Image

ร้อยเรื่องเชื่อมโลก
กับกรุณา บัวคำศรี

Journalist
40 Years of Storytelling

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image

นิทานรอบกองไฟ

เรื่องเล่า หรือเรื่องราว เป็นสิ่งที่เชื่อมมนุษย์เข้าด้วยกัน สมัยก่อนที่ยังไม่มีโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ก่อนที่จะมีซีรีส์เกาหลีหรือเน็ตฟลิกซ์ เรานั่งล้อมวงฟังเรื่องเล่ารอบกองไฟ

บ้านเกิดที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในวันที่อากาศหนาว ๆ พวกเราพี่น้องจะตื่นตั้งแต่ตี ๔ ตี ๕ มาก่อกองไฟ นั่งผิงไฟให้หายหนาว ฟังเรื่องเล่า

ตอนเด็ก ๆ ชอบฟังนิทานมาก พ่อจะเล่านิทานให้ฟัง พ่อเป็นครูบ้านนอกเป็นครูชายแดน ชอบเล่าเรื่อง รามเกียรติ์ แล้วก็มีเรื่องอื่น ๆ ที่พ่อแต่ง จริงบ้าง โม้บ้าง พอเราเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษามีครูคนหนึ่งเล่าเรื่องเก่งมาก ชอบเล่าเรื่องเจงกิสข่าน พอไม่มีทีวี อยากรู้อะไรก็ต้องอ่านหนังสือ แต่บางทีก็เปลี่ยนบรรยากาศจากการอ่านมาเป็นการฟัง

เรื่องเล่าทำให้เราเข้าสู่อีกโลกหนึ่งที่เราไม่รู้จัก พอโตขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น ได้เดินทางไปยังสถานที่ที่คนอื่นไม่ได้ไป ก็อยากจะเล่าให้เขาฟังว่าสิ่งที่คุณไม่เคยเห็น ไม่เคยฟัง มันเป็นยังไง

เรื่องเล่าจึงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในสังคม เป็นตัวถ่ายทอดประสบการณ์ เป็นเรื่องที่เราอยากจะบอกคนอื่นที่ไม่ได้เห็นเหมือนเรา หรือไม่รู้อย่างที่เรารู้ให้ได้รู้

เรื่องเล่าที่ดี

เรื่องเล่าที่ดีต้องสนุก ไม่ได้หมายความว่าขำ ตีหัวกันแล้วหัวเราะตลอดเวลา ความสนุกเกิดจากพล็อตเรื่อง โครงสร้าง นิทานจะเริ่มต้นด้วยกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ตามด้วยชีวิตปรกติ เสร็จแล้วจะเกิดเหตุการณ์หักมุม มีแม่เลี้ยงใจร้าย ชีวิตตัวเอกดำเนินภายใต้ความทุกข์ทรมาน แล้วจะหักกลับมาเจอความสวยงาม เจอเจ้าชายแสนดี แต่ก็ยังไม่จบ มันจะมีอุปสรรคปัญหาตามมาอีก ลูกของแม่เลี้ยงอยากแย่งเจ้าชาย แล้วเหตุการณ์ก็ดำเนินต่อไปจนจบเรื่อง

นิทานเป็นตัวอย่างเรื่องเล่าที่ดีมาก เพราะเป็นสิ่งที่เล่าให้เด็กฟัง ความจดจ่อของเด็กเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่จะน้อยกว่า ฉะนั้นเรื่องที่เล่าต้องน่าติดตาม ดึงดูด น่าสนใจ เด็ก ๆ ถึงจะฟังตั้งแต่ต้นจนจบได้

เวลาเขียนเรื่อง หรือเล่าเรื่อง จะยึดตามแบบนิทาน เริ่มจากชีวิตปรกติ  ส่วนในความเป็นข่าว อาจเริ่มด้วยความตื่นเต้น
หรือโศกนาฏกรรม แต่ทั้งหมดทั้งปวงจะต้องมีจุดหักเห มีการขมวดปม (twist and turn) ก่อนถึงตอนจบ เวลาทำสารคดีจะมีขมวดปมว่าทั้งหมดคืออะไร หัวใจหรือสิ่งที่เราอยากบอกคืออะไร คล้าย ๆ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร นี่คือหลักการเล่าเรื่อง ไม่ว่าละครหรือนิยายก็เป็นแบบนี้

งานหนังสือพิมพ์

เราอยากเป็นสื่อมวลชนเพราะชอบทำงานกับคน ตอนนี้ที่ทำอยู่เป็นโทรทัศน์ แต่งานแรกคือหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์

ความจริงชอบงานภาพมาก ชอบความเคลื่อนไหวมาตลอด ชอบงานโปรดักชันที่ต้องคำนึงถึงแสงเงาและเหลี่ยมมุม แต่เชื่อคำแนะนำของรุ่นพี่ในวงการสื่อสารมวลชนว่าถ้าอยากมีพื้นฐานแน่น ๆ ให้เริ่มจากงานหนังสือพิมพ์ก่อน การใช้เวลาเขียนจะช่วยให้เรารู้จักคิดอย่างเป็นระบบ

หนังสือพิมพ์เป็นครูที่สอนให้รู้จักหาข้อมูล สมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต ต้องไปห้องสมุด ต้องคุยกับคนแล้วเรียบเรียงชุดความคิดออกมา

Image

สิ่งที่นักหนังสือพิมพ์หรือนักเขียนต้องทำคืออธิบายภาพที่เห็นเป็นตัวหนังสือ น้ำหนักของการทำงานสิ่งพิมพ์อยู่ที่ตัวอักษรจะต้องบรรยาย ใส่ข้อมูล บางครั้งพร่ำพรรณนา

ความท้าทายคือคนอ่านไม่เห็นภาพ แล้วเราจะโน้มน้าว ยังไงให้เขาเชื่อตามสิ่งที่เราเห็น ทำยังไงให้คนเห็นภาพ นี่คือความยากที่สุดของการทำหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าผ่านตรงนี้ เราจะถ่ายทอดเรื่องเล่าประกอบภาพได้ดี ก็เลยเริ่มงานหนังสือพิมพ์เป็นอันดับแรก

งานหนังสือพิมพ์ต้องใช้เวลาเขียน ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เราเป็นคนที่สมองทำงานเป็นภาพ เคยบอกกับพี่ที่ทำหนังสือพิมพ์ด้วยกันว่าเราเป็นคนฉาบฉวย ทำตามความชอบของตัวเอง ตอนเรียนปริญญาโทมีคนถามว่าทำไมไม่ต่อเอก ก็บอกว่าเราไม่สามารถจดจ่อกับการเขียนยาว ๆ ไม่ใช่ธรรมชาติตัวเอง ชอบเห็น ชอบถ่ายภาพ ตัวหนังสือก็เป็นอีกครึ่งที่เหลือของมัน

หลังออกจากงานหนังสือพิมพ์ไปเรียนต่อแล้วก็เลยไม่ได้กลับไปทำหนังสือพิมพ์อีก  ย้ายมาทำทีวีเพราะชอบให้มี visual กับ text ไปพร้อม ๆ กัน

สารคดีข่าว

สำหรับสื่อโทรทัศน์สิ่งสำคัญคือภาพ ไม่ได้หมายความว่าคำพูดหรือข้อความไม่สำคัญนะ แต่ต้องมีภาพก่อนถึงจะทำได้

ตอนเริ่มทำทีวีใหม่ ๆ นักข่าวรุ่นพี่บอกว่าต้อง writing to the picture เห็นภาพแล้วต้องสื่อสารเป็นตัวหนังสือให้มันเสริมซึ่งกันและกัน  เราไม่จำเป็นต้องอธิบายภาพเพราะคนเห็นอยู่แล้ว แต่ต้องเสริมในสิ่งที่จะทำให้เรื่องมีคุณค่าหรือความหมายมากขึ้น

สิ่งที่แตกต่างจากหนังสือพิมพ์นอกเหนือจากเทคนิคการเขียน คือพอทำทีวีแล้วมันจะมีภาระเพิ่มขึ้นในแง่ว่าเราไม่สามารถทำตัวเบาได้  การทำหนังสือพิมพ์ บางครั้งเราไปนั่งฟังชาวบ้าน เขาคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติ เราก็จดโน้ต แต่พอเป็นทีวี มีกล้องเข้ามา ความเป็นธรรมชาติของคนหายไปเยอะมาก บางคนคุยสนุก แต่พอเจอกล้องทำตัวไม่ถูก โดยเฉพาะกล้องใหญ่ ๆ ต้องเรียนรู้ทักษะวิธีการทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะคุยกับเราเวลามีกล้อง ต้องมีเทคนิคเข้ามา ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง แต่เป็นเรื่องโปรดักชันที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์แล้วส่งผลต่อเนื้อหา

ยกตัวอย่างเวลาทำเรื่องโสเภณี เราเคยเข้าไปในที่ทำงานของหญิงค้าบริการทางเพศในฐานะนักหนังสือพิมพ์ เข้าไปนั่งสังเกต บอกคนไว้ก่อนแล้วว่าเรามาสังเกตการณ์ อยากรู้ว่าชีวิตเขาเป็นยังไง คนในซ่องอาจจะไม่รู้สึกอะไร เพราะเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่น แต่ถ้าหากเป็นทีวี เอากล้องเข้าไป เราต้องขออนุญาต และหาทางทำยังไงให้เขาไม่เครียด ไม่เกร็ง ไม่ไปรุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัว ทำทีวีแล้วโจทย์เพิ่มขึ้นเยอะมาก การเข้าถึงแหล่งข่าวซับซ้อนมากขึ้นทำให้เรามีงานเพิ่ม

"งานของเราไม่ได้นำเสนอแค่ข้อมูลหรือแปลข่าวมา แต่พยายามทำให้เนื้อหาข่าวกระทบจิตใจคน ต้องโน้มน้าวคนให้ได้ว่าข่าวนี้มัน matters ยังไง  เราอยากให้คนเข้าใจและรู้สึกกับสิ่งที่เห็น นี่คือ making senses of the news"

สัญชาตญาณ

ทำรายการ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” เพราะยังไม่มีรายการแบบนี้ในทีวีเมืองไทย เราเคยเห็นในต่างประเทศก็ชอบดู คิดว่าทำไมไม่ทำอะไรแบบนี้ให้คนไทยดู

เริ่มต้นจากไม่มีความคาดหวัง ไม่ได้สำรวจว่าคนอยากดูอะไร เอาเข้าจริงเราไม่เคยคิดว่าเวลาจะทำรายการแล้วต้องมีเอกสารบอกว่าต้องมีวัตถุประสงค์อะไร ไม่มีแนวทางแบบนั้น แต่เริ่มจากสิ่งที่เราอยากทำ เราทำตามสัญชาตญาณทั้งหมด

เราอยากอ่านเรื่องโลกร้อน สนใจเรื่องสิทธิของคนชายขอบไม่ได้มีเจ้าของเงินมาบอกเราให้ทำเรื่องนี้ ๆ ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนคือเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ เราอยากรู้เรื่องพวกนี้อย่างตอนทำเรื่อง LGBT ก็ไม่ได้รู้สึกว่าขัด อยากไปดูโสเภณีที่อินเดียก็ไป  ในทางกลับกันถ้าให้ทำเรื่องที่เราไม่สนใจก็ไม่ทำอย่างข่าวอาชญากรรมถ้าไม่ใช่เรื่องสิทธิ หรือมีเลเยอร์ของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องผัวเมียตีกัน เถียงกัน อาจมีมิติทางสังคม แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราตื่นเต้นกับมันมากนัก

ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมสนใจเรื่องพวกนี้ อาจเป็นเพราะการเลี้ยงดู การเติบโต ถ้าสังเกตดูพี่น้องในบ้านจะสนใจแนว ๆ นี้หมด มีพี่ที่สนใจสิ่งแวดล้อม น้องชายสอนหนังสืออยู่คณะอักษรศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัมพูชา น้องสาวอีกคนเป็นนักเขียน ตอนนี้ช่วยเราเขียนสคริปต์รายการ บางทีก็นั่งคุยกันว่าทำไมพวกเราเหมือนกัน คิดว่าหนังสือที่อ่าน วิธีการเลี้ยงของพ่อ และการที่เราเติบโต มันคือสิ่งหล่อหลอมตัวตนโดยที่เราไม่ฝืน

พองานออกมา มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเรามาแนวนี้เหมือนมีลายเซ็น  ตอบสั้น ๆ ว่าเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เราสนใจตั้งแต่เด็ก ๆ ไปเห็นก็อยากเล่าต่อ ไม่รู้ว่าอยู่ในกลุ่มหรือหมวดการเล่าเรื่องแบบไหน

ไม่เคยคิดเลยว่าในทางวิชาการการเล่าเรื่องแบบเราอยู่ในสารคดีหมวดใด

ลงพื้นที่

การอ่านข่าวคือการเล่าเรื่องที่ตระเตรียมไว้ ไม่ได้เล่าสดหน้าจอ  วิธีอ่านข่าวของเราคืออ่านตามสคริปต์ ตอนอยู่ช่อง ๓ มีคนเขียนให้ พอมาอยู่ PPTV เราจะมอบหมายให้คนเขียนโดยบอกว่าต้องเขียนยังไง เอาอะไรขึ้นก่อน จะบอกหรือจัดวางโครงสร้างสคริปต์ให้เขา

ธรรมชาติของเราจะไม่ได้อ่านตามสคริปต์เป๊ะ ๆ  มีการพูดสิ่งที่ไม่ได้ตระเตรียมมาก่อน บางทีมีเรื่องเข้ามาใหม่ มีภาพใหม่ ๆ หรือ breaking news เราก็เล่าเสริม

ชอบออกไปกับนักข่าวมากกว่าอยู่ในสตูดิโอ การได้ออกไปพื้นที่แล้วกลับมานั่งอ่านข่าวทำให้ขาเราไม่ลอย ตอนนี้ให้พูดเรื่องสงครามฉนวนกาซาเราก็จะอิน เพราะเคยไปมา รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เนินเขาลูกนั้นอยู่ตรงไหน คนท้องถิ่นไปอยู่แล้วเป็นยังไง  มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ทะเลแดงเราก็พอจะรู้สถานการณ์ เอามาต่อเชื่อมเรื่องราวได้

ภาษีของการเคยเห็นของจริงช่วยให้เราปะติดปะต่อเรื่อง ข่าวมันไม่นิ่ง อย่างข่าวรายวัน นั่งเขียนสคริปต์เสร็จตอนเที่ยง พอ ๒ ทุ่มอาจมีอะไรเข้ามาใหม่ ถ้าเราเคยลงพื้นที่ มันปะติดปะต่อเหตุการณ์ได้

การเล่าเรื่องเราต้องเข้าใจมันก่อน ไม่ได้หมายความว่าต้องเล่าทั้งหมด  แต่ถ้าเราเข้าใจ มีเรื่องอะไรเข้ามา เราก็จะดึงเนื้อหาที่สำคัญบางส่วน หรือเราจะอธิบายขยายความได้

Image

making senses 
of the news

บอกทีมงานเสมอว่างานของเราไม่ได้นำเสนอแค่ข้อมูลหรือแปลข่าวมา แต่พยายามทำให้เนื้อหาข่าวกระทบจิตใจคน ต้องโน้มน้าวคนให้ได้ว่าข่าวนี้มัน matters ยังไง  เราอยากให้คนเข้าใจและรู้สึกกับสิ่งที่เห็น นี่คือ making senses of the news

ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเอาประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ สิ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์มาอธิบาย ถ้าเกิดกบฏฮูตี (Houthi) โจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง สหรัฐอเมริกาโต้กลับ ส่งเครื่องบินไป อย่างนี้ไม่ใช่การ making senses มันแค่บอกว่าเกิดอะไรขึ้น การ making senses คือฮูตีไปอยู่ทะเลแดงได้ยังไง แนวของเราต้องบอกว่าเขาเป็นใคร แล้วทำไมเขาต้องไปอยู่ตรงนั้น ต้องย้อนกลับไปช่วงอาหรับสปริงหรือไกลกว่านั้น อาจจะไปถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เขามีการแบ่งดินแดน กลายเป็นคนกลุ่มน้อยชีอะฮ์ ซุนนี 

แต่ต่อให้เราย้อนกลับไป ๗๐ ปี ก็ต้องพยายามรวบให้ได้ ๒-๓ นาที ใช้เครื่องมือกราฟิกมาช่วยอธิบาย ว่าที่เขาอยู่ตรงนั้นเคยเกิดสงครามกลางเมืองนะ ใครทะเลาะกับใคร อุดมคติของเขาเป็นยังไง ทำไมต้องมาทำลายรัฐอิสราเอล

ต้องอ่านเยอะ ดูเยอะ ถึงจะรู้ว่ามันคืออะไร ถ้าไม่เยอะ เราจะไม่สามารถ making senses ได้ภายในสองถึงสามย่อหน้า

Live สด

ในทีวีต้อง formality เราอยากเก็บความเป็นทางการในทีวีไว้ เพราะทางเลือกแบบนี้ไม่ค่อยมีแล้ว

ถ้าจะอ่านข่าว แล้วเป็นข่าวจริงจัง ก็ต้องไม่เล่น ต้องเคารพเจ้าของสถานี แนวทางของสถานี ที่อยากให้เป็นการเป็นงาน
ไม่มาฮิฮะจิ๊จ๊ะ โฟกัสที่เนื้อหา เป็นข่าวตรง ๆ ให้คนรู้ข่าว แต่ใน live สด เราสามารถเล่น เพราะเป็นพื้นที่ส่วนตัว

จุดเริ่มต้นของการ live สดเกิดจากวันหนึ่งมีกบฏในรัสเซียมีผู้ชมเขียนมาทางเฟซบุ๊กของรายการ กับช่องยูทูบส่วนตัวของเรา ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่เห็นมีใครออกมาอธิบาย เขาอยากให้มีคนอธิบาย

วันนั้นเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ถ้ารอถึงวันจันทร์กว่าจะมีรายการก็อีกนาน เราก็โอเค เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไร ปรากฏว่าคนชอบที่ได้เห็นพี่กรุณาอีกเวอร์ชันหนึ่ง ไม่มีสคริปต์ เล่าแบบนี้ก็สนุกดีนะ เลยบอกว่าโอเค ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นอีกแล้วเราไม่ได้อยู่ในช่วงข่าว อย่างสงครามในฉนวนกาซาที่เกิดวันเสาร์หรืออาทิตย์ มีคนทักมาบอกว่าอยากรู้เกิดอะไรขึ้น พี่ณาบอกหน่อยสิ เราก็รู้สึกอยากจะเล่า

วิธีการสื่อสารกับคนดูด้วยการเล่าผ่าน live สด รู้สึกว่าเป็นที่ทางของเรา มีความเป็นตัวของตัวเองได้ ก็ยังไม่ต่อเนื่องหรอก ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่คนรู้สึกว่าเวลามีอะไรเกิดขึ้นในต่างประเทศจะรอดูเรา

อนาคต

อยากทำสารคดีข่าวไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตอันใกล้อยากให้เวลากับสารคดีที่ใช้เวลามากขึ้น  เราสนใจเรื่อง climate change มาก  มีแผนในหัวว่าจะไปอาร์กติก ไซบีเรีย แอนตาร์กติกา เพื่อเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โลกร้อนเป็นคำใหญ่โตมากนะ อยากทำให้คนเห็นว่ามันคืออะไร แต่ต้องใช้เวลา อาจจะต้องหายไปทั้งปี อยากทำเรื่องนี้ แล้วก็อยากทำซีรีส์เรื่องตะวันออกกลาง รัสเซีย อยากทำเป็นชุดความรู้ เป็นซีรีส์ยาว ๆ

สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ออกอากาศทุกอาทิตย์ เราจะอยู่ที่ไหนสักที่หนึ่งในโลกแล้วเขียนสคริปต์ส่งมา  วันนี้อยู่อิรัก เดี๋ยวต่อไปจอร์แดน เป็นงานที่ไม่ได้ใช้เวลามาก ทำเท่าที่ทำได้ตามเงื่อนไขการออกอากาศทุกสัปดาห์ เหมือนทำข่าว แต่เป็นสารคดีข่าวความยาวครึ่งชั่วโมง

ถ้าเป็นไปได้อยากทำปีละ ๕ หรือ ๑๐ เรื่อง ทุกขั้นตอนให้เวลากับมัน ทั้งขั้นเก็บข้อมูล เขียนสคริปต์ ถ่ายภาพ ตัดต่อ

งานของเราเป็นสารคดีข่าว ไม่ได้เป็นสารคดีจ๋า แต่มีความเป็นข่าวยึดโยงกับเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เราสนใจ เราไม่สามารถทำสารคดีที่หลุดจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้  ให้เราไปทำสารคดีประวัติศาสตร์อยุธยาตอนปลาย เราคงไม่สามารถทำได้ เพราะเราเป็นคนที่สนใจอะไรที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่สนใจลึกไปถึงที่มาที่ไปของมัน

ถ้าจะทำเรื่องโลกร้อนก็ต้องไปเห็นจริง ๆ ว่ากรีนแลนด์ ตอนนี้เป็นยังไง ย้อนกลับไปดูว่ามนุษย์มาถึงตรงนี้ได้ยังไง

เพราะฉะนั้นที่บอกว่าสารคดีปีละ ๕ เรื่อง หรือ ๑๐ เรื่อง ก็ยังมีความเป็นสถานการณ์ปัจจุบัน หรือเกี่ยวกับสิ่งที่คุกคามเราอยู่ขณะนี้  เพียงแต่ต้องการเวลาในการทำมากขึ้น มันจะเป็นครีมคอนเทนต์ที่กลับไปดูเมื่อไรก็ได้