๒๒-๒๔ กันยายน ๒๕๖๖ สมาคมวิศวะฮินดูปาริชาด (VHP) ที่จัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๕๔ เป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลคเณศจตุรถี ๒๕๖๖ ณ ลานกีฬา หน้าอาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
คเณศจตุรถี
ชุมชนฮินดูในไทย
Foto Essay
คำ : วิชญดา ทองแดง
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
ชาวฮินดูที่พำนักในแผ่นดินไทยมีหลายกลุ่มซูซีลกุมาร ซาราฟ ประธานสมาคมวิศวะฮินดูปาริชาด แกนนำหลักในการจัดงานคเณศจตุรถีในไทยหลายครั้ง หวังให้การรวมกลุ่มช่วยส่งเสริมวิถีชีวิตชาวฮินดู ตลอดจนสร้างจิตสำนึกช่วยเหลือมนุษยชาติโดยรวม
คเณศจตุรถีเป็นประเพณีของชาวฮินดูแต่ก็มิได้ปิดกั้นเพื่อนมนุษย์ทุกชาติ ศาสนาที่จะมากระซิบฝากมุสิกะ (หนู) พาหนะของพระคเณศ ทูลเตือนให้พระองค์ประทานพรตามที่ปรารถนา
สังข์ถือเป็นสิ่งมงคลทั้งในวัฒนธรรมฮินดูและไทยในพิธีสำคัญจะมีการเป่าสังข์หรือใช้สังข์ประกอบพิธี
คเณศจตุรถีมีงานเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วงค่ำครอบครัวชาวฮินดูนิยมพากันมาสักการะองค์เทพและร่วมกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ เช่น แต่งกายชุดพื้นเมือง ประกวดวาดภาพ แข่งขันทำอาหาร จับจ่ายสินค้า
เทพเจ้าจะประทานพรแก่ผู้อยู่ในสายพระเนตร ศรัทธาชนจึงถือกันว่าช่วงคเณศจตุรถีคือโอกาสดีที่จะได้ใกล้ชิดพระองค์ดังเช่นมุสิกะ (หนู) บริวารผู้ภักดีของพระคเณศ
แสงไฟจากถาดอารตีที่พราหมณ์ถวายส่องเทพเจ้าจะนำความรุ่งเรืองสว่างไสวมาสู่ผู้บูชา การวางทักษิณาทาน (เงินทำบุญ-ตอบแทนการทำพิธี) ในถาดอารตี ถือเป็นการแสดงความเคารพและอุปถัมภ์พราหมณ์ผู้ใกล้ชิดพระเป็นเจ้า
วันสุดท้ายของงานคเณศจตุรถีคือการส่งเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ ขบวนรถแห่เทวรูปพระคเณศเคลื่อนออกจากสนามกีฬาแห่งชาติ ราวเที่ยงวันเพื่อส่งเสด็จสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้สวนศิลาฤกษ์ ใต้สะพานภูมิพล ๑ ถนนพระรามที่ ๓
“โอม คณปติ ปับปา โมรยา, มังคละ มูรติ โมรยา”
เสียงสรรเสริญพระคเณศจากบรรดาผู้ศรัทธา ดังเช่นที่ดังตลอดเวลา ณ ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาในช่วงเย็นแห่งเทศกาลคเณศจตุรถี จะกึกก้องในใจผู้ภักดีต่อพระองค์เสมอ