Image
ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
Image
ไม้ผลริมทางอย่างหนึ่งของฤดูกาลนี้คือ “พุทรา” พันธุ์พื้นบ้าน ที่ยืนต้นตามริมถนนในชนบท ตลอดจนอาจขึ้นเป็นดงใหญ่ถัดเข้าไปอีก มันออกลูกดิบสีเขียวอ่อน ลูกสุกสีน้ำตาลให้เราเห็นชัดเจน และเมื่อแก่จัดก็ร่วงเต็มพื้นใต้ต้น ดูเหมือนผืนพรมสีน้ำตาลแดงจัดๆ
คนที่โตมากับพุทรานมสด, น้ำอ้อย, จัมโบ้, ซุปเปอร์, บอมเบย์ น่าจะไม่เคยลิ้มรสพุทราลูกเล็กๆ นี้ มันแทบสูญหายไปจากแวดวงผลไม้กระแสหลัก จะมีก็แต่พ่อค้าแม่ค้าบางเจ้า ที่เก็บลูกสด หรือเชื่อม กวน บดหยาบบดละเอียดมาตั้งขายให้คนมีอายุหน่อยได้รำลึกความหลัง รสมันไม่หวานจัด เนื้อก็ไม่มาก แถมมีกลิ่นเฉพาะตัว ที่ถ้าไม่คุ้นเคย ก็อาจไม่ชอบได้ง่ายๆ

แต่เพราะไอ้กลิ่นนี้แหละครับ พอเอามาเชื่อมมากวน เลยอร่อยถูกใจ แม้อาจเป็นความอร่อยที่เริ่มตกยุคแล้วก็ตาม
Image
นอกจากกินสด เชื่อม กวน ต้มน้ำหวาน มีสูตรแกงส้มบ้านๆ อยู่สูตรหนึ่ง คนมอญในเมืองไทยยังทำกินกันมาก คือ “แกงส้มผักบุ้งใส่พุทรา” เขาจะใช้ลูกสุกๆ ใส่ไปทั้งลูก เพื่อให้รสเปรี้ยวและกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์
Image
ถ้าอยากลองทำกิน ก็จอดรถลงเก็บลูกพรุนสุกตามข้างทางหรือหาซื้อมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วทุบพอแตก ใส่ถ้วยเตรียมไว้ ส่วนเครื่องปรุงและวิธีปรุง ก็ทำตามสูตรแกงส้มมาตรฐานได้เลย คือละลายพริกแกงส้มในหม้อน้ำ ยกตั้งไฟ เติมเกลือ น้ำปลา หรือน้ำปลาร้า พอเดือดพล่านดีจึงใส่ผักบุ้งไทยก้านอ้วนๆ ตัดท่อน ใบมะกรูดฉีก ตามด้วยชิ้นปลาสด เช่น ปลาช่อน ปลาเค้า ปลากระบอก ฯลฯ จากนั้นใส่ลูกพุทราทุบ ต้มด้วยกันไปสัก ๕ นาที กลิ่นเปรี้ยวเจือหอมของลูกพรุนจะโชยขึ้นมาเลยหละ ชิมรสให้ได้ที่ ถ้ายังเปรี้ยวไม่พอ อาจเติมน้ำคั้นมะขามเปียกหรือน้ำมะนาวได้
Image
Image
พุทรานอกจากให้รสเปรี้ยวแล้ว ยังหวานด้วย แถมผมพบว่ามันให้ความเป็นเมือกลื่นในน้ำแกง มิน่าเล่าคนมอญจึงชอบกิน เพราะวัฒนธรรมอาหารมอญมักนิยมผักมีเมือกลื่น เช่น กระเจี๊ยบ มะตาด ลูกส้าน ผักปลัง ซึ่งดีต่อระบบกระเพาะลำไส้ของมนุษย์มาก
Image
กินพุทราพันธุ์พื้นเมืองตามธรรมชาติมักพบหนอนในผลไม่มากก็น้อย ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะพุทรานั้นเป็นผลไม้สดรสหวานอร่อยครับ ทั้งค้างคาว ทั้งนก หนอนแมลงต่างๆ จึงชอบมาก

แต่เอ๊ะ! แล้วทำไมพุทราลูกสวยๆ ที่วางขายตามตลาดสด ซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ถึงได้กรอบกิ๊ก แถมไม่มีหนอนสักตัวเลยล่ะหนอ?

คิดสิคิด... 5555...
Image