใหม่เมื่อปี ๒๕๓๗ และสร้างสำนักในชื่อบ้านเรียนละครมรดกใหม่ เมื่อปี ๒๕๔๘

- ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) ประจำปี ๒๕๖๒

- ปัจจุบันอายุ ๗๐ ปี ตื่นตี ๕ มานั่งดูการฝึกซ้อม และให้ข้อคิด word of wisdom แก่ลูกศิษย์ทุกวัน และ พาลูกศิษย์ออกไปแสดงในอเมริกาและยุโรปครั้งละ ๒-๓ เดือน เป็นประจำทุกปี