KEM TRANG TIEN
(แกมจ่างเตี่ยน)
ไอติมยืนกินแห่งกรุงฮานอย
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
“กล่องไอติม” และ “ไม้ไอติม” ในภาพ ผู้เขียนได้จากร้าน “แกม (ไอติม) จ่างเตี่ยน” (Kem Trààng Tiền) ร้านไอติมที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม (เสียดายที่เก็บไอติมมาไม่ได้)
นานแล้วที่เพื่อนเวียดนามหลายคนแนะนำให้ลองซื้อไอติมแกมจ่างเตี่ยนที่ “ร้านดั้งเดิม” เมื่อมาเยือนฮานอยเพราะจะได้บรรยากาศยิ่งกว่าไปซื้อตามสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพราะคนฮานอยถึงกับมีคำพูดว่า “ไม่ได้กินไอติมจ่างเตี่ยน ก็เหมือนมาไม่ถึงฮานอย”
แกมจ่างเตี่ยนสาขาแรกอยู่บนตึกเลขที่ ๓๕ ถนนจ่างเตี่ยน (Tràng Tiền) เปิดขายมา ๖๖ ปีแล้ว (เปิดเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๘) ร้านอยู่ในเขตเมืองเก่า ใกล้ทะเลสาบคืนดาบ (Hoàn Kiềm) ย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงฮานอย
ตามประวัติ ก่อนเข้ามาอยู่ในตึก เจ้าของร้านเคยถีบรถขายไอติมอยู่บนถนนเส้นนี้ ยุคนั้นไอติมยังเป็นของพิเศษและมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับรายรับของคนเวียดนามทั่วไป แต่ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะหนุ่มสาว ก็ยังพยายามเจียดเงิน หาทางเอาคูปองอาหารมาซื้อ เพราะไอติมหวานเย็นชื่นใจคือความสุขที่พอหาได้ท่ามกลางอากาศร้อนและไฟสงคราม (ช่วงสงครามเวียดนาม) จนกลายเป็นภาพจำที่ผู้คนมายืนต่อแถวยาวหน้ารถไอติม ถัดมาคือคนที่จับกลุ่มยืนกิน หนุ่มสาวหลายคู่ที่เคยยืนกินไอติมด้วยกันแต่งงานกัน สร้างครอบครัว ต่อมาก็จูงลูกหลานมากินอีกหลายรอบ กลายเป็นความทรงจำที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
ปัจจุบันแม้ว่าร้านแกมจ่างเตี่ยนมาตั้งถาวรในตึกแล้ว แต่ลูกค้าก็ยังคงมาต่อคิวซื้อแล้วยืนกินใกล้ ๆ ร้านเช่นเดิม แถวที่ยาวขึ้นเริ่มรบกวนการจราจรในละแวกใกล้เคียง จนทำให้ใน ค.ศ. ๒๐๐๐ ทางร้านต้องเพิ่มพื้นที่ให้คนไปยืนด้านใน แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้ผล เพราะผู้คนยังพอใจที่จะยืนกินนอกร้าน
ล่าสุด ค.ศ. ๒๐๒๐ ทางร้านตอบรับยุคสมัยด้วยการปรับปรุงสถานที่ให้วัยรุ่นถ่ายภาพเช็กอินกันได้เต็มที่ แต่ยังคงยืนหยัดแนวคิดเดิมคือไม่มีที่นั่ง เพราะไอติมแกมจ่างเตี่ยนต้อง “ยืนกิน” เท่านั้น
เอกลักษณ์ไอติมแกมจ่างเตี่ยนคือรสชาติที่ไม่หวานเกินไป ไม่ว่าจะรสดั้งเดิมอย่างวานิลลา ช็อกโกแลต มะพร้าว ถั่วเขียว ข้าวเม่า เผือก หรือที่พัฒนาขึ้นใหม่อย่างรสชาเขียว สตรอว์เบอร์รี ทุเรียน ฯลฯ รวมถึงไอติมโคน ไอติมถ้วย หรือถ้าใครอยากซื้อคละรสเพื่อความสะใจก็ยกไปได้ทั้งกล่อง คราวล่าสุดผมยืนกินที่ร้านไปหนึ่งแท่ง (๑.๒ หมื่นดอง) และซื้อแบบกล่อง (๕ หมื่นดอง) กลับมากินต่อ
นี่คือไอติมสัญชาติเวียดนามแท้ ๆ ที่ใน ค.ศ. ๒๐๒๔ ยังยืนหยัดต่อสู้แข่งขันกับแบรนด์ไอติมต่างชาติที่บุกตลาดเวียดนามได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ