Image

เลือกไม่ไหว ไปต่อไม่ได้

วิ ท ย์ คิ ด ไ ม่ ถึ ง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

มั่นใจว่าทุกคนเคยมีประสบการณ์ “เลือกไม่ถูก”  ในโลกสมัยใหม่สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการมีตัวเลือกมากเกินกว่าจะตัดสินใจได้ง่าย ๆ

ตัวอย่างที่พบบ่อยในชีวิตประจำวันก็เช่น การเลือกประเภทของชาหรือกาแฟสำหรับคนที่ไม่มีเมนูประจำตัว การเลือกภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่อยากดูจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงเจ้าต่าง ๆ  ส่วนตัวอย่างการเลือกแบบนาน ๆ ที เช่น เลือกเสื้อผ้าจากตลาดนัดหรือห้างสรรพสินค้า เลือกมือถือรุ่นใหม่ เพราะที่ใช้อยู่ตกรุ่นจนไปต่อไปไม่ไหว ดาวน์โหลดอะไรไม่ได้ แอปพลิเคชันใหญ่เกิน หรือระบบปฏิบัติการเก่าเกิน ฯลฯ

การเลือกสิ่งที่ต้องการเพียงหนึ่งเดียวจากตัวเลือกมหาศาล มีรายละเอียดข้อมูลหรือสเปกละเอียดมาก จึงเป็นภาระของคนรุ่นนี้

อาการ “เลือกยากเพราะตัวเลือกมากเหลือเกิน” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า choice overload (ตัวเลือกมากเกิน) หรือมักเรียกกันว่า overchoice บางคนเรียกว่า choice paralysis (อัมพาตจากตัวเลือก) หรือ paradox of choice (ความย้อนแย้งจากตัวเลือก)

คำว่า choice overload นี้ เจ้าพ่ออนาคตวิทยาผู้ทำนายเหตุการณ์ในอนาคตอย่างแม่นยำจำนวนมาก อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ (Alvin Tofflfler) คิดและเขียนถึงไว้ในหนังสือ Future Shock ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๐ ต่อมามีนักจิตวิทยาทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้และพบว่าเกิดขึ้นจริงกับคนในยุคปัจจุบัน

มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่ส่งเสริมกันทำให้เกิดอาการเลือกไม่ไหวดังกล่าวข้างต้น ปัจจัยพื้นฐานที่สุดเป็นเพราะสมองของเราเอง ส่วนปัจจัยภายนอกก็เช่นความคิดและความเชื่อในสังคมสมัยใหม่ เช่น ระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศเป็นแบบตลาดเสรี ทำให้เกิดการแข่งขันสูง เมื่อรวมกับความเชื่อที่สนับสนุน “เสรีภาพ” ว่ายิ่งมีตัวเลือกมากยิ่งดี จึงทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากเป็นอย่างยิ่ง

แต่เมื่อทำวิจัยก็พบว่ากลับเป็นตรงกันข้าม ในการทดลองชุดหนึ่ง นักวิจัยจัดบูทให้ลูกค้าชิมแยมในซูเปอร์มาร์เกต บางวันมีแยมให้เลือก ๖ รส ส่วนบางวันก็มากกว่า เช่น ๒๔ รส ลูกค้าขอชิมได้มากชนิดเท่าที่ต้องการ จากนั้นนักวิจัยก็มอบคูปองที่มีรหัสจำแนกรายละเอียดการทดลองติดไว้ให้

เมื่อสิ้นสุดการทดลองพบว่าลูกค้าที่แวะบูทเล็กราว ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ตัดสินใจซื้อแยมบางอย่าง ส่วนลูกค้าที่เข้าบูทใหญ่มีเพียง ๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นซื้อแยม ผลที่ได้กลับกันกับความรู้สึกของคนทั่วไปที่คิดว่ายิ่งมีแยมมากชนิด ลูกค้าก็ยิ่งมีโอกาสเจอรสที่ถูกใจและซื้อติดมือกลับไปมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การมีตัวเลือกมากเกินไปทำให้ลูกค้าเหน็ดเหนื่อย

Image

สมองของเราไม่คุ้นชินกับการเลือกจากจำนวนมหาศาลเพราะนี่ไม่ใช่สภาวะปรกติตามธรรมชาติที่มนุษย์วิวัฒนาการมาในป่าก่อนจะกลายเป็นคนเมือง นิสัยจู้จี้จุกจิกในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น รังแต่ทำให้รอดชีวิตยากอันที่จริงแล้วก่อนยุคอุตสาหกรรมมาถึง บรรพบุรุษของเราก็ไม่ค่อยต้องเลือกอะไรที่คล้าย ๆ กันเป็นจำนวนมาก ตัวเลือกต่าง ๆ มักถูกกำหนดไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็มีตัวเลือกน้อยมาก และไม่มีใครคิดหรือเชื่อว่าการเลือกอะไรมาก ๆ เป็นเรื่องจำเป็นหรือเรื่องดีในยุคนั้น


การมี “สิทธิ์เลือก” จึงเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสมองของเรา ถือเป็นเรื่องยากและต้องใช้พลังงานมากทีเดียว

เรื่องสืบเนื่องกับความเหน็ดเหนื่อยในการเลือกก็คือ เมื่อมีตัวเลือกมากขึ้น สมองก็ “คาดหวัง” สูงขึ้นมากตามไปด้วย ภาษาจิตวิทยาเรียกว่าเป็นกลไกแบบ “ความคาดหวัง-การไม่ยืนยันว่าจริง (expectation-disconfifermation)” เรามักตั้งความหวังอย่างไม่รู้ตัวว่า ยิ่งตัวเลือกมากเราก็น่าจะเลือกจนได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งความคาดหวังแบบนี้มักไม่สมหวังเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือมีตัวเลือกมากขึ้นจริงแต่ไม่การันตีความถูกใจแต่อย่างใด

มีการทดลองยืนยันเรื่องนี้เช่นกัน ในการทดลองหนึ่งให้อาสาสมัครเลือกกล้องวิดีโอแทนนักวิจัย โดยนักวิจัยเขียนสเปกที่ต้องการซึ่งมีความจำเพาะสูงให้ ไม่ว่าเป็นน้ำหนักของกล้อง ความละเอียดของภาพที่ได้ ปริมาณหน่วยความจำ และความสามารถในการซูมภาพ ฯลฯ

อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งได้รับตัวเลือกเป็นกล้อง ๘ ชนิด ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งได้ ๓๒ ชนิด หลังจากเลือกเสร็จสิ้น อาสาสมัครต้องตอบคำถามในแบบฟอร์มเกี่ยวกับประสบการณ์การเลือกซื้อดังกล่าว โดยให้ระบุถึงความคาดหวังในสเกล ๑-๙ โดย ๑ คือแย่กว่าที่คาดหวังไว้มากที่สุด ส่วน ๙ หมายถึงดีกว่าที่คาดหวังไว้มากที่สุด

ผลที่ได้ก็เป็นไปตามคาด อาสาสมัครที่ได้รับกล้องตัวเลือกมากกว่าเกิดอาการ “เลือกไม่ไหว” และเกิดประสบการณ์ความพึงพอใจน้อยกว่าอีกกลุ่ม

นอกจากปัจจัยเรื่องสมองที่คล้าย ๆ กันแล้ว ยังมีเรื่องอุปนิสัยที่แตกต่างกันในแต่ละคนด้วย ในเรื่องการเลือกไม่ไหวนี้แบ่งคนได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ พวกชอบเยอะสุด (maximizer) กับพวกสบาย ๆ ไม่ต้องมากก็ได้ (satisf ier)

พวกชอบเยอะสุดมีนิสัยชอบค้นหาและถือว่าการเปรียบเทียบจนได้ตัวเลือกที่ดีที่สุดเป็นเรื่องสนุก พวกนี้จะค้นข้อมูลให้ได้มากที่สุด เปรียบเทียบจนหยดสุดท้าย จึงจะพอใจและตัดสินใจซื้อได้ ส่วนพวกสบาย ๆ เน้นไปที่ของที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ครบก็พอ แม้ต้องการของที่ดี แต่ไม่จำเป็นต้อง “ดีที่สุด” เสมอไป เรียกว่าตั้งความหวังไว้ต่ำกว่า

Image

การดูไปเรื่อย ค้นหาไม่หยุดหย่อน มักทำให้รู้สึกเหมือนโดนต้อนไปอยู่ฝั่งที่เลือกไม่ไหวในที่สุด  มีงานวิจัยที่ทำให้รู้ว่าพวกชอบเยอะสุดมักมีความสุขน้อยกว่า มองโลกในแง่ดีน้อยกว่า และซึมเศร้าง่ายกว่าอีกด้วย

ดูท่าการทำตัวสบาย ๆ กับการเลือกน่าจะดีต่อสุขภาพมากกว่า

แต่มีงานวิจัยในอีกมุมหนึ่ง นั่นก็คือพบว่าหากเป็นพวกผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่ง ผลเรื่องตัวเลือกมากเกินกลับตรงกันข้าม !

คนพวกนี้จะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร มีเป้าหมายในการค้นหาและเปรียบเทียบ จึงไม่เกิดความรู้สึกเหนื่อย หนักหัวแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับพวกที่ไม่รู้ตัวเองว่าอยากดูหรืออยากได้อะไรแน่ แล้วเลือกไปเรื่อยเปื่อย คนพวกหลังนี้เวลาเลือกภาพยนตร์หรือซีรีส์ในแพลตฟอร์มสตรีม-มิง เช่นเน็ตฟลิกซ์ บ่อยครั้งก็จบลงด้วยการไม่ดูอะไรเลย เพราะเลือกจนเหนื่อย !

อาการเลือกไม่ไหวอาจส่งผลให้เครียดกระวนกระวายใจ ซึมเศร้า อยากผัดวันประกันพรุ่งจะได้ไม่ต้องตัดสินใจ มั่นใจลดลง และผิดหวังกับการเลือกของตัวเองได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นว่าทุกอย่างจะต้องลดตัวเลือกลง มีงานวิจัยพบว่าในร้านของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่ จำนวนหรือแบบที่มีไม่ได้ทำให้ลูกค้าเหนื่อยใจแต่อย่างใด

เราจะมีหนทางรับมืออาการเลือกไม่หวาดไม่ไหวแบบนี้อย่างไรได้บ้าง ?

ปัญหาก็คือการที่แต่ละคนต้องเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลือกจำนวนมากและต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในเวลาสั้น ๆ ตามที่กำหนดไว้ทำให้ตัดสินใจยาก ทางแก้ที่ทำได้คือให้เวลามากขึ้น ทำตัวเหมือนเดินชอปปิงสบาย ๆ  เมื่อเลือกได้แล้วก็เลิกเปรียบเทียบอีก ไม่ต้องสนใจว่าจะตกข่าวหรือพลาดอะไรไป ไม่สนใจว่ามีอีกร้านถูกกว่า หรือมีรุ่นที่เพิ่งอัปเดตในวันถัดมา  ถือเสียว่าทุกอย่างที่เราเลือกเป็นการเลือกที่ดีที่สุดที่ทำได้ในตอนนั้นแล้ว

ทริกง่าย ๆ ที่ดูไม่น่าเกี่ยวกันแต่ก็อาจช่วยได้คือการเขียนบันทึกคำขอบคุณทุกวัน อาจเลือกเรื่องที่ตัดสินใจได้ถูกต้องมาวันละอย่าง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจว่าเราเลือกได้ดี ได้ผลลัพธ์ที่ดี สมุดจดแบบนี้อาจวางไว้ที่หัวนอน ก่อนนอนก็จดสักนิด

ถือเป็นการถอดวางความกังวลใจจากการเลือกไม่ไหวในแต่ละวันทิ้งไป

ปัญหา “ตัวเลือกมากเกิน” ก็คล้ายเรื่องการหยุดกินไม่ได้ สมาธิสั้น และออฟฟิศซินโดรม ฯลฯ เป็นปัญหาของร่างกาย (รวมทั้งสมอง) ที่เปลี่ยนแปลงไม่ทันกับเทคโนโลยี วิธีแก้อาจได้แก่การปรับความไม่สอดคล้องเหล่านี้ให้ลดลงหรือหมดไป