Image
จินตนาการ+ดันทุรัง
=รูปธรรม
เบื้องหลัง... ภาพถ่ายสารคดี
40 Years of Storytelling
เรื่อง : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช  
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
Image
นานมากแล้ว สารคดี เคยทำเรื่อง เครื่องมือจับปลามีทั้งแบบจับเอาดื้อๆ อย่างแห สุ่ม หรือที่ต้องหาอุบายล่อปลามาติดกับดัก อย่างลอบยืน ลอบนอน ไซตั้ง ไซนอน เบ็ดต่างๆ  อย่างหลังนี่นอกจากได้ปลายังได้อวดหัตถกรรม เรื่องแบบนี้ผมได้ยินแล้วหัวใจพองโต มันน่าสนุกจริง !
คิดกันต่อว่าจะถ่ายทอดภาพออกมาอย่างไรให้คนดูได้มุมมองใหม่ที่น่าสนใจกว่ารูปเครื่องมือกับปลาที่ใครก็เคยเห็นบรรณาธิการภาพเกิดไอเดียอยากได้ภาพแบบเห็นในน้ำครึ่งหนึ่งอีกครึ่งเห็นเหนือน้ำโดยใช้ผิวน้ำเป็นเส้นแบ่งกลางภาพ ซึ่งเมื่อ ๓๐ ปีก่อนคนยังไม่ค่อยได้เห็นภาพแนวนั้น และกล้องดำน้ำที่ใช้ฟิล์มก็ทำไม่ได้ ขณะที่ housing ทำได้โดยเอากล้องปรกติใส่ในกล่องกันน้ำอีกที แต่ผลที่ได้จะเห็นขอบน้ำไม่ชัด ถ้าจะเห็นชัดต้องให้ฟิล์มกับขอบน้ำมีระยะห่างสักหน่อย แต่ housing ให้ระยะไม่พอและไม่สามารถปรับระยะ

ผมยิ้มเลย...วันรุ่งขึ้นรีบเสนอแบบสเกตช์ และได้ไฟเขียวให้รีบลงมือทำ

ทดลองวาดฝันใส่กระดาษ เอาตัวเลขต่างๆ มาวาดตามสัดส่วนจริง เอาท่อน้ำพีวีซีมาทำโครงหลักของ housing เจาะช่องด้านบนไว้ก้มมองใต้น้ำโดยใช้กล้อง Nikon F3 เป็นหลัก มันสามารถถอดหัวปริซึมออกแล้วมองจากด้านบนได้ แล้วเริ่มเก็บข้อมูลเพื่อหาระยะโฟกัสที่จะถ่ายเห็นขอบน้ำชัด ปัญหาก็มีบ้างเรื่องการกันน้ำบริเวณกระจกหน้า ฝาปิด ปุ่มกดชัตเตอร์ กระจกช่องมองด้านบน...พวกเรือดำน้ำเขาทำกันอย่างไรนะ

ยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ผมงมและกุมขมับอยู่กับแค็ตตาล็อก housing ยี่ห้อดังทั้งหลายอยู่เป็นอาทิตย์ เทคโนโลยีเขาไม่ได้เกินความคาดหมายหรอก แต่เครื่องมือช่างบ้านๆ ที่ผมมีมันไม่แม่นยำพอให้ทำแบบเขา

แต่แล้ววันหนึ่งขณะเดินบนสะพานข้ามคลองน้ำดำมืดในเมืองกรุงผมกลับเห็นความใสแจ๋ว

เพื่อนวิศวกรผู้กำลังทำภารกิจวางท่อน้ำในห้างสรรพสินค้าที่หาดใหญ่ยอมบากหน้าอุ้มท่อน้ำพีวีซีขนาด ๑๐ นิ้ว ยาวเมตรกว่าขึ้นการบินไทยรักคุณเท่าฟ้ามาส่งมอบให้ผมถึงดอนเมืองพร้อมคำทักทาย “ไอ้ห่_ กูอายเค้าฉิบหา_” ก่อนให้ข้อมูลร้านเชื่อมท่อพีวีซีที่จะช่วยให้การตัดต่อประกอบเป็นไปตามแบบโดยไม่ต้องแก้ไขเลย ส่วนฝาปิดหน้า-หลังก็ใช้ทองเหลืองหนา ๑ นิ้วจากย่านโอเดียน แล้วส่งไปให้โรงกลึงใกล้ออฟฟิศ สารคดี ช่วยแก้ปัญหาหลายๆ อย่างจนทุกอย่างลุล่วง housing ของผมผ่านการทดสอบในสระว่ายน้ำของคอนโดมิเนียมหรูกลางกรุงเทพฯ ก่อนขนไปใช้จริงในภาคสนามที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

ชุดภาพถ่ายที่แสดงการใช้งานเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดต่างๆ แบบได้อวดความสวยประณีตของฝีมือชาวประมงในฉากบรรยากาศครึ่งหนึ่งในน้ำอีกครึ่งเหนือน้ำ บันทึกไว้ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๑๒๑ มีนาคม ๒๕๓๘  ที่ผมภูมิใจนำเสนอเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะได้ภาพสวยสมใจ

แต่มันคือชุดภาพที่เกิดจากการสร้างสรรค์และความพยายามที่ไม่ยอมพ่ายให้กับข้อจำกัดที่มี
Image
ขออวดอีกเรื่องได้ไหม...ผมได้รับมอบหมายให้ ถ่ายแบทแมน ! 

ความจริงคือ “ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม” ซึ่งช่างภาพ สารคดี ต่างเคยถ่ายค้างคาวมาแล้วจึงพอประเมินทางรอดและปัญหาคร่าวๆ ได้ไม่เกินกำลัง แต่คราวนี้ผมอยากได้ภาพในจังหวะที่มันบินโชว์ลีลาผ่าเผย
อวดส่วนสัดของร่างกายในท่าเดียวกับโลโก้ฮีโร่ของผม ก็เลยนึกถึงอุปกรณ์หนึ่งที่เรียก infrared trigger

มีการทดลองทำห้องเล็กๆ สองห้อง เจาะผนังกั้นห้องเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ ๑๐ x ๕ นิ้ว จากการ
คะเนขนาดตัวค้างคาวเมื่อกางปีกออกสองข้างเต็มที่ว่าจะสามารถร่อนผ่านช่องได้ แล้วติดตั้งแฟลชสองตัวที่ด้านหน้าและด้านหลัง ตั้งอุปกรณ์ให้ลำแสงอินฟราเรดพาดผ่านช่องแบบทแยงมุมเพื่อดักถ่ายสิ่งที่ผ่านช่องเข้ามาตัดลำแสงอินฟราเรด แต่ด้วยการบินด้วยความเร็วของค้างคาว ทำให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณให้กล้องถ่ายภาพทำงานช้าเกิน ระบบกลไกของกล้องใช้เวลาในการทำงานมากจนไม่สามารถจับภาพค้างคาวได้ จึงทดลองใช้วิธีให้อุปกรณ์สั่งงานไปที่แฟลชแทน โดยให้กล้องเปิดม่านชัตเตอร์รอไว้ก่อนในความมืดสนิท พอเห็นแสงแฟลชแวบก็ปิดชัตเตอร์แล้วกดชัตเตอร์รอใหม่ เอาแบบนี้ละ

ถึงวันลงพื้นที่ก็ขนห้องทดลองเล็กๆ ที่ทำจากกรอบไม้สี่เหลี่ยมขึ้นหลังคารถ ไม่ลืมพกค้อน ตะปู ไว้ใช้ประกอบเป็นกล่อง แล้วแบ่งห้องด้วยแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีดำที่เจาะช่องรอไว้แล้ว ผนังด้านนอกใช้ผ้าพีวีซี
สีดำมาหุ้มรอบกล่องอีกที ตอนเดินทางไปถึงที่หมาย ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่มรอต้อนรับผมแล้ว

นักวิจัยตั้งเครื่องดักค้างคาวไว้ หลังจากวัดขนาด ชั่งน้ำหนัก ตรวจสุขภาพแล้ว ก็ถึงเวลาปล่อยค้างคาว
มาบินในห้องเล็กๆ ของผม ตอนแรกกะให้บินผ่านช่องตัวละสองถึงสามรอบ เมื่อทุกอย่างพร้อมจึงปล่อยนักบินตัวแรกเข้าห้องด้านตรงข้ามกับกล้อง แวบ ! ไฟแฟลชสว่างวาบในความมืด ชัตเตอร์ปิด กดชัตเตอร์รอใหม่ เงียบ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น...ค้างคาวตัวต่อมาถูกปล่อยตาม แวบ ! ไฟแฟลชสว่างวาบเกือบจะทันทีที่ปล่อยตัว แล้วก็เงียบอีก...ค้างคาวตัวที่ ๓ ปล่อยเพิ่มเข้าไปอีกก็เหมือนเดิม แวบ ! แล้วเงียบ
Image
ทีมงานทุกคนมองหน้ากันแบบ อิหยังวะ ? นักวิจัยหัวโล้นชาวสเปนที่ยืนรอดูอยู่ไม่ห่างแหวกผนังเอาไฟฉายส่องส่ายซ้ายขวาในห้อง แล้วก็หัวเราะลั่น “ยูมาดูนี่ดิ นั่นไง !”

ภาพที่เห็นคือค้างคาวสามตัวห้อยหัวอยู่กับโครงไม้ คุยกันกะหนุงกะหนิง เอ้า ! ทำไมไม่บิน ?


ยุคนั้นมีกล้องดิจิทัลใช้แล้วจึงได้เปิดย้อนดูภาพกัน ทั้งสามภาพถ่ายติดชัดเจนมาก เป็นจังหวะที่ค้างคาวเลี้ยวกลับทั้งหมด สรุปว่าค้างคาวรู้ว่าไม่มีทางออก พวกมันเลยเกาะอยู่กับที่ไม่บิน


ประสบการณ์แรกสอนให้ผมกลับมาแก้เกมใหม่ เลื่อยตัดห้องแรกออก รื้อผนังห้องที่มีกล้องออก เหลือแค่โครงไม้ทรงลูกเต๋าที่มีแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดเจาะช่องไว้อยู่ด้านหน้า trigger ติดอยู่กับแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด 
โครงด้านหลังเป็นที่ติดตั้งกล้องให้ค้างคาวบินผ่านช่องแล้วผ่านกล้องออกไปอย่างอิสระ

วันต่อมาก็แบกโครงไม้ขึ้นเขาย้ายไปหาฝูงค้างคาวอีกบริเวณหนึ่ง ที่ปากถ้ำมีลักษณะเป็นโพรงไม่ใหญ่มาก 
แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดใหญ่กว่าสามารถปิดปากถ้ำได้หมด คราวนี้ผมเอาโครงไปปิดช่องทางออกแล้วหาใบไม้มาสุมด้านข้างโดยรอบ ถ้าค้างคาวจะออกหากินอย่างไรก็ต้องบินผ่านช่องแน่ๆ ...ผมนี่ยิ้มรอเลย

พอถึงเวลาเหมาะสม ตะวันเริ่มตกดิน แสงลดน้อยลงเรื่อยๆ ก็เปิด trigger เปิดแฟลช เปิดกล้อง
กดชัตเตอร์ แวบ ! คราวนี้รู้สึกได้ถึงลมจากปีกค้างคาวบินผ่านกล้องไปอย่างเร็วแต่เงียบกริบ เปิดกล้องเช็กรูปภาพติดคมชัด แต่จังหวะไม่ดี เอาใหม่...ค้างคาวเป็นร้อยเป็นพันมันต้องได้รูปดีบ้างละ
Image
เราลุ้น แวบ แวบ แวบ กันไปเยอะมาก พอเปิดดูรูปก็เห็นความผิดปรกติ หลายจังหวะที่ค้างคาวหัน ด้านข้างให้กล้องแทนที่จะเป็นจังหวะที่บินออกจากถ้ำ และค้างคาวที่มีจำนวนมากนี้กลับบินออกมาประปรายไม่ได้ออกเป็นสายยาวอย่างพฤติกรรมปรกติที่เคยเห็น พอเปิดไฟฉายส่องเข้าไปในถ้ำก็เห็นพวกค้างคาวบินวนเวียนอยู่ข้างใน...ไม่ใช่ทุกตัวที่กล้าบินผ่านช่องเล็กๆ ของผม

ตัดสินใจรบกวนพวกมันเท่านี้ เปิดปากถ้ำคืนอิสรภาพให้เจ้าถิ่นพรั่งพรูออกไปหากินตามวิถี


ผมกลับมานั่งดูรูปแบบยอมรับสภาพ ถึงจะเตรียมตัวมาเต็มที่แค่ไหน ที่สุดก็ขึ้นอยู่กับโอกาส


ทันใดนั้นผมก็พบโลโก้แบทแมน ! ไอ้จิ๋วตัวหนึ่งมันอยู่ในท่าอวดปีกบางๆ ให้ได้เห็นสรีระชัดเจนและครบถ้วนที่สุด ทั้งกล้ามเนื้อและเส้นเลือด...คุณเคยเห็น “กระจู๋” ของค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่มไหม ?


มันอยู่ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๒๗๕ มกราคม ๒๕๕๑


ก็อย่างที่ผมตั้งชื่อเรื่องไว้นั่นละ “จินตนาการ+ดันทุรัง = รูปธรรม”


มันสำคัญไม่แพ้ความรู้ มีค่าต่อความหวัง และช่วยให้ได้ภาพมุมมองใหม่เสมอ