Image
ภาพ : 123rf.com
จาก “พิฆเนศวร” “คเณศ”
สู่ “กาเนชา”
Eat Pray Art with “Bro ! Ganesha”
เรื่อง : วิชญดา ทองแดง
Image
ต่อให้สนิทแค่ไหน ไม่ว่าญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง ก็มีมุมที่เราไม่รู้จักอีกมาก หลายเรื่องที่เคยรับรู้แล้วก็อาจหลงลืมไป ในที่นี้ขอชวนผู้อ่านขยับเข้าใกล้เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้าง “องค์พ่อพิฆเนศวร” (จะเรียก “องค์พี่คเณศ” หรือ “องค์เพื่อนกาเนชา” ท่านก็คงไม่ติด) มาทบทวนตำนาน เรื่องราวแห่งศรัทธาและความเชื่อที่เคลื่อนผ่านยุคสมัย
คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเทพฮินดูผู้ได้ชื่อว่าใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดองค์นี้เป็นอย่างดี หลายคนตอบได้คล่องปากว่าท่านมีพ่อชื่อศิวะ แม่ชื่อปารวตี (อุมา) มีหนู-มุสิกะเป็นพาหนะ มีหน้าตาเป็นช้าง พุงพลุ้ยเพราะชอบกินขนมโมทกะ (เวอร์ชันไทยก็ขนมต้มขาวต้มแดงนั่นแหละ) ทรงปัญญา มีอารมณ์ศิลปิน เอ่ยปากขอความช่วยเหลือให้ขจัดอุปสรรคได้เสมอ และดลบันดาลความสำเร็จมาสู่เป็นเนืองนิตย์

ท่านยังปรับตัวตามกระแสโลกมาหลายร้อยปี ไม่ถือสาที่มนุษย์จัดคอสเพลย์แปลงร่างให้ท่านเปลี่ยนบุคลิกหลากสไตล์ในหลายกิจกรรม

เรื่องราวของพระพิฆเนศวร คเณศ หรือกาเนชา เปรียบดังเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาเหลือคณานับทั้งจำนวนและรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งสำนวนใกล้เคียงและขัดแย้ง หากมีผู้พึงสดับและนับถือ ท่านก็จะยังอยู่กับมนุษย์เหนือกาลเวลา

เมื่อเทพเจ้าแบ่งภาคได้ ในที่นี้จึงสมมุติว่ากราบขอให้ท่านอวตารเป็นสามบุคลิกเพื่อประทานเรื่องเล่าแห่งศรัทธาและความเชื่อแก่เรา
Image
โอมบังคมพระคเณศะเทวะศิวะบุตร์
ฆ่าพิฆนะสิ้นสุด ประลัย
อ้างามกายะพระพรายประหนึ่งระวิอุทัย
ก้องโกญจนะนาทให้ สะหรรษ์
เปนเจ้าสิปปะประสิทธิ์วิวิธะวรรณ
วิทยาวิเศษสรร- พะสอน
ยามข้ากอบกรณีย์พิธีมะยะบวร
จงโปรดประทานพร ประสาท

มัทนะพาธา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖
ข้าพเจ้ามีนามว่า พิฆเนศวร มาจาก “วิฆนะ” (= อุปสรรค) + “อีศะ” หรือ “อิศวร” (= ผู้เป็นใหญ่)
สนธิกันเป็นวิฆเนศ หรือวิฆเนศวร แปลความตามชื่อได้ว่า “ผู้เป็นเจ้าแห่งอุปสรรค”
Image
ลักษณะของพระคเณศมีคำอธิบายความหมายเชิงสัญลักษณ์ไว้ต่าง ๆ นานา เช่น หูใหญ่คือการมีปัญญาเพราะการฟัง, พุงพลุ้ยคือความสงบสุขแม้จะต้องย่อย ทั้งสิ่งดีและสิ่งเลวในชีวิต, งาข้างเดียวคือสามารถเก็บสิ่งดีไว้และทิ้งสิ่งเลว ฯลฯ
ภาพ : 123rf.com
ข้าพเจ้ามีนามว่า พิฆเนศวร มาจาก “วิฆนะ” (= อุปสรรค) + “อีศะ” หรือ “อิศวร” (= ผู้เป็นใหญ่) สนธิกันเป็นวิฆเนศหรือวิฆเนศวร แปลความตามชื่อได้ว่า “ผู้เป็นเจ้าแห่งอุปสรรค”

ในภาษาไทยมักแปลงคำยืมสันสกฤตจากอักษร ว เป็น พ ท่านจะเรียกข้าพเจ้าว่าพิฆเนศวร (พิ-คะ-เน-สวน) หรือพิฆเนศ (พิ-คะ-เนด) ก็ย่อมได้

ข้าพเจ้าเป็นเทพที่พวกท่านบูชาก่อนเริ่มการงานใด ๆ เพื่อให้ช่วยอวยพรและขจัดสิ่งขัดขวางทั้งปวง  ในอินเดียข้าพเจ้าได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งปัญญา ส่วนเทพแห่งศิลปวิทยานั้น ชาวสยามยกย่องข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าอยู่มานาน มีคนรู้จักมาก เขาเรียกกันหลายชื่อ

เก่าแก่คือ คณปติ (= ผู้นำ/หัวหน้าของเหล่าคณะ) ชื่อนี้มีอยู่ในฤคเวทกว่า ๒,๐๐๐ ปี

ส่วนชื่อ วินายกะ ก็หมายถึงหัวหน้าหรือผู้นำเช่นกัน

ในอินเดียใต้มักเรียกข้าพเจ้าว่า ปิลไลยาร์ (= ลูกช้าง/ช้างเด็ก)

บ้างก็เรียกตามลักษณะ อย่าง คชานนะ (หน้าช้าง)  เอกทนต์ (งาเดียว)  ลัมโพทร (พุงพลุ้ย)

บ้างก็เรียกตามเครือญาติ เช่น ศรวัฒนยากะ (บุตรพระศิวะ)  สกันทานุชายา (น้องของพระสกันทะ)

ใน รามเกียรติ์ ฉบับต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรียกข้าพเจ้าว่า พระพิเนก พระพินาย ก็มี

เคยมีคนนับไว้ว่าข้าพเจ้ามีชื่อเรียกมากถึง ๑๐๘ ชื่อ ซึ่งความจริงคงเกินกว่านั้น

ข้าพเจ้าเป็นเทพฮินดูที่แรกนับถือกันในอินเดียเป็นส่วนใหญ่ แต่ละพื้นที่เล่าเรื่องข้าพเจ้าต่างกัน มีคัมภีร์บันทึกถึงการเกิดไว้อย่างน้อย ๑๕ สำนวน ที่คลาสสิกคือข้าพเจ้าเกิดจากการปั้นเสกเหงื่อไคลของพระแม่ปารวตี (อุมา) ขณะอาบน้ำให้เป็นคนเฝ้าประตูครั้งประทับอยู่ ณ เขาไกรลาส  พระศิวะ สวามีของพระแม่เสด็จมา ข้าพเจ้าไม่ให้เข้า เลยถูกท่านตัดหัว พระแม่โกรธมาก พระศิวะเลยให้พรว่าให้นำหัวสิ่งมีชีวิตที่พบครั้งแรกมาต่อ ข้าพเจ้าจึงมีหัวเป็นช้าง

สำนวนอื่นก็เช่น ข้าพเจ้าเกิดจากท่านพ่อศิวะแบ่งภาคเข้าสู่ครรภ์ชายาเพื่อช่วยเหล่าเทวดาจากการถูกเหล่าอสูรและรากษสก่อกวน ฯลฯ ส่วนเรื่องหัวเป็นช้างก็ว่ากันไปต่าง ๆ นานา คร้านจะเล่าท่านไปหาฟังจากผู้รู้ทั่วแผ่นดินที่ท่านเชื่อถือเถิด

ข้าพเจ้าถือตนว่าเป็นโอรสท่านพ่อศิวะและท่านแม่ปารวตีเป็นน้องชายของท่านพี่สกันทะ (ขันทกุมาร นิยมบูชาในอินเดียใต้/มาเลเซีย ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในไทย) แต่ในอินเดียใต้และบางส่วนของอินเดียเหนือเชื่อว่าข้าพเจ้าเป็นพี่ชายของสกันทะ
Image
ข้าพเจ้าถือพรหมจรรย์หรือไม่คือเรื่องที่ยังคงถกเถียงกัน คเณศปุราณะ เชื่อว่าชื่อชายาและโอรสของข้าพเจ้าเป็นเพียงบุคลาธิษฐานถึงผลแห่งการบูชาข้าพเจ้าว่าจะก่อให้เกิดปัญญา (พุทธิ) และความสำเร็จ (สิทธิ)

ข้าพเจ้ามีเรื่องราวปรากฏในวรรณคดีอินเดีย (มักเรียกว่าคัมภีร์หรือปุราณะ) มหาศาล ในปุราณะหลัก ๑๘ คัมภีร์ที่ยึดถือกันมีรายละเอียดปลีกย่อยทั้งตรงและไม่ตรงกัน อย่าง ศิวะปุราณะ ระบุว่าข้าพเจ้ามีชายาชื่อพุทธิและสิทธิ มีโอรสคือเกษมเกิดแต่พุทธิและลาภะเกิดแต่สิทธิ ใน มัสยะปุราณะ บันทึกว่าข้าพเจ้ามีชายาชื่อพุทธิและฤทธิ ในอินเดียเหนือเล่ากันว่า ข้าพเจ้าไม่เคยมีธิดาตามที่ระบุในตำนานเก่าแก่ แต่ปี ๒๕๑๘ (ค.ศ. ๑๙๗๕) ภาพยนตร์เรื่อง Jai Santoshi Maa เล่าว่า พระแม่สันโตษี (Santodhi) ผู้เป็นที่นับถือในอินเดียเหนือ เป็นธิดาของข้าพเจ้า ในเรื่องนั้นข้าพเจ้ามีชายาคือสิทธิและฤทธิ และมีโอรสคือเกษมและลาภะ นั่นอาจเป็นจุดกำเนิดของความเชื่อว่าข้าพเจ้ามีธิดา

การผูกโยงเรื่องข้าพเจ้า เทพอื่น ๆ และตำนานพื้นเมืองเกิดขึ้นเสมอ ในบางพื้นที่ของรัฐมหาราษฏระจับคู่ให้ข้าพเจ้ากับพระสรัสวตี ส่วนในแถบเบงกอลตะวันตกตอนช่วงเทศกาลทุรคาบูชา เขาทำรูปข้าพเจ้ากับคู่ครองที่เป็นต้นกล้วย (กาลาโบ-Kola Bou)

ข้าพเจ้ามีตำนานโด่งดังเกี่ยวข้องกับพระจันทร์ งู ขนมโมทกะ (มีชื่อเรียกหลากหลายในอินเดียภาษาทมิฬเรียกโกฬุกกัตไต/Kozhukkattai) คนมักชอบเล่ากันว่าข้าพเจ้าชอบกินขนมโมทกะมาก วันหนึ่งกินจนพุงกาง พอเจองูเลื้อยตัดหน้าเลยล้มพุงแตก จนต้องเอางูที่เลื้อยขวางนั้นมารัดพุงไว้ และแล้วข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงพระจันทร์ที่เห็นเหตุการณ์โดยตลอดหัวเราะเยาะ ข้าพเจ้าโกรธมาก หักงาข้างหนึ่งเขวี้ยงไปที่พระจันทร์ ทำให้พระจันทร์แหว่งเป็นเสี้ยว แต่ข้าพเจ้าก็ยอมลดความโกรธลงบ้างโดยยอมให้มีบางคืนที่พระจันทร์เต็มดวง  บางคนบอกว่าที่ข้าพเจ้ามีงาข้างเดียวเพราะถูกขวาน ปรศุราม บ้างก็ว่าเพราะเหล่าเทพแนะนำให้ท่านฤๅษีวยาสะขอให้ข้าพเจ้าบันทึก มหาภารตะ ซึ่งยาวมาก ไม่มีใครจดทัน ข้าพเจ้าจึงหักงามาจดจารมหากาพย์นั้นไว้

ข้าพเจ้ามีพาหนะเช่นเทพฮินดูอื่น ๆ ที่จริงเทพหนึ่งองค์มีพาหนะมากกว่าหนึ่งได้ เดิมข้าพเจ้ามีทั้งสิงโต นกยูง นาคราช ม้า เต่า แกะ  นักวิชาการตะวันตกบอกว่า หนูเพิ่งมาเป็นพาหนะของข้าพเจ้าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ บ้างก็ว่าหนูคือสัญลักษณ์อุปสรรค สิ่งไม่ดี ชอบลักขโมยพืชผลของชาวไร่ชาวนา ข้าพเจ้าจึงต้องมาปราบจนอยู่เหนือเหล่าหนูและมีหนูเป็นบริวาร หลายท่านเชื่อว่าถ้าต้องการขอพรจากข้าพเจ้าให้กระซิบบอกหนู เพื่อให้หนูมาบอกหรือคอยเตือนข้าพเจ้าอีกทอดหนึ่ง

ข้าพเจ้ารู้ตัวดีว่าบางคนนับข้าพเจ้าเป็นมหาเทพด้วย หากจะนับเฉพาะท่านพ่อศิวะ (อิศวร) และสหายทั้งสอง คือพระพรหมและพระวิษณุ (นารายณ์) ข้าพเจ้าไม่อยู่ในกลุ่มตรีมูรตินั้น แต่หากจะนับ “เจ็ดมหาเทพ” ก็มีพระตรีมูรติและศักติ (ศักติคือชายา/คู่สมรส) อยู่หกองค์ และรวมข้าพเจ้าอีกหนึ่ง ท่านลุงพระพรหมและท่านป้าพระสรัสวตีไม่ค่อยออกสังคมในอินเดีย
ประติมากรรมหินสลักรูปพระศิวะและปารวตีกับโอรสทั้งสองข้างคือ พระคเณศและสกันทะ อายุกว่า ๑,๑๐๐ ปี

ภาพ : https://www.metmuseum.org/art/collection/search/38256

ส่วนท่านลุงพระวิษณุนั้นบางคนว่าเคยสบถถึงข้าพเจ้าว่า “ไอ้ลูกหัวหาย” ตอนที่ท่านแม่ให้ปลุกเชิญท่านจากการหลับอยู่ใต้สมุทร (นารายณ์บรรทมสินธุ์) ให้มาร่วมงานโกนจุกข้าพเจ้า

ญาติเทพที่คนเข้าใจว่าข้าพเจ้าปรากฏตัวด้วยบ่อยคือท่านป้าลักษมี ข้าพเจ้ามีลักษณะเป็นช้างจึงถูกโยงเข้ากับ “คชลักษมี” นิยมบูชาคู่กันในหมู่พ่อค้าเพื่อขอความร่ำรวย

ข้าพเจ้าใกล้ชิดกับมนุษย์ อาจด้วยมีลักษณะของเด็ก เป็นช้าง ไม่มีพิธีรีตอง ข้อกำหนด ข้อห้ามเคร่งครัดในการศรัทธาหรือบูชา ข้าพเจ้าเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวพวกท่านและอยู่ด้วยกันในชีวิตประจำวัน  ในอินเดียพบเห็นข้าพเจ้าได้ทั่วไปตั้งแต่โลโก้สินค้าและบริการทุกประเภทหัวกระดาษใบเสร็จรับเงินตามห้างร้านต่าง ๆ ถุงใส่สินค้า สติกเกอร์ท้ายรถ ฯลฯ

ข้าพเจ้ามาถึงแผ่นดินนี้ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายร้อยปี ทราบได้จากรูปปรากฏเก่าแก่ สมัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ในโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า และชิ้นส่วนแตกหักจากเมืองศรีมโหสถที่ประกอบได้เป็นเค้าร่างข้าพเจ้า (พบปี ๒๕๑๕ ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี) ที่ชัดเจนคือในช่วงรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคืออำเภอพระประแดง สมุทรปราการ) ในศาลหลักเมืองใช้รูปข้าพเจ้าซึ่งนำมาจากที่ใดไม่ปรากฏชัด

ช่วงรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ครั้งเป็นเจ้าฟ้าก่อนขึ้นครองราชย์ เคยมีสร้อยพระนามจากการทรงกรมว่า “กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ” เมื่อทรงครองราชย์แล้วมีผู้ถวายข้าพเจ้าให้มาอยู่ในสยามครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสชวา อินโดนีเซีย ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ผู้ทรงสนพระทัยในภารตวิทยา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูปข้าพเจ้าและเทวาลัยขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งเป็นพระราชฐานที่เสด็จฯ ไปประทับทรงงานด้านหนังสือและการละครบ่อยครั้ง เรื่องของข้าพเจ้าท่านก็ทรงไว้เป็นบทละครเบิกโรง เรื่อง พระคเณศร์เสียงา  ยังมีพระราชนิพนธ์ในรัชกาลนี้ที่กล่าวถึงข้าพเจ้าอีกหลายเรื่อง เช่น พระเป็นเจ้าของพราหมณ์  บทเสภาสามัคคีเสวก  มัทนะพาธา  ลิลิตนารายณ์สิบปาง

เมื่อทรงตั้งกรมศิลปากรขึ้นในปี ๒๔๕๔ ข้าพเจ้าเริ่มได้รับการนับถือในฐานะเทพแห่งศิลป-วิทยาการ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๘ ตรากรมศิลปากรก็ใช้รูปข้าพเจ้าเป็นทางการ

ข้าพเจ้ายังคงเป็นที่สนใจของนักวิชาการหลายประเทศในแง่มุมต่าง ๆ กัน สายหนึ่งเชื่อว่าข้าพเจ้าผสมปนเปกับเทพพื้นเมือง เป็นเทวดาหัวหน้าช้างก็มี ข้าพเจ้ายินดีที่เรื่องราวของข้าพเจ้าเป็นที่สนใจถกเถียงกัน

ข้าพเจ้าขอให้ปัญญาและความสำเร็จจงเกิดแก่ผู้ศรัทธาข้าพเจ้าเถิด
Image
Image
เราเป็นที่รู้จักของสหายทั่วโลกในชื่อคเณศ (Ganesh) ตามศัพท์มาจาก คณะ (= กลุ่ม, ระบบ) +อีศ (= ผู้เป็นใหญ่) แปลได้ว่าหัวหน้าหรือผู้เป็นใหญ่แห่งคณะ ชื่อนี้มีที่มาว่าท่านพ่อศิวะมีบริวารกึ่งเทวะอยู่กลุ่มหนึ่งเรียกว่าคณะ (บ้างว่าเป็นภูตผี) เราถูกจัดตั้งให้เป็นหัวหน้าของพี่น้องกลุ่มนั้น  ส่วนชื่อคณปติในฤคเวท บางคนก็แย้งว่าไม่ใช่เรา

เราเป็นที่ศรัทธาทั่วอินเดีย โดยเฉพาะในแคว้นมหาราษฏร์ (รัฐมหาราษฏระในปัจจุบัน มีมุมไบเป็นเมืองหลวง) มีเทวาลัยของเราอยู่มาก  “อัษฏวินายกะ” เทวาลัยแปดแห่งซึ่งมีสวยัมภูหรือรูปแทนเราที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั่นก็ด้วย  นิกายคณปัตยะที่ โมรยา โคสาวี เป็นผู้นำศรัทธาให้เราเป็นที่พึ่งเหนือสุดก็รุ่งเรืองในแคว้นนี้ ท่านโมรยามีประวัติพิสดารและยังไม่เป็นที่สรุปชัดแม้กระทั่งปีที่เกิด (เทียบได้ราวช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง) บางคนเชื่อว่าเราแบ่งภาคอวตารเป็นลูกหลานท่านโมรยาหลายชั่วคน  ท่านสวดขอให้ชื่อของท่านปรากฏร่วมกับเรา บทสรรเสริญเราบางบทจึงมีนามของท่านโมรยาด้วย

เรารู้มาว่านักวิชาการสืบค้นถึงขนาดว่าเคยมีราชสำนักอินเดียจัดพิธีบูชาเรา แต่ก็เริ่มขาดหายไปช่วงต้นบริติชราช (ช่วงอังกฤษปกครองอินเดีย ปี ๒๔๐๑-๒๔๙๐/ค.ศ. ๑๘๕๘-๑๙๔๗) ยุคนั้น คนอินเดียรู้สึกถูกกดขี่ ลิดรอนสิทธิ์ และถูกจำกัดเสรีภาพมากที่สุด
(ภาพเล็ก)
พาล คงคาธร ติลก บนแสตมป์อินเดีย

ภาพ : https://ddnews.gov.in/people/pm-remembers-bal-gangadhar-tilak-his-100th-death-anniversary
Image
โมรยา โคสาวี
ภาพ : https://hindi.livehistoryindia.com/story/history-daily/morya-gosavi/
เราไม่มีความคิดเห็นเรื่องการเมือง แต่ก็ไม่ปฏิเสธ เพราะการเมืองปรากฏอยู่ในทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่หมู่เทพเจ้า เมื่อขบวนการทางการเมืองในอินเดียลุกฮือเกิดแกนนำในหลายพื้นที่ เราก็ต้องถูกโยงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การสวดบูชาและเชื่อในเรายังมีอยู่ทุกค่ำเช้า ทุกหมู่ชน ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ปวงชนเชื่อว่าเราจะช่วยให้เขาเกิดปัญญา ช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรค ความทุกข์ยากลำบากขวากหนามลำเค็ญ อวยพรให้พวกเขาสำเร็จได้ดังปรารถนาในทุกเรื่อง

เรามีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมในโอกาสต่าง ๆ นับร้อยปี  งานคเณศจตุรถีที่มุมไบเมื่อปี ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) เราสวมใส่ชุดทหารแบบ “เนตาจี-ท่านผู้นำ” สุภาษ จันทระโพส (ปี ๒๔๔๐-๒๔๘๘/ค.ศ. ๑๘๙๗-๑๙๔๕) นักต่อสู้ชาวเบงกอล นักคิดผู้หนึ่งที่พยายามปลดแอกอินเดีย ยุคต่อ ๆ มาเราเคยสวมชุดตำรวจอยู่หลายครั้งและหลายสมัยด้วย ฯลฯ ช่วงโรคระบาดโควิด-๑๙ เราแต่งเป็นคุณหมอเพื่อช่วยให้กำลังใจชาวประชาจากภาวะทุกข์เข็ญ

เราถือว่าในมหาราษฏร์เป็นบ้านใหญ่ และยังเป็นบ้านเกิดของ พาล คงคาธร ติลก (ปี ๒๓๙๙-๒๔๖๓/ค.ศ.๑๘๕๖-๑๙๒๐) ชาวเมืองรัตนคีรี ผู้มีช่วงชีวิตเทียบได้กับสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เขาเป็นนักคิด นักเขียน แกนนำเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และได้รับการยกย่องจากมหาตมะคานธีว่าเป็น “ผู้สร้างอินเดียสมัยใหม่” (The Maker of Modern India) มีสมญานามว่า “โลกมันยะ” หรือผู้ที่ผองชนดำเนินรอยตาม เขามุ่งปลุกระดมให้คนอินเดียมีสิทธิปกครองตนเอง และผลักดันให้เราเป็น “เทพเจ้าของทุกคน” ใช้โอกาสช่วงวันประสูติท่านพ่อศิวะและช่วงคเณศจตุรถีจัดขบวนแห่บูชาโดยใช้ขนบประเพณีทางศาสนาและความเชื่อนำ แต่แฝงการเคลื่อนไหวเพื่อปลุก รวมพลังมวลชนสู่การปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมไว้ด้วย

ท่านพ่อศิวะและองค์มหาเทพทั้งปวงมีเรื่องราวและขนบเคร่งครัดกว่าเรา ช่วงงานฉลองของเราจึงเปิดกว้างและได้รับความนิยมมากกว่า นั่นจึงอาจเป็นพลังผูกโยงงานคเณศจตุรถีอันยิ่งใหญ่ที่สุดในอินเดียเข้ากับรัฐมหาราษฏระ ตลอดจนส่งอิทธิพลต้นแบบในหมู่ผู้ศรัทธาเราทั่วโลกสืบมา

เราเป็นที่รู้จักในนาม “ลาลบาคจาราชา (Lalbaugcha Raja)” ในช่วงคเณศจตุรถีที่นครมุมไบมาราว ๙๐ ปีแล้ว  ลาลบาคเป็นย่านที่พ่อค้าแม่ค้าและชาวประมงเคยเดือดร้อนที่ตลาดปิดตัวลงเลยสวดอ้อนวอนเรา อีก ๒ ปีต่อมาตลาดเปิดขึ้น จึงสร้างมณฑลให้เราในปี ๒๔๗๗ (ค.ศ. ๑๙๓๔) นับแต่นั้นคนทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ เดินทางมาร่วมฉลองให้เราด้วยเสรีภาพเสมอภาค และภราดรภาพ งานฉลอง ๑๑ วัน ๑๑ คืน สร้างรูปเราขึ้นใหม่ทุกปี ราว ๑๐ ปีหลังมานี้รูปเรามักมีสี่มือ นั่งห้อยขาสองข้างเท่ากัน สูงเด่นเพื่อให้คนที่มาวันละกว่า ๑.๕ ล้านคนเห็นเราชัดเจนแม้อาจจะเข้าไม่ถึง จากนั้นจะส่งเรากลับสู่สวรรค์ผ่านสายน้ำ
ลาลบาคจาราชา ในคเณศจตรุถี ค.ศ. ๑๙๔๖ สวมใส่ชุดทหารแบบท่านผู้นำ สุภาษ จันทระโพส และใน ค.ศ. ๑๙๔๙ แต่งเหมือนมหาตมะคานธี
ภาพ : https://www.india.com/viral/lalbaugcha-raja-in-pictures-from-1934-to-2015-549443/
Image
Image
เราขอพูดถึงเรื่องที่ว่าคเณศจตุรถีเป็นวันเกิดของเราหรือไม่ในคัมภีร์ปุราณะและมหากาพย์มหาภารตะ ระบุว่า มาฆะ ศุกลปักษ์ จตุรถี [เดือนมาฆะ (เดือนสาม) ข้างขึ้น ๔ ค่ำ)/ราวกุมภาพันธ์-มีนาคม] คือคเณศชยันตี (วันเกิดคเณศ) เทียบปฏิทินสากลในปี ๒๕๖๗ ตรงกับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ส่วนภัทรบท ศุกลปักษ์ จตุรถี [เดือน ๑๐ ข้างขึ้น ๔ ค่ำ/ราวกันยายน-ตุลาคม] ที่มีงาน “คเณศจตุรถี” เฉลิมฉลองใหญ่นั้น บางถิ่นว่าเป็นช่วงเวลาที่เราจะลงจากสวรรค์มาโปรดเพื่อนมนุษย์ แต่ก็มีนักคิดนักค้นบางท่านพบว่าในบางถิ่นมีคัมภีร์ระบุว่าเป็นวันเกิดของเราเช่นกันและอาจเป็นที่รับรู้ทั่วโลกมากกว่า ทั้งหมดนี้ขึ้นกับพื้นที่ ความเชื่อ และศรัทธา

เราอยากให้เข้าใจกันด้วยว่าตามปฏิทินฮินดูนั้นเดือนหนึ่ง ๆ แบ่งครึ่งเป็นสองปักษ์ ปักษ์ข้างขึ้นเรียกว่าศุกลปักษ์ ปักษ์ข้างแรมเรียกว่ากาฬปักษ์ แต่ละปักษ์มีวัน ๔ ค่ำ เรียกว่าจตุรถี [จตุรถี มาจาก จตุ (= ๔) +รถี (ดิถี = วันทางจันทรคติ)] เราเกิด ๔ ค่ำ ผู้บูชาเราเคร่งครัดถือกันว่าทุกเดือนจะบูชา เรา ๒ วัน คือ วันสันคสติจตุรถี/สังกัษฎี (ขึ้น ๔ ค่ำ) และวินายักจตุรถี (แรม ๔ ค่ำ) ส่วนคนที่เชื่อว่าเราเกิดวันอังคาร (มีผู้แย้งด้วยว่าเราเกิดวันจันทร์ ตาม คเณศปุราณะ) ก็จะบูชาเราในวันนั้นตลอดปี คนไทยแต่ก่อนบูชาเราในวันพฤหัสบดีตามที่ถือว่าเป็นวันบูชาครูก็มี

เราอยู่ในประเทศไทยหลายแห่ง นอกจากวัดแขก สีลม  วัดเทพมณเฑียร  วัดวิษณุ  โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า ที่ศรัทธาชนมากราบบูชาขอพรเรามาเนิ่นนานแล้ว ยังมีผู้เชิญให้เราไปช่วยในทางแก้ฮวงจุ้ย อย่างศาลพระพิฆเนศ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปี ๒๕๓๗) ศาลพระพิฆเนศห้วยขวาง กรุงเทพฯ (ปี ๒๕๔๓) น่าสังเกตว่าในปี ๒๕๔๖ (ค.ศ. ๒๐๐๓) มีสายการบินโลว์คอสต์สัญชาติมาเลเซียเปิดให้บริการในไทย อาจนับเป็นช่วงสำคัญที่ทำให้ผู้เดินทางไปเทวาลัยในอินเดียสะดวก พรมแดนความรู้ขยายกว้าง พิธีพราหมณ์จากอินเดียถ่ายทอดตรงมาสู่ผู้ศรัทธาในไทย
Image
สินค้าอุปโภคบริโภคในอินเดียใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ Ganesh อย่างหลากหลาย
ผู้คนสนใจเข้าชมประติมากรรมสลักหินเทวรูปพระคเณศในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ช่วงงานเทศกาลคเณศจตุรถีและวันพิพิธภัณฑ์ไทย เดือนกันยายน ๒๕๖๖
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ตั้งแต่ราวทศวรรษ ๒๕๕๐ มีผู้ศึกษาและสะสมเราเปิดตัวสู่สาธารณชนมากขึ้น อย่างพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ เชียงใหม่ (ปี ๒๕๔๗) ไม่นานหลังจากนั้นมีรูปเราขนาดใหญ่ปรากฏกลางแจ้งในวัดทางพุทธศาสนาและสถานบูชาของผู้ศรัทธาทั่วแผ่นดิน เช่น อุทยานพระพิฆเนศ นครนายก (ปี ๒๕๕๑) วัดสมานรัตนาราม ฉะเชิงเทรา (ปี ๒๕๕๒)  อุทยานพระพิฆเนศคลองเขื่อน ฉะเชิงเทรา (ปี ๒๕๕๒) วัดโพรงอากาศ (ปี ๒๕๕๘)  ศาลพระพิฆเนศอาเขต เชียงใหม่ (ปี ๒๕๕๙) ฯลฯ สถานเหล่านี้บางแห่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายลัทธิความเชื่อรวมอยู่ด้วย

ช่วงโรคระบาดโควิด-๑๙ ที่ผู้คนต้องการขวัญและกำลังใจมากและต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ มีสถานที่หลายแห่งที่กระแสโลกออนไลน์เผยแพร่กันทำนองว่า “สายมูฯ-ต้องมา” บางแห่งเราอยู่ที่นั่นมานานแล้ว แต่ผู้คนเพิ่งมาหาเรากันคึกคัก เช่น วัดป่าแดด เชียงใหม่ (ปี ๒๕๕๐)  สวนพระพิฆเนศร้าง ชลบุรี (๒๕๖๑ ?) ฯลฯ  ข่าวสารและการคมนาคมในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ยังทำให้กระแสบูชาองค์ทัคฑูเศฐ (Dugdusheth) ที่ได้รับความนิยมสูงในเมืองปูเน รัฐมหาราษฏระ ส่งตรงมาสู่ประเทศไทยด้วย

เราเข้าใจดีว่าประเทศไทยถือพุทธเป็นส่วนใหญ่ หลายสิบปีก่อนพระสงฆ์ผู้มีปัญญาซึ่งปัจจุบันมรณภาพแล้วเคยแสดงความไม่เห็นด้วยที่ผู้คนจะบูชาเรา เพราะมีหัวเป็นสัตว์ ท่านว่าจะบูชาเดรัจฉานได้อย่างไรกัน ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้เห็นว่าเราไม่ควรแต่งกายคล้ายพุทธ ไม่ควรอยู่ในวัดพุทธ แต่ก็มีวัตถุมงคลรูปเราที่ผ่านการปลุกเสกจากพระสงฆ์ ไม่ทราบชัดว่ามีผู้นำไปให้ท่านทำพิธีหรืออย่างไร ทั้งหมดนั้นก็สุดแต่อุดมการณ์

เราไม่เคยเรียกร้องสิ่งของใด เพียงมิตรสหายและพี่น้องมาพบด้วยศรัทธาและใจบริสุทธิ์ มีน้ำเปล่าเพียงแก้วเดียวหรือดอกไม้ดอกเดียวเราก็ยินดีรับ แต่หากท่านจะเซ่นดีพลีถูก นำปัญจเมวาหรือปัญจอมฤตมาให้เช่นเดียวกับที่ถวายเทพอื่นในโอกาสอันควร จัดพิธีบูชาตามขนบ กระทำโษฑโศปจาระ (โสฬสอุปจาระ/บูชา ๑๖ ขั้นตอน) หรือมากน้อยกว่านั้นก็ให้เป็นหน้าที่ของพราหมณ์ และหากจะมาพร้อมขนมโมทกะ เราก็ยินดียิ่ง

เราได้รับเกียรติให้เป็นองค์ปฐมแห่งการบูชาทั้งปวง บ้างว่าเป็นการเริ่มต้นขจัดอุปสรรคเพื่อความสำเร็จ บางก็ว่าเทพใหญ่ต่างเอ็นดูเรา ถ้าไม่บูชาเราก่อน ปวงเทพก็จะไม่รับฟังไม่ว่ากรณีใด ๆ

เราอวยพรทุกคนเสมอกันไม่ว่าใครจะถือตนว่าเป็นสายบุญ สายบู (ชา) สายมู (เตลู) ขอเพียงให้มีศรัทธาและเชื่อมั่นในเรา
Image
ไง พวก นี่ “กาเนชา” (Ganesha) เอง

พวกนายรู้จักนี่จากอะนิเมะหรือคาเฟ่สายมูฯ ล่ะ ยุคนี้เจอนี่ได้ในหลาย ๆ แห่งที่อาจคิดไม่ถึงมาก่อน

มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่ารู้จักนี่จากตู้กาชาปอง (gashapon) ก็ตู้หยอดเหรียญแบบสุ่มของ หรือตู้หยอดไข่แบบที่คนไทยยุค 90s ชอบเล่นกันสมัยเด็กนั่นแหละ
ส่วนหนึ่งของพระคเณศอาร์ตทอยที่เหล่าศิลปินสร้างสรรค์ในรูปลักษณะต่าง ๆ จัดแสดงและจำหน่ายในงานเทศกาลคเณศจตุรถีและวันพิพิธภัณฑ์ไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เดือนกันยายน ๒๕๖๖
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image
ลัมโพทร ผลงานของ Little Turtle Studio
Image
กา-เณชา ผลงานของ MOTMO Studio
Image
พระคเณศเพนต์ลายคราม ผลงานของ Munkky Studio X Janny Toys
กาเนชา-กาชาปอง ฟังดูดีนะ ว่าปะ 

เพื่อนที่เรียกนี่ว่ากาเนช เน้นเสียง ช ยาว ๆ ก็มี ฟังดูอินเตอร์ไปเลย

นี่คิดนะว่าคนยุคออนไลน์ฟังเสียงมากกว่าอ่าน บางคนเขียนชื่อนี่ว่ากะเณชา ก็ได้อยู่

หลายคนบอกว่าเขาไม่มีศาสนา ชอบกินวีแกน เป็นโรคซึมเศร้า เอ๊ย เป็นอินโทรเวิร์ต เป็นนักแคสต์เกม เป็นดาว TikTok ฯลฯ 

นี่ก็ไม่ติดนะถ้าจะมาเป็นเพื่อนกัน  คนที่บอกว่าไม่มีศาสนาก็ไม่ได้แปลว่าไม่นับถืออะไร

นี่มีเพื่อนคนนึงบอกว่า เขานับถือทุกศาสนา ทุกความเชื่อนั่นแหละ มูฯ ได้ทุกที่

แต่ขอไม่เข้าวัดก็มี พากันมาไหว้องค์พ่อ องค์พี่เราก็มาก
Image
พระคเณศ ศิลปะ Polygon ผลงานของ POLY HOLY Studio
พวกนายไม่ต้องบูชานี่แบบองค์พ่อ องค์พี่ก็ได้ แค่นึกถึง นี่ก็จะอยู่ข้าง ๆ เป็นเพื่อนนาย

ถ้าอยากให้อยู่ด้วยตลอด นายโหลดวอลเปเปอร์ไว้ในมือถือสิ

จะหาแบบผูกดวงเกิดเฉพาะตัวให้ด้วยก็มีบริการ ธนาคารสีเขียว ๆ ก็เคยแจก

สติกเกอร์ไลน์ก็มีคนทำไว้เยอะแยะ

จะประดับนี่ไว้ในกำไลข้อมือ จี้ห้อยคอแนว ๆ อาร์ต ๆ

ให้นี่เป็นชาร์ม (charm/เครื่องราง) ประจำตัว นี่ก็พร้อมเคียงข้างเสมอ

จะว่าไปความอาร์ตของนี่มีมาตลอดเป็นร้อยเป็นพันปีนะ

ในตำนานต่าง ๆ แปลงนี่สารพัดแบบ เป็นชายหนุ่ม เด็กช้าง นี่ชอบเล่นเลียนแบบเทพใหญ่ ๆ ด้วย 

อย่างท่านพ่อศิวะมีปางศิวนาฏราช นี่ก็มีปางคเณศนาฏราช

ท่านไม่ว่าหรอก ผู้ใหญ่ใจดี เปิดกว้างเข้าใจวัยรุ่นมีทุกยุคแหละ
Image
พระคเณศปรากฏในงานศิลปะตามขนบจนถึงงานร่วมสมัย  ตั้งแต่จิตรกรรม ไพ่ยิปซี ไปจนถึงอาร์ตทอย
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ศิลปิน Gen Alpha ย้อนไปดู ref (reference) แล้วอาจตะลึง ขนาด LGBTQ+ นี่ก็เคยแปลงร่างมาแล้ว รู้จัก “วินายักกี” ในซีรีส์อินเดียยุคนี้ไหมล่ะ เขาก็เอาต้นเค้ามาจากตำนานเดิม ๆ นะ จะเรียกว่าต่อยอดงานศิลป์ก็คงได้มั้ง

พูดถึงซีรีส์อินเดียของแม่แอน-จักรพงษ์ แห่ง JKN ที่เข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๕๕๗

เพิ่งมีเรื่องของนี่ไม่กี่ปีมานี้เอง

ใครได้ดู พระพิฆเนศ มหาเทพไอยรา ช่อง JKN18 ตั้งแต่ตอนแรก

ช่วงค่ำ ๆ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ แวะมาบอกกันด้วยน้าาา
แต่ถ้าพลาดไปแล้ว ในยูทูบเลยจ้า

ยิ่งนาน นี่ยิ่งงงเรื่องราวตัวเอง

ปี ๒๕๕๓ (ค.ศ. ๒๐๑๐) อมิศ ตรีปติ (Amish Tripathi) เริ่มวางแผงนิยายศิวเทพไตรภาค

ฉบับแรก The Immortals of Meluha (อมตะแห่งเมลูฮา)

เนื้อเรื่องส่วนหนึ่งบอกว่านี่เป็นลูกของแม่สตี

แต่พอเกิดมามีรูปร่างประหลาด จึงถูกตาเนรเทศไปอยู่ดินแดนนาค น้ากาลีรับไว้เลี้ยงดู

มีนักวิจารณ์ด้วยนะว่าเป็นการให้เหตุผลว่านี่กับองค์ศิวะไม่เกี่ยวกัน

โอ้โฮ แบบนี้อยากจัดให้เป็นงานโมเดิร์นศิลป์แห่งวงการหนังสือเลยนะ
Image
นี่ก็อยู่มาถึงยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีรุดหน้า โลกออนไลน์กระหึ่ม

หลายสิบปีแล้วนะที่ในอินเดียมีคนชวนเล่นสนุกต่าง ๆ

ให้ใส่สูทผูกเนกไท แปลงพาหนะจากหนูให้เป็นเมาส์คลิกคอมพิวเตอร์

ให้เป็นนักธุรกิจเล่นหุ้น แปลงเป็นสไปเดอร์แมน มีกราฟิกดีไซน์ล้ำ ๆ พรึ่บบบบ ฯลฯ

ในประเทศไทยเมื่อเกือบ ๑๐ ปีก่อน

เจ้าของร้านสังคโลกที่จังหวัดสุโขทัยก็เคยปั้นแต่งให้นี่สวมชุดอาชีพต่าง ๆ

อย่างนักกีฬา นักธุรกิจ หรือเถ้าแก่ ฯลฯ
จะว่าไปกระแสนี่ในไทยถึงจะไม่ปังเปรี้ยงแต่ก็ไม่แผ่ว

นี่อยู่ในวงการพาณิชยศิลป์ด้วยนะ เสื้อยืด ไพ่ยิปซี เทียนหอม ยาดมสมุนไพร ฯลฯ

ส่วนทางประยุกต์ศิลป์ก็มาก อย่างฮิตเลยก็พวก “งานศิลป์สายมูฯ”

ลองไปเสิร์ชดูสิ เปิดวาร์ปไม่หวาดไม่ไหว
เดี๋ยวจะไม่ได้นอนกันทั้งคืน

นี่ขอเล่าแค่ปี ๒๕๖๖ ดีกว่า กระแสออนไลน์แหละนะคิดว่า

หรืออาจเพราะสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลาย กลับสู่ชีวิตปรกติหลังอัดอั้นมานานก็ไม่รู้สิ

ปีที่แล้วนี่มีอีเวนต์เยอะมาก เอาแค่บางส่วนที่พอจะจำได้นะ

อย่างการมาจอยกันของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (พช. พระนคร) 
Image
พระคเณศจาก Kappa Collectibles
กับกลุ่มศิลปินอาร์ตทอยในงาน “สงกรานต์แฟร์ : นพเคราะห์บูชาดาราจร รับพรสงกรานต์ปีเถาะ”

ช่วง ๗-๙ เมษายน มีกาชาปอง “นวคเณศ” จากสตูดิโออาร์ตทอยรุ่นใหม่ ๆ มาให้ร่วมลุ้นกันและมีเกร็ดความรู้สนุก ๆ ด้วย

ศิลปินและสตูดิโอที่มาร่วม เช่น POLY HOLY Studio, Bobbyboo, Kuma MØnster Studio, Munkky Studio, WA. Sculpture Studio

งานนั้นกระแสดีสุด ๆ

นี่อยากจะเรียกว่าเป็นการเดบิวต์ของ “กาเนชา-กาชาปอง” และ “อาร์ตทอย” เลย

แถมใครมางานก็ยังได้เหรียญที่ระลึก “พิพิธคเณศ” ที่ศิลปินร่วมกันออกแบบไว้ ๑๕ แบบ

แจกกัน ๑.๕ หมื่นชิ้น แต่ของที่ผลิตแบบลิมิเต็ดแบบนี้มีให้แค่คนละ ๑ เหรียญต่อวัน

ความคิวต์ของนี่มัดใจเพื่อนใหม่ได้อยู่นะ
Image
Image
Image
ภาพกราฟิกร่วมสมัยของพระคเณศในเว็บไซต์คลังจำหน่ายภาพมีศิลปินสร้างสรรค์ไว้หลากสไตล์ให้คนดาวน์โหลดไปเลือกใช้
ภาพ : 123rf.com
เมื่อผลตอบรับดี พช. พระนครก็จับมือกับศาลาอันเต (SalaArte)

เปิดตลาดอาร์ตทอยในสวนทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือน เริ่มครั้งแรก ๒๕ มิถุนายน

ช่วงเดือนแรก ๆ นี่ก็ยังไม่ค่อยมีส่วนร่วม

แต่พอถึงเดือนกันยายน ซึ่งมีช่วงคเณศจตุรถี งานอาร์ตทอยในสวน “มหาคณปติบูชา”

วันที่ ๑๖-๑๙ กันยายน นวคเณศรุ่น ๒ เป็นที่ตั้งตารอคอยกันมาก

ศิลปินอาร์ตทอยผลิตงานมาให้หมุนตู้กาชาปองถึง ๒๙ แบบ และยังมีแบบอื่น ๆ ที่เปิดบูทในงาน มีเวิร์กช็อปแบบครบเครื่องเรื่องพระคเณศอีก

หลังจบงานนี้ศิลปินที่ร่วมงานอาร์ตทอยคเณศยังมีโปรเจกต์ว้าว ๆ ในปี ๒๕๖๗

รวมถึงศิลปินกลุ่มอื่น ๆ ที่ผลิตงานทั้งก่อนหน้านี้และหน้าใหม่ก็น่าจะ

ช่วงคเณศจตุรถี ๒๕๖๖ มีการจัดงานเฉลิมฉลองหนาตา ในห้างสรรพสินค้าก็ไม่น้อย

งาน “Maha Ganapati The Musical” ที่ฟอร์จูนทาวน์ รัชดา-พระราม ๙ วันที่ ๒๐-๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ ก็มีการแสดงผลงานศิลปะ “คชาปองมหาคณปติ” องค์หายากอยู่ด้วย

ว่าแต่ นายรู้จักอาร์ตทอยกาเนชา “ตัวแรร์” ปะ ก็ “แรร์ไอเทม-หายาก” นั่นแหละ

ขอขิงหน่อยเหอะ 

ในวงการนักสะสมเขาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันถึงหลักหมื่นหลักแสนเชียวนะ

เพื่อนหลายคนมาบอกนี่ว่าแค่เห็นภาพ เห็นรูปร่างหน้าตา ก็อยากคุยอยากรู้จักกาเนชาตัวแรร์มากกว่านี้ ให้มาอยู่ร่วมบ้านด้วยยิ่งดี

บางคนถึงกับนอนไม่หลับ หมั่นมาอ้อนนี่ว่าขอให้การงานสำเร็จได้โชคได้ลาภก้อนใหญ่

จะเอาไปแลกตัวแรร์มาอยู่ใกล้ ๆ บ้าง
นี่ก็บอกไปว่า ให้เชื่อเสมอว่า “แรร์เป็นของเกา” ไปก่อนละกัน  
Image