Image
Wonka (ค.ศ. ๒๐๒๓) ภาพยนตร์ที่แต่งเรื่องขึ้นใหม่ให้เป็นเหมือนภาคก่อนของ Charlie and the Chocolate Factory
ความรัก อุดมคติ โชคชะตา
ภาพจำของรสช็อกโกแลต
CHOCOLATE IN SIAM
เรื่อง : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
หากจะนับจุดเริ่มต้นที่ค้นพบผลโกโก้และแพร่หลายไปยังต่างถิ่นจากการล่าอาณานิคมของสเปนถูกนำมาดื่ม ปรุงรสชาติ แปรรูปจนถูกปากผู้คน โกโก้-ช็อกโกแลต คือหนึ่งในอาหารและเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย ชนิดที่คุณเดินออกจากบ้านก็จะเจอเครื่องดื่มชนิดนี้ในรถเข็นขายน้ำ อาหารสารพัดในร้านสะดวกซื้อซึ่งมีส่วนประกอบของช็อกโกแลต หรือใกล้ตัวกว่านั้นช็อกโกแลตมอลต์แบบชงดื่มกับน้ำร้อนก็อาจเป็นของติดบ้านของหลายครอบครัวซึ่งเราคุ้นชินตั้งแต่จำความได้
อาจด้วยสี กลิ่น รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ สรรพคุณที่เชื่อต่อกันมา รวมถึงการตลาดโฆษณาสินค้าต่าง ๆ…ช็อกโกแลตจึงกลายเป็นภาพจำให้กับเรามากมาย เช่น

ช็อกโกแลตชั้นดีต้องมาจากประเทศเบลเยียม

ในงานฉลองเทศกาลส่งท้ายปีต้องมีขนมหวานรสช็อกโกแลตอย่าง Ferrero Rocher

การกินคุกกี้แซนด์วิช Oreo ให้อร่อย ต้องบิด ชิมครีม และจุ่มนม ฯลฯ มากกว่านี้คงเป็นพื้นที่โฆษณา (ฮา)

หรือบางครั้งก็กลายเป็นคำเรียกติดปากในเทคนิคงานศิลปะบนกล่องโกโก้ตรา Droste หรือโกโก้ตรานางพยาบาล ซึ่งเป็นภาพนางพยาบาลซ้อนภาพวนซ้ำไม่รู้จบ จนเรียกเทคนิคภาพเช่นนี้ว่า Droste effect

นอกจากนั้นในสื่อต่าง ๆ ทั้งวรรณกรรม ภาพยนตร์ ซีรีส์โทรทัศน์ หรือบทเพลง ช็อกโกแลตยังถูกนำมาอ้างเปรียบเทียบซ้ำ ๆ ดังสัญลักษณ์เชิงนามธรรม…
Image
Image
ดั่งตัวแทน
แห่งความรัก

มีผลงานที่นำชื่อช็อกโกแลตมาสร้างเป็นสื่อมากมาย ตั้งแต่ตระกูลสืบสวน (นิยาย Dying for Chocolate ค.ศ. ๑๙๙๓), แอ็กชัน (ช็อคโกแลต ปี ๒๕๕๑, Hot Fuzz ค.ศ. ๒๐๐๗), สยองขวัญ (Blood and Chocolate ค.ศ. ๒๐๐๗) แต่ที่มากกว่าทั้งหมดคงไม่พ้นเรื่องรัก หรืองานที่อวลบรรยากาศโรแมนติก

ภาพจดจำมากที่สุดของช็อกโกแลต คงไม่พ้นอาหาร-ขนมหวานแห่งความรัก ส่วนหนึ่งนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาจากความเชื่อในสรรพคุณช่วยชูกำลังแก่คู่รักที่สืบต่อมาตั้งแต่อดีต

หากสิ่งที่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนจริง ๆ ที่ทำให้ช็อกโกแลตได้รับความนิยมล้นหลามมาจากการตลาดของขนมแบรนด์หนึ่ง

ใน ค.ศ. ๑๘๖๘ ริชาร์ด แคดเบอรี นักธุรกิจชาวอังกฤษเจ้าของช็อกโกแลต Cadbury เริ่มขายช็อกโกแลตในแบบกล่องเหล็กเป็นครั้งแรก ก่อนจะผลิตกล่องรูปหัวใจสำหรับเทศกาลวาเลนไทน์ ขายดีจนทางบริษัทได้ออกกล่องช็อกโกแลตสำหรับเทศกาลวันหยุดต่าง ๆ เพิ่มอีกด้วย

หนึ่งในหลักฐานชั้นดีที่พิสูจน์ความนิยมยังมาจากในอีก ๑๐ ปีต่อมา (ค.ศ. ๑๘๗๘) พวกเขาซื้อที่ดินขนาด ๑๔ เอเคอร์ทางตอนใต้ของเมืองเบอร์มิงแฮม เพื่อเปิดโรงงานแห่งใหม่ในปีถัดมา พร้อมขยับขยายขนาดโรงงานและสร้างหมู่บ้านให้คนงานในนามบอร์นวิลล์ (Bournville)

ผลิตภัณฑ์จากช็อกโกแลตจึงถูกเชื่อมโยงกับความรักด้วยประการฉะนี้โดยประเทศที่มอบช็อกโกแลตในเทศกาลแห่งความรักจนกลายเป็นธรรมเนียมยังมีในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น

ย้อนไปช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ เมื่อบริษัทขนมญี่ปุ่น Mary Chocolate ทำแคมเปญส่งเสริมการขายในวันวาเลนไทน์ เชิญชวนหญิงสาวซื้อช็อกโกแลตเพื่อมอบให้ฝ่ายชายเป็นสื่อรัก

ว่ากันว่าเดิมเป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นบ้างแล้วในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เพราะการที่ผู้หญิงบอกรักผู้ชายถือเป็นเรื่องน่าอายในยุคดังกล่าว การให้ขนมเป็นตัวแทนจึงเป็นวิธีเหมาะสมกว่า ยิ่งเมื่อผู้ผลิตขนมรายอื่นโฆษณาตามบ้างก็ส่งผลให้การตลาดนั้นประสบความสำเร็จจนกลายเป็นธรรมเนียมในญี่ปุ่นมายาวนานจนมีคำเรียกต่างกัน เช่น

ฮนเมช็อกโก (本命チョコ) เป็นช็อกโกแลตสำหรับมอบให้คนที่แอบรัก และกิริช็อกโก (義理チョコ) เพื่อมอบให้เพื่อนหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน และในญี่ปุ่นจะมีวันไวต์เดย์ (White Day) เพิ่มเข้ามาคือวันที่ ๑๔ มีนาคมของทุกปี ให้ผู้ชายมอบของขวัญตอบแทนอีกครั้ง ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่พบได้ในสื่อบันเทิงญี่ปุ่น ตั้งแต่มังงะ ซีรีส์โทรทัศน์ หรือวิดีโอเกม
Image
Image
Charlie and the Chocolate Factory (ค.ศ. ๒๐๐๕)
ดั่งปรารถนา
อันเร่าร้อน

เล่าลือกันว่า มอนเตซูมา จักรพรรดิชาวแอซเท็ก จะดื่มเครื่องดื่มจากผลคาเคา หรือโกโก้ หนึ่งแก้วก่อนเข้าฮาเร็ม หรือ จาโกโม กาซาโนวา นักรักชื่อก้องชาวอิตาลี กินช็อกโกแลตก่อนขึ้นเตียงกับผู้หญิง ซึ่งน่าจะสะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับช็อกโกแลตที่ร้อนแรงมากกว่าการได้รับความรักไปอีกระดับ…

ความเชื่อในสรรพคุณนี่เองก็ดังเช่นผลงานสองเรื่องที่เปรียบช็อกโกแลตเป็นตัวแทนความปรารถนานั้น

ในนิยายแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ของเม็กซิโก Como agua
para chocolate หรือ Like Water for Chocolate [ค.ศ. ๑๙๘๙ แปลไทยแล้วสองครั้งในชื่อ รักซ้อน ซ่อนรส (ปี ๒๕๓๙) และขมเป็นน้ำตาล หวานเป็นน้ำตา (ปี ๒๕๖๖)] ผลงานของ เลารา เอสกิเวล - กับชีวิตรันทดอันแสนพิศวงของติตา หญิงสาวผู้ผูกพันกับอาหารมาแต่กำเนิด เธอเกิดในตระกูลที่มีกฎให้ลูกคนเล็กต้องคอยรับใช้แม่ไปชั่วชีวิต ตั้งแต่เล็กจนโตจึงอยู่ได้เพียงห้องครัว และไม่อาจสมหวังในความรักกับชายหนุ่มที่ต้องชะตากัน

“เช่นน้ำชงช็อกโกแลต” 

เป็นคำเปรียบอารมณ์ที่ปะทุถึงจุดเดือดซึ่งไม่อาจทนเก็บซ่อนได้ของติตา ยามรู้สึกสุขหรือทุกข์ มันก็ถูกถ่ายทอดไปยังอาหารที่เธอปรุงชนิดเห็นภาพ ทั้งผู้ลิ้มรสแล้วเกิดอารมณ์เร่าร้อน หรืออาจอาเจียนโดยติตาเอง

ด้วยเนื้อหาและบรรยากาศอันสวยแปลกแตกต่างเมื่อนิยายถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เม็กซิโกใน ค.ศ. ๑๙๙๒ จนสร้างความฮือฮากลายเป็นหนังต่างประเทศที่ทำรายได้สูงสุดในสหรัฐอเมริกา ณ ขณะนั้น
Image
Chocolat (ค.ศ. ๒๐๐๐)
...อีกด้านอารมณ์ปรารถนาก็ยังสืบมาจากรสชาติและสรรพคุณของช็อกโกแลต ซึ่งประดุจสัญลักษณ์ของการแสวงหาความสุขให้ชีวิต ปล่อยให้เราได้ปรนเปรอตัวเองบ้าง

ในภาพยนตร์ย้อนยุคเรื่อง Chocolat (ค.ศ. ๒๐๐๐) ของ ลาสซี ฮอลสตรอม ซึ่งดัดแปลงจากนิยายในชื่อเดียวกันของ
โจแอนน์ แฮร์ริส ณ ชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของฝรั่งเศส ซึ่งคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาอย่างเคร่งครัดมาร่วม ๑๐๐ ปี…หากการมาของ เวียนน์ โรเชอร์ แม่ม่ายลูกติด ผู้เปิดร้านขายช็อกโกแลตที่รังสรรค์ขนมแปลกใหม่ทั้งรสชาติ ความสวยงาม และมีสรรพคุณอันสร้างความพิศวงแก่ผู้คนที่นี่

ร้านช็อกโกแลตของเวียนน์ยังเกี่ยวพันกับหลายผู้คน โดยให้ความช่วยเหลือ และค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาซึ่งกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ขุนนางแห่งเรโนมองว่าอันตราย และพยายามหาทางขับไล่เธอ

หากใช่เพียงแค่เรื่องอารมณ์รุ่มร้อน ทว่างานย้อนยุคทั้งสองยังสะท้อนความคับข้องต่อกรอบจารีตเคร่งครัด ขาดอิสระ โดย
เฉพาะ Like Water for Chocolate ที่มีคนตีความว่าเปรียบถึงการปกครองแบบเผด็จการทหารของเม็กซิโกอันยาวนานเกือบ ๓๐ ปี สมัยนายพลปอร์ฟิริโอ ดิอัซ (ค.ศ. ๑๘๘๔-๑๙๑๑)
Image
ดั่งอุดมคติ
ถ้าจะมองหาวรรณกรรมเกี่ยวกับช็อกโกแลตที่ประสบความสำเร็จที่สุด ย่อมมี Charlie and the Chocolate Factory (ค.ศ. ๑๙๖๔ - แปลไทยในชื่อ โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ เป็นหนึ่งในนั้น

เรื่องราวของ ชาร์ลี บักเก็ต เด็กจากครอบครัวยากจนผู้โชคดีเป็นหนึ่งคนที่ได้รับตั๋วทองคำซึ่งมีเพียงห้าใบเพื่อเยี่ยมชมโรงงานช็อกโกแลตของ วิลลี วองก้า ผู้ผลิตขนมช็อกโกแลตที่โด่งดังด้วยสูตรพิสดาร และเต็มไปด้วยเรื่องเล่าลือมากมายร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ ซึ่งเขาก็ได้พบความลับแสนมหัศจรรย์เกินจะคาดคิด

ผลงานจาก โรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนชาวเวลส์เล่มนี้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่วางจำหน่าย ปัจจุบันมียอดขายกว่า ๒๐ ล้านเล่ม ในกว่า ๕๕ ประเทศทั่วโลก เขายังเขียนต่ออีกเล่มคือ Charlie and the Great Glass Elevator (ค.ศ. ๑๙๗๒ - แปลไทยในชื่อ ลิฟต์มหัศจรรย์ ) และภาคแรกนั้นถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ถึงสามครั้งคือ Willy Wonka & the Chocolate Factory (ค.ศ. ๑๙๗๑), Charlie and the Chocolate Factory (ค.ศ. ๒๐๐๕) และ Wonka (ค.ศ. ๒๐๒๓)

ว่ากันว่าแรงบันดาลใจของดาห์ลน่าจะมาจากประสบการณ์ วัยเด็กขณะเขาใช้ชีวิตที่โรงเรียนกินนอน Repton School ซึ่งอยู่ใกล้โรงงานช็อกโกแลตของ Cadbury บริษัทผู้ทำให้ช็อกโกแลตกลายเป็นของขวัญพิเศษในเทศกาลวันวาเลนไทน์นั่นเอง  และบ่อยครั้งทางโรงงานจะนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาให้เด็กนักเรียนที่นี่ลิ้มลองเพื่อให้พวกเขาลงคะแนนก่อนวางตลาดจริง ขณะเดียวกันธุรกิจขนมหวานระหว่าง Cadbury กับ Rowntree ก็แข่งขันกันอย่างดุเดือด ส่งคนไปขโมยสูตรลับโดยปลอมเป็นพนักงานของอีกฝ่าย ทั้งสองบริษัทจึงพยายามเก็บงำกระบวนการผลิตช็อกโกแลตจากคนภายนอก
Image
เดิมดาห์ลไม่ใช่นักเขียนวรรณกรรมเยาวชน แต่หลังจากมีลูก เขาเริ่มหันเหมาเขียนงานสำหรับเด็กแทน ส่งผลให้งานเขียนมีความต่าง ทั้งการใช้ภาษาเสียดสี เนื้อหาที่มีความรุนแรงและให้ศัตรูสำคัญคือผู้ใหญ่ ดังที่เขาเคยกล่าวถึงมุมมองในการเขียนหนังสือสำหรับเด็กว่า

“ปรกติผมเขียนให้เด็กอายุประมาณ ๗-๙ ขวบอ่าน วัยนี้เด็กเป็นกึ่งอารยชนเท่านั้น ยังอยู่ในกระบวนการฝึกฝนตนเอง ส่วนผู้คนต้นแบบสิ่งนี้ก็คือผู้ใหญ่รอบตัวเขาโดยเฉพาะพ่อแม่และครู ดังนั้นเด็กมีโอกาสมองผู้ใหญ่เป็นศัตรูโดยไม่รู้ตัว ซึ่งผมเห็นเป็นเรื่องปรกติ และมักเขียนลงในหนังสือเสมอ นั่นเองที่ผู้ใหญ่ในงานเขียนผมถึงดูงี่เง่าหรือชวนขนลุก ผมชอบล้อเลียนผู้ใหญ่โดยเฉพาะพวกชอบโกหกและโมโหร้าย”

Charlie and the Chocolate Factory เป็นงานสะท้อนโลกของวัตถุนิยม ทั้งประเด็นการแข่งขันทางธุรกิจ และไขว่คว้าหาตั๋วทองคำอย่างบ้าคลั่ง โดยเด็กผู้โชคดีคนอื่น ๆ ยกเว้นชาร์ลีคือภาพแทนเหล่านั้น พวกเขาอาจมีพรสวรรค์ หรือผลการเรียนดี หากก็มีนิสัยเสียอย่างการเอาแต่ใจ ตะกละ ติดเกม จนต่างได้รับบทเรียนอันแสบสันที่โรงงานแห่งนี้

แต่ท่ามกลางเรื่องราวเหนือจริง งานชิ้นนี้ก็สะท้อนการมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต ว่าหาใช่วัตถุ หากเป็นความสุขจากครอบครัว และได้ทำในสิ่งที่เรารักอย่างแท้จริง…
ดั่งชะตาชีวิต
“สวัสดีครับ ผมชื่อฟอร์เรสต์... ฟอร์เรสต์ กัมป์” ชายคนหนึ่งแนะนำตัวกับผู้หญิงที่มานั่งรอรถประจำทางบนม้านั่งเดียวกัน เขาตัดผมเกรียน สวมชุดสูทดูสะอาดสะอ้าน ทว่ารองเท้าผ้าใบกลับเลอะดินโคลนอย่างขัดแย้งกันยิ่ง

“ช็อกโกแลตไหมครับ ?” เขากล่าวพลางยื่นให้ แม้เธอพยายามไม่สนใจแต่เขายังพูดต่อ

“ผมทานได้เป็นล้าน ๆ ชิ้น…แม่ผมชอบพูดว่าชีวิตก็เหมือนกล่องช็อกโกแลต เราไม่มีทางรู้หรอกว่าจะเปิดเจออะไร”

นั่นคือฉากเปิดเรื่องของ Forrest Gump (ค.ศ. ๑๙๙๔) ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายของ วินสตัน กรูม ว่าด้วยชีวิตอันแสนเหลือเชื่อของตัวละครสมมุติเด็กหนุ่มไอคิวต่ำจากรัฐแอละแบมา ทั้งการบังเอิญกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับท่าเต้นของ เอลวิส เพรสลีย์  หรือคำพูดที่กลายเป็นบทเพลงอมตะของ จอห์น เลนนอน  จับมือกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา  เป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล  ไปออกรบช่วยชีวิตเพื่อนทหารหลายนายในสงคราม  ทำธุรกิจประมงจนประสบความสำเร็จ หรือออกวิ่งทั่วประเทศจนมีคนตามเขาราวกับศาสดา

กล่องช็อกโกแลตที่เขาอ้างถึงนั้น คือการขายช็อกโกแลตรูปทรงต่าง ๆ แบบคละรสในกล่องกระดาษหรือกล่องเหล็ก ที่คนชิมต้องลุ้นว่าพวกเขาจะได้ลิ้มรสช็อกโกแลตแบบใด ? 

ซึ่งจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันกลายเป็นคำสอนที่ผลักดันให้เด็กขาพิการและสติปัญญาไม่ดีเช่นเขากล้าออกไปเผชิญชีวิตและบันดาลใจใครหลายคน
Image
Forrest Gump
(ค.ศ. ๑๙๙๔)

ในปีที่ Forrest Gump ออกฉายได้สร้างปรากฏการณ์เป็นหนังทำเงินสูงสุดอันดับ ๒ ของปีด้วยรายได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกากว่า ๓๒๙ ล้านเหรียญ ท่ามกลางหนังฟอร์มยักษ์หลายเรื่อง โดยยังกวาดรางวัลมากมายรวมถึงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กลายเป็นหนึ่งในผลงานการแสดงที่คนจดจำมากที่สุดของ ทอม แฮงส์

เหตุการณ์ของประโยคดังกล่าวกลายเป็นเรื่องเล่าที่เขาชวนคนที่นั่งรอรถตรงม้านั่งเดียวกับเขาคนแล้วคนเล่าคุยถึงเรื่องราวที่ผ่านมา บ้างรับฟังด้วยรอยยิ้ม บ้างมองเขาด้วยสายตาเย้ยหยันยากจะเชื่อ

ซึ่งทั้งหมดที่เขาเล่านั้นคือบันทึกประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริการะหว่างคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๘๐ ช่วงเวลา ๓๐ ปีที่คนอเมริกันผ่านเรื่องราวพลิกผันมากมาย ตั้งแต่กระแสดนตรีที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ความขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่น ความขัดแย้งทางแนวคิดการเมือง ประธานาธิบดีถูกลอบสังหารคดีวอเตอร์เกต สงครามเวียดนาม และค้นพบโรคอุบัติใหม่อย่างเอดส์

การย้อนมองช่วงเวลาดังกล่าวอย่างปล่อยวางและโรแมนติก จึงราวกับการเยียวยาคนอเมริกันที่ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นให้มีความหวังต่อชะตาชีวิต

กาลเวลาเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างก็ถูกประเมินเปลี่ยนไป รวมถึงประเพณีและสื่อที่เกี่ยวกับช็อกโกแลต
Image
ใน ค.ศ. ๒๐๑๙ แม้ธรรมเนียมการมอบช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ของญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยม หากทุกวันนี้ผู้หญิงก็เริ่มต่อต้านประเพณีการมอบช็อกโกแลตแก่ผู้ชายในที่ทำงาน เพราะรู้สึกอึดอัดมานานที่บางบริษัทเหมือนธรรมเนียมกึ่งบังคับ ไม่ได้เป็นการให้ด้วยความเต็มใจ โดยผลสำรวจปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่การซื้อช็อกโกแลตกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นการซื้อให้ตนเอง และเพียง ๓๖ เปอร์เซ็นต์ คือมอบให้คนรัก

ใน ค.ศ. ๒๐๒๒ วรรณกรรมของ โรอัลด์ ดาห์ล ที่ถูกวิจารณ์เนื้อหา เช่นการเหยียดเชื้อชาติใน Charlie and the Chocolate Factory ที่ตัวละครคนงานอุมป้าลุมป้าในโรงงานของวองก้า มีเจตนาล้อเลียนชนเผ่าปิ๊กมี่ เกิดประเด็นร้อนเมื่อสำนักพิมพ์ Puffin ตีพิมพ์หนังสือของดาห์ลฉบับใหม่ โดยปรับเปลี่ยนข้อความหลายร้อยคำที่พวกเขามองว่าส่งเสริมอคติต่าง ๆ เช่น เรื่องเพศ น้ำหนักตัว เชื้อชาติ ที่แม้จะมีเสียงคัดค้านสำนักพิมพ์ หากก็สะท้อนว่าแม้กับงานยอดนิยมในอดีต ก็ย่อมมีวันพ้นยุคพ้นสมัย

เช่นเดียวกับภาพยนตร์ Forrest Gump เมื่อเวลาผ่านไป เกือบ ๓๐ ปี มองพ้นจากความโรแมนติกถวิลหาอดีต การฉายภาพ ฟอร์เรสต์ กัมป์ ในฐานะภาพแทนของชายอนุรักษนิยมก็ถูกนำมาวิจารณ์มากขึ้น และประโยคอมตะ “ชีวิตก็เหมือนกล่องช็อกโกแลต” นั้นก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเปรียบเปรยเช่นนี้ แต่ปรากฏมาก่อนหน้าจากนิยายเรื่อง Norwegian Wood (ค.ศ. ๑๙๘๗) ของ ฮารูกิ มูรากามิ

และโดยแท้จริงนิยายต้นฉบับ บุคลิกและเรื่องราวของกัมป์ก็นับว่าหลุดโลก ทำตัวแย่ และไม่ได้ชวนให้เรารักเขาเหมือนฉบับภาพยนตร์ แถมประโยคจริงเกี่ยวกับช็อกโกแลตที่ปรากฏในนิยายนั้นก็ขวานผ่าซากกว่ามากว่า

“การเป็นคนโง่ ไม่ได้สวยงามเหมือนกล่องช็อกโกแลตนะ”

เช่นเดียวกับขนมหวานรสช็อกโกแลต แม้จะยังขายดิบขายดีแต่ปัจจุบันก็ได้รับการเตือนว่าหากบริโภคมากเกินไป ขนมที่มีปริมาณน้ำตาลสูงจะเสี่ยงเป็นโรคอ้วน ตามด้วยโรคภัยอีกมากมาย

…แน่นอนว่าขนมหวานสีเข้มนี้จะมีการปรับเปลี่ยนให้คงความนิยมอยู่ได้ แต่ก็นั่นแหละใครจะคาดการณ์อนาคตได้เพราะ…

“ชีวิตก็เหมือนกล่องช็อกโกแลต เราไม่มีทางรู้หรอกว่าจะเปิดเจออะไร”  
Image
A chocolate sundae on a Saturday night. What a way to make an evenin' end right.

“ช็อกโกแลตซันเดในคืนวันเสาร์ เติมเต็มค่ำนี้ของเราให้สมบูรณ์”

เพลง “A Chocolate Sundae on a Saturday Night” โดย ดอริส เดย์ (Doris Day)

หากจะมีสื่อประเภทไหนที่นำช็อกโกแลตไปใช้ประกอบและเปรียบเปรยกับสิ่งต่าง ๆ มากที่สุดคงไม่พ้นบทเพลง มีเพลงเกี่ยวกับช็อกโกแลตมากมาย แม้กระทั่งวงที่ตั้งชื่อจากช็อกโกแลต เช่น Hot Chocolate วงแนวโซลจากสหราชอาณาจักรที่โด่งดังในช่วงยุค 70s หรือ The Musketeers วงดนตรีป็อปร็อกของไทยที่ตั้งชื่อตามขนมรสช็อกโกแลต

เหล่านี้คือบางส่วนของเพลงไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวกับช็อกโกแลต
Image
๑. “Savoy Truffl≥≥fle” - The Beatles จากอัลบัมไร้ชื่อใน ค.ศ.๑๙๖๘ (ภายหลังถูกขนานนามว่า White Album) ของวงสี่เต่าทอง เพลงนี้ จอร์จ แฮร์ริสัน เขียนโดยได้แรงบันดาลใจมาจากความชอบขนมหวานและช็อกโกแลตของ เอริก แคลปตันมือกีตาร์เพื่อนสนิทที่ร่วมงานกัน โดยแคลปตันกินขนมหวานยี่ห้อ Mackintosh’s จนหมดกล่อง เขาจึงนำชื่อขนมรสต่าง ๆ ที่กล่องมาเขียนเป็นเนื้อเพลงเสียเลย

๒. “Chocolate” เพลงป็อปบัลลาดที่ให้อารมณ์เย้ายวนผ่านเสียงลมหายใจและเสียงกระซิบจาก ไคลี มิโนก นักร้องนักแต่งเพลงสาวชาวออสเตรเลีย ในอัลบัม Body Language (ค.ศ.๒๐๐๓) ที่เนื้อหาสะท้อนอารมณ์หลงใหลในความรัก

๓. “A Chocolate Sundae on a Saturday Night” ผลงานขับร้องของ ดอริส เดย์ นักร้อง-นักแสดงชาวอเมริกันใน ค.ศ.๑๙๔๗ สไตล์แจซบิ๊กแบนด์ ที่เผยถึงความสุขง่าย ๆ อย่างการกินไอศกรีมช็อกโกแลตซันเดในคืนวันเสาร์

๔. “Chocolate Cities” - Parliament เพลงใน ค.ศ. ๑๙๗๕ โดยวงดนตรีแนวฟังก์จากนิวเจอร์ซีย์ ที่เน้นพูดประกอบดนตรีซึ่งโน้มน้าวให้คนรู้สึกภูมิใจในการอยู่เมืองช็อกโกแลต อันเปรียบเปรยถึงชุมชนคนผิวดำในอเมริกานั่นเอง

๕. “Chocolate” - The 1975 หนึ่งในซิงเกิล ค.ศ. ๒๐๑๓ จากอีพี Music for Cars ของวงร็อกชื่อดังสัญชาติอังกฤษที่สะท้อนความเบื่อหน่ายในกฎระเบียบ เนื้อเพลงเล่าประสบ
การณ์ขับรถกับคนรักหนีตำรวจ เพราะกลิ่นตัวพวกเขา และในรถอบอวลด้วยกลิ่น “ช็อกโกแลต” อันเป็นศัพท์สแลงที่หมายถึงกัญชา

๖. “Gimme Chocolate!!” - Babymetal ซิงเกิลฮิต ค.ศ.
๒๐๑๓ ของวงแนวแปลกจากญี่ปุ่นที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไอดอลขายความน่ารักจากเด็กหญิง รวมกับดนตรีเมทัลร็อกอันหนักหน่วง ซึ่งเนื้อหาที่เต็มไปด้วยคำอุทานนี้เป็นเหมือนภาพการต่อสู้ในจิตใจของเด็กวัยรุ่นผู้อยากกินขนมหวานอย่างช็อกโกแลต กับความรู้สึกผิดที่น้ำหนักจะขึ้นหากกินมากไป

๗. “Don’t Blame it on Chocolate” - นาเดีย (ฤทัย สุทธิกุลพานิช) เพลงจากอัลบัม Resources to Keep My Life Vital ในปี ๒๕๔๔ แม้จะไม่ได้ตัดออกมาเป็นซิงเกิล หาก “อย่าโทษช็อกโกแลตสิ” จากการเขียนของ ตรัย ภูมิรัตน ซึ่งในเนื้อเพลงไม่มีคำว่าช็อกโกแลตเลย แต่น่าสนใจตรงการเปรียบเปรยความผิดหวังในความรักของตัวเอกในเพลงที่รู้สึกแย่กับฟ้ามืดมิดไร้ดาว น่าจะหมายถึงสีของช็อกโกแลตนั่นเอง จากท่อน อยากให้เวลากลางคืนได้ผ่านพ้นไป ในใจเราเป็นอะไรคิดถึงแต่เขา อย่าไปโทษฟ้าต้องโทษที่ใจเรานั้น

๘. “ช็อกโกแลต” - Hangman  หลังแยกทางจากวงร็อกชื่อดังยุค ๒๐๐๐ อย่าง Silly Fools โต-วีรชน ศรัทธายิ่ง มีผลงานในนามวง Hangman เมื่อปี ๒๕๕๐ อยู่ระยะสั้น ๆ ฟัง
ผ่าน ๆ เพลงนี้เหมือนเปรียบคนรักกับช็อกโกแลต แต่หลายคนวิเคราะห์ว่าเนื้อหาในอัลบัมคือการโต้ตอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัวเขาที่เป็นสาเหตุให้วง Silly Fools ยุคที่ได้รับความนิยมที่สุดต้องจบลงด้วยเหตุผลเรื่องศาสนา ดังท่อนที่ร้องว่าทำไมคนทั้งโลกต้องคอยเหยียดหยามกัน ก็อยากทำดีก็หาว่าใจฉันดำ แม้ว่าคนทั้งโลกไม่ยอมเข้าใจฉัน แต่หากมันดี ฉันก็จะทำ สุดท้ายแล้วมันจะหวาน แม้ว่ามันจะดำ

๙. “Chocolate Girl” - Deacon Blue ขณะบทเพลงส่วนใหญ่เปรียบความรักที่สวยงามน่าหลงใหลกับช็อกโกแลตเพลง ค.ศ.๑๙๙๘ จากอัลบัม Raintown ของวงป็อปร็อกจากสกอตแลนด์ วงนี้เล่าถึงชายหนุ่มผู้ผิดหวังจากความรักและเปรียบหญิงสาวเหมือนช็อกโกแลตที่ไม่มีคุณค่า ใจง่ายเหมือนขนมที่ละลายในมือ  
บรรณานุกรม
Anonymous. (2011). Repton School ‘helped inspire Dahl’ to write Charlie. Retrieve from https://www.bbc.co.uk/news/uk-england-derbyshire-14896806

Anonymous. (2023). Best Songs About Chocolate. Retrieve from https://repeatreplay.com/best-songs-about-chocolate

Justin McCurry. (2019). Japanese women push back against Valentine’s tradition of ‘obligation chocolate’. Retrieve from https://www.theguardian.com/world/2019/feb/11/japanese-women-push-back-against-valentines-tradition-of-obligation-chocolate

Matt Schudel. (2020). Winston Groom, author whose ‘Forrest Gump’ became a cultural phenomenon, dies at 77. Retrieve from https://www.washingtonpost.com/local/obituaries/winston-groom-author-whose-forrest-gump-became-a-cultural-touchstone-dies-at-77/2020/09/19/fbb2784e-f9c2-11ea-a275-1a2c2d36e1f1_story.html

Naman Ramachandran. (2023). Roald Dahl Publisher to Rerelease Author’s Original Texts After Editing Controversy : ‘We Are Offering Readers the Choice’. Retrieve from https://variety.com/2023/film/news/matilda-roald-dahl-rewritten-rerelease-1235534515

Pamela Brill. (2014). How Sweet It Is : The 50th Anniversary of ‘Charlie and the Chocolate Factory’. Retrieve from https://www.publishersweekly.com/pw/by-topic/childrens/childrens-book-news/article/61574-how-sweet-it-is-the-50th-anniversary-of-charlie-and-the-chocolate-factory.html