Image
วิถีผี-วิถีดาว
ชาวไทยพวน
เรื่องและภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
ที่ผมพอเห็น พอรู้อยู่ พอได้ยินชื่อมาก็คือดาวไก่น้อย ดาวจระเข้  เมื่อก่อนเวลานวดข้าวตอนกลางคืน คนพวนรู้เวลาจากการดูดาว” 
ลุงชวน นุ่มนวล คนเฒ่าไทยพวนบ้านเกาะกา ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เล่าถึงการดูดาวที่เคยรู้มาจากบรรพชน

“อย่างดาวเพชร ชื่อเพชรแบบที่เราเรียกเพชรพลอยน่ะ ตอนเย็นดาวเพชรจะขึ้นทางตะวันตก อยู่จนถึง ๒-๓ ทุ่ม มันถึงหายหมด พอเช้าขึ้นทางตะวันออก  ดาวเพชรเอาไว้ดูเวลา สมัยก่อนเราไม่มีนาฬิกา ก็ดูดาวเพชรว่าขึ้นสูงขนาดนี้กี่ทุ่มแล้ว  ดาวเพชรนี่ขึ้นสูงอยู่นะ เหนือยอดไม้ พอดึกๆ ไม่เห็น จะไปเห็นอีกทีก็ค่อนสว่าง ตะวันยังไม่ขึ้น

“ดาวข่าง ดาวโลง ดาวกา ไม่เคยได้ยินชื่อ ดาวหมานอนเคยได้ยินชื่อแต่ไม่ได้สังเกตว่าอยู่ทิศไหน แต่มีคนโบราณเคยพูดเรื่องดาวหมานอนกับขโมยขึ้นบ้าน เขาบอกว่าดาวหมา หมานั่งหมานอน”

ลุงชวนรู้จักตำแหน่งดาวรู้ชื่อดาว เพราะตอนเด็ก ๆ ก่อนสว่างราว ตี ๔-ตี ๕ ต้องตื่นขี่หลังควายลากเลื่อนไปลากข้าว พอออกจากบ้านจะเห็นดาวไก่น้อย ดาวจระเข้ขึ้นสว่าง บางทีดาวจระเข้ลงก่อน ช่วงตี ๔-ตี ๕ ดาวไก่น้อยลงแล้ว  การดูทิศทางลุงใช้ดาวไก่น้อย ดาวจระเข้เป็นหลักดาวจระเข้บอกทิศเหนือ ดาวไก่น้อยขึ้นจากทิศตะวันออกไปตะวันตกใช้กำหนดทิศได้
สมุดไทย ตำราดาว มีคำทำนายเมฆ ดาวหาง และเสียงฟ้าร้องในเดือนสาม เช่นเดียวกับที่คนไทยพวนใช้ฟังเสียง เพื่อดูความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาในปีนั้น
scrollable-image
Image
Image
“ในหน้านวดข้าว เรานวดข้าวกลางคืน เราดูดาวจระเข้ ดาวไก่น้อย ดาวไก่น้อยตรงหัวนี่ มันจะเที่ยงคืน คล้อยลงไปหน่อยก็ตี ๑-ตี ๒ พอดาวไก่น้อยจะตก มันก็ใกล้สว่างแล้ว
หรือไม่ก็ดูดาวจระเข้ อยู่ทางทิศเหนือ ดึก ๆ ถ้าหัวทิ่มลงไป ก็ตี ๑-ตี ๒ เรานวดข้าวกลางคืน ดูดาวบอกเวลา ทำไปจนเสร็จนั้นแหละ

“แต่ถ้าไม่เห็นดาว ไม่ใช่หน้านวดข้าว เราจะฟังเสียงไก่ขันบอกเวลา รอบแรกมันขันช่วงตี ๑ ตี ๒ แล้วรอบที่ ๒ ก็ตี ๓ ตี ๔ เรื่อยมา มันก็ขันถี่ขึ้นเรื่อย พอใกล้สว่างน่ะ มันจะขันบ่อย ไก่ขันถี่ขันห่าง ถ้าไก่ขันกระชั้นชิด มันก็ใกล้สว่าง

“บางทีก็ฟังเสียงนก ที่เขาเรียกนกอีจู้ นกกระแป๊ด สองตัวนี้
ร้องจะใกล้สว่าง ตี ๓-ตี ๔ ได้ยินแล้ว นกอีจู้ก็นกกางเขนนั้นแหละ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยินเสียงมันร้อง ได้ยินแต่เสียงนกกาเหว่า กาเหว่าเอาแน่ไม่ได้ บางที ๕ ทุ่มมันก็ร้องแล้ว”
Image
ไหว้บูชาแม่โพสพทั่วท้องทุ่งตำบลท่าเรือ ในช่วงข้าวตั้งท้องออกรวง
คนพวนท่าเรือใช้ควายทำนาในพื้นที่ลุ่มเจิ่งน้ำ จนแม้ปัจจุบันจะใช้รถไถแล้วก็ยังเลี้ยงควายขายอยู่ในหลายหมู่บ้าน

ทั่วท้องทุ่งจะพบเครื่องมือจับปลานานาชนิดของคนไทยพวน ที่ยกยอ ดักลัน ลงเบ็ด ทั้งกินทั้งขายกันอยู่ทั่วไป

Image
Image
Image
ถามลุงชวน ว่าคนพวนรุ่นปู่ย่า เรียกชื่อดาว เรียกปรากฏการณ์บนท้องฟ้าอย่างไรมาบ้าง

ลุงชวนให้คำตอบ บอกเล่าถึงชื่อดาวกับการเรียกชื่อเมฆ หมอกในภาษาพวนบ้านเกาะกามาดังนี้
Image
ลุงชวนเล่าว่า คนพวนห้ามชี้อีฮุ้งกินน้ำ ใครชี้มือจะด้วนต้องแก้เคล็ดด้วยการจกตูดมาดม และถ้าเห็นดาวตกลงหลังคาบ้านไหนจะมีเด็กมาเกิด เห็นดาวตกห้ามทัก เดี๋ยวเด็กจะไม่ได้เกิด

ลุงชวนบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ดูดาวไม่เป็นแล้ว  บางคนพ่อแม่บอกก็พอรู้ชื่อดาว รู้เรื่องดาว ถ้าพ่อแม่ไม่บอกก็ไม่รู้ ลูกลุงมีแต่คนหัวปีกับคนที่ ๒ ที่รู้เรื่องดาว เพราะลูกคนโตเคยออกทุ่งทำนาตอนมืด ๆ ก็บอกเขา ลูกคนหลัง ๆ ไม่ได้ออกทุ่งตอนมืด ก็ไม่ได้บอกเรื่องดาวเขาแล้ว

“ในหมู่บ้านเกาะกา เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีใครยังดูดาวเก่ง ๆ อยู่
คนรุ่นเก่าเขาดูดาวบอกเวลาได้ แต่คนรุ่นนี้ วันคืนหนึ่ง ไม่เคยออกมานอกบ้านดูดาว แค่เดือนทะลุไปหลังคา ยังไม่ดูเลย”
หอแฮก เลี้ยงผีตาแฮก ไหว้แม่โพสพในวัน ๒ ค่ำ, ๑๒ ค่ำ ในเดือน ๑๑ ยามข้าวตั้งท้องออกรวง ตามท้องทุ่งบ้านท่าเรือช่วงเดือนสิบเอ็ด-สิบสอง จะเห็นหอแฮกกลางทุ่งข้าวที่กำลังออกรวง
Image
“ศาลปู่ตานี้ คนหนึ่งชื่อพระจงใจอาจ อีกคนหนึ่งชื่อพระธาตุใจดี เราเลี้ยงบูชาศาลปู่ตาทุกปี ศาลปู่ตา พระจงใจอาจพระธาตุใจดี หลวงพ่ออุตตมะเป็นศรี ประเพณีพื้นบ้าน ตำนานคนพวน”

ในหมู่บ้านเกาะกา ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก มีสถานที่สำคัญที่คนพวนในหมู่บ้านบูชานับถือกันมากคือ “ศาลปู่ตา”

ลุงชวนเกิดปีมะแม ปี ๒๔๘๖ อายุ ๗๙ ปี ป้าบัวขาว จิตนอก เกิดปีมะเมีย ปี ๒๔๘๕ อายุ ๘๐ ปี และอดีตผู้ใหญ่บ้าน คุณวิจารณ์ ประจำสาคร เกิดปีขาล ปี ๒๕๐๕ อายุ ๖๐ ปีให้ข้อมูลไว้ว่า

“ศาลปู่ตามีมาแต่ดั้งเดิม รุ่นปู่ย่าตายายตั้งบ้านมาก็มีศาลแล้ว ศาลศักดิ์สิทธิ์จะบนบานขออะไร บางคนก็ได้ บางคนก็
ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าได้ทุกคน มีที่เจ็บป่วยมาขอให้หายไว ๆ บางคนก็ได้นะ  ศาลนี้เราต้องบนเหล้าไห ไก่ตัว เหล้าไหนี้ก็คือเหล้าขาว หรือเหล้าอะไรก็ได้ พอสมความปรารถนาก็มาเลี้ยงแก้บนแต่ถ้าเป็นเลี้ยงประจำปีของหมู่บ้าน จะเป็นเดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำหรือขึ้น ๑๒ ค่ำ สองวันนี้วันไหนก็ได้ ปู่ย่าตายายพาทำกันมา

“วันเลี้ยงศาลปู่ตา พอเลี้ยงเสร็จแล้วก็มียามวน มวนใบตองแห้ง คนโบราณสูบยาเส้นใบตอง  มวนใหญ่ มวนเดียว แล้วก็หมากคำเดียว เป็นหมากพลูขนาดธรรมดานี่แหละ ยาเส้นเราซื้อจากตลาด เป็นแผง ๆ ตั้ง ๆ สมัยก่อนนี้แผงใหญ่ก็ไม่กี่บาทหรอกนะ  สมัยก่อนเวลาลงทำนานี้นะ เราใช้ยาเส้นด้วย เอามาห่อใส่ผ้า พอปลิงเกาะเราก็เอายาเส้นห่อผ้าไปจ้ำ ๆ
ปลิงก็หลุด เมื่อก่อนมีควาย ปลิงควายเยอะ เป็นปลิงตัวใหญ่ เราเอายาเส้นห่อผ้าไปจ้ำให้ปลิงหลุด แต่ก่อนนี้ โอ้โฮ ไปเลี้ยงควายนี่ ควายลงน้ำปลิงจะเกาะ ต้องแกะออกบ้าง เอาไม้ไปทิ่มปลิงบ้าง
Image
Image
Image
Image
ศาลปู่ตา พระจงใจอาจ พระธาตุใจดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์หลักใจของคนไทยพวนบ้านเกาะกา
“ไอ้พวกปลิงตัวเล็ก เข้าอีปิ๊ผู้หญิงก็มี เมื่อก่อนไม่มีใครใส่กางเกงใน ต้องรอจนปลิงกินเลือดอิ่มมันก็ออกมาเอง แต่ก่อนปลิงเยอะ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว

“วันจัดพิธีเลี้ยงศาลปู่ตา เป็นวันทำบุญกลางบ้าน เราเลี้ยงผีปู่ย่าด้วยข้าวเจ้า คนพวนแต่ละหมู่บ้านเขาจะมีศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน ในศาลมีเจว็ด มีหุ่นปั้นปู่ย่าตายาย นางรำ
ละคร มีช้างม้าวัวควาย มีทุกอย่าง แล้วก่อนจะเลี้ยงปู่ตา เราจะทำบุญก่อน นิมนต์พระจากวัดเกาะกาทั้งหมด บางปีก็ห้าบ้าง แปดบ้าง เก้าบ้าง แล้วแต่ปีไหนมีพระเท่าไร  เราจะนิมนต์พระที่วัดทั้งหมดมาเจริญพระพุทธมนต์  สมมุติว่าเราจะเลี้ยงปู่ตาวัน ๒ ค่ำน่ะ พอวัน ๑ ค่ำเราก็ต้องสวดมนต์ เจริญพระพุทธมนต์ แล้วพอเช้าวัน ๒ ค่ำเลี้ยงพระเช้า พอ ๓ โมงครึ่งถึง ๔ โมงเย็น ตอนเย็นก็เลี้ยงศาลปู่ตา

“เราเลี้ยงศาลปู่ตาเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข ถึงปีมา ก็เลี้ยงปู่ตาทุกปี เพราะว่าท่านปกปักรักษาคุ้มครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข เลี้ยงกันทีไก่ต้มนี่เป็นร้อยกว่าตัวเลยนะ เลี้ยงทั้งไก่
ทั้งหมู แทบทุกครัวเรือนจะมากันมีเหล้าไหไก่ตัว บางคนก็เอาหัวหมูมา หมูแถบ ต้มมา ทุกปีจะมีทางผู้ใหญ่เลี้ยงขนมจีน

“ที่อดีตผู้ใหญ่ฯ วิจารณ์ (วิจารณ์ ประจำสาคร) ตั้งเป็นคำขวัญขึ้นมาก็คือ ‘ประเพณีกินข้าวปุ้น บุญเลี้ยงบ้าน งานปู่ตา’ จัดมา ๘ ปีแล้ว หยุดไปช่วงโควิด ๒ ปี ไม่ได้จัด คือ ประเพณีนี้มีสืบต่อมากี่รุ่นแล้วเราไม่รู้ แต่เราก็ทำต่อกันมา” 
หมายเหตุ
เนื้อหาบทความมาจากการเก็บข้อมูลในโครงงานวิจัย โครงการการสำรวจแบบมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ จังหวัดนครนายก ประเทศไทย  จัดทำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับทุนสนับสนุนจาก Critical Ecosystem Partnership Fund (CEPF) ประสานงานโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

Image