Image
พาเหรดสัตว์ป่า
ธรรมชาติ ทํามาโชว์
เรื่องและภาพ : อดิราห์ มามะ
(นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย)
บันทึก-เลาะ-ล้าง-ปั้น-ประกอบ เป็นขั้นตอน taxidermy ของการสตัฟฟ์สัตว์
จะเริ่ม “บันทึก” ข้อมูลของสัตว์นั้นต่อมาจึง “เลาะหนัง” นำมา “ล้าง” ทำความสะอาด หมักเกลือทิ้งไว้ ๒๔ ชั่วโมง เตรียมเข้าสู่กระบวนการฟอกหนัง แล้ว “ปั้น” หุ่นด้วยดินเหนียวตามท่าทางและขนาดจริง ก่อนนำหนังมา “ประกอบ” คลุมหุ่น ติดตา จมูก ปาก หู ตัว และขาให้อยู่ในตำแหน่งถูกต้อง เย็บปิดรอยที่ขา ท้อง และคอ ใช้ตะปูตอกจัดหนังให้เข้าที่ รอจนแห้งสนิทจึงถอนตะปู ตกแต่งทาสีให้เสมือนมีชีวิต

ทุกขั้นตอนผ่านความเชี่ยวชาญด้านกายวิภาคศาสตร์ประติมากรรม และจิตรกรรมของนักสตัฟฟ์สัตว์ที่เรียนรู้
จนเข้าใจและทุ่มเททำจนชำนาญ เพื่อคืนชีวิตแก่ซากสัตว์ แม้ไร้วิญญาณจึงยังคงคุณค่าและไม่มีเจตนาสื่อพฤตินัยดุร้ายให้หวาดกลัว

บรรยากาศที่เห็นจึงคล้ายเจ้าพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจากคณะละครสัตว์กำลังเดินโชว์ตัวอวดผู้มาเยือน

ทว่าเส้นทางเบื้องหน้าของสัตว์เหล่านั้นมุ่งสู่ตู้คอนเทนเนอร์
Image
ภายในเล่าเรื่องราว “ค้าสัตว์ป่า” ธุรกิจของนักล่า นักเปิบพิสดาร นักสะสมจำลองวิธีขนส่งสัตว์ที่ขายอย่างเปิดเผยพร้อมราคาบนเว็บไซต์ มีภาพสัตว์หลากชนิดถูกทำร้าย ทำให้ตายอย่างหดหู่ ถูกลำเลียงรอขนส่ง

เมื่อมองให้ดีจึงอาจตีความได้ถึงการถูกล่อลวงให้เดินแถวสู่ตู้คอนเทนเนอร์แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่

เป็นผลงานที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งส่งเสียงแทนสัตว์ป่าที่ไม่เคยมีอำนาจต่อรองหรือรวมตัวจัดตั้งม็อบประท้วงเรียกร้องสิทธิ์การมีลมหายใจ จนเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้หลายชนิดสูญพันธุ์อย่างโหดร้าย เล่าผ่าน “นิทรรศการสู่สูญพันธุ์” ในห้องจัดแสดงขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยา-ศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
เมื่อชมใกล้ ๆ ขบวนพาเหรดสัตว์ป่าอาจกระซิบบางอย่างให้ฟัง