Image

รวยเพราะความพยายาม
หรือนามสกุล

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

สังคมไทยมีสำนวน ภาษิต หรือความเชื่อหลายเรื่องที่ขัดกันเอง เช่น เชื่อว่าคนเราแข่งอะไรกันก็ได้ยกเว้นก็แต่ “แข่งบุญวาสนา” ซึ่งฟังดูแล้วชวนให้ต้องยอมรับสภาพความทุกข์ยากที่เผชิญอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็พร่ำพูดเรื่องอิทธิบาท ๔ และว่าไม่ให้ย่อท้อ เพราะชีวิตอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากเรามีมานะ อุตสาหะ พยายาม

ในโลกปัจจุบันที่เป็น “ทุนนิยม” สูง คนนับถือเงินเป็นดั่งพระเจ้า จึงน่าสงสัยว่าคนที่เราเห็นว่าร่ำรวยนั้น อันที่จริงแล้วเป็นผลมาจาก “บุญทำ” หรือ “กรรมแต่ง” กันแน่ ?

รายงานใน ค.ศ. ๒๐๑๙ ของเว็บไซต์ Wealth-X ระบุว่า จากจำนวนคนรวยที่เข้าร่วมการสำรวจนี้ที่มีสินทรัพย์ ๓๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่า พบว่ามีอยู่ราว ๖๘ เปอร์เซ็นต์ (หรือราว ๒ ใน ๓) ทีเดียวที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเอง

ดังนั้นแม้ปัจจัยเรื่องครอบครัวมีส่วนอยู่มาก แต่ความมุมานะพยายามมีผลมากกว่า

ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องค่อนข้างดีกับผลการสำรวจก่อนหน้านั้น (ค.ศ. ๒๐๑๗) โดย Fidelity Investments พบว่า เศรษฐีราว ๘๘ เปอร์เซ็นต์ สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเอง ส่วนอีก ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ได้รับสืบทอดความมั่งคั่งมาจากคนรุ่นก่อนหน้า

ทอมัส คอร์ลีย์ ผู้เขียนหนังสือ Rich Habits : The Daily Success Habits of Wealthy Individuals สรุปผลจากการสัมภาษณ์คนรวย ๒๓๓ คน ตลอดเวลา ๕ ปี ว่ามีถึง ๑๗๗ คน (ราว ๗๖ เปอร์เซ็นต์หรือ ๓ ใน ๔) ที่รวยด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง โดยเขาจำกัดคำว่า “รวย” คือได้เงินปีละไม่น้อยกว่า ๑.๖ แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๕.๖ ล้านบาท) และมีสินทรัพย์รวม ๓.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๑๑๓ ล้านบาท)

จากแหล่งข้อมูลทั้งสามแหล่งที่ยกมานี้ สรุปคร่าว ๆ อย่างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันได้ว่า คนรวยส่วนใหญ่ (ราว ๗๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์) ร่ำรวยขึ้นมาด้วยความรู้และความสามารถเป็นหลัก

คอร์ลีย์พยายามมองหาปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อความร่ำรวย ทำให้ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประการ เช่น หากถามว่าคนเหล่านี้เรียนเก่งหรือไม่ ? คำตอบคือ มี ๖๘ เปอร์เซ็นต์ เรียนจบระดับปริญญาตรี ขณะที่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เรียนจบในระดับสูงกว่านั้น อีก ๗ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีปริญญาใด ๆ

นั่นก็แปลว่าคนรวยส่วนใหญ่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดีหรือดีมาก

พอเจาะลึกลงไปอีกว่าคนเหล่านี้เรียนดีเพียงใด คำตอบก็คือมีอยู่ ๔๑ เปอร์เซ็นต์ที่เรียนได้ดีกว่าเฉลี่ย (กลุ่มเกรด B) ขณะที่ ๒๙ เปอร์เซ็นต์ อยู่กลุ่มเกรด C คือเรียนได้เท่า ๆ กับค่าเฉลี่ยคนทั่วไป ที่เหลือคือพวกที่เรียนได้ดีมาก ๆ หรือไม่ก็แย่มาก ๆ ไปเลย

สรุปว่าคุณมีโอกาสจะร่ำรวยได้แม้ว่าสมัยเรียนหนังสือจะเรียนได้กลาง ๆ หรือดีกว่าเฉลี่ยนิดหน่อย  นั่นก็คือความสามารถในการสร้างความมั่งคั่งไม่ได้สัมพันธ์มากนักกับผลการเรียน คือมีถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ที่เรียนได้ปานกลางเหมือน ๆ กับคนส่วนใหญ่ หรือดีกว่าก็ไม่มากนัก

Image

คนพวกนี้ทำงานหนักแค่ไหนกัน ถึงประสบความสำเร็จในทางเศรษฐกิจอย่างที่เห็น ?

มีคน ๘๖ เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่าตนเองทำงานมากกว่า ๕๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากคนเหล่านี้ทำงานสัปดาห์ละ ๖ วัน ก็แปลว่าต้องทำงานวันละ ๘.๓ ชั่วโมง แต่หากทำงานสัปดาห์ละ ๕ วัน ก็ต้องทำงานวันละ ๑๐ ชั่วโมง หากเทียบกับกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ ที่ระบุว่าให้คนงานทำงานสัปดาห์ละ ๔๐ ชั่วโมง ก็แปลว่าคนเหล่านี้ทำงานมากกว่าค่าเฉลี่ยราว ๒๕ เปอร์เซ็นต์

สำหรับค่าเฉลี่ยของทั้งโลก ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์จะน้อยลงไปอีก คือราว ๓๕ ชั่วโมงเท่านั้น

ใน ค.ศ. ๒๐๒๓ นี้คงมีคนถามตัวเองว่า เป็นคนไทยนี่ต้องทำงานหาเงินด้วยจำนวนชั่วโมงที่มากเกินไป (และรายได้ที่น้อยเกินไป) หรือเปล่าเพื่อที่จะให้มีฐานะดี ?

หากคำตอบคือ “ใช่แล้ว เราทำงานหนักเกินไป” สำหรับคนที่ไม่ชอบสิ่งที่ทำอยู่เท่าไร คงเป็น “นรกบนดิน” ที่ต้องพบเจอกันทุกวันทีเดียว

คอร์ลีย์สรุปต่อไปอีกว่า เขาแบ่งคนรวยเป็นสี่ประเภทตามงานที่ทำ แม้คนพวกนี้จะทำงานที่ดูแตกต่างกันมาก แต่ก็สร้างความร่ำรวยได้ไม่แตกต่างกัน แต่ที่น่าสนใจก็คือสัดส่วนของคนแต่ละประเภทแตกต่างกันมาก

ยกตัวอย่าง มีคนรวยเพียง ๗ เปอร์เซ็นต์ (ของคนรวยทั้งหมดที่สำรวจ) เท่านั้น ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ (virtuoso) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนพวกนี้ต้องลงทุนเวลาและเงินทองเพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถ จนเหนือคนส่วนใหญ่ในสาขาของตัวเองได้ โดยพัฒนาทักษะและฝึกฝนความสามารถคิดวิเคราะห์จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา หรือโค้ชที่ให้คำแนะนำที่สุดยอดมาก ๆ แก่ผู้ต้องการที่พร้อมจะจ่ายแพง ๆ  คนในกลุ่มนี้มักมีปริญญาระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทาง ทันตแพทย์ หรือศัลยแพทย์ นักกฎหมายและทนาย คนที่จบด้านบริหารธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน ฯลฯ

การร่ำรวยขึ้นในลักษณะนี้จึงไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนมากไม่พร้อมจะอุทิศเวลามากมายเพื่อร่ำเรียนฝึกฝน ไม่ได้มีฐานะทางการเงินพอจะเข้าเรียนจนได้ปริญญาระดับสูง หรือแม้แต่ไม่ฉลาดพอจะไปให้ถึงสุดยอดในสาขาต่าง ๆ

คนรวยกลุ่มที่มีสมาชิกมากขึ้นมาอีกหน่อยคือราว ๑๘ เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ พวกผู้บริหารอาวุโสในบริษัทขนาดใหญ่ (company climber) พวกนี้ต้องมีโปรไฟล์ดีพอให้เข้าทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ ได้ อาจต้องเรียนจบจากสถาบันการศึกษาชื่อดัง หรือมีคอนเนกชันที่ดี และเมื่อได้ทำงานแล้วก็ต้องมีความสามารถไต่เต้าตำแหน่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  ส่วนใหญ่ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ “ไม่ได้มาจาก” เงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากการทำงานโดยตรง แต่มักได้รับหุ้นของบริษัท เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง หรือได้รับผลประโยชน์จากการบริหารจัดการบริษัทมากกว่า

Image

วิธีรวยเช่นนี้ก็ไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่เช่นกัน เพราะต้องอุทิศตัวทำงานให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเวลานานมากกว่าจะไต่เต้าถึงระดับที่ว่านี้ได้

ความเสี่ยงสำคัญสุดของคนกลุ่มนี้คืออาจตกงานได้ง่าย ๆ หากเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ขึ้นกับบริษัทจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ นอกจากนี้หากบริษัทประสบปัญหาการเงินขึ้นเมื่อใด เวลาที่ลงทุนไปทั้งหมดกับบริษัทนั้นก็อาจจะหายไปในอากาศเพราะไม่ได้รับผลตอบแทนระยะยาวอย่างที่คาดหวัง

มาถึงคนรวยกลุ่มที่ ๓ ที่มีถึง ๔๙ เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าเป็นพวกนักเก็บออม-นักลงทุน (saver-investor) คนกลุ่มนี้มีวินัยการเงินสูง จากการวิจัยพบว่าหากลงทุนอย่างระมัดระวังและต่อเนื่องถึง ๓๒ ปีด้วยเงิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าของรายรับทั้งหมด ก็อาจมีเงินสะสมเฉลี่ยมากถึง ๓.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐได้

นั่นแปลว่าต้องรู้เรื่องลงทุนตั้งแต่อายุน้อยและทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนส่วนใหญ่น่าจะไม่ตระหนักหรือรู้เรื่องแบบนี้เท่าไร แต่เป็นวิธีสร้างความมั่งคั่งที่ทำได้ง่ายกว่าสองแบบแรกมาก แต่กระนั้นก็ยังยากอยู่ดี ทั้งเรื่องความรู้ (ว่าจะเลือกลงทุนกับอะไรและอย่างไร) และการมีวินัยการเงิน

แบบสุดท้ายเรียกว่าพวกนักฝัน-ผู้ประกอบการ (dreamer-entrepreneur) มีอยู่ราว ๕๑ เปอร์เซ็นต์ (ไม่ต้องแปลกใจว่ารวมตัวเลขแล้วได้มากกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะบางคนเป็นมากกว่าหนึ่งประเภท)

พวกนี้มีความฝันจะสร้างธุรกิจเอง อาจอยากเป็นนักเขียน นักดนตรี นักแสดง หรือศิลปิน ฯลฯ ชื่อดังหรือประสบความสำเร็จมาก ๆ หรือไม่ก็ฉีกไปทางสายเทคโนโลยี สร้างแอปพลิเคชัน ผลิตภัณฑ์ หรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่คนจำนวนมากสนใจใช้งาน

แต่เส้นทางสุดท้ายนี้ก็ไม่ง่าย พบว่าราว ๒๗ เปอร์เซ็นต์ มักจะล้มเหลวมากกว่า ๑ ครั้งก่อนจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นต้องมีความดันทุรังสูงและฟื้นตัวรักษาใจจากความล้มเหลวเป็น  คำว่าล้มก่อนสำเร็จก่อนอาจใช้ได้กับคนที่มี “เบาะ” รองรับจากครอบครัวหรือคนรอบข้างอยู่บ้าง แต่มีคนอีกมากที่การล้มครั้งหนึ่งหมายถึงจุดจบและไปต่อไม่ได้อีกเลย

สรุปจากข้อมูลทั้งหมดนี้ได้ว่า คนรวยส่วนใหญ่สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยได้ด้วยตัวเอง และมีจำนวนน้อยกว่าที่ “คาบช้อนเงินช้อนทอง” มาแต่เกิด

ถึงกระนั้นคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ทรัพย์ศฤงคารมาแบบง่าย เพราะแทบทั้งหมดต้องลงทุน ลงแรง ใช้เวลาและสติปัญญาเป็นอันมากอย่างยาวนานและถูกวิธีด้วย