Eat Pray Art with “Bro ! Ganesha”
เรื่อง : ธเนศ แสงทองศรีกมล
ภาพ : ปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช
เมื่อ Grab บริการยานพาหนะคู่ใจคนเมืองขับมาถึงที่หมาย ผู้เขียนก็แปลกใจที่สตูดิโอศิลปะแห่งนี้อยู่ในย่านอารีย์ ล้อมรอบด้วยตึกรามบ้านช่องใหญ่โตสไตล์โมเดิร์น ต่างจากภาพแรกที่นึกถึงเมื่อเพื่อนชวนไปสัมภาษณ์ “คนทำพระพิฆเนศ” เคยคิดว่าต้องเจอกับบ้านไม้ทรงไทยเก่า ๆ ที่พื้นเริ่มผุพัง เต็มไปด้วยโต๊ะตู้บูชาบรรจุพระพิฆเนศรูปลักษณะน่าเกรงขาม มีคุณลุงนั่งส่องพระ ผู้เขียนยิ่งแปลกใจเพิ่มขึ้นเมื่อก้าวเท้าเข้าไปพบสัมผัสแรกคือพื้นไม้ปาร์เกต์ การตกแต่งบ้านสไตล์ญี่ปุ่น โมเดิร์น และ “พระพิฆเนศลูกโป่ง” ที่น่ารักจนอยากมีติดบ้านไว้สักองค์
กานต์-กานต์ วิสราญกุล และโจ-อนุศิษฎ์ สมประเสริฐศรี สองศิลปินและดีไซเนอร์จาก Sukerthing แบรนด์อาร์ตทอยผู้สร้างสรรค์ลูกโป่งบิดรูปให้กลายเป็นพระพิฆเนศที่ใกล้ชิดมนุษย์เสมือนเพื่อนเล่นและยังไปวางในบ้านของทุกคนได้ ไม่ว่าจะอยากวางเพื่อบูชาหรือเป็นของเล่นก็ตาม
ของเล่นและศิลปะ
การผสมผสานที่ขยับให้การเล่น
ไปไกลกว่าเดิม
“อาร์ตทอยมันพูดยากมากเลยว่าเป็นความอาร์ตหรือความชุ่ย บางคนแค่เอาหุ่นบาร์บี้ หุ่นเคน (แฟนหนุ่มของตุ๊กตาบาร์บี้) มาตัดหัวออก แล้วเอาหัวสตอร์มทรูเปอร์มาแปะ ก็บอกว่าเป็นอาร์ตทอยแล้ว แต่พอเห็นว่ามีคนทำ original character เราก็เลยเริ่มสนใจ” กานต์อธิบายนิยามของอาร์ตทอย
จุดเริ่มต้นวงการอาร์ตทอยในประเทศไทยไม่มีหมุดหมายแน่ชัดนัก ครั้งแรกที่พอจะเห็นการก้าวเข้ามาของอาร์ตทอยในตลาดไทย คืองาน Thailand Toy Expo 2013 มหกรรมของเล่นและอาร์ตทอยที่จัดขึ้น ณ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ ๑๐-๑๓ มกราคม ๒๕๕๖ นั่นเป็นครั้งแรกที่กานต์ได้สัมผัสประสบการณ์กับอาร์ตทอยของจริง จากแต่ก่อนที่มักเห็นผ่านแมกกาซีนต่างประเทศ
ยิ่งดูยิ่งอิน ยิ่งเห็นยิ่งอยากสะสม ยิ่งสัมผัสยิ่งอยากไปยืนอยู่จุดนั้น เดิมทีกานต์เป็นนักศึกษาภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีพื้นฐานการทำงานออกแบบสามมิติ หรือ 3D ด้วยความสนใจ “ศิลปะ” และ “ของเล่น” กานต์จึงตอบรับคำชวนของโจที่ชวนไปเรียนการออกแบบคาแรกเตอร์สามมิติ เพื่อขานรับความต้องการสร้างอาร์ตทอยที่เกิดขึ้นในใจของตน
กานต์ วิสราญกุล และ อนุศิษฎ์ สมประเสริฐศรี สองดีไซเนอร์ผู้เนรมิตพระพิฆเนศเป็นบอลลูนอาร์ตทอย แบรนด์ Sukerthing
“ผมร้อนวิชา อยากทำอะไรบางอย่างออกมา ตอนเริ่มต้นทุกอย่างเป็นไปได้หมด” กานต์พูดพลางหัวเราะ
ไม่นานหลังจากนั้น กานต์ขอยืมคาแรกเตอร์การ์ตูน 2D ของศิลปินรุ่นพี่ที่เขารู้จัก เพื่อนำมาลองปั้นเป็นตัวละครสามมิติ เมื่อทำเสร็จก็ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี เขาจึงเห็นลู่ทางไปต่อประจวบเหมาะกับห้องเรียนวิชาออกแบบคาแรกเตอร์กำลังสร้างแรงบันดาลใจแรงกล้าให้ เขาจึงตัดสินใจสร้างคาแรกเตอร์อาร์ตทอยชิ้นแรกของ Sukerthing จากความชอบของกานต์ที่มีต่อหุ่นยนต์ และทักษะการวาดแบบของโจ
กานต์หยิบอาร์ตทอยนั้นมาให้ดู หุ่นยนต์สีน้ำเงินคาดสีส้มขนาดประมาณสองฝ่ามือ กำลังปล่อยลำแสงจากดวงตามาหาผู้เขียน
แต่ก้าวแรกของการผลิตก็เป็นก้าวแรกที่ต้องเผชิญกับความยากในการขายสินค้าบนน่านน้ำแห่งวงการอาร์ตทอยด้วย
“ความหายาก” เป็นสิ่งสำคัญในสินค้าประเภทอาร์ตทอย เพราะให้ความรู้สึกที่ว่า “จะหาไม่ได้อีกแล้ว” และเป็นหนึ่งในคุณค่าที่กระตุ้นให้ผู้สะสมหรือคนนอกวงการเข้ามาจับจอง เราจะเห็นข้อความในลักษณะที่ว่า “ผลิตแค่จำนวนเท่านี้เท่านั้น” แต่อย่างไรก็ดีนี่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จนัก
“พอเห็นว่ามันขายยาก ก็ย้อนมาดูว่าอะไรจะขายได้วะ ? จังหวะนั้นผมกำลังจะหาพระพิฆเนศเข้าบ้าน จะไปซื้อของเพื่อน ซึ่งสวยมากนะ ต่อให้ผมทำ โอกาสที่จะชนะมันก็ยาก แต่พอแฟนผมไม่ชอบ รู้สึกว่าไม่ใช่ ไม่อิน เพราะเป็นสไตล์ผู้ชายมาก เขาไม่ได้รู้สึกว่าบ้านจะต้องมีสิ่งนี้อยู่ ผมก็ได้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบนี่หว่า เลยคิดทำเองดู” กานต์เล่าถึงจุดเริ่มต้นสร้างอาร์ตทอยพระพิฆเนศ
การออกแบบกล่องอาร์ตทอยสะท้อนความเป็น “ป็อปอาร์ต” ที่มีหน้าตาแตกต่างจาก “วัตถุมงคล”
ศรัทธาสู่อาร์ตทอย
รูปลักษณ์เปลี่ยนไป แต่ตัวตนยังคงอยู่
การรับรู้ของผู้เขียนถูกเขย่าประมาณหนึ่ง เมื่อได้รู้ว่า “พระพิฆเนศ” มีการออกแบบที่หลากหลายมาก ซึ่งไม่ใช่ในแง่ของปางหรือลักษณะท่าทาง แต่เป็นวิธีการออกแบบ วัสดุ กระทั่งหลักคิดในการออกแบบที่ค่อนข้างแปลกแหวกแนว จนศิลปินทั้งสองคนก็นึกไม่ถึง เช่น พระพิฆเนศที่มีร่างกายครึ่งหนึ่งเป็นสตรี พระพิฆเนศที่มีช่วงล่างคล้ายเสือ (ลักษณะคล้ายปางพระแม่ทุรคา) หรือกระทั่งพระพิฆเนศที่มีอิริยาบถทำกิจกรรมทั่วไปของมนุษย์ เช่น อาบน้ำในอ่าง ขับรถ นั่งเครื่องบิน
นั่นทำให้ความท้าทายในการออกแบบพระพิฆเนศของ Sukerthing หาใช่การท้าทายขนบเดิมของสังคม แต่คือ “การออกแบบใหม่ ๆ” บนโจทย์ทางสังคมที่ขยับเคลื่อนตลอดเวลา ที่ซึ่ง “ความขลัง” ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการมีอยู่ของรูปเคารพ
“เนี่ยเป็นตรงกลางระหว่างมึงกับแม่มึง” คอมเมนต์จากบุคคลปริศนาผู้หนึ่งในเฟซบุ๊กแฟนเพจของ Sukerthing
หลายครั้งที่ความต้องการของคนรุ่นใหม่แตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่สิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการถกเถียงถึงการมีอยู่ของเก้าอี้ไม้สักตัวภายในบ้าน การเผากระดาษให้บรรพบุรุษในวันไหว้เจ้า หรือกระทั่งรูปเคารพต่าง ๆ ที่คนรุ่นใหม่มักจะไม่วางในห้อง คอนโดฯ หรือบ้านสไตล์มินิมอล
เมื่อกานต์และโจมีพระพิฆเนศเป็นแกนหลักในการออกแบบอาร์ตทอยชิ้นต่อไป ขั้นตอนถัดมาจึงเป็นการหาแรงบันดาลใจเพิ่มเติม และสิ่งที่จะทำให้พระพิฆเนศองค์หนึ่งสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในบ้านหรือกลางใจของคนทุกวัยได้
ในช่วงแรกเริ่มกานต์และโจเน้นออกแบบให้พระพิฆเนศดูเรียบง่ายที่สุด หรือที่คนรุ่นใหม่อาจชินปากกับคำว่า “มินิมอล” แต่ทว่าความเรียบง่ายเหล่านั้นยังไม่ดึงดูดพอและหาความแตกต่างจากพระพิฆเนศองค์อื่น ๆ
หลังจากนั่งไถสมาร์ตโฟนหาแรงบันดาลใจอยู่นาน “ความป็อป” ก็เพิ่มเข้ามาในความคิด พวกเขาสนใจความ “ใกล้” ผู้คนมากที่สุด ยิ่งใกล้มากเท่าใด คนก็จะรู้สึกกับมันได้มากเท่านั้น ทั้งสองเจอ “บอลลูนอาร์ต” งานศิลปะที่ใช้ลูกโป่งในการสร้างสรรค์ ความเป็นลูกโป่งสอดรับกับความเรียบง่ายพ่วงความป็อป ทั้งสองจึงลองร่างแบบพระพิฆเนศลูกโป่งขึ้นและนำลูกโป่งจริงมาบิดให้เหมือนแบบดังกล่าว ซึ่งพบว่า “ทำได้”
นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ “พระพิฆเนศลูกโป่ง” เบิกเนตรในน่านน้ำอาร์ตทอย
ทว่าพระพิฆเนศลูกโป่งไม่ได้ทำมาจากลูกโป่งจริง ๆ กานต์และโจอธิบายว่า หากใช้ลูกโป่งจริง เมื่อเวลาผ่านไปสักพักมันจะเริ่มเหี่ยวและฟีบลง เขาทั้งสองจึงนำต้นแบบพระพิฆเนศจากการบิดลูกโป่งมาปรับมวลให้พองขึ้นในคอมพิวเตอร์ และพิมพ์ออกมาเป็นแบบสามมิติสำหรับขึ้นรูป ถัดมาก็เข้าสู่กระบวนการหล่อพระพิฆเนศด้วยเรซินหล่อตัน และสุดท้ายคือการลงสี จนเกิดเป็น “พระพิฆเนศลูกโป่ง” ที่น่ารักเหล่านี้นั่นเอง
“พอก้าวเข้ามาทำงานพระพิฆเนศก็กลัวดรามา ต้องไปถามพี่ ๆ น้อง ๆ คนใกล้ตัวที่เขาเคารพบูชาอยู่ หลายคนก็บอกว่าไม่เป็นไร ถ้าคนที่สะสมพระพิฆเนศจริง ๆ เขาจะรู้สึกว่าของเราคือธรรมดามาก” กานต์เล่าพลางหัวเราะถึงความกังวลในช่วงแรก
กานต์ยังบอกอีกว่า แท้จริงแล้วรูปเคารพเหล่านี้คือ “งานศิลปะ” ซึ่งเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์มาตั้งแต่อดีตกาล วิวัฒนา-การของศิลปะเหล่านี้หมายถึงสังคมที่เปิดกว้างขึ้นและเชื่อมต่อกันติดจนความศรัทธาไม่ห่างไกลจากกัน
ภาพต้นแบบพระพิฆเนศที่กานต์และโจได้แรงบันดาลใจจาก “บอลลูนอาร์ต” เพื่อตอบโจทย์งานศิลปะที่ “ใกล้ชิด” กับผู้คนมากที่สุดและกระบวนการขึ้นรูปเป็นสามมิติ
กว่า ๔ ปีแล้วที่พระพิฆเนศลูกโป่งยังคงสง่าอยู่ในสังคมไทย ขณะเดียวกันก็ลอยผ่านตาผ่านใจผู้คนมากหน้าหลายตาจนหลายคนต้องหามาจับจองให้ได้
กานต์เล่าต่ออีกว่ามีลูกค้าหลากหลายกลุ่มที่สนใจ ทั้งที่สักการบูชาจริงจัง เพิ่งเข้าวงการมูเตลู สะสมพระพิฆเนศหรือกระทั่งต้องการอาร์ตทอยไปตั้งในห้องเฉย ๆ เอาเข้าจริงคนที่สักการบูชามีมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ จนกานต์พูดติดตลกกับเราว่า “ช่วงนี้ต้องหาข้อมูลประกอบการขายแล้วว่าจะทำพิธีเบิกเนตรได้ที่ไหน เพื่อที่จะบอกลูกค้าได้”
ตลาดอาร์ตทอยขยายตัวกว้างกว่าแต่ก่อน เช่นเดียวกับความเคารพศรัทธาที่ไม่จำกัดอยู่แค่สิ่งเดิม หากแต่หมายถึงการยอมรับการเปลี่ยนแปลงและความศรัทธาที่ไหลไปอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่าง “การไหลของศรัทธา” ที่เห็นชัดที่สุดคงจะเป็นการขายรูปเคลื่อนไหวของพระพิฆเนศลูกโป่งบนบล็อกเชนของพวกเขานี่แหละ
“NFT เป็นศิลปะดิจิทัล แต่ผมดันทำ NFT ที่เกี่ยวกับความเชื่อ” กานต์เอ่ยพลางหัวเราะลั่น
เมื่อราว ๆ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ตลาดบล็อกเชนมีอิทธิพลต่อสังคมโลก non-fungible token (NFT) สินทรัพย์ออนไลน์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่ซ้ำใคร จับต้องไม่ได้ แต่ซื้อขายได้ ก็เข้ายึดครองน่านน้ำวงการศิลปะเช่นกัน
พระพิฆเนศบอลลูนในโลกศิลปะดิจิทัลที่หยิบสีประจำเดือนเกิดและราศีมาเป็นแนวคิดในการขายสินทรัพย์ออนไลน์
พระพิฆเนศบอลลูนในมุมมองของนักสะสมอาร์ตทอย เปรียบเสมือน “ของแต่งบ้าน”
งานศิลปะทุกรูปแบบจะถูกศิลปินเจ้าของผลงานดัดแปลงเป็นสินทรัพย์รูปแบบดังกล่าวเพื่อเพิ่มมูลค่าของตัวงานและขยายตลาดการซื้อขายที่ครอบคลุมทั้งโลก กานต์และโจก็ไม่อยากตกขบวนรถไฟสายใหม่นี้ จึงพาพระพิฆเนศลูกโป่งกระโจนขึ้นรถไฟด้วยเช่นกัน แม้รูปเคารพนี้จะดูสวนทางกับความเป็นดิจิทัลในโลกใหม่เพียงใดก็ตาม
แต่ด้วยภาระงานที่รัดตัวของทั้งกานต์และโจ การลงขายงานบนตลาด NFT ด้วยแบรนด์ Sukerthing ก็ไม่ได้วางแผนชัดเจนนัก เป็นการลองตลาดมากกว่า
กานต์อธิบายเพิ่มว่า การขายงานบนตลาด NFT จำเป็นต้องมีกลยุทธ์เฉพาะตัว เช่น งานชุดหนึ่งต้องออกเป็นคอลเลกชันเพื่อให้คนติดตามได้ อาจต้องมีบริการหลังการขาย เช่น การผลิตองค์จริงให้ผู้ซื้อบน NFT หรือมี Discord โปรแกรมพูดคุยกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาแลกเปลี่ยนกับศิลปินได้
“ที่ลงขายไปคือไม่มีความรู้เลยครับ แต่ว่ากลัวโง่ กลัวจะพลาดอะไร เลยลองลงไป ก็เสียดายเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราศึกษาจริงจังอาจจะไปได้ไกลกว่านี้ ตอนนั้นขายราคากระจิริดมาก น้องที่ทำด้วยกันยังด่าเลยว่า พี่ไปลงราคาอะไรวะเนี่ย” กานต์เล่าพลางกุมขมับกับความไม่รู้ของตนเอง
ทุกวันนี้การขายพระพิฆเนศลูกโป่งของ Sukerthing ไม่ต่อเนื่องมาก ทั้งคู่มุ่งเน้นการออกแบบคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ มากกว่า
พระพิฆเนศหลากหลายรูปลักษณ์บนหิ้งบูชาสะท้อนบริบทสังคมที่ “เปลี่ยนแปลง” ในความเชื่อของผู้คนและกาลเวลา
ศรัทธาและความใกล้ชิด
ปัจจุบันตลาดพระพิฆเนศขยายตัวกว้าง หาได้จำกัดอยู่แค่ศรัทธาคุณอย่างเดียว แต่หมายถึง “ศรัทธาศิลป์” ที่ขยายขีดจำกัดของการผลิตสร้างรูปแบบต่างๆ
ทด-ธัชพล ธนาณัฐรดี หนึ่งในลูกค้าคนแรก ๆ ของ Sukerthing เล่าให้ฟังว่า เขาสะสมและบูชาพระพิฆเนศมาก่อนด้วยความสนิทสนมกับกานต์ผ่านการทำงานร่วมกันในวงการโฆษณา ทำให้กานต์เข้ามาปรึกษาเขาในช่วงแรกเริ่มที่จะทำพระพิฆเนศลูกโป่ง
“ดี ใช่เลยว่ะ ขอจององค์หนึ่งเลยนะ” ความรู้สึกแรกของทดหลังจากที่กานต์นำต้นแบบที่ร่างบนกระดาษมาให้ดู
ทดสนใจพระพิฆเนศลูกโป่งนี้มาก ด้วยดีไซน์และกระบวนการคิดที่จับต้องได้ มีเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังการผลิต และที่โดดเด่นที่สุดก็คงเป็น “ความโมเดิร์น” ที่ทำให้เขาหยิบไปวางเพื่อกราบไหว้บูชาหรือเพื่อตกแต่งบ้านให้สวยก็ได้
ตอนนี้ทดเก็บพระพิฆเนศลูกโป่งของ Sukerthing เกือบครบทุกตัวแล้ว จนต้องบอกกับตัวเองว่า “พอก่อน ไม่มีที่เก็บแล้ว” ทดเอ่ยขึ้นพลางหัวเราะร่วน
ทดไม่ได้มองว่า “พระพิฆเนศอาร์ตทอย” เป็นการลบหลู่แต่อย่างใด แก่นหลักของพระพิฆเนศคือ “ความเป็นเพื่อน” ที่เราเล่นกับเขาได้ ขณะเดียวกันคำว่า “ศรัทธา” ก็ขยับไปไกลกว่าความหมายเดิม เพราะไม่ได้หมายถึงรูปลักษณ์เท่านั้น หากแต่หมายถึง “ความชอบ” และ “ความใกล้ชิด” ที่เรามีต่อพระพิฆเนศองค์ใดองค์หนึ่งมากกว่า
“ผมว่าโลกเดี๋ยวนี้มันไกลแล้ว วิธีทำพระจากสมัยก่อนต้องอย่างนั้นอย่างนี้ หลัง ๆ มันก็มีเรื่องงานศิลป์ อาจไม่มีมวลสารอะไรเลย แต่องค์สวย มีการผลิตที่ดี ใช้เทคโนโลยีต่างจากที่เมื่อก่อนใช้คนปั้น ตอนนี้สังคมเปิดแล้ว คนเปิดใจมากขึ้น ไม่ว่าจะรูปลักษณ์แบบไหนก็เป็นเรื่องของความชอบเป็นหลัก เป็นศรัทธาที่เรามีต่อท่าน ซึ่งท่านไม่เคยถืออะไรอยู่แล้ว” ทดย้ำด้วยน้ำเสียงจริงจัง
Sukerthing อาจเป็นเพียงศิลปินเพียงสองคน แต่สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของ “ศรัทธา” ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย แม้พระพิฆเนศลูกโป่งจะขนาดเท่าฝ่ามือ แต่กลับทำให้รูปเคารพใกล้ชิดผู้คนมากขึ้นกว่าเดิม
“โปรเจกต์ถัดไปอาจเป็นพระพิฆเนศตามสีประจำวันเกิด” กานต์และโจบอกผู้เขียนก่อนจากกัน
“การสั่งซื้อสำเร็จ” ข้อความแจ้งเตือนบนโทรศัพท์ดังขึ้น หลังจากผู้เขียนกดซื้อ “พระพิฆเนศลูกโป่งองค์หลากสี”