Image
Choc-a-dii
สร้างความ “ช็อก”
ผ่านการคัดสรร  เพราะแท้จริงแล้ว
ช็อกโกแลตคืองานศิลปะ (อะดิ)
CHOCOLATE IN SIAM
เรื่อง : กัญญาณัฐ์ เตโชติอัศนีย์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
Open Now !
ข้อความบนป้ายไวนิลสีขาวขนาดใหญ่ใหม่แกะกล่องแขวนอยู่ข้างกำแพงร้านกาแฟเล็ก ๆ บนถนนเสนานิคม ๑ กำลังประกาศเปิดบ้านหลังใหม่ของร้าน Choc-a-dii ร้านคราฟต์ช็อกโกแลตที่เพิ่งย้ายจากย่านนาคนิวาสได้ประมาณ ๑ เดือนกว่า ๆ

หลังจากเปิดประตูกระจกสีดำของร้านเข้ามา จะพบขวดช็อกโกแลตไทยเกือบ ๒๐ แบบ สำหรับทำเครื่องดื่มรสชาติหวาน ๆ เปรี้ยว ๆ ไว้ดื่มภายในร้าน เดินไปด้านหลังร้านอีกนิดจะพบช็อกโกแลตบรรจุถุงสีดำวางเรียงรายไว้รอเจ้าของใหม่พากลับบ้านไปชงดื่มเอง  ส่วนตู้แช่เย็นนั้นมีไอศกรีมคราฟต์ช็อกโกแลตจากสามสี่จังหวัด รวมถึงขนมบราวนี่สีน้ำตาลเข้มบรรจุกล่องสีดำสนิทที่เกิดจากความร่วมมือของ Choc-a-dii กับร้านคราฟต์ช็อกโกแลตชื่อดังอย่าง Midnight Madness ด้วย

“มาชิมช็อกโกแลตค่ะ มีตัวไหนแนะนำบ้างคะ”

ผู้เขียนถามสั้น ๆ ก่อนที่บาริสตาหนุ่มจะสอบถามอย่างอารมณ์ดีว่าอยากชิมคราฟต์ช็อกโกแลตของจังหวัดไหนก่อน เมื่อเลือกได้แล้วบาริสตาจะหยิบผงโกโก้ของจังหวัดนั้น ๆ ตักใส่ช้อนพลาสติกให้ชิม พร้อมอธิบายรสชาติและเอกลักษณ์ของช็อกโกแลตให้ฟังด้วยความใจเย็น

หากเลือกช็อกโกแลตที่ถูกใจได้แล้ว บาริสตาจะชงเครื่องดื่มช็อกโกแลตใส่นม เทใส่แก้วที่มีน้ำแข็งเย็น ๆ ให้ดื่ม 

ความพิเศษของร้านช็อกโกแลตแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงความหลากหลายของช็อกโกแลต ที่ถือว่ามีมากกว่าร้านคราฟต์ช็อกโกแลตทั่วไป เจ้าของร้านยังเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้วงการคราฟต์ช็อกโกแลตเติบโตมากขึ้นด้วย
Image
ช็อกโกแลตร้อนจากจังหวัดลำพูน มีรสชาติเปรี้ยวนำตามเอกลักษณ์ของคราฟต์ช็อกโกแลตจากภาคเหนือ
ร้านช็อกโกแลต
ที่เกิดจากรอยยิ้ม
ของเพื่อนชาวเชียงราย

เต้-ศิโรฒ พิมพ์พันธุ์ เจ้าของร้านถือน้ำกระเจี๊ยบสำหรับชงเครื่องดื่มสุดพิเศษที่เพิ่งมีวางขายหน้าร้านออกมา

เขาค่อย ๆ ตักช็อกโกแลตจากจังหวัดชุมพรใส่ลงในแก้ว ตามด้วยน้ำกระเจี๊ยบลงไปชงพร้อมกัน ทำให้ช็อกโกแลต สีน้ำตาลกลายเป็นน้ำตาลอมม่วงเล็กน้อย ก่อนจะเสิร์ฟใส่แก้วให้ลองชิม

ช็อกโกแลตกระเจี๊ยบสีแปลกตามีรสเปรี้ยวของกระเจี๊ยบนำ ตามด้วยรสหวานมันของช็อกโกแลต นับเป็นเครื่องดื่มช็อกโกแลตที่แปลกที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยลองชิม

แม้จะชงช็อกโกแลตด้วยความภาคภูมิใจ แต่เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นของ Choc-a-dii ไม่ได้เกิดจากความรัก
ช็อกโกแลต แต่เป็นความรักกาแฟของพนักงานออฟฟิศธรรมดาในเอเจนซีแห่งหนึ่ง ที่ฝันอยากเปิดร้านกาแฟของตัวเอง

“เราชอบกินกาแฟด้วย มีความฝันว่าอยากเรียนรู้ อยากเปิดร้านอะไรที่เป็นของเราสักร้าน  พอโควิดมา เราลาออกจากงานเดิม เริ่มมองหาความฝันจริงจังมากขึ้น ก็พบว่านอกจาก สายกาแฟแล้ว ยังมีกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่ใช่กาแฟ (non coffee) ด้วย ตอนนั้นยังไม่รู้จักคราฟต์ช็อกโกแลต เราเป็นคนไม่กินช็อกโกแลต ไม่ได้รักช็อกโกแลตมาแต่ไหนแต่ไร”

จนกระทั่งมีลูกค้าติดต่อให้ช่วยทำแบรนด์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์
ที่มาจากโกโก้ เขาจึงพบว่าโกโก้คือสิ่งที่ถูกซ่อนไว้เบื้องหลังประเทศนี้มาโดยตลอด

“เราแทบไม่รู้เลยว่าบ้านเรามีการปลูก มีคนทำช็อกโกแลตฝีมือดี ๆ มีคนทำแบรนด์อะไรแบบนี้ เราก็เริ่มสนใจ แล้วพอลงลึกไปในเรื่องกระบวนการผลิต เลยเกิดไอเดียใหม่ว่าตลาดของคนที่ไม่ดื่มกาแฟเป็นตลาดที่น่าสนใจ เหมือนคาเฟ่ทางเลือก”

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ว่าที่เจ้าของร้านกาแฟ ผู้ซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างมากพอจะเปิดร้านกาแฟได้สักร้าน เบนเข็มชีวิตมาเปิดร้านช็อกโกแลตคือเพื่อน

“ช่วงเราหาข้อมูลระหว่างทำงาน เราก็ตระเวนตามร้านต่าง ๆ อย่างร้าน Poet Chocolate ที่เชียงราย ร้านกาลเวลาที่ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านช็อกโกแลตที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่ไปกับผมทุกที่เลย เขาเป็นคนเชียงรายที่ไม่ดื่มกาแฟ บอกว่าพาไปหน่อยสิ”

ศิโรฒเล่าว่าเมื่อเพื่อนไปถึงร้าน Poet Chocolate กลับตื่นตาตื่นใจมาก ราวกับได้เจอพื้นที่ของตัวเอง ไม่มีความรู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสองเหมือนเวลาอยู่ในร้านกาแฟ

ระหว่างเดินทางครั้งนี้ เขากำลังตัดสินใจเลือกระหว่างเปิดร้านกาแฟและช็อกโกแลต

ศิโรฒบอกว่าความสุขของเพื่อนในวันนั้น ทำให้เขาเลือกเปิดร้านช็อกโกแลต

ร้าน Choc-a-dii จึงเกิดขึ้นบนถนนนาคนิวาส ผ่านการเปิดหน้าร้านร่วมกับร้านกาแฟ Amigo Coffee ของเพื่อนในเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ซึ่งเครื่องดื่มคราฟต์ช็อกโกแลตเริ่มเป็นที่พูดถึงในประเทศไทย
Image
ถุงบรรจุ cocoa mass สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อช็อกโกแลตกลับบ้านไปชงดื่มเอง บนฉลากระบุชื่อจังหวัด และระดับความเข้มข้นของช็อกโกแลตเอาไว้
“เราเห็นตั้งแต่แบรนด์ช็อกโกแลตยังมีไม่กี่แบรนด์ แม้มันจะไม่ยาวมาก แต่ถ้าบอกว่าแบรนด์ใหม่ ๆ ที่รู้จักในช่วง ๒ ปีนี้
เราก็เป็นแบรนด์ในกลุ่มแรก ๆ” เขาเล่าต่อว่า “วันแรกหาลูกค้ายากมาก เพราะส่วนใหญ่ทุกคนจะเคยชินกับโกโก้ เครื่องดื่มที่ราคาไม่ได้แพงมาก ขม ๆ เข้ม ๆ แน่น ๆ เอาไปใส่รสชาติ พอวันหนึ่งเรามาขายคราฟต์ช็อกโกแลตในราคาแพง เพราะต้นทุนคราฟต์สูงกว่า คนก็สงสัยว่าทำไมต้องดื่มเครื่องดื่มแบบนี้ ทำไมเขาต้องสนใจ ออกบูทครั้งหนึ่งต้องคุยมากกว่าขาย”

จากนั้นศิโรฒก็เริ่มพา Choc-a-dii ไปเปิดตัวตามงานอีเวนต์
สายกาแฟเล็ก ๆ เพื่อให้ผู้คนได้ชิมช็อกโกแลตฝีมือคนไทย

“เราเป็นคนทำอีเวนต์อยู่แล้ว การเปิดหน้าร้าน ถ้าอยากเป็นที่รู้จักเร็ว ต้องพาตัวเองออกไปให้คนข้างนอกรู้จักเรามากขึ้น ตอนแรกไปพวกงานกาแฟพิเศษ (specialty coffee) เราโตมาจากสถานีผัก & คนรักกาแฟ ด้วยความที่บ้านผมอยู่ราชพฤกษ์ มีตลาดนัดกาแฟเล็ก ๆ ที่พุทธมณฑล แรก ๆ เรามีช็อกโกแลตไปไม่กี่ตัว เช่น เพชรบูรณ์ ระยอง เชียงราย ชุมพร ฯลฯ เป็นตัวที่อยู่กับเรามานาน ช่วงแรกเขาก็จะสงสัยว่าบ้านเราทำได้ด้วยเหรอ แล้วต่างจากที่เขาคุ้นเคยยังไง”

หลังจากลูกค้าลองชิมจนติดใจ เขาพบว่ากลุ่มลูกค้าของเขาคือคนที่มาเดินงานกาแฟแต่ไม่ดื่มกาแฟและผู้สูงอายุ

“ผู้สูงอายุเขาตามนิตยสารสุขภาพ โกโก้เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับคำแนะนำว่าดี กลายเป็นกลุ่มที่มีความรู้มาก บางทีมายืนช่วยเราขาย เพราะเขารู้สึกว่าดีจังเลย ไม่น่าเชื่อว่าจะหากินได้ในประเทศไทย  บางทีเขาต้องสั่งจากต่างประเทศ แต่สิ่งนี้บ้านเราทำได้ แล้วอร่อยด้วย มีคาแรกเตอร์แตกต่างกัน ไม่ต้องกินโกโก้ขมอย่างเดียว เราสามารถสร้างรสชาติที่แตกต่างกันได้ดี มีลูกค้าบางคนมาซื้อซ้ำ ทำให้เรามีลูกค้าต่อเนื่อง เลยมีแรงออกอีเวนต์ที่ใหญ่และลึกขึ้นเรื่อย ๆ”
Image
สื่อสารเรื่องช็อกโกแลต
อย่างตรงไปตรงมา

หนึ่งในจุดเด่นสำคัญของร้านนี้คือช็อกโกแลตไทยแบบ single origin (ช็อกโกแลตจากแหล่งปลูกเดียว ไม่ผ่านการผสมรวมกับช็อกโกแลตจากแหล่งปลูกอื่น - ผู้เขียน) บนชั้นสีดำ หน้าร้านที่ผู้เขียนนับได้ ๑๘ แบบ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากหากเปรียบเทียบกับร้านคราฟต์ช็อกโกแลตทั่วไป

ศิโรฒอธิบายว่าในกระบวนการทำช็อกโกแลตมีบุคคลที่เกี่ยวข้องคือคนปลูกโกโก้ ซึ่งจะทำงานร่วมกับคนทำเมล็ด เมื่อได้เมล็ดโกโก้แห้งออกมา คนทำช็อกโกแลต หรือ chocolate maker จะนำเมล็ดมาคั่ว โม่ แล้วใส่ส่วนผสมเป็นสูตรของตัวเอง

ฉะนั้นหากคุณซื้อช็อกโกแลตเชียงราย ไม่ได้หมายความว่าช็อกโกแลตจากเชียงรายจะรสชาติเหมือนกันเสมอไป เพราะในเชียงรายแค่จังหวัดเดียวอาจมีคนทำช็อกโกแลตหลายคน พวกเขาอาจผสมสูตรน้ำตาลไม่เหมือนกัน ทำให้ช็อกโกแลตจากเชียงรายแต่ละแบบรสชาติต่างกัน

คนทำช็อกโกแลตจากจังหวัดเชียงรายอาจรับช็อกโกแลตจากจังหวัดภูเก็ต เพชรบูรณ์ ตาก และระยอง มาออกแบบและพัฒนารสชาติก็ได้

ชื่อจังหวัดบนฉลากเครื่องดื่มช็อกโกแลตเป็นเพียงการบอกที่มาของแหล่งปลูก ส่วนกระบวนการใส่น้ำตาลประเภทต่าง ๆ เพื่อปรับกลิ่นและรสชาติ จึงเสมือนงานศิลปะที่คนทำช็อกโกแลตจะรังสรรค์รสชาติออกมาให้กลมกล่อมที่สุด

“ถ้าสังเกตเราจะเน้นขาย original chocolate เพราะสิ่งที่เราทำคือสื่อสารเรื่องช็อกโกแลตอย่างตรงไปตรงมา เน้นให้ลูกค้ารู้ว่า single origin มีความแตกต่างกันมาก ๆ ดังนั้นถ้าคุณเข้ามาใน Choc-a-dii เรามี single origin ประมาณ ๒๐ แบบจากคนทำช็อกโกแลตหลายราย”

เจ้าของร้านบอกว่า Choc-a-dii มีหน้าที่คัดสรรช็อกโกแลตจากคนทำช็อกโกแลตเหล่านี้มาให้ลูกค้าลิ้มรส ควบคู่กับการนำเสนอที่แปลกใหม่ ด้วยการชงช็อกโกแลตเข้ากับเครื่องดื่ม เช่น นมประเภทต่าง ๆ หรือน้ำผลไม้

เขาบอกว่าการเปลี่ยนน้ำสำหรับชงไม่ได้เปลี่ยนรสชาติดั้งเดิม แต่ทำให้ลูกค้าสัมผัสความหลากหลายของการลิ้มรสช็อกโกแลตมากกว่า

นอกจากขายในร้านแล้ว ศิโรฒยังนำความสนใจช็อกโกแลตแบบ single origin มาต่อยอดเป็น XOCO Craft Brewer
Championship การแข่งขันชงคราฟต์ช็อกโกแลตจากแหล่งปลูกทั่วประเทศไทยกลางห้าง Central World อีกด้วย

“ช่วงหลังเราได้รับเชิญจากทางเซ็นทรัลให้ไปออกงานอีเวนต์ที่เป็นงานกาแฟ เขาบอกอยากจัดงานเกี่ยวกับคราฟต์โกโก้ร่วมด้วย เรารู้สึกว่าถ้าจัดงานแล้วมีการแข่งขันของตัวเองสักอย่างจะดีไหม ก็เลยได้งานแข่งขันเป็นอีเวนต์ย่อย ๆ อยู่ในงานนี้”

การแข่งขันเล็ก ๆ นี้มีตัวแทนนักชงจากร้านคราฟต์ช็อกโกแลตหลายร้านเข้าร่วม โดยมีกรรมการและผู้ชมงานเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งนอกจากรางวัลการันตีฝีมือนักชงแล้ว หลายร้านยังได้สูตรคราฟต์ช็อกโกแลตพิเศษจากการแข่งขันไปขายในร้านด้วย
Image
ถ้าวงการดี…
เราต้องดีไปด้วยกัน

ไม่ใช่แค่การแข่งขันสนุก ๆ ใจกลางห้างดัง แต่งานอีเวนต์คราฟต์ช็อกโกแลตยังเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้ศิโรฒเจอร้านคราฟต์ช็อกโกแลตร้านใหม่ ๆ และได้ช่วยเหลือพี่น้องในวงการให้เติบโตร่วมกัน

บรรดาร้านค้าในวงการคราฟต์ช็อกโกแลตเล่าว่า ภายในงานอีเวนต์คราฟต์ช็อกโกแลตงานหนึ่ง ร้านน้องใหม่อย่าง 2P Craft Chocolate เดินทางไกลมาจากจังหวัดสุรินทร์ แต่ไม่สามารถทำยอดขายได้เหมือนร้านอื่น ๆ

“เราไปออกบูทด้วยกัน ทั้งที่ลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ร้านอยู่โซนเดียวกัน บางบูทขายได้หมื่นกว่าบาท แต่ของน้องขายได้พันกว่าบาท จนพี่ ๆ เดินไปดูว่าทำไมร้านนี้เงียบจัง เรามาช่วยกันแต่งตัวให้น้องดีกว่า” น้ำเสียงเขาสดใสขึ้นเล็กน้อย “เรื่อง packaging น้องใช้กระป๋องพลาสติก หุ้มปิดด้วยกระดาษสาเขียนมือ มันน่ารักนะ แต่พอมาอยู่ท่ามกลางแบรนด์โกโก้ที่ทุกคนออกแบบกันเต็มที่มาก เราบอกไม่เป็นไร เดี๋ยวพี่ทำฉลากมาให้”

วันนั้นพี่ ๆ จากร้านคราฟต์ช็อกโกแลตอย่าง Chocoholic แบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตที่มีชื่อเสียงและถนัดเรื่องงานออกแบบ, PLearn Chocolate แชมป์นักชงโกโก้คนแรกของประเทศไทย, Infif inite Cacao ร้านคราฟต์ช็อกโกแลตไทยที่ส่งช็อกโกแลตประกวดได้รางวัลระดับเอเชียแปซิฟิก, Oligin ร้านคราฟต์ช็อกโกแลตที่มี packaging น่ารักสะดุดตา เข้ามาช่วยร้าน 2P Craft Chocolate ตั้งแต่ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้สวยงามและทันสมัย สอนปิดการขาย และช่วยมองหาจุดแข็งของแบรนด์ให้เจ้าของร้านจากจังหวัดสุรินทร์มีกำลังใจทำงานต่อไป

ตอนนี้วงการช็อกโกแลตกำลังมีอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่น่าจับตามองคือ “Craftmunity” คาเฟ่เล็ก ๆ ที่จะรวมผลงานคราฟต์ช็อกโกแลตฝีมือคนไทยไว้ในที่เดียว เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาลิ้มลองช็อกโกแลตฝีมือคนไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งศิโรฒเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มไอเดียดังกล่าว
คราฟต์ช็อกโกแลตต้องใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการผลิตทั้งหมดไปจนถึงการชงเครื่องดื่ม เพราะแม้แต่ประเภทนมที่ต่างกันก็ให้รสชาติที่ต่างกัน
“อันนี้เป็นเรื่องตลกมาก แรกสุดเราต่างมีแบรนด์เป็นของตัวเอง แต่มี influencer คนหนึ่งมาชิมมาดูของในงาน แล้วสนใจ อยากรู้จักว่าวงการคราฟต์ช็อกโกแลตหน้าตาเป็นยังไง เราชวนกันว่าไปดูสวนสักครั้งดีไหม เลยไปที่ Infinite Cacao จังหวัดระยอง”

influencer คนนั้นคือพีช-พชร จิราธิวัฒน์ นักแสดงชื่อดังทายาทเครือเซ็นทรัล เจ้าของร้านอาหารชื่อดังอย่าง Potato Corner และ KHAO-SO-I 

“วันนั้นมีหลายแบรนด์ อย่าง The Craft บางสระเก้า, Infinite Cacao และแบรนด์อื่น ๆ นั่งคุยกันว่าคนทำช็อกโกแลตมารวมตัวอยู่ตรงนี้ มีคนทำคราฟต์โซดา คราฟต์ช็อกโกแลต ทำไมเราไม่รวมตัวทำอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา โปรเจกต์แรกของเราคือการทำร้าน เพราะถ้าไปต่างประเทศจะมีบางร้านที่เขาทำ multi-brand น่าจะดีถ้าเรามีพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถเอาของมาขาย เพื่อให้คนรักช็อกโกแลตมาที่เดียว แล้วสัมผัสทุกแบรนด์ได้”

ในระหว่างร้านรวมแบรนด์ในซอยลาดพร้าว ๑๐๑ อยู่ในขั้นดำเนินการ กลุ่ม Craftmunity ยังเดินหน้าจัดงานอีเวนต์และกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่งานอีเวนต์คราฟต์ช็อกโกแลตที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวมถึงนำคราฟต์ช็อกโกแลตไทยไปวางขายที่ไต้หวัน

“เพื่อนสายกาแฟมาชวนเราว่าเขามีแบรนด์กาแฟไปงาน Taiwan International Coffee Show 2023 แล้วสามารถจัดสรรพื้นที่สักนิดเพื่อนำเสนอช็อกโกแลตได้ เราเป็นกลุ่มช็อกโกแลตไทยอยากไปด้วยไหม  แรก ๆ เหมือนไม่มีใครสนใจนะ แต่ตอนนี้จะท่วมแล้ว ไปไต้หวันกันแปดแบรนด์ มันเป็นช่องทางที่ดีที่เราจะนำช็อกโกแลตไทยไปให้คนอื่นรู้ว่าจริง ๆ บ้านเราทำช็อกโกแลตได้ แล้วทำช็อกโกแลตดีด้วยนะ”

เมื่อถึงไต้หวัน ศิโรฒเล่าว่าช็อกโกแลตของไทยได้รับการตอบรับที่ดี และความจริงจังในการผลิตช็อกโกแลตของไต้หวันยิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากนำช็อกโกแลตไทยไปจัดแสดงในงานระดับนานาชาติอีกหลายประเทศ

ถ้าเป็นไปได้ปีหน้าเราอาจเห็นช็อกโกแลตไทยในงานช็อกโกแลตระดับชาติของประเทศจีน
Image
“บางทีเขาต้องสั่งจากต่างประเทศ แต่สิ่งนี้บ้านเราทำได้ แล้วอร่อยด้วย มีคาแรกเตอร์แตกต่างกัน ไม่ต้องกินโกโก้ขมอย่างเดียว”
วัดดวง วัดใจ 
ช็อกโกแลตไทยในอนาคต

หากพูดถึงการเติบโตของวงการช็อกโกแลต ศิโรฒมองว่านับแต่เขาเปิดร้านในเดือนมกราคม ๒๕๖๕ มีแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตไทยน้อยมากแบบนับนิ้วได้ แต่วันนี้วงการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มมีแบรนด์เล็กแบรนด์น้อย มีร้านกาแฟที่สนใจร้านช็อกโกแลตเพิ่มขึ้นจนนับไม่ถ้วน 

แต่สถานการณ์แบบนี้ถือว่าอยู่ในช่วงวัดดวง

“ทีนี้สิ่งที่เป็นช่วงวัดใจคือ พอมีแบรนด์จำนวนเยอะ ๆ สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนคือกลุ่มลูกค้า เราต้องสร้างกลุ่มลูกค้าให้มากพอที่จะมาจับจ่ายใช้สอยหรือเป็นลูกค้าแต่ละแบรนด์ได้สุดท้ายก็อาจจะมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปพอสมควร เราพยายามประคอง ช่วยกันหากิจกรรม สอบถามสารทุกข์สุกดิบ หรือหากมีปัญหาก็มาแชร์กัน เพื่อให้ทุกแบรนด์ประคองตัวได้  พอผ่านมาสัก ๑ ปี หลายแบรนด์ที่เริ่มโตขึ้นก็จะประเมินว่าคุ้มค่าไหมที่ยังอยู่ในตลาดนี้ มันอาจเป็นวัฏจักรที่ค่อย ๆ ปรับตัวให้อยู่ได้มากกว่าในช่วง ๑-๒ ปีนี้นะ”

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่นับเป็นช่วงวัดใจคือ ปีนี้ตลาดช็อกโกแลตไทยมีอุปทานไม่เพียงพอ

“ด้วยความที่คราฟต์ช็อกโกแลตเป็นตลาดที่ลมฟ้าอากาศมีผลต่อผลผลิตพอสมควร ความต้องการตลาดสูงขึ้น แต่ช่วงหนึ่งกลับไม่มีผลผลิตสักพักใหญ่ ๆ เลย”

เดือนมีนาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ศิโรฒย้ำว่า Chocolate Journalist เว็บไซต์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือในวงการช็อกโกแลตยกให้ไทยเป็นหนึ่งในสามแหล่งปลูกช็อกโกแลตที่น่าจับตามองมากที่สุดในโลก

“จริง ๆ คนอาจไม่รู้ว่าบ้านเรามีแบรนด์ชื่อภราดัย เป็นคราฟต์ช็อกโกแลตจากจันทบุรีไปเป็นแชมป์โลกมานานแล้ว แปลว่าศักยภาพของบ้านเราปลูกได้ดี เหลือแค่พัฒนากระบวนการ พัฒนาคนที่อยู่ในวงการ” น้ำเสียงเขาฮึกเหิมขึ้นเล็กน้อย “ถ้าจันทบุรีเริ่มทำแบบนี้ได้ในระดับโลก ทำไมจะมีระยอง สุรินทร์ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ไม่ได้ เพราะไม่ได้แปลว่าช็อกโกแลตไทยสู้ใครไม่ได้ ก่อนหน้านี้ช็อกโกแลตไทยมีคนที่มีทุนทรัพย์ส่งช็อกโกแลตประกวดระดับโลกแบบนับคนได้ เรายังได้รางวัลระดับเอเชียแปซิฟิก ได้รางวัลเกือบทุกปี มันน่าจะพิสูจน์ได้ว่าช็อกโกแลตไทยอยู่ในระดับน่าจับตามอง”
เนื่องจากปีนี้มีคราฟต์ช็อกโกแลตไทยเข้าร่วมประกวดระดับนานาชาติมากขึ้น และเขาคาดว่าคนที่รับประทานช็อกโกแลต หรือแม้แต่คนทำช็อกโกแลตเองจะมีความเข้าใจคราฟต์ช็อกโกแลตมากขึ้น

หากมองภาพรวมของตลาด เขาคิดว่ายังไปได้อีกไกล
ส่วนอนาคตของร้านคราฟต์ช็อกโกแลตเล็ก ๆ แห่งนี้ เจ้าของร้านบอกว่าจะไม่ผลิตช็อกโกแลตเอง แต่ Choc-a-dii จะยังคงคัดสรรช็อกโกแลตจากคนทำช็อกโกแลตมากฝีมือ พร้อมทำให้ผู้บริโภคเข้าใจและรู้จักช็อกโกแลตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำมากขึ้น

“แบรนด์ที่อยู่ด้วยคำว่า original chocolate ไม่จำเป็นต้องแฟนซี ไม่จำเป็นต้องขายลูกค้าด้วยการออกแบบ เรายืนยันได้ว่ามีกลุ่มลูกค้าที่อยู่ด้วยรสชาติจริง ๆ เราเน้นขายแบบนี้มาตลอด เราจะยังไม่เปลี่ยน แล้วเราเก่งเรื่องหา feedback เพื่อหาช็อกโกแลตที่แม่นยำและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ามากขึ้น”

เขายังบอกอีกว่า ต่อไป Choc-a-dii จะไม่ได้มีแค่เครื่องดื่มช็อกโกแลตผสมนมหรือน้ำกระเจี๊ยบเท่านั้น เพราะยังมีหลายสูตรที่รอลูกค้ามาลิ้มลองในร้านอีกมากมาย