Image

องค์พระพิฆเนศปางสิทธิวินายัก มหาเทพแห่งความสำเร็จ ออกแบบโดยธยานสตูดิโอ (Dhyana Studio)

ART TOY พระคเณศ
ชวนสายมูฯ
มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์
ผ่านของเล่นสุดสร้างสรรค์
จากศิลปินไทย

Eat Pray Art with “Bro ! Ganesha”

เรื่อง : พัชนิดา มณีโชติ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

คุยกับเชน-เณตม์ ประชาศิลป์ชัย ศิลปินจาก Little Turtle Studio หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มศาลาอันเต (SalaArte) ผู้ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของพระคเณศในรูปแบบ “อาร์ตทอย (art toy)” ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ผสมผสานของเล่นและของขลังอย่างสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นว่าเทพฮินดูองค์นี้ไม่ได้เป็นเพียงรูปเคารพเพื่อการกราบไหว้บูชาเท่านั้น แต่ยังมีเกร็ดความรู้และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อยู่เบื้องหลัง ผ่านการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประติมานวิทยาของพระคเณศอันเป็นเอกลักษณ์ บูรณาการเข้ากับแนวความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินไทยรุ่นใหม่ เพิ่มความน่าสนใจด้วยการนำเสนอในรูปแบบ “กาชาปอง (gashapon)” ดึงดูดให้คนจำนวนมากมาต่อแถวรอหมุนกาชาปอง “นวคเณศ” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในวงการอาร์ตทอยไทย

พระคเณศ
“เทพแห่งการเริ่มต้น”

ด้วยกระแสความนิยมในอาร์ตทอยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้คนไทยสนใจมากขึ้น ทั้งกลุ่มนักสะสมของเล่นและกลุ่มศิลปินที่ต้องการหาช่องทางผลิตอาร์ตทอย  เชนเป็นคนหนึ่งที่ต้องการสร้างสรรค์อาร์ตทอย จึงเริ่มต้นออกแบบผลงานที่แสดงตัวตน ทั้งในแง่ความหลงใหลของเล่นและความชื่นชอบเทพปกรณัม ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม โดยมีแนวคิดหลักคือการสอดแทรกสาระความรู้ลงในผลงาน เพื่อให้ได้อาร์ตทอยที่มีความเฉพาะตัวและแตกต่างจากคนอื่น 

ผลงานอาร์ตทอยชิ้นแรกสำหรับการเปิดตัวเป็นศิลปินในนาม Little Turtle Studio ก็คือพระคเณศ

“พระคเณศเป็นเทพแห่งการเริ่มต้น ฉะนั้นการทำพระคเณศก่อนจึงเปรียบเสมือนการไหว้ครู แต่คนอื่นเขาทำอาร์ตทอยพระคเณศกันเต็มไปหมดแล้ว ผมเลยใส่ความรู้ทางวิชาการเข้าไปด้วย อย่างผลงานพระคเณศชิ้นแรกชื่อลัมโพทรแปลว่าผู้มีท้องใหญ่ ซึ่งเป็นพระนามหนึ่ง มีเศียรเป็นช้างและร่างกายเป็นมนุษย์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทวรูปของพระอิศวรในสมัยสุโขทัย พระอิศวรเป็นบิดาของพระคเณศ ผมพยายามใส่เรื่องราวที่เชื่อมโยงกัน ถือเป็นจุดขายของผลงาน”

Image

เชน-เณตม์ ประชาศิลป์ชัย ศิลปินจาก Little Turtle Studio หนึ่งในสมาชิกและผู้ก่อตั้งกลุ่มศาลาอันเต 

กาชาปอง “นวคเณศ”
ตีความพระคเณศแบบใหม่
แจ้งเกิด ART TOY ในพิพิธภัณฑ์

ปลายปี ๒๕๖๕ เชนได้รับโอกาสช่วยออกแบบของที่ระลึกในนิทรรศการเครื่องกระเบื้องไทย-ญี่ปุ่น จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยเอาสิ่งจัดแสดงภายในงานมาปรับให้ดูน่ารักและสมกับการเป็น “กาชาปอง” ซึ่งผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ จุดประกายให้กรมศิลปากรมองเห็นศักยภาพในการใช้กาชาปองมาเป็นสื่อการเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือดึงดูดให้คนเข้าพิพิธภัณฑ์ เชนจึงได้รับโอกาสต่อมาในการจัดงานสงกรานต์แฟร์ ปี ๒๕๖๖ ธีมเทวดานพเคราะห์ ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแวดวงอาร์ตทอยไทย จากกระแสกาชาปอง “นวคเณศ” ที่สร้างปรากฏการณ์มีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ตลอดการจัดงานทั้ง ๓ วันรวมกันมากถึง ๒ หมื่นคน งานนี้ยังทำให้หลายคนได้รู้จักองค์คณปติ รูปเคารพพระคเณศ ศิลปะชวา ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มากขึ้น

“เราตีโจทย์ที่ทางพิพิธภัณฑ์ให้ธีมงาน ว่าจะออกแบบอาร์ตทอยเป็นสัตว์พาหนะของเทวดานพเคราะห์ ตั้งแต่สิงห์ ม้า ไปจนถึงพระคเณศ เพราะว่าพระคเณศมีนามหนึ่งแปลได้ว่านายแห่งอุปสรรค ซึ่งอุปสรรคก็เปรียบได้กับนพเคราะห์ ดังนั้นจึงคล้ายว่าพระคเณศเป็นหัวหน้าของนพเคราะห์ทั้งปวง  ส่วนชื่อ “นวคเณศ” มาจากนว ที่แปลว่าใหม่ เมื่อนำมารวมกันก็แปลได้ว่าเป็นพระคเณศในรูปแบบใหม่ ส่วนนี้ก็ยังพ้องกับคำว่านพ ในเทวดานพเคราะห์ ซึ่งแปลว่าเก้าอีกด้วย

Image

อาร์ตทอยพระคเณศจากฝีมือศิลปินไทย
GANESHA-PON ! พระคเณศปางประทานพร ผลงานของ WA. Sculpture Studio

Image

ผลงานของ Munkky Studio

“นวคเณศถือเป็นงานทดลองชุดแรก เลยมีศิลปินมาร่วมค่อนข้างน้อย ประมาณ ๑๐ กว่าคน เพราะเราไม่สามารถการันตีให้ศิลปินได้ว่างานจะออกมาเป็นยังไง พอปล่อยงานชุดนี้กลายเป็นว่ามีคนมาต่อแถวรอหมุนกาชาปองประมาณ ๒๐๐ กว่าคน เกินคาดคิด เรียกได้ว่าเกิดเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดกับพิพิธภัณฑ์ไทย  ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้ช่วยจุดประกายให้ผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจในรัฐไทย หันมาให้ความสนใจอาร์ตทอยมากขึ้น กระแสจากกาชาปองชุดนี้ทำให้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนรู้จักอาร์ตทอยมากขึ้น ก็ค่อนข้างแปลกใจเพราะที่จริงอาร์ตทอยไทยมีมานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว”

Image

ผลงานของ Godswork Studio

SalaArte ศาลาอันเต กลุ่มศิลปินผู้สร้างสรรค์อาร์ตทอยพระคเณศ กับภารกิจส่งเสริม MUSE ART และวงการ THAI ART TOY

ผลพวงจากนวคเณศก่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มศิลปินอาร์ตทอยไทยในนาม “ศาลาอันเต”

เชนเล่าให้ฟังว่า ชื่อนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศาลาอันเตปุริกธุริน ซึ่งเป็นศาลาว่าราชการภายในอาณาจักรและเป็นสถานที่ทำงานของกลุ่มผู้สำเร็จราชการในช่วงที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรป

“เราเอาประวัติศาสตร์มาตั้งเป็นชื่อกลุ่ม เพราะเราทำงานกับพิพิธภัณฑ์ที่เคยเป็นที่ตั้งวังหน้า พอเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็เล่นคำเป็น SalaArte เพื่อสื่อถึงกลุ่มคนทำงานเกี่ยวกับศิลปะเริ่มต้นเอาชื่อนี้มาตั้งกลุ่มแชตระหว่างศิลปินที่ร่วมกันทำกาชาปองนวคเณศก่อน กลายเป็นมีแต่คนเรียกเราว่า ‘กลุ่มศาลา’ เลยเอามาตั้งชื่อกลุ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นก็ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ อีกหลายอย่าง เพราะว่าอาร์ตทอยไทยเป็นวงการเล็ก มีเวทีน้อย ถ้ามีเวทีหรือพื้นที่สนับสนุนให้ศิลปินทุกคนมาร่วมทดลองสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่อยากทำอาชีพนักออกแบบของเล่นได้มองเห็นช่องทางการทำอาชีพนี้อย่างจริงจัง”

Image

กาชาปอง “นวคเณศ” จากงานสงกรานต์แฟร์ ปี ๒๕๖๖ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รุ่นสร้างปรากฏการณ์พิพิธภัณฑ์แตก !

กระแสตอบรับที่ดีของการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินอาร์ตทอยและพิพิธภัณฑ์ แสดงถึงศักยภาพของศิลปินไทย ซึ่งประยุกต์ความชอบและความรู้ของตนช่วยส่งเสริมงานของพิพิธภัณฑ์ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลงานศิลปะของตน และทำให้หลายคนได้รู้จักกับผลงานของกลุ่มศิลปินศาลาอันเตผ่านผลงานอาร์ตทอยพระคเณศ  

หลังจากนั้นทางกลุ่มก็พัฒนาต่อยอดผลงานอาร์ตทอยอย่างต่อเนื่อง จนมีโอกาสออก “กาชาปองนวคเณศรุ่นที่ ๒” ในงาน “มหาคณปติบูชา” ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งรอบนี้มีศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่มาร่วมออกงานมากถึง ๒๙ แบรนด์ และยังคงได้กระแสตอบรับจากทั้งลูกค้าสายมูเตลูและสายสะสมของเล่นดีเช่นเคย

“อยากให้งานอาร์ตทอยเหล่านี้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างกรมศิลปากรกับกลุ่มศิลปิน อยากให้คนมองว่าของเล่นต่าง ๆ ก็ช่วยสังคมได้นะ ทั้งในแง่การให้ความรู้ ในฐานะ MUSE ART ซึ่งเราอยากเข้ามาผลิตผลงานที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ เราอยากให้ผู้ใหญ่ปรับมายด์เซตเรื่องของเล่น ดังนั้นจึงให้น้ำหนักกับการทำภารกิจนี้ค่อนข้างเยอะ ส่วนเรื่องการส่งเสริมตลาดอาร์ตทอยไทย อย่างน้อยก็อยากให้ไปได้ไกลขึ้นและเป็นที่ยอมรับของประเทศอื่น ๆ มากขึ้น”

scrollable-image

กาชาปองนวคเณศรุ่น ๒ จากงานมหาคณฃบูชา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพ : กลุ่มศิลปินอาร์ตทอย ศาลาอันเต

แปลงความขลังเป็นความรู้
กับอาร์ตทอยพระคเณศชุด
CHIBI GANESHA

ล่าสุดกลุ่มศิลปินศาลาอันเตเปิดตัวอาร์ตทอยพระคเณศ ชุดใหม่ Chibi Ganesha  รอบนี้กลุ่มศิลปินตั้งใจทดลองปรับวัสดุเป็นซอฟต์ไวนิล (soft vinyl) ที่ได้รับความนิยมในตลาดของเล่นสากล  ขณะเดียวกันก็ยังคงแนวคิดการซุกเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไว้ในผลงาน เลือกนำเสนอเป็นธีม “พระคเณศแบบไทย ๆ” โดยได้รับแรงบันดาลใจด้านการออกแบบเชิงประติมานวิทยาจากเทวรูปพระคเณศที่พบเจอ
ในประเทศไทย ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างไปตามยุคสมัยในประวัติศาสตร์ไทย

“ก่อนหน้านี้วงการอาร์ตทอยไทยเน้นผลิตผลงานด้วยเรซินเพราะทำเองที่บ้านได้และราคาถูก แต่ว่าทั่วโลกเขาให้มูลค่ากับชิ้นงานที่ทำจากซอฟต์ไวนิล ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับที่ใช้ผลิตของเล่นพวกอุลตราแมนและก็อดซิลล่า ดังนั้นงานชิ้นแรกที่เราตัดสินใจทำด้วยวัสดุนี้จึงเป็น “พระคเณศ” เพราะไม่รู้จะประสบความสำเร็จไหม ก็เลยต้องไหว้ครูกันก่อนเหมือนเดิม นอกจากนี้เราอยากได้ผลงานที่สื่อได้ว่านี่คืออาร์ตทอยไทย เลยตีโจทย์ออกมาเป็นคอนเซปต์พระคเณศศิลปะของอาณาจักรต่าง ๆ ตามภูมิภาคในประวัติศาสตร์ไทย โดยดึงองค์ประกอบของประติมากรรมพระคเณศที่เป็นโบราณวัตถุในแต่ละยุคมาเป็นจุดขาย”

ผลงานกล่องสุ่มอาร์ตทอยพระคเณศซอฟต์ไวนิล “Chibi Ganesha” ที่ได้รับการผลิตและออกแบบด้วยฝีมือของศิลปิน ทั้งหกแบรนด์ เลือกนำประติมากรรมพระคเณศหกแบบมารังสรรค์ด้วยลายเส้นอันเป็นลายเซ็นเฉพาะตัว ประกอบด้วย

ภาคตะวันออก - ศิลปะทวารวดี (คริสต์ศตวรรษที่ ๖-๗) โดยศิลปิน Little Turtle Studio

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - ศิลปะลพบุรี (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๐) โดยศิลปิน Cavekin

ภาคใต้ - ศิลปะศรีวิชัย (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๒-๑๓) โดยศิลปิน Kappa Coll

ภาคเหนือ - ศิลปะล้านนา-สุโขทัย (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕) โดยศิลปิน Theleaf Toy

ภาคกลาง - ศิลปะอยุธยา (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗-๑๘) โดยศิลปิน Piece by Peacho

ภาคกลาง - ศิลปะรัตนโกสินทร์ (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙-๒๐) โดยศิลปิน Gajanaya

Image

Image

กล่องสุ่ม Chibi Ganesha รุ่น Material Series จากวัสดุซอฟต์ไวนิล ในคอนเซปต์ “พระคเณศศิลปะของอาณาจักรต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย”

“ทั้งหมดอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย เราเอาเรื่องราวนี้มานำเสนอ เพราะอยากพูดได้เต็มปากว่า พระคเณศชุดนี้แสดงถึงความเป็นไทย  ส่วนวัสดุที่เป็นซอฟต์ไวนิล เรามองว่าในแง่การตลาด มันจะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการส่งไปขายในประเทศต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นช่องทางช่วยเผยแพร่ความเป็นไทยผ่านอาร์ตทอย”

นอกจากนี้เชนยังมองว่าอาร์ตทอยเป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมการศึกษา เป็นกลวิธีช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาการให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ง่ายมากขึ้น ผ่านการซึมซับและจดจำในฐานะของเล่น ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความสนใจในเชิงการเรียนรู้ได้มากกว่าการสอนแบบปรกติ เฉกเช่นเดียวกับการนำเสนอองค์ความรู้จากพิพิธภัณฑ์

“เราและนักวิชาการหลาย ๆ คนกลัวว่าพอหมดรุ่นของเราสิ่งที่เราศึกษามามันจะสูญหายไป แต่ถ้าเอาความรู้เหล่านั้นมาย่อยเป็นของเล่นหรืออาร์ตทอย เราจะถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นต่อไปได้โดยผู้รับสารไม่ฝืน เพราะพอเป็นเรื่องวิชาการเด็ก ๆ อาจต่อต้าน ไม่อยากเรียน ถ้าทำเป็นรูปแบบอื่น ๆ เช่น ของเล่นหรืออาร์ตทอย ก็จะช่วยดึงดูดความสนใจได้มากขึ้น”

Image

ผลงานอาร์ตทอยพระคเณศปางพระบาลคณปติ จาก Playground Studio
ภาพ : พัชนิดา มณีโชติ

Image

ลัมโพทร อาร์ตทอยพระคเณศ ผลงานจาก Little Turtle Studio
ภาพ : Little Turtle Studio

ถอดความสำเร็จของ
อาร์ตทอยพระคเณศ
สู่การผลักดัน ART TOY
เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมของไทย

เชนบอกว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อาร์ตทอยพระคเณศประสบความสำเร็จ คือความนิยมและความศรัทธาที่มีต่อเทพองค์นี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอาร์ตทอยเทพเจ้ามีเรื่องสายมูฯ เกี่ยวข้องด้วย จากที่เห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าพระคเณศอยู่มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ๑,๔๐๐ ปีที่แล้ว จนตอนนี้ยุครัตนโกสินทร์ ก็ยังคงได้รับความนิยมมาตลอด การที่เราทำพระคเณศก็เลยเป็นกระแสบูมขึ้นมา คนที่เขาสนใจก็เข้ามาดูมาเช่าบูชา ทั้งหมดนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้พระคเณศ”

การนำเรื่องราวของพระคเณศมาผสมผสานกับงานอาร์ตทอยจึงถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ทำให้เชนและกลุ่มศิลปินศาลาอันเตต่างต้องช่วยกันระดมสมองและทดลองงานออกแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ผู้คนมองเพียงด้านที่ว่า อาร์ตทอยพระคเณศเป็นสิ่งสำหรับนำไปกราบไหว้บูชาเท่านั้น แต่อยากให้เห็นด้านที่เป็นผลงานศิลปะ จับต้องได้ผ่านการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ กลิ่นอายความเป็นไทย และการสอดแทรกความรู้เชิงประวัติศาสตร์แฝงอยู่ ซึ่งเชนหวังว่าจะเพิ่มมูลค่าให้อาร์ตทอยจนยกระดับเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับสินค้าของประเทศญี่ปุ่น

Ganesha bear ผลงานจาก 8668 Studio
หมุนกาชาปองนวคเณศรุ่นที่ ๒ จากงานมหาคณปติบูชา ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพ : พัชนิดา มณีโชติ

“เราอยากให้อาร์ตทอยมีมูลค่า ไม่ได้พูดถึง soft power นะ แต่อยากให้อาร์ตทอยเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เหมือนตอนเราไปเที่ยวญี่ปุ่นก็อยากไปหมุนกาชาปอง เราอยากทำกาชาปองอาร์ตทอยไทยให้ไปไกลถึงระดับนั้น อยากส่งเสริมให้ไปถึงจุดที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้จริง ๆ เหมือนที่ญี่ปุ่นเขาทำ

“ผมอยากผลิตงานไทยให้ไปไกลระดับโลกบ้าง ทั้งในเรื่องของการพัฒนาวัสดุ คาแรกเตอร์ คอนเซปต์ หรือการใส่ความเป็นไทยเข้าไป และอยากจะทำให้อาชีพผู้ผลิตอาร์ตทอย (art toy designer) เป็นจริง เพราะเวลาไปญี่ปุ่น จีน หรือประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ก็มีอาชีพนักออกแบบของเล่น แต่ของไทยกลับเป็นงานอดิเรก ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง  สิ่งที่จะทำคือเราจะเดินไปทั้งสองเส้นทางคู่ขนานกัน จะช่วยส่งเสริมพิพิธภัณฑ์ของทางกรมศิลปากรและจะช่วยส่งเสริมวงการอาร์ตทอยด้วย ดูเป็นภารกิจใหญ่แต่ก็คิดว่าน่าจะทำได้ เพราะว่าตอนนี้มีกลุ่มศิลปินแล้ว ผมมองว่าเราโตคนเดียวไม่ได้ ต้องโตเป็นกลุ่มเป็นทีม ซึ่ง ณ ตอนนี้มีกลุ่มคนช่วยผลักดันแล้ว เราคิดว่าเราทำได้”