“ช็อกโกแลต”
เปลี่ยนโลก
CHOCOLATE IN SIAM
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
ที่อาณาจักรแอซเท็ก (Aztec, ค.ศ. ๑๓๐๐-๑๕๒๑) บริเวณทวีปอเมริกากลาง (ปัจจุบันคือเม็กซิโก) เมล็ดคาเคา (cacao) มีค่าเท่ากับเงินตราหลักฐานในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง) ระบุว่า คาเคา ๑๐ เมล็ด ซื้อกระต่ายได้ ๑ ตัว และต้องใช้ ๑๐๐ เมล็ดสำหรับซื้อทาส
ในหมู่พระราชวงศ์ ขุนนาง นักรบ และพ่อค้า พวกเขาเรียกเครื่องดื่มที่ทำจากคาเคาว่า “โชโกลัต” (chocolatl-แปลว่า “น้ำขม”) โดยจะใส่พริกไทยน้ำผึ้ง สมุนไพร ถั่วลิสง ดอกวานิลลา เมล็ดผักชี และชาดลงไป น้ำโชโกลัต จึงมีสีแดงชาด
ชาวแอซเท็กเชื่อว่าโชโกลัตกระตุ้นพลังทางเพศและมีข้อห้ามไม่ให้สตรีดื่มมีเรื่องเล่าว่ากษัตริย์มอนเตซูมาที่ ๒ (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๕๐๒-๑๕๒๐) แห่งแอซเท็ก เสวยถึงวันละ ๕๐ แก้ว สันนิษฐานว่า เอร์นัน กอร์เตซ (Hernán Cortés) นายทหารสเปนที่นำกำลังไปพิชิตอเมริกากลาง เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เห็นการดื่มโชโกลัตของราชสำนักแอซเท็ก ส่วนเบร์นัล ดิอัซ (Bernal Diaz) นายทหารที่ไปด้วยบันทึกว่า “มีการถวาย (ให้กษัตริย์) เป็นประจำในถ้วยทองคำบริสุทธิ์...สิ่งที่ผมไม่เคยพบคือ มีการใส่เมล็ดคาเคาในเหยือก ๕๐ ใบ มันเต็มไปด้วยฟอง กษัตริย์เสวยบางส่วนจากเหยือกนั้นโดยมีสตรีถวายด้วยเคารพสูงสุด”
เมื่อกอร์เตซกลับสเปน เขาทำให้เมล็ดคาเคาซึ่งคนสเปนรู้จักตั้งแต่สมัย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) กลับจากสำรวจทวีปอเมริกาเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยช่วงแรกมีฐานะเป็นยา ต่อมาปรับรสชาติให้ดื่มง่ายโดยใส่น้ำตาล ทำให้ช็อกโกแลตแพร่หลายมากขึ้น
ใน ค.ศ. ๑๖๖๐ การหาทางยุติความขัดแย้งระหว่างสเปนกับฝรั่งเศสในประเด็นศาสนา ภายใต้การทำสนธิสัญญาพิเรนีส (Treaty of the Pyrenees) มีเรื่องของช็อกโกแลตเข้าไปเกี่ยวข้อง
ราชสำนักสเปนตัดสินใจส่ง มาเรีย เทเรซา (Maria Theresa, ค.ศ. ๑๖๓๘-๑๖๘๓) เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค (House of Habsburg) ไปอภิเษกกับพระญาติ คือพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มหาราชแห่งราชวงศ์บูร์บง (House of Bourbons)
เจ้าหญิงเทเรซาถวายของขวัญในงานหมั้นชิ้นหนึ่งให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ คือเครื่องประดับที่บรรจุช็อกโกแลตไว้ภายในว่ากันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โปรดช็อกโกแลตตั้งแต่นั้น
ต่อมาเมื่อเจ้าหญิงเทเรซาย้ายมาประทับในฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๖๖๐) ก็ทรงนำแม่บ้านที่มีฝีมือในการปรุงช็อกโกแลตติดมา ต่อมายังตั้ง ฌ็อง เดอ แอร์เรอรา (Jean de Herrera) เป็นโชโกลาตีเย/ช็อกโกริสตา (chocolatier) ประจำพระองค์ด้วย
มีบันทึกว่าการเสิร์ฟช็อกโกแลตในราชสำนักฝรั่งเศสนั้นจะเตรียมคาเคา (ทำให้เหลว) น้ำอ้อย พริกไทย ปล่อยให้ของเหล่านี้ละลายในนมที่ถูกตีฟองไว้ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยังทรงบัญชาให้เริ่มทำไร่คาเคาในเกาะเวสต์อินดีสของฝรั่งเศส (ในมหาสมุทรแอตแลนติก) ผูกขาดตลาดคาเคาในฝรั่งเศส
หลังจากนั้นช็อกโกแลตเป็นที่รู้จักทั่วยุโรป ประกอบกับระหว่าง ค.ศ. ๑๖๔๐-๑๖๘๐ มีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยในบราซิลและรอบทะเลแคริบเบียน (ทวีปอเมริกากลาง) ทำให้ผลผลิตอ้อยออกสู่ตลาดมากจนราคาน้ำตาลอยู่ในระดับที่ซื้อหาได้ทำให้ช็อกโกแลตได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะการใส่น้ำตาลทำให้ดื่มง่ายขึ้น
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒ แห่งอังกฤษ (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๖๖๐-๑๖๘๕) เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ที่พยายามแบนร้านขายช็อกโกแลตอาจเพราะทรงมีความกลัวการก่อกบฏแฝงในพระทัย ด้วยเมื่อคราวพระชนมายุ ๑๒ พรรษา เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภากับกษัตริย์ ทำให้ต้องเสด็จฯ ไปยังฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์เพื่อลี้ภัยและตอนที่อยู่ฝรั่งเศสทรงทราบข่าวการประหารพระราชบิดาโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้
จนกระทั่งสถานการณ์เปลี่ยน อังกฤษเข้าสู่ยุคฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ (ค.ศ. ๑๖๖๐) ทำให้พระองค์ได้ครองบัลลังก์
ในช่วงที่ทรงครองราชย์คือปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ มีสถิติว่ามีกิจการร้านขายเครื่องดื่มช็อกโกแลต (กิจการเดียวกับร้านขายกาแฟ) ในกรุงลอนดอนกว่า ๓,๐๐๐ แห่ง ผู้คนหลากอาชีพชอบใช้ร้านเหล่านี้ นั่งสนทนาและรณรงค์ทางการเมือง จนสร้างความไม่พอพระทัย ด้วยทรงเห็นว่าหากปล่อยต่อไป ก็เอื้อต่อการก่อกบฏและเกิดความวุ่นวายตามมา พระองค์จึงออกประกาศยุบร้านช็อกโกแลต (A Proclamation for the Suppression of Coffee-Houses) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๗๕
มีประกาศระบุว่ากิจกรรมในร้านก่อให้เกิด “การกระทำที่ชั่วร้ายและอันตราย” ทว่าประกาศนี้ก็เป็นหมันหลังเกิดเสียงค้านอย่างหนักจากขุนนางและประชาชนที่รักการดื่มช็อกโกแลต จนต้องยกเลิกไปในวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. ๑๖๗๖
ว่ากันว่าเหตุผลแท้จริงคือ พระองค์ทรงนึกได้ว่ามีร้านช็อกโกแลตที่โปรดบนถนนเซนต์เจมส์ ที่มักเสด็จฯ ไปเสวยประจำเช่นกัน !
ใน ค.ศ. ๑๗๗๔ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ขึ้นครองบัลลังก์ฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์จารึกว่าพระองค์คือกษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงพระองค์สุดท้าย ก่อนเกิดการทลายคุกบัสตีย์และโค่นล้มระบอบกษัตริย์ใน ค.ศ. ๑๗๘๙
ฟร็องซัว-มารี อารูเอ (FranÇois-Marie Arouet/M. de Voltaire ค.ศ. ๑๖๙๔-๑๗๗๘) หรือ “วอลแตร์” นักคิด นักเขียน นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้วิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรคาทอลิกในฝรั่งเศส สนับสนุนเสรีภาพในการพูดและการนับถือศาสนา บันทึกไว้ก่อนเสียชีวิตถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ว่า “ช็อกโกแลต” คือหนึ่งในสินค้าที่ราคาสูงลิบลิ่ว การนำเข้าสินค้าชนิดนี้ของราชสำนักทำให้ความยากจนในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น
เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก ด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) พระราชินี โปรดการเสวยช็อกโกแลตในตอนเช้ามาก ยังมีบันทึกว่าพระนางมารีชอบผสมเครื่องปรุงจำพวกดอกส้ม เมล็ดอัลมอนด์หวานลงไปในช็อกโกแลต
แต่สำหรับวอลแตร์ ถึงแม้เขาจะเป็นคอกาแฟและชอบผสมช็อกโกแลตลงไปให้กาแฟมีรสช็อกโกแลตปะปน เขาก็ไม่เห็นด้วยในการนำเข้าช็อกโกแลตขณะคนฝรั่งเศสส่วนมากยากจนลง
นอกจากเค้กที่พระนางมารีแนะนำให้คนกินแทนขนมปัง “ช็อกโกแลต” จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราชวงศ์บูร์บงล่มสลายในที่สุด
ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๕ [ก่อนสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ๑ วัน] พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎรผู้ก่อการ ได้ร่ำลาท่านผู้หญิงบุญหลง (ภรรยา) ซึ่งพันเอกพระยาพหลฯ ถือเป็น “เพื่อนร่วมเป็นร่วมตาย” คนหนึ่งและทราบแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตลอดเป็นครั้งสุดท้าย
จากนั้นก็กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดในเช้าวันใหม่คือ ๒๔ มิถุนายน
๒๔๗๕ ว่า เมื่อถึงเวลาประมาณ “สามยามครึ่ง” [“ยามสาม” คือช่วงเวลาระหว่าง ๒๔.๐๐-๐๓.๐๐ น. เวลาที่พันเอก พระยาพหลฯ กล่าวถึง จึงน่าจะหมายถึงเวลาที่กินไปจนถึง “ยามสี่” (๐๓.๐๐-๐๖.๐๐ น.) คือราว ๐๓.๓๐ น.] พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) จะเอารถยนต์มารับ ขอให้ปลุก “แต่เพลาตีสาม” จะได้รับประทานอาหารและแต่งตัวโดยสั่งความว่า “อาหารที่จะรับประทานนั้น ขอให้ทำโกโก้แต่เพียงถ้วยเดียวไม่ต้องมีอะไรมากกว่านั้น”
คืนนั้นพันเอก พระยาพหลฯ ถูกปลุกครั้งหนึ่งตอน ๐๒.๐๐ น. เมื่อภรรยาสงสัยความเคลื่อนไหวของรถตำรวจที่ผ่านหน้าบ้านไป ก่อนจะล้มตัวลงนอนต่อไปจนถึง ๐๓.๐๐ น. เขาตื่นมาดื่มโกโก้ร้อน
แล้วออกไปเปลี่ยนแปลงประเทศสยามในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
คิทแคท (KitKat) ถือกำเนิดขึ้นที่โรงงานลูกกวาดของบริษัทโรว์นทรีส์ (Rowntree’s) เมืองยอร์ก (York) สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เมื่อพนักงานคนหนึ่งต้องการขนมที่พกติดตัวได้ บริษัทตอบรับโดยผลิตขนมเวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลตสี่แถวเรียงกันที่หักออกได้ทีละแท่ง ๆ แล้วเก็บที่เหลือไว้กินต่อได้ ทำให้ผู้กินได้เบรกสั้น ๆ ขณะทำงาน โดยห่อขนมด้วยบรรจุภัณฑ์สีแดงสด ได้ชื่อแรกว่าโรว์นทรีส์ ช็อกโกแลต คริสป์ (Rowntree’s Chocolate Crisp) ก่อนเปลี่ยนเป็นคิทแคท ช็อกโกแลต คริสป์ (KitKat Chocolate Crisp) โดยได้แนวคิดชื่อจาก Kit-Cat Club กลุ่มคนรักพายเนื้อของ คริสโตเฟอร์ แคตลิง (Christopher Catling) ที่ชอบมานั่งคุยการเมืองที่ร้านของแคตลิง
หลังประสบความสำเร็จในอังกฤษได้ ๕ ปี ก็เริ่มส่งออกไปขายที่แคนาดา แอฟริกาใต้ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภาวะขาดแคลนนมสดทำให้ต้องเปลี่ยนสูตรเป็นดาร์กช็อกโกแลตและเปลี่ยนห่อเป็นสีน้ำเงิน (บอกผู้บริโภคถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป) จนหลังสงครามจึงกลับไปใช้สูตรเดิมและห่อสีแดงตามเดิม ทั้งนี้ในคริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐ โดนัลด์ กิลเลส (Donald Gilles) จากบริษัทเจดับเบิลยูทีออฟลอนดอน (JWT of London) เสนอแคมเปญ “คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท” (Have a break, have a KitKat) ให้คิทแคทนำไปใช้จนติดหูผู้บริโภคมาจนถึงปัจจุบัน
ค.ศ. ๑๙๗๐ คิทแคทยังให้สิทธิ์การผลิตในตลาดสหรัฐอเมริกากับบริษัทเฮอร์ชีส์ (Hershey’s) ผู้ผลิตขนมยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ต่อมาเนสท์เล่ (Nestlé) ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ซื้อกิจการและผลิตคิทแคทจำหน่ายในตลาดโลก (ยกเว้นสหรัฐฯ) นอกจากนี้
ยังทำข้อตกลงกับบริษัทฟูจิยะ (Fujiya) ทำตลาดญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๓ โดยผลิตคิทแคทหลายร้อยรสชาติ จนคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่านี่เป็นแบรนด์ของญี่ปุ่นไป
ส่วนในอังกฤษมีสถิติว่าขายได้นาทีละ ๔๗ ชิ้น ถือเป็นช็อกโกแลตที่ขายได้มากที่สุดในโลก (สถิติใน ค.ศ. ๒๐๑๐)
เรื่องเดียวที่เหนือความคาดหมายคือ คิทแคทกลายเป็นสินค้าสำคัญของเฮอร์ชีส์ ที่ผู้บริหารเคยมีสายสัมพันธ์
กับช็อกโกแลตอีกยี่ห้อหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้กันคือเอ็มแอนด์เอ็ม (M&M’s)
ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ฟอร์เรสต์ มาร์ส ซีเนียร์ (Forrest Mars Sr.) บุตรของ แฟรงก์ ซี. มาร์ส (Frank C. Mars) เจ้าของบริษัทมาร์ส (Mars) ผู้ผลิตขนมขนาดใหญ่สัญชาติอเมริกัน และ บรูซ เมอร์รี (Bruce Murrie) ทายาทผู้บริหารบริษัทเฮอร์ชีส์ (Hershey’s) ผู้ผลิตขนมยักษ์ใหญ่อีกยี่ห้อหนึ่ง ร่วมกันก่อตั้งบริษัท เอ็มแอนด์เอ็ม (M&M’s มาจากอักษรตัวแรกของชื่อผู้ก่อตั้ง) ด้วยความปรารถนาจะยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง
ฟอร์เรสต์อ้างถึงคำบอกเล่าของทหารอาสาอังกฤษที่กลับจากสงครามกลางเมืองสเปนถึงลูกอมชนิดหนึ่งที่เคลือบน้ำตาลภายนอกทำให้ไม่ละลายในความร้อน เขาต้องการผลิตช็อกโกแลตชนิดนั้น ผลคือเอ็มแอนด์เอ็มได้กองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้ารายสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จากความต้องการเสบียงที่พกพาง่ายให้ทหารในสมรภูมิ ประกอบกับภาวะสงครามทำให้น้ำตาลขาดแคลนในยุโรป
เอ็มแอนด์เอ็ม เม็ดช็อกโกแลตสีน้ำตาล แดง ส้ม เหลือง เขียว และม่วง ในบรรจุภัณฑ์สีน้ำตาล และ คำขวัญ “ละลายในปาก ไม่ละลายในมือ” (Melt in your mouth, not in your hand” จึงเป็นที่จดจำของชาวอเมริกันนับแต่นั้น
อย่างไรก็ตามหลังสงครามจบ ผู้ก่อตั้งสองรายขัดแย้งกันทางธุรกิจ ทำให้เมอร์รีแยกตัวไป และมีการพิมพ์อักษร M สีดำ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีขาว) ลงบนเม็ดช็อกโกแลตตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๐
เอ็มแอนด์เอ็มยังคงขายช็อกโกแลตจนถึงปัจจุบัน มีการรีแบรนด์ในคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ โดยเป็นที่รู้จักจากตัวละครลูกอมห้าสีที่ถูกสร้างจากคาแร็กเตอร์สีบนเม็ดช็อกโกแลต ถือเป็นกิจการในเครือมาร์สที่มีรายได้หลายหมื่นล้านบาทจากยอดขายทั่วโลก และเป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๑
เอกสารประกอบการเขียน
ภาษาไทย
กุหลาบ สายประดิษฐ์. (๒๕๔๘). เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ (พิมพ์ครั้งที่ ๗). กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร.
ภาษาอังกฤษ
Albert Idell translated and Edited. (1956). The Bernal D'iaz Chronicles : The True Stories of the Conquest of Mexico. Gerden City, New York : Doubleday Dolphin.
เว็บไซต์
https://www.ancient-origins.net/history-famous-people/maria-theresa-spain-0011103
https://www.latimes.com/archives/la-xpm-1993-04-22-fo-25589-story.html
https://thegoodlifefrance.com/history-chocolate-france/
https://www.history.com/news/the-wartime-origins-of-the-mm?fbclid=IwAR3eoovNDMItUHCbm4ebZJB1gEXQT6GRbCNgSY-4gZ4LvYQ7T-Yiw4ajo3s