Image
รักชอบอะไร
ก็แปลงเป็น
ธรรมชาติ ทำมาโชว์
เบื้องหลัง...
คอลัมน์ประจํา
40 Years of Storytelling
เรื่องและ (ภาพ) เบื้องหลัง : สุชาดา ลิมป์
Image
เราชอบพืช สัตว์ กรวดหินดินทราย อัญมณี ซากดึกดำบรรพ์ ฯลฯ
ปลายปี ๒๕๖๑ รู้สึกว่าคอลัมน์ “Oh ! seed” (เริ่มปี ๒๕๖๐) ที่เล่าเกร็ดและการเดินทางแสนว้าวของหลากเมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงตัดสินใจผุดคอลัมน์ใหม่แทนที่เพื่อเล่าสิ่งที่ชอบได้หลากหลายขึ้น และยกเครื่องวิธีนำเสนอภาพรวมถึงกระบวนการออกแบบสิ่งพิมพ์เล่นใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม

มีนาคมของทุกปี สารคดี ยึดเป็นเดือนสู่ขวบปีใหม่ของนิตยสาร หากมีคอลัมน์ใดปรับโฉม ล้มหาย หรือกำเนิด จะเริ่มปฏิบัติที่ฉบับเดือนนี้  มีนาคม ๒๕๖๒ จึงปรากฏคอลัมน์ธรรมชาติ ทำมาโชว์ ยืน “ขายความสวย” รับแขกบริเวณต้นเล่มตามติดบทบรรณาธิการ เป็นอาหารตาเรียกน้ำย่อยก่อนผู้อ่านจะรับสารอาหารหลักจากเรื่องเด่นในฉบับ นอกจากความรู้เราจึงต้องคำนึงถึงลีลาเซ็กซี่ด้วย

บางฉบับโชว์เดี่ยว บางฉบับโชว์หมู่ ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งนั้นเย้ายวนใจกว่าหากฉายความหลากหลาย-แตกต่างของขนาด สีสัน สายพันธุ์ ฯลฯ ฉบับปฐมฤกษ์จึงเปิดตัว “อวดโฉมครอบครัวข้าวสายพันธุ์ใหม่” เพราะเพิ่งชม “นิทรรศการมาเด้อชิมข้าวใหม่” ที่กลุ่มชาวนาหลายจังหวัดในภาคอีสานนำข้าวเจ็ดสายพันธุ์ที่ปรับปรุงพัฒนาจนมีความต่างทั้งรูปทรง สีสัน และรสชาติ มาอวดคนเมือง ลองชิมข้าวแบบหุงสุกทุกพันธุ์แล้วยากจะไม่บอกต่อ จึงเริ่มหาวิธีเล่าให้คนรู้จัก โชคดีที่ช่างภาพประจำคอลัมน์ (บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช) กับฝ่ายศิลปกรรม (บุญส่ง สามารถ และ ณิชา แจ่มประพันธ์กุล) บ้าจี้ตาม กระบวนการออกแบบสิ่งพิมพ์จึงไม่จบที่รับเรื่อง-รูปไปจัดวาง ช่างภาพคิดวิธีทำให้ข้าวเปลือกโชว์ร่างใต้เปลือกในคราวเดียว ศิลปกรรมช่วยถ่ายทอดเสียงในหัวเราออกมาเป็นผังตระกูลจากคำสำคัญเพียง...เป็นข้าวที่มีต้นทางจากสายพันธุ์เดียวกัน

ครั้นสนุกกับการเล่นความหลากหลายฉบับถัดมาจึงเอาอีก ครั้งนี้ความทุลักทุเลมาเยือนเพราะไม่มีใครจัดของมากองรวมให้แบบงานนิทรรศการ และดันทะลึ่งเล่นกับของสด !
Image
เบื้องหลัง “มะเขือ (เท่) มะเขือเทศ” (เมษายน ๒๕๖๒) เราออกสำรวจตลาดเพื่อรวมทุกพันธุ์ให้จบและถ่ายในวันเดียวป้องกันผิวไม่เต่งตึงหากข้ามคืน วางแผนกับช่างภาพว่าอยากได้ฉากธรรมชาติสวยสมจริงให้ความรู้สึกสดชื่น ช่างภาพออกไอเดียรองพื้นด้วยใบตองและช่วยกันเรียงจนได้ตำแหน่งสมใจ เหมือนง่ายแต่ไม่ ยิ่งบรรจงวางผลให้อวดขั้ว อวดก้น อวดด้านข้าง พวกพืชผลก็ทำท่าแข็งขืน ลองกระจายเลียนแบบแผงผักในตลาดสดก็ยังดูปลอม ค่อยกระจ่างเมื่อพรมหยดน้ำจิ๋ว ๆ บนผิวเปลือก ผิวใบตอง คือรายละเอียดที่ได้เรียนรู้-แก้ปัญหาหน้างาน กว่าจะปรากฏหนึ่งภาพบนนิตยสาร

สนุกกว่าหาของคือตอนจัดทรง เป็นคนคิดเยอะ ตอนทำเรื่อง “ข้าวโพดกะเหรี่ยง” (สิงหาคม ๒๕๖๒) ได้ตัวอย่างข้าวโพดหลายฝักจากชายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่ว-เจ้าของ “ไร่สีฟ้า” ก็นั่งคิดว่าจะหาเครื่องประกอบฉากใดสื่อถึงพืชไร่ จัดเรียงอย่างไรให้เห็นภาพปุ๊บนึกถึงวิถีทำกินแบบไร่หมุนเวียนโดยยังไม่อ่านเรื่อง อาศัยธรรมชาติของนักสารคดีที่มักสอดรู้สอดเห็น นึกได้ว่านาทีที่พบกองข้าวโพดบรรจุในถุงกระสอบ ผนังด้านหนึ่งแขวนหมวกสานที่เกษตรกรสวมทำงานกลางแจ้ง ถึงคราวได้รื้อกองถุงผ้าและหมวกสานที่รับแจกตามงานต่าง ๆ มาใช้ สำคัญคือนำเสนอภาพถ่ายให้ผู้อ่าน “กรีนตาคลีนใจ” ต้องรู้เกร็ดพันธุ์พืชพร้อมสังเกตเห็นความน่าเอ็นดูในรูปลักษณ์ อย่างฝักสีแดง แต่อุ๊ย ! เมล็ดสีขาว หรือนำทางให้จินตนาการทำนองว่าเจ้าพวกเมล็ดก็ช่างกระไร เป็นข้าวโพดทำไมต้องกลม ๆ งามราวกับลูกปัด

การออกแบบภาพคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญเท่างานเขียน เบื้องหลังสองหน้าตีพิมพ์จึงมีเรื่องให้ท้าทายบ่อยอย่าง “วงจรฤดูฝนของดอก-ผลส้มจี๊ด” (กันยายน ๒๕๖๓) เป็นไปแทบไม่ได้ที่จะหาวงจรส้มทุกระยะในคราวเดียว ต้นที่ผลดกมักทิ้งดอกแล้ว ต้นที่ส้มสุกจัดมักไม่เหลือลูกเขียวจิ๋ว ๆ ที่เพิ่งพ้นขั้ว ยิ่งยากที่บ้านใดจะมีครบ แต่ก็ชวนช่างภาพวิ่งหาวัตถุดิบจากสองบ้านซึ่งอยู่ห่างอย่างพุทธมณฑล-นนทบุรีจนได้ ! แล้วกลับมาเซตถ่ายกลางแจ้งให้ทันก่อนฝนตกหรือดอก-ใบเหี่ยวท่ามกลางสายลมพัดสะกิดกวนให้ดอกสีขาวเบาหวิวผลัดกันปลิวทุกวินาที กระวีกระวาดจัดวางซ้ำ ๆ จนมือสั่น ที่สุดก็ได้รูปสวยสมใจ ตอกย้ำคุณค่าของความพยายาม ถ้ายังไม่ได้ลองให้ถึงที่สุดอย่าเพิ่งตัดโอกาสตัวเองโดยไม่เริ่มทำอะไร
เรื่องกัดไม่ปล่อยเป็นพฤตินิสัยที่คนรอบข้างมักได้รับผลกระทบตามกัน แรกเยือนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐ จังหวัดยะลา ถิ่นอาศัยของชาวจีน-มาลายา พบดอกไม้น่ารักชื่อ “โคมจีน (ชบาโคม)” ปลูกหน้าซุ้มประตูที่พักนักท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ดอกนั้นดูคล้ายโคมจีนจริงซึ่งย่อส่วนเหลือ ๔ เซนติเมตร ไม่เพียงมีห้ากลีบสีแดงเข้มห่อตัวเป็นทรงกระเปาะ ฐานดอกยังมีสีเหลืองสว่างชวนจินตนาการว่าในกระเปาะคงมีดวงไฟจิ๋วซ่อนอยู่ แถมมีเกสรตัวผู้ห้อยยาวลงมายิ่งละม้ายโคมจีนที่นิยมประดับพู่ เป็นมุมภาพที่หลงรักแต่แรกพบ และจะยิ่งสวยหากถ่ายหลังตะวันตกดินให้ได้บรรยากาศชุมชนจีนเริ่มจุดโคม ทว่าพวกเราไม่ได้เตรียมอุปกรณ์จัดแสงถ่ายดอกไม้ขนาดเล็ก แม้โชคเข้าข้างให้มาเยือนหมู่บ้านนี้ซ้ำแต่ฤดูกาลกลับไม่เอื้อดอกโคมจะบานสวยแค่ช่วงฤดูร้อน ต่อเมื่อเยือนหมู่บ้านนี้ ครั้งที่ ๓ จึงเตรียมรับมือทุกสถานการณ์ ร่างแบบที่ต้องการไว้บนไอแพดใช้สื่อสารกับช่างภาพ ขอให้เจ้าถิ่นช่วยหยิบยืมโคมจีนสวย ๆ ของอากงอาม่าซึ่งใกล้เคียงดอกไม้ที่สุดมาประดับ ฉากหลังอันเป็นที่พักนักท่องเที่ยว (ซึ่งพออุปโลกน์เป็นเรือนแถว-บ้านพักชาวจีนในภาพจำของคนทั่วไปได้) ท้ายสุดจึงสร้างสรรค์ภาพสำเร็จ แต่เป็นฝีมือถ่ายภาพของ ธนิสร หลักชัย ช่างภาพอิสระผู้ร่วมทริปหมายข่าว ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ว่าจะถูกขอให้ช่วยถ่ายเลียนแบบรูปที่เราบล็อกช็อตไว้จากครั้งก่อน ๆ  “ฤดู (เทศ) กาลโคมจีน” (กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) จึงไม่เพียงเป็นหนึ่งผลงานทรงจำที่ประทับใจการล่าฝันข้ามปี ยังได้ชัดแจ้งสัจธรรม มนุษย์ไม่อาจฝืนให้ธรรมชาติโชว์ความงามนอกฤดู

ถึงอย่างนั้นศิลปะก็เปิดโอกาสให้เราประดิษฐ์ความงาม ผ่านการมีส่วนร่วมให้ผู้คนรับรู้ถึงความสมดุล สัดส่วน เพื่อสร้างแรงดึงดูดต่อสิ่งนั้นได้ เคยทดลองใน สารคดี ฉบับ PM 2.5
เพราะต้องการยกระดับคอลัมน์อาหารตาให้เปี่ยมโภชนาการไม่แพ้เนื้อหาหลักประจำฉบับจึงเขียนเรื่อง “เมื่อไฟมา ‘มะลิดไม้ป่า’ จะเติบโต” (กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓) เล่าถึงเมล็ดไม้หลากชนิดที่ชอบไฟป่า ซึ่งพบแถวป่าชุมชนบ้านป่าบงใกล้ค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาว นาทีที่เก็บเมล็ดมากอง-แยกชนิด นึกถึงวัยเด็กที่ชอบเก็บหินมาเล่นบนพื้นดิน จึงชวนช่างภาพนำกิ่งไม้วางเป็นช่องตารางเกม แวบนั้นรู้สึกอยากให้ผู้อ่านคันมือด้วยจึงวุ่นถึงศิลปกรรมเนรมิตเมล็ดบนพื้นกระดาษให้มีขนาดเท่าจริง เห็นแล้วต้องอยากหยิบออกจากนิตยสาร !
Image
Image
Image
นอกจากคิดว่าแต่ละเดือนจะอวดอะไรนำเสนอแบบไหนก็ชาเลนจ์ตัวเองเพิ่มโดยนำเรื่องปกเป็นโจทย์ในการคัดสรรของ เช่น ปกเจ้าชายน้อย (มีนาคม ๒๕๖๓) เลือกเมล็ดเบาบับ, ปกศิลปะร่วมสมัย (ธันวาคม ๒๕๖๓) เลือกแร่สี, ปก LGBTQ+ (มิถุนายน ๒๕๖๔) เลือกสายรุ้ง, ปกขนมปัง (ธันวาคม ๒๕๖๔) เลือกยีสต์น้ำ, ปกดอยเชียงดาว (มกราคม ๒๕๖๕) เลือกดอกไม้เมืองเหนือ ฯลฯ

พยายามวางแผนคิดแบบมีรายละเอียดและไกลกว่าขั้นตอนปัจจุบัน ขณะเลือกของมาเขียนจะนึกถึงภาพที่ต้องถ่าย ลูกเล่นที่อยากใช้ตอนจัดคอลัมน์ ยังพัฒนาการโชว์ไปถึงรูปแบบฟอนต์ ลายเส้น และสีสันให้สมกับคอลัมน์หน้าสี อยากให้ผู้อ่านสัมผัสประสบการณ์ที่ปลดล็อกความตึงของงานสารคดี (แม้จะมีผู้กังขาว่าวิธีประดิษฐ์มากเกินไปแบบนี้ไม่ใช่งานเชิงสารคดีแล้ว)

ความอยากอวดแต่ของดี หลายเดือนจึงจนมุมกับการเฟ้นหา เป็นเหตุให้นำคอลัมน์ “คิด-cool” ปี ๒๕๕๙ ที่ตั้งใจทำแค่ปีเดียวกลับมาคั่น ทำให้ “ธรรมชาติ ทำมาโชว์” ยังมีที่หยัดยืนรับแขกต้นเล่มมาถึงมีนาคม ๒๕๖๗ (แม้จะปรากฏ “คิด-cool” บ่อยกว่า)

สำหรับตัวเอง ๕ ปีมานี้ เดินผ่านตั้งแต่ฉากบีบหัวใจช่วงปีแรก ๆ ด้วยเสียงวิจารณ์เทียบรูปแบบกับนิตยสาร a day ไปจนถึงฉากที่ใจฟูเมื่อเราหนักแน่นและทำต่อเนื่องพอจะได้ยินเสียงชื่นชมบ้าง  วันนี้คอลัมน์ “ธรรมชาติ ทำมาโชว์” เป็นพื้นที่ทดลองให้นักศึกษาฝึกงานเล่นสนุกกับวิธีขับเคลื่อนเรื่องเล่าด้วย

“ธรรมชาติ” มีคุณค่าในตัวอยู่แล้ว เราแค่ช่วยหาวิธี “ทำมาโชว์” ให้ผู้อ่านจดจำเรื่องราว