Image
จานสีน่ารัก
สวรรค์ของนักรักบัว
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ และ
กนกวรรณ เพ็ชรโป๊ะ 
(นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยนเรศวร)
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช และ
อดิราห์ มามะ (นักศึกษาฝึกงาน 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย)
ไทยโชคดีอยู่ในภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเติบโตของบัวหลายสายพันธุ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีตระหนักคุณค่าจึงตั้งพิพิธภัณฑ์บัวขึ้นในปี ๒๕๔๓ และร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี ๒๕๔๖ รวบรวมสายพันธุ์บัวทั่วโลกแล้วจัดสรรพื้นที่กลางแจ้ง ๑๘ ไร่ ขุดสระกว้าง วางบ่อปูน แสดงชีวิตบัวกว่า ๓๐๐ สายพันธุ์

ปลายธันวาคมที่เรามาไม่ใช่จังหวะเหมาะ เพราะวิถีบัวจะพักตัวสะสมอาหารช่วงอากาศเย็น ค่อยผุดดอกเมื่อฤดูอบอุ่นมาเยือน การปลูกบัวแถบเมืองหนาวจึงไม่ง่าย ทำให้ประเทศเขตร้อนได้เปรียบด้านปรับปรุงสายพันธุ์ที่หลากหลายและบางชนิดยังผลัดกันเบ่งบานตลอดปี แม้นอกฤดูจึงมีความงามให้รื่นรมย์
scrollable-image
ตรงหน้าดารดาษด้วยสกุล “lotus (บัวหลวง : Nelumbo)” กับสกุล “water lily (บัวสาย : Nymphaea)”  คนไทยจำแนก “บัวหลวง” จากก้านแข็งและ “บัวสาย (บ้างเรียกบัวเผื่อน)” จากก้านอ่อน ชวนอมยิ้มขณะเพลินพิศดอกน้อย-ใหญ่อย่าง “ไจแกนเตีย ไวโอลาเซีย” บัวยักษ์ออสเตรเลียสีฟ้าคราม, “วิกตอเรีย” บัวกระด้งยกขอบใบตั้งเคียงดอกสีชมพูหวาน, กลุ่มสกุล “บัวฝรั่ง” หลากพันธุ์ย่อยหลายสีทั้งขาว เหลือง ชมพู ส้ม แดง ม่วง ฯลฯ เช่นเดียวกับ “นางกวัก” บัวสายพันธุ์ไทยที่มีกลีบเลี้ยงละม้ายฝ่ามือกวัก ผลิดอกสารพัดสีจากฝีมือนักวิชาการไทย นานาดอกในบ่อต่าง ๆ ที่ยังไม่มีชื่อวิชาการจึงนิยมเรียกชื่อต่อท้ายด้วยสี ล้วนมีส่วนประดับประดาให้พื้นที่กลางแจ้งดูน่ารักราวหลุมจานสียักษ์ที่ธรรมชาติ-มนุษย์ร่วมเป็นจิตรกรรังสรรค์

น่าสนใจ “บัวจงกลนี” สีชมพูหวานที่ได้รับเชิดชูเป็น “สายพันธุ์มหัศจรรย์ของพิพิธภัณฑ์”

ปี ๒๕๕๗ มีการศึกษาทางสัณฐานวิทยาร่วมกับชีวโมเลกุลพบว่าเป็น “บัวชนิดใหม่ของโลก” จึงได้ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphaea siamensis มีหลักฐานสืบค้นว่าเป็นบัวโบราณที่มีกล่าวถึงครั้งแรกในวรรณกรรมพุทธศาสนาที่แต่งในสมัยสุโขทัย แต่นั้นก็ปรากฏในเอกสารหลายฉบับและเห็นพ้องว่า “หายาก”
Image
บัวจงกลนี
นักวิชาการเกษตร-ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ชวนชม “ใบบัว” รูปไข่ขนาด ๒๐ เซนติเมตร ขอบใบหยักปลายใบเว้าเข้า หน้าใบ
สีเขียวอ่อนแต่หลังใบกลับมีสีม่วงแดงเข้ม แต้มกระเล็ก ๆ สีม่วงทั่วใบ หลายกอชู “ก้านใบ-ก้านดอก” สีม่วงแดงอวด “ดอกบัว” ทั้งทรงตูมเขียวขี้ม้าและทรงบานชมพูสดเรียงกลีบซับซ้อนหลายชั้น

ความหนาแน่นนั้นคือหนึ่งในสิ่งพิเศษที่ทำให้จงกลนีไม่เหมือนใคร บัวทั่วไปมีพฤติกรรมบานเช้าหุบเย็นอยู่ ๓-๔ วัน จึงโรยแล้วเปิดทางให้ดอกใหม่แทนที่ แต่จงกลนีจะค่อย ๆ บานจนผลิกลีบเต็มดอกใหญ่ และ “เมื่อบานแล้วจะไม่หุบอีกเลย” จนหมดอายุโดยไม่มีดอกใหม่ทดแทน และไม่อาจขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หนทางเดียวคือแบ่งหน่อ มนุษย์ช่วยเพิ่มจำนวนได้โดยแยกหน่อย่อยหัวเล็ก ๆ ตรงลําต้นไปแช่นํ้าให้เกิดราก ใบ ค่อยย้ายปลูกในอ่าง หมั่นตัดแต่ง เติมดินบำรุงปุ๋ย และเปลี่ยนอ่างเมื่อรากแน่น

การเพาะขยายไม่ยาก ที่ยากคืออัตรารอด เพราะเป็นสายพันธุ์ที่อ่อนไหวต่อแหล่งน้ำ หากน้ำไม่สะอาดหน่อย่อยจะยุบหัวแล้วปลิดชีพตน ทำให้จงกลนีจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ ไม่เพียงพบได้เฉพาะถิ่นไทย แต่นับวันแหล่งน้ำใส-สะอาดตามธรรมชาติยังเหลือน้อยเต็มที
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู  

Image
“เวลานี้นอกจากนำก้านบัวมาถักเป็นผลิตภัณฑ์แบบหวาย นำต้นอ่อนของเมล็ดบัวหลวงไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้เกิดแคลลัสเพื่อสกัดสารสําคัญในกลุ่มเซลล์นั้นไปทําเวชภัณฑ์ความงาม ยังเริ่มวิจัย ‘สีธรรมชาติจากดอกบัว’ สำหรับใช้วาดรูป อยู่ในขั้นทดลองนำพืชมาสกัดร้อน แต่ผลที่ได้ยังเป็นนํ้าตาลทั้งหมด แม้มีหลายเฉดแต่ไม่ใช่สีจริงของดอกตามต้องการ ขั้นต่อไปจึงจะลองสกัดเย็นเพื่อคงสีเอาไว้ให้มากที่สุด สำเร็จเมื่อไรก็จะประกาศศักยภาพของดอกบัวและนักวิจัยไทย”
กฤษณะ กลัดแดง
นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการและผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์บัว 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
๓๙ หมู่ ๑ ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลรังสิต 
อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๑๐
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ (หยุดวันนักขัตฤกษ์) 
เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. 
โทร. ๐-๒๕๔๙-๓๐๔๐-๔๕