Image
Ceremony Chocolate
สัมผัสรสชาติแห่งความสุข
ที่ออกแบบได้
CHOCOLATE IN SIAM
เรื่อง : พัชนิดา มณีโชติ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง และ Ceremony Chocolate
"You can bring ceremony into everyday life. No matters what occasion, chocolate can definitely add joyfulness. Edible art and craft.”

“คุณสามารถมีช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองอันแสนพิเศษได้ทุกวัน เพราะไม่ว่าจะเป็นโอกาสไหน ช็อกโกแลตจะช่วยเติมเต็มความสุข ดั่งงานศิลป์ สร้างสรรค์ที่สัมผัสได้ด้วยปลายลิ้น”
นี่คือสโลแกนที่สะท้อนตัวตนของ Ceremony Chocolate ซึ่งไม่อยากจำกัดนิยามว่าเป็นเพียงแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลต แต่ชื่อนี้ยังเปรียบดั่งตัวแทนความคิดสร้างสรรค์ที่นำเสนอผ่านรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของโกโก้ไทยผสานงานออกแบบหลายมิติหลากสีสัน ผ่านการคิด ออกแบบ ทดลอง และลงมือทำของเบน-สรวรรธน์ สุวิพร และฝ้าย-อนัญลักษณ์ อุบลศรี จนเกิดเป็นศิลปะกินได้ในแบบ Ceremony Chocolate ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร อีกทั้งสามารถเนรมิตให้แตกต่างตามความต้องการของลูกค้าที่มีตั้งแต่ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า แบรนด์สินค้า นิทรรศการศิลปะ จนถึงบริษัทขายเฟอร์นิเจอร์
วันเกิด (อยากทำ)
ช็อกโกแลต

จากความสนใจที่อยากลองทำเวิร์กช็อปคราฟต์ช็อกโกแลตเปิดโอกาสให้เบนและฝ้ายได้รู้จักช็อกโกแลตในมุมที่ทั้งสองไม่เคยรู้มาก่อน ผ่านการเรียนรู้และสัมผัสรสชาติของเมล็ดโกโก้หลากหลายสายพันธุ์ จนได้ลงมือทำ “บงบง (bonbon)” หรือช็อกโกแลตสอดไส้สไตล์ฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก

“เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าช็อกโกแลตทำมาจากผลไม้ ตอนเด็ก ๆ เรากินช็อกโกแลตโดยคิดแค่ว่าเป็นขนมชนิดหนึ่ง จนมีโอกาสทำเวิร์กช็อปคราฟต์ช็อกโกแลต ซึ่งช่วยเปิดโลกเราประมาณหนึ่งว่า ช็อกโกแลตมีรสชาติหลากหลาย และมีอะไรมากกว่าที่เราคิด แล้วก็ได้ลองทำช็อกโกแลตบงบง ซึ่งเราพบว่าทำออกมาได้ดี เลยทดลองทำมาเรื่อย ๆ”

ประสบการณ์ครั้งนั้นพัฒนาเป็นความสนใจและความสนุกของคนทั้งสอง นำมาซึ่งการต่อยอดจนเป็นช็อกโกแลตในแบบที่ชื่นชอบ และตัดสินใจถ่ายรูปผลงานคราฟต์ช็อกโกแลตนั้นลงในสื่อสังคมออนไลน์ของตน กระทั่งมีเพื่อนมาเห็นและขอให้ช่วยทำช็อกโกแลตเป็นของขวัญ “วันเกิด” ให้คนรัก กลายเป็นผลงาน customize chocolate ชิ้นแรกที่จุดประกายให้ทั้งคู่มองเห็นความเป็นไปได้ในการทำแบรนด์ Ceremony Chocolate
Image
ช็อกโกแลตบงบง (chocolate bonbon) ผลงาน signature ประจำแบรนด์ Ceremony Chocolate
กว่าจะเป็น
Ceremony Chocolate

เบนและฝ้ายตั้งใจให้ชื่อ Ceremony Chocolate เป็นตัวแทนของช่วงเวลาอันน่าจดจำในโอกาสพิเศษของชีวิต ที่แฝงเรื่องราวและกลิ่นอายของเทศกาลเฉลิมฉลองอยู่ในทุกรายละเอียดของช็อกโกแลต ด้วยการประยุกต์ศิลปะผสมผสานกับวิธีทดลองแบบวิทยาศาสตร์ จนได้คราฟต์ช็อกโกแลตที่สวยงามและแตกต่าง โดยนำเสนอผ่านผัสสะต่าง ๆ ที่ไม่ได้ติดอยู่แค่รูปลักษณ์และรสชาติของช็อกโกแลตเท่านั้น แต่รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ และวิธีจัดแสดงตามความต้องการของลูกค้า

“ขั้นตอนสำคัญหลังจากได้รับโจทย์จากลูกค้า เราต้องดูก่อนว่าลูกค้าเป็นแบรนด์ประเภทไหน ภาพลักษณ์ยังไง แล้วดูภาพรวมว่าเขาต้องการสื่อสารอะไร แล้วนำมาตีความ โดยเราจะผลัดกันโยนไอเดียจนได้รูปแบบที่ตอบโจทย์ แล้วลองออกแบบให้ลูกค้าดูว่าช็อกโกแลตจะออกมาหน้าตาประมาณไหน”

ในทุกรายละเอียดของการสร้างสรรค์ผลงานคราฟต์ช็อกโกแลตของ Ceremony Chocolate ส่วนใหญ่ฝ้ายจะรับผิดชอบออกแบบงานศิลป์เป็นหลัก ซึ่งรูปลักษณ์ที่นำเสนอผ่านผลงานช็อกโกแลตบงบงจะเต็มไปด้วยสีสันและลวดลายกราฟิกไม่เหมือนใคร

“ปรกติสีที่เราใช้จะมาจากโกโก้บัตเตอร์ (cocoa butter) ซึ่งมีเพียงสีพื้นฐานคือ แดง เหลือง น้ำเงิน ขาว เราต้องดีไซน์สีเองว่าอยากได้สีไหน แล้วทดลองผสมสีขึ้นใหม่เพื่อสร้างพาเลตต์สีแบบที่เราต้องการ ซึ่งบางครั้งลูกค้าต้องการเฉดสีที่สื่อถึงแบรนด์หรือโลโก้ของเขา เราก็ต้องผสมหลาย ๆ แบบเพื่อให้ได้สีที่ตรงจริง ๆ”

ขณะเบนจะทำหน้าที่ทดลองทำช็อกโกแลตขึ้นมาด้วยมือทุกขั้นตอนด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการเทมเปอร์ช็อกโกแลต (tempering chocolate) ที่สิ่งสำคัญอยู่ที่การควบคุมอุณหภูมิและเวลาในการทำ เพื่อให้ได้ช็อกโกแลตที่เงางามและสีสวยที่สุด
Image
Image
ผลงานประติมากรรมจากช็อกโกแลต A “TOY” chocolate sculpture
ผสานงานศิลป์
เติมแต่งรสสัมผัส 
เผยเสน่ห์ช็อกโกแลตไทย

อีกหนึ่งเสน่ห์ของ Ceremony Chocolate คือการเลือกวัตถุดิบ “โกโก้ไทย” มาใช้สร้างสรรค์ผลงาน  ด้วยความหลากหลายของชนิดโกโก้แต่ละพื้นที่ ประกอบกับความโดดเด่นของเนื้อสัมผัสและรสชาติของโกโก้ไทยซึ่งไม่เหมือนที่ไหนในโลก อีกทั้งคุณภาพที่สามารถแข่งขันกับโกโก้ของต่างประเทศได้ ทำให้ Ceremony Chocolate มีวัตถุดิบโกโก้ในประเทศที่เลือกสรรได้ตามฤดูกาล สำหรับรังสรรค์คราฟต์ช็อกโกแลตตามความต้องการของลูกค้า

“ที่จริงเราใช้โกโก้จากของทุกภาคในประเทศไทย แต่ที่ใช้มากสุดจะเป็นของจังหวัดจันทบุรี ส่วนตัวผมชอบโกโก้ที่รสชาติเปรี้ยวนิด ๆ บ่งบอกว่ามันยังเป็นผลไม้อยู่ มากกว่ารสชาติที่ให้ความเป็นถั่วหรือออกคาราเมล”

ขณะฝ้ายชื่นชอบโกโก้จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพิเศษด้วยรสชาติออกเปรี้ยวนิด ๆ ไม่ฝาด และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวแบบผลไม้

จากความตั้งใจคัดเลือกวัตถุดิบโกโก้ในท้องถิ่นของไทย สู่การนำศาสตร์ด้านศิลปะและการออกแบบมาผสมผสานกับคราฟต์ช็อกโกแลต กลายเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของ Ceremony Chocolate ที่ขับเน้นตัวตนและลายเซ็นของแบรนด์ให้ชัดเจนสื่อถึงความหลงใหลในศิลปะของทั้งสองได้เป็นอย่างดี

การออกแบบช็อกโกแลตร่วมกับศิลปินก็เป็นอีกความท้าทายและความสนุกของเบนและฝ้าย ซึ่งต้องทำอย่างพิถีพิถันและลงรายละเอียดทุกขั้นตอน
ช็อกโกแลตรูปแบบเจลลีบีนส์หลากสีสัน (milk chocolate jelly beans) จัดทำร่วมกับงานแสดงภาพเจลลีบีนของศิลปินร่วมสมัย
“การได้ทำงานออกแบบช็อกโกแลตกับศิลปินสนุกมากเพราะเขามักให้อิสระในการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ฝ้ายจะเป็นคนพูดคุยไอเดีย ส่วนผมจะช่วยเสริมกิมมิกที่ซ่อนตัวตนของศิลปินไว้ในผลงานนั้น ๆ อย่างล่าสุดเรามีโอกาสทำงานร่วมกับศิลปิน งานเขาเป็นแนวศิลปะร่วมสมัย ซึ่งรอบนี้เขาจัดแสดงผลงานศิลปะเป็นภาพโปสเตอร์ลายเจลลีบีนส์หลากสีสัน เราเลยออกแบบช็อกโกแลตบงบงให้มีรูปร่างและสีเหมือนเจลลีบีนส์ในภาพเขาเลย โดยใช้โกโก้จากจันทบุรีมาทำ แต่เพิ่มความพิเศษด้วยการใส่เจลลีบีนส์จริง ๆ ลงไปในช็อกโกแลต เพราะเราอยากให้เป็นมากกว่าของแจกในงานนิทรรศการ แต่อยากสื่อสารให้คนเข้าถึงงานศิลปะและตัวตนของศิลปินเจ้าของผลงานมากขึ้น”

นอกจากนี้ฝ้ายยังนำองค์ความรู้ที่เธอเรียนจบแฟชั่นดีไซน์และเคยทำงานสไตลิสต์มาปรับใช้กับการออกแบบผลงานศิลปะ ควบคู่กับการสร้างสรรค์ช็อกโกแลตให้แบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงคิดรสชาติช็อกโกแลตให้เข้ากับรายการอาหารของร้านด้วย

“อย่างมีงานหนึ่งเรามีโอกาสออกแบบภาพวาดท้องฟ้าตอนเย็นให้ร้าน Homeburg ก็เอาไอเดียจากภาพวาดนี้มาต่อยอดออกแบบช็อกโกแลตที่มีลายของท้องฟ้าอันนี้ เสิร์ฟให้ลูกค้าในร้าน ส่วนรสชาติก็ตีความจากโจทย์ที่ได้คุยกับไทกิเจ้าของร้านว่า อยากได้เมนูขนมมากินตัดเลี่ยนกับเบอร์เกอร์เนื้อ เราเลยไปคิดต่อแล้วหาผลไม้รสเปรี้ยวมาทำเป็นราสป์เบอร์รีเคลือบช็อกโกแลต (raspberry mousse bonbon) ซึ่งกลายเป็นเมนูที่ร้านใช้เสิร์ฟลูกค้าจริง ๆ”
ช็อกโกแลต 
สิ่งแทนช่วงเวลาดี ๆ 
ที่ออกแบบได้

นอกจากออกแบบช็อกโกแลตตามความต้องการของลูกค้าแล้ว Ceremony Chocolate ยังได้รับโอกาสบ่อยครั้งในการสร้างสรรค์ผลงานช็อกโกแลตสำหรับเทศกาลสำคัญต่าง ๆ อย่างการออกแบบช็อกโกแลตบงบง ซึ่งเป็น special collection ประจำเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ให้ Club21 ซึ่งตรงกับความตั้งใจของเบนและฝ้ายที่ต้องการให้ช็อกโกแลตของพวกเขาเปรียบเสมือนรสชาติแห่งความสุขที่ทุกคนสัมผัสได้

ล่าสุดช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส Ceremony Chocolate ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานสำหรับเปิดตัวเอ็มสเฟียร์ (Emsphere) ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ใจกลางสุขุมวิท ซึ่งตั้งใจให้ช็อกโกแลตเป็นของที่ระลึกแก่ลูกค้าที่มาใช้จ่ายที่ Gourmet Market เสริมด้วยกิจกรรมพิเศษระบายสีช็อกโกแลต
Image
ช็อกโกแลตที่เสิร์ฟในคอนเซปต์ Sweet Meditation
“ลูกค้าอยากได้ช็อกโกแลตที่สื่อถึงช่วงเวลาพิเศษ ตรงตามชื่อ Ceremony Chocolate เลย สำหรับงานเปิดตัวห้างเอ็มสเฟียร์ เราเลยทำเป็นช็อกโกแลตบอมบ์ (chocolate bomb) ในรูปแบบ festive ball ซึ่งเป็นของประดับตกแต่งบนต้นคริสต์มาส โดยย่อส่วนลงมาเป็นช็อกโกแลตขนาด ๕ เซนติเมตร ไว้แจกลูกค้าที่มาซื้อของที่ Gourmet Market และมีจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้คนระบายสีบนช็อกโกแลตตามจินตนาการ ซึ่งเรามีแบบให้เลือกวาดลายตามบรรยากาศงาน ส่วนไส้ข้างในช็อกโกแลตเราใช้ของกินหรือวัตถุดิบที่หาได้จาก Gourmet Market เช่น พวกกราโนลา ผลไม้แห้งและมาร์ชแมลโลว์”

เมื่อนำช็อกโกแลตบอม์ละลายในนมร้อนจะสัมผัสได้ถึงรสชาติของเทศกาลคริสต์มาส ด้วยความเข้มข้นของรสช็อกโกแลต สัมผัสของธัญพืช และความหวานของมาร์ชแมลโลว์ที่ละลายในปาก ซึ่งใส่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ Ceremony Chocolate ออกแบบพิเศษสำหรับใส่ช็อกโกแลต ให้นำไปแขวนประดับบนต้นคริสต์มาสได้จริง
เมื่อการทำช็อกโกแลต
คือความสุข

“เราไม่ได้หวังผลอะไรกับการทำแบรนด์มากขนาดนั้น แค่ทำเพราะชอบ และอยากให้คนที่ลองกินช็อกโกแลตนั้น ๆ ชอบด้วย เรารักงานของเราทุกชิ้นและรู้สึกโชคดีมากที่ได้ทำงานที่ตัวเองรักทุกวัน”
ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาส เหมือนกับ Ceremony Chocolate ที่เกิดจากการลองผิดลองถูกพร้อม ๆ กับการค้นหาตัวตนของเบนและฝ้ายบนเส้นทางแห่งการเติบโตและการเปลี่ยนแปลง

“ก่อนทำสิ่งนี้ เราเป็นดีเจเปิดเพลงตามร้านอาหาร ตามบาร์ ส่วนคุณฝ้ายทำอาชีพสไตลิสต์ ซึ่งเราสองคนทำงานในแวดวงสายศิลปะสร้างสรรค์อยู่แล้ว แต่เริ่มมาจับช็อกโกแลตช่วงโควิด ซึ่งตอนนั้นเราไม่สามารถเปิดร้าน Studio Lam แต่หลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้น ร้านกลับมาเปิดได้ เราก็ทดลองเปิดเป็น pop-up ในชื่อ Studio Lam X Ceremony Chocolate เป็นเวลา ๓ เดือน ทดลองขายช็อกโกแลตช่วงกลางวัน โดยนำเครื่องดื่มซึ่งเป็นจุดขายของร้านอย่างเครื่องดื่มจากสมุนไพรไทยหรือยาดองสูตรม้ากระทืบโรง มาเป็นไส้ช็อกโกแลตทรัฟเฟิล ทำให้คนมาที่นี่ตอนกลางวันได้กินช็อกโกแลตที่ได้กลิ่นอายของร้านขายเครื่องดื่มตอนกลางคืนได้ ซึ่งเมนูนี้เรานำช็อกโกแลตเสิร์ฟด้วยคอนเซปต์ Sweet Meditation ที่อยากผนวกศาสตร์การนั่งสมาธิซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบ มานำเสนอในรูปแบบการจัดสวนแบบเซนด้วยลวดลายธรรมชาติให้อยู่บนจานเสิร์ฟช็อกโกแลต”
Image
Image
กิจกรรมระบายสีช็อกโกแลตบอมบ์ (chocolate bomb workshop)
ผ่านมา ๓ ปี จากการทดลองในวันนั้น Ceremony Chocolate ยังเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเบนและฝ้ายไม่ได้คาดหวังว่าแบรนด์นี้จะเดินทางไปถึงจุดไหน รู้แค่ยังสนุกและมีความสุขทุกครั้งที่ทดลองทำช็อกโกแลตแบบใหม่ ๆ

“ที่จริงเราไม่เคยเรียนทำอาหารมาก่อน แต่เราชอบงานศิลปะ พอลองทำช็อกโกแลต ก็ทำให้เรามีความสุขและสนุกมาก เราไม่ได้หวังผลอะไรกับการทำแบรนด์มากขนาดนั้น แค่ทำเพราะชอบ และอยากให้คนที่ลองกินช็อกโกแลตนั้น ๆ ชอบด้วย เรารักงานของเราทุกชิ้นและรู้สึกโชคดีมากที่ได้ทำงานที่ตัวเองรักทุกวัน การพบว่าทุกคนชอบผลงานของเราด้วยถือเป็นโบนัส เท่านี้ก็มีความสุขแล้ว”

ตอนนี้ Ceremony Chocolate ก็ยังไม่หยุดฝันในการทดลองพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆ ของตัวเอง

“เราสนุกกับการคิดว่าช็อกโกแลตจะเข้าไปอยู่ตรงไหนได้บ้าง ในนิทรรศการได้ไหม ร้านอาหารแบบ fine dining ได้
ไหม หรือในโอกาสหรือเทศกาลพิเศษต่าง ๆ ซึ่งเราก็ลองโยนลงไปหมดทุกทาง แล้วได้เรียนรู้ว่าช็อกโกแลตสามารถอยู่ร่วมกับอะไรหลายอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ต้องหาด้วยว่าเราถนัดตรงไหน หรือตรงไหนทำแล้วออกมาดี อย่างตอนนี้เราเริ่มทำผลงานตัวเองเป็น sculpture ทำจากช็อกโกแลตที่ฝ้ายออกแบบและวาดรูปเอง ซึ่งได้จัดแสดงในตึกเก่าย่านเจริญกรุง”

โดยฝ้ายผู้เป็นเจ้าของผลงานได้ไอเดียจากของเล่นโบราณเพื่อให้เข้ากับธีมจัดแสดงหลักของงานที่เป็นการเปิดตัว Co-Playing Space ในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ซึ่งโปรเจกต์นี้
สามารถพัฒนาต่อเป็นการจัดแสดงศิลปะจากช็อกโกแลตของ Ceremony Chocolate ได้ในอนาคต

“ตอนนี้คิดแค่จะทำช็อกโกแลตต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยังมีความสุขและสนุกอยู่ ไม่ได้มีความคิดอยากทำอย่างอื่น