Image

ผ้าป่านโบราณ
เล่าผ่านเหล่า (เซียน) ซือ

คิด-cool

เรื่อง : นุชจรี โพธิ์นิยม
(นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ศิลปกรรม : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
(นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

พบสิ่งน่าทึ่งใต้รูปทองมหาเทพผู้ปกปักวัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่) ย่านเยาวราช

ผิวเผินคือ ขุนพลนักรบจีน “อุ่ยท้อผ่อสัก” (韋馱菩薩) พระสกันทโพธิสัตว์-เทพธรรมบาลของชาวพุทธนิกายมหายาน รูปเคารพนั้นยืนสง่าด้วยชุดเกราะและมหามงกุฎดูวิจิตรงดงาม บ้างโยงว่าท่านเป็นโอรสพระอิศวร เทพองค์หนึ่งที่ชาวฮินดูสักการะ

ต่อเมื่อเหล่าซือ-ผู้คอยแนะนำสาธุชนที่มาอาราม ชวนสังเกตวัสดุใช้ขึ้นรูป
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงกระจ่างว่าไม่ใช่ศาสนวัตถุจากทองคำ ทองเหลือง โลหะ สำริด หรือไม้แกะสลัก  นี่คือ “เกี๊ยบติ๋วฮุกเสี่ย” (挾紓佛像) หรือ “พระพุทธรูปปิดผ้าป่านลงรัก” (เกี๊ยบติ๋ว หมายถึงการซ้อนทับด้วยผ้าป่าน) ศิลปกรรมของชาวจีนโบราณตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้น โดยมีรากวัฒนธรรมจากอินเดียและเอเชียกลาง

Image

ในฐานะเจ้าอาวาสลำดับที่ ๑ ของวัดย่งฮกยี่ พระอาจารย์สกเห็ง (續行大師) ผู้รับสมณศักดิ์จากในหลวงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรก สั่งสร้างพุทธศิลป์นี้และเทพเจ้าจีนอีก ๑๘ อรหันต์ ประดิษฐานในวัดเดียวกัน โดยมีกระบวนวิธีเกิดขึ้นที่เมืองจีน 

Image

เล่ากันว่าช่างหัตถ-กรรมขึ้นโครงหุ่นด้วยวัสดุหาง่ายอย่างไม้หรือดินปนทรายปิดทับด้วยผ้าป่านเสริมความแข็งแรง ก่อนใช้ผ้าป่านทาบโครงต้นแบบลงยางรักทับ ทำเช่นนั้นทีละชั้นแล้วรอจนแห้งจะได้วัสดุที่แข็งทนแต่เบาค่อยผ่าผ้าป่านออกจากหุ่น เรียกกรรมวิธีนี้ว่า “ทกทอ (脱胎)” ถ้าถอดแบบจากดินปนทรายจะเรียก “ทกซา (脱沙)” แล้วผนึกรอยผ่าโดยปั้นแต่งรายละเอียดด้วยยางรักผสมปูน ทับผ้าป่านอีกครั้ง แห้งสนิทคราวนี้จึงลงรักปิดทอง ได้องค์เทพที่งามสมบูรณ์จึงขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลสู่วัดจีนแห่งแรกบนแผ่นดินสยาม

กาลล่วง
มาห้าแผ่นดินร่องรอยที่ปกปิดเผยลวดลายการทอของแนวด้ายยืนและด้ายพุ่งที่ตัดกันเป็นตารางจิ๋วบนผืนผ้าป่านเป็นหลักฐาน-ตำราเล่าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษแก่ลูกหลานชาวจีนในไทย ราวครูท่านหนึ่งก็ไม่ปาน