Image

ภักติ

จากบรรณาธิการ

เร็วๆ นี้ อยู่ๆ ผมก็คิดถึงการฟังแผ่นเสียงซีดี ก็เลยหาเครื่องเล่นแบบพกพามาเสียบกับคอมพิวเตอร์ ค้นกล่องพลาสติกเก่ามาเปิดฝา ในนั้นผมพบแผ่นซีดีหลากหลายที่เก็บไว้นานจนจำไม่ได้ว่าเก็บอะไรไว้บ้าง

ไล่เรียงแผ่นไปเรื่อย ๆ เรียกความทรงจำที่คุ้นเคย ในท่ามกลางแผ่นวงป็อป ร็อก เร็กเก้ โฟล์ก เฮฟวีเมทัล ผมมาสะดุดใจกับแผ่นปกภาพขาวดำใบหน้าหญิงสาวเชื้อสายอินเดีย ที่แตกต่างกับปกแผ่นอื่น ๆ ทั้งหมด

ผมเสียบแผ่นซีดีเข้าเครื่องด้วยความรู้สึกโหยหา ความทรงจำผุดเตือนว่าเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ผมเคยฟังเสียงเธอมาไม่รู้กี่รอบ

เสียงร้องเธอเอื้อนเอ่ยทำนองคล้ายบทสวดโบราณ สะกดอารมณ์ให้อยู่ในภวังค์ของการเข้าถึงเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์  บางเพลงเธอเล่นกับการกระดกลิ้นเป็นเสียงพยางค์สั้น ๆ ด้วยจังหวะทำนองกระชั้นรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

เธอชื่อ Sheila Chandra อัลบัมที่ผมมีชื่อ Weaving My Ancestor’s Voices ถือเป็นหนึ่งในอัลบัมที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ ศิลปินเชื้อสายอินเดียที่นำเสียงแบบ “อินเดีย” ไปสร้างชื่อในยุโรปช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐

เมื่ออ่านชื่อเพลงที่คล้ายบทสวดในอัลบัม เขียนว่า Bhajan ก็รู้สึกคุ้นว่าเคยเห็นที่ไหน

ก่อนหน้านี้หลายเดือน มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมหยิบมาอ่านผ่าน ๆ ระหว่างเตรียมงานสารคดีฉบับศาสนาผีอีสานใต้ คือ ผี พราหมณ์ พุทธในศาสนาไทย เขียนโดยอาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  วิจักขณ์ พานิช และ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เสียงเรียกในใจให้กลับไปเปิดหนังสืออีกครั้ง ก็เลยพบคำว่า ภชัน ภชันมฺ หรือ Bhajanam ปรากฏในบทความชื่อ “สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย ๓ : วัฒนธรรมรำเต้นขับร้อง ‘ภชัน’ และ ‘กีรตัน’” ของอาจารย์คมกฤช

รู้สึกตื่นเต้นกับความบังเอิญจริง ๆ ที่พบคำอธิบายบทเพลงที่เคยหลงใหลมานาน ไม่นับความบังเอิญที่ได้พบแผ่นซีดีเก่าเก็บ

อาจารย์คมกฤชเล่าว่า ภชัน คือการขับร้องสรรเสริญเทพเจ้า ร้องโดยคนเดียวจะมีดนตรีหรือไม่ก็ได้ และมีจุดกำเนิดมาจากการเกิดขึ้นของขบวนการ “ภักติ” ในคริสต์ศตวรรษที่ ๕-๘ ทางภาคใต้ของอินเดีย

ตามวัฒนธรรมฮินดู การเข้าถึงพระเจ้าต้องผ่านพิธีกรรมซึ่งพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ แต่แนวคิด “ภักติ” ปฏิเสธอำนาจของพราหมณ์และพิธีกรรมอันซับซ้อน เชื่อว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพระเจ้าหรือพบการหลุดพ้นได้ผ่านความภักดีของตนเอง โดยการเอ่ยพระนามสั้น ๆ ขับร้องสรรเสริญด้วยบทเพลง เต้นรำ เพื่อเข้าถึงภาวะแห่งความภักดี ซึ่งเป็นความรู้สึกดื่มด่ำในความรักระหว่างพระเจ้ากับวิญญาณของตน

อาจารย์คมกฤชยังตั้งข้อสังเกตน่าคิดว่า ขณะที่ศาสนาฮินดูในอินเดียส่วนมากได้เคลื่อนย้ายจากการขับเน้นความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ความรักและความภักดี จากการให้ความสำคัญกับชนชั้นมาให้ความสำคัญกับคนธรรมดาที่มีความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ แต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในไทยยังเน้นความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ

ผมกลับมาค้นประวัติ Sheila Chandra ในออนไลน์ว่าปัจจุบันชีวิตเธอเป็นอย่างไร ก็ต้องตกใจที่พบว่าใน ค.ศ. ๒๐๐๙  จู่ ๆ เธอก็เป็นโรคร้าย Burning Mouth Syndrome (BMS) ซึ่งหาสาเหตุไม่ได้และไม่มีสัญญาณใด ๆ มาก่อน แต่ผลลัพธ์คือเธอไม่สามารถพูด หัวเราะ และร้องเพลงได้อีก เพราะจะรู้สึกเจ็บปวดแสนสาหัสที่ปาก

ทว่าเธอไม่เคยก้มหัวให้กับชะตากรรม ผันตัวเองเป็นโค้ชให้นักร้องคนอื่น และเขียนหนังสือเกี่ยวกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อความสำเร็จในอาชีพ...ข้อมูลที่สืบค้นได้มีเพียงเท่านี้ ทำให้ผมได้แต่คิดจินตนาการไปเองว่า หรือเธออาจค้นพบหนทางแห่งการหลุดพ้นตามแนวทางของภักติ จากบทเพลงภชันที่เธอเคยร้อง

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา” ขอความสำเร็จมีแด่เธอและผู้อ่านทุกคน
“โอม ศานติ โอม ศานติ โอม ศานติ”

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com

ฉบับหน้า
Next Issue

Image

๔๐ ปีสารคดี ๔๐ ปี Story Telling