Chocoholic :
ช็อกโกแลตที่ทำให้คุณ
กลับมาคลั่งรักช็อกโกแลต
เหมือนวัยเด็ก…อีกครั้ง
CHOCOLATE IN SIAM
เรื่อง : กัญญาณัฐ์ เตโชติอัศนีย์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ลานเล็ก ๆ ข้างบันไดเลื่อนชั้น ๑ ของ Central World มีร้านคราฟต์ช็อกโกแลต หรือช็อกโกแลตที่ผ่านกระบวนการผลิตขนาดเล็กและรักษาคุณภาพและรสชาติจากแหล่งปลูกโกโก้ไว้จากทั่วประเทศไทยมารวมตัวอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ใคร ๆ ต่างเรียกบริเวณนี้ว่า “หมู่บ้านคราฟต์ช็อกโกแลต” ร้านรวงแทบทุกร้านมีหลายอย่างเหมือนกัน ตั้งแต่การวางตัวอย่างคราฟต์ช็อกโกแลตจากหลายจังหวัดให้ชิม เครื่องดื่มจากช็อกโกแลต และที่สำคัญคือร้านส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยสีน้ำตาลตามสีของช็อกโกแลต สีเหลืองตามสีของผลโกโก้ จนถึงสีคลาสสิกอย่างขาว ดำ และแดง
แต่ไม่ใช่ร้าน Chocoholic เนื่องจากร้านนี้มีสีสันสดใสอย่างสีส้ม ฟ้า ม่วง น้ำเงิน และสีอื่น ๆ อีกมากมายจากกระป๋องและบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ของร้าน โดยไม่ต้องตกแต่งอะไรเพิ่มจึงสังเกตเห็นร้านนี้เป็นร้านแรกได้ทันที
ด้วยสีสันชวนสนุกสนานนี้เอง ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นวัยรุ่นเข้ามาซื้อช็อกโกแลตพร้อมดื่มใส่กระป๋องอะลูมิเนียมสุดน่ารักไม่ขาดสาย กว่าผู้เขียนจะได้ลิ้มรสช็อกโกแลตจากจังหวัดภูเก็ตที่สั่งไว้ ก็ต้องรอถึงครึ่งชั่วโมง
เมื่อได้ลิ้มรสแล้วพบว่าช็อกโกแลตกระป๋องนี้มีรสเปรี้ยวนำตามด้วยความหวานกลมกล่อมราวกับกินบิสกิตใส่ลูกเกดและความมันจากไขมันโกโก้ (cocoa butter) ซึ่งรสชาติไม่เหมือนเครื่องดื่มช็อกโกแลตตามท้องตลาดทั่วไป
เบื้องหลังความสุข
คือรายละเอียด
หลังจากงานวันนั้น เราตามกลิ่นช็อกโกแลตหอม ๆ มาที่ร้าน Chocoholic ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในย่านบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
ภายในร้านสีขาวขนาดเล็กมีโต๊ะไม้กว้าง ๆ รองรับกิจกรรม workshop พูดคุยกับลูกค้า และลองสูตรช็อกโกแลตใหม่ ๆ ด้านหลังมีพื้นที่ชงช็อกโกแลตเล็ก ๆ หันไปทางกำแพงอีกด้านหนึ่งจะเจอกระจกที่มองทะลุไปแล้วจะพบห้องทำช็อกโกแลตขนาดเล็ก
“อันนี้เป็นห้องที่เราได้แรงบันดาลใจตอนไปญี่ปุ่น เราเห็นเขาทำช็อกโกแลตในห้องมืด ๆ แบบนี้ เพราะช็อกโกแลตไม่ควรโดนแสงเยอะ” อ๋อมแอ๋ม-ฉัตร์ฐิตา อิสระกิจปภัสร์ เจ้าของร้านวัย ๓๓ ปี อธิบายให้ลูกค้าฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเล็กน้อยระหว่างที่เบนซ์-กัญจน์สุธา อิสระกิจปภัสร์ แฟนของเธอ ซึ่งเป็นบาริสตาและผู้พัฒนาสูตรของร้านกำลังชงช็อกโกแลตอย่างตั้งใจ
ส่วนบอส-ณัฐนนท์ อัตตะไพบูลย์ และอาย-พิชญา พยอมแย้ม ผู้ร่วมก่อตั้งร้านอีกสองคนกำลังปาดช็อกโกแลตลงบนแผ่นหินอ่อน เพื่อปรับอุณหภูมิให้กลิ่นและรสชาติของช็อกโกแลตคงเดิม ไม่ผิดเพี้ยนตามกาลเวลา ก่อนจะค่อย ๆ
เทลงแม่พิมพ์อย่างประณีต นำไปแช่เย็นให้แข็งตัว แล้วบรรจุใส่กล่องสำหรับขายหน้าร้าน
เมื่อลูกค้าเดินออกจากร้านแล้ว เราจึงเริ่มพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการเปิดร้านช็อกโกแลตกับฉัตร์ฐิตา หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งร้าน
“โดยส่วนตัวชอบกินช็อกโกแลตมาตั้งแต่เด็ก ทุก ๆ ครึ่งวันต้องมีขนม เครื่องดื่ม พี่รู้สึกว่ากินแล้วมีความสุข เพราะช็อกโกแลตมีสารที่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น”
เจ้าของร้านอธิบายว่าหากแบ่งประเภทของช็อกโกแลตจากกระบวนการผลิตแล้ว สามารถแบ่งได้สองประเภท
ประเภทแรกคือช็อกโกแลตที่ผลิตแบบอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแบบที่ทุกคนคุ้นเคย จะเน้นผลิตในปริมาณมาก ๆ เป็นหลัก
“ถ้าเกิดเป็นอุตสาหกรรมในต่างประเทศ แค่ขอให้ได้เมล็ดมา เขาโยนเข้าเครื่องเลย ไม่ต้องคัดเมล็ดแบบเรา ถ้ามีรสเปรี้ยวก็ใส่สารกลบรสเปรี้ยว เวลาคั่วก็คั่วเกือบไหม้ จะได้ไม่เจอจุดบกพร่องในเมล็ด แล้วปรกติในเมล็ดโกโก้ที่เราคั่วเสร็จแล้วจะมีไขมันอยู่ ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ และผงโกโก้อีก ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เขาจะแยกไขมันโกโก้ขายให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แล้วใส่น้ำมันพืชลงไป ออกมาเป็นช็อกโกแลตที่เรากิน มีรสชาติขมอย่างเดียว”
เจ้าของร้านเล่าว่าไขมันโกโก้เป็นน้ำมันที่ราคาแพงที่สุดในโลก กลุ่มคนรักสุขภาพในต่างประเทศจึงนิยมใช้ประกอบอาหารแทนน้ำมันพืช ส่วนในอุตสาหกรรมจะนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง
ประเภทที่ ๒ คือคราฟต์ช็อกโกแลต ซึ่งเน้นผลิตด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนและรายละเอียด
“คราฟต์โกโก้จะไม่นำไขมันโกโก้ออก อยู่ในนี้ครบถ้วนและต้องคัดเมล็ดอย่างละเอียด เวลาหมักต้องดูว่าหมักเมล็ดด้วยอุณหภูมิเท่าไร ค่าความชื้นเท่าไร เพราะหมักนานเกินไปรสชาติจะเปรี้ยว ที่สำคัญเราต้องคงตัวตน กลิ่น รสชาติทั้งหมด เราไม่ได้ใส่อะไรลงไปเลย แต่มันคือรสชาติที่เขานำเสนอตัวเขาเอง”
ห้องผลิตช็อกโกแลตขนาดเล็กที่มีกระจกไว้ให้ลูกค้าได้ดูกระบวนการผลิตช็อกโกแลตอย่างใกล้ชิด และช่วยกรองแสงให้เข้าไปในการผลิตน้อยที่สุดในเวลาเดียวกัน
เธอเล่าว่าพออายุขึ้นเลข ๓ ได้มาเจอคราฟต์ช็อกโกแลตในงานอีเวนต์เกี่ยวกับกาแฟ นั่นคือช่วงเวลาที่สร้างความประหลาดใจมากมาย
“เราเดินไปเจอ ชิมช็อกโกแลตของเขาแล้ว ว้าว ! ที่เรารู้จักมีแค่ขมกับหวาน ไม่เคยกินช็อกโกแลตที่มีกลิ่นและรสชาติ (taste note) แบบนี้มาก่อน ช็อกโกแลตที่รสชาติเหมือนองุ่นเป็นเบอร์รี เป็นสับปะรด เป็นถั่ว แล้วเขาบอกว่าไม่ได้ใส่อะไรเลยนะ มีแค่กระบวนการคั่วช็อกโกแลต เป็นฝีมือของคนทำช็อกโกแลต มันเป็นของคนไทย ต้นที่ปลูกในเมืองไทย เฮ้ย ! ช็อกโกแลตปลูกในเมืองไทยได้ด้วยเหรอ เพิ่งรู้ มันคือการเปิดโลกใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน”
หลังจากวันนั้นฉัตร์ฐิตาและแฟนของเธอสนใจเรื่องคราฟต์ช็อกโกแลตมากขึ้น แต่กลับพบว่ามีข้อมูลน้อยมาก จึงไปลงเรียนทำช็อกโกแลตอย่างจริงจัง
“ตอนแรกพี่ติดงานประจำ เลยให้แฟนไปเข้าคลาส แล้วมันสนุกมาก ได้ชิมช็อกโกแลตที่แตกต่างกัน แฟนก็เลยลงเรียนต่อเป็นคนทำช็อกโกแลตเลย เรียนรู้วิธีหมัก คั่ว ตากแบบพื้นฐานแล้วเราก็ไปเข้าแคมป์ Cacao Hub ที่เป็นกลุ่มของคนทำช็อกโกแลตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แลกเปลี่ยนความรู้และปัญหากัน มีรุ่นพี่คอยช่วยเหลือดูแลตลอดเวลา”
ฉัตร์ฐิตาเล่าว่า หนึ่งในเหตุผลที่ตัดสินใจทำธุรกิจคราฟต์ช็อกโกแลตไทยคือสามารถพูดคุยถึงความต้องการกับเกษตรกรได้โดยตรง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูก หมัก และตากโกโก้เอง กระบวนการเหล่านี้คือการพัฒนารสชาติของช็อกโกแลตตั้งแต่ต้นว่าอยากให้ออกมาทิศทางไหน อยากให้ช็อกโกแลตเปรี้ยวก็อาจหมักนานขึ้นสักนิด อยากให้หวานขึ้นก็เลือกน้ำตาลหลาย ๆ แบบมาลองใส่ในปริมาณต่างกัน ทำให้ช็อกโกแลตมีรสชาติแตกต่าง
หลังจากนั้นฉัตร์ฐิตาจึงเรียนหลักสูตรการประเมินเมล็ดโกโก้เพื่อให้เธอพูดคุยกับเกษตรกรได้ละเอียดขึ้น และหากเกิดปัญหากับผลผลิตที่เกษตรกรส่งเข้ามาขายในร้าน เธอจะได้รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และร่วมมือกับเกษตรกรแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
เจ้าของร้านกำลังตรวจสอบเมล็ดโกโก้จากเกษตรกรชาวพัทลุง หากเมล็ดโกโก้ที่ผ่านกระบวนการผลิตมีสีม่วง หรือส่วนที่ทำให้รู้สึกขมน้อย เมล็ดชุดนี้ จึงจะผ่านเข้าสู่กระบวนการผลิตช็อกโกแลตของร้านต่อไป
“เพราะเราเองก็มีมาตรฐานในการคัดวัตถุดิบ เราจะไม่พูดว่าไม่ชอบ ไม่อร่อย ไม่เอา แต่ชิมแล้วต้องรู้ว่าไม่ชอบเพราะอะไร ถ้าจะส่งโกโก้มาขายกับร้านเราต้องทำยังไง เช่น ตอนเกษตรกรส่งผลผลิตมาให้เรายังไม่มีกลิ่นแอลกอฮอล์ แต่พอ
มาถึงเราแล้วมีกลิ่นแอลกอฮอล์ เกิดจากอะไร การขนส่งที่อุณหภูมิดีพอหรือเปล่า ใช้เวลานานแค่ไหน เพราะอุณหภูมิมีผลต่อกลิ่นและรสชาติของช็อกโกแลต เราจะได้ส่งเสียงสะท้อนกลับไปหาเกษตรกรได้ด้วย”
แม้จะทำทุกอย่างด้วยกระบวนการเดียวกันแล้ว ช็อกโกแลตที่ได้รับจากเกษตรกรแต่ละครั้งอาจมีรสชาติไม่เสถียรเหมือนในระบบอุตสาหกรรม
ตอนนี้ทางร้านกำลังนำช็อกโกแลตจากจังหวัดภูเก็ตชุดใหม่ที่เพิ่งได้รับจากเกษตรกรมาทดลองชิม ด้วยการชงกับนมสองแบบคือนมวัวและนมโอ๊ต พบว่าเมื่อชงกับนมวัวแล้วยังมีรสชาติไม่เข้ากัน ต่างจากนมโอ๊ตที่ละมุน นุ่มลิ้น ชูรสชาติดั้งเดิมของช็อกโกแลตได้ดีกว่า
“ลองชิมดูสิ รสชาติไม่เหมือนที่เคยชิมนะ อันนี้เปรี้ยว ๆ คล้ายมะขามเปียก”
เจ้าของร้านยื่นแก้วใบจิ๋วเท่านิ้วโป้งใส่เครื่องดื่มช็อกโกแลตให้ผู้เขียนลองชิม รสชาติของช็อกโกแลตภูเก็ตครั้งนี้ต่างจากที่เคยชิมหน้าร้านอย่างที่เจ้าของร้านบอกไว้จริง ๆ
เพราะฉะนั้นหากคุณเข้าไปชิมเครื่องดื่มในร้านคราฟต์ช็อกโกแลตแล้วสั่งแบบเดิม อาจได้เครื่องดื่มที่รสชาติไม่เหมือนเดิมก็ได้
นี่คือเสน่ห์ของคราฟต์ช็อกโกแลต
รสชาติไทย แต่ให้เริ่ม
ด้วยช็อกโกแลตนอก
เมื่อสังเกตร้านคราฟต์ช็อกโกแลตในประเทศไทย พบว่าโดยส่วนใหญ่ร้านค้ามักนำเสนอช็อกโกแลตไทยให้ลูกค้าด้วยความภาคภูมิใจ แต่ Chocoholic กลับมองในมุมที่แตกต่าง
“เมื่อก่อนพี่ขายช็อกโกแลตต่างประเทศด้วย เพราะมันละมุน เข้าถึงง่าย เรารู้สึกปลอดภัยกับช็อกโกแลตนอกมากกว่า แล้วพี่นึกถึงตอนออกบูทว่าสิ่งที่ทำให้ลูกค้าตกใจคือเอาช็อกโกแลตไทยใส่ปากเขาเลย โดยที่เขาไม่เคยกินมาก่อน พอเจอรสเปรี้ยว รสฝาด คนไม่เข้าใจ คิดว่าบูด เสียหรือเปล่า เขาไม่ยอมรับ ส่ายหน้าเลย แทนที่เขาจะค่อย ๆ ชอบ พอต่อไปเจอช็อกโกแลตแบบนี้ เขาจะไม่กินอีกเลย”
Chocoholic จึงต้องหากลยุทธ์ใหม่พูดคุยกับลูกค้าโดยเรียงลำดับการชิมช็อกโกแลตใหม่ เริ่มจากให้เปิดประสบการณ์ด้วย “Signature” เครื่องดื่มคราฟต์ช็อกโกแลตที่รสชาติคล้ายลูกเกดและอัลมอนด์ก่อน
“ลูกค้าเข้าใจลูกเกด เข้าใจอัลมอนด์ เข้าใจช็อกโกแลต พอเราบอกว่าทั้งหมดนี้เราไม่ได้ใส่ถั่ว ใส่ลูกเกดลงไปเลย แต่เป็น
กระบวนการหมัก ตาก คั่วของช็อกโกแลตเอง เขาก็ประหลาดใจ อันนี้เป็นตัวเปิดประสบการณ์ที่ดีแก่เขา จนอยากชิมตัวอื่น ๆ ต่อ”
จากนั้นหากลูกค้าต้องการรสชาติเปรี้ยวมากขึ้น ทางร้านอาจให้เริ่มด้วยช็อกโกแลตจากภูเก็ต ตามด้วยกำแพงเพชรและทางเกวียนจากจังหวัดระยอง หรือลูกค้าวัยเด็กจะได้รับคำแนะนำให้ชิมช็อกโกแลตจากเอกวาดอร์เป็นลำดับแรก เพราะใกล้เคียงกับช็อกโกแลตนมมากที่สุด
ณัฐนนท์ทำการลดอุณหภูมิของช็อกโกแลตจาก ๔๐ องศาเซลเซียส เป็น ๒๗ องศาเซลเซียส การปาดช็อกโกแลตอุณหภูมิกว่า ๔๐ องศาเซลเซียสลงบนแผ่นหินอ่อนเพื่อช่วยยืดอายุให้เก็บรักษาช็อกโกแลตได้นานขึ้น จาก ๑-๒ เดือน เป็น ๖ เดือน-๑ ปี
อีกหนึ่งสิ่งที่คนไทยเข้าใจคือ ช็อกโกแลตเข้ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หมายถึงผงโกโก้เข้ม ๆ เยอะ ๆ แน่น ๆ ใส่นมข้นหวาน แต่ความเป็นจริงในวงการช็อกโกแลตหมายถึงช็อกโกแลตที่ไม่ใส่น้ำตาลหรือส่วนผสมอื่นเลย มีเพียงรสฝาดและเปรี้ยว ทำให้ลูกค้าหลายคนเบือนหน้าหนี
“dark ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นอะไรที่คนเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่รสชาติที่หอมอร่อยไม่จำเป็นต้อง dark ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็ได้ หลายคนมากที่ไปถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วสุดท้ายกลับพบว่าแค่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ก็เข้มสำหรับเขาแล้ว”
เจ้าของร้านเล่าว่าการช่วยลำดับการชิมให้ลูกค้าได้ชิมช็อกโกแลตจนเจอสูตรที่ตัวเองชอบ ทำให้เกิดการกลับมาซื้อซ้ำอยู่เรื่อย ๆ
ส่วนกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อเครื่องดื่มช็อกโกแลต ฉัตร์ฐิตา บอกว่าช่วงแรกเธอวาดภาพเป็นกลุ่มวัยรุ่นจนถึงวัยทำงานที่สนใจเรื่องแฟชั่น แต่งตัวเก่ง ชอบงานศิลปะ มีคาแรกเตอร์สนุกสนาน เพราะบรรจุภัณฑ์ของร้านน่าจะดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้
“แต่พอเราเปิดให้ชิมช็อกโกแลตหน้าร้าน ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ยันผู้สูงอายุเข้ามาชิม ทีนี้กลายเป็นว่าลูกค้าพี่กว้างขึ้น มีหลายกลุ่ม ทำให้สินค้าที่ออกมามีความหลากหลายด้วย เมื่อก่อนเขาบอกให้โฟกัสกลุ่มลูกค้า พี่ก็โฟกัส แต่พอพี่ออกบูทแล้วเจอว่า ถ้าทำให้ครอบคลุมกลุ่มคนได้มากขึ้น เราก็สามารถขายได้ทุกกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องขายกลุ่มเดียว”
บางครั้งช็อกโกแลตก็สร้างความสัมพันธ์ดี ๆ ในครอบครัว เช่น ระหว่างชิมช็อกโกแลต บางครอบครัวพูดคุยกันว่าพ่อชอบแบบไหน แม่ชอบแบบไหน ลูกชอบรสชาติอะไรบ้าง หรือผู้สูงอายุบางคนเห็นบรรจุภัณฑ์ของร้านน่ารัก ก็ซื้อฝากคนในครอบครัว
แต่หลายครั้งที่ผู้สูงอายุได้ชิมแล้ว พวกเขาไม่ได้แค่ซื้อฝากลูกฝากหลาน แต่ตัดสินใจซื้อไว้ดื่มเองด้วย
เพราะทุกกระป๋อง
มีเรื่องราวซ่อนอยู่
ช่วงที่ Chocoholic เปิดร้านแรก ๆ บรรจุภัณฑ์ของร้านเป็นเพียงแก้วพลาสติกธรรมดา พร้อมฝาครอบแก้วลายการ์ตูนตัวเอกของร้านชื่อ “Holic” ตัวการ์ตูนปุกปุยบนกระป๋องของเครื่องดื่ม “Signature” ซึ่งมาจากฝีมือออกแบบของเบนซ์-กัญจน์สุธา แฟนของฉัตร์ฐิตาที่ประกอบอาชีพเป็นนักออกแบบกราฟิกและนักชงช็อกโกแลตของร้านนี้
“เราไปออกงานครั้งแรก เพื่อนของน้องมาดื่มช็อกโกแลตที่ร้าน บอกอร่อยมาก คุณภาพช็อกโกแลตเหมาะสมกับราคา ๑๓๕ บาท แต่ packaging ยังไม่ผ่าน ดูเด็กไป คนไม่ซื้อนะ คอมเมนต์ของเพื่อนเปิดโลกเลย ต้องมานั่งประชุมกันใหม่ว่าเอายังไงดี จนพี่มาเจอกระป๋องตัวนี้”
กระป๋องอะลูมิเนียมกลายเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่และเอกลักษณ์ของ Chocoholic ด้วยหลายเหตุผล แต่เหตุผลหลักคือเธออยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้านี้ฉัตร์ฐิตาเคยเปิดร้านขายกระบอกน้ำ ช้อน-ส้อมและของที่ระลึกที่สามารถสลักชื่อเจ้าของลงไปได้ เธอจึงอยากนำวิธีคิดนี้มาใช้กับร้านช็อกโกแลตด้วย
“พี่รู้สึกว่าโจทย์ของพี่คือคราฟต์ช็อกโกแลตกินแล้วอร่อย อยากกินอีก อยากกินซ้ำ ฉะนั้นจะมีขยะจากการกินซ้ำเยอะมาก กระป๋องนี้จึงตอบโจทย์ เราลงทุนซื้อเครื่องปิดฝากระป๋องทำกระป๋อง ราคาสูงกว่านิดหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้คือเราไม่เหลือขยะบนโลกนี้เลย เพราะสติกเกอร์บนกระป๋องก็เปลี่ยนเป็นพลังงานได้ ส่วนกระป๋องรีไซเคิลได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กระป๋องใหม่จะต้องมีอะลูมิเนียมเก่าอยู่ไม่ต่ำกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นมันต้องใช้ตลอด เดี๋ยวเขาก็เอาไปหลอมใหม่”
ลูกค้ายังช่วยออกไอเดียการใช้กระป๋องซ้ำ ด้วยการนำไปปลูกต้นพลูด่าง นำกระป๋องไปวางเรียงบนชั้นเพื่อความสวยงาม ทำเป็นกระป๋องเก็บปากกาบนโต๊ะทำงาน หรือบางคนก็นำไปขายให้ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลในราคากิโลกรัมละ ๕๐ บาท
อีกหนึ่งเหตุผลคือกระป๋องอะลูมิเนียมช่วยป้องกันแสงและมีความเย็น ทำให้ยังคงกลิ่นและรสชาติของช็อกโกแลตได้ดี
ในส่วนการออกแบบฉลากนั้น เจ้าของร้านเล่าว่าเธอเคยตั้งคำถามว่าทำไมแบรนด์ช็อกโกแลตในไทยจึงมีแค่สีขาว ดำ น้ำตาล และเหลือง ไม่มีสีอื่น ๆ ทั้งที่รสชาติของช็อกโกแลตมีความแตกต่าง ทางร้านจึงนำวงล้อกลิ่นและรสชาติของกาแฟ (flavor wheel) ที่นิยมใช้ในวงการกาแฟพิเศษ (specialty coffee) มาเลือกสีตัวอักษรและสีพื้นหลังฉลาก เพื่อเป็นตัวแทนรสชาติต่าง ๆ
นอกจากนี้ตัวการ์ตูนบนกระป๋องแต่ละตัวมาจากบุคลิก ความชอบ และลักษณะของเกษตรกรและคนทำช็อกโกแลต
“พี่คุยกับแฟนว่าเราอยากให้เกียรติเกษตรกร ให้เกียรติคนทำงานทุกคน เราก็ออกแบบกระป๋องให้เป็นอย่างที่เขาต้องการ เขาจะได้อยากส่งช็อกโกแลตมาขายเรา เพราะจะมีคาแรกเตอร์เขาอยู่บนหน้ากระป๋องของเขา”
ยกตัวอย่างเช่น “ทางเกวียน” ช็อกโกแลตจากจังหวัดระยอง ได้รับแรงบันดาลใจจากอาร์ม-ปฤญจ์ นิพัทธโกศลสุข เจ้าของร้าน Infif inite Cacao ที่ชอบแรปเรื่องช็อกโกแลตเป็นประจำ ตัวการ์ตูนนี้จึงมีผิวขาวและใส่หูฟัง หลายคนบอกว่าพอมองแล้วคิดถึงเจ้าของร้านช็อกโกแลตจากระยองทันที
“ช่วงแรกเราออกแบบคาแรกเตอร์ให้เขาเลย แต่ตอนหลังเราจะคุยว่าเขาอยากได้แบบไหน นึกถึงกำแพงเพชรนึกถึงอะไร อย่างของกำแพงเพชรเป็นน้องอายุ ๒๖ ปี ตอนทำช็อกโกแลต เขาแต่งตัวแบบนี้เลย ใส่กางเกงขาสั้น ใส่หมวก เราใส่รายละเอียดด้วย กำแพงเพชรนี่ตาเป็นรูปเพชรนะ ส่วนรสชาติเป็นเหมือนมอลต์ บิสกิต และลูกพรุน สีของสติกเกอร์จึงออกมาโทนลูกพรุนและบิสกิตอย่างชัดเจน”
เธอบอกว่ากว่าจะเป็นช็อกโกแลตราคากระป๋องละ ๑๓๕ บาท เป็นช็อกโกแลตธรรมชาติที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง มันมีทั้งเรื่องราวและความใส่ใจอยู่ในนั้น เพราะระหว่างเกษตรกรหมักผลผลิตนาน ๗ วัน พวกเขาต้องตรวจอุณหภูมิ ตรวจน้ำตาลวันละสามรอบ การออกแบบครั้งนี้จึงสร้างความประทับใจให้เกษตรกรมาก
“อย่างน้าเพ็ญเป็นคนปลูก คนทำเมล็ดที่พัทลุง วันหนึ่งเขาบินมาดูเราออกบูท พอเห็นคนซื้อเยอะ เขามีความสุขมาก ยืนข้างร้านน้ำตาคลอ บอกว่าน้าอยู่แต่ในสวน ไม่รู้ว่าคนมีความสุขกับสิ่งที่น้าทำขนาดนี้ ฉะนั้นถ้าพี่รับซื้อผลผลิตจากเขาแล้ว เขามั่นใจได้เลยว่ากระป๋องของเขา ลายของเขา เราจะสื่อสารออกไปให้คุณเต็มที่ ถ้าลูกค้ามีเวลาหน้าร้าน เราจะเล่าให้ฟังว่าทุกอย่างมันมีเรื่องราว”
ส่วนช็อกโกแลตที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทางทีมงานของร้านจะออกแบบตามเหมาะสม โดยรสชาติ “Signature” และ “Holic no.1” คือตัวการ์ตูนที่มีชื่อว่า Holic สื่อถึงความเป็นอิสระในการใช้ชีวิต ไม่มีกรอบใด ๆ และ “Ecuador” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแต่งตัวของชาวเอกวาดอร์
บอส-ณัฐนนท์ อัตตะไพบูลย์, อาย-พิชญา พยอมแย้ม, อ๋อมแอ๋ม-ฉัตร์ฐิตา อิสระกิจปภัสร์, เบนซ์-กัญจน์สุธา อิสระกิจปภัสร์ ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Chocoholic
เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร
ปล่อยของ
“เราอยากให้เกียรติเกษตรกร ให้เกียรติคนทำงานทุกคน เราก็ออกแบบกระป๋องให้เป็นอย่างที่เขาต้องการ เขาจะได้อยากส่งช็อกโกแลตมาขายเรา”
ฉัตร์ฐิตาบอกว่าจุดเด่นของ Chocoholic คือการทำ house blend หรือนำช็อกโกแลตตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมกัน โดยมีรสชาติอย่าง “Siam Xoco” ที่ได้จากการผสมช็อกโกแลตจากจังหวัดระยองและตาก เป็นแบบอย่างว่าที่นี่สามารถผสมทั้งช็อกโกแลตไทยและช็อกโกแลตนอกให้อร่อยได้
เธอจะทำงานส่วนนี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
“คนส่วนใหญ่ขาย single origin (ช็อกโกแลตที่มาจากสายพันธุ์และแหล่งเพาะปลูกเดียวกัน-ผู้เขียน) ทุกร้านเลยนะ ลำปางก็มีทุกร้าน กำแพงเพชรก็มีทุกร้าน ต่อไปแบรนด์ของพี่จะเบลนด์ให้เยอะขึ้น แล้วเราจะไม่ได้แค่ขายปลีก เพราะคนสนใจสต๊อกช็อกโกแลตของเราไว้ขายหน้าร้านเยอะมาก พี่มองว่าเป็นโอกาสที่เกษตรกรมีที่ปล่อยของ คือส่งมาให้เราแล้วเราเป็นเครือข่ายกระจายให้”
นอกจากนี้ Chocoholic จะเปิดร้านรับผลิตช็อกโกแลตให้ร้านค้าอื่น หรือทำ OEM (original equipment manufacturer) มากขึ้น และจะจัด workshop ให้คนรู้จักคราฟต์ช็อกโกแลตเพิ่มขึ้น
เนื่องจากเจ้าของร้านช็อกโกแลตมองว่า หากประเทศไทยปลูกโกโก้ได้เยอะมาก แต่ไม่มีคนกิน ไม่มีคนซื้อ ไม่สามารถขายได้ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน
“วงการช็อกโกแลตเริ่มเป็นที่รู้จักของคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการแล้ว แต่บางคนยังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยปลูกต้นคาเคาได้
ขั้นแรกของพี่คือคนต้องรับรู้ว่าประเทศไทยปลูกคาเคาได้ เรามากินช็อกโกแลตไทยกันนะ เอาไปต่อยอด ทำเบเกอรี เพื่อให้เศรษฐกิจในวงการช็อกโกแลตเติบโตได้เร็ว”
ฉัตร์ฐิตามองว่าตอนนี้วงการกาแฟมีอุปกรณ์ทุกอย่าง มีการสนับสนุนจากคนทั่วไป วงการช็อกโกแลตยังไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่มีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น
“ตอนนี้มีคนชวนพี่ไปทำ workshop กลางเมือง เพราะอยากให้คนไปหาเรา มีความสุขที่ชิมช็อกโกแลตของเรา คน
อื่น ๆ จะได้ไม่กังขาว่าช็อกโกแลตร้านทั่วไปราคา ๔๐-๕๐ บาท แต่ทำไมเครื่องดื่มคราฟต์ช็อกโกแลตแก้วละ ๑๐๐ กว่าบาท ถ้าเขาได้ชิม ได้เรียนรู้ประวัติหรือกระบวนการของมันเขาก็จะพร้อมจ่ายในราคานี้”
Chocoholic เชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำทั้งหมดเพียงเพื่อทำภารกิจที่สำคัญให้สำเร็จ
ภารกิจนั้นคือทำให้คนได้ลิ้มลองคราฟต์ช็อกโกแลตมากที่สุดนั่นเอง